พบผลลัพธ์ทั้งหมด 621 รายการ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9661/2559
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ความผิดฐานเบียดบังทรัพย์โดยทุจริต: การร่วมวางแผนและบทบัญญัติผู้ช่วยเหลือ
พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 มาตรา 308 กำหนดความผิดของกรรมการ ผู้จัดการ หรือบุคคลใดซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของนิติบุคคลตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 เบียดบังเอาทรัพย์ของนิติบุคคลเป็นของตนหรือบุคคลที่สามโดยทุจริต จำเลยที่ 3 เป็นนิติบุคคลอีกแห่งหนึ่ง ไม่ได้เป็นกรรมการ ผู้จัดการ หรือบุคคลซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของโจทก์ร่วม แม้การกระทำของจำเลยที่ 3 เป็นการสั่งจ่ายเช็คที่ไม่มีเงินและไม่มีวงเงินในบัญชีกระแสรายวัน แล้วจำเลยที่ 1 และที่ 2 อนุมัติสินเชื่อตั้งวงเงินชั่วคราวโดยมิชอบ เป็นเหตุให้จำเลยที่ 3 ได้เงินดังกล่าวไปจากโจทก์ร่วม ซึ่งลักษณะเป็นการร่วมวางแผนและร่วมลงมือมาแต่ต้น แต่ไม่อาจลงโทษจำเลยที่ 3 ฐานเป็นตัวการได้ อย่างไรก็ดี บทบัญญัติมาตรา 315 ได้กำหนดความผิดไว้โดยเฉพาะสำหรับผู้ช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกในการที่กรรมการ ผู้จัดการ หรือบุคคลซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของนิติบุคคลตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 กระทำความผิดตามมาตรา 308 ไม่ว่าก่อนหรือขณะกระทำความผิดแล้ว อาชญากรรมทางธุรกิจมีความซับซ้อนหลายขั้นตอน การกระทำของจำเลยที่ 3 เป็นส่วนหนึ่งในขั้นตอนดังกล่าว อันเป็นความผิดตามมาตรา 315 ประกอบมาตรา 308 จึงไม่ต้องปรับบทตาม ป.อ. มาตรา 86
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7086/2559
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ข้อแตกต่างระหว่างความผิดฐานลักทรัพย์ ฉ้อโกง และผู้สนับสนุนความผิด การพิพากษาเกินคำขอหรือมิได้กล่าวในฟ้อง
โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยทั้งสามร่วมกันลักรถจักรยานยนต์ของบริษัท ก. ผู้เสียหายขณะอยู่ในความครอบครองของ ร. แต่ข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในการพิจารณาได้ความว่า เจ้าพนักงานตำรวจยืมรถตามฟ้องจากผู้อื่นแล้วให้ ร. นำไปส่งมอบแก่พวกจำเลยแลกกับค่าตอบแทนเป็นเงิน 10,000 บาท หาใช่เป็นการลักรถจักรยานยนต์ตามฟ้องไปจาก ร. ไม่ จึงเป็นกรณีข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในการพิจารณาแตกต่างกับข้อเท็จจริงดังที่กล่าวในฟ้องในข้อสาระสำคัญ ซึ่งตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสอง บัญญัติให้ศาลยกฟ้อง จึงไม่อาจลงโทษจำเลยทั้งสามในความผิดฐานร่วมกันลักทรัพย์ และลงโทษฐานเป็นผู้ใช้ให้กระทำความผิดฐานฉ้อโกงไม่ได้เช่นกัน ถือว่าเกินคำขอหรือมิได้กล่าวในฟ้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่ง และการที่จำเลยทั้งสามชี้ช่องแนะนำให้ ร. ไปทำสัญญาเช่าซื้อและเสนอเงินค่าตอบแทนในการนำรถจักรยานยนต์มาส่งมอบจำนวน 10,000 บาท ดังกล่าว อาจถือว่าเป็นการกระทำด้วยประการใด ๆ อันเป็นการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกแก่ ร. ก็ตาม แต่การกระทำดังกล่าวจะเป็นความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนได้ ต้องเป็นไปตาม ป.อ. มาตรา 86 ที่บัญญัติว่าเป็นการช่วยเหลือ หรือให้ความสะดวกในการที่ผู้อื่นกระทำความผิดก่อนหรือขณะกระทำความผิด หมายถึงต้องมีการกระทำความผิดเกิดขึ้นด้วย จึงจะพิจารณาได้ว่าการกระทำนั้นเป็นการกระทำก่อนหรือขณะกระทำความผิดได้ แตกต่างกับบทบัญญัติแห่งมาตรา 84 วรรคสองตอนท้าย ที่อาจมีความผิดฐานเป็นผู้ใช้ได้แม้ว่าความผิดมิได้กระทำลงก็ตาม เมื่อคดีนี้เกิดจากการวางแผนของเจ้าหน้าที่ตำรวจไว้ก่อน และเป็นการขอยืมรถจักรยานยนต์จากผู้อื่นเพื่อให้ ร. ขับไปทำทีส่งมอบแก่พวกจำเลย หาได้เกิดจาก ร. หลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง และโดยการหลอกลวงดังว่านั้น ได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวง อันจะถือเป็นการกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 341 เมื่อความผิดตามมาตรา 341 ไม่มีเสียแล้ว ความผิดฐานสนับสนุนการกระทำความผิดที่ต้องนำความผิดตามมาตรา 341 มาประกอบกับมาตรา 86 ย่อมเกิดขึ้นไม่ได้เช่นกัน จึงไม่อาจพิพากษาลงโทษตามมาตรา 341 ประกอบมาตรา 86 ได้อีกด้วย และกรณีดังกล่าวเป็นเหตุอยู่ในส่วนลักษณะคดีที่ศาลฎีกามีอำนาจพิพากษาตลอดไปถึงจำเลยที่ 1 ที่มิได้ฎีกาให้มิต้องถูกรับโทษดุจจำเลยที่ 2 และที่ 3 ผู้ฎีกาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 213 ประกอบมาตรา 225
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3237/2559
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ความผิดพยายามครอบครองยาเสพติดเพื่อจำหน่าย แม้ไม่สำเร็จผล ก็มีโทษทางอาญา
จำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 จะไปรับเมทแอมเฟตามีนของกลางเพื่อขนกลับไปคืนให้แก่ ศ. เมื่อเมทแอมเฟตามีนของกลางมีจำนวนมาก จำเลยที่ 2 และที่ 3 ย่อมรู้ว่า ศ. มีไว้เพื่อจำหน่าย การกระทำของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ย่อมถือได้ว่ามีเจตนาร่วมกับ ศ. มีเมทแอมเฟตามีนของกลางไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย
การที่จำเลยที่ 2 เข้าไปที่โรงแรม อ. ขอกุญแจห้องพักหมายเลข 503 จากพนักงานของโรงแรมดังกล่าวและถูกจับกุมขณะกำลังเปิดประตูห้องพัก ส่วนจำเลยที่ 3 เข้าไปที่โรงแรม ล. ขณะกำลังเคาะประตูห้องพักหมายเลข 10 เพื่อจะไปรับเมทแอมเฟตามีนคืนให้ ศ. จึงถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมเช่นกัน ถือว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 ลงมือกระทำความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายแล้ว แม้การกระทำของจำเลยที่ 2 และที่ 3 จะไม่บรรลุผลสำเร็จก็ตาม การกระทำของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ก็เข้าขั้นพยายามมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายไม่ใช่เป็นเพียงความผิดฐานสนับสนุน ศ. มีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย
การที่จำเลยที่ 2 เข้าไปที่โรงแรม อ. ขอกุญแจห้องพักหมายเลข 503 จากพนักงานของโรงแรมดังกล่าวและถูกจับกุมขณะกำลังเปิดประตูห้องพัก ส่วนจำเลยที่ 3 เข้าไปที่โรงแรม ล. ขณะกำลังเคาะประตูห้องพักหมายเลข 10 เพื่อจะไปรับเมทแอมเฟตามีนคืนให้ ศ. จึงถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมเช่นกัน ถือว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 ลงมือกระทำความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายแล้ว แม้การกระทำของจำเลยที่ 2 และที่ 3 จะไม่บรรลุผลสำเร็จก็ตาม การกระทำของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ก็เข้าขั้นพยายามมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายไม่ใช่เป็นเพียงความผิดฐานสนับสนุน ศ. มีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 712/2559
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ผู้สนับสนุนนำยาเสพติดเข้าประเทศ พยายามครอบครองเพื่อจำหน่าย ศาลพิพากษาแก้โทษจำคุก
จำเลยที่ 2 สั่งซื้อเมทแอมเฟตามีนของกลางจาก อ. ชาวลาวให้ส่งเมทแอมเฟตามีนนั้นจากสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวเข้ามาในประเทศไทย โดยไม่ได้ความว่าจำเลยที่ 2 กับ อ. เป็นพวกเดียวกันและได้วางแผนแบ่งหน้าที่กันกระทำผิดดังกล่าว ทั้งจำเลยที่ 2 ก็ไม่ได้เดินทางออกไปนอกราชอาณาจักร การกระทำของจำเลยที่ 2 จึงไม่เป็นตัวการร่วมกันกับจำเลยที่ 1 ที่เป็นผู้ขาย แต่ถือเป็นผู้ก่อให้ผู้ขายนำเมทแอมเฟตามีนเข้ามาในราชอาณาจักร จำเลยที่ 2 จึงเป็นผู้ใช้ให้ผู้อื่นกระทำผิดดังกล่าว ข้อเท็จจริงที่พิจารณาได้ความจึงแตกต่างจากฟ้องในสาระสำคัญ ไม่อาจลงโทษฐานเป็นผู้ใช้ให้ผู้อื่นนำเมทแอมเฟตามีนเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อจำหน่ายตามที่พิจารณาได้ความ คงลงโทษได้เพียงฐานเป็นผู้สนับสนุนให้ผู้อื่นกระทำผิด ปัญหาดังกล่าวเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยได้
เจ้าพนักงานตำรวจได้เข้าจับกุมจำเลยทั้งสองโดยที่จำเลยที่ 1 ยังไม่ได้ส่งมอบเมทแอมเฟตามีนของกลางแก่จำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 ยังไม่ได้รับเข้ามาในเงื้อมมือของจำเลยที่ 2 จึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 ได้ครอบครองเมทแอมเฟตามีนดังกล่าวเป็นความผิดสำเร็จ แต่การที่จำเลยที่ 2 ไปรอรับเมทแอมเฟตามีนของกลางที่จำเลยที่ 1 นำเข้ามาเพื่อส่งมอบให้ที่จุดนัดหมาย ถือว่าเป็นการกระทำที่ใกล้ชิดต่อความผิดสำเร็จ เข้าขั้นลงมือกระทำผิดแล้ว การกระทำของจำเลยที่ 2 จึงเป็นความผิดฐานพยายามมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ปัญหาดังกล่าวเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยที่ 2 ไม่ได้กล่าวชัดแจ้งในฎีกา ศาลฎีกาก็หยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ ซึ่งการกระทำผิดของจำเลยที่ 2 ต่อเมทแอมเฟตามีนของกลางดังที่กล่าวมาแล้วทั้งหมดได้ความว่ามีลักษณะเดียวกับที่จำเลยที่ 2 กระทำต่อกัญชาของกลาง ศาลฎีกาเห็นควรพิพากษาให้มีผลตลอดไปถึงการกระทำผิดเกี่ยวกับกัญชาของกลางซึ่งยุติไปแล้วด้วย
เจ้าพนักงานตำรวจได้เข้าจับกุมจำเลยทั้งสองโดยที่จำเลยที่ 1 ยังไม่ได้ส่งมอบเมทแอมเฟตามีนของกลางแก่จำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 ยังไม่ได้รับเข้ามาในเงื้อมมือของจำเลยที่ 2 จึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 ได้ครอบครองเมทแอมเฟตามีนดังกล่าวเป็นความผิดสำเร็จ แต่การที่จำเลยที่ 2 ไปรอรับเมทแอมเฟตามีนของกลางที่จำเลยที่ 1 นำเข้ามาเพื่อส่งมอบให้ที่จุดนัดหมาย ถือว่าเป็นการกระทำที่ใกล้ชิดต่อความผิดสำเร็จ เข้าขั้นลงมือกระทำผิดแล้ว การกระทำของจำเลยที่ 2 จึงเป็นความผิดฐานพยายามมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ปัญหาดังกล่าวเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยที่ 2 ไม่ได้กล่าวชัดแจ้งในฎีกา ศาลฎีกาก็หยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ ซึ่งการกระทำผิดของจำเลยที่ 2 ต่อเมทแอมเฟตามีนของกลางดังที่กล่าวมาแล้วทั้งหมดได้ความว่ามีลักษณะเดียวกับที่จำเลยที่ 2 กระทำต่อกัญชาของกลาง ศาลฎีกาเห็นควรพิพากษาให้มีผลตลอดไปถึงการกระทำผิดเกี่ยวกับกัญชาของกลางซึ่งยุติไปแล้วด้วย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 562/2559
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การสนับสนุนความผิดฐานกรรโชก: การรับมอบเงินค่าไถ่หลังความผิดสำเร็จ ไม่ถือเป็นความช่วยเหลือ
การที่ผู้เสียหายทั้งสี่ยินยอมมอบเงินค่าไถ่รถยนต์ของผู้เสียหายทั้งสี่ให้แก่ ว. ผู้รับจำนำ ซึ่งรับจำนำรถยนต์ของผู้เสียหายทั้งสี่รวม 10 คัน ไว้จาก บ. โดยมิชอบ ตามที่ ว. ขู่ผู้เสียหายที่ 1 ถึงที่ 3 ผ่าน อ. ภริยาของ บ. ทางโทรศัพท์เคลื่อนที่ว่า หากผู้เสียหายที่ 1 ถึงที่ 3 ไม่ยอมให้เงินค่าไถ่รถยนต์แก่ ว. ผู้เสียหายที่ 1 ถึงที่ 3 จะไม่ได้รถยนต์ของผู้เสียหายที่ 1 ถึงที่ 3 คืน และ ว. ยังขู่ผู้เสียหายที่ 4 ทางโทรศัพท์เคลื่อนที่ในขณะต่อรองราคาค่าไถ่ว่าถ้าผู้เสียหายที่ 4 ไม่เอาราคานี้ก็ไม่ต้องเอา โดยจะนำรถของผู้เสียหายที่ 4 ไปแยกย่อยเอง ถือเป็นการขู่เข็ญว่าจะทำอันตรายต่อทรัพย์สินดังกล่าวของผู้เสียหายทั้งสี่ จนผู้เสียหายทั้งสี่จำต้องยินยอมจะให้เงินแก่ ว. เป็นค่าไถ่รถยนต์ตามที่ถูกข่มขืนใจ การกระทำของ ว. ย่อมครบองค์ประกอบความผิดฐานกรรโชกแล้ว แม้ผู้เสียหายทั้งสี่จะยังไม่ได้มอบเงินค่าไถ่รถยนต์ให้แก่ ว. จำเลยที่ 1 รับมอบหมายจาก ว. ให้มารับเงินค่าไถ่รถยนต์จากผู้เสียหายทั้งสี่หลังจากนั้น จึงมิใช่เป็นการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกก่อนหรือขณะกระทำความผิดฐานกรรโชก เพราะการกระทำความผิดฐานกรรโชกของ ว. ได้สำเร็จเด็ดขาดไป ทั้งความผิดฐานกรรโชกมิได้มีกฎหมายบัญญัติไว้ให้ผู้เป็นคนกลางติดต่อรับมอบทรัพย์จากการกรรโชกหลังจากการกระทำความผิดสำเร็จ เป็นความผิดที่ต้องรับโทษ จึงไม่อาจลงโทษจำเลยที่ 1 ฐานเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดฐานกรรโชกตาม ป.อ. มาตรา 86 ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12269/2558
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
สนับสนุนการทำบัตรประชาชนปลอม แม้ไม่มีส่วนร่วมโดยตรง ศาลลงโทษฐานเป็นผู้สนับสนุนได้
จำเลยที่ 2 รู้อยู่ก่อนแล้วว่า ฉ. จะไปทำบัตรประจำตัวประชาชนในชื่อของ ก. การที่จำเลยที่ 2 ขอร้องให้จำเลยที่ 1 ช่วยเป็นผู้รับรองเป็นเหตุให้ ฉ. สามารถทำบัตรประจำตัวประชาชนได้สำเร็จ ถือเป็นการให้ความช่วยเหลือ ฉ. ขณะกระทำความผิดจำเลยที่ 2 จึงมีความผิดฐานสนับสนุน ฉ. ในการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.บัตรประชาชน พ.ศ.2526 ซึ่งศาลฎีกามีอำนาจลงโทษจำเลยที่ 2 ฐานเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดดังกล่าวได้เพราะโทษเบากว่าความผิดฐานเป็นตัวการ ไม่ได้เป็นการเกินคำขอหรือที่มิได้กล่าวในฟ้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคแรก
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9955/2558
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
อายุความคดีทุจริต: การตีความบทบัญญัติขยายอายุความโดยเคร่งครัด และผลกระทบต่อคดีที่เกิดขึ้นก่อนมีผลบังคับใช้
ขณะเกิดเหตุ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2554 ที่ให้เพิ่มความตามมาตรา 98 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 ซึ่งให้นำมาตรา 74/1 มาใช้บังคับโดยอนุโลมยังไม่มีผลใช้บังคับ เมื่อมาตรา 98 ประกอบมาตรา 74/1 เป็นบทบัญญัติที่มิให้นับระยะเวลาที่ผู้ถูกกล่าวหาหลบหนีรวมเป็นส่วนหนึ่งของอายุความด้วย ประกอบกับ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2554 มิได้มีบทเฉพาะกาลให้นำมาตรา 98 ประกอบมาตรา 74/1 มาใช้บังคับแก่คดีที่เกิดขึ้นก่อน พ.ร.บ.ดังกล่าวมีผลใช้บังคับ การตีความกฎหมายจึงต้องตีความโดยเคร่งครัด จะขยายความไปถึงคดีที่เกิดขึ้นก่อนวันที่ พ.ร.บ.ดังกล่าวใช้บังคับโดยที่ไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้โดยแจ้งชัดอันจะเป็นผลร้ายแก่จำเลยหาได้ไม่ เพราะจะขัดต่อความรับผิดของบุคคลในการรับโทษทางอาญา ตาม ป.อ. มาตรา 2 วรรคหนึ่ง กรณีจึงนำมาตรา 98 ประกอบมาตรา 74/1 มาใช้ย้อนหลังเป็นผลร้ายแก่จำเลยมิได้ อายุความการฟ้องคดีอาญาแก่จำเลยที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติไต่สวนแล้วมีมติแจ้งข้อกล่าวหาแก่จำเลย จึงต้องพิจารณาตามความใน ป.อ. มาตรา 95 เมื่อความผิดตาม ป.อ. มาตรา 148 ประกอบมาตรา 83 และ 86 ที่โจทก์ฟ้องมีอายุความยี่สิบปีนับแต่วันกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 95 (1) การที่โจทก์ฟ้องและได้ตัวจำเลยมาดำเนินคดีนี้เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2556 เกินกว่ายี่สิบปีนับแต่วันกระทำความผิดแล้ว คดีโจทก์จึงขาดอายุความ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8651/2558
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
คดีอุทลุม: อำนาจฟ้องบุพการี & ความผิดฐานจัดการทรัพย์มรดกโดยมิชอบ
ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1562 บัญญัติว่า "ผู้ใดจะฟ้องบุพการีของตนเป็นคดีแพ่งหรือคดีอาญามิได้ แต่เมื่อผู้นั้นหรือญาติสนิทของผู้นั้นร้องขอ อัยการจะยกคดีขึ้นว่ากล่าวก็ได้" เช่นนี้ แม้โจทก์ทั้งสามเป็นทายาทผู้มีสิทธิได้รับมรดกของผู้ตายและมีสิทธิเรียกร้องในอันที่จะขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นมารดาของโจทก์ทั้งสามในฐานะผู้จัดการมรดกของผู้ตายจัดการแบ่งมรดกให้โจทก์ทั้งสามตามสิทธิในทางแพ่งได้ก็ตาม แต่ที่โจทก์ทั้งสามฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ตาม ป.อ. มาตรา 353, 354 เพื่อที่จะให้จำเลยที่ 1 ได้รับโทษในทางอาญานั้น ย่อมเท่ากับเป็นการขอให้จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดต่อโจทก์ทั้งสามในทางอาญาเป็นส่วนตัว เพราะผู้จัดการมรดกตามคำสั่งศาลที่ได้กระทำผิดตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวและต้องรับโทษในทางอาญาย่อมต้องรับโทษเป็นการส่วนตัว เนื่องจากสภาพบังคับในทางอาญาสำหรับความผิดตามฟ้องไม่มีการรับโทษในฐานะที่เป็นผู้จัดการมรดกเหมือนเช่นความรับผิดในฐานะผู้จัดการมรดกในทางแพ่ง คดีระหว่างโจทก์ทั้งสามและจำเลยที่ 1 จึงเป็นคดีอุทลุม ซึ่งต้องห้ามมิให้โจทก์ทั้งสามฟ้องจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นบุพการีตาม ป.พ.พ. มาตรา 1562 โจทก์ทั้งสามจึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1
จำเลยที่ 1 โอนที่ดินอันเป็นทรัพย์มรดกของ บ. ให้แก่จำเลยที่ 2 เพียงผู้เดียว โดยจำเลยที่ 2 ยอมรับว่า จำเลยที่ 2 เป็นผู้อุปการะเลี้ยงดูจำเลยที่ 1 ในการร้องขอตั้งผู้จัดการมรดกของ บ. จำเลยที่ 2 เป็นผู้เตรียมเอกสารและจัดหาทนายความแก่จำเลยที่ 1 และวันที่ไปโอนทรัพย์มรดกของ บ. ที่สำนักงานที่ดินนั้น จำเลยที่ 2 กับจำเลยที่ 1 ไปดำเนินการจดทะเบียนด้วยตนเองจนแล้วเสร็จ พฤติการณ์ของจำเลยที่ 2 แสดงให้เห็นว่า จำเลยที่ 2 ร่วมรู้เห็นกับจำเลยที่ 1 มาตั้งแต่ต้น ถือได้ว่าจำเลยทั้งสองเป็นตัวการร่วมกันโดยสมคบกันมาก่อน โดยมีเจตนาประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผลที่อาจเกิดขึ้นร่วมกัน มิใช่เป็นเรื่องที่จำเลยที่ 1 กระทำความผิดเพียงลำพัง แต่ไม่อาจลงโทษจำเลยที่ 2 ในฐานะตัวการได้เพราะจำเลยที่ 2 เป็นเพียงผู้รับโอนทรัพย์มรดกของ บ. มิได้กระทำในฐานะผู้จัดการมรดกของผู้อื่นตามคำสั่งศาล คงลงโทษได้เพียงผู้สนับสนุนการกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 353, 354 ประกอบมาตรา 86
จำเลยที่ 1 โอนที่ดินอันเป็นทรัพย์มรดกของ บ. ให้แก่จำเลยที่ 2 เพียงผู้เดียว โดยจำเลยที่ 2 ยอมรับว่า จำเลยที่ 2 เป็นผู้อุปการะเลี้ยงดูจำเลยที่ 1 ในการร้องขอตั้งผู้จัดการมรดกของ บ. จำเลยที่ 2 เป็นผู้เตรียมเอกสารและจัดหาทนายความแก่จำเลยที่ 1 และวันที่ไปโอนทรัพย์มรดกของ บ. ที่สำนักงานที่ดินนั้น จำเลยที่ 2 กับจำเลยที่ 1 ไปดำเนินการจดทะเบียนด้วยตนเองจนแล้วเสร็จ พฤติการณ์ของจำเลยที่ 2 แสดงให้เห็นว่า จำเลยที่ 2 ร่วมรู้เห็นกับจำเลยที่ 1 มาตั้งแต่ต้น ถือได้ว่าจำเลยทั้งสองเป็นตัวการร่วมกันโดยสมคบกันมาก่อน โดยมีเจตนาประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผลที่อาจเกิดขึ้นร่วมกัน มิใช่เป็นเรื่องที่จำเลยที่ 1 กระทำความผิดเพียงลำพัง แต่ไม่อาจลงโทษจำเลยที่ 2 ในฐานะตัวการได้เพราะจำเลยที่ 2 เป็นเพียงผู้รับโอนทรัพย์มรดกของ บ. มิได้กระทำในฐานะผู้จัดการมรดกของผู้อื่นตามคำสั่งศาล คงลงโทษได้เพียงผู้สนับสนุนการกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 353, 354 ประกอบมาตรา 86
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6551/2558
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การแสดงตนเป็นเจ้าพนักงาน, บุกรุกเคหสถาน, ผู้สนับสนุนการกระทำความผิด, และการแก้ไขคำพิพากษาตามอำนาจศาลฎีกา
ผู้เสียหายกับจำเลยรู้จักกันมาก่อนและผู้เสียหายรู้ว่าจำเลยมิได้เป็นเจ้าพนักงาน วันเกิดเหตุจำเลยมิได้แสดงตนเป็นเจ้าพนักงานเพียงแต่อ้างว่าพวกของจำเลยเป็นเจ้าพนักงาน การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานร่วมกันแสดงตนเป็นเจ้าพนักงานและกระทำการเป็นเจ้าพนักงานตาม ป.อ. มาตรา 145 วรรคแรก แต่การกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดฐานร่วมกันแสดงตนเป็นเจ้าพนักงานและกระทำการเป็นเจ้าพนักงาน ซึ่งศาลลงโทษจำเลยได้เพราะมิได้เป็นการพิพากษาเกินคำขอตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่ง ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นอ้างและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5157/2558
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การสนับสนุนการกระทำความผิดทางเพศ: จำเลยต้องมีเจตนาช่วยเหลือหรือให้สะดวก
จำเลยที่ 1 กับพวกนั่งดื่มสุรากันอยู่บริเวณกระท่อมที่เกิดเหตุอยู่ก่อนที่พวกของจำเลยที่ 1 จะพาโจทก์ร่วมมายังกระท่อมที่เกิดเหตุ และไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ทราบมาก่อนว่าพวกของจำเลยที่ 1 จะพาโจทก์ร่วมมาข่มขืนกระทำชำเรา อีกทั้งไม่ปรากฏข้อเท็จจริงใดที่ชี้ให้เห็นได้ว่าจำเลยที่ 1 มีพฤติการณ์ที่จะเข้าไปมีส่วนในการกระทำความผิดด้วย นอกจากนี้ทั้งก่อนและขณะที่จำเลยที่ 2 กับพวกข่มขืนกระทำชำเราโจทก์ร่วม แม้จำเลยที่ 1 อยู่ใกล้กับกระท่อมที่เกิดเหตุและเห็นเหตุการณ์ ก็ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 พูดหรือกระทำการใดอันเป็นการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกแก่จำเลยที่ 2 กับพวกในการข่มขืนกระทำชำเราโจทก์ร่วม การที่จำเลยที่ 1 เห็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจากการกระทำของพวกจำเลยที่ 1 แต่ไม่เข้าไปห้ามปรามหรือขัดขวางเพื่อมิให้โจทก์ร่วมถูกข่มขืนกระทำชำเรา กรณีดังกล่าวก็ยังถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 ช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกแก่จำเลยที่ 2 กับพวกข่มขืนกระทำชำเราโจทก์ร่วม จึงไม่เป็นความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุน