พบผลลัพธ์ทั้งหมด 2 รายการ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15711/2557
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การฟ้องคดีละเมิดลิขสิทธิ์ จำเลยต้องพิสูจน์ว่าไม่ใช่ผู้กระทำความผิดจริง หากโจทก์ฟ้องไม่ชัดเจน ศาลอาจยกฟ้อง
แม้การกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 มาตรา 80 ประกอบมาตรา 43 และมาตรา 80 ประกอบมาตรา 58 ในคำฟ้องข้อ 2.2 ถึงข้อ 2.5 และข้อ 2.6 ถึงข้อ 2.9 จะเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 23 เมษายน 2555 เวลากลางวัน จนถึงวันที่ 4 กรกฎาคม 2555 เวลากลางวันต่อเนื่องกัน และเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2553 เวลากลางวันจนถึงวันที่ 4 กรกฎาคม 2555 เวลากลางวันต่อเนื่องกัน ตามลำดับ อันเป็นความผิด 2 กรรม ดังที่โจทก์อุทธรณ์ก็ตาม แต่โจทก์บรรยายฟ้องในข้อ 2.2 ถึงข้อ 2.5 และข้อ 2.6 ถึงข้อ 2.9 ในส่วนที่เกี่ยวกับภาพยนตร์และวีดิทัศน์ว่า จำเลยซึ่งเป็นผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการให้เช่า แลกเปลี่ยน หรือจำหน่ายภาพยนตร์และวีดิทัศน์ที่ร้าน บ. และที่ร้าน น. อันได้มีไว้ในสถานที่ประกอบกิจการของตนซึ่งแผ่นซีดีและแผ่นดีวีดีภาพยนต์และวีดิทัศน์ที่ไม่มีการแสดงเครื่องหมายการอนุญาต ประเภทของภาพยนตร์ และหมายเลขรหัสและไม่ผ่านการตรวจพิจารณาและได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์จำนวนกี่แผ่นเท่านั้น โจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องให้เห็นถึงข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิดตาม พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 มาตรา 80 ประกอบมาตรา 43 และมาตรา 80 ประกอบมาตรา 58 ว่า ภาพยนตร์และวีดิทัศน์นั้นเป็นภาพยนตร์และวีดิทัศน์เรื่องใด จัดอยู่ในภาพยนตร์ประเภทใด เช่น เป็นภาพยนตร์ที่เหมาะสมกับผู้ดูทั่วไปดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 26 (2) ภาพยนตร์และวีดิทัศน์นั้นมีเนื้อหาที่เป็นการบ่อนทำลาย ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรืออาจกระทบกระเทือนต่อความมั่นคงของรัฐและเกียรติภูมิของประเทศไทยดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 29 วรรคหนึ่ง และมาตรา 51 ประกอบมาตรา 29 วรรคหนึ่ง หรือไม่ เพื่อแสดงให้เห็นว่าภาพยนตร์นั้นมีเนื้อหาสาระเช่นเดียวกับภาพยนตร์ที่ผ่านการตรวจพิจารณาและได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 43 หรือเพื่อแสดงให้เห็นว่าวีดิทัศน์นั้นมีลักษณะเช่นเดียวกับวีดิทัศน์ที่ผ่านการตรวจพิจารณาและได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 58 เมื่อโจทก์มิได้บรรยายฟ้องถึงข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิดตาม พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 มาตรา 80 ประกอบมาตรา 43 และมาตรา 80 ประกอบมาตรา 58 คำฟ้องของโจทก์ในข้อ 2.2 ถึงข้อ 2.5 และข้อ 2.6 ถึง ข้อ 2.9 จึงเป็นคำฟ้องที่มิได้บรรยายถึงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำความผิดให้ครบองค์ประกอบของความผิดตามบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว คำฟ้องของโจทก์ย่อมเป็นคำฟ้องที่ไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) แม้จำเลยให้การรับสารภาพ ก็ไม่อาจพิพากษาลงโทษจำเลยในข้อหาความผิดตาม พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 มาตรา 80 ประกอบมาตรา 43 และมาตรา 80 ประกอบมาตรา 58 ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5445/2554
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
อายุความคดีทรัพย์สินทางปัญญา: กฎหมายใหม่เป็นคุณแก่จำเลย แม้ฟ้องหลังยกเลิกกฎหมายเก่า ศาลต้องใช้กฎหมายใหม่บังคับ
จำเลยกระทำความผิดฐานเป็นผู้ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบกิจการ มีดีวีดีและวีซีดีภาพยนตร์หรือวีดิทัศน์ที่ภาพและเสียงของเรื่องไม่ผ่านการตรวจพิจารณาและได้รับความเห็นชอบจากเจ้าพนักงานไว้ในสถานประกอบกิจการ และฐานผู้ได้รับอนุญาตมีภาพยนตร์ที่ไม่ได้แสดงเครื่องหมายการอนุญาต ประเภทภาพยนตร์และหมายเลขรหัสไว้ในสถานประกอบการเพื่อจำหน่ายอันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ควบคุมกิจการเทปและวัสดุโทรทัศน์ พ.ศ.2530 มาตรา 35 (1) และมาตรา 36 เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2549 อันเป็นเวลาขณะที่ พ.ร.บ.ควบคุมกิจการเทปและวัสดุโทรทัศน์ พ.ศ.2530 ยังใช้บังคับ ซึ่งความผิดตามมาตรา 35 (1) มีระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และความผิดตามมาตรา 36 มีระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ จึงมีอายุความ 5 ปี ตาม ป.อ. มาตรา 95 (4) จำเลยถูกฟ้องเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2551 ซึ่งขณะนั้น พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 ใช้บังคับแล้วโดยมีผลยกเลิก พ.ร.บ.ควบคุมกิจการเทปและวัสดุโทรทัศน์ พ.ศ.2530 และการกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามมาตรา 25 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 78 และมาตรา 43 ประกอบมาตรา 80 ตาม พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 ซึ่งเป็นกฎหมายใหม่มีระวางโทษปรับตั้งแต่สองแสนบาทถึงหนึ่งล้านบาทและระวางโทษปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท โดยไม่มีโทษจำคุก จึงมีอายุความ 1 ปี ตาม ป.อ. มาตรา 95 (5) ดังนั้น กฎหมายใหม่จึงเป็นคุณแก่จำเลยต้องใช้ พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 มาบังคับใช้แก่การกระทำความผิดของจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 3 จึงต้องนำอายุความตามกฎหมายใหม่มาใช้บังคับแก่จำเลย เมื่อโจทก์ฟ้องคดีนี้เกินกว่า 1 ปี นับแต่วันที่จำเลยกระทำความผิดทั้งสองฐานดังกล่าว คดีนี้จึงเป็นอันขาดอายุความ สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไป