คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.อ. ม. 59

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 1,272 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7894/2542 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ จำเลยเรียกเงินจากผู้เสียหายเพื่อแลกกับการคืนรถที่ถูกลักขโมย เข้าข่ายความผิดฐานรับของโจร แม้ไม่มีเจตนาแสวงหาผลประโยชน์
หลังจากรถยนต์เก๋งของโจทก์ร่วมถูกลักไปแล้ว ในระหว่างที่จำเลยรอการตกลงซื้อขายรถของโจทก์ร่วมให้แก่ลูกค้ารายอื่น จำเลยได้เรียกร้องเงินจากโจทก์ร่วมตั้งแต่ครั้งแรกที่โจทก์ร่วมมาติดต่อให้จำเลยสืบหารถที่ถูกลัก โดยจำเลยทราบดีว่าขณะนั้นรถอยู่ที่ใด พฤติการณ์ที่จำเลยเรียกเงินจากโจทก์ร่วมดังกล่าวหาใช่เป็นการเรียกค่าใช้จ่ายที่จำเลยออกทดรองจ่ายในการสืบหารถของโจทก์ร่วมไม่แต่เป็นการเรียกค่าไถ่รถจากโจทก์ร่วมอันเป็นการช่วยเหลือคนร้ายจำหน่ายทรัพย์โดยจำเลยรู้ดีว่าทรัพย์ดังกล่าวถูกคนร้ายลักมา การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานรับของโจรโดยไม่คำนึงถึงว่าจำเลยจะมีเจตนาทุจริตเพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองหรือผู้อื่นหรือไม่ เพราะความผิดฐานนี้ต้องการองค์ประกอบความผิดภายในเพียงการกระทำโดยเจตนาตาม ป.อ.มาตรา 59เท่านั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7742/2542

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การหน่วงเหนี่ยวกักขังเพื่อชำระหนี้ ไม่ถือเป็นค่าไถ่ตามความหมายในกฎหมายอาญา
การที่จำเลยทั้งสองกับพวกร่วมกันหน่วงเหนี่ยวกักขังตัวผู้เสียหาย ก็เพื่อให้ผู้เสียหายชำระหนี้ให้แก่จำเลยที่ 1 โดยจำเลยทั้งสองเชื่อว่าสามารถกระทำได้ดังนั้นประโยชน์ที่จำเลยที่ 1 เรียกร้องให้ผู้เสียหายชำระหนี้จึงไม่ใช่ค่าไถ่ตามความหมายในบทนิยามคำว่า "ค่าไถ่" ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 1(13) การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 313 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7572/2542

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การรับพยานโจทก์ร่วมหลังสืบพยานเดิม & เจตนาดูหมิ่นในคดีหมิ่นประมาท
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้เสียหายเข้าเป็นโจทก์ร่วมภายหลังจากการสืบพยานโจทก์นัดแรกผ่านพ้นไปแล้ว เมื่อศาลชั้นต้นรับบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมของโจทก์ร่วม และอนุญาตให้โจทก์ร่วมนำพยานของตนเข้าสืบภายหลังสืบพยานโจทก์เสร็จแล้ว ศาลจึงใช้ดุลพินิจเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมรับฟังพยานของโจทก์ร่วมได้
ปัญหาว่าการกระทำใดไม่เป็นความผิดเพราะขาดองค์ประกอบนั้น เป็นปัญหาข้อกฎหมาย
การที่จำเลยกล่าวถ้อยคำต่อโจทก์ร่วมว่า "มึงเข้าไปในที่ของกูได้อย่างไร กูจะแจ้งข้อหาบุกรุกมึง มึงเป็นผู้ใหญ่บ้านได้อย่างไร ไม่รู้กฎหมาย ไม่รู้หน้าที่ ไอ้หน้าโง่มึงต้องเจอกับกูแน่ที่ศาล" นั้น เห็นได้ว่าสรรพนามที่จำเลยใช้แทนตัวจำเลยและโจทก์ร่วมว่ากูและมึงนั้นเป็นเพียงถ้อยคำไม่สุภาพ ส่วนถ้อยคำในทำนองว่าโจทก์ร่วมเป็นผู้ใหญ่บ้านไม่มีอำนาจหน้าที่ ไม่รู้กฎหมายและจะฟ้องร้องดำเนินคดีกับโจทก์ร่วมนั้นเป็นเพียงถ้อยคำต่อว่าโจทก์ร่วมที่เข้าไปในที่ดินของ ม. พ่อตาจำเลยโดยไม่ได้รับอนุญาต และแสดงเจตนาที่จะดำเนินคดีกับโจทก์ร่วมเท่านั้น ไม่ใช่ถ้อยคำที่ดูถูกเหยียดหยามโจทก์ร่วม แต่ที่จำเลยว่าโจทก์ร่วมว่าไอ้หน้าโง่นั้น ถ้อยคำดังกล่าวแสดงอยู่ในตัวถึงการหมิ่นเหยียดหยามโจทก์ร่วม แม้จะเป็นการกล่าวถ้อยคำดูหมิ่นโจทก์ร่วมในขณะที่จำเลยและโจทก์ร่วมทะเลาะกันก็ต้องถือว่าจำเลยกล่าวโดยมีเจตนาดูหมิ่นโจทก์ร่วม หาใช่ว่าการกล่าวในขณะทะเลาะกันจะถือว่าจำเลยมิได้มีเจตนาดูหมิ่นอันจักเป็นการขาดองค์ประกอบความผิดไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7563/2542

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิการใช้ทางภาระจำยอม-เจตนาบุกรุก: การรื้อรั้วตามคำพิพากษาศาลแพ่ง ไม่ถือเป็นการบุกรุกหากเชื่อสุจริต
ศาลพิพากษาให้ที่ดินของโจทก์เป็นทางภาระจำยอมของที่ดินจำเลยที่ 1 โดยให้รื้อรั้วที่ปิดกั้นทางเข้าออกหลังตึกแถวในที่ดินของจำเลยที่ 1 ออก และให้โจทก์ไปจดทะเบียนภารจำยอม คำพิพากษาดังกล่าวย่อมมีผลผูกพันโจทก์กับจำเลยที่ 1ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145 จำเลยที่ 1 ย่อมมีสิทธิใช้ที่ดินของโจทก์เป็นทางเข้าออกสู่สาธารณะได้ แม้โจทก์จะยื่นอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาและขอทุเลาการบังคับคดีก็ไม่มีผลกระทบต่อสิทธิของจำเลยที่ 1 ที่มีอยู่ตามคำพิพากษาแต่ประการใด จำเลยที่ 1 ย่อมมีสิทธิเข้าไปในที่ดินของโจทก์ได้
การที่ศาลออกคำบังคับให้โจทก์ปฏิบัติตามคำพิพากษาจนมีการจดทะเบียนภารจำยอมให้แก่จำเลยที่ 1 ย่อมเป็นเหตุผลให้จำเลยทั้งสองเชื่อโดยสุจริตว่า จำเลยที่ 1 มีสิทธิใช้ที่ดินของโจทก์เป็นทางภารจำยอมเข้าออกสู่ที่ดินของจำเลยที่ 1 ได้ และมีเหตุผลให้เข้าใจไปได้ว่า การที่โจทก์ยังคงขัดขืนเพิกเฉยไม่ยอมรื้อรั้วเป็นการจงใจไม่ปฏิบัติตามคำบังคับของศาล การที่จำเลยทั้งสองกับพวกเข้าไปในที่ดินของโจทก์เพื่อรื้อรั้วออกจึงเป็นการเข้าไปโดยเชื่อว่าตนเองมีสิทธิใช้ที่ดินของโจทก์เป็นทางเข้าออกตามคำพิพากษา หาใช่เป็นการเข้าไปโดยลุแก่อำนาจโดยมีเจตนารบกวนการครอบครองที่ดินของโจทก์โดยปกติสุขไม่ฟังไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสองมีเจตนาบุกรุกที่ดินของโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7547/2542

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดทางอาญาจากการใช้เรือโดยประมาทและเจตนาจนน่าเกิดอันตราย เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย
โจทก์บรรยายฟ้องข้อ 1(ข) โดยสรุปว่า จำเลยทั้งห้าร่วมกันดัดแปลงต่อเติมเรือเอี้ยมจุ๊นซึ่งมิใช่เรือที่ทำขึ้นสำหรับขนส่งคนโดยสารโดยไม่ถูกต้องตามหลักวิชาการและไม่ได้มาตรฐานโดยต่อเติมชั้นสองของเรือเป็นดาดฟ้าให้บรรทุกขนส่งคนโดยสารได้ ส่วนของโครงหลังคาชั้นสองมีเสาเหล็กรองรับ 17 ต้น ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 1 นิ้ว พื้นดาดฟ้าชั้นสองเป็นเหล็กแผ่นเรียบ หนาประมาณ 1 หุน ยึดติดกับเสาเหล็กไม่แข็งแรง คานรับดาดฟ้าเล็ก และดาดฟ้าสูงจากพื้นชั้นล่าง 2.10 เมตร ซึ่งสูงเกินไปไม่สามารถบรรทุกคนโดยสารได้อย่างปลอดภัยและไม่อยู่ในหลักเกณฑ์ที่เจ้าพนักงานกรมเจ้าท่าจะออกใบอนุญาตใช้เรือให้เป็นเรือรับจ้างขนส่งคนโดยสารได้และตามวันเวลาในฟ้องข้อ 1 จำเลยทั้งห้าใช้เรือลำเกิดเหตุบรรทุกคนโดยสารมากถึง 70 คน ซึ่งลักษณะและการบรรทุกน่าจะเป็นอันตรายแก่บุคคลในเรือ แล้วแล่นไปในบริเวณอ่างเก็บน้ำเขื่อนอุบลรัตน์และการกระทำของจำเลยทั้งห้าเป็นความประมาทปราศจากความระมัดระวังซึ่งจำเลยทั้งห้าจักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์ แต่จำเลยทั้งห้าหาได้ใช้ให้เพียงพอไม่ เมื่อดาดฟ้าชั้นสองไม่สามารถรับน้ำหนักคนโดยสารเป็นจำนวนมากหักลง เรือเสียการทรงตัวและพลิกคว่ำเป็นเหตุให้คนโดยสารจมน้ำตาย 39 คน ดังนี้ คำฟ้องโจทก์ได้บรรยายถึงการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยทั้งห้าได้กระทำผิด ข้อเท็จจริงและรายละเอียดที่เกี่ยวกับเวลาและสถานที่ซึ่งเกิดการกระทำนั้น ๆ อีกทั้งบุคคลหรือสิ่งของที่เกี่ยวข้องด้วยพอสมควรเท่าที่จะให้จำเลยทั้งห้าเข้าใจข้อหาได้ดี ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158(5) และครบองค์ประกอบความผิดตามมาตรา 233 และองค์ประกอบของการกระทำโดยประมาทตามมาตรา 59 วรรคสี่ คำฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม
แม้การตกลงว่าจ้างเรือทั้งสองลำกระทำในคราวเดียวกันและมีวัตถุประสงค์อย่างเดียวกัน แต่เรือที่จำเลยที่ 2 และที่ 4 ใช้กระทำความผิดในคดีนี้กับเรือที่จำเลยที่ 2 และที่ 4 ใช้กระทำความผิดในคดีอาญาของศาลแขวงขอนแก่น เป็นเรือคนละลำกัน สามารถแยกการกระทำออกจากกันได้กรณีจึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ฉะนั้น แม้ศาลฎีกาจะมีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในคดีอาญาของศาลแขวงขอนแก่น โจทก์ก็ยังมีสิทธิฟ้องจำเลยที่ 2และที่ 4 ในคดีนี้ หาเป็นฟ้องซ้ำไม่
พยานโจทก์ทั้งสองจบการศึกษาจากโรงเรียนนายเรือ หลักสูตร 5 ปี เรือโท ส. รับราชการที่กรมเจ้าท่าในตำแหน่ง เจ้าพนักงานตรวจเรือเป็นเวลาประมาณ 3 ปี มีหน้าที่เกี่ยวกับการตรวจเรือมาโดยตลอด ส่วนเรือเอก ช. รับราชการเป็นเจ้าท่าภูมิภาคที่ 7 มีตำแหน่งเป็นเจ้าพนักงานตรวจเรือตั้งแต่ปี 2510 ถึง 2530 พยานทั้งสองจึงเป็นผู้ชำนาญการพิเศษในการตรวจเรือความเห็นของพยานทั้งสองจึงเป็นประโยชน์ในการวินิจฉัยชี้ขาดและมีน้ำหนักให้รับฟังได้
จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ร่วมทุนกันซื้อเรือลำเกิดเหตุซึ่งเป็นเรือเอี้ยมจุ๊นมาต่อเติมดัดแปลงเป็นเรือสองชั้นเพื่อรับจ้างขนส่งคนโดยสารไปชมทิวทัศน์ในอ่างเก็บน้ำเขื่อนอุบลรัตน์ โดยจำเลยที่ 2 มีหน้าที่ยื่นขอใบอนุญาตใช้เรือต่อการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นผู้ดูแลเขื่อนอุบลรัตน์ จำเลยที่ 3มีหน้าที่จัดหาผู้โดยสารเรือ จำเลยที่ 4 มีหน้าที่ออกแบบต่อเติมเรือและได้ว่าจ้างจำเลยที่ 1 ควบคุมเรือลำเกิดเหตุซึ่งมีลักษณะน่าจะเป็นอันตรายแก่บุคคลในเรือนั้น ไปใช้รับจ้างขนส่งคนโดยสารด้วยการบรรทุกจนน่าจะเป็นอันตรายแก่บุคคลในเรือนั้น จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 จึงเป็นตัวการร่วมกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 233 ประกอบด้วยมาตรา 83เมื่อการกระทำนั้นเป็นเหตุให้บุคคลอื่นถึงแก่ความตาย จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4จึงต้องรับโทษหนักขึ้นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 238 วรรคหนึ่ง
จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ใช้เรือลำเกิดเหตุรับจ้างขนส่งคนโดยสารโดยเจตนาจนน่าจะเกิดอันตรายแก่บุคคลในเรือนั้น อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 233 กรณีไม่ใช่กระทำโดยประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 59 วรรคสี่ ซึ่งจะต้องเป็นการกระทำความผิดมิใช่โดยเจตนา แม้ผลแห่งการกระทำของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 เป็นเหตุให้บุคคลอื่นถึงแก่ความตายอันนอกเหนือจากเจตนาที่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผลก็ตาม แต่ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 238 วรรคหนึ่ง ก็บัญญัติให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 รับโทษหนักขึ้นในผลแห่งการกระทำความผิดตามมาตรา 233จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 จึงไม่มีความผิดฐานกระทำโดยประมาทและการกระทำนั้นเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายอีกบทหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7547/2542 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดทางอาญาจากการใช้เรือโดยประมาทและโดยเจตนา จนเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย
โจทก์บรรยายฟ้องข้อ 1 (ข) โดยสรุปว่า จำเลยทั้งห้าร่วมกันดัดแปลงต่อเติมเรือเอี้ยมจุ๊นซึ่งมิใช่เรือที่ทำขึ้นสำหรับขนส่งคนโดยสารโดยไม่ถูกต้องตามหลักวิชาการและไม่ได้มาตราฐานโดยต่อเติมชั้นสองของเรือเป็นดาดฟ้า ให้บรรทุกขนส่งคนโดยสารได้ ส่วนของโครงหลังคาชั้นสองมีเสาเหล็กรองรับ 17 ต้น ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 1 นิ้ว พื้นดาดฟ้าชั้นสองเป็นเหล็กแผ่นเรียบ หนาประมาณ 1 หุน ยึดติดกับเสาเหล็กไม่แข็งแรง คานรับดาดฟ้าเล็ก และ ดาดฟ้าสูงจากพื้นชั้นล่าง 2.10 เมตร ซึ่งสูงเกินไปไม่สามารถบรรทุกคนโดยสารได้อย่างปลอดภัย และไม่อยู่ในหลักเกณฑ์ ที่เจ้าพนักงานกรมเจ้าท่าจะออกใบอนุญาตใช้เรือให้เป็นเรือรับจ้างขนส่งคนโดยสารได้ และตามวันเวลาในฟ้องข้อ 1 จำเลยทั้งห้าใช้เรือลำเกิดเหตุบรรทุกคนโดยสารมากถึง 70 คน ซึ่งลักษณะและการบรรทุกน่าจะเป็นอันตรายแก่บุคคลในเรือแล้วแล่นไปในบริเวณอ่างเก็บน้ำเขื่อนอุบลรัตน์ และการกระทำของจำเลยทั้งห้า เป็นความประมาทปราศจากความระมัดระวัง ซึ่งจำเลยทั้งห้าจักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์ แต่จำเลยทั้งห้าหาได้ใช้ให้เพียงพอไม่ เมื่อดาดฟ้าชั้นสองไม่สามารถรับน้ำหนักคนโดยสารเป็นจำนวนมากหักลง เรือเสียการทรงตัวและพลิกคว่ำเป็นเหตุให้คนโดยสารจมน้ำตาย 39 คน ดังนี้ คำฟ้องโจทก์ได้บรรยายถึงการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยทั้งห้าได้กระทำผิด ข้อเท็จจริงและ รายละเอียดที่เกี่ยวกับเวลาและสถานที่ซึ่งเกิดการกระทำนั้น ๆ อีกทั้งบุคคลหรือสิ่งของที่เกี่ยวข้องด้วยพอสมควรเท่าที่จะให้จำเลยทั้งห้าเข้าใจข้อหาได้ดี ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) และครบองค์ประกอบความผิดตามมาตรา 233 และ องค์ประกอบของการกระทำโดยประมาทตามมาตรา 59 วรรคสี่ คำฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม
แม้การตกลงว่าจ้างเรือทั้งสองลำกระทำในคราวเดียวกัน และมีวัตถุประสงค์อย่างเดียวกัน แต่เรือที่จำเลยที่ 2 และที่ 4 ใช้กระทำความผิดในคดีนี้กับเรือที่จำเลยที่ 2 และที่ 4 ใช้กระทำความผิดในคดีอาญาของศาลแขวงขอนแก่นเป็นเรือคนละลำกัน สามารถแยกการกระทำออกจากกันได้ กรณีจึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ฉะนั้นแม้ศาลฎีกา จะมีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในคดีอาญาของศาลแขวงขอนแก่น โจทก์ก็ยังมีสิทธิฟ้องจำเลยที่ 2 และที่ 4 ในคดีนี้ หาเป็นฟ้องซ้ำไม่
เรือโท ส. และเรือเอก ช. พยานโจทก์ทั้งสองจบการศึกษาจากโรงเรียนนายเรือ หลักสูตร 5 ปี เรือโท ส. รับราชการ ที่กรมเจ้าท่าในตำแหน่ง เจ้าพนักงานตรวจเรือเป็นเวลาประมาณ 3 ปี มีหน้าที่เกี่ยวกับการตรวจเรือมาโดยตลอด ส่วนเรือเอก ช. รับราชการเป็นเจ้าท่าภูมิภาคที่ 7 มีตำแหน่งเป็นเจ้าพนักงานตรวจเรือตั้งแต่ปี 2510 ถึง 2530 พยานทั้งสอง จึงเป็นผู้ชำนาญการพิเศษในการตรวจเรือ ความเห็นของพยานทั้งสองจึงเป็นประโยชน์ในการวินิจฉัยชี้ขาดและ มีน้ำหนักให้รับฟังได้
จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ร่วมทุนกันซื้อเรือลำเกิดเหตุซึ่งเป็นเรือเอี่ยมจุ๊นมาต่อเติมดัดแปลงเป็นสองชั้นเพื่อรับจ้าง ขนส่งคนโดยสารไปชมทิวทัศน์ในอ่างเก็บน้ำเขื่อนอุบลรัตน์ โดยจำเลยที่ 2 มีหน้าที่ยื่นขอใบอนุญาตใช้เรือต่อการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นผู้ดูแลเขื่อนอุบลรัตน์ จำเลยที่ 3 มีหน้าที่จัดหาผู้โดยสารเรือ จำเลยที่ 4 มีหน้าที่ออกแบบต่อเติมเรือ และได้ว่าจ้าง จำเลยที่ 1 ควบคุมเรือลำเกิดเหตุซึ่งมีลักษณะน่าจะเป็นอันตรายแก่บุคคลในเรือนั้นไปใช้รับจ้างขนส่งผู้โดยสารด้วยการบรรทุกจนน่าจะเป็นอันตรายแก่บุคคลในเรือนั้น จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 จึงเป็นตัวการร่วมกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 233 ประกอบด้วยมาตรา 83 เมื่อการกระทำนั้นเป็นเหตุให้บุคคลอื่นถึงแก่ความตายจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 จึงต้องรับโทษหนักขึ้นตาม ป.อ. มาตรา 238 วรรคหนึ่ง
จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ใช้เรือลำเกิดเหตุรับจ้างขนส่งโดยสารโดยเจตนาจนน่าจะเกิดอันตรายแก่บุคคลในเรือนั้น อันเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 233 กรณีไม่ใช่การกระทำโดยประมาทตาม ป.อ. มาตรา 59 วรรคสี่ ซึ่งจะต้องเป็นการกระทำความผิดมิใช่โดยเจตนา แม้ผลแห่งการกระทำของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 เป็นเหตุให้บุคคลอื่นถึงแก่ความตาย อันนอกเหนือจากเจตนาที่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผลก็ตาม แต่ ป.อ. มาตรา 238 วรรคหนึ่ง ก็บัญญัติให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 รับโทษหนักขึ้นในผลแห่งการกระทำความผิดตามมาตรา 233 จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 จึงไม่มีความผิดฐานกระทำโดยประมาทและการกระทำนั้นเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย กรณีเป็นเหตุอยู่ในส่วนลักษณะคดี แม้จำเลยที่ 1 มิได้ฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจพิพากษาตลอดจนไปถึงจำเลยที่ 1 ที่มิได้ฎีกาให้มิต้องถูกรับโทษในบทมาตราดังกล่าวด้วย ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 213 ประกอบด้วยมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7086/2542

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เจตนาออกเช็คที่ไม่มีเงินในบัญชีเป็นองค์ประกอบสำคัญของความผิดตาม พ.ร.บ. เช็ค
สาระสำคัญของความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4(1) อยู่ที่วันออกเช็ค ซึ่งถือว่าเป็นวันที่ผู้ออกเช็คมีเจตนากระทำความผิด เพียงแต่ความผิดยังไม่เกิดจนกว่าธนาคารจะปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คนั้นความผิดจึงจะเกิดสำเร็จ เมื่อจำเลยออกเช็ควันที่ 31 มีนาคม 2539 โจทก์และโจทก์ร่วมนำสืบเพียงว่า ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2539 ให้เหตุผลว่า โปรดติดต่อผู้สั่งจ่าย โดยมิได้นำสืบให้เห็นว่าในวันออกเช็คจำเลยมีเงินอยู่ในบัญชีไม่พอใช้เงินตามเช็ค ซึ่งหากโจทก์ร่วมนำไปเรียกเก็บเงินในวันดังกล่าว ธนาคารย่อมจะต้องปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คอยู่นั่นเอง พยานหลักฐานของโจทก์และโจทก์ร่วมจึงยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คฯมาตรา 4

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6771/2542

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การรับของโจรจากทรัพย์สินที่ได้จากการลักทรัพย์และขูดลบหมายเลขทะเบียน การรับจำนำจากผู้เยาว์โดยไม่ตรวจสอบหลักฐาน
อาวุธปืนของกลางเป็นอาวุธปืนมีทะเบียน ผู้ที่จะครอบครองได้จะต้องเป็นผู้ที่ได้รับอนุญาตให้มีอาวุธปืนดังกล่าวเท่านั้น ดังนั้น แม้ผู้เสียหายซึ่งเป็นเจ้าของและเป็นผู้ได้รับอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืนดังกล่าวจะนำอาวุธปืนนั้นไปจำนำไว้กับจำเลยเองก็ไม่สามารถกระทำได้ เพราะจำเลยไม่ได้รับอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืนดังกล่าว หากจำเลยยอมรับจำนำไว้แม้โดยสุจริตก็เป็นการไม่บังควรเพราะเป็นการเสี่ยงต่อการถูกจับกุมดำเนินคดี การที่จำเลยอ้างว่ารับจำนำอาวุธปืนของกลางซึ่งถูกคนร้ายลักไปไว้จาก ต. ซึ่งมีอายุเพียง 16 ปี และไม่เคยรู้จักกับจำเลยมาก่อน โดยมิได้ขอดูหลักฐานใบอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืนของบิดา ต. และรับจำนำไว้ในราคาเพียง 3,500 บาท ทั้งที่จำเลยนำไปขายต่อยังได้ราคาถึง 10,000 บาท แสดงว่าจำเลยรับจำนำไว้ในราคาที่ต่ำผิดปกติและมีพิรุธ ทั้งอาวุธปืนดังกล่าวมีร่องรอยการขูดลบหมายเลขทะเบียนไม่สามารถอ่านได้ แสดงว่าอาวุธปืนดังกล่าวถูกเปลี่ยนมือไปในลักษณะที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงมีการขูดลบหมายเลขทะเบียนเพื่อทำลายหลักฐานส่อให้เห็นว่าจำเลยรับอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนดังกล่าวไว้โดยรู้ว่าเป็นทรัพย์ที่ได้มาจากการกระทำผิด จำเลยจึงมีความผิดฐานรับของโจร

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6506/2542

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เจตนาบุกรุก: การเข้าไปในบ้านเพื่อพบภรรยาและบุตรหลังคลอด ไม่ถือเป็นความผิดฐานบุกรุก
จำเลยเข้าไปบ้านของผู้เสียหายที่ 1 เพราะต้องการจะไปหา ส. ซึ่งเป็นภริยาและบุตรของจำเลยซึ่งเพิ่งคลอดจาก ส. แม้ ม. จะห้ามไม่ให้เข้าบ้านโดยอ้างว่าส. ไม่อยู่จำเลยก็ไม่ยอมฟังเพราะจำเลยไม่เชื่อว่า ส. จะไม่อยู่ในบ้านดังกล่าวการที่จำเลยเข้าไปในบ้านของผู้เสียหายที่ 1 จึงมีเหตุอันสมควรเพื่อต้องการไปหาภริยาและบุตรของจำเลย จำเลยไม่มีเจตนาบุกรุก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5601/2542

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การแยกพิจารณาความผิดฐานมีไว้เพื่อขายกับฐานขาย และการวินิจฉัยเรื่องการริบของกลางแม้จำเลยไม่อ้าง
โจทก์ฟ้องจำเลยสองข้อหา คือ ข้อหามีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อขายและข้อหาขายเมทแอมเฟตามีน การฟังข้อเท็จจริงในความผิดแต่ละข้อหาต้องแยกออกจากกันการที่ศาลยกฟ้องในข้อหาหนึ่งเนื่องจากพยานโจทก์ตกอยู่ในความสงสัย จึงหามีผลทำให้อีกข้อหาหนึ่งตกอยู่ในความสงสัยและมีพิรุธไปด้วยไม่ เจ้าพนักงานตำรวจจับจำเลยได้ขณะกำลังจะซุกเมทแอมเฟตามีนของกลางบริเวณกองขยะและเมทแอมเฟตามีนดังกล่าวบรรจุหลอดดูดเครื่องดื่มปิดหัวท้ายแยกบรรจุหลอดละ 1 เม็ด จำนวน 2 หลอด หลอดละ 3 เม็ด จำนวน 1 หลอด และหลอดละ 4 เม็ดจำนวน 1 หลอด จึงเป็นเครื่องชี้เจตนาของผู้มีไว้ในครอบครองได้ว่า การแยกบรรจุหลอดเช่นนี้เป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการขาย หาใช่มีไว้ในครอบครองแต่อย่างเดียวไม่แม้โจทก์มิได้นำสืบว่าใครเป็นผู้แบ่งเมทแอมเฟตามีนดังกล่าว ก็ไม่ทำให้น้ำหนักคำพยานโจทก์ที่ฟังได้ว่าจำเลยมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองต้องเสียไป เมื่อคดีฟังไม่ได้ว่าจำเลยขายเมทแอมเฟตามีน ธนบัตรของกลางจึงมิใช่ทรัพย์สินที่ได้มาโดยได้กระทำผิด ชอบที่จะต้องส่งคืนแก่เจ้าของ ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยมิได้ยกขึ้นอ้าง ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
of 128