คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 ม. 50 วรรคหนึ่ง

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 6 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4325/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การพิจารณาทุนทรัพย์เพื่ออุทธรณ์ในคดีฟอกเงิน ความสัมพันธ์ผู้กระทำผิดและทรัพย์สิน
การที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ทรัพย์สินของผู้คัดค้านที่ 2 ตกเป็นของแผ่นดินนั้น แม้ปัญหาว่าทรัพย์สินตามคำร้องแต่ละรายการเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดหรือไม่ สามารถพิจารณาทรัพย์สินแต่ละรายการแยกจากกันได้ แต่การพิจารณาเกี่ยวกับทรัพย์สินแต่ละรายการก็ต้องพิจารณาในประเด็นหลักเดียวกันว่ามีการกระทำความผิดมูลฐานตามคำร้องหรือไม่ และสำหรับผู้คัดค้านที่อ้างว่าเป็นเจ้าของที่แท้จริงหรือเป็นผู้รับโอนโดยสุจริตตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 มาตรา 50 วรรคหนึ่ง อาจต้องพิจารณาว่าผู้คัดค้านนั้นเป็นผู้ซึ่งเกี่ยวข้องหรือเคยเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับผู้กระทำความผิดมูลฐานหรือความผิดฐานฟอกเงินหรือไม่ด้วย ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยเกี่ยวกับทรัพย์สินแต่ละรายการของผู้คัดค้านแต่ละราย จึงไม่ได้แยกเป็นแต่ละรายการอย่างแท้จริง และไม่ได้ขึ้นอยู่กับการแยกทรัพย์สินเป็นแต่ละรายการตามคำร้องของผู้ร้อง ดังนั้น ทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์ที่จะพิจารณาเกี่ยวกับข้อห้ามอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงจึงต้องเป็นไปตามราคาทรัพย์สินหรือจำนวนทุนทรัพย์ที่ผู้คัดค้านแต่ละรายอุทธรณ์คัดค้านเกี่ยวกับทรัพย์สินของผู้คัดค้านรายนั้นรวมกัน กรณีนี้ทรัพย์สินรายการที่ 3 ของผู้คัดค้านที่ 2 แม้มีราคาประเมิน 32,484.24 บาท แต่ราคาทรัพย์สินหรือจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทที่ผู้คัดค้านที่ 2 อุทธรณ์รวม 3 รายการ มีราคาประเมินรวม 1,879,495.26 บาท คดีของผู้คัดค้านที่ 2 เกี่ยวกับทรัพย์สินทั้ง 3 รายการ จึงเกินห้าหมื่นบาท ไม่ต้องห้ามอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2143/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การพิพากษาให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินในคดีฟอกเงิน: การสันนิษฐานทางกฎหมายและความเกี่ยวข้องกับผู้กระทำผิด
หากปรากฏว่ามีการกระทำความผิดมูลฐาน ไม่ว่าจะจับตัวผู้กระทำความผิดได้หรือไม่ หรือผู้กระทำความผิดถูกลงโทษหรือไม่ แต่มีทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดเกิดขึ้น และแม้เจ้าของหรือผู้รับโอนทรัพย์สินไม่ได้ร่วมกระทำความผิดและไม่ได้ถูกฟ้อง ก็ดำเนินมาตรการทางแพ่งแก่ตัวทรัพย์สินนั้นได้
กฎหมายมิได้บัญญัตินิยามคำว่า "เกี่ยวข้องสัมพันธ์" ไว้โดยเฉพาะ การวินิจฉัยว่าเกี่ยวข้องหรือเคยเกี่ยวข้องสัมพันธ์หรือไม่จึงต้องอาศัยความหมายอย่างปกติทั่วไป กล่าวคือ มีความเกี่ยวพัน ติดต่อผูกพัน หรือเกี่ยวข้องไม่ว่าจะในทางทรัพย์สินในทางความเป็นอยู่ หรือในทางความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลกับผู้กระทำความผิดมูลฐานอย่างมีนัยสำคัญจนเป็นเหตุให้เชื่อได้ว่ามีส่วนร่วมในการฟอกเงิน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8345/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การยึดทรัพย์สินจากการฟอกเงิน: สันนิษฐานความผิดและภาระการพิสูจน์
พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 เป็นกฎหมายที่กำหนดทั้งความผิดเกี่ยวกับการฟอกเงินซึ่งมีโทษทางอาญาและมาตรการทางแพ่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินในกรณีที่พนักงานอัยการยื่นคำร้องต่อศาลและศาลเชื่อว่าทรัพย์สินตามคำร้องเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดมูลฐาน แม้ว่าการร้องขอดังกล่าวจะสืบเนื่องมาจากการกระทำความผิดอาญามูลฐาน กล่าวคือ ต้องเกิดการกระทำความผิดมูลฐานขึ้น แต่มาตรการทางแพ่งก็ไม่ผูกติดกับคดีอาญา แยกออกจากกันต่างหาก โดยความผิดและโทษทางอาญามุ่งบังคับแก่ตัวบุคคล ส่วนมาตรการทางแพ่งมุ่งบังคับแก่ตัวทรัพย์สินซึ่งเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่จะป้องปรามไม่ให้มีการกระทำความผิดมูลฐานเพราะถึงอย่างไรทรัพย์สินที่ได้มาหรือเกี่ยวกับการกระทำความผิดก็ไม่เป็นของผู้กระทำความผิด ผู้เกี่ยวข้องหรือผู้ใด เพื่อตัดวงจรการกระทำความผิดมิให้นำทรัพย์สินนั้นไปใช้สนับสนุนการก่ออาชญากรรมต่อไป ดังนั้น แม้เจ้าของหรือผู้รับโอนทรัพย์ไม่ได้ร่วมกระทำความผิด ไม่ได้ถูกฟ้องและได้ทรัพย์สินนั้นมาจากการกระทำซึ่งเป็นความผิดมูลฐาน (ซึ่งกฎหมายบัญญัติว่าเป็นความผิดอยู่ก่อนแล้ว) ก่อนพระราชบัญญัติดังกล่าวมีผลใช้บังคับก็ใช้มาตรการให้ทรัพย์สินนั้นตกเป็นของแผ่นดินได้ และมาตรการดังกล่าวก็มิใช่โทษทางอาญา จึงมีผลใช้บังคับย้อนหลังได้
มาตรา 32 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 ที่ใช้บังคับในขณะนั้น บัญญัติให้มีคณะกรรมการธุรกรรมประกอบด้วยเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินเป็นประธานกรรมการและผู้ซึ่งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินแต่งตั้งจำนวน 4 คน เป็นกรรมการ และมาตรา 29 วรรคสอง ซึ่งมาตรา 33 บัญญัติให้นำมาใช้บังคับโดยอนุโลมกับการประชุมของคณะกรรมการธุรกรรมด้วย บัญญัติว่า ให้ประธานกรรมการเป็นประธานในที่ประชุม ในกรณีที่ประธานกรรมการไม่มาประชุมหรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้รองประธานกรรมการเป็นประธานในที่ประชุม หากรองประธานไม่มาประชุมหรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้กรรมการซึ่งมาประชุมเลือกกรรมการคนหนึ่งเป็นประธานในที่ประชุม ดังนั้น เมื่อองค์ประกอบของคณะกรรมการธุรกรรมตามมาตรา 32 วรรคหนึ่ง มีเพียงประธานกรรมการและกรรมการ หาได้มีรองประธานกรรมการด้วยไม่ ทั้งไม่มีบทบัญญัติว่าในกรณีที่ประธานกรรมการหมดวาระการดำรงตำแหน่ง ให้รองเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินรักษาราชการแทนเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินเป็นประธานที่ประชุมแทนแต่อย่างใด การที่พลตำรวจตรี พ. เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ซึ่งเป็นประธานกรรมการของคณะกรรมการธุรกรรมหมดวาระไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ และกรรมการซึ่งมาประชุมมีมติเลือก จ. กรรมการคนหนึ่งเป็นประธานในที่ประชุม จึงเป็นการปฏิบัติชอบด้วยมาตรา 29 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวที่ใช้บังคับในขณะนั้นแล้ว การประชุมของคณะกรรมการธุรกรรมและมติที่ประชุมครั้งที่ 32/2548 รวมทั้งคำสั่งคณะกรรมการธุรกรรมที่ให้ยึดและอายัดทรัพย์สินของผู้คัดค้านทั้งสามซึ่งออกตามมติดังกล่าวจึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว
ในคำคัดค้านเพิ่มเติมของผู้คัดค้านทั้งสามปรากฏข้อต่อสู้เพียงว่า คำร้องของผู้ร้องไม่ปรากฏหลักฐานเป็นที่เชื่อได้ว่าทรัพย์สินใดเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด และผู้คัดค้านที่ 3 มิได้รับโอนทรัพย์สินใดมาจากจำเลยในคดีอาญา ผู้คัดค้านทั้งสามเป็นเจ้าของที่แท้จริง ซึ่งได้มาโดยสุจริต มิได้ต่อสู้เลยว่าในการยึดหรืออายัดทรัพย์สินของผู้คัดค้านทั้งสามไว้ชั่วคราวตามที่คณะกรรมการธุรกรรมมีมติและคำสั่งไม่มีการพิจารณาว่าทรัพย์สินใดเกี่ยวกับการกระทำความผิดอย่างไร และไม่มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าอาจมีการโอน จำหน่าย ยักย้าย ปกปิดหรือซ่อนเร้นทรัพย์สินนั้น คณะกรรมการธุรกรรมจึงไม่มีอำนาจยึดหรืออายัดทรัพย์สินไว้ชั่วคราว และผู้ร้องไม่มีอำนาจยื่นคำร้องขอคดีนี้ ที่ผู้คัดค้านทั้งสามนำสืบจึงเป็นการนำสืบนอกประเด็นในคำคัดค้าน และการที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์วินิจฉัยให้จึงเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็น ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 85, 142 วรรคหนึ่ง, 185 วรรคสอง ประกอบ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 59 ศาลฎีกาจึงไม่วินิจฉัยให้ ส่วนข้อต่อสู้ตามคำคัดค้านเพิ่มเติมข้างต้น ผู้ร้องได้บรรยายมาในคำร้องแล้วว่า กรณีมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าทรัพย์สินซึ่งเป็นเงินฝากในบัญชีเงินฝากของธนาคารต่าง ๆ ของผู้คัดค้านทั้งสามเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด จึงเป็นประเด็นข้อพิพาทที่ศาลจะได้วินิจฉัยในปัญหาประการต่อไปว่า ทรัพย์สินของผู้คัดค้านทั้งสามที่ถูกคณะกรรมการธุรกรรมหรือศาลสั่งยึดหรืออายัดไว้ชั่วคราว เป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดมูลฐานหรือไม่
เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ผู้คัดค้านที่ 1 เป็นผู้กระทำความผิดมูลฐาน ผู้คัดค้านที่ 2 เป็นภริยา ส่วนผู้คัดค้านที่ 3 เป็นบุตร ดังนั้น ผู้คัดค้านที่ 2 และที่ 3 จึงเป็นผู้ซึ่งเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับผู้กระทำความผิดมูลฐาน กรณีต้องด้วยบทบัญญัติมาตรา 51 วรรคสอง (เดิม) แห่ง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 ที่ใช้บังคับในขณะยื่นคำร้อง ที่ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า บรรดาทรัพย์สินตามคำร้อง ซึ่งประกอบด้วยทรัพย์สินของผู้คัดค้านที่ 2 ในลำดับที่ 3 ถึงที่ 7 และที่ 16 ถึงที่ 18 ทรัพย์สินที่ผู้คัดค้านที่ 2 และที่ 3 เป็นเจ้าของรวม ในลำดับที่ 2 ที่ 8 และที่ 19 และทรัพย์สินของผู้คัดค้านที่ 3 ในลำดับที่ 9 ถึงที่ 14 ที่ 20 ถึงที่ 26 ที่ 28 และที่ 29 พร้อมดอกผล เป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด ภาระการพิสูจน์จึงตกแก่ผู้คัดค้านที่ 2 และที่ 3 ที่จะต้องนำสืบหักล้างข้อสันนิษฐานดังกล่าวว่า ตนเป็นเจ้าของที่แท้จริงและทรัพย์สินนั้นไม่ใช่ทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด ตามมาตรา 50 วรรคหนึ่ง (1) (2)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8150/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิในการคัดค้านทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินจำกัดเฉพาะเจ้าของทรัพย์สินส่วนตน และความเกี่ยวข้องกับความผิดมูลฐาน
ผู้มีอำนาจยื่นคำร้องคัดค้านคำร้องที่ขอให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินต้องเป็นเจ้าของทรัพย์สินที่แท้จริงเท่านั้น เมื่อรถยนต์ตามคำร้องเป็นสินสมรสระหว่างผู้คัดค้านที่ 1 กับ ร. ซึ่งผู้คัดค้านที่ 1 กับ ร. มีส่วนเป็นเจ้าของรวมกันคนละครึ่ง แม้ผู้คัดค้านที่ 1 เป็นสามีโดยชอบด้วยกฎหมายของ ร. ก็ยื่นคำร้องคัดค้านได้เฉพาะทรัพย์สินในส่วนของตน ไม่อาจยื่นคำร้องคัดค้านเกี่ยวกับทรัพย์สินในส่วนของ ร. และไม่มีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ให้ทรัพย์สินในส่วนของ ร. ตกเป็นของแผ่นดิน
ผู้คัดค้านที่ 1 เป็นผู้บัญชาการเรือนจำอำเภอสีคิ้ว ไม่มีอำนาจหน้าที่ในเรือนจำกลางคลองไผ่ การที่ผู้คัดค้านที่ 1 ไปพบและพูดคุยกับนักโทษชาย ม. ซึ่งเป็นนักโทษในคดียาเสพติดที่เรือนจำกลางคลองไผ่โดยผิดระเบียบ จึงไม่มีความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการหรือความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรมและแม้ส่อว่าอาจมีข้อพิรุธ แต่เมื่อไม่ปรากฏว่าผู้คัดค้านที่ 1 ได้กระทำการอื่นใดที่จะถือว่าเป็นผู้ซึ่งเกี่ยวข้องหรือเคยเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับนักโทษชาย ม. มาก่อนหน้านั้นอย่างไร ผู้คัดค้านที่ 1 จึงไม่ใช่ผู้ซึ่งเกี่ยวข้องหรือเคยเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับผู้กระทำความผิดมูลฐาน
ผู้คัดค้านที่ 2 เป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของนักโทษชาย ม. ซึ่งกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ลักลอบส่งโทรศัพท์มือถือไปให้นักโทษชาย ม. เป็นการผิดระเบียบของเรือนจำ และนักโทษชาย ม. นำโทรศัพท์มือถือไปให้นักโทษชาย อ. ซึ่งรู้จักกันมาก่อนและสนิทสนมกัน ใช้ติดต่อจำหน่ายยาเสพติดจากภายในเรือนจำ ผู้คัดค้านที่ 2 จึงเป็นผู้ซึ่งเกี่ยวข้องหรือเคยเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดอันเป็นความผิดมูลฐาน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11711-11712/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เงินค่าสินไหมทดแทนจากประกันชีวิตที่ได้จากเงินผิดกฎหมาย เป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด ต้องตกเป็นของแผ่นดิน
เงินเบี้ยประกันชีวิตที่ ม. ผู้เอาประกันภัยส่งแก่ผู้คัดค้านที่ 4 ซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยเป็นเงินที่ได้มาจากการกระทำอันเป็นความผิดมูลฐาน แต่เมื่อผู้คัดค้านที่ 4 รับไว้โดยสุจริตและมีค่าตอบแทนตามเงื่อนไขในกรมธรรม์ประกันภัยก็ย่อมได้รับความคุ้มครองตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 50 วรรคหนึ่ง (2) ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้คัดค้านที่ 4 โดยชอบแล้ว ผู้คัดค้านที่ 4 จึงไม่อาจยกเอาความสำคัญผิดแหล่งที่มาเกี่ยวกับเบี้ยประกันชีวิตที่ได้รับชำระจาก ม. มาเป็นข้ออ้างอันจะเป็นเหตุให้สัญญาประกันชีวิตระหว่างผู้คัดค้านที่ 4 กับ ม. เป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 156
เงินเบี้ยประกันภัยที่ผู้เอาประกันภัยชำระให้แก่บริษัท อ. และผู้คัดค้านที่ 4 เป็นเงินที่ ม. ได้มาจากการกระทำซึ่งเป็นความผิดมูลฐานอันเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดตามความหมายใน พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 3 (เดิม) การนำเอาเงินไปชำระให้แก่บริษัท อ. และผู้คัดค้านที่ 4 เป็นค่าเบี้ยประกันภัย แล้วได้เงินค่าสินไหมทดแทนและเงินค่าเวนคืนกรมธรรม์พิพาทมา เงินดังกล่าวย่อมเป็นเงินหรือทรัพย์สินที่ได้มาจากการจำหน่าย จ่าย โอนด้วยประการใดๆ ซึ่งเงินหรือทรัพย์สินที่ได้มาจากการกระทำซึ่งเป็นความผิดมูลฐาน ทั้งนี้ ไม่ว่าทรัพย์สินนั้นจะมีการจำหน่าย จ่าย โอน หรือเปลี่ยนสภาพไปกี่ครั้ง และไม่ว่าจะอยู่ในความครอบครองของบุคคลใด โอนไปเป็นของบุคคลใด หรือปรากฏหลักฐานทางทะเบียนว่าเป็นของบุคคลใด เงินค่าสินไหมทดแทนและเงินค่าเวนคืนกรมธรรม์พิพาท จึงเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดด้วย ผู้ร้องจึงมีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้เงินค่าสินไหมทดแทนและเงินค่าเวนคืนกรมธรรม์ตกเป็นของแผ่นดิน
แม้ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 59 วรรคสอง จะบัญญัติให้พนักงานอัยการได้รับการยกเว้นค่าฤชาธรรมเนียมทั้งปวงก็ตาม แต่คดีนี้ถือว่าเป็นคดีแพ่ง การที่ศาลล่างทั้งสองมีคำสั่งให้ทรัพย์สินตามคำร้องตกเป็นของแผ่นดิน โดยไม่ได้สั่งเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมไม่ชอบ เพราะคำสั่งในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียม แม้จะไม่มีคำขอของคู่ความฝ่ายใดและแม้จะให้เป็นพับกันไป ก็เป็นหน้าที่ของศาลที่จะต้องสั่งลงไว้ในคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 167 วรรคหนึ่ง ศาลเห็นสมควรมีคำสั่งเพิ่มเติมให้ถูกต้อง