คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.วิ.อ. ม. 173

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 78 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3661/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อัตราเงินรางวัลทนายความที่ศาลตั้ง: ศาลอุทธรณ์แก้ไขคำสั่งเดิมไม่ได้ หากศาลชั้นต้นมิได้ใช้ดุลพินิจผิด
เนื่องด้วยระเบียบคณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรม ว่าด้วยการจ่ายเงินรางวัลและค่าใช้จ่ายแก่ทนายความที่ศาลตั้งให้ผู้ต้องหาหรือจำเลย ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 173 พ.ศ.2548 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยระเบียบคณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรม ว่าด้วยการจ่ายเงินรางวัลและค่าใช้จ่ายแก่ทนายความที่ศาลตั้งให้ผู้ต้องหาหรือจำเลย ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 173 (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2550 ข้อ 4 ระบุว่า อัตราเงินรางวัลทนายความที่ศาลตั้งให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 173 ให้เป็นไปตามอัตราที่กำหนดไว้ในข้อ 7 และตารางท้ายระเบียบนี้ ดังนั้น อัตราเงินรางวัลทนายความที่ศาลตั้งให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 173 จึงมี 2 อัตรา คือ อัตราที่กำหนดไว้ในข้อ 7 และอัตราที่กำหนดไว้ตามตารางอัตราเงินรางวัลทนายความที่ศาลตั้งแก่ผู้ต้องหาหรือจำเลยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 173 ท้ายระเบียบ
เมื่อข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าศาลชั้นต้นใช้ดุลพินิจกำหนดเงินรางวัลทนายความผิดกฎหมายหรือระเบียบ ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ย่อมไม่อาจก้าวล่วงไปกำหนดเงินรางวัลทนายความเพิ่มเติม เพราะอำนาจในการกำหนดเงินรางวัลทนายความเป็นอำนาจเฉพาะของศาลชั้นต้นตามที่ระบุไว้ใน ป.วิ.อ. มาตรา 173 วรรคสาม ประกอบระเบียบคณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรม ว่าด้วยการจ่ายเงินรางวัลและค่าใช้จ่ายแก่ทนายความที่ศาลตั้งให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 173 พ.ศ.2548 ข้อ 5

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16408/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อัตราเงินรางวัลทนายความที่ศาลตั้ง: คดีรับสารภาพไม่ต้องอ้างอิงตารางอัตราขั้นต่ำ
การสั่งจ่ายเงินรางวัลทนายความที่ศาลตั้งให้จำเลยคดีนี้เป็นกรณีจำเลยให้การรับสารภาพซึ่งมีระเบียบกำหนดไว้เป็นการเฉพาะแล้ว จึงต้องเป็นไปตามอัตราที่กำหนดไว้ในข้อดังกล่าว โดยไม่จำต้องอ้างอิงอัตราเงินรางวัลทนายความที่ศาลตั้งให้แก่ผู้ต้องหาหรือจำเลยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 173 ท้ายระเบียบ เมื่ออัตราเงินรางวัลทนายความตามข้อ 7 มิได้กำหนดอัตราขั้นต่ำไว้ ที่ศาลชั้นต้นสั่งจ่ายเงินรางวัลทนายความให้แก่ผู้ร้อง 2,000 บาท จึงชอบแล้ว
อำนาจในการกำหนดเงินรางวัลให้ทนายความเป็นอำนาจเฉพาะของศาลชั้นต้นตามที่ระบุไว้ใน ป.วิ.อ. มาตรา 173 วรรคสาม ประกอบระเบียบคณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรมว่าด้วยการจ่ายเงินรางวัลและค่าใช้จ่ายแก่ทนายความที่ศาลตั้งผู้ต้องหาหรือจำเลยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 173 พ.ศ.2548 ข้อ 5 ผู้ร้องไม่มีอำนาจฎีกาให้ศาลฎีกากำหนดเงินรางวัลทนายความใหม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 860/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การไม่แต่งตั้งทนายความตามกฎหมาย และผลกระทบของ พ.ร.บ.ล้างมลทิน ต่อการเพิ่มโทษ
เมื่อปรากฏตามคำร้องของจำเลยว่าจำเลยได้ขอให้ศาลชั้นต้นแต่งตั้งทนายความให้ตลอดมาจนกระทั่งสืบพยานจำเลยเสร็จ แต่ศาลชั้นต้นก็ไม่ได้แต่งตั้งทนายความให้จำเลย ซึ่งหากจำเลยเห็นว่าการดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 173 วรรคสอง จำเลยต้องยื่นคำขอโดยทำเป็นคำร้องเพื่อให้ศาลชั้นต้นเพิกถอนกระบวนพิจารณาดังกล่าวไม่ช้ากว่า 8 วัน นับแต่วันทราบกระบวนพิจารณานั้น ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 แต่จำเลยยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นเมื่อล่วงพ้นระยะเวลาตามที่กฎหมายกำหนด คำร้องของจำเลยย่อมไม่ชอบด้วยกฎหมาย
จำเลยยื่นคำร้องว่า ในระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 5 ว่าจะรับหรือไม่รับอุทธรณ์ของจำเลย ได้มี พ.ร.บ.ล้างมลทินฯ พ.ศ.2550 ใช้บังคับ ขอให้งดเพิ่มโทษ โดยจำเลยยื่นคำร้องหลังจากที่ศาลชั้นต้น อ่านคำสั่งศาลอุทธรณ์ภาค 5 และก่อนที่จำเลยจะยื่นฎีกา เมื่อคำร้องดังกล่าวเป็นปัญหาในชั้นบังคับคดี มิใช่เป็นการฎีกาโต้แย้งคัดค้านคำสั่งของศาลล่างที่มีคำสั่งให้ยกคำร้องของจำเลยที่ขอให้พิจารณาและพิพากษาคดีใหม่และไม่รับอุทธรณ์ของจำเลย จึงเป็นเรื่องที่ศาลชั้นต้นต้องพิจารณาสั่งคำร้องดังกล่าว หากศาลชั้นต้นสั่งเป็นประการใดแล้ว จำเลยจึงจะใช้สิทธิอุทธรณ์ฎีกาต่อมาได้เป็นลำดับ การที่ศาลชั้นต้นสั่งรับเป็นคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมฎีกาของจำเลยจึงเป็นการไม่ชอบ ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกายกขึ้นอ้างและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบ มาตรา 225
เมื่อความผิดที่ศาลชั้นต้นจำคุกจำเลยที่โจทก์อาศัยเป็นเหตุขอให้เพิ่มโทษ จำเลยได้พ้นโทษไปแล้วก่อนวันที่ พ.ร.บ.ล้างมลทิน ฯ พ.ศ.2550 ใช้บังคับ จำเลยย่อมได้รับประโยชน์ตาม มาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติ ดังกล่าว จึงเพิ่มโทษจำเลยไม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 344/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิจำเลยในการมีทนาย – กระบวนการพิจารณาคดีที่ไม่ชอบ – ผลกระทบต่อการต่อสู้คดี
โจทก์ฟ้องคดีที่มีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี และปรับไม่เกิน 6,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แต่ในการพิจารณาคดีก่อนถามคำให้การจำเลย ศาลชั้นต้นมิได้สอบถามจำเลยเรื่องทนายความตาม ป.วิ.อ. มาตรา 173 วรรคสอง จึงเป็นเรื่องที่ศาลชั้นต้นมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามบทบัญญัติดังกล่าวอันเป็นกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบ และทำให้จำเลยเสียเปรียบ แม้ศาลอุทธรณ์ภาค 8 มีคำสั่งในรายงานกระบวนพิจารณา ให้ศาลชั้นต้นสอบถามจำเลยเรื่องทนายความแล้วให้ส่งสำนวนคืนศาลอุทธรณ์ภาค 8 เพื่อพิจารณาพิพากษา ก็ไม่อาจแก้ไขกระบวนการพิจารณาที่เสียไปแล้วตั้งแต่ต้นให้กลับมาเป็นชอบด้วยกฎหมายได้ ศาลฎีกาให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาและพิพากษาใหม่ตามรูปคดี

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7701/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิจำเลยในคดีโทษประหาร: ศาลต้องตั้งทนายให้ แม้จำเลยไม่ร้องขอ
คดีนี้เป็นคดีที่มีอัตราโทษประหารชีวิต ซึ่ง ป.วิ.อ. มาตรา 173 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ก่อนเริ่มพิจารณาให้ศาลถามจำเลยว่ามีทนายความหรือไม่ ถ้าไม่มีก็ให้ศาลตั้งทนายความให้เป็นคนละกรณีกับวรรคสองของบทมาตราดังกล่าว ที่ศาลต้องสอบถามด้วยว่าจำเลยต้องการทนายความหรือไม่ ดังนั้น ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 173 วรรคหนึ่ง เมื่อจำเลยไม่มีทนายความ ศาลก็ต้องตั้งทนายความให้โดยไม่ต้องคำนึงว่าจำเลยต้องการทนายความหรือไม่ ทั้งนี้เพื่อให้ความคุ้มครองแก่จำเลยในคดีที่มีอัตราโทษประหารชีวิต เมื่อคดีนี้ศาลชั้นต้นเพียงแต่สอบถามจำเลยเรื่องทนายความโดยไม่ตั้งทนายความให้จำเลย การพิจารณาของศาลชั้นต้นจึงเป็นการไม่ชอบ ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4460/2546

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิจำเลยในการมีทนาย – กระบวนการไม่ชอบด้วยกฎหมายแต่แก้ไขแล้ว ไม่ต้องดำเนินกระบวนการใหม่
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 173 มีเจตนารมณ์เพื่อเปิดโอกาสให้จำเลยสามารถต่อสู้คดีได้อย่างเต็มที่เมื่อข้อหาที่โจทก์ฟ้องมีอัตราโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงจำคุกตลอดชีวิตศาลชั้นต้นย่อมมีหน้าที่ต้องสอบถามจำเลยเกี่ยวกับทนายความเสียก่อนตามมาตรา 173 จะด่วนไปสอบถามคำให้การจำเลยโดยจำเลยยังไม่มีทนายความไม่มีผูกพันจำเลย ต้องถือเสมือนว่าจำเลยยังมิได้ให้การตามที่ศาลสอบถามและบันทึกไว้ อย่างไรก็ดี แม้กระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นในเรื่องดังกล่าวจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่ปรากฏว่าในวันสืบพยานโจทก์นัดแรกจำเลยได้แต่งทนายความเข้ามาว่าต่างให้ ทนายความของจำเลยยังแก้ต่างให้ทุกนัดจนเสร็จคดี กรณีไม่มีเหตุอันสมควรที่จะดำเนินกระบวนพิจารณาใหม่ตามมาตรา 208(2)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4608/2545

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิจำเลยในการมีทนาย – กระบวนการพิจารณาที่ไม่ชอบ ศาลต้องดำเนินกระบวนการใหม่
จำเลยถูกฟ้องเป็นคดีมีอัตราโทษจำคุกตั้งแต่ 1 ปี ถึง 10 ปี และปรับตั้งแต่ 10,000บาท ถึง 100,000 บาท แต่ปรากฏว่าในการพิจารณาคดี ก่อนถามคำให้การจำเลยศาลชั้นต้นมิได้สอบถามจำเลยเรื่องทนายความตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 173 วรรคสอง ซึ่งเป็นบทบัญญัติคุ้มครองสิทธิของจำเลยในการต่อสู้คดีอย่างเต็มที่ จึงเป็นเรื่องที่ศาลชั้นต้นมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามบทกฎหมายดังกล่าว อันเป็นกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบและทำให้จำเลยเสียเปรียบ แม้ต่อมาศาลอุทธรณ์ภาค 5 จะมีคำสั่งในรายงานกระบวนพิจารณาให้ศาลชั้นต้นสอบถามจำเลยเรื่องทนายความก่อนที่จะอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5ให้คู่ความฟังก็ตาม ก็ไม่อาจแก้ไขกระบวนพิจารณาที่เสียไปแล้วตั้งแต่ต้นให้กลับมาเป็นชอบด้วยกฎหมายได้ ศาลฎีกาเห็นจำเป็นให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาและพิพากษาใหม่ตามรูปคดี ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3667/2545

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การแต่งตั้งที่ปรึกษากฎหมายในคดีเยาวชน: บทเฉพาะย่อมยกเว้นบททั่วไป
พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2534 มาตรา 83 ให้แต่งตั้งที่ปรึกษากฎหมายให้จำเลยในศาลที่มีอำนาจพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว ไม่ว่าความผิดที่จำเลยถูกฟ้องนั้นมีอัตราโทษประหารชีวิตหรือไม่ก็ตาม เว้นแต่จำเลยไม่ต้องการที่ปรึกษากฎหมายและศาลเห็นว่าที่ปรึกษากฎหมายไม่จำเป็นแก่คดี บทกฎหมายดังกล่าวถือได้ว่าเป็นกฎหมายเฉพาะย่อมยกเว้นประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 173 อันเป็นกฎหมายทั่วไป และไม่อาจนำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ดังกล่าวซึ่งขัดหรือแย้งต่อพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2534 มาใช้ได้
จำเลยอายุเกินสิบแปดปีบริบูรณ์แล้วขณะที่โจทก์ยื่นฟ้อง แต่ขณะกระทำความผิดต่อประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289 จำเลยมีอายุไม่ถึงสิบแปดปีบริบูรณ์ จึงต้องดำเนินคดีในศาลที่มีอำนาจพิจารณาคดีเยาวชน ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2534 มาตรา 5 การแต่งตั้งที่ปรึกษากฎหมายให้จำเลยจึงต้องปฏิบัติตามมาตรา 83 การที่ศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง จดรายงานกระบวนพิจารณาว่า จำเลยให้การรับสารภาพ และไม่ต้องการที่ปรึกษากฎหมายจำเลย ศาลเห็นว่าไม่จำเป็นต้องตั้งที่ปรึกษากฎหมายจำเลย จึงให้นัดสืบพยานประกอบคำรับสารภาพ เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ชอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2534 มาตรา 83 แล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3667/2545 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การแต่งตั้งที่ปรึกษากฎหมายในคดีเยาวชน: ศาลต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.เยาวชนฯ แม้คดีมีโทษประหาร
แม้โจทก์จะฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289อันเป็นคดีที่มีอัตราโทษประหารชีวิต ซึ่งศาลชั้นต้นต้องถามจำเลยก่อนเริ่มพิจารณาว่ามีทนายความหรือไม่ ถ้าไม่มีก็ให้ศาลตั้งให้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 173 วรรคแรก ก็ตามแต่ก็เป็นบทบัญญัติสำหรับดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลที่มีอำนาจพิจารณาคดีธรรมดา ส่วนศาลที่มีอำนาจพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัวนั้นพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัวฯ มาตรา 6 ให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาใช้บังคับเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้ เมื่อมาตรา 83แห่ง พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัวฯ ที่ระบุให้จำเลยมีที่ปรึกษากฎหมายเพื่อปฏิบัติหน้าที่ทำนองเดียวกับทนายความ หากจำเลยไม่มีที่ปรึกษากฎหมายก็ให้ศาลแต่งตั้งให้เว้นแต่จำเลยไม่ต้องการและศาลเห็นว่าไม่จำเป็นแก่คดีจะไม่ตั้งที่ปรึกษากฎหมายก็ได้นั้น ถือเป็นกฎหมายเฉพาะย่อมยกเว้น ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 173 ซึ่งเป็นบททั่วไปจึงไม่อาจนำมาใช้ในกรณีนี้ได้ ดังนั้น ที่ศาลเยาวชนและครอบครัวกลางจดรายงานกระบวนพิจารณาว่า จำเลยไม่ต้องการที่ปรึกษากฎหมาย และศาลเห็นว่าไม่จำเป็นต้องตั้งที่ปรึกษากฎหมาย จึงให้นัดสืบพยาน... จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ชอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัวฯ มาตรา 83 ครบถ้วนแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3667/2545 เวอร์ชัน 3 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การแต่งตั้งที่ปรึกษากฎหมายในคดีเยาวชน: กฎหมายเฉพาะเหนือกว่ากฎหมายทั่วไป
พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวฯ พ.ศ. 2534 มาตรา 6 บัญญัติให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาใช้บังคับแก่คดีเยาวชนและครอบครัวเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับบทแห่งพระราชบัญญัตินี้ เมื่อตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัวฯ ได้มีบทบัญญัติในมาตรา 83 ว่า ในศาลที่มีอำนาจพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัวจำเลยจะมีทนายความแก้คดีแทนไม่ได้ แต่ให้จำเลยมีที่ปรึกษากฎหมายเพื่อปฏิบัติหน้าที่ทำนองเดียวกันกับทนายความได้ ในกรณีที่จำเลยไม่มีที่ปรึกษากฎหมาย ให้ศาลแต่งตั้งที่ปรึกษากฎหมายให้ เว้นแต่จำเลยนั้นไม่ต้องการและศาลเห็นว่า ไม่จำเป็นแก่คดี จะไม่แต่งตั้งที่ปรึกษากฎหมายก็ได้ ดังนั้น การแต่งตั้งที่ปรึกษากฎหมายจึงต้องบังคับตามบทบัญญัติดังกล่าว มิอาจนำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 173 มาใช้บังคับได้
(ประชุมใหญ่ ครั้งที่ 4/2545 เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2545)
of 8