คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
กึกก้อง สมเกียรติเจริญ

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 88 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8991/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ค่าฤชาธรรมเนียมบังคับคดี: การบังคับคดีตามสัญญาประนีประนอมยอมความ แม้ศาลอุทธรณ์เพิกถอนคำบังคับคดี โจทก์ไม่ต้องรับผิดค่าธรรมเนียม
แม้ในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมในการบังคับคดีสำหรับกรณีถอนการบังคับคดี ป.วิ.พ. มาตรา 169/2 วรรคสี่ บัญญัติว่า "ในกรณีที่มีการถอนการบังคับคดีนอกจากกรณีตามมาตรา 292 (1) และ (5) ให้เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาผู้ขอยึดหรืออายัดทรัพย์สินเป็นผู้รับผิดในค่าฤชาธรรมเนียมในการบังคับคดี" ก็ตาม แต่ ป.วิ.พ. มาตรา 161 บัญญัติว่า "ภายใต้บังคับบทบัญญัติห้ามาตราต่อไปนี้ ให้คู่ความฝ่ายที่แพ้คดีเป็นผู้รับผิดในชั้นที่สุดสำหรับค่าฤชาธรรมเนียมทั้งปวง แต่ไม่ว่าคู่ความฝ่ายใดจะชนะคดีเต็มตามข้อหาหรือแต่บางส่วน ศาลมีอำนาจที่จะพิพากษาให้คู่ความฝ่ายที่ชนะคดีนั้นรับผิดในค่าฤชาธรรมเนียมทั้งปวง หรือให้คู่ความแต่ละฝ่ายรับผิดในค่าฤชาธรรมเนียมส่วนของตนหรือตามส่วนแห่งค่าฤชาธรรมเนียมซึ่งคู่ความทุกฝ่ายได้เสียไปก่อนได้ตามที่ศาลจะใช้ดุลพินิจ โดยคำนึงถึงเหตุสมควรและความสุจริตในการดำเนินคดี" คดีนี้เมื่อภายหลังศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาตามยอมคดีถึงที่สุดแล้ว ฝ่ายจำเลยและผู้ร้องทั้งสามไม่ปฏิบัติตามสัญญาประนีประนอมยอมความ และศาลชั้นต้นออกหมายบังคับคดีลงวันที่ 28 ธันวาคม 2559 ตามคำขอของโจทก์ทั้งสอง วันที่ 27 มกราคม 2560 โจทก์ทั้งสองจึงนำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดที่ดินพิพาท รวม 3 แปลง ซึ่งมีชื่อโจทก์ทั้งสองและผู้ร้องทั้งสามเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวม ตามข้อตกลงในข้อ 1 โดยโจทก์ทั้งสองเชื่อว่าเป็นการดำเนินการเพื่อให้เป็นไปตามข้อตกลงในสัญญาประนีประนอมยอมความตามที่ศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอมและคดีดังกล่าวถึงที่สุด ทั้งเมื่อผู้ร้องทั้งสามยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนหมายบังคับคดีหรือการบังคับคดีโดยอ้างว่าคำพิพากษาตามยอมไม่ผูกพัน ผู้ร้องทั้งสามเนื่องจากผู้ร้องทั้งสามมิได้เป็นคู่ความในคดี ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องของผู้ร้องทั้งสาม โจทก์ทั้งสองย่อมเชื่อว่าโจทก์ทั้งสองดำเนินการบังคับคดีให้เป็นไปตามคำพิพากษาตามยอมได้ การบังคับคดีของโจทก์ทั้งสองดังกล่าวจึงมิได้ดำเนินการไปโดยไม่จำเป็น หรือเป็นไปด้วยความไม่สุจริตของโจทก์ทั้งสอง หรือต้องดำเนินการไปเพราะความผิดหรือเกิดจากความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของโจทก์ทั้งสอง แม้ต่อมาศาลอุทธรณ์ภาค 8 เห็นว่าโจทก์ทั้งสองไม่มีสิทธิบังคับคดีแก่ผู้ร้องทั้งสามเนื่องจากผู้ร้องทั้งสามมิได้เป็นคู่ความ คำพิพากษาตามยอมจึงไม่มีผลผูกพันผู้ร้องทั้งสามและมีคำพิพากษาให้เพิกถอนการบังคับคดีดังกล่าว กรณีก็ไม่มีเหตุสมควรที่จะให้โจทก์ทั้งสองต้องรับผิดชำระค่าธรรมเนียมถอนการยึดกรณียึดแล้วไม่มีการขาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8450/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลือกตั้งท้องถิ่น: ความผิดฐานให้ทรัพย์สินเพื่อจูงใจลงคะแนน และการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง
การที่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งฝ่าฝืน พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2545 มาตรา 57 จนเป็นเหตุให้คณะกรรมการการเลือกตั้งยื่นคำร้องต่อศาลอุทธรณ์ภาค 4 ให้มีคำสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งตามมาตรา 97 วรรคหนึ่ง และศาลอุทธรณ์ภาค 4 มีคำสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของจำเลยที่ 1 มีกำหนดหนึ่งปี ต่อมาพนักงานอัยการฟ้องจำเลยที่ 1 ผู้สมัครรับเลือกตั้งกระทำการฝ่าฝืนมาตรา 57 ขอให้ลงโทษตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 118 โดยให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีกำหนดสิบปีซึ่งถือเป็นอุปกรณ์ของโทษทางอาญาและศาลล่างทั้งสองได้พิพากษามานั้น มิใช่กรณีเมื่อศาลได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งวินิจฉัยชี้ขาดหรือในประเด็นข้อใดแห่งคดีแล้ว ห้ามมิให้ดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลนั้นอันเกี่ยวกับคดีหรือประเด็นที่ได้วินิจฉัยชี้ขาดแล้วนั้น และมิใช่กรณีที่ได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งถึงที่สุดแล้ว ห้ามมิให้คู่ความเดียวกันรื้อร้องฟ้องกันอีกในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกันตาม ป.วิ.พ. มาตรา 144 และมาตรา 148 และถือไม่ได้ว่าศาลอุทธรณ์ภาค 4 ในคดีก่อนได้มีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้อง สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ยังไม่ระงับตามบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.อ. มาตรา 39 (4) ศาลชั้นต้นในคดีนี้จึงมีอำนาจสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของจำเลยที่ 1 ได้อีก
อนึ่ง ในระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา ได้มี พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2562 ใช้บังคับโดยยกเลิก พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2545 อันเป็นกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิด และให้ใช้บทบัญญัติใหม่แทน แต่การกระทำของจำเลยทั้งสามที่เป็นการให้ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดอันอาจคำนวณเป็นเงินได้แก่ผู้ใดเพื่อจูงใจผู้มีสิทธิเลือกตั้งให้ลงคะแนนเลือกตั้งให้แก่จำเลยที่ 1 ตามบทบัญญัติมาตรา 57 วรรคหนึ่ง (1) แห่ง พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2545 ฉบับเดิม ยังคงเป็นความผิดตามบทบัญญัติมาตรา 65 วรรคหนึ่ง (1) แห่ง พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2562 ฉบับใหม่ที่คงใช้ข้อความทำนองเดียวกัน การกระทำของจำเลยทั้งสามยังคงเป็นความผิดอยู่เช่นเดิม ดังนั้น ต้องใช้กฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2545 ฉบับเดิม มาตรา 57 วรรคหนึ่ง (1) ในส่วนของบทความผิดบังคับแก่จำเลยทั้งสาม ตาม ป.อ. มาตรา 2 ส่วนกำหนดโทษนั้นตามกฎหมายเดิมบัญญัติบทลงโทษไว้ในมาตรา 118 มีระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปีและปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีกำหนดสิบปี สำหรับกฎหมายที่แก้ไขใหม่บัญญัติบทลงโทษไว้ในมาตรา 126 วรรคหนึ่ง มีระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับและให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้นมีกำหนดยี่สิบปี จะเห็นได้ว่าตามกฎหมายเดิมและกฎหมายที่แก้ไขใหม่มีระวางโทษจำคุกและโทษปรับเท่ากัน แต่ตามกฎหมายที่แก้ไขใหม่เป็นการบัญญัติให้ลงโทษจำคุกหรือปรับ หรือทั้งจำทั้งปรับ แตกต่างจากกฎหมายเดิมที่กำหนดให้ลงโทษจำคุกและปรับเท่านั้น จึงต้องถือว่ากฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดแตกต่างจากกฎหมายที่ใช้ในภายหลังการกระทำความผิด และกฎหมายที่ใช้ในภายหลังการกระทำความผิดเป็นคุณมากกว่าในส่วนที่เกี่ยวกับโทษจำคุกและโทษปรับซึ่งมีหลายสถานที่จะลงได้ จึงต้องใช้กฎหมายที่แก้ไขใหม่ ในส่วนของโทษจำคุกและโทษปรับตาม พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2562 มาตรา 126 วรรคหนึ่ง อันเป็นส่วนที่เป็นคุณบังคับแก่จำเลยทั้งสามไม่ว่าในทางใดตาม ป.อ. มาตรา 3 สำหรับการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งซึ่งถือเป็นอุปกรณ์ของโทษทางอาญาตามกฎหมายใหม่มีกำหนดเวลานานกว่ากฎหมายเดิม กฎหมายที่แก้ไขใหม่ในส่วนนี้จึงไม่เป็นคุณแก่จำเลยทั้งสาม ต้องใช้ พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2545 ฉบับเดิม มาตรา 118 มาบังคับใช้แก่จำเลยทั้งสาม ตาม ป.อ. มาตรา 3

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5178/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฎีกาต้องห้าม เหตุมิได้ขออนุญาตฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง และศาลฎีกามีอำนาจแก้โทษ
ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยในความผิดฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายตาม ป.อ. มาตรา 291 จำคุก 4 ปี และให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ร่วมที่ 1 และที่ 3 กับผู้ร้องที่ 2 และที่ 4 ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายืน และยังคงลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกินห้าปี คดีส่วนอาญาจึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ที่จำเลยฎีกาว่า เหตุคดีนี้เกิดจากความประมาทของ ภ. ผู้เสียหายและ ก. ผู้ตายที่ขับรถจักรยานยนต์โดยประมาทไม่เว้นระยะห่างให้มากพอที่จะหยุดรถได้ทัน ทำให้รถจักรยานยนต์ทั้งสองคันชนท้ายรถบรรทุกพ่วงที่จำเลยขับจนเป็นเหตุให้ ฐ. และ ก. ถึงแก่ความตาย ภ. ได้รับอันตรายสาหัส ย. ได้รับอันตรายแก่กาย จำเลยจึงไม่มีความผิดตามฟ้อง เป็นฎีกาโต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ภาค 4 จึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง และฎีกาของจำเลยที่ขอให้รอการลงโทษนั้น เป็นฎีกาโต้แย้งดุลพินิจในการกำหนดโทษหรือการลงโทษของศาลอุทธรณ์ภาค 4 อันเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงเช่นกัน เมื่อจำเลยมิได้ขอให้ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาหรือลงชื่อในคำพิพากษาในศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์ภาค 4 อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง หรืออัยการสูงสุดลงลายมือชื่อรับรองในฎีกาว่ามีเหตุอันสมควรที่ศาลสูงสุดจะได้วินิจฉัยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 221 ฎีกาของจำเลยในคดีส่วนอาญาจึงต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง สำหรับฎีกาของจำเลยในคดีส่วนแพ่งที่จำเลยต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ร่วมที่ 1 และที่ 3 กับผู้ร้องที่ 2 และที่ 4 นั้น เมื่อคดีส่วนอาญาต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง และจำเลยไม่ได้ยื่นคำร้องขออนุญาตฎีกาต่อศาลฎีกาในคดีส่วนแพ่ง จึงต้องห้ามฎีกาในคดีส่วนแพ่งตาม ป.วิ.พ. มาตรา 247 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15แม้คดีจะต้องห้ามฎีกาดังกล่าวมาข้างต้น เมื่อคดีขึ้นมาสู่การพิจารณาของศาลฎีกาแล้ว และศาลฎีกาเห็นว่าพฤติการณ์ที่ปรากฏในคดี โทษที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 กำหนดยังไม่เหมาะสมแก่รูปคดี ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจเปลี่ยนแปลงดุลพินิจในการลงโทษที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 กำหนดไว้โดยการรอการลงโทษจำคุกได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4315/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การคำนวณค่าปรับจากขนาดเรือประมงตามคำสั่ง คสช. แม้คำสั่งนั้นถูกยกเลิกไปแล้ว คดีอยู่ในระหว่างพิจารณา ศาลยังคงพิจารณาได้
คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 22/2560 เรื่อง การแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม เพิ่มเติมครั้งที่ 4 สั่ง ณ วันที่ 4 เมษายน 2560 ได้กำหนดบทลงโทษปรับไว้ในข้อ 5 วรรคเก้า ในความผิดฐานเจ้าของเรือไม่นำเรือที่ใช้ทำการประมงมาให้คณะทำงานตรวจสอบและทำเครื่องหมายที่แสดงอัตลักษณ์เรือภายในกำหนดเวลาและสถานที่ที่กรมเจ้าท่าประกาศกำหนดไว้ โดยกำหนดโทษปรับหนึ่งหมื่นบาทสำหรับเรือที่มีขนาดไม่เกินสิบตันกรอส และปรับเพิ่มตามขนาดของเรือตันกรอสละสองพันบาท การลงโทษปรับตามบทบัญญัติดังกล่าวจึงเป็นการปรับโดยคำนวณไปตามขนาดของเรือ เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า เรือที่ใช้ทำการประมงของจำเลยมีขนาดของเรือ 74.79 ตันกรอส ดังนั้น ขนาดของเรือ 0.79 ตันกรอส ในส่วนที่เกิน 74 ตันกรอส เป็นส่วนหนึ่งของขนาดเรือ จึงต้องนำมาคิดคำนวณค่าปรับดัวย มิใช่กรณีที่จะไม่นำมาคิดคำนวณเพราะขนาดของเรือในส่วน 0.79 ตันกรอส มีขนาดไม่ถึง 1 ตันกรอส ตามที่จำเลยอ้าง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3961/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ บทลงโทษ พ.ร.บ.การพนัน: การลงโทษจำคุกและปรับ, การจ่ายสินบนนำจับ, และการรอการลงโทษ
พ.ร.บ.การพนัน พ.ศ.2478 มาตรา 12 (1) บัญญัติบทลงโทษในความผิดฐานจัดให้มีการเล่นการพนันสลากกินรวบไว้ว่า "ให้ลงโทษจำคุกตั้งแต่ 3 เดือน ขึ้นไปจนถึง 3 ปี และปรับตั้งแต่ 500 บาท ขึ้นไปจนถึง 5,000 บาท ด้วยอีกโสดหนึ่ง" ซึ่งคำว่า "อีกโสดหนึ่ง" ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ให้คำจำกัดความไว้ว่า หมายถึง กระทงความส่วนหนึ่งโดยมิใช่บทบังคับให้ศาลต้องลงโทษจำคุกและปรับด้วยเสมอ จึงเท่ากับกฎหมายกำหนดให้ลงโทษทั้งจำคุกและปรับด้วย แต่ถ้าศาลเห็นสมควรแก่พฤติการณ์แห่งคดีก็มีอำนาจใช้ดุลพินิจลงโทษจำคุกโดยไม่จำต้องลงโทษปรับด้วยก็ได้ ตาม ป.อ. มาตรา 20 สำหรับเงินสินบนนำจับนั้น ในกรณีที่มีคำขอให้จ่ายเงินสินบนนำจับแก่ผู้นำจับตาม พ.ร.บ.การพนัน พ.ศ.2478 มาตรา 15 ศาลจะพิพากษาให้จ่ายเงินสินบนนำจับแก่ผู้นำจับได้ก็ต่อเมื่อมีการลงโทษปรับจำเลยด้วย เพราะจำนวนเงินค่าปรับจะต้องนำมาเป็นเกณฑ์ในการคำนวณว่าจะต้องจ่ายเงินสินบนนำจับแก่ผู้นำจับเป็นจำนวนเท่าใด เมื่อคดีนี้ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษาลงโทษจำคุกแต่อย่างเดียวโดยไม่ลงโทษปรับ จึงไม่อาจจ่ายเงินสินบนแก่ผู้นำจับได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 ลงโทษจำคุกแต่อย่างเดียวโดยไม่ลงโทษปรับและไม่สั่งให้จำเลยจ่ายเงินสินบนนำจับจึงชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3851/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การดูหมิ่นผู้อื่นและการเปลี่ยนแปลงฐานะหน่วยงาน: ผลกระทบต่อความผิดฐานดูหมิ่นเจ้าพนักงาน
ภายหลังจากจำเลยกระทำความผิดคดีนี้ ได้มี พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ พ.ศ.2559 มาตรา 3 ให้ยกเลิก พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ พ.ศ.2541 โดยมาตรา 5 วรรคสอง ให้มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒมีฐานะเป็นหน่วยงานในกำกับของรัฐ ที่ไม่เป็นส่วนราชการตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน กฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ และกฎหมายว่าด้วยการปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม และไม่เป็นรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณและกฎหมายอื่น ดังนั้น มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒจึงเป็นองค์การมหาชนที่แยกออกจากระบบราชการ หาใช่ส่วนราชการที่สังกัดกระทรวง ทบวง กรมของรัฐตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดินอีกต่อไปไม่ และตาม ป.อ. มาตรา 1 (16) บัญญัติว่า "เจ้าพนักงาน" หมายความว่า บุคคลซึ่งกฎหมายบัญญัติว่าเป็นเจ้าพนักงานหรือได้รับแต่งตั้งตามกฎหมายให้ปฏิบัติหน้าที่ราชการ ไม่ว่าเป็นประจำหรือครั้งคราว และไม่ว่าจะได้รับค่าตอบแทนหรือไม่ ดังนี้ เมื่อ พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ พ.ศ.2559 มิได้กำหนดให้ผู้ปฏิบัติงานในมหาวิทยาลัยเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา และการปฏิบัติหน้าที่ของผู้เสียหายซึ่งเป็นพนักงานมหาวิทยาลัยที่ทำหน้าที่ตรวจข้อมูลข่าวสารก็หาใช่การปฏิบัติหน้าที่ซึ่งได้รับการแต่งตั้งตามกฎหมายให้ปฏิบัติหน้าที่ราชการไม่ ผู้เสียหายจึงไม่อยู่ในฐานะเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา ดังนั้น แม้จำเลยจะดูหมิ่นผู้เสียหาย จำเลยก็ไม่มีความผิดฐานดูหมิ่นเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่
คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกระทำความผิดฐานดูหมิ่นเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ แต่ทางพิจารณาได้ความว่าจำเลยดูหมิ่นผู้เสียหายในฐานะบุคคลธรรมดา ซึ่งโจทก์บรรยายฟ้องครบองค์ประกอบของความผิดฐานดูหมิ่นผู้อื่นซึ่งหน้าตาม ป.อ. มาตรา 393 (เดิม) แล้ว ศาลมีอำนาจลงโทษจำเลยในความผิดฐานดังกล่าวได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคท้าย ประกอบมาตรา 215 และ 225 แต่โจทก์ฟ้องคดีและได้ตัวจำเลยมายังศาลเกิน 1 ปี นับแต่วันกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 95 (5) คดีของโจทก์จึงขาดอายุความ สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (6) ปัญหาเรื่องสิทธินำคดีอาญามาฟ้องระงับไป เป็นปัญหาที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยได้เอง ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3278/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา: การพิพากษาคดีส่วนแพ่งต้องเป็นไปตามข้อเท็จจริงในคำพิพากษาคดีอาญา
ศาลชั้นต้นพิเคราะห์ฟ้องและเอกสารท้ายฟ้องแล้ว เห็นว่า เมื่อการกระทำของจำเลยไม่เป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบซึ่งมิได้มีการกระทำใด ๆ ที่เป็นการจงใจหรือประมาทเลินเล่อต่อโจทก์ทั้งสี่โดยฝ่าฝืนต่อกฎหมายอันเป็นการละเมิดตาม ป.พ.พ.มาตรา 420 โจทก์ทั้งสี่จึงไม่มีอำนาจเรียกร้องให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนได้ พิพากษายกฟ้องและยกคำขอในส่วนแพ่ง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ ถือได้ว่าศาลชั้นต้นรับฟ้องคดีส่วนแพ่งแล้วนำข้อเท็จจริงในฟ้องและเอกสารท้ายฟ้องมาวินิจฉัยเกี่ยวกับคำฟ้องส่วนแพ่งและพิพากษายกฟ้อง เป็นการวินิจฉัยในประเด็นแห่งคดีตาม ป.วิ.พ.มาตรา 131 (2) ประกอบพ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ.2559 มาตรา 6 วรรคหนึ่ง มีผลเป็นการพิพากษาคดีส่วนแพ่งแล้ว ไม่ใช่เรื่องที่ศาลชั้นต้นไม่รับหรือคืนคำฟ้องตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 18 แห่ง ป.วิ.พ. ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ.2559 มาตรา 6 วรรคหนึ่ง จึงไม่มีเหตุที่จะคืนค่าขึ้นศาลให้แก่โจทก์ทั้งสี่ตามมาตรา 151

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2419/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การลงโทษซ้ำซ้อนในคดีความผิดเกี่ยวเนื่องกัน ศาลต้องคำนึงถึงบทบัญญัติประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91(2)
คดีนี้กับคดีหมายเลขแดงที่ 2165/2561 ถึง 2171/2561 ของศาลชั้นต้นมีลักษณะแห่งคดี และความผิดเป็นอย่างเดียวเกี่ยวพันกัน จำเลยเป็นบุคคลคนเดียวกัน โจทก์จึงอาจจะฟ้องคดีทั้งแปดสำนวนเป็นคดีเดียวกันได้ แต่โจทก์แยกฟ้องคดีนี้กับคดีหมายเลขแดงที่ 2165/2561 ถึง 2171/2561 โดยศาลชั้นต้นมิได้สั่งรวมการพิจารณาคดีนี้เข้ากับคดีหมายเลขแดงที่ 2165/2561 ถึง 2171/2561 ดังนี้ เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยทุกกรรมและจำคุกจำเลยมีกำหนด 20 ปี เต็มตามที่กำหนดไว้ใน ป.อ. มาตรา 91 (2) ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2165/2561 ถึง 2171/2561 ของศาลชั้นต้นแล้ว ศาลชั้นต้นย่อมไม่อาจนำโทษของจำเลยในคดีนี้ไปนับต่อกับโทษของจำเลยในคดีหมายเลขแดงที่ 2165/2561 ถึง 2171/2561 ของศาลชั้นต้นได้ เพราะจะทำให้จำเลยต้องรับโทษจำคุกเกินกำหนดที่ ป.อ. มาตรา 91 (2) บัญญัติไว้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2047/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิเรียกร้องค่าเก็บรักษาและขนส่งของตกค้างจากขายทอดตลาด, ดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้, และค่าฤชาธรรมเนียม
พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 63 บัญญัติว่า "เงินที่ได้จากการขายตามมาตรา 61 นั้น ให้หักใช้ค่าภาษี ค่าเก็บรักษา ค่าย้ายขน หรือค่าภาระติดพันอย่างอื่นอันค้างชำระแก่กรมศุลกากรเสียก่อน เหลือเท่าใดให้ใช้ค่าภาระติดพันต่าง ๆ อันสมควรจะได้และค้างชำระแก่ตัวแทนของเรือที่นำของเข้ามา เมื่อได้หักเช่นนี้แล้ว ยังมีเงินเหลืออยู่อีกเท่าใด ให้ตกเป็นของแผ่นดิน เว้นแต่เจ้าของจะได้เรียกร้องเอาภายในหกเดือนนับแต่วันขายทอดตลาด" ตามบทบัญญัติดังกล่าวเจตนาให้จัดสรรเงินที่เหลือจากการขายทอดตลาดของตกค้างเพื่อชำระหนี้ที่เป็นประโยชน์อันเกี่ยวข้องกับของตกค้างไว้ 4 รายการ รายการที่หนึ่งค่าภาษี รายการที่สองค่าเก็บรักษา รายการที่สามค่าย้ายขน หรือรายการที่สี่ค่าภาระติดพันอย่างอื่นที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับของตกค้างเสียก่อน เหลือเท่าใดจึงให้คืนแก่เจ้าของที่ได้เรียกร้องเอาภายในหกเดือนนับแต่วันขายทอดตลาด เมื่อข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติตามคำพิพากษาในคดีที่โจทก์ฟ้องบริษัทผู้นำเข้าของตกค้าง โดยคดีถึงที่สุดไปแล้วตามคดีหมายเลขแดงที่ 20027/2556 ของศาลอุทธรณ์ว่าโจทก์เป็นเจ้าหนี้ค่าภาระการใช้ท่าเรือเก็บรักษาสินค้า และค่าขนย้าย 13,814,377.20 บาท ซึ่งผู้ร้องและจำเลยมิได้คัดค้านเป็นอย่างอื่น จึงถือว่าโจทก์เป็นเจ้าหนี้ค่าเก็บรักษาและค่าย้ายขนตามจำนวนดังกล่าวที่มีสิทธิได้รับจัดสรรเงินที่เหลือจากการขายทอดตลาดของตกค้างก่อนเจ้าของตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 63 เมื่อเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดของตกค้างหลังจากได้หักใช้ค่าภาษีอันค้างชำระแก่จำเลยแล้ว คงเหลือ 8,834,899 บาท จึงต้องจัดสรรให้แก่โจทก์ทำให้ไม่มีเงินเหลือจากการขายทอดตลาดของตกค้างที่จะตกได้แก่ผู้ร้องที่อ้างว่าเป็นเจ้าของอีก
กรณีนี้ เมื่อโจทก์ได้มีหนังสือทวงถามให้จำเลยส่งมอบเงิน การที่จำเลยปฏิเสธไม่ชำระเงินให้แก่โจทก์เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหาย จึงต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยในต้นเงินดังกล่าวให้แก่โจทก์ด้วย ไม่มีเหตุผลหรือบทบัญญัติตามกฎหมายข้อใดที่กำหนดให้จำกัดความรับผิดของจำเลยไว้เพียงต้นเงินที่อยู่ในความครอบครองของจำเลยตามที่ศาลอุทธรณ์พิพากษา แต่จะถือว่าจำเลยผิดนัดในวันขายทอดตลาดของตกค้างดังกล่าวไม่ได้เพราะโจทก์เพิ่งมีหนังสือทวงถามให้จำเลยส่งมอบเงิน ฉบับลงวันที่ 1 กรกฎาคม 2556 ระบุให้จำเลยส่งมอบเงินให้แก่โจทก์ภายในกำหนด 7 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือนี้ ซึ่งจำเลยได้รับหนังสือเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2556 แล้วเพิกเฉย ถือว่าจำเลยผิดนัดไม่ชำระเงินให้แก่โจทก์นับแต่วันพ้นกำหนด 7 วันดังกล่าว ให้จำเลยรับผิดชำระดอกเบี้ยแก่โจทก์นับถัดจากวันที่ 9 กรกฎาคม 2556

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1732/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องคดีอาญา: การแก้ไขข้อบกพร่องหนังสือมอบอำนาจและการมอบอำนาจช่วง
โจทก์จัดทำหนังสือมอบอำนาจในวันเดียวกันหลายฉบับ แต่โจทก์แนบสำเนาหนังสือมอบอำนาจมาท้ายฟ้องคดีนี้ผิดพลาดอันถือเป็นข้อบกพร่องเล็กน้อย ไม่ถึงกับทำให้อำนาจฟ้องของโจทก์เสียไป เมื่อโจทก์ขอแก้ฟ้องก่อนลงมือสืบพยานและขอส่งสำเนาหนังสือมอบอำนาจฉบับใหม่ที่ถูกต้องแทน ศาลชั้นต้นอนุญาต ถือได้ว่าโจทก์แก้ไขข้อบกพร่องเกี่ยวกับอำนาจฟ้องของผู้รับมอบอำนาจแล้ว
of 9