คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 ม. 10 (7)

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 3 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3745/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิผู้บริโภค: การฟ้องแย้งของจำเลยในคดีผู้บริโภคชอบด้วยกฎหมายและผลของการผิดสัญญา
การแต่งตั้งพนักงานอัยการเป็นเจ้าหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภคมีหน้าที่ดำเนินคดีแทนผู้บริโภคก็เท่ากับว่าผู้บริโภคได้ร้องขอให้คณะกรรมการดำเนินคดีแทนตน โดยผู้บริโภคมีผลประโยชน์ในมูลความแห่งคดี และหากผู้บริโภคเป็นฝ่ายชนะคดี ศาลจะมีคำพิพากษาให้จำเลยชำระหนี้ให้แก่ผู้บริโภค มิได้ชำระให้แก่คณะกรรมการหรือเจ้าหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภคแต่อย่างใด ดังนั้น การที่คณะกรรมการหรือเจ้าหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภคใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภคฟ้องคดีแทนผู้บริโภค ย่อมต้องถือว่าผู้บริโภคนั้นเป็นโจทก์ผู้ยื่นคำฟ้องเอง ส่วนผู้ประกอบการซึ่งถูกฟ้องมีฐานะเป็นจำเลย และทั้งโจทก์และจำเลยย่อมมีฐานะเป็น "คู่ความ" ตามวิเคราะห์ศัพท์ใน ป.วิ.พ. มาตรา 1 (11) ดังนี้จำเลยผู้ถูกฟ้องย่อมฟ้องแย้งได้ และเมื่อฟ้องแย้งว่า จำเลยพร้อมโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่ผู้บริโภค พร้อมทั้งให้ผู้บริโภคเข้าครอบครองอยู่อาศัยมาโดยตลอด ขอให้ผู้บริโภคชำระราคาส่วนที่เหลือจึงเป็นเรื่องเกี่ยวกับฟ้องเดิมพอจะรวมพิจารณาชี้ขาดตัดสินเข้าด้วยกันได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 177 วรรคสาม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7045/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การรวมทุนทรัพย์คดีผู้บริโภค: คดีพิเศษต้องคิดรวมกลุ่ม ไม่แยกรายบุคคล
คดีที่คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคเป็นโจทก์ดำเนินคดีเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิผู้บริโภค ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 มาตรา 10 (7) เป็นการดำเนินคดีที่จะเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคเป็นส่วนรวมตามมาตรา 39 จึงเป็นคดีที่มีลักษณะพิเศษต่างจากคดีแพ่งทั่วไป หลักเกณฑ์ในการพิจารณาทุนทรัพย์ที่ฟ้องคดีว่าจะอยู่ในอำนาจของศาลใด ต้องคำนวณทุนทรัพย์ในลักษณะรวมกลุ่มคดีโดยรวมทุนทรัพย์ของผู้บริโภคทุกราย แม้แต่ละรายไม่เกิน 300,000 บาท แต่ในคดีนี้ เมื่อรวมทุนทรัพย์ในคดีแล้วจำนวน 610,709 บาท จึงเป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแพ่งกรุงเทพใต้ ที่จะต้องรับฟ้องไว้พิจารณา ที่ศาลแพ่งกรุงเทพใต้มีคำสั่งว่า มูลหนี้ของผู้บริโภคแต่ละรายสามารถแบ่งแยกได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 59 และไม่รับฟ้องไว้พิจารณา ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 2 อย่างคดีแพ่งทั่วไปเป็นการไม่ชอบ จึงต้องรับฟ้องไว้พิจารณาพิพากษาต่อไป
(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 8/2553)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2295/2545 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การรับประกันชีวิต - การบอกล้างสัญญา - สุขภาพของผู้เอาประกัน - เหตุผลในการบอกล้างสัญญา
จำเลยเป็นบริษัทรับประกันชีวิตแก่ประชาชนทั่วไปจึงมีผู้เอาประกันภัยกับจำเลยเป็นจำนวนมาก โดยโจทก์นำสืบว่าการที่จำเลยปฏิเสธใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ พ. ผู้ร้องโดยอ้างอาการอ่อนเพลียของผู้เอาประกันภัยซึ่งในทางการแพทย์ถือว่าไม่ใช่โรคนั้น เป็นการกระทำที่ไม่เป็นธรรมและไม่ใช่เพียงผู้ร้องรายเดียวที่ประสบกับเหตุลักษณะนี้ แต่คาดว่ายังมีประชาชนผู้บริโภคซึ่งเป็นผู้เอาประกันภัยหรือผู้รับประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันภัยอีกจำนวนมากที่ประสบกับเหตุลักษณะทำนองเดียวกันนี้ ทั้งจำเลยก็รับว่าไม่มีระเบียบกำหนดให้อาการน้ำตาลในเลือดต่ำเป็นโรคต้องห้ามที่จะไม่รับประกันภัย ดังนั้น ที่คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคเห็นสมควรดำเนินคดีแทน พ. ผู้บริโภค จึงมอบหมายให้โจทก์ในฐานะเจ้าหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภคเป็นผู้ดำเนินคดีกับจำเลย จึงเป็นการดำเนินคดีเพื่อประโยชน์แก่ผู้บริโภคเป็นส่วนรวม ชอบด้วยพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภคฯ มาตรา 10(7) และมาตรา 39 แล้ว โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลย
ก่อนที่ ป. จะยื่นคำขอเอาประกันชีวิตกับจำเลย ป. เคยเข้ารับการรักษาและนอนพักในโรงพยาบาลหลายครั้งด้วยอาการอ่อนเพลีย คลื่นไส้ เจ็บหน้าอก ใจสั่น เพราะเหตุน้ำตาลในเลือดต่ำ แต่ ป. ก็มิได้แถลงข้อความจริงในเรื่องดังกล่าวให้จำเลยทราบ ซึ่งในทางการแพทย์แล้วไม่ถือว่าการมีน้ำตาลในเลือดต่ำหรือไฮโปโกซีเมียเป็นโรคติดต่อเพราะเป็นอาการที่เกิดขึ้นได้กับบุคคลทั่วไปที่รับประทานอาหารไม่ตรงเวลา หากรับประทานอาหารเข้าไปก็จะหายโดยไม่ต้องใช้ยา แม้จำเลยจะอ้างว่าการมีน้ำตาลในเลือดต่ำอาจมีสาเหตุมาจากการดื่มสุราด้วยก็ตาม แต่หากดื่มสุราและยังรับประทานอาหารตรงเวลาอาการน้ำตาลในเลือดต่ำคงไม่เกิดขึ้นทั้งจำเลยก็ไม่มีระเบียบว่า ผู้เอาประกันภัยที่มีน้ำตาลในเลือดต่ำเป็นโรคต้องห้ามมิให้ทำสัญญาประกันชีวิต ได้ความว่าก่อนรับทำสัญญาประกันชีวิต จำเลยได้จัดให้แพทย์ทำการตรวจสุขภาพของ ป. แล้ว ซึ่งปรากฏว่าป. มีสุขภาพแข็งแรง ข้ออ้างของจำเลยที่ว่าอาการน้ำตาลในเลือดต่ำของ ป. เกิดจากการดื่มสุราจึงไม่มีน้ำหนักให้รับฟัง ฉะนั้นที่ ป. ไม่เปิดเผยเรื่องนี้ให้จำเลยทราบจึงไม่อาจอนุมานเอาได้ว่า ถ้าได้เปิดเผยข้อความจริงเช่นนั้นจะจูงใจให้จำเลยบอกปัดไม่ยอมทำสัญญาอันจะทำให้สัญญาประกันชีวิตระหว่าง ป. กับจำเลยตกเป็นโมฆียะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 865 วรรคหนึ่ง จำเลยไม่มีสิทธิบอกล้างสัญญาได้ เมื่อ ป. ถึงแก่ความตาย เนื่องจากอุบัติเหตุขับรถจักรยานยนต์ โดยมิได้ทำผิดเงื่อนไขในกรมธรรม์ประกันภัย จำเลยก็ต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ พ. ผู้รับประโยชน์ตามสัญญา