คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
พ.ร.บ.องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย พ.ศ.2497 ม. 17

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 2 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5571/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเปลี่ยนแปลงกฎหมายหลังฟ้องคดี และอำนาจการร้องทุกข์ของพนักงานรัฐวิสาหกิจในคดีทุจริต
เมื่อโจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้แล้ว มี พ.ร.ฎ.กำหนดเงื่อนเวลายกเลิกกฎหมายว่าด้วยองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย พ.ศ.2545 มาใช้บังคับ โดยให้มีผลเป็นอันยกเลิก พ.ร.บ.องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย พ.ศ.2497 ตั้งแต่วันที่ 31 กรกฎาคม 2545 เป็นต้นไป และกำหนดให้นำ พ.ร.บ.ทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2542 มาใช้บังคับแทน และมาตรา 17 แห่ง พ.ร.บ.องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย พ.ศ.2497 ที่ถูกยกเลิกบัญญัติให้พนักงานขององค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา แต่ พ.ร.บ.ทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2542 ที่ใช้บังคับแทนมิได้บัญญัติให้พนักงานขององค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 ปรับบทลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 147 จึงเป็นการไม่ชอบ การกระทำของจำเลยคงเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 352 วรรคแรก เพียงบทเดียว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8362/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดพนักงานในหน่วยงานของรัฐ: การตีความคำว่า 'พนักงาน' และหลักการพิพากษาเกินคำขอ
จำเลยทั้งสองเป็นพนักงานองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย ซึ่ง พ.ร.บ.องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย พ.ศ.2497 มาตรา 4 บัญญัติว่า "พนักงาน" หมายความว่า พนักงานขององค์การโทรศัพท์และมาตรา 17 บัญญัติว่า ให้ประธานกรรมการ กรรมการ ผู้อำนวยการ และพนักงานเป็นเจ้าพนักงานตามความหมายแห่งกฎหมายลักษณะอาญา แสดงว่าจำเลยทั้งสองย่อมเป็นเจ้าพนักงานอยู่แล้วตามกฎหมาย จำเลยทั้งสองจึงไม่ใช่พนักงานตามความหมายที่บัญญัติไว้ในมาตรา 3 แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 จึงไม่อาจนำ พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 มาใช้บังคับลงโทษจำเลยทั้งสองซึ่งเป็นพนักงานองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยได้
ตามฟ้องและคำขอท้ายฟ้องเป็นเรื่องที่โจทก์อ้างว่า จำเลยทั้งสองกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 มาตรา 4 และ 11 โดยมุ่งประสงค์ให้ลงโทษตามบทบัญญัติกฎหมายดังกล่าวเพียงประการเดียวหาได้ขอให้ลงโทษตาม ป.อ. มาตรา 147 และ 157 ดังที่โจทก์ฎีกาแต่อย่างใดไม่ จึงถือว่าโจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษ เมื่อจำเลยทั้งสองมิได้เป็นเจ้าพนักงานซึ่งจะมีความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 ศาลก็ต้องยกฟ้อง จะยกบทบัญญัติแห่ง ป.อ. ซึ่งเป็นกฎหมายคนละฉบับและไม่ได้กล่าวมาในฟ้องขึ้นมาพิจารณาลงโทษจำเลยทั้งสองโดยโจทก์มิได้ขอไม่ได้ เพราะเป็นการพิพากษาหรือสั่งเกินคำขอทั้งไม่ใช่เป็นเรื่องที่โจทก์ประสงค์ให้ลงโทษและโจทก์สืบสมแต่อ้างฐานความผิดหรือบทมาตราผิดหรือเป็นเพียงรายละเอียดตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่ง วรรคสอง วรรคสาม วรรคสี่ และวรรคห้า