คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 ม. 102 ตรี (3)

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 2 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4374/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การตีความพิกัดศุลกากร, เงินเพิ่ม, เบี้ยปรับ, และการลดหย่อนจากความเข้าใจผิดสุจริต
ชุดอุปกรณ์ควบคุมการใช้ก๊าซธรรมชาติที่โจทก์นำเข้ามาตามใบขนสินค้าขาเข้าพิพาทมีชิ้นส่วนอุปกรณ์ชุดหัวเทียน (Spark Plug) ซึ่งเป็นชิ้นส่วนอุปกรณ์ที่สำคัญที่แสดงให้เห็นว่าชุดอุปกรณ์ควบคุมการใช้ก๊าซธรรมชาติที่โจทก์นำเข้ามานั้นเป็นระบบเชื้อเพลิงเดียว (Dedicated) ชุดอุปกรณ์ควบคุมการใช้ก๊าซธรรมชาติที่โจทก์นำเข้าตามใบขนสินค้าขาเข้าพิพาทจึงไม่ใช่ชุดอุปกรณ์การใช้ก๊าซธรรมชาติในรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซลโดยอัตโนมัติ (ดีเซล ดูเอล ฟูแอล คอนเวอร์ชัน คิท) ที่ใช้เชื้อเพลิงร่วมระหว่างก๊าชธรรมชาติกับน้ำมันดีเซล ไม่จัดเป็นของตามพิกัดอัตราศุลกากร ประเภทย่อย 9032.89 (รายการ - - ที่ 4) และ 9032.89.39 รหัสย่อย 03 (ตามช่วงเวลานำเข้า) ที่จะได้รับยกเว้นอากร ตามประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง การลดอัตราอากรและการยกเว้นอากรศุลกากรตามมาตรา 12 แห่งพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2530 (ฉบับที่ 27) ลงวันที่ 12 ตุลาคม 2548 ประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง การลดอัตราอากรและยกเว้นอากรศุลกากรตามมาตรา 12 แห่งพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2530 ลงวันที่ 31 ธันวาคม 2549 ประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง การลดอัตราอากรและยกเว้นอากรศุลกากรตามมาตรา 12 แห่งพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2530 (ฉบับที่ 10) ลงวันที่ 21 เมษายน 2552 และบัญชีท้ายประกาศกระทรวงการคลังดังกล่าว ดังนั้น สินค้าชุดอุปกรณ์ควบคุมการใช้ก๊าซธรรมชาติในรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซลโดยอัตโนมัติที่โจทก็นำเข้าจึงจัดอยู่ในพิกัดอัตราศุลกากรประเภทย่อย 9032.89 อื่น ๆ และ 9032.89.39 รหัสย่อย 29 อื่น ๆ (ตามช่วงเวลานำเข้า) อัตราอากรร้อยละ 10
โจทก์นำเข้าสินค้าพิพาทโดยสำแดงพิกัดอัตราศุลกากรไม่ถูกต้องเป็นเหตุให้ชำระอากรขาเข้าขาดพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 จึงได้แจ้งการประเมินไปยังโจทก์ให้ชำระอากรที่ขาด ไม่ใช่กรณีคำนวณอากรผิดซึ่งมีอายุความ 2 ปี นับจากวันที่นำของเข้า แต่เป็นกรณีมีอายุความ 10 ปี นับจากวันที่นำของเข้าไม่ว่าเป็นกรณีมีการหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงอากรตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/31 หรือกรณีไม่มีการหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยง แต่จำเลยที่ 1 เรียกอากรที่ขาดไปเพราะเหตุเกี่ยวกับอัตราอากรสำหรับของใด ๆ ตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 10 วรรคสาม ที่ใช้บังคับในขณะเกิดเหตุ ดังนั้น ไม่ว่ามีการหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงอากรหรือไม่ ก็มีอายุความ 10 ปี นับจากวันที่นำของเข้าแตกต่างเฉพาะตัวบทกฎหมายที่อ้างอิงเท่านั้น เมื่อปรากฎข้อเท็จจริงว่าโจทก์นำเข้าสินค้าตามใบขนสินค้าพิพาทระหว่างวันที่ 19 สิงหาคม 2549 ถึง วันที่ 5 พฤศจิกายน 2550 และระหว่างวันที่ 24 มกราคม 2551 ถึงวันที่ 23 พฤศจิกายน 2552 โจทก์ได้รับแบบแจ้งการประเมิน เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2556 ซึ่งการประเมินดังกล่าวเป็นกรณีที่จำเลยที่ 1 ใช้อำนาจหน้าที่ตามที่กฎหมายบังคับไว้เพื่อใช้สิทธิเรียกร้องในทางหนี้ภาษีอากรภายในอายุความ 10 ปี นับจากวันที่นำของเข้า และถือเป็นกรณีที่จำเลยที่ 1 ใช้สิทธิของเจ้าหนี้ได้กระทำการอื่นใดอันมีผลเป็นอย่างเดียวกันกับการฟ้องคดี อายุความย่อมสะดุดหยุดลงตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/14 (5) นับแต่วันที่โจทก์ได้รับแจ้งการประเมิน สิทธิเรียกร้องค่าภาษีอากรของจำเลยที่ 1 จึงไม่ขาดอายุความฟ้องโจทก์ได้บรรยายถึงเหตุที่ไม่ต้องรับผิดในเบี้ยปรับเงินเพิ่มอากรขาเข้าและภาษีมูลค่าเพิ่มและยังขอให้ศาลลดหรืองดเบี้ยปรับและเงินเพิ่มให้แก่โจทก์แล้ว แม้จะไม่ได้ระบุไว้ในคำขอท้ายฟ้องให้ชัดเจนว่า ขอให้ศาลลดหรืองดเบี้ยปรับและเงินเพิ่มให้แก่โจทก์ก็ตาม แต่เมื่อพิจารณาคำฟ้องและการที่โจทก์มีคำขอท้ายฟ้องข้อ 2. ขอให้ศาลมีคำสั่งหรือคำพิพากษาเพิกถอนการเรียกเก็บอากรและภาษีมูลค่าเพิ่ม เงินเพิ่มและเบี้ยปรับ พอจะอนุมานได้ว่าการขอให้เพิกถอนการเรียกเก็บเบี้ยปรับและเงินเพิ่มดังกล่าวหมายความรวมถึงการขอให้งดหรือลดเบี้ยปรับและเงินเพิ่มด้วยนั่นเอง ทั้งศาลภาษีอากรกลางได้กำหนดประเด็นข้อพิพาทไว้ด้วยว่า โจทก์ต้องรับผิดเสียเงินเพิ่มอากรและภาษีมูลค่าเพิ่มพร้อมเบี้ยปรับและเงินเพิ่มหรือไม่ การที่ศาลล่างทั้งสองไม่วินิจฉัยในประเด็นนี้เพราะเห็นว่าเป็นการพิพากษาเกินไปกว่าที่ปรากฏในคำฟ้องจึงไม่ชอบ เห็นสมควรวินิจฉัยประเด็นดังกล่าวโดยไม่ย้อนสำนวนให้ศาลภาษีอากรกลางวินิจฉัยก่อน สำหรับในส่วนเงินเพิ่มอากรขาเข้านั้น เห็นว่า โจทก์และผู้ประกอบการที่นำเข้าชุดควบคุมการใช้ก๊าซธรรมชาติรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซลต่างเข้าใจโดยสุจริตว่า ชุดอุปกรณ์สำหรับดัดแปลงเครื่องยนต์ดีเซลให้ใช้ก๊าซธรรมชาติระบบเดียว (Dedicated NGV) ที่ใช้เชื้อเพลิงธรรมชาติร้อยเปอร์เซนต์ ได้รับยกเว้นอากรตามประกาศกระทรวงการคลัง โจทก์จึงไม่มีเจตนาที่จะสำแดงประเภทพิกัดของสินค้าพิพาทเป็นเท็จ กรณีจึงไม่อาจถือได้ว่าความรับผิดของโจทก์ในการชำระค่าอากรที่ขาดเกิดจากการที่โจทก์สำแดงเท็จในใบขนสินค้าตามฟ้อง แต่ต้องด้วยกรณีที่ไม่ให้เรียกเก็บเงินเพิ่มเมื่อมีการชำระอากรเพิ่ม เนื่องจากเป็นกรณีที่มีการตรวจเก็บอากรขาด และเจ้าหน้าที่ผู้สำรวจอากรตรวจพบตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 102 ตรี อนุมาตรา 3 จำเลยที่ 1 จึงไม่มีสิทธิเรียกให้โจทก์ชำระเงินเพิ่มตามมาตรา 112 จัตวา วรรคหนึ่ง สำหรับในส่วนเงินเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่มนั้น เมื่อโจทก์ยังไม่ได้ชำระภาษีมูลค่าเพิ่มอันสืบเนื่องจากโจทก์สำแดงพิกัดอัตราศุลกากรไม่ถูกต้องด้วยความเข้าใจของโจทก์เอง กรณีจึงไม่มีเหตุที่จะงดหรือลดเงินเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่โจทก์ แต่ในส่วนเบี้ยปรับภาษีมูลค่าเพิ่มนั้น เมื่อโจทก์สำแดงพิกัดอัตราศุลกากรในสินค้าพิพาทโดยความเข้าใจที่สุจริตประกอบกับโจทก์ให้ความร่วมมือในการตรวจสอบภาษี จึงให้ลดเบี้ยปรับลงเหลือร้อยละ 50

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8708/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความฟ้องเรียกค่าอากร: การสำแดงพิกัดสินค้าผิดพลาดไม่ใช่การคำนวณผิดพลาด อายุความ 10 ปี
กรณีที่มีการตรวจเก็บอากรขาดและเจ้าหน้าที่ผู้สำรวจเงินอากรตรวจพบอันเป็นผลให้ผู้นำของเข้าหรือผู้ส่งของออกต้องชำระอากรเพิ่มเติม แต่ไม่ต้องเสียเงินเพิ่มตามมาตรา 112 จัตวา วรรคหนึ่ง นั้น ต้องเป็นกรณีที่ผู้นำของเข้าหรือผู้ส่งของออกมิได้กระทำความผิดฐานลักลอบหนีศุลกากรหรือสำแดงเท็จ แต่ได้สำแดงรายการในใบขนสินค้าขาเข้าหรือใบขนสินค้าขาออกเป็นเหตุให้จำนวนเงินอากรขาดไป เมื่อตามทางนำสืบของโจทก์ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงใดที่แสดงให้เห็นว่า จำเลยที่ 1 มีเจตนาที่จะสำแดงประเภทพิกัดของสินค้าพิพาทเป็นเท็จดังที่โจทก์อ้างในฟ้อง กรณีจึงไม่อาจถือได้ว่าความรับผิดของจำเลยที่ 1 ในการชำระค่าอากรที่ขาดเกิดจากการที่จำเลยที่ 1 สำแดงเท็จในใบขนสินค้าขาเข้าพิพาท แต่ต้องด้วยกรณีที่ไม่ให้เรียกเก็บเงินเพิ่มเมื่อมีการชำระอากรเพิ่มตามมาตรา 102 ตรี (3) เนื่องจากมีการตรวจเก็บอากรขาดและเจ้าหน้าที่ผู้สำรวจเงินอากรตรวจพบ โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินเพิ่มตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 112 จัตวา
ปัญหาว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ ตามมาตรา 10 วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 บัญญัติว่า "เว้นแต่ในกรณีที่มีการหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงอากร สิทธิของกรมศุลกากรที่จะเรียกเก็บเงินอากรที่ขาดเพราะเหตุอันเกี่ยวกับชนิด คุณภาพ ปริมาณ น้ำหนัก หรือราคาแห่งของใด ๆ หรือเกี่ยวกับอัตราอากรสำหรับของใด ๆ นั้นให้มีอายุความ 10 ปี แต่ในเหตุที่ได้คำนวณจำนวนเงินอากรผิดให้มีอายุความ 2 ปี ทั้งนี้นับจากวันที่นำของเข้าหรือส่งของออก" เมื่อการชำระอากรขาดเกิดจากจำเลยที่ 1 สำแดงประเภทพิกัดของสินค้าไม่ถูกต้อง จึงเป็นกรณีที่โจทก์ใช้สิทธิเรียกเงินอากรที่ขาดเพราะเหตุอันเกี่ยวกับอัตราอากรสำหรับสินค้าที่นำเข้า ซึ่งมีอายุความ 10 ปี นับแต่วันที่นำของเข้าตามบทบัญญัติดังกล่าว จำเลยที่ 1 นำเข้าสินค้าพิพาทในคดีนี้ ระหว่างวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2540 ถึงวันที่ 21 กรกฎาคม 2541 เมื่อนับถึงวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2550 ซึ่งเป็นวันที่โจทก์นำคดีมาฟ้องยังไม่เกิน 10 ปี ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ