คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.วิ.พ. ม. 161

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 464 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3418/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไร ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ ศาลยืนตามคำพิพากษาเดิม
ภาษีธุรกิจเฉพาะ มีบทบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่นต่างจาก ป.รัษฎากร มาตรา 19 และมาตรา 20 โดยให้เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจประเมินตาม ป.รัษฎากร มาตรา 91/15 ซึ่งมิได้บัญญัติว่าต้องออกหมายเรียกมาไต่สวนภายในเวลาที่กำหนดก่อนจึงจะมีอำนาจประเมินได้ และการเสียภาษีเงินได้กับการเสียภาษีธุรกิจเฉพาะต้องปฏิบัติตามกฎหมายคนละส่วนกัน มีฐานภาษี อัตราภาษีกำหนดเวลาการยื่นแบบและรายละเอียดอื่น ๆ แตกต่างกัน เนื่องจากเป็นภาษีคนละประเภท และผู้เสียภาษีต้องปฏิบัติให้ถูกต้องตามที่กฎหมายบัญญัติ การเสียภาษีเงินได้แล้วจึงไม่ถือว่าเป็นการเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ
การที่ จ. โอนที่ดินโดยเปลี่ยนชื่อผู้ถือกรรมสิทธิ์จากตนเองเป็น บริษัท จ. ซึ่งเป็นบริษัทของตนเอง แม้เป็นบุคคลและนิติบุคคลคนละรายกันแต่ก็ถือว่าเป็นการขายตาม ป.รัษฎากร มาตรา 91/1 (4)
เมื่อไม่ปรากฏว่า จ. ซื้อที่ดินมาเพื่อประกอบกิจการใดและใช้ประโยชน์สมเนื้อที่หรือไม่ การแบ่งแยกเป็นแปลงย่อย จดทะเบียนภาระจำยอมเรื่องทางเดิน ทางระบายน้ำประปา ไฟฟ้า โทรศัพท์ และสาธารณูปโภค แล้วขายจึงเป็นการขายในลักษณะคล้ายกับการจัดสรรที่ดิน ข้อเท็จจริงฟังว่าเป็นการขายที่ดินมุ่งค้าหรือหากำไรต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ
แม้ จ. ป่วยเป็นโรคมะเร็งระยะสุดท้าย ไม่สามารถไปพบและชี้แจงข้อเท็จจริงได้ และนับแต่ขายถึงวันเชิญพบเป็นเวลา 9 ปี เอกสารที่เกี่ยวข้องสูญหายหมดแล้ว แต่การที่ผู้รับมอบอำนาจไม่ทราบข้อเท็จจริง ไม่สามารถให้ความร่วมมือในการตรวจสอบด้วยดี ไม่เป็นประโยชน์ และชำระภาษีอากรหลังจากจำเลยยึดและอายัดทรัพย์สินแล้ว จะถือว่าโจทก์ทั้งสี่มีเจตนาชำระภาษียังฟังไม่ถนัด ส่วนที่โจทก์ทั้งสี่อุทธรณ์ว่า ได้รับแจ้งจากเจ้าพนักงานว่า ขายที่ดินไม่ได้ทำภายใน 5 ปี นับแต่ได้มา เป็นเพียงคำเบิกความลอย ๆ ตามพฤติการณ์แห่งคดีไม่มีกรณีที่โจทก์ทั้งสี่จะแปลความหมายหรือเข้าใจกฎหมายผิดพลาด ส่วนที่เจ้าพนักงานเก็บค่าอากรแสตมป์จำนวน 400,000 บาท เมื่อ จ. อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะจึงได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียอากรต้องดำเนินการขอคืนอากรตามที่กฎหมายกำหนด
ตาม ป.วิ.พ. ภาค 1 ลักษณะ 6 หมวด 3 ส่วนที่ 2 บัญญัติถึงความรับผิดชั้นที่สุดในค่าฤชาธรรมเนียมไม่มีบทยกเว้นค่าฤชาธรรมเนียมให้หน่วยงานของรัฐในการฟ้องคดีและความรับผิดชั้นที่สุดในค่าฤชาธรรมเนียมย่อมตกอยู่แก่คู่ความฝ่ายที่แพ้คดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 161 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 17 ศาลภาษีพิพากษาให้โจทก์ทั้งสี่ซึ่งแพ้คดีใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลยโดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท มิใช่การใช้ดุลพินิจที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2181/2553 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเปิดเผยความลับทางการค้าต้องทำให้ข้อมูลนั้นหมดสภาพความเป็นความลับ จึงจะเข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.บ.ความลับทางการค้า
การกระทำของจำเลยจะเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ความลับทางการค้า พ.ศ.2545 มาตรา 33 ต่อเมื่อจำเลยเปิดเผยความลับทางการค้าให้เป็นที่ล่วงรู้โดยทั่วไปในประการที่ทำให้ความลับทางการค้าสิ้นสภาพการเป็นความลับทางการค้าตามมาตรา 3 แห่ง พ.ร.บ.ดังกล่าว แต่ตามฟ้องโจทก์เป็นเรื่องที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 นำข้อมูลที่โจทก์อ้างว่าเป็นความลับทางการค้าไปเปิดเผยแก่จำเลยที่ 6 ซึ่งเป็นบริษัทที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ร่วมกันจัดตั้งขึ้น แม้ตามกฎหมายจำเลยที่ 6 ถือเป็นบุคคลแยกต่างหากจากจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 แต่ตามฟ้องเป็นเรื่องที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 นำข้อมูลที่อ้างว่าเป็นความลับทางการค้าไปใช้เองโดยวิธีจัดตั้งจำเลยที่ 6 ขึ้นมาเพื่อประโยชน์ในทางธุรกิจการค้าของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ข้อมูลความลับทางการค้าดังกล่าวยังคงอยู่ในความรู้ของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 หรือจำเลยที่ 6 เท่านั้น มิใช่การเปิดเผยข้อมูลให้เป็นที่ล่วงรู้แก่บุคคลอื่นโดยทั่วไป ส่วนฟ้องโจทก์ที่ว่าจำเลยทั้งหกขายเครื่องจักรบรรจุสินค้าลงซองอัตโนมัติให้แก่ลูกค้าของโจทก์หลายราย ก็มิใช่การเปิดเผยข้อมูลความลับทางการค้าเกี่ยวกับกระบวนการผลิตเครื่องจักรดังกล่าวแก่ลูกค้าของโจทก์ การกระทำของจำเลยทั้งหกตามที่โจทก์บรรยายฟ้องจึงไม่เป็นการร่วมกันเปิดเผยความลับทางการค้าของโจทก์เป็นฟ้องที่ไม่ครบองค์ประกอบความผิด จึงไม่อาจลงโทษจำเลยทั้งหกตาม พ.ร.บ.ความลับทางการค้า พ.ศ.2545 มาตรา 33 ได้
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งหกชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ในทางแพ่งและมี คำขออื่นรวมมาด้วย โดยมีมูลมาจากความรับผิดในทางอาญา พ.ร.บ.ความลับทางการค้า พ.ศ.2545 มาตรา 33 เมื่อตามฟ้องไม่อาจลงโทษจำเลยทั้งหกตามบทกฎหมายดังกล่าวได้ โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลยทั้งหกหรือขอให้บังคับตามคำขอท้ายฟ้องในส่วนแพ่ง
คดีนี้มีคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญารวมอยู่ด้วย แต่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมิได้มีคำสั่งเรื่องความรับผิดของคู่ความในค่าฤชาธรรมเนียม ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศจึงแก้ไขให้ถูกต้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7618/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ค่าของงานเมื่อสัญญาเลิกกัน การหักกลบลค่าปรับ และค่าฤชาธรรมเนียม
เมื่อสัญญาเลิกกัน คู่สัญญาต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งกลับคืนสู่ฐานะเดิม การกำหนดค่าของงานที่จะต้องชดใช้แก่กัน จึงมิใช่เป็นค่าตอบแทนหรือค่าเสียหาย แต่เป็นหนทางหนึ่งที่จะสามารถทำให้คู่สัญญากลับคืนสู่ฐานะเดิมได้ ส่วนค่าของงานที่จะชดใช้แก่กันนั้น ก็ต้องพิจารณาจากมูลค่าของงานที่โจทก์ทำให้แก่จำเลยตามความเป็นจริง จะยึดเอาค่าจ้างที่จะต้องชำระตามงวดงานที่กำหนดไว้ในสัญญาที่เลิกกันแล้วมาเป็นหลักเกณฑ์อีกไม่ได้ เพราะค่าจ้างที่กำหนดให้ชำระตามสัญญานั้นอาจมีการกำหนดสิ่งที่มิใช่ค่าของงานลงไปด้วย
ที่โจทก์และจำเลยตกลงกันว่า จะใช้เงินจำนวนหนึ่ง เมื่อไม่ชำระหนี้หรือชำระหนี้ไม่ถูกต้องสมควร ถือเป็นเบี้ยปรับ หากสูงเกินส่วน ศาลมีอำนาจลดลงเป็นจำนวนพอสมควรได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 383
ความรับผิดในชั้นที่สุดสำหรับค่าฤชาธรรมเนียม ศาลมีอำนาจใช้ดุลพินิจให้ฝ่ายใดเป็นผู้เสียก็ได้ โดยคำนึงถึงเหตุสมควรและความสุจริตในการดำเนินคดี

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2147/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ค่าเสียหายจากการผิดสัญญาจำกัดเฉพาะผลโดยตรง การทวงหนี้และดำเนินคดีไม่ใช่ค่าเสียหายโดยตรง
ค่าเสียหายเพื่อความเสียหายเช่นที่ตามปกติย่อมเกิดขึ้นจากการไม่ชำระหนี้ซึ่งลูกหนี้ต้องรับผิดนั้นเป็นค่าเสียหายซึ่งเป็นผลธรรมดาหรือผลโดยตรงจากการไม่ชำระหนี้ แต่ค่าใช้จ่ายในการทวงถามหนี้และฟ้องคดี รวมถึงค่าใช้จ่ายในการฟ้องอุทธรณ์ฎีกาและบังคับคดีมิใช่ผลเกิดขึ้นโดยตรงจากการผิดสัญญาไม่ชำระหนี้ และไม่ใช่ความเสียหายอันเกิดแต่พฤติการณ์พิเศษอันลูกหนี้อาจคาดเห็นหรือควรได้คาดเห็น ทั้งไม่มีกฎหมายบังคับให้ฝ่ายผิดนัดผิดสัญญาต้องรับผิดในค่าใช้จ่ายดังกล่าวด้วย โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายดังกล่าว
ป.วิ.พ. มาตรา 161 บัญญัติให้ความรับผิดในค่าฤชาธรรมเนียมของคู่ความในคดีย่อมตกอยู่แก่คู่ความฝ่ายที่แพ้คดี แต่อย่างไรก็ดีให้เป็นดุลพินิจของศาลโดยคำนึงถึงเหตุสมควรและความสุจริตในการสู้ความหรือการดำเนินคดีของคู่ความทั้งปวง โจทก์เป็นผู้อุทธรณ์และเป็นฝ่ายแพ้คดีในชั้นอุทธรณ์การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาให้ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์เป็นพับจึงเป็นการใช้ดุลพินิจที่ชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 748/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การกำหนดค่าจ้างและค่าทนายความเหมาะสมตามพฤติการณ์คดี ศาลฎีกามีอำนาจปรับแก้ค่าฤชาธรรมเนียมได้
บทบัญญัติตามตาราง 6 ท้าย ป.วิ.พ. อัตราค่าทนายความกำหนดตามทุนทรัพย์แห่งคดีหาใช่กำหนดตามทุนทรัพย์ที่ชนะคดีไม่ ที่ศาลชั้นต้นกำหนดค่าทนายความจำนวน 30,000 บาท ซึ่งเป็นอัตราร้อยละ 0.43 โดยประมาณ จากทุนทรัพย์ 7,000,000 บาท และอยู่ในเกณฑ์ระหว่างอัตราขั้นต่ำ 600 บาท ถึงอัตราขั้นสูง 350,000 บาท ตามกฎหมาย จึงถือมิได้ว่าศาลชั้นต้นกำหนดค่าทนายความโดยมิชอบด้วยกฎหมาย แต่อย่างไรก็ตาม การที่ศาลจะกำหนดความรับผิดชั้นที่สุดของคู่ความในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมซึ่งโดยหลักต้องตกแก่คู่ความฝ่ายที่แพ้คดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 161 วรรคหนึ่ง นั้น บทบัญญัติวรรคดังกล่าวให้ศาลมีอำนาจใช้ดุลพินิจได้โดยคำนึงถึงเหตุสมควรและความสุจริตในการสู้ความหรือการดำเนินคดีของคู่ความทั้งปวง และเมื่อค่าทนายความเป็นค่าฤชาธรรมเนียมประเภทหนึ่งตามที่บัญญัติในวรรคสองของมาตราเดียวกัน แม้ค่าทนายความจำนวน 30,000 บาท ที่ศาลชั้นต้นกำหนดจะไม่ขัดต่อกฎหมาย แต่ศาลฎีกาพิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดีตลอดถึงเหตุสมควรและความสุจริตในการดำเนินคดีของคู่ความทั้งสองฝ่ายแล้ว เห็นว่า ศาลชั้นต้นกำหนดค่าทนายความให้แก่โจทก์สูงมากเกินควร ศาลฎีกาเห็นสมควรกำหนดเสียใหม่ให้เหมาะสมแก่รูปคดี

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6620/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ที่ดินสาธารณสมบัติ การครอบครองปรปักษ์ และค่าทนายความที่ศาลสั่งให้ชดใช้
ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินที่ทางราชการได้สงวนไว้ใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะ เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินตาม ป.พ.พ. มาตรา 1304 (3) จำเลยจึงไม่อาจอ้างการครอบครองใช้ยันกระทรวงการคลังโจทก์ได้
จำเลยมิได้ยกเรื่องอายุความขึ้นต่อสู้ไว้ในคำให้การ ศาลจะอ้างเอาอายุความมาเป็นเหตุยกฟ้องไม่ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/29 และอายุความในคดีแพ่งไม่เป็นกรณีเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนที่ศาลจะยกขึ้นวินิจฉัยได้เอง
ตาม พ.ร.บ.พนักงานอัยการ พ.ศ.2498 มาตรา 11 (2) พนักงานอัยการมีอำนาจและหน้าที่ดำเนินคดีแพ่งแทนรัฐบาลในศาลทั้งปวง ในกรณีเช่นนี้พนักงานอัยการจึงมีฐานะอย่างเดียวกับทนายความตาม พ.ร.บ.ทนายความ พ.ศ.2528 ที่มีอำนาจหน้าที่ดำเนินคดีในศาลให้แก่ผู้อื่น เมื่อกระทรวงการคลังโจทก์ได้แต่งตั้งพนักงานอัยการเป็นทนายความจึงชอบที่ศาลจะมีคำสั่งในคำพิพากษาให้จำเลยทั้งสองซึ่งเป็นฝ่ายแพ้คดีชดใช้ค่าทนายความแทนโจทก์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 161

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4266/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ตัวแทนสั่งซื้อสินค้า, ความรับผิดจากการปฏิบัติหน้าที่, ค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดี, ไม่มีเหตุให้ไล่เบี้ย
คดีก่อน อ. ได้ยื่นฟ้องโจทก์คดีนี้เป็นจำเลยที่ 1 และฟ้องจำเลยที่ 1 คดีนี้เป็นจำเลยที่ 3 ต่อศาลชั้นต้นเรียกเงินค่าวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ ที่สั่งซื้อมาใช้ในกองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดนฯ ในที่สุดศาลฎีกามีคำพิพากษาให้โจทก์ชำระเงินพร้อมดอกเบี้ย ให้ใช้ค่าฤชาธรรมเนียม และค่าทนายความ ให้แก่ อ. เมื่อโจทก์ชำระหนี้ตามคำพิพากษาศาลฎีกาแล้ว จึงมาฟ้องไล่เบี้ยเอากับจำเลยที่ 1 ที่ 2 เป็นคดีนี้ ให้ร่วมกันชำระหนี้ค่าดอกเบี้ย ค่าฤชาธรรมเนียม ค่าทนายความและค่าขึ้นศาล อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากการที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 ปฏิบัติหน้าที่โดยประมาทเลินเล่อ จนกระทั่งโจทก์ถูก อ. ฟ้องเป็นคดีก่อน ซึ่งในคดีก่อนโจทก์ให้การต่อสู้คดีในสาระสำคัญว่า การสั่งซื้อสินค้าจาก อ. เป็นการกระทำของจำเลยที่ 1 ไม่ได้กระทำในนามของโจทก์ ทั้งไม่ได้นำสินค้าต่างๆ มาใช้ในราชการของโจทก์ ศาลฎีกาวินิจฉัยโดยฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์มอบอำนาจให้จำเลยที่ 1 เป็นผู้สั่งซื้อสินค้าแทนโจทก์โดยใช้งบประมาณที่โจทก์จัดสรรให้มาเป็นรายปี การสั่งซื้อสินค้าได้นำไปใช้ในราชการของโจทก์ ไม่ปรากฏว่าได้นำสินค้าไปใช้เป็นการส่วนตัวของจำเลยที่ 1 ดังนี้แม้โจทก์กับจำเลยที่ 1 ต่างเป็นจำเลยด้วยกันในคดีก่อนก็ตามก็ต้องถือว่าโจทก์และจำเลยที่ 1 เป็นคู่ความในกระบวนพิจารณาของศาลในคดีก่อน คำพิพากษาศาลฎีกาในคดีก่อนจึงมีผลผูกพันโจทก์และจำเลยที่ 1 ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 วรรคหนึ่ง ข้อเท็จจริงจึงต้องฟังว่า จำเลยที่ 1 ปฏิบัติหน้าที่สั่งซื้อสินค้าจาก อ. ในฐานะเป็นตัวแทนของโจทก์ซึ่งเป็นตัวการ เมื่อไม่ปรากฏว่าสินค้าต่างๆ ที่สั่งซื้อมานั้นได้นำไปใช้ผิดวัตถุประสงค์หรือนำไปใช้เป็นประโยชน์ส่วนตัวของจำเลยทั้งสอง โจทก์จึงไม่มีความเสียหายอย่างใดเกิดขึ้นจากการที่จำเลยทั้งสองปฏิบัติหน้าที่เป็นตัวแทนตาม ป.พ.พ. มาตรา 812
ส่วนค่าดอกเบี้ย ค่าฤชาธรรมเนียม และค่าทนายความที่โจทก์นำมาฟ้องเป็นคดีนี้นั้น มิใช่ความเสียหายที่เกิดขึ้นอันเป็นผลเนื่องจากการกระทำของจำเลยทั้งสองตาม ป.พ.พ. มาตรา 76 วรรคหนึ่ง แต่เป็นผลที่เกิดจากการที่โจทก์สมัครใจต่อสู้คดีในคดีก่อนมาตั้งแต่ต้น โดยให้การปฏิเสธความรับผิดว่าจำเลยที่ 1 ไม่ได้กระทำการในนามของโจทก์และไม่ได้นำสินค้ามาใช้ในราชการของโจทก์ จนกระทั่งศาลฎีกามีคำพิพากษาให้โจทก์แต่ผู้เดียวที่ต้องรับผิดเนื่องจากจำเลยที่ 1 กระทำการในฐานะเป็นตัวแทนของโจทก์ และสินค้าที่โจทก์ชำระให้แก่ อ. ไปในคดีก่อนนั้น ฟังได้ว่าเป็นสินค้าที่จำเลยทั้งสองสั่งซื้อมาและนำไปใช้ในราชการของโจทก์ ไม่ปรากฏว่าได้นำไปใช้ในการส่วนตัวของจำเลยทั้งสองแต่อย่างใด นอกจากนี้หนี้ค่าดอกเบี้ย ถือได้ว่าเป็นหนี้อุปกรณ์ เมื่อหนี้ประธานจำเลยทั้งสองไม่จำต้องรับผิดแล้ว หนี้อุปกรณ์จำเลยทั้งสองก็ไม่จำต้องรับผิดด้วยส่วนค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความตามที่โจทก์ฟ้องไล่เบี้ยเอากับจำเลยทั้งสองนั้น ไม่ใช่หนี้อุปกรณ์ของหนี้ในคดีก่อนที่โจทก์ถูกฟ้อง เพราะมิได้เกิดขึ้นและสิ้นไปตามหนี้ดังกล่าว แต่เป็นหนี้ที่เกิดจากการดำเนินกระบวนพิจารณา ซึ่งความรับผิดชั้นที่สุดสำหรับค่าฤชาธรรมเนียมของคู่ความย่อมเป็นไปตาม ป.วิ.พ. มาตรา 161 เมื่อมิได้เกิดขึ้นจากความผิดของจำเลยทั้งสอง โจทก์จึงไม่มีสิทธิไล่เบี้ยให้จำเลยทั้งสองชำระค่าฤชาธรรมเนียมรวมถึงค่าทนายความที่โจทก์ต้องรับผิดในคดีก่อนจากจำเลยทั้งสองได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3070/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิผู้รับจำนองในการได้รับชำระหนี้ก่อนเจ้าหนี้อื่นจากการบังคับคดีทรัพย์จำนอง แม้โจทก์คัดค้าน
ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้รับจำนองยื่นคำร้องขอตาม ป.วิ.พ. มาตรา 289 ขอให้เอาเงินที่ขายทอดตลาดทรัพย์จำนองได้มาชำระหนี้ผู้ร้องก่อนเจ้าหนี้อื่น ถือเสมือนหนึ่งว่าผู้ร้องได้ฟ้องบังคับจำนองจำเลยนั่นเอง แม้โจทก์คัดค้านก็ไม่ถือว่าผู้ร้องฟ้องบังคับจำนองต่อโจทก์ จำเลยมีหน้าที่จะต้องใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้แทนผู้ร้อง หรือนัยหนึ่งให้ไปเรียกเอาจากกองทรัพย์สินของจำเลยที่ถูกขายทอดตลาดได้ ไม่ใช่โจทก์ต้องรับผิดเพราะโจทก์เป็นฝ่ายคัดค้านเสมอไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 605/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ค่าขึ้นศาลคดีภาษีอากร การแยกข้อหาฟ้อง และอำนาจฟ้องที่ยังไม่ถึงที่สุด
โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการประเมินตามใบขนสินค้าขาเข้ารวม 7 ฉบับ คำฟ้องของโจทก์จึงเป็นการเสนอข้อหาต่อศาลรวม 7 ข้อหา ที่ไม่เกี่ยวข้องกันและสามารถแยกออกจากกันได้ โจทก์จึงต้องเสีย ค่าขึ้นศาลเป็นรายข้อหาทั้ง 7 ข้อหา
เมื่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ยังมิได้มีการวินิจฉัยชี้ขาดอุทธรณ์ของโจทก์ โจทก์จึงยังไม่มีอำนาจฟ้องตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 8
การกำหนดให้คู่ความชดใช้ค่าฤชาธรรมเนียมเป็นดุลพินิจของศาล โดยคำนึงถึงเหตุสมควรและความสุจริตในการสู้ความหรือการดำเนินคดีของคู่ความทั้งปวง ศาลภาษีอากรกลางจึงมีอำนาจพิพากษาให้จำเลยผู้ชนะคดีเสียค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ผู้แพ้คดีได้
คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลที่ต้องทำเป็นหนังสือนั้น ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 141 (4) ให้แสดงเหตุแห่งคำวินิจฉัยทั้งปวง ฉะนั้น เมื่อศาลต้องวินิจฉัยข้อหาในคำฟ้องทุกข้ออันเป็นเรื่องในประเด็นแห่งคดีแต่ค่าฤชาธรรมเนียมที่คู่ความต้องรับผิดตามมาตรา 161 มิใช่เรื่องในประเด็นแห่งคดี เพียงแต่มาตรา 141 (5) ให้มีคำวินิจฉัยตลอดทั้งค่าฤชาธรรมเนียมด้วยเท่านั้น ในส่วนค่าฤชาธรรมเนียมจึงไม่ต้องแสดงเหตุผลแห่งคำวินิจฉัย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4788/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาเช่าซื้อ: การสละสิทธิจากเจตนาของคู่สัญญา และผลของการบอกเลิกสัญญาที่ไม่เป็นธรรม
ตามพฤติการณ์ที่โจทก์และจำเลยปฏิบัติต่อกันเกี่ยวกับสัญญาเช่าซื้อ จำเลยผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อเป็นเวลา 2 งวดติดต่อำกันหลายครั้ง ซึ่งตามสัญญาเช่าซื้อระบุว่า ถ้าผู้เช่าซื้อผิดสัญญาไม่ชำระเงินติดต่อกัน 2 งวด (สองเดือน) คู่สัญญาถือว่าผู้เช่าซื้อขาดสิทธิการเช่าซื้อที่ดินแปลงตามสัญญานี้ ผู้เช่าซื้อจะเรียกร้องเงินมัดจำ เงินที่ส่งค่างวดหรือค่าเสียหายใดๆ จากผู้ขายมิได้และผู้เช่าซื้อจะต้องรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกจากที่ดินภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันที่ขาดสิทธิ แสดงว่าจำเลยหมดสิทธิที่จะเรียกร้องให้โจทก์ปฏิบัติตามสัญญาเช่าซื้อต่อไปทันที แต่ในทางปฏิบัติระหว่างโจทก์และจำเลยปรากฏว่าจำเลยยังคงชำระค่าเช่าซื้อต่อมา และโจทก์ก็ยินยอมรับชำระค่าเช่าซื้อ แม้ตามสัญญาเช่าซื้อจะถือว่าจำเลยขาดสิทธิแล้วก็ตาม แสดงว่าโจทก์มิได้ยึดถือเอาสัญญาเช่าซื้อข้อนี้เป็นสาระสำคัญโดยโจทก์ยังถือว่าสัญญาเช่าซื้อยังมีผลต่อไป จึงรับเงินค่าเช่าซื้อไว้ ถือว่าโจทก์ยอมสละสิทธิที่มีอยู่ตามสัญญา สัญญาเช่าซื้อระหว่างโจทก์และจำเลยยังไม่เลิกกัน ดังนั้น หากจำเลยผิดนัดผิดสัญญาเกี่ยวกับการชำระค่าเช่าซื้ออีก และโจทก์มีความประสงค์จะบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อ โจทก์ต้องบอกกล่าวไปยังจำเลยโดยให้ระยะเวลาแก่จำเลยพอสมควรตาม ป.พ.พ. มาตรา 387 เมื่อโจทก์บอกเลิกสัญญาเช่าซื้อกับจำเลยทันทีโดยไม่ให้ระยะเวลาแก่จำเลยชำระหนี้ก่อนตามสมควรจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ถือว่าสัญญาเช่าซื้อยังไม่เลิกกัน
การสั่งเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมตาม ป.วิ.พ. มาตรา 161 นั้น ศาลต้องสั่งให้ชัดแจ้งว่าเป็นค่าฤชาธรรมเนียมสำหรับฟ้องโจทก์หรือฟ้องแย้งของจำเลย แต่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 6 สั่งให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลยโดยไม่กำหนดให้ครบถ้วนถูกต้อง ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขเสียใหม่
of 47