คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 ม. 15 (1)

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 2 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7428/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อพิพาทสัญญาจ้างพิมพ์หนังสือ: การตีความผิดสัญญา, การส่งมอบต้นฉบับ, และขอบเขตการชดใช้ค่าเสียหาย
โจทก์ทำสัญญาว่าจ้างจำเลยที่ 1 ให้จัดพิมพ์หนังสือคัมภีร์เทศน์โดยมีข้อตกลงกำหนดรูปแบบ ในหนังสือต้องระบุตราของพุทธธรรมคัมภีร์ที่อยู่ของพุทธธรรมคัมภีร์ที่ชัดเจน ชื่อ ท. ผู้เรียบเรียง และข้อความระบุว่า "การพิมพ์ครั้งนี้ได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์ตามกฎหมายแล้ว" "สงวนลิขสิทธิ์" และ "ฉบับปรับปรุงใหม่ระหว่างพุทธธรรมคัมภีร์กับคลังนานาธรรม" ส.และ ว. บุตรโจทก์ทั้งสองกับจำเลยที่ 1 ได้ทำหนังสือสัญญาอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์ในงานวรรณกรรมหนังสือคัมภีร์ที่ ท. เป็นผู้ประพันธ์ อนุญาตให้จำเลยที่ 1 ทำซ้ำงานวรรณกรรมโดยโจทก์ได้ลงลายมือชื่อเป็นพยานในหนังสือสัญญา และโจทก์ได้ทำสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิตัวแทนจำหน่ายกับจำเลยที่ 1 โดยให้จำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนจำหน่ายหนังสือคัมภีร์เทศน์จำนวน 28 เรื่องที่ ท.เป็นผู้สร้างสรรค์ พฤติการณ์ที่โจทก์ได้ลงลายมือชื่อเป็นพยานในสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิ์งานวรรณกรรม และที่โจทก์ได้ทำสัญญาว่าจ้างจำเลยที่ 1 ให้จัดพิมพ์หนังสือคัมภีร์เทศน์และให้จำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนจำหน่ายหนังสือที่จัดพิมพ์ขึ้นอันเป็นวันเดียวกันกับที่โจทก์ได้ลงลายมือชื่อในสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิในงานวรรณกรรม ถือได้ว่าโจทก์ได้อนุญาตให้จำเลยที่ 1 ทำซ้ำงานวรรณกรรมหนังสือคัมภีร์เทศน์ที่ ท. เป็นผู้เขียนอันเป็นลิขสิทธิ์ของโจทก์แล้ว การที่จำเลยที่ 1 จัดพิมพ์หนังสือคัมภีร์เทศน์ ไม่เป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ในงานวรรณกรรม ส่วนจำเลยที่ 2 มีเหตุผลให้เชื่อว่าโจทก์ได้อนุญาตให้จำเลยที่ 2 เป็นผู้จัดพิมพ์และจำหน่ายหนังสือคัมภีร์เทศน์ซึ่งเป็นงานวรรณกรรมอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 ได้กระทำการละเมิดลิขสิทธิ์ในงานวรรณกรรม
สัญญาจ้างพิมพ์งานกำหนดให้จำเลยที่ 1 ระบุโลโก้ของพุทธธรรมคัมภีร์ลงในหนังสือคัมภีร์เทศน์ที่จัดพิมพ์เท่านั้น มิได้กำหนดให้ระบุโลโก้ในตำแหน่งใดของหนังสือ การที่จำเลยที่ 1 ได้ระบุโลโก้ของพุทธธรรมคัมภีร์ไว้ในหนังสือรูปข่อยแล้ว แม้จะมิได้ระบุไว้ในตำแหน่งที่เหมือนกับตัวฉบับ ถือไม่ได้ว่าเป็นการที่จำเลยที่ 1 ปฏิบัติผิดสัญญาและถือไม่ได้ว่าเป็นเหตุให้ลูกค้าหลงผิดในความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ว่า ลิขสิทธิ์ในงานวรรณกรรมหนังสือนั้นเป็นของจำเลยที่ 2
จำเลยที่ 1 ต้องส่งมอบต้นฉบับหนังสือคัมภีร์เทศน์ที่อยู่ในความครอบครองของจำเลยที่ 1 ทั้งหมดแก่โจทก์นับแต่วันเลิกสัญญาตามสัญญาจ้างพิมพ์งาน ข้อ 8 ส่วนเพลตแม่พิมพ์หนังสือคัมภีร์เทศน์นั้น สัญญาจ้างพิมพ์ข้อ 8 มิได้กำหนดให้จำเลยที่ 1 ต้องส่งมอบให้โจทก์นับแต่วันเวลาเลิกสัญญา คงให้จำเลยที่ 1 ผู้รับจ้างส่งมอบเฉพาะต้นฉบับหรือแบบตัวอย่างให้โจทก์ผู้ว่าจ้างเท่านั้น กรณีไม่อาจบังคับให้จำเลยที่ 1 ส่งมอบเพลตแม่พิมพ์หนังสือคัมภีร์เทศน์ตามคำขอบังคับท้ายคำฟ้องของโจทก์ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4006/2543 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ขอบเขตความรับผิดของบริษัทและกรรมการ, ลิขสิทธิ์ในงานสร้างสรรค์, การจัดจำหน่ายสำเนาถูกต้องตามกฎหมาย
บริษัทจำเลยที่ 1 ในฐานะเป็นนิติบุคคลก็มีสิทธิและหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ต่างหากจากจำเลยที่ 2 ผู้เป็นกรรมการ ดังนั้น การกระทำใด ๆ ของจำเลยที่ 2 จึงมิใช่ว่าจะเป็นการกระทำแทนจำเลยที่ 1 อันถือว่าจำเลยที่ 1 ได้กระทำการนั้นเสมอไป ต้องพิจารณาว่าการที่จำเลยที่ 2 กระทำนั้นเป็นการกระทำในฐานะเป็นกรรมการของจำเลยที่ 1 หรือไม่ด้วย
เมื่อสัญญาว่าจ้างถ่ายแสดงแบบมิได้ระบุห้ามจำเลยที่ 2 มิให้บันทึกภาพการแสดงแบบของโจทก์ในรูปแบบอื่นนอกจากเป็นม้วนเทปวิดีโอไว้โดยชัดแจ้งและสัญญาว่าจ้าง ข้อ 3 กำหนดให้ลิขสิทธิ์ที่เกิดจากการทำงานครั้งนี้ตกเป็นของจำเลยที่ 2 ผู้ว่าจ้าง จำเลยที่ 2 จึงมีลิขสิทธิ์ในงานบันทึกภาพการแสดงแบบของโจทก์ดังกล่าวอันเป็นงานสร้างสรรค์ประเภทโสตทัศนวัสดุ ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ฯ มาตรา 6 จำเลยที่ 2 ย่อมมีสิทธิแต่ผู้เดียวที่จะนำงานนั้นมาทำซ้ำหรือบันทึกภาพของโจทก์ดังกล่าวซ้ำในรูปแบบของม้วนเทปวิดีโอ หรือแผ่นซีดี หรือแผ่นเลเซอร์ดิสก์อย่างหนึ่งอย่างใดออกจำหน่ายได้ ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ฯ มาตรา 15 (1) การกระทำของจำเลยที่ 2ไม่เป็นการผิดสัญญาว่าจ้าง และไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์
จำเลยที่ 1 มิได้เป็นคู่สัญญากับโจทก์ตามสัญญาว่าจ้าง จำเลยที่ 1จึงไม่มีนิติสัมพันธ์กับโจทก์ที่จะต้องปฏิบัติตามสัญญาดังกล่าว ส่วนที่จำเลยที่ 1 มีชื่อเป็นผู้จัดจำหน่ายม้วนเทปวิดีโอ แผ่นซีดี และแผ่นเลเซอร์ดิสก์นั้น ก็เป็นการจัดจำหน่ายสำเนางานอันมีลิขสิทธิ์ของจำเลยที่ 2 โดยได้รับอนุญาตจากจำเลยที่ 2 ผู้เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงถือไม่ได้ว่าเป็นการทำละเมิดต่อโจทก์ เพราะโจทก์มิใช่ผู้มีลิขสิทธิ์ในงานดังกล่าว