คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 ม. 32

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 36 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10498/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การริบทรัพย์ในความผิดศุลกากร: การพิจารณาความเชื่อมโยงโดยตรงกับการกระทำความผิด
พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 32 บัญญัติถึงการริบทรัพย์ในการกระทำความผิดเฉพาะความผิดตามมาตรา 27 ซึ่งบทมาตราทั้งสองใช้บังคับพร้อมกันในขณะนั้น ต่อมาเมื่อมีการบัญญัติความผิดตามมาตรา 27 ทวิ ในภายหลังเมื่อปี 2499 ซึ่งมีลักษณะการกระทำความผิดต่างหากจากความผิดมาตรา 27 จึงนำบทบัญญัติการริบทรัพย์ตามมาตรา 32 มาใช้บังคับเพื่อริบทรัพย์ของกลางคดีนี้ที่จำเลยกระทำความผิดตามมาตรา 27 ทวิ ไม่ได้ และเมื่อข้อเท็จจริงได้ความเพียงว่า จำเลยกับพวกใช้รถยนต์ของกลางเป็นพาหนะขนย้ายบรรทุกโทรศัพท์เคลื่อนที่และแบตเตอรี่บางส่วนไปจำหน่าย ย่อมไม่ใช่การใช้รถยนต์ของกลางในการกระทำความผิดตามฟ้องโดยตรง จึงไม่ใช่ทรัพย์ซึ่งได้ใช้หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิดที่ศาลมีอำนาจสั่งให้ริบตาม ป.อ. มาตรา 33

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2481/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การริบของกลางคดีศุลกากรและการลงโทษปรับที่ถูกต้องตามกฎหมาย
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งห้าในความผิดฐานร่วมกันช่วยซ่อนเร้น ช่วยจำหน่าย พาเอาไปเสีย ซื้อ รับจำนำ หรือรับไว้ด้วยประการใดๆ ซึ่งของอันตนรู้ว่าเป็นของที่นำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงอากร ฐานมีไว้เพื่อขายซึ่งยาสูบที่มิได้ปิดแสตมป์ยาสูบ และฐานเสนอจำหน่ายและมีไว้เพื่อจำหน่ายซึ่งสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าปลอม และขอให้ศาลสั่งริบรถยนต์เก๋งของกลาง โดยอ้างว่าจำเลยทั้งห้าใช้รถยนต์เก๋งของกลางดังกล่าวบรรทุกบุหรี่ของกลาง เมื่อคดีนี้มิได้สืบพยานโจทก์จำเลยจึงต้องพิจารณาข้อเท็จจริงที่ปรากฏจากคำฟ้องและคำให้การ เมื่อข้อเท็จจริงตามฟ้องโจทก์ไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งห้าได้ใช้รถยนต์เก๋งคันดังกล่าวซุกซ่อนขนย้ายบุหรี่ของกลางไปในลักษณะอย่างไร ทั้งรถยนต์โดยสภาพแล้วก็เป็นยานพาหนะที่บุคคลทั่วไปใช้เป็นยานพาหนะสัญจรตามธรรมดาในชีวิตประจำวัน รถยนต์เก๋งของกลางจึงมิได้เป็นเครื่องมือ เครื่องใช้ หรือยานพาหนะที่จำเลยทั้งห้าได้ใช้ในการกระทำความผิดตามที่โจทก์ฟ้องโดยตรง จึงไม่อาจริบรถยนต์เก๋งของกลางตาม ป.อ. มาตรา 33 (1) ได้
เมื่อโจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งห้าร่วมกันกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 27 ทวิ และข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยทั้งห้ากระทำความผิดมาตราดังกล่าว มิใช่มาตรา 27 ซึ่งมาตรา 27 ทวิ เพิ่งบัญญัติขึ้นเมื่อปี 2499 ตาม พ.ร.บ.ศุลกากร (ฉบับที่ 13) พ.ศ.2499 ส่วน พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 32 ที่บัญญัติว่า "เรือชนิดใดๆ อันมีระวางบรรทุกไม่เกินสองร้อยห้าสิบตันก็ดี รถ เกวียน ยานพาหนะ หีบห่อ หรือภาชนะใดๆ หากได้ใช้หรือมีไว้เพื่อใช้ในการย้าย ซ่อนเร้นหรือขนของที่ยังมิได้เสียค่าภาษี หรือที่ต้องจำกัดหรือต้องห้าม ให้ริบเสียทั้งสิ้น" ย่อมเป็นบทบัญญัติที่เป็นการระบุให้ริบทรัพย์ซึ่งเป็นความผิดตามกฎหมายศุลกากรซึ่งใช้ในขณะนั้น ซึ่งมิได้รวมถึงความผิดตามมาตรา 27 ทวิด้วยแต่อย่างใด รถยนต์เก๋งของกลางในคดีนี้จึงจะริบตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 32 ไม่ได้เช่นกัน
พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 27 ทวิ กำหนดให้ลงโทษปรับแก่ผู้กระทำความผิดเป็นสี่เท่าของราคาของซึ่งได้รวมค่าอากรเข้าด้วยแล้ว ซึ่งแม้จะมิได้บัญญัติความเจาะจงลงไปว่า สำหรับความผิดครั้งหนึ่งๆ ให้ปรับเป็นเงินสี่เท่าของราคาของซึ่งได้รวมค่าอากรเข้าด้วยแล้วเช่นเดียวกับมาตรา 27 ก็ตาม แต่มาตรา 27 ทวิ เป็นบทบัญญัติต่อท้ายและเป็นความผิดต่อเนื่องจากมาตรา 27 ดังนั้น ในเรื่องโทษนี้ก็ย่อมมีความหมายเช่นเดียวกับที่บัญญัติไว้ในมาตรา 27 ว่า สำหรับความผิดครั้งหนึ่งๆ นั่นเอง ไม่ใช่ให้ปรับสำหรับความผิดครั้งหนึ่งๆ แล้วแบ่งปรับเป็นรายบุคคลคนละเท่าๆ กัน การที่ศาลลงโทษปรับจำเลยทั้งห้าเรียงตัวคนละสี่เท่าราคาของซึ่งได้รวมค่าอากรเข้าด้วยแล้วจึงเป็นการปรับจำเลยทั้งห้าสำหรับความผิดครั้งหนึ่งๆ เกินกว่าสี่เท่า ซึ่งขัดต่อบทบัญญัติมาตราดังกล่าว ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลมีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องตาม พ.ร.บ. จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 45 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9157/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การลักลอบนำเข้าบุหรี่, ขัดขวางเจ้าพนักงาน, และการริบของกลาง (รถยนต์) ที่ศาลฎีกามีคำพิพากษา
เจ้าพนักงานตำรวจตั้งจุดตรวจและเรียกจำเลยที่ขับรถเพื่อจะผ่านจุดตรวจให้หยุดรถเพื่อตรวจการที่จำเลยไม่ยอมหยุดรถและขับผ่านจุดตรวจสกัดหลบหนีไป เป็นเพียงขั้นตอนหนึ่งของการหลบหนี เมื่อข้อเท็จจริงตามฟ้องไม่ได้ความว่าจำเลยกระทำอื่นใดนอกเหนือไปจากนี้ การกระทำของจำเลยจึงยังถือไม่ได้ว่าเป็นความผิดฐานขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่
จำเลยใช้รถยนต์เก๋งเป็นยานพาหนะในการกระทำความผิดฐานลักลอบนำบุหรี่ต่างประเทศเข้ามาในราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงการเสียค่าอากร รถยนต์เก๋งจึงเป็นยานพาหนะที่ได้ใช้ในการขนของที่มิได้เสียค่าภาษีซึ่งต้องริบตาม พ.ร.บ.ศุลกากรฯ มาตรา 32
การที่จำเลยนำบุหรี่ต่างประเทศเข้ามาในราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงอากรตามกฎหมาย และมีบุหรี่จำนวนเดียวกันนั้นโดยมิได้ปิดอากรแสตมป์ยาสูบในวันเวลาเดียวกัน เป็นการกระทำที่มีเจตนาในผลของการกระทำอย่างเดียวกัน คือหลีกเลี่ยงที่จะไม่ต้องเสียภาษีศุลกากรและปิดแสตมป์ยาสูบตามกฎหมายแม้จะผิดต่อกฎหมายหลายบท ก็เป็นการกระทำกรรมเดียว
คดีที่ไม่มีผู้นำจับต้องจ่ายรางวัลแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งจับกุมผู้กระทำความผิดร้อยละยี่สิบของราคาของกลางหรือค่าปรับตาม พ.ร.บ.ให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำความผิด พ.ศ.2489 มาตรา 8 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4745/2547 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การคืนเรือของกลางคดีลักลอบขนน้ำมัน: เจ้าของเรือเกี่ยวข้องกับการกระทำผิดหรือไม่
ในคดีร้องขอคืนของกลางที่ศาลสั่งริบนั้น ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยตามคำร้องของผู้ร้องมีเพียงว่าศาลจะสั่งคืนเรือของกลางให้แก่เจ้าของซึ่งมิได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดของจำเลยหรือไม่เท่านั้น ส่วนประเด็นที่ว่าศาลจะสั่งริบเรือของกลางได้หรือไม่ยุติไปตามคำสั่งศาลในคดีหลักซึ่งถึงที่สุดแล้ว ผู้ร้องจะยกประเด็นดังกล่าวขึ้นมาในคำร้องขอคืนเรือของกลางต่อไปอีกไม่ได้ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4745/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การคืนของกลาง: ศาลไม่รับวินิจฉัยประเด็นริบของกลางซ้ำ หากคำสั่งริบในคดีหลักถึงที่สุดแล้ว
ในคดีร้องขอคืนของกลางที่ศาลสั่งริบนั้น ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยตามคำร้องของผู้ร้องมีเพียงว่า ศาลจะสั่งคืนเรือของกลางให้แก่เจ้าของซึ่งมิได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดของจำเลยหรือไม่เท่านั้น ส่วนประเด็นที่ว่า ศาลจะสั่งริบเรือของกลางได้หรือไม่ยุติไปตามคำสั่งศาลในคดีหลักซึ่งถึงที่สุดแล้ว ผู้ร้องจะยกประเด็นดังกล่าวขึ้นมาในคำร้องขอคืนเรือของกลางต่อไปอีกไม่ได้ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
(ประชุมใหญ่ ครั้งที่ 2/2547)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4040/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การริบเรือในความผิดศุลกากร: ข้อจำกัดขนาดระวางบรรทุกและองค์ประกอบความผิด
โจทก์มิได้บรรยายฟ้องว่าจำเลยนำหรือยอมให้ผู้อื่นนำของที่ต้องเสียภาษีลงในเรือหรือออกจากเรือในทะเล ซึ่งอาจเป็นทางแก่การฉ้อประโยชน์รายได้ของแผ่นดิน หรือเป็นการหลีกเลี่ยง ข้อจำกัด หรือข้อห้าม ซึ่งเป็นองค์ประกอบของความผิดตาม พ.ร.บ.ศุลกากรฯ มาตรา 31 เพียงแต่ระบุในคำขอท้ายฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามมาตราดังกล่าวเท่านั้น เป็นฟ้องที่ไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) ศาลจึงพิพากษาลงโทษจำเลยในความผิดดังกล่าวไม่ได้
มาตรา 32 แห่ง พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2469 ซึ่งใช้บังคับขณะเกิดการกระทำความผิดคดีนี้บัญญัติว่า เรือชนิดใด ๆ อันมีระวางบรรทุกไม่เกินสองร้อยห้าสิบตัน? หากใช้ในการย้ายถอน ซ่อนเร้น หรือขนของที่ยังมิได้เสียค่าภาษี หรือที่ต้องจำกัด หรือต้องห้าม ท่านว่าให้ริบเสียสิ้น? แสดงว่า พ.ร.บ.ศุลกากรได้บัญญัติถึงการริบเรือที่นำมาใช้ในการกระทำความผิดตามบทมาตราดังกล่าวไว้เป็นพิเศษโดยชัดแจ้งว่า เฉพาะเรือที่มีระวางบรรทุกไม่เกิน 250 ตันเท่านั้น ที่จะพึงริบได้ ดังนั้น การริบเรือที่มีระวางบรรทุกเกิน 250 ตัน จึงไม่อาจกระทำได้ ซึ่งจะเห็นเจตนารมณ์ของบทกฎหมายดังกล่าวได้จากมาตรา 32 วรรคสอง ที่แก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.ศุลกากร (ฉบับที่ 16) พ.ศ. 2542 มาตรา 4 ที่บัญญัติว่า ถ้าเรือที่ได้ใช้หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำตามวรรคหนึ่งมีระวางบรรทุกเกินสองร้อยห้าสิบตัน ให้ศาลมีอำนาจสั่งริบเรือนั้นได้ตามสมควรแก่การกระทำความผิด
มาตรา 120 แห่ง พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2469 บัญญัติว่า เมื่อใดบทบัญญัติพระราชบัญญัติศุลกากรแตกต่างกับบทกฎหมายหรือพระราชบัญญัติอื่น ให้ยกเอาบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ กรณีจึงไม่อาจนำบทบัญญัติเรื่องการริบทรัพย์สินตาม ป.อ. มาตรา 33 (1) มาใช้บังคับแก่คดีนี้ซึ่งเป็นเรื่องการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ศุลกากรฯ มาตรา 27 ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10330/2546

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เครื่องคีบตุ๊กตาเป็นสินค้าต้องห้ามนำเข้าตามประกาศกระทรวงพาณิชย์ เนื่องจากมีลักษณะเป็นเครื่องเล่นเกมที่ทำให้เกิดผลแพ้ชนะได้
ตามประกาศกระทรวงพาณิชย์ ว่าด้วยการนำสินค้าเข้ามาในราชอาณาจักร (ฉบับที่ 122) พ.ศ. 2540 กำหนดสินค้าต้องห้ามคือ เครื่องเล่นเกม ซึ่งใช้เครื่องกล พลังไฟฟ้า พลังแสงสว่าง หรือพลังอื่นใด ทั้งที่เป็นเครื่องครบชุดสมบูรณ์ หรือมีลักษณะอันเป็นสาระสำคัญที่ทำให้เห็นได้ว่าเป็นเครื่องครบชุดสมบูรณ์หรือแต่บางส่วน ตามพิกัดอัตราอากรขาเข้าประเภทย่อย 9504.30 , 9504.901 และ 9504.909 ของประเภท 95.04 ซึ่งโดยสภาพจะใช้เล่นอันจะทำให้แพ้ชนะกันได้ไม่ว่าด้วยการนับแต้ม หรือเครื่องหมายใด ๆ หรือไม่ก็ตาม เครื่องคีบตุ๊กตาของโจทก์เป็นสินค้าในพิกัดที่ 95.04 เมื่อมีลักษณะการทำงานให้ผู้เล่นหยอดเหรียญ แล้วกดปุ่มให้เครื่องคนตุ๊กตา จากนั้นผู้เล่นจะยกตัวคีบตุ๊กตาไปคีบตุ๊กตา หากคีบได้จะได้ตุ๊กตา หากคีบไม่ได้จะเสียเงิน 10 บาทให้เจ้าของตู้ เครื่องเล่นของโจทก์จึงเพื่อประสงค์จะเล่นให้ได้ตุ๊กตาในตู้เท่านั้น การเล่นเพิ่มให้ได้ตุ๊กตาจึงเป็นการเล่นเพียงให้เกิดผลแพ้ชนะได้ ถือได้ว่าเจ้าของเครื่องเป็นผู้เล่นอีกฝ่ายหนึ่ง เครื่องคีบตุ๊กตาจึงเป็นของต้องห้ามนำเข้ามาในราชอาณาจักร

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9088/2544

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจมอบอำนาจไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทำให้คำร้องขอคืนของกลางไม่เป็นไปตามกฎหมาย
ผู้ร้องเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายของประเทศสิงคโปร์ประเภทบริษัทจำกัด ช.เป็นกรรมการผู้จัดการมีอำนาจทำการแทนผู้ร้อง และผู้ร้องโดย ช.มอบอำนาจให้ ส.ดำเนินคดีแทนผู้ร้องตามหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย ร.2 แต่หนังสือรับรองของสาธารณรัฐปานามาที่ผู้ร้องอ้างส่งต่อศาล กลับมีข้อความระบุว่าบริษัทผู้ร้องก่อตั้งเป็นบริษัทจำกัด ตามกฎหมายฉบับที่ 32 ค.ศ. 1927 ของสาธารณรัฐปานามา ไม่ใช่ประเทศสิงคโปร์ดังที่ ส.ผู้รับมอบอำนาจเบิกความ นอกจากนี้จากหนังสือดังกล่าวกรรมการผู้จัดการใหญ่ซึ่งมีอำนาจทำการแทนผู้ร้องตามกฎหมายคือ อ.ไม่ใช่ ช. การที่ช.ลงลายมือชื่อในหนังสือมอบอำนาจให้ ส.ดำเนินคดีแทนผู้ร้องจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย
หนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย ร.2 ลงวันที่ 3 สิงหาคม 1998มีนายเตียว เอง เหลียง (TEO ENG LEONG) โนตารีปับลิก (NOTARY PUBLIC)ประเทศสิงคโปร์รับรองว่าบุคคลที่มีชื่อในหนังสือมอบอำนาจได้ทำหนังสือมอบอำนาจด้วยความสมัครใจ ณ ประเทศสิงคโปร์ เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 1998 (พ.ศ.2541)ไม่ปรากฏข้อความตอนใดที่แสดงว่าได้ทำการมอบอำนาจกันที่สถานเอกอัครราชทูตไทยประจำประเทศสิงคโปร์ แม้หนังสือรับรองของโนตารีปับลิกจะมีตราสถานเอกอัครราชทูตไทยประจำสิงคโปร์ประทับอยู่ ก็เป็นการประทับรับรองว่านายเตียว เอง เหลียง เป็นโนตารีปับลิกเท่านั้น ไม่ได้รับรองหนังสือมอบอำนาจว่าถูกต้องใช้ได้ตามกฎหมายหรือไม่
ช.ลงลายมือในหนังสือมอบอำนาจให้ ส.ดำเนินคดีแทนผู้ร้อง โดยช.ไม่มีอำนาจทำการแทนผู้ร้อง ส.ผู้รับมอบอำนาจจึงไม่มีอำนาจแต่งทนายความยื่นคำร้องขอคืนของกลางแทนผู้ร้อง ปัญหานี้เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย โจทก์จึงยกขึ้นอ้างได้แม้จะไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาในศาลชั้นต้นก็ตาม
คดีนี้เป็นสาขาคดีที่เจ้าของทรัพย์ร้องขอคืนของกลางที่ศาลสั่งริบในคดีหลัก ประเด็นในคดีจึงมีเพียงว่าศาลจะสั่งคืนของกลางให้แก่เจ้าของที่แท้จริงหรือไม่เท่านั้น สำหรับประเด็นที่ผู้ร้องฎีกาว่าศาลสั่งริบของกลางไม่ได้นั้น ได้ยุติไปแล้วตามคำสั่งของศาลในคดีหลัก ผู้ร้องจึงฎีกาในประเด็นนี้ไม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3854/2529

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การกักขังแทนค่าปรับ: ศาลฎีกาชี้แนวปฏิบัติการเฉลี่ยระยะเวลาตามสัดส่วนจำเลย และเพดานเวลาตามกฎหมาย
ศาลพิพากษาลงโทษปรับจำเลย5คนโดยรวมปรับเมื่อจะต้องกักขังแทนค่าปรับแม้จำเลยจะถูกลงโทษปรับในความผิดหลายกระทงก็คงกักขังจำเลยทุกคนแทนค่าปรับได้ไม่เกินสองปีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา30โดยต้องเฉลี่ยกักขังไปตามสัดส่วนของตัวจำเลยและเมื่อรวมจำนวนวันที่ถูกกักขังของจำเลยทุกคนแล้วต้องไม่เกินสองปีตามที่กำหนดไว้ในมาตรา30.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3854/2529 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การกักขังแทนค่าปรับสำหรับความผิดหลายกระทง ต้องเฉลี่ยเวลาและไม่เกินอัตราสูงสุดตามกฎหมาย
ศาลพิพากษาลงโทษปรับจำเลย 5 คนโดยรวมปรับ เมื่อจะต้องกักขังแทนค่าปรับ แม้จำเลยจะถูกลงโทษปรับในความผิดหลายกระทงก็คงกักขังจำเลยทุกคนแทนค่าปรับได้ไม่เกินสองปีตาม ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 30 โดยต้องเฉลี่ยกักขังไปตามสัดส่วน ของตัวจำเลย และเมื่อรวมจำนวนวันที่ถูกกักขังของจำเลยทุกคนแล้ว ต้องไม่เกินสองปีตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 30
of 4