พบผลลัพธ์ทั้งหมด 3 รายการ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8488/2553
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ธนาคารต่างประเทศซื้อทรัพย์จากการบังคับคดีได้ตามกฎหมายเฉพาะ แม้มีข้อจำกัดในการใช้ประโยชน์
แม้โจทก์จะเป็นธนาคารที่ก่อตั้งและจดทะเบียนที่ประเทศสหรัฐอเมริกา แต่ก็มีสาขาในประเทศไทยโดยได้รับอนุญาตจากกระทรวงการคลังให้ประกอบการธนาคารพาณิชย์ในประเทศไทยได้ จึงเป็นธนาคารพาณิชย์ตามความหมายของมาตรา 4 วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ.การธนาคารพาณิชย์ พ.ศ.2505 และได้รับยกเว้นให้ซื้ออสังหาริมทรัพย์ที่จำนองไว้แก่ธนาคารสาขาของโจทก์ในประเทศไทยจากการขายทอดตลาดโดยคำสั่งศาลได้ ตามมาตรา 12 (4) ข แห่ง พ.ร.บ.ดังกล่าว ดังนั้น การที่โจทก์ทำสัญญาซื้อที่ดินพิพาทโดยการขายทอดตลาดของกรมบังคับคดีจึงไม่ตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 เพราะการที่กฎหมายเปิดโอกาสให้ธนาคารเจ้าหนี้สามารถซื้อทรัพย์ของลูกหนี้ได้ก็เพื่อประโยชน์ในการบังคับชำระหนี้ของลูกหนี้ มิให้เจ้าหนี้ไม่ว่าจะมีสัญชาติไทยหรือต่างด้าวต้องได้รับความเสียหายจากการที่ไม่สามารถบังคับคดีเอาแก่ทรัพย์สินที่เป็นหลักประกันหนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นธรรมเช่นเจ้าหนี้ทั่วไป ทั้งยังเป็นหลักประกันสำหรับความเสมอภาคของเจ้าหนี้ทั้งหลายในการประกอบธุรกิจที่มีการแข่งขันอย่างเสรี แต่อย่างไรก็ตามโจทก์มีหน้าที่จะต้องจัดการกับที่ดินดังกล่าวเพื่อวัตถุประสงค์ในการเอาชำระหนี้ที่ค้างเท่านั้น ไม่อาจนำไปใช้เพื่อวัตถุประสงค์อื่นได้ เนื่องจากโจทก์ยังคงต้องอยู่ภายใต้บังคับของประมวลกฎหมายที่ดินที่ใช้แก่บุคคลต่างด้าว การที่โจทก์จะสามารถถือกรรมสิทธิ์ต่อไปหรือใช้ประโยชน์ในที่ดินที่ซื้อมาดังกล่าวได้แค่ไหนเพียงใด ย่อมต้องเป็นไปตามกฎหมายซึ่งเป็นเรื่องระหว่างรัฐกับโจทก์หรือผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้องจะไปว่ากล่าวกันตามกฎหมายต่างหาก แต่สำหรับจำเลยทั้งสองในฐานะลูกหนี้ตามคำพิพากษาย่อมมีหน้าที่โดยสุจริตที่จะต้องชำระหนี้หรือถูกบังคับชำระหนี้ที่ก่อขึ้น ไม่อาจยกประมวลกฎหมายที่ดินขึ้นอ้างเพื่อปฏิเสธการชำระหนี้และการถูกบังคับคดี
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4388/2536
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การบังคับคดีและการคัดค้านการขายทอดตลาด: การไม่ปฏิบัติตามคำคัดค้านของจำเลยและการไม่ยื่นคำร้องต่อศาลภายในกำหนด
จำเลยที่ 2 ที่ 3 ฎีกาว่า เจ้าพนักงานบังคับคดี ไม่ควรขายที่ดินที่ถูกยึดแปลงที่ 8 และแปลงที่ 9 กับแปลงที่ 10และแปลงที่ 11 รวมกัน เพราะถ้าแยกขายแปลงที่ 8 และแปลงที่ 9 จะทำให้รายได้ในการขายเพิ่มขึ้นกว่าการขายรวมกัน และการขายแปลงที่ 10 กับแปลงที่ 11 รวมกันทำให้ ไม่สามารถแยกแยะได้ว่าที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง ที่ขายเป็นเงินของจำเลยที่ 2 และที่ 3 คนละเท่าไร เพราะที่ดินแปลงที่ 10 มีชื่อจำเลยที่ 2 ที่ 3เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ร่วมกัน แต่แปลงที่ 11 จำเลยที่ 3มีกรรมสิทธิ์เพียงคนเดียว เมื่อปรากฏว่า ในวันขายทอดตลาดนั้นจำเลยที่ 2 ที่ 3 มาดูแลการขายด้วย และยังได้คัดค้านการรวมขายที่ดินแปลง ที่ 8 และแปลงที่ 9 กับแปลงที่ 10และแปลงที่ 11 แล้ว แต่เจ้าพนักงานบังคับคดีไม่บันทึกไว้และบอกให้ไปร้องต่อศาลเอง กรณีเท่ากับว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีไม่ยอมปฏิบัติตามคำคัดค้านของจำเลยที่ 2ที่ 3 จำเลยที่ 2 ที่ 3 ก็ชอบที่จะต้องไปยื่นคำร้องขอต่อศาลขอให้มีคำสั่งชี้ขาดเสียภายในสองวัน นับแต่วันที่ เจ้าพนักงานบังคับคดีปฏิเสธคำคัดค้านของจำเลยที่ 2 ที่ 3ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 309 วรรคท้ายเมื่อจำเลยที่ 2 และที่ 3 มิได้ยื่นคำร้องต่อศาล เสีย ภายในกำหนดเวลาดังกล่าว จำเลยที่ 2 ที่ 3 จะยกเป็นเหตุคัดค้านภายหลังไม่ได้ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้ โจทก์เป็นธนาคารพาณิชย์ ย่อมมีสิทธิซื้อที่ดินที่จำนองเป็นประกันไว้แก่โจทก์จากการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาลเพื่อชำระหนี้โจทก์ได้ตามพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ พ.ศ. 2505มาตรา 12(4)(ข)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3360/2527
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การรับโอนอสังหาริมทรัพย์จากการชำระหนี้จำนองของธนาคารพาณิชย์ ไม่ขัดกฎหมายหากจำหน่ายภายในเก้าปี
การที่ผู้จำนองจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและตึกพิพาทที่จำนองให้โจทก์ซึ่งเป็นธนาคารพาณิชย์ผู้รับจำนองเป็นการชำระหนี้จำนอง เป็นกรณีที่อสังหาริมทรัพย์ตกเป็นของธนาคารพาณิชย์เนื่องจากการชำระหนี้ตามพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ พ.ศ.2505 มาตรา 12(5) วรรคสอง (เดิม)ซึ่งกฎหมายมุ่งหมายให้กระทำได้ เพียงแต่อยู่ภายในเงื่อนไขที่ว่าธนาคารพาณิชย์ซึ่งได้รับอสังหาริมทรัพย์มาในกรณีดังกล่าวจะต้องจำหน่ายภายในเก้าปีนับแต่วันที่อสังหาริมทรัพย์นั้นตกเป็นของธนาคารพาณิชย์ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีเป็นอย่างอื่น ฉะนั้นการที่โจทก์รับโอนที่ดินและตึกพิพาทจึงไม่เป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย และไม่เป็น โมฆะ