คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
นันทิกา จิวัธยากูล

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 7 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4656/2567

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ กรรมสิทธิ์รวมในทรัพย์สินที่ได้มาจากการอยู่กินฉันสามีภริยา แม้ไม่มีการจดทะเบียนสมรส
โจทก์และจำเลยตกลงอยู่กินร่วมกันฉันสามีภริยาด้วยใจสมัคร แม้จะไม่มีการสู่ขอ ไม่มีสินสอดทองหมั้น ไม่ได้จัดพิธีแต่งงานกันตามประเพณี และไม่ได้จดทะเบียนสมรสกันตามกฎหมาย ไม่ก่อให้เกิดสิทธิหน้าที่ในทางทรัพย์สินที่ทำมาหาได้ร่วมกันเป็นสินสมรสเช่นอย่างสามีภริยาโดยชอบด้วยกฎหมาย ทั้งการอยู่ร่วมกันเช่นนี้มิใช่เป็นเหมือนหุ้นส่วนและไม่เข้าลักษณะของบทกฎหมายว่าด้วยหุ้นส่วนและบริษัท เนื่องเพราะมิใช่ข้อตกลงเข้ากันเพื่อกระทำกิจการร่วมกันด้วยประสงค์จะแบ่งปันกำไรตามความใน ป.พ.พ. มาตรา 1012 แต่ทรัพย์สินที่ทำมาหามาได้ร่วมกันระหว่างที่อยู่ด้วยกันฉันสามีภริยานั้น ย่อมเป็นกรรมสิทธิ์รวมหรือเจ้าของรวมซึ่งต้องบังคับตาม ป.พ.พ. บรรพ 4 ทรัพย์สิน ลักษณะ 2 หมวด 3 ว่าด้วยกรรมสิทธิ์รวม มาตรา 1357 ที่บัญญัติว่า ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้เป็นเจ้าของรวมมีส่วนเท่ากัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4209/2567

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ จำเลยไม่มีเจตนาพิเศษทำให้โจทก์เสียหาย การกระทำไม่เข้าข่ายความผิด ม.157 แม้มีมติไม่ให้เลื่อนตำแหน่ง
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 248 วรรคสาม บัญญัติว่า การบริหารงานบุคคล การงบประมาณ และการดำเนินการอื่นขององค์กรอัยการให้มีความเป็นอิสระ โดยให้มีระบบเงินเดือนและค่าตอบแทนเป็นการเฉพาะตามความเหมาะสมและการบริหารงานบุคคลเกี่ยวกับพนักงานอัยการต้องดำเนินการโดยคณะกรรมการอัยการ และ พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการฝ่ายอัยการ พ.ศ. 2553 มาตรา 38 บัญญัติหลักเกณฑ์ที่จะนำมาพิจารณาแต่งตั้งพนักงานอัยการให้ดำรงตำแหน่งต่าง ๆ ได้แก่ ความรู้ความสามารถ ความรับผิดชอบ ประวัติการปฏิบัติราชการ และพฤติกรรมทางจริยธรรมของบุคคลเทียบกับงานในตำแหน่งข้าราชการอัยการที่จะได้รับแต่งตั้ง โดยมี พ.ร.บ.องค์กรอัยการและพนักงานอัยการ พ.ศ. 2553 มาตรา 9 กำหนดตำแหน่งพนักงานอัยการ และข้อกำหนดคณะกรรมการอัยการว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการการจัดลำดับอาวุโสของข้าราชการอัยการ พ.ศ. 2554 ข้อ 3 และข้อ 4 ซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการฝ่ายอัยการ พ.ศ. 2553 มาตรา 30 (5) มีเจตนารมณ์ให้คณะกรรมการอัยการพิจารณาในการเลื่อนตำแหน่ง การแต่งตั้งและการโยกย้ายว่า ข้าราชการอัยการลำดับอาวุโสใด ควรไปดำรงตำแหน่ง ณ สำนักงานแห่งใดเป็นเงื่อนไขสำคัญอย่างยิ่งประกอบด้วย ซึ่งคณะกรรมการอัยการเคยให้ความเห็นชอบในหลักเกณฑ์ซึ่งถือเป็นแนวปฏิบัติในการแต่งตั้งข้าราชการอัยการ รองอธิบดีอัยการ อัยการพิเศษฝ่ายและอัยการจังหวัดว่า หากข้าราชการอัยการคนใดเคยสละสิทธิในการเลื่อนการดำรงตำแหน่งที่สูงขึ้นในวาระการโยกย้ายที่ตนมีสิทธิแล้ว ข้าราชการอัยการคนนั้นจะไม่ได้รับการพิจารณาให้ดำรงตำแหน่งนั้นอีกต่อไป และมีการใช้หลักเกณฑ์ดังกล่าวมาพิจารณาแต่งตั้งข้าราชการอัยการตั้งแต่ปี 2557 ถึงปี 2564 ข้าราชการอัยการคนที่สละสิทธิดำรงตำแหน่งอธิบดีอัยการ รองอธิบดีอัยการ หรืออัยการพิเศษฝ่ายจะไม่ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งในวาระโยกย้ายในปีที่ขอสละสิทธิและในปีต่อมาทุกราย เหตุที่ต้องกำหนดหลักเกณฑ์เช่นนี้ เนื่องเพราะหากยินยอมให้ข้าราชการอัยการที่สละสิทธิไม่ดำรงตำแหน่งที่สูงขึ้นในวาระแรกที่ตนมีสิทธิโยกย้ายและเลื่อนตำแหน่ง สามารถแสดงความจำนงโยกย้ายและเลื่อนตำแหน่งในวาระถัดไป ก็จะมีคนลำดับอาวุโสท้ายที่ได้รับการพิจารณาให้ดำรงตำแหน่งสูงขึ้นในวาระแรก ซึ่งตามปกติต้องไปดำรงตำแหน่งในสำนักงานที่ขาดแคลนไม่มีผู้ขอไปปฏิบัติราชการ หรือสำนักงานในท้องที่ภาคใต้ หรือสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ สละสิทธิในวาระที่ตนมีสิทธิเพื่อจะได้เป็นคนมีอาวุโสลำดับต้นในวาระโยกย้ายและเลื่อนตำแหน่งคราวถัดไป ก่อให้เกิดการลักลั่น เลือกปฏิบัติและขัดข้องในการบริหารงานบุคคลขององค์กรอัยการ กับเปิดช่องให้มีคนใช้วิธีการดังกล่าวหลีกเลี่ยงไม่ไปดำรงตำแหน่งในสำนักงานที่ขาดแคลนไม่มีผู้ขอไปปฏิบัติราชการ หรือสำนักงานในท้องที่ภาคใต้ หรือสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ในวาระแรก เพื่อที่จะได้ไปปฏิบัติงานที่สถานที่ที่ตนเองต้องการในวาระถัดไป ส่วนคนอื่นจะถูกส่งไปรับตำแหน่งในสถานที่ห่างไกลหรือลำบากกันดาร หรือสำนักงานในท้องที่ภาคใต้ หรือสามจังหวัดชายแดนภาคใต้แทน ทำให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบระหว่างข้าราชการอัยการด้วยกัน อันจะส่งผลกระทบต่อขวัญกำลังใจข้าราชการอัยการและการอำนวยความยุติธรรมแก่ประชาชนทั่วไป กรณีอาการป่วยด้วยโรคไตวายเฉียบพลันอย่างรุนแรงของโจทก์เป็นเหตุจำเป็นอันไม่อาจก้าวล่วงได้ ทำให้ไม่สามารถไปปฏิบัติหน้าที่ราชการในสำนักงานที่ขาดแคลนไม่มีผู้ขอไปปฏิบัติราชการ หรือสำนักงานในท้องที่ภาคใต้ หรือสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้เป็นเรื่องน่าเห็นใจ ซึ่งคณะกรรมการอัยการคราวประชุมครั้งที่ 9/2560 มีมติให้โจทก์ดำรงตำแหน่งและรับราชการในสำนักงานเดิม เท่ากับโจทก์ได้สิทธิในการรักษาพยาบาลและได้รับเงินเดือนเต็มเวลา ทั้งไม่ต้องไปรับราชการในสำนักงานที่ขาดแคลนไม่มีผู้ขอไปปฏิบัติราชการ หรือสำนักงานในท้องที่ภาคใต้ หรือสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในขณะที่ข้าราชการอัยการคนอื่นต้องเสียสละไปรับราชการในสำนักงานที่ขาดแคลนไม่มีผู้ขอไปปฏิบัติราชการ หรือสำนักงานในท้องที่ภาคใต้ หรือสามจังหวัดชายแดนภาคใต้แทนโจทก์เป็นการเสียเปรียบในวาระนี้ เมื่อโจทก์หายป่วยในการโยกย้ายเลื่อนตำแหน่งคราวถัดไปครั้งที่ 10/2561 โจทก์ขอใช้สิทธิในการดำรงตำแหน่งที่สูงขึ้นขณะที่อาวุโสอยู่ในลำดับต้น ดังเช่นที่โจทก์เรียกร้องและฟ้องคดีต่อศาลปกครองพิษณุโลกขอให้จัดอันดับอาวุโสของโจทก์เข้าสู่ลำดับอาวุโสเดิม ยิ่งทำให้ข้าราชการอัยการคนอื่นที่เสียสละไปรับราชการในสำนักงานที่ขาดแคลนไม่มีผู้ขอไปปฏิบัติราชการ หรือสำนักงานในท้องที่ภาคใต้ หรือสามจังหวัดชายแดนภาคใต้แทนโจทก์ เสียเปรียบโจทก์ในการเลื่อนตำแหน่งวาระก่อนต้องเสียเปรียบในการเลื่อนตำแหน่งวาระถัดไปซ้ำอีก ข้อนี้วิญญูชนคนธรรมดาทั่วไปพึงเข้าใจได้ว่าเป็นการเอาเปรียบประชาชนคนจ่ายเงินเดือนแก่โจทก์ด้วย ข้าราชการอัยการทั้งองค์กรย่อมตระหนักรู้ได้ว่าไม่ถูกต้องและไม่เป็นธรรมดุจกัน นอกจากนี้กรณี ช. และ ป. ซึ่งเคยสละสิทธิในปี 2554 และ 2547 ได้รับการพิจารณาให้เลื่อนตำแหน่งในปี 2556 และ 2548 ตามลำดับดังที่โจทก์ฎีกานั้น เป็นมติของคณะกรรมการอัยการชุดก่อนมิใช่การกระทำของจำเลยทั้งยี่สิบสอง แต่ถือเป็นกรณีศึกษาสำหรับองค์กรอัยการว่า การยอมให้ข้าราชการอัยการอ้างเหตุผลส่วนตัวต่าง ๆนา ๆ เป็นข้อยกเว้นลำดับอาวุโสตามข้อกำหนดคณะกรรมการอัยการว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการการจัดลำดับอาวุโสของข้าราชการอัยการ พ.ศ. 2554 ข้อ 4 เพื่อประโยชน์ส่วนตน จะส่งผลกระทบต่อการบริหารองค์กรอัยการและการอำนวยความยุติธรรมแก่ประชาชนอันเป็นประโยชน์ส่วนรวมมากเพียงใด เป็นสิ่งซึ่งจำเลยทั้งยี่สิบสองในฐานะคณะกรรมการอัยการคณะต่อมาต้องใช้ดุลพินิจวินิจฉัยชั่งน้ำหนักระหว่างการคุ้มครองสิทธิส่วนบุคคลของข้าราชการอัยการ กับภาระหน้าที่ขององค์กรอัยการ ที่ต้องอาศัยบุคลากรผู้มีความซื่อสัตย์สุจริตและเสียสละเพื่อประโยชน์สุขของประชาชน แล้วเลือกสิ่งที่ถูกต้องตามหลักการแห่งรัฐธรรมนูญ ตามกฎหมาย เหมาะสมกับสถานการณ์ บริบทแวดล้อม และบริหารจัดการความสมดุลระหว่างสิทธิส่วนบุคคลของข้าราชการอัยการ กับสิทธิส่วนรวมของข้าราชการอัยการทุกคนหรือองค์กรอัยการในขณะตัดสินใจลงมติเลือกหลักเกณฑ์การพิจารณาแต่งตั้งโยกย้ายและเลื่อนตำแหน่ง ยิ่งกว่านั้นหลักเกณฑ์ที่ว่าข้าราชการอัยการผู้ใดเคยสละสิทธิในการเลื่อนการดำรงตำแหน่งที่สูงขึ้นในวาระการโยกย้ายที่ตนมีสิทธิแล้ว ข้าราชการอัยการผู้นั้นจะไม่ได้รับการพิจารณาให้ดำรงตำแหน่งนั้นอีกต่อไปใช้บังคับมาตลอด 8 ปี ไม่มีข้าราชการอัยการคนใดโต้แย้งคัดค้านหรือฟ้องร้องเป็นคดี อาจเป็นเหตุให้จำเลยทั้งยี่สิบสองเชื่อโดยสนิทใจว่าเป็นแบบธรรมเนียมปฏิบัติหรือวัฒนธรรมขององค์กรอัยการในช่วงเวลานั้น เยี่ยงนี้ แม้ พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการฝ่ายอัยการ พ.ศ. 2553 จะไม่ได้บัญญัติหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการสละสิทธิของข้าราชการอัยการในการดำรงตำแหน่งที่สูงขึ้นว่าจะไม่ได้รับการดำรงตำแหน่งดังกล่าวในการเลื่อนตำแหน่งในวาระโยกย้ายครั้งต่อไป และโจทก์มิได้มีเจตนาสละสิทธิตลอดไปตามที่โจทก์ฎีกา แต่เมื่อหลักเกณฑ์นี้ใช้พิจารณาในการโยกย้ายเลื่อนตำแหน่ง ตั้งแต่ก่อนวาระการโยกย้ายเลื่อนตำแหน่งของโจทก์และแก่ข้าราชการอัยการทั้งองค์กรเป็นการทั่วไป มิได้มุ่งหมายให้ใช้บังคับแก่กรณีใดกรณีหนึ่งหรือแก่บุคคลหนึ่งบุคคลใดโดยเฉพาะเจาะจง แสดงว่าจำเลยทั้งยี่สิบสองต่างลงมติไปโดยสุจริตเพื่อประโยชน์ส่วนรวม มิได้ใช้อำนาจตามอำเภอใจจึงสมเหตุสมผล จักเป็นการกลั่นแกล้งโจทก์ก็หามิได้ และแม้ต่อมาคณะกรรมการอัยการจะมีมติในการประชุมครั้งที่ 2/2565 เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2565 ให้โจทก์ดำรงตำแหน่งอัยการพิเศษฝ่าย (สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีปกครอง 4) สำนักงานคดีปกครองตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2565 ตามคำพิพากษาของศาลปกครองพิษณุโลก ก็เป็นการใช้ดุลพินิจอิสระของคณะกรรมการอัยการคณะต่อมาในการบริหารงานบุคคลบนหลักการแห่งรัฐธรรมนูญ ตามกฎหมาย สถานการณ์และบริบทแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป ไม่อาจอนุมานว่าจำเลยทั้งยี่สิบสองมีมติไม่ให้โจทก์เลื่อนไปดำรงตำแหน่งอัยการพิเศษฝ่ายในการประชุมคณะกรรมการอัยการครั้งที่ 10/2561 และครั้งที่ 11/2562 โดยมีเจตนาพิเศษเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์เป็นการเฉพาะ การกระทำของจำเลยทั้งยี่สิบสองจึงขาดองค์ประกอบและไม่เป็นความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด ตาม ป.อ. มาตรา 157 ตามฟ้องดังที่โจทก์ฎีกา ถึงกระนั้นก็ตามหากมีกรณีที่จำเลยคนหนึ่งคนใดหรือจำเลยทั้งยี่สิบสองร่วมกันกระทำการใดอันเป็นการทุจริต ผิดกฎหมายหรือระเบียบใดทำให้โจทก์หรือองค์กรอัยการเสียหายนอกจากคำฟ้อง ก็มิได้ตัดสิทธิโจทก์ที่จะว่ากล่าวเอาความแก่จำเลยทั้งยี่สิบสองต่างหากจากคดีนี้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3681/2567

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องผู้จัดการมรดกร่วม กรณีมีมติร่วมกันฟ้องเรียกทรัพย์คืน
ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 6 มรดก ลักษณะ 4 วิธีการจัดการและปันทรัพย์มรดก หมวด 1 ผู้จัดการมรดก ว่าด้วยการจัดตั้งผู้จัดการมรดกคนเดียวหรือหลายคน และวิธีการจัดการมรดก ซึ่งมาตรา 1726 บัญญัติเกี่ยวกับกรณีผู้จัดการมรดกหลายคนซึ่งต้องตกลงกันด้วยเสียงข้างมาก เมื่อตกลงกันได้แล้วจึงดำเนินการรวบรวมจำหน่ายทรัพย์มรดกเป็นตัวเงิน ทำการชำระหนี้แก่เจ้าหนี้กองมรดก กับการแบ่งปันทรัพย์มรดก ตามที่บัญญัติไว้ในหมวด 2 ว่าด้วยการรวบรวมจำหน่ายทรัพย์มรดกเป็นตัวเงิน และการชำระหนี้กับแบ่งปันทรัพย์มรดก ซึ่งมาตรา 1736 วรรคสอง บัญญัติว่า ในระหว่างเวลาเช่นว่านั้น ผู้จัดการมรดกชอบที่จะทำการใด ๆ ในทางจัดการตามที่จำเป็นได้ เช่นฟ้องคดีหรือแก้ฟ้องในศาลและอื่น ๆ ดังนี้ จะเห็นได้ว่า การกระทำในทางธรรมชาติของการจัดการมรดกโดยผู้จัดการมรดกหลายคนนั้น บางกรณีไม่อาจกระทำได้ด้วยผู้จัดการมรดกพร้อมกันทุกคน เช่น การครอบครองทรัพย์มรดก การจัดทำบัญชีทรัพย์มรดก การขอถอนผู้จัดการมรดก และไม่จำต้องกระทำการพร้อมกันทุกคน เช่น การทำนิติกรรม การรับชำระหนี้จากลูกหนี้ การชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ การฟ้องร้องและการต่อสู้คดี เป็นต้น ทั้งตามบทกฎหมายก็มิได้บัญญัติว่าการกระทำตามหน้าที่ของผู้จัดการมรดกหลายคนนั้น ต้องร่วมกันทำหรือร่วมกันลงชื่อในนิติกรรมพร้อมกันทุกคนทุกคราวไป เพียงแต่ต้องกระทำการด้วยตนเอง เว้นแต่จะกระทำการโดยตัวแทนได้ตามอำนาจที่ให้ไว้ชัดแจ้งหรือโดยปริยายในพินัยกรรมหรือโดยคำสั่งศาล เนื่องเพราะผู้จัดการมรดกทุกคนต้องร่วมรับผิดต่อทายาทและบุคคลภายนอกดังเช่นตัวแทน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1720 และ 1723 ฉะนั้น การกระทำใดของผู้จัดการมรดกคนหนึ่งหรือหลายคนโดยมีผู้เห็นด้วยเป็นส่วนมาก หรือได้รับความยินยอมของผู้จัดการมรดกคนอื่นแล้ว ก็ต้องถือว่าเป็นการจัดการมรดกร่วมกันโดยเสียงข้างมาก หาจำต้องให้ผู้จัดการมรดกเสียงส่วนข้างน้อยเข้าร่วมจัดการด้วยไม่ เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า หลังจากศาลมีคำสั่งตั้ง บ. ซึ่งเป็นผู้ร้อง และโจทก์ซึ่งเป็นผู้คัดค้าน ร่วมกันเป็นผู้จัดการมรดกของ ว. ผู้ตาย ตามคำสั่งศาลแพ่ง คดีหมายเลขแดงที่ พ 364/2562 แล้ว ต่อมา บ. ยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งถอนโจทก์ออกจากการเป็นผู้จัดการมรดก และฝ่ายโจทก์ยื่นคำคัดค้านและขอให้ศาลมีคำสั่งถอน บ. ออกจากการเป็นผู้จัดการมรดกเช่นกัน ศาลนัดไต่สวนคำร้อง และปรากฏตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลแพ่ง ลงวันที่ 5 สิงหาคม 2562 ว่า นัดไต่สวนคำร้องวันนี้ ผู้ร้อง ป. ผู้รับมอบอำนาจผู้ร้อง ทนายผู้ร้อง ผู้คัดค้าน และทนายผู้คัดค้านมาศาล โดยได้ความตามคำร้องขอแก้ไขคำร้อง ลงวันที่ 30 สิงหาคม 2562 ของ บ. ผู้ร้องโดย อ. ทนายความผู้ร้อง เป็นผู้ลงนามในคำร้องและเป็นผู้เรียงคำร้องดังกล่าว ในหน้าที่ 5 มีข้อความว่า "กรณีผู้คัดค้านกล่าวอ้างว่า มีทรัพย์สินหลายรายการอยู่ในความครอบครองของบุคคลภายนอกนั้น ซึ่งทรัพย์สินตามที่ผู้คัดค้านกล่าวอ้างเหล่านั้น ไม่ปรากฏชื่อของผู้คัดค้านหรือชื่อของผู้ตายเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์แต่อย่างใด ดังนั้น การใช้สิทธิติดตามเอาทรัพย์สินดังกล่าวคืนสู่กองมรดกนั้น ผู้คัดค้านสามารถใช้สิทธิทางกฎหมายเพื่อติดตามเอาทรัพย์สินคืนในนามส่วนของตนเองได้โดยตรง ผู้ร้องยินดีให้ความร่วมมือและไม่คัดค้านแต่ประการใด" นอกจากนี้ในคำร้องดังกล่าวในหน้าที่ 3 มีข้อความอีกว่า "...ปัจจุบันผู้ร้องและทายาทโดยธรรมของผู้ตายทุกคน พักอาศัยอยู่ที่ต่างประเทศ โดยผู้ร้องพักอาศัยอยู่ที่ประเทศมาเลเซีย ซึ่งในการยื่นคำร้องขอตั้งผู้จัดการมรดกนั้น ผู้ร้องได้แต่งตั้งให้ทนายความ และบุคคลอื่นให้เป็นผู้รับมอบอำนาจในการดำเนินการจัดการรวบรวมทรัพย์มรดกตามคำสั่งศาลนี้แทนผู้ร้องโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว เพื่อความสะดวกในการจัดการมรดกร่วมกันกับผู้คัดค้านแทนผู้ร้อง และผู้คัดค้านสามารถติดต่อทนายความหรือผู้รับมอบอำนาจของผู้ร้องได้ตลอดเวลา.." จากข้อความดังกล่าว จึงฟังได้ว่า บ. ได้แต่งตั้งให้ ป. เป็นผู้รับมอบอำนาจของตนในการดำเนินคดี และมีการแต่งตั้ง อ. เป็นทนายความของตน ดำเนินการเกี่ยวกับการจัดการมรดกของผู้ตาย ถือได้ว่า บ. ในฐานะผู้จัดการมรดกร่วมได้แต่งตั้งให้ทนายความและบุคคลอื่น ให้เป็นผู้รับมอบอำนาจในการดำเนินการจัดรวบรวมทรัพย์มรดกตามคำสั่งศาลนี้แทนตนโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว ทั้งนี้ ก็เพื่อความสะดวกในการจัดการมรดกร่วมกันกับโจทก์ซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกร่วม อีกคนหนึ่ง ซึ่งเป็นเวลาก่อนวันที่ 14 กันยายน 2562 ที่จะมีการประชุมผู้จัดการมรดก ดังนั้น เมื่อได้ความตามบันทึกการประชุม ระบุว่า "..ผู้จัดการมรดกของ ว. ตามคำสั่งศาลแพ่งคดีหมายเลขแดงที่ พ 364/2562 โดยมีผู้ร่วมประชุมคือ 1) นางสาว ร. (ซึ่งก็คือโจทก์) และ 2) อ. และ ป. ตัวแทน บ." ซึ่งก็คือทนายความและผู้รับมอบอำนาจของ บ. ซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกร่วมกับโจทก์ในกองมรดกของผู้ตาย ได้ทำหน้าที่ของตนในฐานะเป็นตัวแทนของ บ. ในการประชุมผู้จัดการมรดกดังกล่าวนั่นเอง เมื่อพิจารณาประกอบบันทึกการประชุมผู้จัดการมรดก เพื่อปรึกษาการจัดการทรัพย์มรดกของผู้ตาย กลุ่มที่ 3 ซึ่งอยู่ในชื่อตัวแทน 4 คน ที่ยังไม่สามารถเรียกคืนได้และอีกหนึ่งคนตกลงคืนแล้ว ที่ประชุมพิจารณาแล้วมีมติให้ดำเนินการฟ้องเรียกทรัพย์คืน โดยฝ่ายทายาทไม่ประสงค์จะเข้าร่วม ในท้ายรายงานการประชุมดังกล่าวได้แนบบัญชีทรัพย์สินในกลุ่มที่ 3 ระบุชื่อจำเลยจำนวน 2 รายการ คือ อันดับที่ 19 ที่ดินและบ้านพิพาท และอันดับที่ 20 เงินพิพาท จึงถือได้ว่า อ. ทนายความ และ ป. ผู้รับมอบอำนาจของ บ. เป็นตัวแทนของ บ. ในฐานะผู้จัดการมรดกร่วม ได้ร่วมประชุมจัดการมรดกและมีมติให้มีการดำเนินคดีแก่ผู้ที่ถือครองทรัพย์สินซึ่งเป็นมรดกคืนสู่กองมรดก ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1723 และเกี่ยวกับคดีนี้ก็คือการร่วมรู้เห็นและยินยอมให้โจทก์ฟ้องคดีนี้ เพื่อรวบรวมทรัพย์สินของผู้ตายเข้าสู่กองมรดกนำไปแบ่งปันให้แก่ทายาทตามกฎหมาย อันถือได้ว่าเป็นการจัดการมรดกร่วมกันโดยเสียงข้างมากตามความหมายแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 1726 ข้างต้นแล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องเรียกที่ดินและบ้านพร้อมเงินพิพาทส่วนของผู้ตายคืนจากจำเลยได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2324/2567

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฐานะเจ้าพนักงาน vs. ยักยอกทรัพย์ - จำเลยเป็นพนักงานมหาวิทยาลัย ไม่ใช่ข้าราชการ จึงไม่อยู่ในฐานะเจ้าพนักงาน แต่ความผิดฐานยักยอกยังคงมี
จําเลยเป็นพนักงานมหาวิทยาลัย ม. ผู้เสียหาย ซึ่งพนักงานมหาวิทยาลัยดังกล่าวคือ พนักงานในสถาบันอุดมศึกษาตามความในมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ. 2547 พระราชบัญญัติฉบับนี้กำหนดคํานิยามของพนักงานในสถาบันอุดมศึกษาว่า หมายถึง บุคคลซึ่งได้รับการจ้างตามสัญญาจ้างให้ทำงานในสถาบันอุดมศึกษา โดยได้รับค่าจ้างหรือค่าตอบแทนจากเงินงบประมาณแผ่นดินหรือเงินรายได้ของสถาบันอุดมศึกษา ซึ่งความหมายของพนักงานในสถาบันอุดมศึกษาตามกฎหมายฉบับนี้แตกต่างจากความหมายของข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษาตามกฎหมายฉบับเดียวกัน กล่าวคือข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษาหมายถึงบุคคลซึ่งได้รับบรรจุและแต่งตั้งให้รับราชการตามพระราชบัญญัตินี้ โดยได้รับเงินเดือนจากเงินงบประมาณประเภทเงินเดือนในสถาบันอุดมศึกษา หากเปรียบเทียบข้อแตกต่างสำคัญแล้ว จะเห็นได้ชัดว่าข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษาเป็นบุคคลที่ได้รับการบรรจุและแต่งตั้งให้เป็นข้าราชการโดยได้รับเงินเดือนจากเงินงบประมาณประเภทเงินเดือนในสถาบันอุดมศึกษาจึงมีฐานะเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา ส่วนพนักงานในสถาบันอุดมศึกษาเป็นบุคคลที่ได้รับการจ้างตามสัญญาจ้างให้เป็นพนักงานจึงถือไม่ได้ว่าเป็นข้าราชการ อีกทั้งค่าจ้างหรือค่าตอบแทนพนักงานในสถาบันอุดมศึกษาก็มิใช่เงินเดือนอันมีที่มาจากเงินงบประมาณประเภทเงินดือนในสถาบันอุดมศึกษา แม้พระราชบัญญัติฉบับนี้จะระบุว่า พนักงานในสถาบันอุดมศึกษาได้รับค่าจ้างหรือค่าตอบแทนจากเงินงบประมาณแผ่นดินก็ตาม แต่เมื่อพิจารณาความหมายของพนักงานมหาวิทยาลัยทั้งสายวิชาการและสายสนับสนุนตามพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัย ม. พ.ศ. 2537 และข้อบังคับมหาวิทยาลัย ม. ว่าด้วยการบริหารงานบุคคล พ.ศ. 2552 ที่ใช้บังคับขณะจําเลยกระทำผิดแล้ว ล้วนได้ความตรงกันว่าพนักงานมหาวิทยาลัยทั้งสองประเภทได้รับค่าจ้างหรือค่าตอบแทนจากเงินงบประมาณแผ่นดินหมวดเงินอุดหนุนทั่วไปหรือเงินรายได้ของมหาวิทยาลัย เมื่อจําเลยเป็นพนักงานมหาวิทยาลัยหรือพนักงานในสถาบันอุดมศึกษาซึ่งมิใช่ข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษาและไม่ได้รับเงินเดือนจากเงินงบประมาณประเภทเงินเดือนในสถาบันอุดมศึกษา ประกอบกับไม่มีกฎหมายหรือข้อบังคับใดกําหนดให้พนักงานในสถาบันอุดมศึกษาเป็นเจ้าพนักงาน จําเลยจึงไม่อยู่ในฐานะเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา และศาลไม่อาจลงโทษจําเลยในฐานะเป็นเจ้าพนักงานผู้กระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 147 และ 157 ตามฟ้องของโจทก์ได้ แต่เมื่อทางพิจารณาได้ความว่า จําเลยเบียดบังทรัพย์ของผู้เสียหายไปในฐานะบุคคลธรรมดาซึ่งโจทก์ได้บรรยายฟ้องกล่าวถึงข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิดฐานยักยอกตาม ป.อ. มาตรา 352 ไว้แล้ว ศาลย่อมมีอำนาจลงโทษจําเลยในความผิดตาม ป.อ. มาตรา 352 วรรคแรก ได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคท้าย ประกอบมาตรา 215 และ 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2128/2567

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การแบ่งมรดกไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทายาทมีสิทธิในทรัพย์มรดกเท่ากัน โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง
ป.พ.พ. มาตรา 1750 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า การแบ่งปันทรัพย์มรดกนั้น อาจทำได้โดยทายาทต่างเข้าครอบครองทรัพย์สินเป็นส่วนสัด หรือโดยการขายทรัพย์มรดกแล้วเอาเงินที่ขายได้มาแบ่งปันกันระหว่างทายาท วรรคสอง บัญญัติว่า ถ้าการแบ่งมิได้เป็นไปตามวรรคก่อน แต่ได้ทำโดยสัญญา จะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่ เว้นแต่จะมีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างหนึ่งอย่างใด ลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิดหรือตัวแทนของฝ่ายนั้นเป็นสำคัญ ในกรณีเช่นนี้ให้นำมาตรา 850, 852 แห่งประมวลกฎหมายนี้ว่าด้วยประนีประนอมยอมความมาใช้บังคับโดยอนุโลม เห็นว่า การแบ่งปันทรัพย์มรดกนั้น ป.พ.พ. บรรพ 6 ลักษณะ 4 หมวด 3 บัญญัติไว้โดยเฉพาะ ตามหลักกฎหมายดังกล่าวแบ่งได้ 3 วิธี กล่าวคือ 1) โดยทายาทต่างเข้าครอบครองเป็นส่วนสัด ด้วยการแบ่งตัวทรัพย์ตามความยินยอมโดยตรงหรือโดยปริยายและต่างเข้าครอบครองตามทรัพย์มรดกที่ได้รับแบ่งนั้น กรณีนี้ไม่ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือก็บังคับได้ 2) โดยการขายทรัพย์มรดกแล้วเอาเงินที่ขายได้แบ่งปันกันระหว่างทายาท กรณีเกิดจากทายาทผู้มีสิทธิในทรัพย์มรดกไม่อาจแบ่งตัวทรัพย์กันได้ การขายอาจตกลงกันว่าให้ประมูลกันระหว่างทายาท หรือประกาศขายหรือถ้าตกลงกันไม่ได้ก็ต้องนำคดีมาฟ้องเรียกให้แบ่งมรดกโดยขอให้ศาลพิพากษาให้แบ่งระหว่างเจ้าของรวม ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1364 และ 3) การแบ่งปันทรัพย์มรดกโดยสัญญาที่มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างหนึ่งอย่างใดลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิดหรือตัวแทนของฝ่ายนั้นเป็นสำคัญ มิเช่นนั้นจะฟ้องร้องบังคับคดีหาได้ไม่ เมื่อโจทก์ยืนยันตามที่บรรยายฟ้องว่า ฉ. และ ล. ในฐานะผู้จัดการมรดกได้นัดประชุมทายาทโดยธรรมของ พ. เพื่อแบ่งปันทรัพย์มรดก ในวันนัดมีโจทก์ และทายาททุกคนยกเว้นจำเลยมาประชุมโดยพร้อมกัน ที่ประชุมตกลงให้มีการจับฉลากแบ่งทรัพย์มรดกให้แก่ทายาททุกคนในสัดส่วนเท่า ๆ กัน เมื่อจำเลยไม่มาประชุม ที่ประชุมจึงมอบหมายให้ ล. เป็นผู้จับฉลากแทน เมื่อการแบ่งปันทรัพย์มรดกโดย ฉ. และ ล. ในฐานะผู้จัดการมรดกนั้น มิชอบด้วย ป.พ.พ. บรรพ 6 ลักษณะ 4 หมวด 3 ที่บัญญัติไว้โดยเฉพาะตามหลักกฎหมายข้างต้น แม้ ฉ. และ ล. ในฐานะผู้จัดการมรดกจดทะเบียนโอนที่พิพาทให้แก่โจทก์แล้ว ที่พิพาทก็ยังเป็นทรัพย์มรดกที่ยังไม่ได้แบ่งซึ่งจำเลยผู้เป็นทายาทด้วยกันย่อมมีส่วนกรรมสิทธิ์ในที่พิพาทเท่ากันตาม ป.พ.พ. มาตรา 1745, 1746 และย่อมมีสิทธิครอบครองและใช้ประโยชน์ในที่พิพาทได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1360 วรรคหนึ่ง โจทก์ไม่อาจอ้างความเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ฟ้องขับไล่และเรียกค่าเสียหายจากจำเลยได้ กรณีตามคำฟ้องถือว่ายังไม่มีข้อโต้แย้งเกิดขึ้นเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ของจำเลยต่อโจทก์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55 ทั้งข้ออ้างอันเป็นหลักแห่งข้อหาตามฟ้องมิใช่เรื่องขอแบ่งมรดกในอันที่ศาลจะพิจารณาพิพากษาให้ได้ เพราะเป็นการเกินไปกว่าหรือนอกเหนือจากที่ปรากฏในคำฟ้อง ซึ่งต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1201/2567

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การยอมรับข้อเท็จจริงร่วมกันของคู่ความมีผลผูกพันศาลตามหลักการยอมรับของคู่ความ (principle of party disposition)
ในวันนัดเดินเผชิญสืบ คู่ความทั้งสองฝ่ายลงชื่อรับรองความถูกต้องของแผนผังและแถลงสละประเด็นพิพาท ข้อ 2 ที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์หรือจำเลยทั้งสอง กรณีจึงไม่จำต้องสืบพยานและวินิจฉัยประเด็นพิพาท ข้อ 2 อีกต่อไป ข้อเท็จจริงจึงเป็นไปตามที่คู่ความยอมรับกันในความรับรู้ของศาลตามหลักความประสงค์ของคู่ความ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 84 (3) และมาตรา 99 วรรคหนึ่ง โดยไม่ต้องใช้พยานหลักฐาน ไม่ต้องอาศัยกฎเกณฑ์เรื่องหน้าที่นำสืบ เรื่องการรับฟังพยานหลักฐานหรือเรื่องการชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานแต่อย่างใด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4639/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ผู้สนับสนุนการกระทำความผิดของเจ้าพนักงาน – ความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานร่วมกันทำเอกสารเท็จ
จำเลยที่ 1 แม้ไม่มีฐานะหรือคุณสมบัติเป็นเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่ตามกฎหมายโดยตรงในการดูแลและประสานโครงการจัดงานประเพณีบุญบั้งไฟบ้านบ่อน้ำใส ประจำปีงบประมาณ 2557 อันจะร่วมกระทำความผิดเป็นตัวการหรือเป็นผู้ใช้ให้กระทำความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่องค์การบริหารส่วนตำบลตรึม และปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตได้ แต่การที่จำเลยที่ 1 ให้ ว. ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ทำบันทึกตกลงซื้อบั้งไฟและบันทึกตกลงจ้างเหมาวงดนตรีกลองยาวนำขบวนแห่เสนอให้ ร. นายกองค์การบริหารส่วนตำบลตรึมลงนามในเอกสารดังกล่าว และให้ ว. ทำสัญญายืมเงินอันเป็นเท็จแล้ว จำเลยที่ 1 ไม่ได้นำเงินงบประมาณดังกล่าวไปจัดงานประเพณีบุญบั้งไฟ เป็นการแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองหรือผู้อื่นจากเงินงบประมาณ และจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้บังคับบัญชามีอำนาจเหนือสามารถให้คุณให้โทษแก่จำเลยที่ 2 ว. และ ป. ซึ่งเป็นผู้ใต้บังคับบัญชา ได้พูดจาว่าจะเป็นผู้รับผิดชอบด้วยตนเองเพื่อเร่งรัดให้จำเลยที่ 2 ว. และ ป. ซึ่งเป็นคณะกรรมการตรวจรับพัสดุและมีหน้าที่ทำเอกสาร กรอกข้อความลงในใบตรวจรับพัสดุ ได้จัดทำใบตรวจรับพัสดุว่าผู้ขายส่งมอบบั้งไฟตามบันทึกตกลงซื้อคุณภาพถูกต้องครบถ้วน และคณะกรรมการตรวจรับพัสดุได้รับบั้งไฟซึ่งตรวจรับถูกต้องสมควรจ่ายเงินให้แก่ผู้รับจ้างอันเป็นเท็จ และทำใบตรวจรับพัสดุว่าผู้รับจ้างส่งมอบงานจ้างเหมาวงดนตรีกลองยาวนำขบวนแห่งวดสุดท้ายถูกต้องและครบถ้วน จึงสมควรจ่ายค่าจ้างให้แก่ผู้รับจ้างอันเป็นเท็จนั้น เป็นการกระตุ้นส่งเสริมเร่งเร้าหรือโน้มน้าวชักจูงใจจำเลยที่ 2 ว. และ ป. มุ่งกระทำให้หนักแน่นยิ่งขึ้น จนจำเลยที่ 2 ว. และ ป. ยินยอมลงชื่อในใบตรวจรับพัสดุดังกล่าวทั้งสองฉบับ เพื่อรับรองเป็นหลักฐานว่าตนได้กระทำการอย่างใดขึ้นหรือว่าการอย่างใดได้กระทำต่อหน้าจำเลยที่ 2 ว. และ ป. อันเป็นเท็จและรับรองเป็นหลักฐานซึ่งข้อเท็จจริงอันเอกสารนั้นมุ่งพิสูจน์ความจริงอันเป็นเท็จ การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นการสนับสนุนให้จำเลยที่ 2 ว. และ ป. กระทำความผิดดังกล่าวก่อนหรือขณะกระทำความผิดซึ่งครบองค์ประกอบความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนให้จำเลยที่ 2 ว. และ ป. เจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่องค์การบริหารส่วนตำบลตรึม และปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ทำให้จำเลยที่ 1 ได้รับประโยชน์จากเงินงบประมาณในการจัดงานประเพณีบุญบั้งไฟที่ไม่ควรได้โดยชอบด้วยกฎหมาย