คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2541 ม. 108

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 9 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7008/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การฉีกบัตรเลือกตั้งเป็นความผิดตามกฎหมาย แม้การเลือกตั้งนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย และการใช้สิทธิโดยสันติวิธีต้องไม่ขัดกฎหมาย
การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 2 เมษายน 2549 เป็นการเลือกตั้งอันมีเหตุจากพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2549 และบทบัญญัติในมาตรา 4 แห่งพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว กำหนดให้วันที่ 2 เมษายน 2549 เป็นวันเลือกตั้ง เมื่อคณะกรรมการการเลือกตั้งได้จัดให้มีการเลือกตั้งในวันดังกล่าว และจำเลยได้ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง แต่เมื่อจำเลยได้รับบัตรเลือกตั้งทั้งสองฉบับแล้วเดินเข้าไปในคูหาและกาเครื่องหมายลงในบัตรเลือกตั้งทั้งสองฉบับแล้ว จากนั้นได้ออกมาชูมือขึ้นพร้อมทั้งฉีกบัตรเลือกตั้งทั้งสองฉบับ การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดสำเร็จขณะที่ฉีกบัตรเลือกตั้งตาม ป.อ. มาตรา 358 และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2541 มาตรา 108 ที่ใช้บังคับอยู่ในวันดังกล่าว และผลคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ว่าการเลือกตั้งในวันที่ 2 เมษายน 2549 ไม่ชอบด้วยกฎหมาย หามีผลต่อการกระทำความผิดของจำเลยแต่อย่างใดไม่ ส่วนข้อโต้แย้งของจำเลยในส่วนที่ว่า การใช้สิทธิตามกฎหมายรัฐธรรมนูญเป็นการใช้สิทธิต่อต้านโดยสันติวิธีตามมาตรา 65 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 นั้น เห็นว่า การใช้สิทธิต่อต้านโดยสันติวิธีดังกล่าวจะต้องเป็นการกระทำที่มิได้ล่วงละเมิดบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ได้บัญญัติไว้ว่าการกระทำดังกล่าวเป็นความผิด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 333-339/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ทำลายบัตรเลือกตั้ง: ความผิดเฉพาะตามกฎหมายเลือกตั้ง ไม่ต้องปรับบทความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์
การที่จำเลยทั้งเจ็ดทำลายบัตรเลือกตั้งเป็นการกระทำในคราวเดียวด้วยเจตนาเดียวที่จะทำลายบัตรเลือกตั้ง การกระทำดังกล่าวจึงเป็นกรรมเดียว แต่การกระทำดังกล่าวแม้จะกระทำในคราวเดียววาระเดียวกันต้องด้วยองค์ประกอบความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ตาม ป.อ. มาตรา 358 และเป็นความผิดฐานทำลายบัตรเลือกตั้งตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2541 มาตรา 108 ก็ตาม แต่เมื่อความผิดฐานทำลายบัตรเลือกตั้งเป็นความผิดเฉพาะตามบทบัญญัติของกฎหมายในเรื่องที่บัญญัติใช้เป็นพิเศษ การกระทำของจำเลยทั้งเจ็ดจึงไม่จำต้องปรับบทความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์อันเป็นบทกฎหมายทั่วไปอีก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11850/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดการทำลายบัตรเลือกตั้ง แม้การเลือกตั้งถูกเพิกถอยภายหลัง การกระทำยังคงเป็นความผิดตามกฎหมาย
พ.ร.ฎ.ยุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2549 มาตรา 4 กำหนดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไปในวันที่ 2 เมษายน 2549 การที่จำเลยรับบัตรเลือกตั้งแบบแบ่งเขตและบัตรเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่ออย่างละ 1 ใบ จากคณะกรรมการการเลือกตั้ง จากนั้นจำเลยชูบัตรเลือกตั้งสองใบ พร้อมกับพูดว่า "ผมขอใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 65" แล้วฉีกบัตรเลือกตั้งทั้งสองใบทันทีในวันดังกล่าว ซึ่งเป็นวันเลือกตั้งทั่วไปตาม พ.ร.ฎ.ยุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2549 โดยขณะนั้นการเลือกตั้งยังมีผลในทางปฏิบัติอยู่ เมื่อจำเลยจงใจฉีกบัตรเลือกตั้งอันเป็นการกระทำด้วยประการใดๆ ให้บัตรเลือกตั้งชำรุดหรือเสียหายหรือให้เป็นบัตรเสีย การกระทำของจำเลยจึงครบองค์ประกอบความผิดตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2541 มาตรา 108 ที่บังคับใช้อยู่ในขณะเกิดเหตุแล้ว แม้ต่อมาศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยว่าการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไป เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2549 เป็นการเลือกตั้งไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มีผลเป็นการเพิกถอนการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามประกาศผลการเลือกตั้งของคณะกรรมการการเลือกตั้งดังกล่าว ตามคำวินิจฉัยที่ 9/2549 ของศาลรัฐธรรมนูญ แต่ขณะเกิดเหตุ ในวันเกิดเหตุเป็นวันเลือกตั้งตามกฎหมายและกระบวนการเลือกตั้งที่ดำเนินการให้มีการลงคะแนนโดยผู้มีสิทธิเลือกตั้งของกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งก็เป็นไปโดยอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายเช่นเดียวกับการไปใช้สิทธิเลือกตั้งของจำเลย คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญหาได้มีผลเป็นการลบล้างว่าไม่มีการกระทำของจำเลยเกิดขึ้นในวันดังกล่าว หรือการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดตามกฎหมายแต่ประการใดไม่ กรณีไม่ต้องด้วย ป.อ. มาตรา 2 วรรคสอง
แม้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 หมวด 3 ว่าด้วยสิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทย มาตรา 65 บัญญัติว่า "บุคคลย่อมมีสิทธิต่อต้านโดยสันติวิธีซึ่งการกระทำใดๆ ที่เป็นไปเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้" แต่บทบัญญัติมาตรา 28 วรรคหนึ่ง ซึ่งบัญญัติในหมวดเดียวกันได้บัญญัติไว้ด้วยว่า "บุคคลย่อมอ้างศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ หรือใช้สิทธิและเสรีภาพของตนได้เท่าที่ไม่ละเมิดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่น ไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐธรรมนูญ หรือไม่ขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน" ดังนั้นการใช้สิทธิต่อต้านโดยสันติวิธีดังกล่าวต้องเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมายด้วย