คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.พ.พ. ม. 419

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 220 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8680/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความฟ้องเรียกเงินค่าที่ดินส่วนเกินหลังส่งมอบไม่ครบตามสัญญาซื้อขาย
สัญญาซื้อขายที่ดินระหว่างโจทก์ทั้งสามกับจำเลยทั้งสองกำหนดจำนวนเนื้อที่ดินที่ตกลงซื้อกันไว้ด้วย แสดงให้เห็นเจตนาของโจทก์ทั้งสามและจำเลยทั้งสองว่า ให้ถือเอาจำนวนเนื้อที่ดินเป็นสาระสำคัญ จึงมิใช่การซื้อขายเหมาแปลง เมื่อจำเลยทั้งสองส่งมอบที่ดินน้อยกว่าที่ตกลงซื้อขายกัน และโจทก์ทั้งสามเลือกรับที่ดินที่จำเลยทั้งสองส่งมอบ โจทก์ทั้งสามจึงต้องชำระราคาค่าที่ดินตามส่วนของที่ดินที่ได้รับมอบเท่านั้น สำหรับเงินค่าที่ดินที่โจทก์ทั้งสามชำระแก่จำเลยทั้งสองเกินส่วนไป แม้จะถือว่าเป็นเงินที่จำเลยทั้งสองได้มาโดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้และจำต้องคืนแก่โจทก์ทั้งสามฐานลาภมิควรได้ก็ตาม แต่เมื่อโจทก์ทั้งสามฟ้องเรียกเงินดังกล่าวคืนเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งปีนับแต่เวลาที่โจทก์ทั้งสามรู้ว่าตนมีสิทธิเรียกคืน ฟ้องโจทก์ทั้งสามจึงขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10669/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความคดีเรียกคืนเงินที่ส่งผิดพลาด และการหักกลบลบหนี้ค่าตอบแทนการค้า
โจทก์ฟ้องเรียกเงินจากการที่พนักงานของโจทก์โอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากจำเลยที่ 1 เป็นค่าตอบแทนจากการจำหน่ายสินค้า เกินกว่าที่จำเลยที่ 1 ควรจะได้รับ เป็นกรณีฟ้องเรียกคืนทรัพย์ที่โจทก์อ้างว่าจำเลยทั้งสองได้รับโดยปราศจากมูลจะอ้างตามกฎหมาย เข้าลักษณะลาภมิควรได้ ห้ามฟ้องคดีเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งปีนับแต่ฝ่ายผู้เสียหายรู้ว่าจะมีสิทธิเรียกคืน หรือเมื่อพ้นกำหนดเวลาสิบปีนับแต่เวลาที่สิทธินั้นได้มีขึ้น การที่ วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2548 มีการตรวจหนี้สินระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสองครั้งสุดท้าย พบว่าโจทก์ส่งเงินมูลค่าสูงกว่าให้จำเลยทั้งสอง วันดังกล่าวจึงก่อให้เกิดสิทธิแก่โจทก์ ที่จะเรียกคืนฐานลาภมิควรได้ โจทก์ฟ้องคดีวันที่ 6 ตุลาคม 2549 ยังไม่เกินหนึ่งปีนับแต่โจทก์รู้ว่าตนมีสิทธิเรียกเงินที่ส่งผิดพลาดคืน คดีจึงไม่ขาดอายุความ
เมื่อคดีฟังได้ว่าจำเลยทั้งสองมีสิทธิได้รับเงินค่าตอบแทนจากการจำหน่ายสินค้าจากโจทก์มากกว่าที่โจทก์ส่งให้จำเลยทั้งสองผิดพลาด หลักลบกลบหนี้แล้ว โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกเงินคืนจากจำเลยทั้งสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3983/2553 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ภาษีซื้อจากการก่อสร้างอาคารแล้วโอนกรรมสิทธิ์ภายใน 3 ปี ถือเป็นภาษีซื้อต้องห้ามตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร
การที่โจทก์คืนเงินภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่จำเลยโดยอาศัย ป.รัษฎากร จึงเป็นกรณีที่จำเลยได้เงินภาษีมูลค่าเพิ่มคืนไปโดยมีมูลอันจะอ้างกฎหมายได้ในขณะรับเงินนั้น การที่โจทก์ฟ้องเรียกภาษีคืนจึงมิใช่ฟ้องเรียกคืนในฐานลาภมิควรได้อันอยู่ในบังคับจะใช้อายุความ 1 ปี นับแต่โจทก์รู้ว่ามีสิทธิเรียกคืนตาม ป.พ.พ. มาตรา 419 คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
กรณีที่จำเลยเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนซึ่งประกอบกิจการทั้งประเภทที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มคือระบบถนนยกระดับและการใช้ประโยชน์จากพื้นที่ของการรถไฟแห่งประเทศไทย กับประเภทที่ไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มคือระบบรถไฟชุมชนซึ่งได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตาม ป.รัษฎากร มาตรา 81 (1) (ณ) จำเลยต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขของมาตรา 82/6 ประกอบประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 29) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการเฉลี่ยภาษีซื้อตาม ป.รัษฎากร มาตรา 82/6 ลงวันที่ 9 มีนาคม 2535 ซึ่งหลักการสำคัญของการเฉลี่ยภาษีซื้อนั้นมีหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขให้ผู้ประกอบการจะต้องยื่นแบบแจ้งรายการเพื่อขอเฉลี่ยภาษีซื้อต่อโจทก์ หากไม่ยื่นแบบแจ้งรายการจะมีผลให้ไม่มีสิทธิขอคืนหรือขอเครดิตภาษีซื้อที่เกิดจากการก่อสร้างดังกล่าว ประกอบกับหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนดนั้นจำเลยต้องแจ้งรายการวันที่ก่อสร้างอาคารเสร็จสมบูรณ์ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ก่อสร้างอาคารเสร็จสมบูรณ์และแจ้งรายการเกี่ยวกับการเริ่มใช้อาคารไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วนภายใน 30 วัน นับแต่วันเริ่มใช้อาคารไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน โดยจะต้องแจ้งภายใน 30 วัน นับแต่วันเริ่มใช้อาคารด้วย ดังนั้น เงื่อนไขที่จำเลยจะนำภาษีซื้อเกิดจากการก่อสร้างดังกล่าวมาขอคืนหรือขอเครดิตได้ต้องมีวันที่ก่อสร้างอาคารเสร็จสมบูรณ์และวันที่เริ่มใช้อาคาร เมื่อปรากฏว่าจำเลยถูกบอกเลิกสัญญาสัมปทาน จึงยังไม่มีวันที่ก่อสร้างอาคารเสร็จสมบูรณ์และวันที่เริ่มใช้อาคารดังกล่าว จำเลยจึงไม่มีสิทธิเฉลี่ยภาษีซื้อที่จะนำไปหักออกจากภาษีขายในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มตาม ป.รัษฎากร มาตรา 82/3
สัญญาสัมปทานข้อ 24.1 กำหนดให้บรรดาอาคาร สิ่งปลูกสร้างทั้งหมดที่จำเลยก่อสร้างขึ้นในพื้นที่สัมปทาน รวมถึงทางรถไฟ ถนนยกระดับและทางเชื่อมกับถนนที่มีอยู่เดิมตามสัญญานี้ให้ตกเป็นทรัพย์สินของการรถไฟแห่งประเทศไทยทันทีที่ก่อสร้าง การโอนกรรมสิทธิ์ในสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวถือเป็นการขาย และเป็นการขายที่กระทำภายใน 3 ปี นับแต่เดือนภาษีที่ก่อสร้างเสร็จสมบูรณ์ ภาษีซื้อที่เกิดจากการก่อสร้างดังกล่าวของจำเลยจึงเป็นภาษีซื้อต้องห้ามตาม ป.รัษฎากร มาตรา 82/5 (6) ประกอบประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 42)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4657/2552 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ลาภมิควรได้จากการชำระหนี้ซ้ำซ้อน คดีนี้จำเลยต้องคืนเงินพร้อมดอกเบี้ยให้โจทก์
โจทก์ชำระหนี้ค่าเช่าซื้อรถจักรยานยนต์แก่จำเลยที่ 1 ตามเช็คและรายการชำระเงินจำนวน 3,320,150 บาท อันเป็นการชำระหนี้ซ้ำซ้อน จำเลยที่ 1 ได้รับเงินจำนวนนี้มาโดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้ และเป็นทางให้โจทก์เสียเปรียบจำเลยที่ 1 จึงต้องคืนเงินดังกล่าวให้แก่โจทก์ในฐานลาภมิควรได้ และเนื่องจากทรัพย์ที่ต้องคืนเป็นเงิน จำเลยที่ 1 จึงต้องชำระคืนพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5ต่อปี แต่ไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้บอกกล่าวให้จำเลยที่ 1 คืนเงินดังกล่าวก่อนฟ้องคดี จึงให้คิดดอกเบี้ยได้นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระแล้วเสร็จ
โจทก์โดยกรรมการโจทก์เพิ่งรู้ว่า โจทก์ได้ชำระราคารถจักรยานยนต์ที่เข้าใจกันว่า ค้างชำระอยู่ให้แก่จำเลยที่ 1 จนครบถ้วนไปก่อนแล้ว อันเป็นผลให้โจทก์มีสิทธิเรียกเงินที่ชำระให้จำเลยทั้งสองตามฟ้องคดีนี้คือในฐานลาภมิควรได้ เมื่อเดือนตุลาคม 2543 โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2544 ยังไม่พ้นกำหนด 1 ปี นับแต่โจทก์โดยกรรมการโจทก์รู้สิทธิเรียกคืนนั้น จึงไม่ต้องห้ามมิให้ฟ้องคดีนี้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 419

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3624/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความฟ้องเรียกคืนเงินที่ได้ไปโดยปราศจากมูลละเมิด: ลาภมิควรได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 406 มีอายุความ 1 ปี
โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยคืนเงินค่าเช่าบ้านที่จำเลยเบิกไปโดยจำเลยไม่มีสิทธิเบิกจากทางราชการตาม พ.ร.ฎ.ค่าเช่าบ้านข้าราชการ พ.ศ.2527 มาตรา 7 (1) อันเป็นเรื่องที่โจทก์ไม่มีหน้าที่ต้องจ่ายให้จำเลยและจำเลยก็ไม่มีสิทธิรับเงินดังกล่าว แต่จำเลยรับไปโดยสุจริตเข้าใจว่า ตนมีสิทธิที่จะเบิกค่าเช่าบ้านได้ตามกฎหมาย การที่จำเลยรับเงินไปจากโจทก์จึงเป็นการได้มาโดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้ และเป็นทางให้โจทก์เสียเปรียบ กรณีเป็นเรื่องที่โจทก์ใช้สิทธิฟ้องเรียกทรัพย์คืนในฐานลาภมิควรได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 406 จึงอยู่ในบังคับกำหนดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 419 ที่โจทก์ต้องใช้สิทธิฟ้องร้องเรียกคืนจากจำเลยภายใน 1 ปี นับแต่โจทก์รู้ว่าตนมีสิทธิเรียกคืน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5442-5468/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ลาภมิควรได้จากการจ่ายเงินบำเหน็จเกินสิทธิ และการหักภาษี ณ ที่จ่าย
จำเลยได้รับเงินบำเหน็จซึ่งโจทก์คำนวณจ่ายให้ตามระเบียบการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยว่าด้วยกองทุนบำเหน็จ พ.ศ. 2536 แต่มีมติคณะรัฐมนตรีให้โจทก์เป็นรัฐวิสาหกิจที่ดี ทำให้สิทธิของจำเลยที่จะได้รับเงินบำเหน็จต้องเป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี โจทก์ต้องคำนวณเงินบำเหน็จให้แก่จำเลยตามหลักเกณฑ์ใหม่ที่คณะรัฐมนตรีกำหนดเงินบำเหน็จส่วนต่างที่โจทก์จ่ายเกินไปเพราะการคำนวณตามระเบียบเดิมที่จำเลยได้รับไปย่อมเป็นการได้ไปซึ่งทรัพย์เพราะการที่โจทก์กระทำเพื่อชำระหนี้โดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้และเป็นทางให้โจทก์เสียเปรียบ จึงเป็นลาภมิควรได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 406 อายุความในการฟ้องเรียกให้คืนเงินบำเหน็จที่โจทก์จ่ายเกินไปและต้องคืนเป็นจำนวนเท่าใดย่อมเป็นไปตามบทบัญญัติเรื่องลาภมิควรได้ กรณีมิใช่จำเลยได้ยึดถือเงินบำเหน็จส่วนที่เกินไว้ โดยไม่มีสิทธิอันจะทำให้โจทก์สามารถติดตามเอาคืนได้ทั้งหมดตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336
จำเลยเป็นผู้มีเงินได้จากการได้รับเงินบำเหน็จที่โจทก์ให้จึงมีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้ โดยป. รัษฎากร มาตรา 50 กำหนดให้โจทก์ผู้เป็นนายจ้างต้องหักภาษีเงินได้ไว้ ณ ที่จ่ายแล้วนำส่งกรมสรรพากร หากโจทก์หักและนำส่งภาษีเงินได้ไปเกินกว่าที่จำเลยผู้มีเงินได้ต้องชำระ จำเลยผู้มีเงินได้ก็มีสิทธิไปขอเงินส่วนที่จ่ายเกินไปคืนจากกรมสรรพากรได้ โจทก์ไม่มีสิทธิไปขอคืน จำเลยจึงต้องคืนเงินบำเหน็จส่วนที่รับไปเกินสิทธิให้แก่โจทก์เต็มจำนวนโดยไม่อาจนำจำนวนเงินภาษีเงินได้ที่โจทก์หักไว้ ณ ที่จ่ายมาหักออกได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 823/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ลาภมิควรได้จากการจ่ายเงินเดือนเกินจริง และอายุความฟ้องแย้ง
โจทก์เป็นลูกจ้างจำเลย ในปี 2539 โจทก์มีตำแหน่งเป็นช่างอิเล็กทรอนิคการบินสอง โจทก์ถูกลงโทษทางวินัยให้ตัดเงินเดือนร้อยละ 10 เป็นเวลา 6 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2539 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2540 แต่เนื่องจากความบกพร่องในการปฏิบัติงานภายในของจำเลย จำเลยได้มีคำสั่งเลื่อนเงินเดือนให้แก่โจทก์ในปี 2540 และส่งผลให้ฐานเงินเดือนในการเลื่อนเงินเดือนในปีงบประมาณ 2541 คลาดเคลื่อนคำสั่งเลื่อนเงินเดือนให้แก่โจทก์จึงคลาดเคลื่อนไปด้วย เงินที่โจทก์ได้รับมาจากจำเลยโดยคำสั่งที่ไม่ชอบ จึงเป็นการได้มาโดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้ จึงเป็นลาภมิควรได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 406 วรรคแรก โจทก์ต้องคืนให้แก่จำเลย แต่จำเลยทราบถึงความบกพร่องในการเลื่อนเงินเดือนเมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2541 จำเลยฟ้องแย้งวันที่ 26 กรกฎาคม 2544 พ้นกำหนด 1 ปีนับแต่เวลาที่จำเลยรู้ว่าตนมีสิทธิเรียกเงินคืนตามมาตรา 419 ฟ้องแย้งของจำเลยจึงขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9220/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การรับฟังเอกสารแปล & อายุความฟ้องเรียกเงินคืน
โจทก์อ้างเอกสารที่เป็นภาษาอังกฤษพร้อมคำแปลซึ่งมีผู้แปลอาชีพเป็นผู้แปลประกอบคำเบิกความของพยานโจทก์ จำเลยมิได้ถามค้านพยานโจทก์ขณะเบิกความถึงเอกสารดังกล่าวว่าคำแปลไม่ถูกต้อง ทั้งกฎหมายมิได้บังคับให้ต้องนำผู้แปลเอกสารภาษาต่างประเทศมาสืบเพื่อรับรองความถูกต้องของคำแปล เมื่อจำเลยที่ 1 เห็นว่าคำแปลตอนไหนไม่ถูกต้องและคลาดเคลื่อนอย่างไร จำเลยที่ 1 ก็ชอบที่จะโต้แย้งหรือเสนอคำแปลที่ถูกต้องได้ แต่จำเลยที่ 1 หาได้กระทำการดังกล่าวไม่ จึงถือได้ว่าคำแปลดังกล่าวถูกต้องแล้ว และศาลชอบที่จะรับฟังเอกสารดังกล่าวได้
ธนาคารโจทก์สาขาท่าแพโอนเงินเข้าบัญชีของจำเลยที่ 1 รวม 2 ครั้ง ต่อมาวันที่ 29 พฤศจิกายน 2536 หัวหน้าศูนย์บริการการค้าต่างประเทศของโจทก์ สาขาท่าแพ ตรวจสอบการจ่ายเงินให้ลูกค้าทั้งสองครั้ง พบว่าเป็นการจ่ายตามคำสั่งของลูกค้าต่างประเทศเพียงครั้งเดียว จึงถือว่าโจทก์ทราบเหตุการโอนเงินผิดพลาดเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2536 โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2537 จึงยังไม่พ้นหนึ่งปีนับแต่วันที่โจทก์รู้ว่าตนมีสิทธิเรียกเงินคืน คดีโจทก์ยังไม่ขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5670/2546

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความฟ้องลาภมิควรได้ กรณีคืนภาษีสรรพสามิต: การได้รับเงินคืนโดยไม่มีสิทธิภายหลังถือเป็นลาภมิควรได้
ศาลภาษีอากรกลางวินิจฉัยไว้ว่าฟ้องโจทก์บรรยายโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาและข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาสำหรับเหตุที่ไม่ได้มีการเติมน้ำมันให้แก่เรือและรายละเอียดของกฎกระทรวงตามวรรคสองของพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิตพ.ศ. 2527 มาตรา 102(4) ไม่ใช่ข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักในข้อหาที่โจทก์ฟ้อง จึงสามารถนำสืบในชั้นพิจารณาต่อไปได้ แต่อุทธรณ์ของจำเลยไม่ปรากฏเลยว่าเหตุใดจำเลยจึงเห็นว่ากรณีดังกล่าวมิใช่รายละเอียดที่โจทก์สามารถนำสืบได้ และเหตุใดจำเลยจึงถือว่ารายละเอียดของกฎกระทรวงเป็นข้ออ้างที่โจทก์ต้องอาศัยเป็นหลักแห่งข้อหา อุทธรณ์ของจำเลยไม่มีข้อโต้แย้งคัดค้านคำวินิจฉัยของศาลภาษีอากรกลาง จึงเป็นอุทธรณ์ที่ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. 2528 มาตรา 29
จำเลยฟ้องแย้งขอให้บังคับกรมสรรพสามิตโจทก์คืนค่าภาษีคนละเที่ยวเรือกับที่โจทก์ขอให้บังคับจำเลยคืนค่าภาษีที่จำเลยขอรับคืนไปจากโจทก์แล้ว ซึ่งการนำน้ำมันเชื้อเพลิงขึ้นเรือแต่ละเที่ยวเรือตามคำฟ้องและฟ้องแย้งไม่มีความเกี่ยวข้องกันเป็นการกระทำต่างกรรมต่างวาระกัน ตามคำฟ้องของโจทก์มีประเด็นว่า จำเลยจะต้องคืนเงินค่าภาษีที่จำเลยขอรับคืนไป ให้แก่โจทก์หรือไม่เพียงใด ส่วนฟ้องแย้งของจำเลยมีประเด็นว่าจำเลยมีสิทธิเรียกให้โจทก์คืนเงินค่าภาษีที่จำเลยชำระไว้หรือไม่เพียงใด ดังนั้น แม้ตามคำฟ้องของโจทก์และคำฟ้องแย้งของจำเลยจะเป็นเรื่องของการขอคืนภาษีสรรพสามิตตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิตในมาตราเดียวกัน แต่ภาระการพิสูจน์ข้อเท็จจริงตามคำขอของโจทก์กับฟ้องแย้งของจำเลยก็แตกต่างตรงข้ามกันและไม่มีความเกี่ยวพันกันฟ้องแย้งของจำเลยจึงไม่เกี่ยวกับฟ้องเดิมของโจทก์
คำฟ้องโจทก์มิได้ยืนยันว่าการที่จำเลยขอรับคืนภาษีสรรพสามิตและภาษีเก็บเพิ่มเพื่อกระทรวงมหาดไทยไปจากโจทก์เป็นการกระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อต่อโจทก์โดยผิดกฎหมายหรือจำเลยได้ใช้สิทธิซึ่งมีแต่จะให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลอื่นการที่โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยไม่มีสิทธิตามกฎหมายที่จะได้รับคืนภาษีก็เป็นผลมาจากการที่โจทก์ตรวจสอบพบว่าไม่มีการเติมน้ำมันแก่เรือตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 102(4) แห่งพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2537 กรณีตามฟ้องของโจทก์จึงไม่ใช่เรื่องจำเลยกระทำละเมิดต่อโจทก์ ไม่อาจนำอายุความเรื่องละเมิดมาบังคับแก่คดีได้
จำเลยใช้สิทธิจากการที่จำเลยซึ่งเป็นผู้ประกอบการอุตสาหกรรมผลิตหรือขายหรือจำหน่ายน้ำมันนำน้ำมันที่จำเลยชำระภาษีแล้วเติมให้แก่เรือที่มีขนาดเกินกว่า 500 ตันกรอสส์ และพนักงานศุลกากรได้ปล่อยให้ไปต่างประเทศแล้ว ขอรับคืนค่าภาษีจากกรมสรรพสามิตโจทก์ตามพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2527 มาตรา 102(4) ต่อมาโจทก์ได้รับแจ้งจากกรมศุลกากรว่ามิได้มีการเติมน้ำมันตามชนิดและปริมาณให้แก่เรือซึ่งมีชื่อที่มีขนาดเกินกว่า 500 ตันกรอสส์ จำเลยจึงไม่มีสิทธิตามกฎหมายที่จะได้รับคืนภาษีสรรพสามิตและภาษีเก็บเพิ่มเพื่อกระทรวงมหาดไทยจากโจทก์ การที่จำเลยได้รับเงินค่าภาษีคืนไปแม้ในชั้นแรกจะมีมูลที่จะอ้างกฎหมายได้ แต่ต่อมาปรากฏว่าจำเลยไม่มีสิทธิที่จะได้รับเงินก็ถือว่าไม่มีมูลที่จะอ้างกฎหมายได้เช่นกัน จึงเป็นการได้มาโดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้และเป็นทางให้โจทก์เสียเปรียบ เป็นลาภมิควรได้จำเลยจึงต้องคืนให้แก่โจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 406แต่โจทก์ต้องฟ้องคดีใช้สิทธิเรียกเงินดังกล่าวภายในกำหนด 1 ปี นับแต่เวลาที่โจทก์รู้ว่าตนมีสิทธิเรียกคืนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 419
โจทก์มีหนังสือทวงถามให้จำเลยคืนเงินภาษีที่จำเลยขอรับคืนไปแก่โจทก์เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2539 จึงฟังได้ว่าโจทก์รู้ว่าตนมีสิทธิเรียกคืนซึ่งค่าภาษีจากจำเลยตั้งแต่วันดังกล่าว โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2542 พ้นกำหนด 1 ปี นับแต่โจทก์รู้ว่าตนมีสิทธิเรียกคืน คดีโจทก์จึงขาดอายุความ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 419

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5670/2546 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความฟ้องเรียกคืนเงินค่าภาษีที่ได้รับคืนไปโดยไม่มีสิทธิ: ลาภมิควรได้และอายุความ 1 ปี
จำเลยเป็นผู้ประกอบการอุตสาหกรรมผลิตและจำหน่ายน้ำมัน เมื่อจำเลยจำหน่ายน้ำมันเพื่อเติมแก่เรือที่มีขนาดเกินกว่า 500 ตันกรอสส์ และพนักงานศุลกากรได้ปล่อยให้ไปต่างประเทศแล้ว จำเลยย่อมขอรับคืนค่าภาษีสรรพสามิตและภาษีเก็บเพิ่มเพื่อกระทรวงมหาดไทยที่ชำระไปแล้วคืนได้ ตาม พ.ร.บ. ภาษีสรรพสามิต มาตรา 102 (4) ต่อมาปรากฏว่า แท้จริงมิได้มีการเติมน้ำมันตามชนิดและปริมาณให้แก่เรือขนาดเกินกว่า 500 ตันกรอสส์ จำเลยจึงไม่มีสิทธิตามกฎหมายที่จะได้รับคืนภาษีสรรพสามิตและภาษีเก็บเพิ่มเพื่อกระทรวงมหาดไทยจากโจทก์ การที่จำเลยได้รับเงินค่าภาษีคืนไป แม้ในชั้นแรกจะมีมูลที่จะอ้างกฎหมายได้ แต่ต่อมาปรากฏข้อเท็จจริงว่าจำเลยไม่มีสิทธิตามกฎหมายที่จะได้รับเงินก็ถือว่าไม่มีมูลที่จะอ้างกฎหมายได้เช่นกัน การรับเงินภาษีดังกล่าวคืนจึงเป็นการได้มาโดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้ และเป็นทางให้โจทก์เสียเปรียบจึงเป็นลาภมิควรได้ จำเลยจึงต้องคืนแก่โจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 406 แต่โจทก์ต้องฟ้องคดีใช้สิทธิเรียกร้องเงินดังกล่าวภายใน 1 ปี นับแต่เวลาที่โจทก์รู้ว่าตนมีสิทธิเรียกคืน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 419 เมื่อโจทก์ฟ้องคดีพ้นกำหนด 1 ปี นับแต่โจทก์รู้ว่าตนมีสิทธิเรียกคืน คดีโจทก์จึงขาดอายุความ
of 22