คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
กึกก้อง สมเกียรติเจริญ

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 88 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3698/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาจ้างเหมาเลิกสัญญา สิทธิเรียกร้องค่าจ้างและวัสดุอุปกรณ์ขึ้นอยู่กับการสละประโยชน์จากข้อตกลงเลิกสัญญา
ตามสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างอาคารกำหนดสิทธิของผู้ว่าจ้างภายหลังบอกเลิกสัญญาไว้ในข้อ 13 มีสาระสำคัญว่า จำเลยมีสิทธิริบค่าจ้างที่โจทก์ดำเนินการไปแล้วแต่จำเลยยังไม่ชำระ รวมทั้งหลักประกันใดๆ ที่โจทก์มอบไว้แก่จำเลยตามสัญญา เพื่อนำมาหักชำระเป็นค่าปรับ ค่าเสียหายที่โจทก์ต้องชำระแก่จำเลยอันเนื่องมาจากการผิดสัญญาของโจทก์ รวมทั้งค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นในการทำงานต่อไป หรือค่าเสียหายในการแก้ไขงานในระยะเวลารับประกันผลงาน ส่วนเครื่องมือและอุปกรณ์การก่อสร้างที่โจทก์นำมาในสถานที่ก่อสร้าง โจทก์ยินยอมให้จำเลยยึดทรัพย์สินเหล่านั้นมาขายเพื่อหักใช้หนี้ใด ๆ ที่โจทก์มีต่อจำเลยได้ทันทีซึ่งเป็นข้อตกลงที่แตกต่างไปจากผลของการเลิกสัญญาตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 ข้อตกลงที่แตกต่างดังกล่าวมิใช่กฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนตาม ป.พ.พ. มาตรา 151 จึงมีผลใช้บังคับได้ระหว่างโจทก์ จำเลย ผลก็คือโจทก์จะบังคับให้จำเลยยอมรับเอางานที่เสร็จบางส่วนงวดที่ 19 และ 20 อันเป็นการงานที่โจทก์ทำให้แล้วใช้เงินค่าจ้างให้ตามส่วนของงานนั้น ดังบัญญัติไว้ในมาตรา 391 วรรคสาม ไม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3206/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดพยายามจำหน่ายยาเสพติด การกระทำร่วมกัน และการปรับบทความผิดฐานสมคบ
จำเลยทั้งสองกับ ศ. ตกลงกันโดย ศ. จัดหาเมทแอมเฟตามีนและให้สายลับนำเมทแอมเฟตามีนของกลางไปส่งมอบให้แก่จำเลยทั้งสองซึ่งรอรับอยู่ที่จุดนัดหมายเพื่อนำเมทแอมเฟตามีนไปจำหน่ายต่อโดยจำเลยทั้งสองโอนเงินค่าลำเลียงขนส่งให้แก่สายลับ แต่เจ้าพนักงานตำรวจเข้าจับกุมจำเลยทั้งสองได้เสียก่อนที่สายลับจะส่งมอบเมทแอมเฟตามีนให้แก่จำเลยทั้งสอง การกระทำของจำเลยทั้งสองดังกล่าวเป็นการกระทำที่ใกล้ชิดกับความผิดสำเร็จถือได้ว่าจำเลยทั้งสองลงมือกระทำความผิดไปโดยตลอดแล้วแต่การกระทำนั้นไม่บรรลุผลเพราะถูกจับกุมเสียก่อน การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงเป็นความผิดฐานร่วมกันพยายามมีเมทแอมเฟตามีนของกลางไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและฐานสมคบกันกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดและได้มีการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดเพราะเหตุที่ได้มีการสมคบกัน เป็นการกระทำอันเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทแต่ละบทมีโทษเท่ากันให้ลงโทษฐานร่วมกันพยายามมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายซึ่งต้องระวางโทษเช่นเดียวกับผู้กระทำความผิดสำเร็จตาม พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 7

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2092/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการปราบปรามยาเสพติดต้องเชื่อมโยงกับคดีเดิม จึงจะได้รับประโยชน์ตามมาตรา 100/2 พ.ร.บ.ยาเสพติด
พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 100/2 บัญญัติว่า "ถ้าศาลเห็นว่าผู้กระทำความผิดผู้ใดได้ให้ข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษต่อพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ หรือพนักงานสอบสวน ศาลจะลงโทษผู้นั้นน้อยกว่าอัตราโทษขั้นต่ำที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นก็ได้" แสดงว่าผู้กระทำความผิดได้ให้ข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการขยายผลในการปราบปรามจับกุมผู้กระทำความผิดที่เกี่ยวเนื่องกับคดีเดิมของผู้กระทำความผิด ผู้กระทำความผิดจึงจะได้รับประโยชน์จากบทบัญญัติดังกล่าว แต่ข้อมูลที่จำเลยแจ้งต่อร้อยตำรวจเอก อ. เป็นข้อมูลของ ม. ที่เกิดขึ้นหลังจากที่จำเลยไปรู้จักกับ ม. ที่ถูกควบคุมตัวอยู่ด้วยกันในเรือนจำจังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนคดีนี้จำเลยให้การว่าจำเลยซื้อเมทแอมเฟตามีนมาจาก ต. โดยทางไต่สวนไม่ปรากฏว่า ต. เป็นเครือข่ายหรือเกี่ยวข้องร่วมกับ ม. ในการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษ การให้ข้อมูลของจำเลยต่อร้อยตำรวจเอก อ. ดังกล่าวข้างต้นเป็นการให้ข้อมูลถึงผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษในฐานะพลเมืองดีเท่านั้น ไม่ใช่เป็นข้อมูลในการขยายผลที่เกี่ยวโยงไปถึงเครือข่ายของผู้กระทำความผิดที่จำหน่ายเมทแอมเฟตามีนให้แก่จำเลยในมูลเหตุที่จำเลยถูกจับกุมคดีนี้ จำเลยจึงไม่ได้รับประโยชน์จาก พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 100/2

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 975/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คดีปลอมและใช้เอกสารปลอม: ศาลฎีกายืนตามศาลอุทธรณ์พิพากษายืนโทษจำเลยที่ 1
คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันปลอมใบกำกับสินค้า/ใบรับสินค้า ใบเบิกเงิน และใบกำกับสินค้าและใช้เอกสารปลอมดังกล่าว ส่วนคดีอาญาหมายเลขดำที่ 845/2552 ของศาลชั้นต้น เป็นเรื่องที่โจทก์ร่วมฟ้องจำเลยทั้งสองเกี่ยวกับการออกใบเสร็จรับเงินให้แก่สมาชิกซึ่งมาชำระค่าสินค้า แล้วไม่นำเงินที่รับชำระพร้อมใบเสร็จที่ออกส่งให้แก่ฝ่ายการเงินและไม่ได้นำไปตัดยอดหนี้ให้แก่สมาชิก ในคดีดังกล่าวจึงเป็นเรื่องโจทก์ร่วมฟ้องจำเลยทั้งสองเกี่ยวกับการปลอมใบเสร็จรับเงิน ซึ่งเป็นเอกสารที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับคดีนี้ คำฟ้องของโจทก์ในคดีนี้จึงมิใช่เรื่องเดียวกันกับคดีดังกล่าว จึงไม่เป็นฟ้องซ้อนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 173 (1) ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องคดีนี้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 953/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องรื้อที่ฝังศพในสุสานเป็นของผู้ครอบครองสิทธิในที่ดิน และการบอกเลิกตัวแทน
ตาม พ.ร.บ.ควบคุมสุสานและฌาปนสถาน พ.ศ.2481 มาตรา 4 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะที่มีการทำบันทึกข้อตกลงเมื่อปี 2495 ตาม พ.ร.บ.สุสานและฌาปนสถาน พ.ศ.2528 มาตรา 4 ซึ่งใช้บังคับตลอดมาจนถึงปัจจุบัน ได้ให้ความหมายของคำว่า สุสาน ตรงกัน คือ สุสาน มี 2 ประเภท ได้แก่ สุสานและฌาปนสถานสาธารณะ หมายความว่า ที่ซึ่งจัดขึ้นสำหรับเผา ฝัง หรือเก็บศพสำหรับประชาชนทั่วไป กับ สุสานและฌาปนสถานเอกชน หมายความว่า ที่ซึ่งจัดขึ้นสำหรับเผา ฝัง หรือเก็บศพของตระกูลหรือครอบครัวหรือมิตรของตระกูลหรือครอบครัว เมื่อพิจารณาจากข้อเท็จจริงที่รับฟังได้เป็นยุติดังกล่าวแล้วว่า ที่ดินบริเวณที่เป็นสุสานดังกล่าว เป็นที่ดินที่เป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ และตามบันทึกที่พระโบราณคณิสสร เจ้าอาวาสของโจทก์ ทำเมื่อปี 2495 ร่วมกันกับกรรมการวัดทั้งฝ่ายไทยและฝ่ายจีน ก็มีข้อความว่า โจทก์ โดยพระโบราณคณิสสร เจ้าอาวาส พร้อมด้วยคณะกรรมการวัดทั้งฝ่ายไทยและฝ่ายจีน ได้ประชุมหารือกันว่า สุสานของโจทก์อันเป็นที่บำเพ็ญการกุศลตามประเพณี โกดังเก็บศพตลอดจน ฌาปนสถานอันเป็นที่เผาศพยังไม่มิดชิดและมั่นคงถาวร และขาดความเป็นระเบียบเรียบร้อยไม่สวยงามสมควรจัดการก่อสร้างเสียใหม่ให้ถาวรและเรียบร้อยเพื่อจะได้เป็นการสะดวกแก่การบำเพ็ญกุศลของประชาชนโดยทั่วไป ซึ่งนับว่าเป็นการบำเพ็ญกุศลสาธารณประโยชน์ประการหนึ่ง หลังจากนั้นต่อเนื่องมาจนถึงจำเลยที่ 1 จัดตั้งขึ้นเป็นมูลนิธิ เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2501 เพื่อบริหารดูแลสุสาน ในตราสารก็ระบุว่า จำเลยที่ 1 มีวัตถุประสงค์ในการดูแลสุสานสาธารณะ และที่ประตูทางเข้าสุสานมีป้ายบอกชัดเจนว่าเป็นสุสานสาธารณะ ข้อเท็จจริงดังกล่าวรับฟังได้ชัดเจนว่าสุสานตามฟ้อง เป็นสุสานประเภทสุสานสาธารณะตามความหมายของ พ.ร.บ.ควบคุมสุสานและฌาปนสถาน พ.ศ.2481 มาตรา 4 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะที่มีการทำบันทึกข้อตกลงเมื่อปี 2495 และตาม พ.ร.บ.สุสานและฌาปนสถาน พ.ศ.2528 มาตรา 4 ซึ่งใช้บังคับตลอดมาจนถึงปัจจุบันนี้ ส่วนข้อเท็จจริงที่ว่าโจทก์จะได้ดำเนินการขออนุญาตจัดตั้งสุสานให้มีใบอนุญาตให้ถูกต้องตามกฎหมายดังกล่าวหรือไม่ เป็นเรื่องที่ต้องว่ากล่าวกันเป็นอีกเรื่องหนึ่ง หาใช่จะทำให้สุสานที่โดยสภาพและเจตนารมณ์เป็นสุสานสาธารณะกลายเป็นไม่ใช่สุสานสาธารณะหรือสุสานเอกชน หรือไม่ใช่สุสานไปเลย แต่อย่างใดไม่ แต่การเป็นสุสานสาธารณะ ซึ่งมีความหมายชัดเจนแล้วตามกฎหมายดังกล่าว คือเป็นสถานที่ที่ใช้เป็นที่ฝัง เผา หรือเก็บศพสำหรับประชาชนทั่วไป ไม่ได้หมายความไปถึงว่าที่ดินที่เป็นที่ตั้งของสุสานนั้นจะตกเป็นที่ดินสาธารณะไปด้วย ที่ดินใดจะเป็นที่ดินสาธารณะหรือไม่ย่อมขึ้นอยู่กับเหตุตามกฎหมายแห่งการตกเป็นที่สาธารณะของที่ดินแปลงนั้นๆ เป็นกรณีๆ ไป สำหรับที่ดินแปลงที่เป็นที่ตั้งสุสานสาธารณะในคดีนี้นั้น ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงใดที่บ่งชี้ว่าโจทก์ได้เคยแสดงเจตนายกที่ดินดังกล่าวให้เป็นที่ดินสาธารณประโยชน์ ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า หลังจากทำบันทึกในปี 2495 ซึ่งระบุว่าโจทก์อนุญาตให้ใช้ที่ดินโจทก์ทำสุสานสาธารณะแล้ว ต่อมาปี 2501 โจทก์ขอรังวัดออกโฉนดที่ดินในฐานะผู้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินในส่วนที่มีสุสานดังกล่าวรวมอยู่ด้วย และทำให้โจทก์มีชื่อเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในโฉนดที่ดินแปลงนั้น ต่อมาโจทก์ดำเนินการให้มีการจัดตั้งจำเลยที่ 1 โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญคือมาบริหารจัดการดูแลสุสานในนามโจทก์ และจำเลยที่ 1 เก็บเงินจากผู้ที่ประสงค์จะนำศพมาฝังในสุสานเป็นค่าบำรุงและระบุไว้ในตราสารการจดทะเบียนจัดตั้งจำเลยที่ 1 ว่า หากยกเลิกจำเลยที่ 1 ไป ให้ทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ โจทก์ในฐานะเป็นเจ้าของผู้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินแปลงดังกล่าว โดยให้ใช้เป็นสุสานสาธารณะยังคงหวงสิทธิในที่ดินดังกล่าวอยู่ และไม่ได้แสดงเจตนายกที่ดินที่เป็นที่ตั้งสุสานดังกล่าวให้เป็นที่ดินสาธารณประโยชน์แต่อย่างใด โจทก์จึงเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินดังกล่าวอยู่ต่อไป ส่วนโจทก์จะถูกรอนสิทธิหรือถูกจำกัดสิทธิในการใช้ที่ดินดังกล่าวในฐานะเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์อย่างไรหรือไม่ ก็จะต้องพิจารณาข้อเท็จจริงเป็นเรื่องๆ หรือเป็นกรณีไป เมื่อฟังข้อเท็จจริงว่าสุสานดังกล่าวเป็นสุสานของโจทก์ และเป็นสุสานประเภทสุสานสาธารณะ กรณีของที่ฝังศพ (ฮ้วงซุ้ย) แต่ละราย ที่ทายาทหรือบุคคลใดที่นำศพมาฝังไว้ในสุสานดังกล่าวโดยความยินยอมของโจทก์ จึงเป็นสัญญาหรือนิติสัมพันธ์ที่มีต่อกันระหว่างโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของสุสาน ไม่ว่าจะมีจำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนจัดการให้หรือไม่ก็ตาม กับทายาทหรือบุคคลที่มาติดต่อเพื่อขอนำศพมาฝังไว้ในสุสาน ว่ามีอยู่ต่อกันอย่างไร ตามหลักแห่งสัญญาตามกฎหมายทั่วไป หากโจทก์ประสงค์จะให้มีการรื้อที่ฝังศพรายใดรายหนึ่งหรือหลายรายหรือทั้งหมดออกไปหรือแม้แต่ยกเลิกการจัดตั้งสุสาน โจทก์ก็จะต้องดำเนินการให้ถูกต้องตามสัญญาตามนิติสัมพันธ์ที่มีอยู่ต่อกัน และถูกต้องตามกฎหมายว่าด้วยสุสานหรือ พ.ร.บ.สุสานและฌาปนสถาน พ.ศ.2528 ด้วย เช่น ต้องแจ้งบอกกล่าวไปถึงทายาทหรือบุคคลที่ได้รับอนุญาตให้นำศพมาฝังไว้ในสุสานดังกล่าวว่ามีข้อโต้แย้งคัดค้านอย่างไรหรือไม่ และต้องแจ้งเจ้าหน้าที่รัฐที่มีหน้าที่มีอำนาจตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้พิจารณามีคำสั่งเสียก่อน เป็นต้น ไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้ดำเนินตามสัญญาและตามกฎหมายว่าด้วยสุสานดังกล่าว และโจทก์ไม่ได้ฟ้องทายาทหรือบุคคลที่ได้รับอนุญาตให้นำศพมาฝังไว้ในสุสานซึ่งถือได้ว่าเป็นคู่สัญญาโดยตรงกับโจทก์ให้รื้อย้ายที่ฝังศพออกไป แต่โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองซึ่งโจทก์ยืนยันว่าเป็นเพียงตัวแทนของโจทก์และมีคำขอ ให้จำเลยทั้งสองรื้อย้ายที่ฝังศพทั้งหมดในสุสานดังกล่าวออกไปเป็นคดีนี้ จึงเป็นคำฟ้องและคำขอที่ไม่อาจบังคับจำเลยทั้งสองให้กระทำการเช่นนั้นได้ คำฟ้องของโจทก์ในส่วนที่เกี่ยวกับคำขอให้รื้อย้ายที่ฝังศพทั้งหมดในสุสานดังกล่าวออกไป จึงเป็นคำฟ้องที่ไม่ชอบ ถึงแม้ต่อมา ผู้ร้องสอดในคดีนี้ จะร้องสอดเข้ามาเป็นคู่ความด้วยก็ตาม ก็ไม่อาจจะทำให้คำฟ้องส่วนที่ไม่ชอบของโจทก์ดังกล่าวกลับเป็นคำฟ้องที่ชอบขึ้นมาได้
ทั้ง ชื่อ วัตถุประสงค์ และสถานที่ตั้งทำการ ที่ปรากฏในตราสารการขอจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลของจำเลยที่ 1 และการดำเนินการของจำเลยที่ 1 ที่ดำเนินการดูแลสุสานของโจทก์ตลอดมา เป็นที่ชัดเจนว่า จำเลยที่ 1 จัดตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์ที่จะดำเนินการดูแลสุสานในฐานะเป็นตัวแทนของโจทก์ ข้อเท็จจริงนี้ จำเลยทั้งสองก็ให้การเป็นไปในทำนองรับ จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 จึงเป็นตัวแทนของโจทก์ในการดูแลสุสานของโจทก์ เมื่อจำเลยที่ 1 กระทำการไปในทางที่ขัดต่อความประสงค์ของโจทก์ซึ่งเป็นตัวการ เช่น การที่โจทก์ขอให้จำเลยที่ 1 แก้ไขเปลี่ยนแปลงตราสารของมูลนิธิเป็นว่า ให้สถานที่ตั้งมูลนิธิอยู่ที่ตั้งของวัดโจทก์ตามที่เคยเป็นมาแต่เดิม และให้คณะกรรมการบริหารมูลนิธิจำเลยที่ 1 ต้องประกอบด้วย 3 ฝ่าย คือฝ่ายโจทก์ ฝ่ายพ่อค้า และฝ่ายข้าราชการประจำหรือข้าราชการบำนาญ และให้กรณีเลิกมูลนิธิทรัพย์สินของมูลนิธิต้องตกเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ตามที่เคยเป็นในตราสารมาแต่เดิม แต่จำเลยทั้งสองเพิกเฉย จึงเป็นเหตุผลเพียงพอที่โจทก์ในฐานะตัวการจะปฏิเสธไม่ให้จำเลยที่ 1 กระทำการใดในฐานะเป็นตัวแทนโจทก์เกี่ยวกับการดูแลสุสานของโจทก์อีก เมื่อโจทก์บอกกล่าวแจ้งยกเลิกการอนุญาตให้จำเลยทั้งสองเป็นตัวแทนของโจทก์ทราบโดยชอบแล้ว แต่จำเลยทั้งสองเพิกเฉย โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยทั้งสองเป็นคดีนี้ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 842/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การรับรองกระบวนพิจารณาอนุญาโตตุลาการ การงดสืบพยาน และอำนาจของคณะอนุญาโตตุลาการในการดำเนินกระบวนพิจารณา
ผู้ร้องทั้งสามเข้าร่วมประชุมและทราบถึงการดำเนินกระบวนพิจารณาต่าง ๆ ของคณะอนุญาโตตุลาการมาโดยตลอด การประชุมในวันที่ 27 มีนาคม 2558 ผู้ร้องทั้งสามแถลงรับข้อเท็จจริงและแถลงไม่คัดค้านที่คณะอนุญาโตตุลาการมีมติเป็นเอกฉันท์ว่า ข้อพิพาทในคดีนี้มีข้อเท็จจริงต่าง ๆ เพียงพอที่จะวินิจฉัยได้ให้งดสืบพยาน นอกจากนี้ คู่พิพาทมิได้ตกลงกันกำหนดอำนาจคณะอนุญาโตตุลาการไว้เป็นอย่างอื่น คณะอนุญาโตตุลาการจึงมีอำนาจดำเนินกระบวนพิจารณาใด ๆ ได้ตามที่เห็นสมควรตามที่ พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 25 และ 30 ให้อำนาจไว้ การวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทของคณะอนุญาโตตุลาการเป็นไปตามพยานหลักฐานและข้อเท็จจริงที่คู่พิพาทแถลงรับ ไม่ปรากฏว่าการยอมรับหรือการบังคับตามคำชี้ขาดนั้นจะเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนแต่อย่างใด ส่วนการที่คณะอนุญาโตตุลาการมีคำสั่งชี้ขาดเกี่ยวกับข้อพิพาทเสร็จเด็ดขาดโดยให้ยุติกระบวนพิจารณาตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 38 วรรคสอง (3) ก็เป็นอำนาจของคณะอนุญาโตตุลาการที่เห็นว่าสามารถดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปจนมีคำชี้ขาดเกี่ยวกับข้อพิพาทได้ ดังนั้น การดำเนินกระบวนพิจารณาต่าง ๆ ของคณะอนุญาโตตุลาการจนกระทั่งมีคำชี้ขาดเกี่ยวกับข้อพิพาทจึงเป็นไปตามขอบเขตของกฎหมาย คำร้องของผู้ร้องทั้งสามไม่ต้องด้วย พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 40 วรรคสาม (1) (ค) และ (2) (ก) (ข) ที่ศาลจะเพิกถอนคำชี้ขาดได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 801/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ องค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ คดีค้ามนุษย์: การกระทำผิดต่อเนื่องต่างประเทศเข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.บ.องค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ
จำเลยที่ 1 กับพวก กระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 282 พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2539 มาตรา 9 พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551 มาตรา 6, 52 ประกอบ ป.อ. มาตรา 83 เมื่อผู้เสียหายทั้งสิบเจ็ดเป็นบุคคลสัญชาติลาวถูกชักชวนให้มาทำการค้าประเวณีในประเทศไทยโดยจำเลยที่ 1 กับพวกรวมกันตั้งแต่สามคนขึ้นไปร่วมกันโดยแบ่งหน้าที่กันทำ โดยเฉพาะชักชวนผู้เสียหายบางคนไปทำการค้าประเวณี พาผู้เสียหายดังกล่าวจากสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวมายังประเทศไทย แล้วพาไปที่ร้านคาราโอเกะเพื่อทำการค้าประเวณี โดยมี ห. พวกของจำเลยที่ 1 ได้รับส่วนแบ่งจากการค้าประเวณี จึงเป็นองค์กรอาชญากรรมที่กระทำความผิดในเขตแดนรัฐมากกว่าหนึ่งรัฐ และเป็นความผิดที่กระทำในประเทศไทยตั้งแต่การตระเตรียม การวางแผน การสั่งการ การสนับสนุน ได้กระทำในรัฐอีกรัฐหนึ่ง จึงเข้าลักษณะเป็นองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ พ.ศ.2556 มาตรา 3

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 797/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การลงโทษเกินคำขอในฟ้องอาญา และผลของกฎหมายแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา
ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "ห้ามมิให้พิพากษา หรือสั่งเกินคำขอหรือมิได้กล่าวในฟ้อง" แม้โจทก์จะนำสืบข้อเท็จจริงครบองค์ประกอบความผิดตามมาตรา 336 ทวิ และจำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การรับสารภาพโดยรับว่าได้ร่วมกับจำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 กระทำความผิดตามบันทึกการจับ เอกสารหมาย จ.6 ก็ตาม แต่เมื่อคำขอท้ายฟ้องของโจทก์ไม่ระบุมาตรา 336 ทวิ ซึ่งเป็นบทบัญญัติให้ผู้กระทำผิดต้องรับโทษสูงขึ้น อันเป็นผลร้ายแก่จำเลยที่ 3 และที่ 4 ก็ต้องถือว่าโจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษจำเลยที่ 3 และที่ 4 ตามมาตรา 336 ทวิ ศาลย่อมไม่มีอำนาจลงโทษจำเลยที่ 3 และที่ 4 ตาม ป.อ. มาตรา 336 ทวิ ได้ เพราะเป็นการเกินคำขอที่โจทก์มิได้กล่าวในฟ้องทั้งกรณีมิใช่โจทก์อ้างฐานความผิดหรือบทมาตราผิดตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสี่ และวรรคห้า ปัญหาที่ศาลชั้นต้นพิพากษาเกินคำขอ จึงเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยที่ 3 มิได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาตั้งแต่ศาลชั้นต้น ศาลฎีกาย่อมยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกาได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 และกรณีดังกล่าวเป็นเหตุอยู่ในลักษณะคดีที่ศาลฎีกามีอำนาจพิพากษาไปถึงจำเลยที่ 4 ที่มิได้ฎีกาให้มิต้องรับโทษดุจจำเลยที่ 3 ผู้ฎีกา ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 213 ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 620/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ พยานหลักฐานแน่นหนาพิสูจน์ความผิดจำเลย แม้มิมีพยานตาเห็น
คดีนี้แม้จะไม่มีประจักษ์พยานขณะจำเลยที่ 2 ใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายก็ตาม แต่พยานหลักฐานของโจทก์ซึ่งประกอบด้วยบันทึกคำรับสารภาพของจำเลยที่ 2 คำให้การรับสารภาพของจำเลยที่ 2 ในชั้นสอบสอนพยานบุคคลแวดล้อมกรณี วัตถุพยานหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ที่สอดคล้องเชื่อมโยงเป็นลำดับ ทั้งมีรายละเอียดเอกสารจากหน่วยงานต่าง ๆ ลำดับเหตุการณ์ไว้ทุกขั้นตอนยากที่จะปรุงแต่งขึ้นได้ พยานหลักฐานของจำเลยที่ 2 ที่อ้างว่าขณะเกิดเหตุอยู่ที่อื่นไม่ได้อยู่ในที่เกิดเหตุก็ดี ถูกทำร้ายจนต้องรับสารภาพก็ดี ไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ได้ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 กระทำความผิดตามฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 590/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเพิกถอนมติที่ประชุมใหญ่เจ้าของร่วมอาคารชุด, การค้างชำระค่าส่วนกลาง, สิทธิในการใช้ทรัพย์ส่วนบุคคล, และระยะเวลาการใช้สิทธิเรียกร้อง
พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 มิได้กำหนดเวลาร้องขอให้ศาลเพิกถอนมติของที่ประชุมใหญ่เจ้าของร่วมอันผิดระเบียบไว้ จึงต้องวินิจฉัยคดีโดยอาศัยบทกฎหมายใกล้เคียงอย่างยิ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 4 เมื่อพระราชบัญญัติดังกล่าวได้บัญญัติการจัดตั้งนิติบุคคลอาคารชุด ผู้จัดการและคณะกรรมการซึ่งได้รับแต่งตั้งโดยมติที่ประชุมใหญ่เจ้าของร่วมควบคุมการจัดการนิติบุคคลอาคารชุด อันมีลักษณะคล้ายคลึงกับวิธีจัดการบริษัทจำกัด เหตุนี้จึงต้องนำ ป.พ.พ. มาตรา 1195 มาใช้บังคับเช่นกัน ซึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 1195 บัญญัติให้การร้องขอให้ศาลเพิกถอนมติของที่ประชุมใหญ่อันผิดระเบียบนั้น ต้องร้องขอภายในกำหนดเดือนหนึ่งนับแต่วันลงมติ ซึ่งสอดคล้องกับเจตนารมณ์ของกฎหมายที่ต้องการให้การจัดการนิติบุคคลอาคารชุดเป็นไปโดยรวดเร็วและมีประสิทธิภาพตรงตามความประสงค์ของเจ้าของร่วมทั้งหลายเมื่อโจทก์ทั้งสิบสองต่างเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ห้องชุดของตนในอาคารชุดซึ่งถือเป็นทรัพย์ส่วนบุคคลตาม พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 มาตรา 4 โจทก์ทั้งสิบสองย่อมมีสิทธิใช้สอยและจำหน่ายทรัพย์สินของตนตาม ป.พ พ. มาตรา 1336 จำเลยที่ 1 คงมีหน้าที่รับผิดชอบจัดการและดูแลรักษาทรัพย์ส่วนกลางของอาคารชุดและมีอำนาจกระทำการใด ๆ เพื่อประโยชน์ตามมติเจ้าของร่วมตาม พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 มาตรา 33 วรรคสอง หามีอำนาจกระทำการใดเป็นการรบกวนสิทธิหรือเสื่อมความสะดวกในการใช้ทรัพย์ส่วนบุคคลของเจ้าของร่วมไม่ การที่จำเลยที่ 1 จะไม่ส่งมอบบัตรผ่านประตูหรือคีย์การ์ดให้แก่โจทก์ทั้งสิบสองซึ่งค้างชำระค่าใช้จ่ายส่วนกลาง ย่อมทำให้โจทก์ทั้งสิบสองเสื่อมเสียสิทธิในการใช้สอยทรัพย์ส่วนบุคคลของโจทก์ทั้งสิบสอง จึงไม่อาจกระทำได้
of 9