คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.วิ.พ. ม. 199 ตรี

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 4 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1815/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความฟ้องล้มละลาย: ผลของการส่งคำบังคับโดยการปิดประกาศและการขอให้พิจารณาคดีใหม่
โจทก์ฟ้องจำเลยให้ล้มละลายโดยอาศัยมูลหนี้ตามคำพิพากษาของศาลจังหวัดอุบลราชธานี คดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1526/2544 ซึ่งเป็นสิทธิเรียกร้องที่เกิดขึ้นโดยคำพิพากษาของศาลที่ถึงที่สุดอันมีกำหนดอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/32 แต่เนื่องจาก ป.วิ.พ. มาตรา 147 วรรคสอง บัญญัติให้คำพิพากษาหรือคำสั่งใดซึ่งอาจอุทธรณ์ ฎีกา หรือมีคำขอให้พิจารณาใหม่ได้นั้น ถ้ามิได้อุทธรณ์ ฎีกา หรือร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่ภายในเวลาที่กำหนดไว้ ให้ถือว่าเป็นที่สุดตั้งแต่ระยะเวลาเช่นว่านั้นได้สิ้นสุดลง เมื่อคดีแพ่งดังกล่าวศาลมีคำพิพากษาชี้ขาดให้โจทก์เป็นฝ่ายชนะคดีเนื่องจากจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การตาม ป.วิ.พ. มาตรา 198 ทวิ กรณีเช่นนี้จำเลยซึ่งศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดให้แพ้คดีโดยขาดนัดยื่นคำให้การ และมิได้ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งนั้น ย่อมมีสิทธิขอให้พิจารณาใหม่โดยยื่นคำขอต่อศาลภายใน 15 วัน นับจากวันที่ได้ส่งคำบังคับตามคำพิพากษาหรือคำสั่งให้แก่จำเลยที่ขาดนัดยื่นคำให้การ แต่ถ้าศาลได้กำหนดการอย่างใด ๆ เพื่อส่งคำบังคับเช่นว่านี้โดยวิธีส่งหมายธรรมดาหรือโดยวิธีอื่นแทน จะต้องได้มีการปฏิบัติตามข้อกำหนดนั้นแล้วดังที่บัญญัติใน ป.วิ.พ. มาตรา 199 ตรี และมาตรา 199 จัตวา วรรคหนึ่ง แต่คดีดังกล่าวหลังจากศาลพิพากษาก็มิได้มีการออกคำบังคับมาก่อน ศาลเพิ่งออกคำบังคับเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2546 และส่งคำบังคับแก่จำเลยโดยการปิดประกาศหน้าศาลในวันเดียวกัน การส่งคำบังคับโดยการปิดประกาศดังกล่าวมีผลเมื่อกำหนดเวลา 15 วัน ได้ล่วงพ้นไปแล้วตาม ป.วิ.พ. มาตรา 79 วรรคสอง จึงต้องถือว่าการส่งคำบังคับโดยการปิดประกาศดังกล่าวมีผลในวันที่ 8 มีนาคม 2546 จำเลยมีสิทธิยื่นคำขอให้พิจารณาใหม่ได้ภายในวันที่ 23 มีนาคม 2546 คดีในส่วนของจำเลยจึงเป็นที่สุดตั้งแต่วันถัดจากวันที่ 23 มีนาคม 2546 การที่โจทก์ฟ้องจำเลยขอให้ล้มละลายคดีนี้ในวันที่ 27 กรกฎาคม 2555 จึงยังไม่พ้นกำหนดอายุความ 10 ปี นับแต่วันที่คำพิพากษาคดีแพ่งถึงที่สุด คดีจึงยังไม่ขาดอายุความ โจทก์ย่อมฟ้องจำเลยให้ล้มละลายได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14216/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาประกันภัยตกเป็นโมฆะเนื่องจากผู้เอาประกันภัยแสดงเจตนาไม่ตรงกัน
จำเลยขาดนัดพิจารณาและโจทก์สืบพยานไปบ้างแล้ว จำเลยยื่นคำร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่ ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วเห็นว่าการขาดนัดเป็นไปโดยไม่จงใจให้ยกคดีขึ้นพิจารณาใหม่ โจทก์โต้แย้งคำสั่งไว้ หลังจากศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาแล้ว โจทก์อุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้พิจารณาคดีใหม่ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน กรณีเป็นเรื่องการขอพิจารณาคดีใหม่ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 206 วรรคสาม ซึ่งไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายจำกัดสิทธิในการอุทธรณ์ฎีกาไว้ หาใช่อุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้พิจารณาคดีใหม่หลังจากศาลมีคำสั่งชี้ขาดให้จำเลยแพ้คดีโดยการขาดนัดพิจารณา ตามมาตรา 199 ตรี และมาตรา 207 อันเป็นที่สุดตาม ป.วิ.พ. มาตรา 199 เบญจ วรรคสี่ ไม่ โจทก์จึงฎีกาคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในปัญหาเรื่องการจงใจขาดนัดพิจารณาหรือไม่ ได้
ในวันนัดไต่สวนคำร้องขอดำเนินคดีอย่างคนอนาถา นอกจากศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์ดำเนินคดีอย่างคนอนาถาแล้ว ยังมีคำสั่งให้รับคำฟ้อง หมายเรียกให้จำเลยยื่นคำให้การ และนัดสืบพยานโจทก์ด้วย ซึ่งในวันดังกล่าวทนายจำเลยไม่ได้มาศาลหรือลงชื่อทราบวันนัดของศาลแต่อย่างใด และแม้ทนายจำเลยเคยระบุไว้ในคำแถลงวันที่ 5 เมษายน 2544 ว่าศาลนัดสืบพยานโจทก์วันที่ 23 พฤษภาคม 2544 เวลา 13.30 นาฬิกา ก็ตาม แต่ปรากฏตามคำร้องลงวันที่ 3 พฤษภาคม 2544 ของทนายจำเลยที่ขอให้จำหน่ายคดีเนื่องจากโจทก์ฟ้องคดีโดยไม่ได้เสนอข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการพิจารณาก่อนจึงเป็นการไม่ชอบซึ่งศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า "รวมและรอไว้สั่งในวันนัด" ที่หัวกระดาษบนด้านขวาเหนือตราประทับของแผนกเก็บสำนวนคดีดำเขียนว่า "24 พค 44" นอกจากนั้นบัญชีพยานจำเลยลงวันที่ 15 พฤษภาคม 2544 หัวกระดาษตอนบนมีข้อความระบุว่า "นัดวันที่ 24 พค 44 13.30 น" เมื่อพิจารณาถึงเหตุที่ทนายจำเลยมาศาลในวันที่ 24 พฤษภาคม 2544 และยื่นคำร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่ในวันนั้นโดยระบุชัดแจ้งถึงเหตุที่มาศาลในวันนั้นเพื่อปฏิบัติหน้าที่คดีนี้และเหตุที่ไม่ได้มาศาลในวันนัด พร้อมสำเนาหลักฐานสมุดนัดความของทนายจำเลยซึ่งสอดคล้องกับเอกสารสำนวนศาล พฤติการณ์ตามข้ออ้างของทนายจำเลยจึงน่าเชื่อว่าทนายจำเลยสำคัญผิดในวันนัดและไม่ได้จงใจขาดนัดพิจารณา
จำเลยออกกรมธรรม์ประกันชีวิตให้แก่ จ. แต่อ้างว่าผู้แสดงเจตนาขอเอาประกันภัยไม่ใช่ จ. ประเด็นข้อพิพาทจึงมีว่าสัญญาประกันภัยบังคับได้หรือไม่ เพียงใด จำเลยซึ่งมีภาระการพิสูจน์ย่อมสามารถนำพยานหลักฐานเข้าสืบเพื่อหักล้างให้เห็นว่าสัญญาประกันภัยไม่มีผลผูกพันได้
คำสั่งศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้ส่งเอกสารไปตรวจพิสูจน์นั้นเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา หากโจทก์ไม่เห็นด้วยต้องโต้แย้งคัดค้านไว้ เมื่อไม่ปรากฏว่าโจทก์โต้แย้งคำสั่งศาลชั้นต้นทั้งที่มีเวลาเพียงพอโจทก์ไม่อาจอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวได้ ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยให้เป็นการไม่ชอบ จึงเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ ต้องห้ามมิให้ฎีกา ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8439/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คดีมโนสาเร่: สิทธิการขอพิจารณาคดีใหม่ แม้ขาดนัดยื่นคำให้การ
คดีมโนสาเร่มีบทบัญญัติตาม ป.วิ.พ. มาตรา 189 ถึงมาตรา 196 บัญญัติเกี่ยวกับวิธีพิจารณาคดีมโนสาเร่ไว้โดยเฉพาะและถึงแม้จะไม่ได้มีบทบัญญัติว่าด้วยการพิจารณาคดีใหม่ในคดีมโนสาเร่ แต่มาตรา 195 ก็ให้นำบทบัญญัติอื่นในประมวลกฎหมายนี้มาใช้บังคับแก่การพิจารณาและการชี้ขาดตัดสินคดีมโนสาเร่ด้วย จึงนำมาตรา 199 ตรี อันเป็นเรื่องของการพิจารณาใหม่และมาตราอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการขอพิจารณาคดีใหม่มาใช้กับคดีมโนสาเร่ได้ อีกทั้งไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายใด ห้ามมิให้จำเลยซึ่งแพ้คดีโดยขาดนัดยื่นคำให้การในคดีมโนสาเร่ที่จะขอให้พิจารณาคดีใหม่ ดังนั้น จำเลยทั้งสามจึงขอให้พิจารณาคดีใหม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7622/2541

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การส่งหมายเรียกโดยวิธีปิดหมายชอบด้วยกฎหมาย แม้จำเลยย้ายภูมิลำเนา แต่ยังมีความเกี่ยวข้องกับภูมิลำเนาเดิม
ในการส่งหมายเรียกสำเนาฟ้องให้จำเลยที่ 1 ครั้งแรกนั้น เจ้าพนักงานศาลส่งไม่ได้ โจทก์จึงขอให้ส่งใหม่โดยปิดหมายซึ่งในครั้งหลัง เจ้าพนักงานศาลระบุว่า ไม่พบผู้รับตามหมาย คนในบ้านแจ้งว่าจำเลยที่ 1 ไปธุระและไม่มีผู้รับหมายไว้แทนจึงปิดหมายตามคำสั่งศาล แสดงว่าคนในบ้านยอมรับว่าจำเลยที่ 1 ยังคงอยู่ที่บ้านตามภูมิลำเนาที่โจทก์ระบุในฟ้องที่จำเลยที่ 1 อ้างว่าได้ย้ายภูมิลำเนาโดยมี ส. ซึ่งเป็นกรรมการผู้มีอำนาจของบริษัทจำเลยที่ 2 ย้ายไปอยู่ที่เดียวกับจำเลยที่ 1 โดยไม่ปรากฏเหตุผลในการย้ายของจำเลยที่ 1 และ ส. ทั้งที่บริษัทจำเลยที่ 2 ยังมิได้จดทะเบียนเลิกกิจการและมิได้มีการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงที่อยู่ของจำเลยที่ 1 ผู้ถือหุ้น จึงยังถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 มีเจตนาปรากฏชัดแจ้งว่าจะเปลี่ยนภูมิลำเนาเดิมของตน การส่งหมายเรียกสำเนาฟ้อง หมายนัดสืบพยานโจทก์และคำบังคับให้แก่จำเลยที่ 1 โดยวิธีปิดหมายจึงชอบด้วยกฎหมาย จำเลยที่ 1 จึงทราบว่าตนถูกฟ้องแล้วตั้งแต่เจ้าพนักงานศาลได้ส่งหมายเรียกสำเนาฟ้องให้แก่จำเลยที่ 1 โดยชอบ เมื่อจำเลยที่ 1 จงใจขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา จึงไม่มีเหตุสมควรอนุญาตให้พิจารณาคดีใหม่