คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.วิ.พ. ม. 161

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 464 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 811/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดทางแพ่งและอาญาจากการบุกรุกและทำให้เสียทรัพย์ การปรับบทลงโทษและค่าฤชาธรรมเนียม
จำเลยที่ 1 เป็นภริยาจำเลยที่ 2 ซื้อบ้านมีลักษณะเป็นห้องแถวไม้และใช้ผนังอาคารไม้ทั้งสองด้านร่วมกันกับบ้านสองหลังของโจทก์ร่วม การที่จำเลยทั้งสองว่าจ้าง ช. รื้อผนังอาคารไม้ทั้งสองด้านโดยพลการ เป็นการร่วมกันเข้าไปในบ้านทั้งสองหลังซึ่งเป็นอสังหาริมทรัพย์ของโจทก์ร่วมเพื่อถือการครอบครองอสังหาริมทรัพย์นั้นแต่บางส่วน หรือเข้าไปกระทำการใด ๆ อันเป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของโจทก์ร่วมโดยปกติสุข เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 362 และเป็นการเข้าไปในอสังหาริมทรัพย์ของโจทก์ร่วมโดยไม่มีเหตุอันสมควร ตามมาตรา 364 อีกบทหนึ่ง เมื่อจำเลยทั้งสองร่วมกระทำผิดด้วยกันตั้งแต่สองคนขึ้นไป การกระทำของจำเลยทั้งสองในความผิดฐานบุกรุกจึงเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 365 (2) ประกอบมาตรา 362 และมาตรา 364 ทั้งยังเป็นการทำให้เสียหาย ทำลาย ทำให้เสื่อมค่าหรือทำให้ไร้ประโยชน์ซึ่งผนังอาคารไม้ทั้งสองด้านของโจทก์ร่วมซึ่งเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วยอันเป็นความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ตาม ป.อ. มาตรา 358 อีกบทหนึ่ง
จำเลยทั้งสองร่วมกันว่าจ้างให้ ช. ซ่อมแซมปรับปรุงบ้านของจำเลยที่ 1 โดยให้รื้อฝาผนังร่วมซึ่งเป็นผนังไม้ทั้งสองด้าน คอยควบคุมดูแลการก่อสร้างอยู่ตลอด และทราบว่าการไม่ฉาบปูนผนังอิฐทางด้านบ้านของโจทก์ร่วม เป็นสาเหตุที่ทำให้มีน้ำรั่วซึมเวลาฝนตก การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นการสมคบร่วมกันกระทำการรื้อผนังอาคารร่วมทั้งสองด้านซึ่งโจทก์ร่วมเป็นเจ้าของร่วมด้วย จึงเป็นตัวการร่วมกระทำความผิดตามมาตรา 83 หาใช่เป็นเพียงผู้ใช้ให้ ช. กระทำความผิดตามมาตรา 84 ไม่
ค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีไม่ใช่ค่าเสียหายโดยตรงที่เกิดจากการที่จำเลยทั้งสองบุกรุกและทำให้บ้านทั้งสองหลังของโจทก์ร่วมเสียหาย ส่วนค่าเสียหายต่อจิตใจก็คือค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอย่างอื่นอันมิใช่ตัวเงินซึ่ง ป.พ.พ. มาตรา 446 กำหนดให้เรียกร้องได้เฉพาะในกรณีทำให้เขาเสียหายแก่ร่างกายอนามัยหรือทำให้เขาเสียเสรีภาพเท่านั้น กรณีความเสียหายต่อทรัพย์สิน มาตรา 446 ไม่เปิดสิทธิให้แก่ผู้ต้องเสียหายเรียกร้องเอาได้ สำหรับค่าเช่าหรือค่าเสียโอกาสใช้สอยบ้านของโจทก์ร่วมนั้น การที่ก่อนเกิดเหตุโจทก์ร่วมไม่ได้ใช้สอยบ้านทั้งสองหลัง ไม่ได้หมายความว่าขณะเกิดเหตุโจทก์ร่วมจะใช้สอยหรือหาประโยชน์จากบ้านทั้งสองหลังของตนไม่ได้ ดังนั้น การที่จำเลยทั้งสองร่วมกันบุกรุกและทำให้บ้านทั้งสองหลังของโจทก์ร่วมเสียหาย จึงเป็นผลโดยตรงที่ทำให้โจทก์ร่วมเสียหาย ไม่อาจใช้สอยหรือหาประโยชน์จากบ้านทั้งสองหลังของตนได้
โจทก์บรรยายฟ้องระบุการกระทำผิดฐานบุกรุกว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันบุกรุกเข้าไปในบริเวณบ้านพักอันเป็นอสังหาริมทรัพย์ของโจทก์ร่วมโดยไม่ได้รับอนุญาตและโดยไม่มีเหตุอันสมควรเป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของโจทก์ร่วมโดยปกติสุข และมีคำขอให้ลงโทษตาม ป.อ.มาตรา 362, 364, 365 ประกอบมาตรา 83 เมื่อการกระทำผิดของจำเลยทั้งสองในความผิดฐานนี้เข้าลักษณะเป็นความผิดทั้งตามมาตรา 362 และมาตรา 364 แต่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาปรับบทลงโทษเพียงตามมาตรา 365 (2) ประกอบมาตรา 362 จึงไม่ถูกต้องครบถ้วน ปัญหาข้อนี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้คู่ความมิได้ฎีกา ศาลฎีกาก็หยิบยกขึ้นวินิจฉัยให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 และการที่ศาลฎีกาเพียงแต่ปรับบทลงโทษโดยมิได้แก้ไขโทษให้หนักขึ้น ก็มิได้เป็นการพิพากษาเพิ่มเติมโทษอันจักเป็นการต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 212 ประกอบมาตรา 225
กรณีผู้เสียหายยื่นคำร้องขอให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนนั้น ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 วรรคสอง เป็นบทบัญญัติที่มีนัยสำคัญบ่งชี้ว่าวิธีพิจารณาความแพ่งเช่นว่านี้ต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง เช่นเดียวกับคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาทั่วไปดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 40 นั่นเอง ดังนั้น ในการพิพากษาคดีส่วนแพ่ง ศาลจึงอยู่ในบังคับต้องมีคำพิพากษาสั่งในเรื่องความรับผิดในชั้นที่สุดแห่งค่าฤชาธรรมเนียมตาม ป.วิ.พ. มาตรา 161 ประกอบมาตรา 167 เพราะแม้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 253 คำร้องขอตามมาตรา 44/1 ห้ามมิให้เรียกค่าธรรมเนียมก็ตาม แต่ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 158 บัญญัติว่า "ถ้าศาลเห็นว่าคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งจะต้องเป็นผู้รับผิดเสียค่าฤชาธรรมเนียมทั้งหมด หรือแต่บางส่วนของคู่ความทั้งสองฝ่าย ให้ศาลพิพากษาในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียม โดยสั่งให้คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งนั้นชำระต่อศาลในนามของผู้ที่ได้รับยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลซึ่งค่าธรรมเนียมศาลที่ผู้นั้นได้รับยกเว้นทั้งหมดหรือแต่บางส่วนตามที่ศาลเห็นสมควร" และแม้คำว่า "ผู้ได้รับยกเว้นค่าธรรมเนียมศาล" ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 158 เป็นบทบัญญัติต่อเนื่องมาจากหลักเกณฑ์การขอยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลในการฟ้องหรือต่อสู้คดีตามมาตรา 156 มาตรา 156/1 และมาตรา 157 ก็ตาม แต่ก็ต้องนำมาใช้บังคับแก่กรณีที่ผู้เสียหายใช้สิทธิตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 ยื่นคำร้องขอให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ตนเองอันเป็นคดีส่วนแพ่ง ซึ่งมาตรา 44/1 วรรคสอง บัญญัติให้ถือว่าคำร้องดังกล่าวเป็นคำฟ้องตาม ป.วิ.พ. และผู้เสียหายอยู่ในฐานะโจทก์ในคดีส่วนแพ่งนั้นด้วย ในฐานะที่เป็นกฎหมายใกล้เคียงอย่างยิ่ง ตาม ป.พ.พ. มาตรา 4 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 19339-19344/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิบัตรไม่สมบูรณ์: การเพิกถอนสิทธิบัตรออกแบบผลิตภัณฑ์ที่มิได้เป็นสิ่งประดิษฐ์ใหม่
แม้จำเลยจะมีพยานบุคคลเพียงปากเดียว แต่ไม่ปรากฏว่าเมื่อมีการประกาศโฆษณาคำขอรับสิทธิบัตร โจทก์ทั้งหกยื่นคำคัดค้านต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ว่าตนมีสิทธิรับสิทธิบัตรดีกว่าจำเลยหรือคำขอรับสิทธิบัตรของจำเลยไม่ชอบด้วยกฎหมาย อีกทั้งไม่มีข้อเท็จจริงว่าขั้นตอนในการออกสิทธิบัตรของพนักงานเจ้าหน้าที่มีความบกพร่อง จึงต้องถือว่าจำเลยเป็นผู้ทรงสิทธิบัตรโดยชอบด้วยกฎหมาย เมื่อโจทก์ทั้งหกฟ้องคดีนี้โดยกล่าวอ้างว่าการออกแบบผลิตภัณฑ์ตามสิทธิบัตรของจำเลยไม่เป็นการออกแบบผลิตภัณฑ์ใหม่ โจทก์ทั้งหกจึงมีหน้าที่พิสูจน์ว่าแบบผลิตภัณฑ์ของจำเลยเป็นแบบผลิตภัณฑ์ที่ไม่ถือว่าเป็นการออกแบบผลิตภัณฑ์ใหม่อย่างใดอย่างหนึ่ง ตามมาตรา 57 แห่ง พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ.2522
ค่าทนายความเป็นค่าฤชาธรรมเนียมตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 149 วรรคหนึ่ง เมื่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้ค่าฤชาธรรมเนียมตกเป็นพับแล้ว ก็ไม่อาจพิพากษากำหนดให้คู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งชดใช้ค่าทนายความให้แก่คู่ความอีกฝ่ายหนึ่ง คำพิพากษาในส่วนนี้จึงไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 161 ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 45 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16559/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเพิกถอนเครื่องหมายการค้าที่คล้ายคลึงกัน ละเมิดสิทธิเครื่องหมายการค้าที่มีชื่อเสียง และขอบเขตคำพิพากษา
เมื่อเปรียบเทียบเครื่องหมายการค้า ของจำเลยที่ 3 กับเครื่องหมายการค้า และ ของโจทก์ แม้รูปคชหงส์จะเป็นรูปลายไทยมีรายละเอียดแตกต่างกับรูปไก่ชน แต่ลักษณะจัดวางรูปคชหงส์และรูปไก่ชนให้ยืนหันหน้าเข้าหากันโดยมีตัวอักษรโรมันอยู่ด้านบนเหมือนกัน ทำให้ภาพรวมของเครื่องหมายการค้าคล้ายกัน ประกอบกับตัวอักษรโรมันด้านบนเครื่องหมายการค้าของโจทก์เรียกขานได้ว่า ลำปำ จันทรา และลำปำ ตามลำดับ ส่วนตัวอักษรโรมันประดิษฐ์ด้านบนเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 3 แม้ตามสำเนาคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าระบุว่า อ่านไม่ได้ แปลไม่ได้ แต่ก็เห็นได้ว่าเป็นตัวอักษรโรมันที่ประดิษฐ์จากคำว่า LAMPAM ซึ่งเรียกขานได้ว่า ลำปำ เหมือนกัน เครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 3 จึงคล้ายกับของโจทก์จนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้า เมื่อเครื่องหมายการค้าของโจทก์เป็นเครื่องหมายมีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไป เครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 3 จึงต้องห้ามมิให้รับจดทะเบียนสำหรับสินค้าทุกจำพวก
แม้จำเลยที่ 3 ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเจตนาเลียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ แต่รูปคชหงส์เป็นรูปของสัตว์ซึ่งไม่มีอยู่จริง โดยจำเลยที่ 3 อ้างว่านำลักษณะเด่นของหงส์ ช้าง และสิงโต มารวมกันแล้วเขียนขึ้นใหม่ในลักษณะรูปลายไทย รูปคชหงส์จึงเป็นรูปที่จำเลยที่ 3 สร้างสรรค์ขึ้นใหม่ให้มีความแตกต่างกับรูปไก่ชน ไม่ได้เกิดจากการนำรูปไก่ชนมาดัดแปลง ลำพังการจัดองค์ประกอบของรูปให้มีคชหงส์สองตัวหันหน้าเข้าหากันซึ่งบุคคลทั่วไปก็สามารถทำได้ไม่ใช่การทำซ้ำ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ 3 ทำหรือก่อให้เกิดงานโดยได้ใช้ความวิริยะอุตสาหะในการสร้างสรรค์ จึงไม่ได้ละเมิดลิขสิทธิ์งานศิลปกรรมรูปไก่ชนสองตัวหันหน้าหากันของโจทก์
แม้ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า เครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 3 คล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ แต่การที่จำเลยที่ 3 สร้างสรรค์รูปคชหงส์แล้วนำไปยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า และจำเลยทั้งสามจำหน่ายสินค้าโดยใช้เครื่องหมายการค้าที่ได้รับการจดทะเบียน ทั้งการโฆษณาก็ระบุเครื่องหมายการค้าพร้อมที่มาของการออกแบบรูปคชหงส์เป็นเครื่องหมายการค้าใหม่ จำเลยทั้งสามไม่มีเจตนาลวงขายสินค้า ไม่เป็นละเมิดต่อโจทก์
การสั่งให้คู่ความฝ่ายใดรับผิดชั้นที่สุดสำหรับค่าฤชาธรรมเนียมจำนวนมากน้อยเพียงใดนั้น เป็นดุลพินิจของศาล การที่โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสามโดยไม่ได้ฟ้องผู้ละเมิดเครื่องหมายการค้าของโจทก์รายอื่นด้วยไม่ใช่เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต
ที่โจทก์อุทธรณ์ขอให้จำเลยทั้งสามยุติการจำหน่ายสินค้าที่ใช้ภาคส่วนอักษรโรมันคำว่า LAMPAM รูป รอยประดิษฐ์ และเครื่องหมายการค้าหงส์คู่ หรือเครื่องหมายการค้าอื่นใดที่เหมือนหรือคล้ายนั้น เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า เครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 3 คล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ซึ่งเป็นเครื่องหมายมีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไปจนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้า ศาลย่อมมีอำนาจบังคับให้ตามคำขอ
ที่โจทก์อุทธรณ์ให้จำเลยทั้งสามยุติการใช้และผลิตสินค้าที่ใช้ภาคส่วนอักษรโรมัน คำว่า LAMPAM รูป รอยประดิษฐ์ และเครื่องหมายการค้าหงส์คู่ หรือเครื่องหมายการค้าอื่นใดที่เหมือนหรือคล้ายนั้น เมื่อพิพากษาให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 3 แล้ว จำเลยทั้งสามย่อมไม่มีสิทธิใช้เครื่องหมายการค้านั้นอีกต่อไป คำขอดังกล่าวมุ่งบังคับการกระทำในอนาคตซึ่งครอบคลุมถึงการกระทำของจำเลยทั้งสามที่เกินไปกว่าที่ปรากฏในคดีนี้ ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางยกคำขอของโจทก์ส่วนนี้ชอบแล้ว
ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้เพิกถอนคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าโดยจำเลยที่ 3 ไม่ต้องขอถอนคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้านั้น ไม่ถูกต้อง เมื่อการยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเป็นการโต้แย้งสิทธิต่อโจทก์ จึงชอบที่จะบังคับให้จำเลยที่ 3 ถอนคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า หากจำเลยที่ 3 ไม่ปฏิบัติก็ชอบที่จะใช้คำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาถอนคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 3

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10927/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ค่าเสียหายจากอุบัติเหตุทางถนน: การคำนวณค่าขาดไร้อุปการะ, ทุนทรัพย์, และค่าฤชาธรรมเนียม
โจทก์ฎีกาขอให้จำเลยทั้งสองรับผิดต่อโจทก์เพิ่มเติมจากที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษามา แต่โจทก์เสียค่าขึ้นศาลชั้นฎีกามาตามทุนทรัพย์ในศาลชั้นต้น จึงต้องคืนค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาตามทุนทรัพย์ที่โจทก์เสียเกินมา และที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาให้คืนค่าขึ้นศาลแก่จำเลยทั้งสอง 4,800 บาท เพราะเห็นว่าจำเลยทั้งสองอุทธรณ์ทำนองว่าค่าเสียหายที่จำเลยทั้งสองต้องรับผิดต่อโจทก์เป็นเงินเพียง 240,000 บาท ทุนทรัพย์ที่พิพาทในชั้นอุทธรณ์จึงเป็นเงินเพียง 360,000 บาท นั้น แม้อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองมีข้อความว่า จำเลยที่ 1 เห็นว่าค่าขาดไร้อุปการะที่ศาลชั้นต้นกำหนดให้เดือนละ 5,000 บาท สูงเกินส่วน ที่เหมาะสมควรจะเป็นเงินเดือนละ 2,000 บาท เป็นเวลา 10 ปี เป็นเงิน 240,000 บาท แต่จำเลยทั้งสองมีคำขอท้ายอุทธรณ์ว่าขอให้ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายกฟ้อง อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองจึงมิได้ยอมรับผิดชดใช้ค่าขาดไร้อุปการะจำนวนดังกล่าวให้แก่โจทก์ ซึ่งศาลอุทธรณ์ก็ได้พิพากษายกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 2 ทุนทรัพย์ที่พิพาทในชั้นอุทธรณ์จึงเป็นเงิน 600,000 บาท ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาให้คืนค่าขึ้นศาลตามทุนทรัพย์จำนวนดังกล่าวแก่จำเลยทั้งสองจึงไม่ชอบ นอกจากนี้ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 2 โดยไม่ได้สั่งค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นสำหรับจำเลยที่ 2 ใหม่ก็เป็นการไม่ชอบ ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5), 246 และมาตรา 247

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8626/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การถอนฟ้องหย่าและอำนาจปกครองบุตร การพิพากษาตามข้อตกลง และการยกฟ้องแย้งเรื่องสินสมรส
ข้อความตามรายงานกระบวนพิจารณาระบุว่า คู่ความแถลงร่วมกันว่าคดีสามารถตกลงกันได้โดยโจทก์และจำเลยตกลงจะไปหย่าขาดจากกัน โดยให้โจทก์เป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์เพียงฝ่ายเดียว โจทก์ขอถอนคำฟ้องในประเด็นทั้งสองดังกล่าว คงเหลือประเด็นสินสมรสและค่าอุปการะเลี้ยงดู จำเลยไม่ค้าน และศาลชั้นต้นอนุญาตให้ถอนฟ้อง ต้องถือว่าโจทก์และจำเลยตกลงประนีประนอมยอมความกันในประเด็นหย่าและอำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์ ส่วนประเด็นข้อพิพาทที่เหลือให้ศาลวินิจฉัยตามรูปคดี กรณีมิใช่ศาลอนุญาตให้ถอนฟ้องตาม ป.วิ.พ. มาตรา 175 และ 176 ซึ่งศาลต้องจำหน่ายคดีเสียจากสารบบความตามมาตรา 132 เมื่อศาลดำเนินกระบวนพิจารณาในประเด็นที่เหลือแล้วจึงต้องมีคำพิพากษาตามข้อตกลงดังกล่าวด้วย
ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษายกฟ้องแย้งโดยไม่ได้สั่งเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมเกี่ยวกับฟ้องแย้งเป็นการไม่ชอบตาม ป.วิ.พ. มาตรา 161 และ 167 วรรคหนึ่ง เป็นข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องเองได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบ พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 6

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6065/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ค่าฤชาธรรมเนียมในสัญญาเช่า: ศาลชี้จำเลยต้องรับผิดตามกฎหมาย ไม่รวมค่าเดินทางทนาย
หนังสือสัญญาเช่าตึกแถวเป็นการตกลงว่า ถ้ามีการฟ้องคดีอันเกี่ยวกับสัญญาเช่านี้ จำเลยที่ 1 ผู้เช่ายอมชดใช้ค่าฤชาธรรมเนียมตลอดทั้งค่าทนายความให้จนครบถ้วนและค่าใช้จ่ายอื่น ๆ อันจะพึงมีขึ้น สำหรับค่าฤชาธรรมเนียมนั้น ป.วิ.พ. มาตรา 149 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "ค่าฤชาธรรมเนียม ได้แก่ ค่าธรรมเนียมศาล ค่าสืบพยานหลักฐานนอกศาล ค่าป่วยการ ค่าพาหนะเดินทาง และค่าเช่าที่พักของพยาน ผู้เชี่ยวชาญ ล่าม และเจ้าพนักงานศาล ค่าทนายความ ค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดี ตลอดจนค่าธรรมเนียมหรือค่าใช้จ่ายอื่น ๆ บรรดาที่กฎหมายบังคับให้ชำระ" ซึ่งมาตรา 153/1 บัญญัติว่า "ค่าฤชาธรรมเนียมตาม มาตรา 149 ... ให้ชำระตามวิธีการและอัตราที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายนี้ หรือตามวิธีการและอัตราที่มีกฎหมายอื่นบังคับไว้" และมาตรา 161 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "ให้คู่ความฝ่ายที่แพ้คดีเป็นผู้รับผิดในชั้นที่สุดสำหรับค่าฤชาธรรมเนียมทั้งปวง แต่ไม่ว่าคู่ความฝ่ายใดจะชนะคดีเต็มตามข้อหาหรือแต่บางส่วน ศาลมีอำนาจที่จะพิพากษาให้คู่ความฝ่ายที่ชนะคดีนั้นรับผิดในค่าฤชาธรรมเนียมทั้งปวง หรือให้คู่ความแต่ละฝ่ายรับผิดในค่าฤชาธรรมเนียมส่วนของตนหรือตามส่วนแห่งค่าฤชาธรรมเนียมซึ่งคู่ความทุกฝ่ายได้เสียไปก่อนได้ตามที่ศาลจะใช้ดุลพินิจ โดยคำนึงถึงเหตุสมควรและความสุจริตในการดำเนินคดี" ดังนั้น สัญญาจ้างว่าความจึงเป็นสัญญาระหว่างโจทก์กับทนายโจทก์ ซึ่งตกลงกันเองไม่อาจนำมาให้จำเลยที่ 1 รับผิดชดใช้แก่โจทก์ได้ โดยจำเลยที่ 1 ต้องชดใช้แก่โจทก์ตามที่ศาลใช้ดุลพินิจกำหนดตามกฎหมายบัญญัติไว้ ซึ่งค่าใช้จ่ายในการเดินทางและค่าที่พักของทนายความไม่อาจกำหนดให้ได้ เพราะมิใช่ค่าฤชาธรรมเนียมตามที่กฎหมายบัญญัติ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2510/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดของผู้รับประกันภัยต่อบุคคลภายนอกกรณีผู้ขับขี่ได้รับความยินยอมตามกรมธรรม์
โจทก์ทั้งห้าบรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้ขับรถยนต์คันเกิดเหตุ โดยมีจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นผู้ครอบครองรถร่วมกัน ส่วนจำเลยที่ 4 รับประกันภัยค้ำจุนรถยนต์ดังกล่าวจากจำเลยที่ 2 ผู้เอาประกันภัย จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์นั้นไปในทางการที่ใช้หรือจ้างวานของจำเลยที่ 2 และที่ 3 กระทำละเมิดต่อ ว. ผู้ตาย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ทั้งห้าซึ่งเป็นทายาทของผู้ตาย อันเป็นการบรรยายฟ้องไปตามข้อเท็จจริงเท่าที่โจทก์ทั้งห้าทราบ โดยเห็นว่าข้ออ้างอันอาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาที่โจทก์ทั้งห้าฟ้องขอให้จำเลยที่ 4 รับผิดต่อโจทก์ทั้งห้าคือในฐานะเป็นผู้รับประกันภัยค้ำจุนรถยนต์คันเกิดเหตุ ซึ่งความผิดของจำเลยที่ 4 จะมีประการใดย่อมเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยความรับผิดของผู้รับประกันภัยค้ำจุน โดยจะต้องพิจารณาเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในกรมธรรม์ประกันภัยประกอบด้วย เมื่อผู้รับประกันภัยค้ำจุนจะต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอกต่อเมื่อผู้เอาประกันภัยต้องรับผิด และเงื่อนไขตามกรมธรรม์ประกันภัย หมวดการคุ้มครองความรับผิดต่อบุคคลภายนอก ข้อ 4 กำหนดว่า ผู้รับประกันภัยจะถือว่าบุคคลใดซึ่งขับรถโดยได้รับความยินยอมจากผู้เอาประกันภัยเสมือนหนึ่งผู้เอาประกันภัยเอง เช่นนี้ การที่ศาลอุทธรณ์นำเงื่อนไขดังกล่าวมาวินิจฉัยโดยรับฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ 1 ขับรถยนต์คันเกิดเหตุโดยได้รับความยินยอมจากจำเลยที่ 2 ผู้รับประกันภัยอันเป็นไปตามเงื่อนไขแล้วก็เพื่อวินิจฉัยความรับผิดของจำเลยที่ 4 ในฐานะผู้รับประกันภัยค้ำจุนตามที่โจทก์ทั้งห้าฟ้องนั่นเอง จึงมิใช่เป็นการวินิจฉัยนอกฟ้องนอกประเด็น
กรมธรรม์ประกันภัยเป็นแบบไม่ระบุชื่อผู้ขับขี่และข้อเท็จจริงได้ความว่า ม. ภริยาของจำเลยที่ 3 ได้ยืมรถยนต์คันที่เอาประกันภัยจากจำเลยที่ 2 เพื่อนำไปใช้ จำเลยที่ 1 เป็นน้องชายของจำเลยที่ 3 ต่อมาจำเลยที่ 1 ขับรถยนต์คันดังกล่าวไปเกิดเหตุคดีนี้ ซึ่งสอดคล้องกับที่ ม. ภริยาจำเลยที่ 3 เบิกความว่า จำเลยที่ 1 ขอยืมรถที่พยานยืมจากบิดาเพื่อนำบุตรของจำเลยที่ 1 ไปรักษาที่คลินิก ศ. พยานจำเลยที่ 4 ก็เบิกความตอบทนายโจทก์ถามค้านว่า เมื่อจำเลยที่ 1 ขอยืมรถยนต์คันเกิดเหตุจากจำเลยที่ 3 ไปใช้ก็ไม่ต้องได้รับความยินยอมจากจำเลยที่ 2 อีก ดังนี้ การที่จำเลยที่ 1 เป็นผู้ขับรถคันเกิดเหตุจึงถือได้ว่าจำเลยที่ 2 ได้ยินยอมให้จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นญาติขับรถคันเกิดเหตุได้ ตามเงื่อนไขและความคุ้มครองกรมธรรม์ หมวดการคุ้มครองความรับผิดต่อบุคคลภายนอก ข้อ 4 ระบุว่า บริษัทจะถือว่าบุคคลใดซึ่งขับขี่รถยนต์โดยได้รับความยินยอมจากผู้เอาประกันภัยเสมือนหนึ่งเป็นผู้เอาประกันภัยเอง ซึ่งหมายความว่า นอกจากรับผิดในกรณีที่ผู้เอาประกันภัยทำละเมิดต่อผู้อื่นตามข้อ 1 แล้ว จำเลยที่ 4 ยังยอมรับผิดในกรณีที่ผู้อื่นเป็นผู้ทำละเมิดโดยผู้นั้นได้ขับรถคันที่จำเลยที่ 4 รับประกันภัยไว้โดยความยินยอมของจำเลยที่ 2 ผู้เอาประกันภัยด้วย เมื่อจำเลยที่ 1 ขับรถโดยถือว่าได้รับความยินยอมจากจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 1 จึงมีฐานะเสมือนผู้เอาประกันภัย จำเลยที่ 4 ต้องรับผิดต่อโจทก์ทั้งห้าซึ่งเป็นบุคคลภายนอกตามข้อสัญญาประกันภัยดังกล่าว
จำเลยที่ 4 วางเงินที่ศาลจังหวัดสุราษฎร์ธานีเพื่อชำระแก่ทายาทผู้ตายโดยมีเงื่อนไขว่าโจทก์ทั้งห้าหรือญาติผู้ตายจะรับเงินได้ก็ต่อเมื่อคดีแพ่งของจำเลยที่ 4 ถึงที่สุดแล้ว โจทก์ทั้งห้าจึงไม่อาจรับเงินได้เนื่องจากติดเงื่อนไขที่จำเลยที่ 4 กำหนดไว้ในการวางเงินดังกล่าว ดังนั้น การวางเงินโดยมีเงื่อนไขดังกล่าวถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 4 ชำระเงินนั้นให้โจทก์ทั้งห้าแล้ว
ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 161 ศาลจะต้องมีคำสั่งเกี่ยวกับความรับผิดชั้นที่สุดในค่าฤชาธรรมเนียม ส่วนจะกำหนดให้คู่ความฝ่ายหนึ่งใช้แทนคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งหรือไม่ เพียงใด เป็นดุลพินิจของศาลโดยคำนึงถึงเหตุสมควรและความสุจริตในการดำเนินคดีของคู่ความทั้งปวง เมื่อจำเลยที่ 4 เป็นฝ่ายแพ้คดีในชั้นอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ย่อมมีอำนาจที่จะให้จำเลยที่ 4 ซึ่งเป็นฝ่ายแพ้คดีใช้ค่าฤชาธรรมเนียมซึ่งรวมถึงค่าทนายความให้แก่โจทก์ทั้งห้าได้ ที่ศาลอุทธรณ์กำหนดให้ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์เป็นพับ นับว่าเป็นคุณแก่จำเลยที่ 4 อย่างมากแล้ว จึงไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะเปลี่ยนแปลงแก้ไขดุลพินิจของศาลอุทธรณ์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 239/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดของตัวการต่อละเมิดของตัวแทน และผลของสัญญาประนีประนอมยอมความที่ไม่ผูกพันโจทก์
ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 1 ขับรถยนต์บรรทุก หมายเลขทะเบียน 80 - 5273 ชุมพร รับจ้างบรรทุกสินค้าอันเป็นการประกอบการขนส่งในนามของจำเลยที่ 2 จึงต้องถือว่า จำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 2 ในการขับรถยนต์บรรทุกดังกล่าว ดังนั้น จำเลยที่ 2 ในฐานะตัวการจึงต้องรับผิดในผลแห่งละเมิดที่ตัวแทนของตนได้กระทำไป ตาม ป.พ.พ. มาตรา 427 และ 820
รายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีเอกสารศาลแพ่งหมาย ป.จ.4 ที่พนักงานสอบสวนจัดทำขึ้นในการเปรียบเทียบปรับจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานขับรถโดยประมาท อันทำให้คดีส่วนอาญาเลิกกัน แม้จะมีข้อความบันทึกไว้ตอนต้นว่าคู่กรณีทั้งสามฝ่ายตกลงเรื่องค่าเสียหายกัน ผลการตกลงฝ่ายรถยนต์บรรทุก หมายเลขทะเบียน 80 - 5273 ชุมพร ซึ่งจำเลยที่ 1 เป็นคนขับขณะเกิดเหตุยินยอมรับผิดชดใช้ค่าเสียหายโดยจะซ่อมรถยนต์ หมายเลขทะเบียน 6 ฎ - 0967 กรุงเทพมหานคร และรถยนต์โดยสาร หมายเลขทะเบียน 11 - 7047 กรุงเทพมหานคร ของโจทก์ให้อยู่ในสภาพเดิม ส่วนค่าสินไหมทดแทนเป็นเงินจะไปดำเนินการกันเองกับบริษัทประกันภัยก็ตาม แต่ผู้ลงชื่อท้ายบันทึกฝ่ายรถบรรทุก หมายเลขทะเบียน 80 - 5273 กรุงเทพมหานคร ได้แก่ จำเลยที่ 1 ผู้ชดใช้และฝ่ายรถยนต์โดยสาร หมายเลขทะเบียน 11 - 7047 กรุงเทพมหานคร คือ ม. พนักงานขับรถยนต์โดยสารของโจทก์ผู้รับชดใช้ โดยไม่มีข้อความตอนใดระบุว่า ม. ทำบันทึกข้อตกลงในฐานะตัวแทนของโจทก์ ทั้งตาม ป.พ.พ. มาตรา 851 บังคับว่าสัญญาประนีประนอมยอมความต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ และมาตรา 798 วรรคสอง บัญญัติว่า กิจการอันใดท่านบังคับว่าต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ การตั้งตัวแทนเพื่อกิจการอันนั้นก็ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือด้วย ดังนี้ข้อตกลงเรื่องค่าเสียหายตามรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดี เอกสารศาลแพ่งหมาย ป.จ.4 จึงไม่ผูกพันโจทก์ กรณีฟังไม่ได้ว่าโจทก์กับจำเลยที่ 1 ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันอันจะมีผลให้มูลหนี้ละเมิดระงับไป
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 2 แต่มิได้สั่งในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 เป็นการไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 161 และมาตรา 167 ศาลอุทธรณ์ภาค 8 มิได้แก้ไข ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 238/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเพิกถอนนิติกรรมไถ่ถอนจำนองที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย การประมาทเลินเล่อของผู้รับจำนอง และสิทธิของผู้รับโอนที่สุจริต
แม้นิติกรรมไถ่ถอนจำนองที่ดินพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 จะเกิดจากการกระทำโดยผิดกฎหมายของจำเลยที่ 1 ที่ลักเอาหนังสือสัญญาจำนองที่ดินและโฉนดที่ดินพิพาทไป แล้วปลอมลายมือชื่อพนักงานผู้มีอำนาจลงลายมือชื่อโจทก์ในหนังสือมอบอำนาจและหนังสือมอบอำนาจช่วงพร้อมประทับตราสำคัญของโจทก์ลงในหนังสือมอบอำนาจ จากนั้นร่วมกับจำเลยที่ 2 นำเอกสารดังกล่าวไปจดทะเบียนนิติกรรมไถ่ถอนจำนองที่ดินพิพาทต่อเจ้าพนักงานที่ดินสำนักงานที่ดินจังหวัดชลบุรี อันเป็นการมิชอบและโจทก์ชอบที่จะฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมไถ่ถอนจำนองอันมิชอบดังกล่าวได้ก็ตาม แต่การดังกล่าวเกิดขึ้นเนื่องจากโจทก์เก็บรักษาหนังสือสัญญาจำนองที่ดินและโฉนดที่ดินพิพาทไม่ดี ทำให้จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นพนักงานสินเชื่อของโจทก์มีโอกาสลักเอาเอกสารดังกล่าวไปจดทะเบียนนิติกรรมไถ่ถอนจำนองที่ดินพิพาท ถือได้ว่าเหตุเกิดเพราะโจทก์มีส่วนประมาทเลินเล่ออยู่ด้วย และข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยที่ 2 จดทะเบียนยกที่ดินพิพาทให้จำเลยที่ 3 โดยจำเลยที่ 3 รับโอนที่ดินพิพาทไว้โดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน แล้วจำเลยที่ 3 จดทะเบียนจำนองที่ดินพิพาทไว้แก่จำเลยที่ 4 โดยจำเลยที่ 4 รับจำนองที่ดินพิพาทไว้โดยสุจริตและเสียค่าตอบแทนเช่นกัน ดังนั้น หากศาลพิพากษาว่านิติกรรมไถ่ถอนจำนองที่ดินพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ตกเป็นโมฆะ และให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันจดทะเบียนเพิกถอนนิติกรรมไถ่ถอนจำนองที่ดินพิพาทแล้วร่วมกันจดทะเบียนให้โจทก์เป็นผู้รับจำนองที่ดินพิพาทลำดับแรกตามเดิม ย่อมมีผลกระทบต่อจำเลยที่ 3 และที่ 4 ซึ่งอยู่ในฐานะผู้รับโอนและผู้รับจำนองที่ดินพิพาทโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทนอย่างแน่นอน เนื่องจากผู้รับจำนองคนหลังจะบังคับตามสิทธิของตนให้เสียหายแก่ผู้รับจำนองคนก่อนนั้นหาได้ไม่ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 731 อีกทั้งในชั้นอุทธรณ์โจทก์ยังได้ระบุในอุทธรณ์ของโจทก์โดยแสดงเจตนาให้เห็นว่าโจทก์ไม่ประสงค์จะขอให้เพิกถอนนิติกรรมยกให้ที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 2 กับจำเลยที่ 3 หรือขอให้เพิกถอนนิติกรรมจำนองระหว่างจำเลยที่ 3 กับจำเลยที่ 4 เพราะโจทก์เห็นว่า จำเลยที่ 2 ยังคงมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทจึงมีอำนาจที่จะจดทะเบียนยกให้จำเลยที่ 3 ได้ และจำเลยที่ 3 ก็มีอำนาจที่จะนำที่ดินพิพาทไปจดทะเบียนจำนองไว้แก่จำเลยที่ 4 ได้เช่นกัน จึงเท่ากับว่าโจทก์ยอมรับถึงสิทธิของจำเลยที่ 3 และที่ 4 ในฐานะผู้รับโอนที่ดินพิพาทและผู้รับจำนองที่ดินพิพาทตามลำดับ
โจทก์มีส่วนประมาทเลินเล่ออยู่ด้วยจึงไม่มีทางที่จะคงสิทธิของโจทก์ในฐานะผู้รับจำนองที่ดินพิพาทลำดับแรกไว้ได้โดยไม่กระทบสิทธิของจำเลยที่ 3 และที่ 4 ดังนั้น ที่โจทก์มีคำขอท้ายคำฟ้องในลำดับแรก ขอให้ศาลพิพากษาว่านิติกรรมไถ่ถอนจำนองที่ดินพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ตกเป็นโมฆะ และให้มีการเพิกถอนนิติกรรมไถ่ถอนจำนองที่ดินพิพาท โดยให้โจทก์เป็นผู้รับจำนองที่ดินพิพาทลำดับแรกตามเดิม จึงเป็นกรณีที่สภาพแห่งหนี้ไม่เปิดช่องให้ทำเช่นนั้นได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 213 วรรคหนึ่ง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 3 และที่ 4 แต่ไม่ได้สั่งเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 3 และที่ 4 เป็นการไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 161 และมาตรา 167 และศาลอุทธรณ์ภาค 2 มิได้แก้ไข ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12104/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฎีกาไม่ชอบ หากไม่ชำระค่าทนายความตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์พร้อมฎีกา แม้ศาลชั้นต้นรับฎีกาไว้ก็ไม่สมบูรณ์
ค่าทนายความเป็นค่าธรรมเนียมอย่างหนึ่งตาม ป.วิ.พ. มาตรา 229 เมื่อศาลอุทธรณ์กำหนดให้โจทก์ชำระค่าทนายความจำนวน 150,000 บาท แก่จำเลยที่ 1 จึงเป็นหลักเกณฑ์เคร่งครัดที่โจทก์ผู้ยื่นฎีกาจะต้องปฏิบัติตาม เพราะมิใช่หนี้ตามคำพิพากษาในเนื้อหาแห่งคดี ที่โจทก์จะพึงมีสิทธิยื่นคำร้องขอทุเลาการบังคับตาม ป.วิ.พ. มาตรา 231 วรรคหนึ่ง
โจทก์ยื่นฎีกาโดยจงใจนำเพียงค่าขึ้นศาลตามที่จำเลยที่ 1 ได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถาชั้นอุทธรณ์มาวางศาลพร้อมกับฎีกา เป็นการฝ่าฝืนต่อหลักเกณฑ์ที่บทบัญญัติมาตรา 229 กำหนดไว้ จึงเป็นการยื่นฎีกาโดยมิชอบ ศาลชั้นต้นชอบที่จะมีคำสั่งไม่รับฎีกาได้ทันที เพราะมิใช่กรณีโจทก์เสียค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาไม่ครบถ้วนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 18 วรรคสอง ที่ศาลชั้นต้นซึ่งมีหน้าที่ตรวจคำคู่ความจะต้องมีคำสั่งให้โจทก์ชำระให้ครบถ้วนเสียก่อนที่จะสั่งรับหรือไม่รับคำคู่ความ แม้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับฎีกาของโจทก์ไว้แล้วก็ไม่ถือว่าเป็นฎีกาที่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
of 47