พบผลลัพธ์ทั้งหมด 6 รายการ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 425/2566
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
จำนองเพื่อประกันหนี้บุคคลอื่น: สิทธิจำนองจำกัดวงเงินและดอกเบี้ย, ศาลมีอำนาจสั่งค่าฤชาธรรมเนียม
ผู้รับโอนโดยซื้อทรัพย์พิพาทจากการขายทอดตลาด ซึ่งมีเงื่อนไขให้ติดจำนองมาด้วยโดยมิได้เป็นลูกหนี้หรือผู้ค้ำประกัน ย่อมมีสิทธิไถ่ถอนจำนองได้ด้วยการรับใช้เงินให้เป็นจำนวนอันสมควรกับราคาทรัพย์สินซึ่งหมายถึงราคาทรัพย์จำนองในเวลาที่ผู้รับโอนขอไถ่ถอนจำนอง ตาม ป.พ.พ. มาตรา 736 และมาตรา 738 แต่เจ้าหนี้มีสิทธิบอกปัดไม่รับคำเสนอและต้องฟ้องคดีต่อศาลภายในหนึ่งเดือนนับแต่วันมีคำเสนอเพื่อให้ศาลพิพากษาสั่งขายทอดตลาดทรัพย์สินซึ่งจำนองนั้นตามมาตรา 739 เมื่อจำเลยเป็นผู้รับโอนทรัพย์สินโดยติดจำนองซึ่งมิได้มีนิติสัมพันธ์กับโจทก์ตามข้อตกลงต่อท้ายหนังสือสัญญาจำนอง และไม่มีข้อตกลงในการแปลงหนี้โดยเปลี่ยนตัวจำเลยมาเป็นลูกหนี้แทน บ. ลูกหนี้ และ จ. ผู้จำนอง จึงไม่เกิดสิทธิแก่โจทก์ที่จะบังคับจำเลยให้ชำระหนี้ในฐานะลูกหนี้ชั้นต้นหรือลูกหนี้ร่วมได้ ความรับผิดของจำเลยย่อมมีเพียงทรัพย์สินซึ่งจำนองที่ตนรับโอนมาซึ่งตราเป็นประกันการชำระหนี้แก่โจทก์เท่านั้น กรณีนี้จำนองย่อมเป็นประกันเพื่อการชำระหนี้ตามวงเงินจำนองกับดอกเบี้ยของวงเงินจำนองและค่าอุปกรณ์อื่นตามมาตรา 715 ด้วย เมื่อปรากฏว่าหนังสือสัญญาจำนองเป็นประกันระบุว่า จ. จดทะเบียนจำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างไว้แก่โจทก์เพื่อเป็นประกันหนี้กู้ยืมของ บ. อันเป็นการจำนองทรัพย์สินของตนไว้เพื่อประกันหนี้อันบุคคลอื่นจะต้องชำระตามมาตรา 709 ที่มีอยู่ในเวลาจดทะเบียนหรือเวลาหนึ่งเวลาใดในภายหน้าเป็นต้นทุนขั้นสูงสุด 52,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยไม่เกินอัตราร้อยละ 19 ต่อปี สิทธิจำนองจึงย่อมครอบเพียงต้นเงิน 52,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย ค่าสินไหมทดแทนในการไม่ชำระหนี้และค่าฤชาธรรมเนียมในการบังคับจำนองเท่านั้น กรณีจึงไม่จำต้องกำหนดราคาอันสมควรกับทรัพย์จำนองพิพาทเพราะไม่เกิดประโยชน์แก่รูปคดี
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8736/2563
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การเสนอราคาไถ่ถอนจำนองและการสนองรับโดยปริยาย หากไม่ฟ้องคดีภายในกำหนดเวลา
จำเลยที่ 2 เป็นเพียงผู้ซื้อทรัพย์จำนองของจำเลยที่ 1 มาจากการขายทอดตลาดโดยติดจำนองไม่ได้เป็นคู่สัญญาที่จะต้องรับผิดตามสัญญาจำนอง จำเลยที่ 2 จึงมีฐานะเป็นเพียงผู้รับโอนทรัพย์สินซึ่งจำนอง มีหน้าที่ปลดเปลื้องภาระจำนองด้วยการไถ่ถอนจำนองตาม ป.พ.พ. มาตรา 738 ซึ่งจำเลยที่ 2 ก็ได้เสนอคำขอไถ่ถอนจำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างทรัพย์จำนองไปยังโจทก์ โจทก์ได้รับคำเสนอดังกล่าวเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2557 หากโจทก์ไม่ยอมรับคำเสนอก็ต้องฟ้องคดีต่อศาลภายใน 1 เดือนนับแต่วันมีคำเสนอเพื่อให้ศาลพิพากษาสั่งให้ขายทอดตลาดทรัพย์สินที่จำนองนั้นตามมาตรา 739 แต่โจทก์เพียงแต่มีหนังสือแจ้งผลการพิจารณาหนังสือขอไถ่ถอนจำนองไปยังจำเลยที่ 2 ว่า โจทก์ขอปฏิเสธข้อเสนอชำระค่าไถ่ถอนจำนองของจำเลยที่ 2 หากจะไถ่ถอนจำนองจะต้องชำระตามภาระหนี้จำนอง โดยไม่ได้ฟ้องคดีต่อศาลภายใน 1 เดือนนับแต่วันมีคำเสนอ โจทก์จึงต้องถูกผูกพันตามคำเสนอขอไถ่ถอนจำนองของจำเลยที่ 2 โดยถือว่าเป็นการสนองรับโดยปริยายตามมาตรา 739 และมาตรา 741 จำเลยที่ 2 จึงมีสิทธิไถ่ถอนจำนองในวงเงินตามที่เสนอ แต่ภาระจำนองจะระงับสิ้นไปก็ต่อเมื่อจำเลยที่ 2 ใช้เงินแก่โจทก์ตามที่จำเลยที่ 2 เสนอขอไถ่ถอนดังกล่าว แม้โจทก์จะไม่ยอมรับราคาตามที่จำเลยที่ 2 เสนอ แต่เมื่อถือว่าโจทก์สนองรับราคาตามที่จำเลยที่ 2 เสนอแล้ว จำเลยที่ 2 จึงมีหน้าที่ปฏิบัติตามคำเสนอดังกล่าวด้วย โดยต้องไถ่ถอนจำนองตามราคาที่เสนอซึ่งถือเป็นหนี้เงินที่จะต้องเสียดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดตามมาตรา 224 วรรคหนึ่ง เมื่อจำเลยที่ 2 ไม่นำเงินตามราคาที่เสนอไปวางที่สำนักงานวางทรัพย์ภายในกำหนดเวลาตามคำเสนอตามมาตรา 330 และ 331 จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดในส่วนดอกเบี้ยนับแต่วันครบกำหนดตามคำเสนอราคาไถ่ถอนจำเลยที่ 2 มีหนังสือถึงโจทก์ขอไถ่ถอนทรัพย์จำนองภายใน 30 วัน โจทก์ได้รับหนังสือดังกล่าววันที่ 25 พฤศจิกายน 2557 โจทก์จึงต้องฟ้องคดีภายในวันที่ 25 ธันวาคม 2557 กรณีจึงต้องถือว่าการสนองรับคำเสนอราคาไถ่ถอนของจำเลยที่ 2 มีผลวันที่ 25 ธันวาคม 2557 กำหนดเวลา 30 วัน ที่จำเลยที่ 2 ต้องวางเงินจึงตรงกับวันที่ 24 มกราคม 2558 จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยผิดนัดนับแต่วันที่ 25 มกราคม 2558 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5584/2555
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
จำนองจากการขายทอดตลาด: สิทธิของเจ้าหนี้มีประกัน และขอบเขตการบังคับชำระหนี้เกินทรัพย์ประกัน
จำเลยเป็นผู้ซื้อทรัพย์สินจากการขายทอดตลาดในคดีแพ่งโดยติดจำนองย่อมมีฐานะเป็นเพียงผู้รับโอนทรัพย์สินซึ่งจำนอง หาทำให้มีฐานะเป็นผู้จำนองไม่ จำเลยมีสิทธิไถ่ถอนจำนองโดยเสนอรับใช้เงินเป็นจำนวนอันสมควรกับราคาทรัพย์สินนั้น หากโจทก์ไม่ยอมรับก็ต้องฟ้องต่อศาลภายในหนึ่งเดือนนับแต่วันมีคำเสนอ เพื่อให้ศาลพิพากษาสั่งขายทอดตลาดตาม ป.พ.พ. มาตรา 738 และ 739 แต่ถ้าจำเลยไม่ได้ใช้สิทธิไถ่ถอนจำนองดังกล่าว โดยโจทก์จะบังคับจำนองก็ต้องมีจดหมายบอกกล่าวแก่จำเลยผู้รับโอนทรัพย์สินซึ่งจำนองล่วงหน้าหนึ่งเดือนก่อนแล้วจึงจะบังคับจำนองได้ตามมาตรา 735 หากได้เงินสุทธิไม่พอชำระหนี้ โจทก์ก็ชอบที่จะบังคับคดีเอาแก่ทรัพย์สินอื่นของลูกหนี้และผู้จำนองตามคำพิพากษาในคดีแพ่ง อันเนื่องมาจากข้อตกลงต่อท้ายสัญญาจำนองที่ว่า หากบังคับจำนองแล้วได้เงินไม่พอชำระหนี้ ผู้จำนองยอมรับผิดชดใช้หนี้จนครบถ้วน โจทก์จะอาศัยสิทธิความเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในคดีแพ่งมาฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่เป็นเพียงผู้รับโอนทรัพย์สินซึ่งจำนองให้รับผิดในฐานะผู้จำนองแก่โจทก์ด้วยหาได้ไม่ แม้โจทก์ฟ้องบังคับจำนองโดยขอให้บังคับคดีแก่ทรัพย์สินอื่นของจำเลยในกรณีที่ยึดทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดแล้วได้เงินไม่พอชำระหนี้ ย่อมเป็นคำขอที่เกินเลยไปกว่าสิทธิที่โจทก์พึงมีพึงได้ตามกฎหมาย และแม้ศาลในคดีแพ่งมีคำพิพากษาไปตามคำขอของโจทก์คำพิพากษาดังกล่าวก็ไม่มีผลผูกพันศาลในคดีล้มละลาย เนื่องจากกฎหมายล้มละลายเป็นกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน เมื่อโจทก์ในฐานะผู้รับจำนองมีบุริมสิทธิเหนือทรัพย์สินซึ่งจำนองที่จำเลยรับโอนจากการขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดี โจทก์จึงเป็นเจ้าหนี้มีประกันตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 6 แต่โจทก์คงมีสิทธิบังคับจำนองได้เฉพาะจากการขายทอดตลาดทรัพย์สินซึ่งจำนองเท่านั้น หากได้เงินสุทธิน้อยกว่าที่ค้างชำระและยังขาดอยู่เท่าใด จำเลยผู้รับโอนทรัพย์สินซึ่งจำนองไม่จำต้องรับผิดในหนี้นั้น โจทก์จึงเป็นเจ้าหนี้มีประกันที่เป็นผู้ต้องห้ามมิให้บังคับการชำระหนี้เอาแก่ทรัพย์สินของจำเลยเกินกว่าตัวทรัพย์ที่เป็นหลักประกัน โจทก์จะฟ้องจำเลยให้ล้มละลายไม่ได้ ต้องห้ามตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 10 (1)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1115/2549 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
สิทธิบังคับจำนองหลังซื้อทรัพย์จากการขายทอดตลาด: ผู้ซื้อมีสิทธิไถ่ถอนหรือถูกบังคับจำนองได้ตามกฎหมาย
การที่จำเลยซื้อทรัพย์สินซึ่งติดจำนองมาจากการขายทอดตลาดในคดีอื่นของศาลชั้นต้น โจทก์ผู้ทรงสิทธิจำนองย่อมมีสิทธิที่จะบังคับเอาแก่ตัวทรัพย์นั้นได้แต่หาได้ทำให้จำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์ในฐานะเป็นผู้จำนองแต่อย่างใดไม่ ฐานะของจำเลยเป็นเพียงผู้รับโอนทรัพย์สินซึ่งจำนอง อันมีสิทธิและหน้าที่ตามที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. คือ จำเลยมีสิทธิไถ่ถอนจำนองโดยเสนอรับใช้เงินเป็นจำนวนอันสมควรกับราคาทรัพย์สินนั้น ซึ่งหากโจทก์ไม่ยอมรับ โจทก์ต้องฟ้องคดีต่อศาลภายในหนึ่งเดือนนับแต่วันมีคำเสนอ เพื่อให้ศาลพิพากษาสั่งขายทอดตลาดทรัพย์สินซึ่งจำนอง ตามหลักเกณฑ์ที่บัญญัติไว้ในมาตรา 738 และ 739 และถ้าจำเลยมิได้ใช้สิทธิเสนอไถ่ถอนจำนองดังกล่าว หากโจทก์จะบังคับจำนอง ก็ต้องมีจดหมายบอกกล่าวแก่จำเลยล่วงหน้าหนึ่งเดือนก่อนแล้วจึงจะบังคับจำนองได้ตามมาตรา 735 มิใช่ว่าเมื่อจำเลยซื้อทรัพย์สินซึ่งติดจำนองมาแล้วโจทก์จะอาศัยสิทธิความเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในคดีหมายเลขแดงที่ 20768/2535 ที่โจทก์ฟ้องลูกหนี้ติดตามบังคับคดีแก่ทรัพย์สินได้ทันที จำเลยมิได้เป็นคู่ความในคดีดังกล่าว ประเด็นแห่งคดีก็เป็นคนละอย่างกัน กรณีหาใช่เรื่องสืบสิทธิที่จะถือว่าเป็นเรื่องที่คู่ความเดียวกันรื้อร้องฟ้องกันอีกในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกันไม่ ฟ้องโจทก์คดีนี้จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำกับคดีหมายเลขแดงที่ 20768/2535 ของศาลชั้นต้น ไม่เป็นการต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3419/2534
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การระงับสิ้นสุดสัญญาจำนองต้องมีการชำระหนี้หรือวางทรัพย์เพื่อไถ่ถอน การไม่ฟ้องบังคับจำนองไม่ถือเป็นการระงับสัญญา
ความระงับสิ้นไปแห่งสัญญาจำนองมี 6 กรณี ตามที่บัญญัติไว้ในป.พ.พ. มาตรา 744 โจทก์บรรยายฟ้องว่าโจทก์ได้ทำหนังสือขอไถ่ถอนจำนองไปจำเลย แต่จำเลยไม่ยอมรับข้อเสนอจนพ้นกำหนด 1 เดือน จำเลยไม่นำคดีฟ้องต่อศาลเพื่อขายทอดตลาดทรัพย์สินที่จำนอง การที่จำเลยไม่ฟ้องคดี แม้จะถือเท่ากับว่าจำเลยสนองรับคำเสนอขอไถ่ถอนจำนองของโจทก์โดยปริยายตามมาตรา 739,741 แล้วก็ตาม แต่จำนองจะระงับไปโดยเหตุการไถ่ถอนนี้ก็ต่อเมื่อโจทก์ใช้เงินแก่จำเลยตามจำนวนที่โจทก์เสนอจะใช้เท่ากับจำนวนเงินที่จดทะเบียนจำนองพร้อมดอกเบี้ยหรือโจทก์ได้นำเงินจำนวนดังกล่าวไปวางทรัพย์ ณ สำนักงานวางทรัพย์แล้ว ซึ่งฟ้องโจทก์ก็หาได้ปรากฏถึงสภาพแห่งข้อหาที่ถือว่าเป็นสาระสำคัญเช่นว่านี้ไม่เหตุตามคำฟ้องของโจทก์มิใช่กรณีใดกรณีหนึ่งซึ่งจะถือว่าสัญญาจำนองระงับไปดังที่กฎหมายบัญญัติไว้ โจทก์จึงไม่มีสิทธิที่จะขอให้บังคับจำเลยจดทะเบียนระงับจำนอง.
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3893/2533
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
สิทธิจำนองและการโอนที่ดิน ผู้รับจำนองมีสิทธิบังคับจำนองได้แม้มีการโอนกรรมสิทธิ์
ผู้จำนองมีสิทธิโอนที่ดินที่จำนองแก่บุคคลภายนอกได้ในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1336 ซึ่งผู้รับจำนองอาจใช้สิทธิบังคับจำนองแก่ผู้รับโอนที่ดินได้ การโอนที่ดินของผู้จำนองมิใช่เป็นการก่อภาระติดพันแก่ทรัพย์จำนองแต่อย่างใดทั้งผู้รับจำนองก็ยังคงมีสิทธิอยู่ตามสัญญาจำนอง ซึ่งหากบังคับจำนองได้เงินไม่พอชำระหนี้ ผู้จำนองก็ต้องรับผิดตามสัญญา หาใช่จะพ้นความรับผิดไปไม่ ดังนั้น จำเลยผู้รับจำนองจึงต้องส่งมอบโฉนดที่ดินซึ่งจำเลยครอบครองเพื่อให้โจทก์ผู้จำนองดำเนินการทำนิติกรรมโอนขายแก่บุคคลภายนอกตามฟ้อง