คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.วิ.พ. ม. 151 วรรคสอง

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 3 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7357/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อผิดพลาดในการสั่งคืนค่าขึ้นศาล ศาลฎีกามีอำนาจแก้ไขได้ แม้มีข้อตกลงประนีประนอมยอมความ
โจทก์จำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันในชั้นอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาตามยอมแต่ในส่วนที่เกี่ยวกับค่าขึ้นศาลนั้น ศาลอุทธรณ์ภาค 1 สั่งว่า ค่าขึ้นศาลมีเพียง 200 บาท จึงไม่คืนให้ ซึ่งข้อเท็จจริงปรากฏว่า จำเลยวางเงินค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์เป็นเงิน 75,000 บาท ความผิดพลาดจึงเกิดเพราะความผิดหลงในข้อเท็จจริงของศาลอุทธรณ์ภาค 1 ซึ่งความผิดพลาดในเรื่องการคืนค่าขึ้นศาลให้แก่จำเลยนี้เป็นคนละส่วนกับข้อตกลงในสัญญาประนีประยอมความของคู่ความซึ่งไม่มีข้อผิดพลาดอะไร แม้สัญญาประนีประนอมยอมความจะระบุว่าค่าฤชาธรรมเนียมเป็นพับก็เป็นข้อตกลงระหว่างคู่ความในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียม เมื่อคดีได้เสร็จเด็ดขาดโดยสัญญาหรือการประนีประนอมยอมความซึ่งเป็นเรื่องตาม ป.วิ.พ. มาตรา 151 วรรคสอง ดังนั้น เมื่อคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 1 มีข้อผิดพลาดเล็กน้อย ศาลฎีกาเห็นสมควรที่จะมีคำสั่งแก้ไขข้อผิดพลาดเช่นว่านั้นให้ถูกต้องตาม ป.วิ.พ. มาตรา 143 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 246 และ 247

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 314/2542 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การอุทธรณ์ค่าฤชาธรรมเนียมศาล: ข้อจำกัดการอุทธรณ์เฉพาะดุลพินิจ หากมิได้โต้แย้งความถูกต้องของการคำนวณ
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 168ห้ามมิให้คู่ความอุทธรณ์หรือฎีกาในปัญหาเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมอย่างเดียว เว้นแต่จะได้ยกเหตุว่าค่าฤชาธรรมเนียมนั้นมิได้กำหนดหรือคำนวณให้ถูกต้องตามกฎหมาย โจทก์อุทธรณ์ว่าการที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาฯ คืนค่าขึ้นศาลให้แก่โจทก์สามในสี่ส่วนในกรณีที่โจทก์ถอนฟ้องโดยหักไว้หนึ่งในสี่คิดเป็นเงินจำนวน 50,000 บาท เป็นการหักไว้มากเกินไปขอให้หักเงินค่าขึ้นศาลไว้ไม่เกิน 5,000 บาท และคืน ค่าขึ้นศาลให้แก่โจทก์เพิ่มอีก 45,000 บาท นั้น เป็นการ อุทธรณ์โต้แย้งเฉพาะดุลพินิจในการสั่งคืนค่าธรรมเนียมศาล อันเป็นปัญหาในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมเพียงอย่างเดียว โดยมิได้ยกเหตุว่าค่าฤชาธรรมเนียมนั้นมิได้กำหนดหรือคำนวณ ให้ถูกต้องตามกฎหมายแต่อย่างใด จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ ตามบทบัญญัติดังกล่าวประกอบด้วยพระราชบัญญัติ จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ และวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. 2539 มาตรา 26 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4084/2534

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การฟ้องคดีเครื่องหมายการค้าเกินกำหนดระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด ส่งผลให้สิทธิฟ้องคดีระงับ
คำวินิจฉัยของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าซึ่งวินิจฉัยว่าเครื่องหมายการค้าพิพาทเป็นของจำเลยให้ยกคำคัดค้านของโจทก์และดำเนินการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอของจำเลยต่อไป แต่ทั้งนี้ให้รอไว้ 90 วันนับแต่วันที่คู่กรณีได้รับสำเนาคำวินิจฉัยตามมาตรา 22 วรรคสี่ แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้าพ.ศ. 2474 นั้น เป็นคำวินิจฉัยของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่ได้ใช้อำนาจตามมาตรา 22 แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้าพ.ศ. 2474 จึงอยู่ในบังคับที่โจทก์จะต้องอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าหรือนำคดีไปสู่ศาลภายในกำหนด 90 วันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งคำวินิจฉัยของนายทะเบียน เมื่อโจทก์ได้รับแจ้งคำวินิจฉัยจากนายทะเบียนเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2529แต่มายื่นฟ้องต่อศาลในวันที่ 10 เมษายน 2530 จึงเกินกำหนดอำนาจ ในการฟ้องคดีของโจทก์จึงเป็นอันสิ้นไปตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้าฯ มาตรา 22 สิทธิที่จะอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าหรือนำคดีไปสู่ศาล ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 22 แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2474 มิใช่อายุความตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ แต่เป็นระยะเวลาที่เกี่ยวด้วยวิธีพิจารณาความแพ่ง ดังนั้นแม้ศาลแพ่งจะพิพากษายกฟ้องโจทก์โดยไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะนำคดีมาฟ้องใหม่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 151 วรรคสอง และประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 176 ก็ตาม ก็หาทำให้โจทก์ได้รับประโยชน์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 176 ไม่อย่างไรก็ดี แม้ระยะเวลาที่เกี่ยวด้วยวิธีพิจารณาความแพ่งศาลจะมีอำนาจขยายระยะเวลานั้นได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 23 แต่โจทก์จะนำคำสั่งอนุญาตของศาลแพ่งดังกล่าวมาใช้กับศาลชั้นต้นในคดีนี้ไม่ได้เพราะเป็นคนละศาลกัน ทั้งคำสั่งอนุญาตนั้นก็มิได้อาศัย มาตรา 23 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง การฟ้องคดีโดยใช้สิทธิตามมาตรา 41(1) แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2474 เป็นเรื่องขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่มีการจดทะเบียนไว้แล้ว ส่วนการแย่งสิทธิในเครื่องหมายการค้าซึ่งยังมิได้มีการจดทะเบียนหาใช่เรื่องใช้สิทธิตามมาตราดังกล่าวไม่