คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 ม. 112 จัตวา วรรคหนึ่ง

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 6 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4374/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การตีความพิกัดศุลกากร, เงินเพิ่ม, เบี้ยปรับ, และการลดหย่อนจากความเข้าใจผิดสุจริต
ชุดอุปกรณ์ควบคุมการใช้ก๊าซธรรมชาติที่โจทก์นำเข้ามาตามใบขนสินค้าขาเข้าพิพาทมีชิ้นส่วนอุปกรณ์ชุดหัวเทียน (Spark Plug) ซึ่งเป็นชิ้นส่วนอุปกรณ์ที่สำคัญที่แสดงให้เห็นว่าชุดอุปกรณ์ควบคุมการใช้ก๊าซธรรมชาติที่โจทก์นำเข้ามานั้นเป็นระบบเชื้อเพลิงเดียว (Dedicated) ชุดอุปกรณ์ควบคุมการใช้ก๊าซธรรมชาติที่โจทก์นำเข้าตามใบขนสินค้าขาเข้าพิพาทจึงไม่ใช่ชุดอุปกรณ์การใช้ก๊าซธรรมชาติในรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซลโดยอัตโนมัติ (ดีเซล ดูเอล ฟูแอล คอนเวอร์ชัน คิท) ที่ใช้เชื้อเพลิงร่วมระหว่างก๊าชธรรมชาติกับน้ำมันดีเซล ไม่จัดเป็นของตามพิกัดอัตราศุลกากร ประเภทย่อย 9032.89 (รายการ - - ที่ 4) และ 9032.89.39 รหัสย่อย 03 (ตามช่วงเวลานำเข้า) ที่จะได้รับยกเว้นอากร ตามประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง การลดอัตราอากรและการยกเว้นอากรศุลกากรตามมาตรา 12 แห่งพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2530 (ฉบับที่ 27) ลงวันที่ 12 ตุลาคม 2548 ประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง การลดอัตราอากรและยกเว้นอากรศุลกากรตามมาตรา 12 แห่งพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2530 ลงวันที่ 31 ธันวาคม 2549 ประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง การลดอัตราอากรและยกเว้นอากรศุลกากรตามมาตรา 12 แห่งพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2530 (ฉบับที่ 10) ลงวันที่ 21 เมษายน 2552 และบัญชีท้ายประกาศกระทรวงการคลังดังกล่าว ดังนั้น สินค้าชุดอุปกรณ์ควบคุมการใช้ก๊าซธรรมชาติในรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซลโดยอัตโนมัติที่โจทก็นำเข้าจึงจัดอยู่ในพิกัดอัตราศุลกากรประเภทย่อย 9032.89 อื่น ๆ และ 9032.89.39 รหัสย่อย 29 อื่น ๆ (ตามช่วงเวลานำเข้า) อัตราอากรร้อยละ 10
โจทก์นำเข้าสินค้าพิพาทโดยสำแดงพิกัดอัตราศุลกากรไม่ถูกต้องเป็นเหตุให้ชำระอากรขาเข้าขาดพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 จึงได้แจ้งการประเมินไปยังโจทก์ให้ชำระอากรที่ขาด ไม่ใช่กรณีคำนวณอากรผิดซึ่งมีอายุความ 2 ปี นับจากวันที่นำของเข้า แต่เป็นกรณีมีอายุความ 10 ปี นับจากวันที่นำของเข้าไม่ว่าเป็นกรณีมีการหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงอากรตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/31 หรือกรณีไม่มีการหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยง แต่จำเลยที่ 1 เรียกอากรที่ขาดไปเพราะเหตุเกี่ยวกับอัตราอากรสำหรับของใด ๆ ตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 10 วรรคสาม ที่ใช้บังคับในขณะเกิดเหตุ ดังนั้น ไม่ว่ามีการหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงอากรหรือไม่ ก็มีอายุความ 10 ปี นับจากวันที่นำของเข้าแตกต่างเฉพาะตัวบทกฎหมายที่อ้างอิงเท่านั้น เมื่อปรากฎข้อเท็จจริงว่าโจทก์นำเข้าสินค้าตามใบขนสินค้าพิพาทระหว่างวันที่ 19 สิงหาคม 2549 ถึง วันที่ 5 พฤศจิกายน 2550 และระหว่างวันที่ 24 มกราคม 2551 ถึงวันที่ 23 พฤศจิกายน 2552 โจทก์ได้รับแบบแจ้งการประเมิน เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2556 ซึ่งการประเมินดังกล่าวเป็นกรณีที่จำเลยที่ 1 ใช้อำนาจหน้าที่ตามที่กฎหมายบังคับไว้เพื่อใช้สิทธิเรียกร้องในทางหนี้ภาษีอากรภายในอายุความ 10 ปี นับจากวันที่นำของเข้า และถือเป็นกรณีที่จำเลยที่ 1 ใช้สิทธิของเจ้าหนี้ได้กระทำการอื่นใดอันมีผลเป็นอย่างเดียวกันกับการฟ้องคดี อายุความย่อมสะดุดหยุดลงตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/14 (5) นับแต่วันที่โจทก์ได้รับแจ้งการประเมิน สิทธิเรียกร้องค่าภาษีอากรของจำเลยที่ 1 จึงไม่ขาดอายุความฟ้องโจทก์ได้บรรยายถึงเหตุที่ไม่ต้องรับผิดในเบี้ยปรับเงินเพิ่มอากรขาเข้าและภาษีมูลค่าเพิ่มและยังขอให้ศาลลดหรืองดเบี้ยปรับและเงินเพิ่มให้แก่โจทก์แล้ว แม้จะไม่ได้ระบุไว้ในคำขอท้ายฟ้องให้ชัดเจนว่า ขอให้ศาลลดหรืองดเบี้ยปรับและเงินเพิ่มให้แก่โจทก์ก็ตาม แต่เมื่อพิจารณาคำฟ้องและการที่โจทก์มีคำขอท้ายฟ้องข้อ 2. ขอให้ศาลมีคำสั่งหรือคำพิพากษาเพิกถอนการเรียกเก็บอากรและภาษีมูลค่าเพิ่ม เงินเพิ่มและเบี้ยปรับ พอจะอนุมานได้ว่าการขอให้เพิกถอนการเรียกเก็บเบี้ยปรับและเงินเพิ่มดังกล่าวหมายความรวมถึงการขอให้งดหรือลดเบี้ยปรับและเงินเพิ่มด้วยนั่นเอง ทั้งศาลภาษีอากรกลางได้กำหนดประเด็นข้อพิพาทไว้ด้วยว่า โจทก์ต้องรับผิดเสียเงินเพิ่มอากรและภาษีมูลค่าเพิ่มพร้อมเบี้ยปรับและเงินเพิ่มหรือไม่ การที่ศาลล่างทั้งสองไม่วินิจฉัยในประเด็นนี้เพราะเห็นว่าเป็นการพิพากษาเกินไปกว่าที่ปรากฏในคำฟ้องจึงไม่ชอบ เห็นสมควรวินิจฉัยประเด็นดังกล่าวโดยไม่ย้อนสำนวนให้ศาลภาษีอากรกลางวินิจฉัยก่อน สำหรับในส่วนเงินเพิ่มอากรขาเข้านั้น เห็นว่า โจทก์และผู้ประกอบการที่นำเข้าชุดควบคุมการใช้ก๊าซธรรมชาติรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซลต่างเข้าใจโดยสุจริตว่า ชุดอุปกรณ์สำหรับดัดแปลงเครื่องยนต์ดีเซลให้ใช้ก๊าซธรรมชาติระบบเดียว (Dedicated NGV) ที่ใช้เชื้อเพลิงธรรมชาติร้อยเปอร์เซนต์ ได้รับยกเว้นอากรตามประกาศกระทรวงการคลัง โจทก์จึงไม่มีเจตนาที่จะสำแดงประเภทพิกัดของสินค้าพิพาทเป็นเท็จ กรณีจึงไม่อาจถือได้ว่าความรับผิดของโจทก์ในการชำระค่าอากรที่ขาดเกิดจากการที่โจทก์สำแดงเท็จในใบขนสินค้าตามฟ้อง แต่ต้องด้วยกรณีที่ไม่ให้เรียกเก็บเงินเพิ่มเมื่อมีการชำระอากรเพิ่ม เนื่องจากเป็นกรณีที่มีการตรวจเก็บอากรขาด และเจ้าหน้าที่ผู้สำรวจอากรตรวจพบตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 102 ตรี อนุมาตรา 3 จำเลยที่ 1 จึงไม่มีสิทธิเรียกให้โจทก์ชำระเงินเพิ่มตามมาตรา 112 จัตวา วรรคหนึ่ง สำหรับในส่วนเงินเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่มนั้น เมื่อโจทก์ยังไม่ได้ชำระภาษีมูลค่าเพิ่มอันสืบเนื่องจากโจทก์สำแดงพิกัดอัตราศุลกากรไม่ถูกต้องด้วยความเข้าใจของโจทก์เอง กรณีจึงไม่มีเหตุที่จะงดหรือลดเงินเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่โจทก์ แต่ในส่วนเบี้ยปรับภาษีมูลค่าเพิ่มนั้น เมื่อโจทก์สำแดงพิกัดอัตราศุลกากรในสินค้าพิพาทโดยความเข้าใจที่สุจริตประกอบกับโจทก์ให้ความร่วมมือในการตรวจสอบภาษี จึงให้ลดเบี้ยปรับลงเหลือร้อยละ 50

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8708/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความฟ้องเรียกค่าอากร: การสำแดงพิกัดสินค้าผิดพลาดไม่ใช่การคำนวณผิดพลาด อายุความ 10 ปี
กรณีที่มีการตรวจเก็บอากรขาดและเจ้าหน้าที่ผู้สำรวจเงินอากรตรวจพบอันเป็นผลให้ผู้นำของเข้าหรือผู้ส่งของออกต้องชำระอากรเพิ่มเติม แต่ไม่ต้องเสียเงินเพิ่มตามมาตรา 112 จัตวา วรรคหนึ่ง นั้น ต้องเป็นกรณีที่ผู้นำของเข้าหรือผู้ส่งของออกมิได้กระทำความผิดฐานลักลอบหนีศุลกากรหรือสำแดงเท็จ แต่ได้สำแดงรายการในใบขนสินค้าขาเข้าหรือใบขนสินค้าขาออกเป็นเหตุให้จำนวนเงินอากรขาดไป เมื่อตามทางนำสืบของโจทก์ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงใดที่แสดงให้เห็นว่า จำเลยที่ 1 มีเจตนาที่จะสำแดงประเภทพิกัดของสินค้าพิพาทเป็นเท็จดังที่โจทก์อ้างในฟ้อง กรณีจึงไม่อาจถือได้ว่าความรับผิดของจำเลยที่ 1 ในการชำระค่าอากรที่ขาดเกิดจากการที่จำเลยที่ 1 สำแดงเท็จในใบขนสินค้าขาเข้าพิพาท แต่ต้องด้วยกรณีที่ไม่ให้เรียกเก็บเงินเพิ่มเมื่อมีการชำระอากรเพิ่มตามมาตรา 102 ตรี (3) เนื่องจากมีการตรวจเก็บอากรขาดและเจ้าหน้าที่ผู้สำรวจเงินอากรตรวจพบ โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินเพิ่มตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 112 จัตวา
ปัญหาว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ ตามมาตรา 10 วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 บัญญัติว่า "เว้นแต่ในกรณีที่มีการหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงอากร สิทธิของกรมศุลกากรที่จะเรียกเก็บเงินอากรที่ขาดเพราะเหตุอันเกี่ยวกับชนิด คุณภาพ ปริมาณ น้ำหนัก หรือราคาแห่งของใด ๆ หรือเกี่ยวกับอัตราอากรสำหรับของใด ๆ นั้นให้มีอายุความ 10 ปี แต่ในเหตุที่ได้คำนวณจำนวนเงินอากรผิดให้มีอายุความ 2 ปี ทั้งนี้นับจากวันที่นำของเข้าหรือส่งของออก" เมื่อการชำระอากรขาดเกิดจากจำเลยที่ 1 สำแดงประเภทพิกัดของสินค้าไม่ถูกต้อง จึงเป็นกรณีที่โจทก์ใช้สิทธิเรียกเงินอากรที่ขาดเพราะเหตุอันเกี่ยวกับอัตราอากรสำหรับสินค้าที่นำเข้า ซึ่งมีอายุความ 10 ปี นับแต่วันที่นำของเข้าตามบทบัญญัติดังกล่าว จำเลยที่ 1 นำเข้าสินค้าพิพาทในคดีนี้ ระหว่างวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2540 ถึงวันที่ 21 กรกฎาคม 2541 เมื่อนับถึงวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2550 ซึ่งเป็นวันที่โจทก์นำคดีมาฟ้องยังไม่เกิน 10 ปี ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8708/2553 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความฟ้องเรียกค่าภาษีอากร การสำแดงเท็จ และการตรวจพบอากรขาด
ผู้นำของเข้าไม่อุทธรณ์การประเมินต้องถือว่าผู้นำของเข้าพอใจการประเมินอากรขาเข้าและอากรพิเศษตามการประเมินนั้นย่อมเป็นอันยุติ ผู้นำของเข้าจะนำคดีมาฟ้องเพื่อให้เพิกถอนการประเมินหรือต่อสู้คดีในศาลว่าการประเมินนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมายไม่ได้ เมื่อจำเลยที่ 1 ผู้นำของเข้าได้รับหนังสือแจ้งการประเมินโดยชอบแล้ว มิได้อุทธรณ์การประเมิน จำเลยที่ 1 จึงไม่มีสิทธิต่อสู้ว่าการประเมินไม่ชอบ ส่วนจำเลยที่ 2 ถึงที่ 9 เป็นหุ้นส่วนของจำเลยที่ 1 จึงไม่อาจปฏิเสธว่าหนี้ของจำเลยที่ 1 ซึ่งยุติตามการประเมินแล้วเป็นหนี้ที่ไม่ถูกต้อง จำเลยที่ 2 ถึงที่ 9 จึงต้องรับผิดร่วมกันเพื่อหนี้ทั้งปวงของหุ้นส่วนโดยไม่จำกัดจำนวนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1025
กรณีที่มีการตรวจเก็บอากรขาดและเจ้าหน้าที่ผู้สำรวจเงินอากรตรวจพบอันเป็นผลให้ผู้นำของเข้าหรือผู้ส่งของออกต้องชำระอากรเพิ่มเติม แต่ไม่ต้องเสียเงินเพิ่มตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 112 จัตวา วรรคหนึ่ง นั้น ต้องเป็นกรณีที่ผู้นำของเข้าหรือผู้ส่งของออกมิได้กระทำความผิดฐานลักลอบหนีศุลกากรหรือสำแดงเท็จแต่ได้สำแดงรายการในใบขนส่งสินค้าขาเข้าหรือใบขนสิ่งสินค้าขาออกเป็นเหตุให้จำนวนเงินอากรขาดไป เมื่อจำเลยที่ 1 และผู้นำเข้ารายอื่นเคยนำเข้าสินค้ารายการเดียวกับที่เป็นกรณีพิพาทในคดีนี้มานานหลายครั้ง โดยสำแดงประเภทพิกัด 1211.902 ต่อมาสำนักตรวจสอบอากรของโจทก์ได้ตรวจสอบแล้วทักท้วงว่าควรจัดสินค้าพิพาทอยู่ในประเภทพิกัด 1211.909 ซึ่งก่อนมีการแจ้งการประเมินจำเลยที่ 1 ได้โต้แย้งมาตลอดว่าสินค้าพิพาทมีคุณลักษณะที่จัดอยู่ในประเภทพิกัด 1211.902 อันเป็นข้อบ่งชี้ว่าจำเลยที่ 1 เข้าใจโดยสุจริตว่าสินค้าพิพาทจัดอยู่ในประเภทพิกัดดังกล่าวกรณีจึงไม่อาจถือได้ว่าความรับผิดของจำเลยที่ 1 ในการชำระค่าอากรที่ขาดเกิดจากการที่จำเลยที่ 1 สำแดงเท็จจริงในใบขนสินค้าขาเข้าพิพาท แต่ต้องด้วยกรณีที่ไม่ให้เรียกเก็บเงินเพิ่ม เนื่องจากมีการตรวจเก็บอากรขาดและเจ้าหน้าที่ผู้สำรวจเงินอากรตรวจพบโจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินเพิ่มตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 112 จัตวา วรรคหนึ่ง
เมื่อการชำระอากรขาดเกิดจากจำเลยที่ 1 สำแดงประเภทพิกัดของสินค้าไม่ถูกต้อง มิใช่เกิดจากจำเลยที่ 1 สำแดงประเภทพิกัดของสินค้าถูกต้อง แต่โจทก์คำนวณจำนวนเงินอากรผิด จึงเป็นกรณีที่โจทก์ใช้สิทธิเรียกเงินอากรที่ขาดเพราะเหตุอันเกี่ยวกับอัตราอากรสำหรับสินค้าที่นำเข้า ซึ่งมีอายุความ 10 ปี นับแต่วันที่นำของเข้าตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 10 วรรคสาม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 695/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ หนี้ค่าอากรและเงินเพิ่มเป็นมูลหนี้ต่างกัน อากรเป็นหนี้หลัก เงินเพิ่มเป็นหนี้ที่เกิดตามกฎหมาย
หนี้ค่าอากรขาเข้าและเงินเพิ่มเป็นหนี้ที่กฎหมายบัญญัติให้รัฐเรียกเก็บจากเอกชนผู้ทำธุรกรรมตามที่กฎหมายกำหนด หนี้ค่าอากรขาเข้าเกิดขึ้นในเวลาที่นำของเข้าสำเร็จตาม พ.ร.บ.ศุลกากรฯ มาตรา 10 ทวิ วรรคหนึ่ง ส่วนหนี้เงินเพิ่มเกิดขึ้นเนื่องจากผู้นำเข้าไม่ชำระค่าอากรภายในเวลาที่กำหนดกับให้เรียกเก็บนับแต่วันที่ส่งมอบตามมาตรา 112 จัตวา วรรคหนึ่ง ดังนั้นหนี้ค่าอากรกับหนี้เงินเพิ่มจึงเป็นมูลหนี้หลายราย เมื่อจำเลยชำระหนี้ไม่เพียงพอจะเปลื้องหนี้สินได้หมดทุกราย หนี้ค่าอากรเป็นหนี้รายที่ตกหนักที่สุดแก่ลูกหนี้เพราะมีภาระเงินเพิ่มตามกฎหมาย ย่อมได้เปลื้องไปก่อนตาม ป.พ.พ. มาตรา 328 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1378/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ หนี้ค่าอากรและเงินเพิ่มเป็นมูลหนี้ต่างราย ศาลยืนตามเดิม แต่แก้ไขค่าทนายความ
ตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 112 ตรี บัญญัติว่า เงินเพิ่มให้ถือเป็นเงินอากร หมายถึงให้ถือเป็นเงินประเภทเดียวกันเท่านั้น หาได้หมายความถึงเป็นมูลหนี้รายเดียวกันไม่ หนี้ค่าอากรขาเข้าเกิดขึ้นในเวลาที่นำของเข้าสำเร็จ ตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 10 ทวิ วรรคหนึ่ง ในขณะนั้นหนี้เงินเพิ่มยังไม่เกิดขึ้น หนี้เงินเพิ่มเกิดขึ้นเนื่องจากไม่ชำระค่าอากรภายในกำหนดตามมาตรา 112 จัตวา วรรคหนึ่ง หนี้ค่าอากรกับหนี้เงินเพิ่มจึงเป็นมูลหนี้หลายราย หนี้ค่าอากรเป็นหนี้รายที่ตกหนักที่สุดแก่ลูกหนี้ย่อมได้รับปลดเปลื้องไปก่อน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 328 วรรคสอง
คดีนี้มีทุนทรัพย์ 15,668.98 บาท ศาลภาษีอากรกลางกำหนดค่าทนายความให้โจทก์ 2,000 บาท เกินกว่าอัตราที่กำหนดไว้ตามตาราง 6 ท้าย ป.วิ.พ. แม้จำเลยมิได้อุทธรณ์ แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 631/2541

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การคืนอากรขาเข้าเกินและดอกเบี้ย: กรณีศุลกากรประเมินราคาผิดพลาด ผู้เสียภาษีมีสิทธิขอคืน
กรณีของโจทก์เป็นเรื่องพนักงานเจ้าหน้าที่ของกรมศุลกากรจำเลยไม่พอใจราคาสินค้าที่โจทก์สำแดง จึงให้โจทก์ชำระอากรตามสำแดงและให้วางเงินประกันค่าอากรอีกส่วนหนึ่ง ได้มีการส่งมอบสินค้าให้โจทก์รับไปแล้วต่อมาพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยได้ประเมินให้โจทก์ชำระอากรขาเข้าเพิ่มโจทก์ได้ชำระอากรเพิ่มตามที่ได้รับแบบแจ้งการประเมินการชำระเงินค่าอากรเพิ่มกรณีเป็นการชำระหลังจากได้รับมอบสินค้าแล้ว จึงไม่ต้องด้วย พ.ร.บ.ศุลกากรพ.ศ.2469 มาตรา 10 วรรคห้า การที่โจทก์ได้ชำระอากรขาเข้าให้แก่จำเลยตามที่จำเลยเรียกเก็บโดยอาศัยอำนาจตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ แม้โจทก์มิได้แจ้งความไว้ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่หรือสงวนสิทธิในการฟ้องร้องหรือเรียกร้องเงินจำนวนนี้คืน และมิได้บอกกล่าวให้จำเลยคืนเงินตามฟ้องก่อนนั้น ก็มิได้ตัดสิทธิในการฟ้องคดี เมื่อจำเลยไม่มีสิทธิอย่างใดในเงินอากรขาเข้าที่เรียกเก็บตามฟ้องนั้น จำเลยก็ย่อมมีหน้าที่จะต้องคืนเงินจำนวนเท่ากับที่โจทก์ได้ชำระไปให้แก่โจทก์ตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 112 จัตวา วรรคท้าย คดีนี้โจทก์ขอเรียกดอกเบี้ยมาในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของจำนวนเงินที่พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยได้เรียกไว้เกินจำนวนอันจะพึงต้องเสียนับแต่วันที่โจทก์ชำระให้แก่จำเลยแต่ละครั้งจนกว่าจะชำระเสร็จ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องขอคืนอากรและดอกเบี้ยจากจำเลยได้
ราคาสินค้าที่โจทก์สำแดงไว้ในใบขนสินค้านั้น โจทก์มีทั้งพยานบุคคลและพยานเอกสารมานำสืบว่าเป็นราคาที่โจทก์ได้ตกลงซื้อขายกับบริษัทผู้จำหน่ายในต่างประเทศจริง และได้มีการชำระเงินกันโดยผ่านทางธนาคาร จำเลยมิได้นำสืบให้เห็นว่าราคาของที่โจทก์สำแดงไว้ในใบขนสินค้านั้นโจทก์และบริษัทผู้จำหน่ายในต่างประเทศได้สมยอมกันกำหนดราคาให้ต่ำกว่าที่เป็นจริง อีกทั้งจำเลยก็มิได้มีพยานหลักฐานใดมาแสดงให้เห็นว่าราคาอันแท้จริงในท้องตลาดของสินค้าพิพาทเป็นราคาเท่าใด คงเพียงแต่อาศัยราคาที่จำเลยอ้างว่าโจทก์เคยนำเข้าสินค้ามาเป็นเกณฑ์ประเมินราคาอันแท้จริงในท้องตลาดเพียงอย่างเดียว ซึ่งราคาดังกล่าวเป็นราคาที่ผู้จำหน่ายในต่างประเทศได้พิมพ์ผิดพลาดและการประเมินเพิ่มอาศัยหลักการตามที่จำเลยวางระเบียบและคำสั่งราชการให้ใช้ราคานำเข้าสูงสุดครั้งก่อนรายที่พิจารณาเป็นเกณฑ์ในการประเมินราคานั้นระเบียบและคำสั่งของจำเลยเป็นเพียงแนวทางให้เจ้าพนักงานของจำเลยใช้สำหรับพิจารณาราคาอันแท้จริงในท้องตลาดโดยการเปรียบเทียบกับผู้นำเข้าครั้งก่อนเท่านั้นจะถือเป็นราคาอันแท้จริงในท้องตลาดยังไม่ได้ อีกทั้งปรากฏว่าราคาสินค้าที่โจทก์นำเข้าครั้งก่อนมีการพิมพ์ผิดพลาดไม่อาจนำมาเปรียบเทียบได้ ดังนั้น ราคาของที่เจ้าพนักงานของจำเลยประเมินเพิ่มขึ้นจึงไม่อาจถือว่าเป็นราคาอันแท้จริงในท้องตลาด