พบผลลัพธ์ทั้งหมด 387 รายการ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8445/2558 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
สิทธิในที่ดินจากการครอบครองและมรดกภายใต้ พ.ร.บ.จัดที่ดินเพื่อการครองชีพ การแบ่งแยกที่ดินตามข้อตกลงทายาท
แม้ตาม พ.ร.บ. จัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ.2511 มาตรา 11 และมาตรา 12 ได้กำหนดให้ทางราชการออกหนังสือแสดงการทำประโยชน์ (กสน.5) ให้แก่สมาชิกนิคมที่ได้เข้าทำประโยชน์ในที่ดิน ซึ่งสมาชิกสามารถนำหนังสือดังกล่าวไปขอออกโฉนดหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ แต่ภายในห้าปีนับแต่วันได้รับโฉนดหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ ผู้ได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ในที่ดินจะโอนที่ดินไปยังผู้อื่นไม่ได้ นอกจากตกทอดทางมรดกหรือโอนไปยังสหกรณ์ที่ตนเป็นสมาชิกอยู่แล้วแต่กรณี และขณะที่ที่ดินพิพาทยังไม่มีการออกโฉนดหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ตามพระราชบัญญัติดังกล่าว ที่ดินพิพาทจึงยังเป็นที่ดินของรัฐซึ่งราษฎรสามารถมีสิทธิครอบครองได้ และไม่มีกฎหมายห้ามโอนสิทธิครอบครองระหว่างราษฎรด้วยกันเพียงแต่ราษฎรไม่สามารถยกการครอบครองขึ้นอ้างต่อรัฐได้เท่านั้น แต่สามารถใช้ยันกันระหว่างราษฎรด้วยกันได้ สิทธิในการครอบครองที่ดินพิพาทดังกล่าวจึงถือเป็นทรัพย์มรดกอย่างหนึ่ง หลังจากที่ ข.ถึงแก่ความตาย ทายาทของ ข.ได้ตกลงให้ใส่ชื่อจำเลยที่ 1 ใน กสน.5 การที่จำเลยที่ 1 มีชื่อใน กสน.5 ดังกล่าวและต่อมาจำเลยที่ 1 ได้ขอออกเป็นโฉนดจึงถือได้ว่าเป็นการถือแทนทายาทอื่น ๆ ของ ข. และต่อมาได้มีการทำบันทึกข้อตกลงการให้ความยินยอมในการแบ่งแยกโฉนดที่ดินจริงตามบันทึกข้อตกลง ข้อตกลงในการแบ่งที่ดินตามโฉนดดังกล่าวจึงเป็นสัญญาแบ่งทรัพย์มรดกระหว่างทายาทและไม่ถือว่าเป็นการจงใจหลีกเลี่ยงข้อกำหนดห้ามโอนตามกฎหมาย หรือมีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามโดยชัดแจ้งตาม พ.ร.บ.จัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ.2511 มาตรา 12 ย่อมไม่มีผลเป็นโมฆะและสามารถบังคับกันได้ จำเลยที่ 1 จึงต้องผูกพันแบ่งแยกที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ทั้งหกตามบันทึกข้อตกลงในการแบ่งแยกโฉนดที่ดิน
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6089/2558 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ที่ดินที่ได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่ผู้ตายมีสิทธิจัดการได้ ทรัพย์มรดกตกแก่ผู้จัดการมรดก
จำเลยมีชื่อถือกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทแทนผู้ตาย แม้ผู้ตายเป็นคนต่างด้าวซื้อที่ดินพิพาทและให้จำเลยเป็นผู้มีชื่อถือกรรมสิทธิ์แทนถือได้ว่าเป็นการได้ที่ดินพิพาทมาโดยไม่ชอบด้วย ป.ที่ดิน มาตรา 86 แต่การได้ที่ดินพิพาทมาดังกล่าวก็หาใช่จะไม่มีผลใด ๆ เสียเลย เพราะผู้ตายยังมีสิทธิได้รับผลตามบทบัญญัติ มาตรา 94 แห่ง ประมวลกฎหมายที่ดิน ในอันที่จะจัดการจำหน่ายที่ดินพิพาทนั้นได้ภายในเวลาที่อธิบดีกรมที่ดินกำหนด หรืออธิบดีกรมที่ดินอาจจำหน่ายที่ดินนั้นได้ กรณีต้องถือว่าตราบใดที่ผู้ตายหรืออธิบดีกรมที่ดินยังไม่ได้จำหน่ายที่ดินพิพาท ที่ดินพิพาทจึงยังเป็นของผู้ตาย เมื่อผู้ตายถึงแก่ความตาย ที่ดินพิพาทย่อมเป็นทรัพย์มรดกของผู้ตาย โจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกจึงมีอำนาจฟ้องขอให้บังคับจำเลยจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทแก่โจทก์หรือนำไปจำหน่ายตาม ป.ที่ดิน มาตรา 94 แล้วนำเงินมาแบ่งปันแก่ทายาทได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2857/2558
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การโอนที่ดินมรดกโดยไม่ชอบ ผู้มีส่วนได้เสียมีสิทธิเพิกถอนนิติกรรมได้
ที่ดินพิพาทเป็นสินสมรสระหว่างจำเลยที่ 1 กับ อ. เมื่อ อ.ถึงแก่ความตาย การสมรสระหว่างจำเลยที่ 1 กับ อ. ย่อมสิ้นสุดลง ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1501 มีผลให้ต้องคิดส่วนแบ่งทรัพย์สินระหว่างจำเลยที่ 1 กับ อ. ตั้งแต่วันที่การสมรสสิ้นไปด้วยเหตุความตายนั้น ในบังคับของบทบัญญัติว่าด้วยการหย่าโดยความยินยอมของทั้งสองฝ่าย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1625 ที่ดินพิพาทจึงต้องแบ่งให้จำเลยที่ 1 และ อ. ได้คนละส่วนเท่ากัน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1533 ที่ดินพิพาทกึ่งหนึ่งส่วนของ อ. ย่อมเป็นมรดกตกทอดแก่ทายาทโดยธรรมคือ โจทก์กับบุตรอีก 4 คน ของ อ. ซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมลำดับที่ 1 และจำเลยที่ 1 คู่สมรสซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมมีสิทธิได้รับส่วนแบ่งเสมือนเป็นทายาทชั้นบุตร ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1599, 1629 (1) และ 1635 (1) ดังนี้ ที่ดินพิพาทส่วนที่เป็นมรดกของ อ. จึงต้องแบ่งให้แก่ บุตรทุกคนรวมทั้งโจทก์ โจทก์และจำเลยที่ 1 คนละ 1 ใน 6 จำเลยที่ 1 จึงมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท 7 ใน 12 ส่วน และมีสิทธิจดทะเบียนยกที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 ได้เฉพาะส่วนของตนเท่านั้น การที่จำเลยที่ 1 จดทะเบียนยกที่ดินพิพาทรวมทั้งส่วนของโจทก์ให้แก่จำเลยที่ 2 ซึ่งมิใช่ทายาทโดยธรรม ของ อ. โดยไม่มีค่าตอบแทน เป็นทางเสียเปรียบแก่โจทก์ผู้อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อน โจทก์ในฐานะทายาทโดยธรรมของ อ. คนหนึ่งย่อมมีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนเฉพาะส่วนของตนและเรียกทรัพย์มรดกของ อ. ในส่วนของตนได้ ตาม ป.พ.พ มาตรา 1300 ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้เพิกถอนนิติกรรมจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 กับที่ 2 กึ่งหนึ่งของที่ดินพิพาท นั้น จึงไม่ชอบ ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้คู่ความมิได้ฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เอง ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11486/2556
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
สิทธิรับเงินชดเชยจากผลกระทบเขื่อนเป็นมรดกได้ การปลอมเอกสารทำให้ทายาทเสียหายมีสิทธิเรียกร้องค่าชดใช้
แม้ขณะที่ ก. ถึงแก่ความตายเมื่อปี 2540 ก. ยังไม่มีสิทธิได้รับจัดที่ดินและการชดเชยเพราะคณะรัฐมนตรีเพิ่งมีมติให้ผู้ที่ถูกน้ำท่วมอันเป็นผลกระทบจากการสร้างเขื่อนสิรินธรได้รับสิทธิเช่นว่านั้น เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2550 สิทธิได้รับจัดที่ดินและการชดเชยตามมติคณะรัฐมนตรีจึงมิใช่ทรัพย์สินที่ ก. มีอยู่ในขณะถึงแก่ความตายและมิใช่เป็นมรดกของ ก. ผู้ตายก็ตาม แต่ ป.พ.พ. บรรพ 6 ลักษณะมรดก เป็นบทกฎหมายใกล้เคียงอย่างยิ่งในอันที่จะใช้บังคับแก่สิทธิได้รับจัดที่ดินและการชดเชย ดังนั้น สิทธิได้รับจัดที่ดินและการชดเชยของ ก. จึงควรตกทอดได้แก่ทายาทของ ก. เสมือนหนึ่งเป็นทรัพย์มรดก เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าจำเลยกับพวกร่วมกันปลอมคำขอสละมรดกสิทธิการได้รับจัดที่ดินและการชดเชยตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2550 และใช้เอกสารปลอมดังกล่าว จนเป็นเหตุให้โจทก์ร่วมทั้งสามซึ่งเป็นบุตรของ ก. ไม่ได้รับเงินชดเชยตามมติคณะรัฐมนตรี ดังนี้ โจทก์ร่วมทั้งสามซึ่งเป็นทายาทของ ก. จึงได้รับความเสียหายในทางทรัพย์สินอันเนื่องมาจากการกระทำความผิดของจำเลยกับพวกแล้ว โจทก์ร่วมทั้งสามจึงมีสิทธิขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ร่วมทั้งสามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 ซึ่งได้แก่การคืนทรัพย์สินอันโจทก์ร่วมทั้งสามต้องเสียไปจากการกระทำความผิดของจำเลยกับพวกอันเป็นการกระทำละเมิดหรือใช้ราคาทรัพย์ รวมทั้งค่าเสียหายอันจะพึงบังคับให้ใช้เพื่อความเสียหายอย่างใด ๆ อันได้ก่อขึ้นนั้นด้วย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10507/2556
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
สิ้นสุดความเป็นผู้อนุบาลเมื่อผู้ถูกอนุบาลถึงแก่ความตาย ศาลอุทธรณ์ชอบที่จะจำหน่ายคดี
เมื่อ ส. คนไร้ความสามารถถึงแก่ความตาย ความเป็นผู้อนุบาลของคนไร้ความสามารถย่อมสิ้นสุดตาม ป.พ.พ. มาตรา 28 วรรคสอง และมาตรา 1598/18 วรรคสอง ประกอบมาตรา 1598/11 ผู้อนุบาลจะต้องรีบส่งมอบทรัพย์สินที่จัดการแก่ทายาทของ ส. และทำบัญชีในการจัดการทรัพย์สินส่งมอบภายในหกเดือนและถ้ามีเอกสารเกี่ยวกับเรื่องจัดการทรัพย์สินก็ให้ส่งมอบพร้อมกับบัญชี แต่ถ้าผู้อนุบาลหรือทายาทร้องขอศาลจะสั่งให้ยืดเวลาก็ได้ทั้งนี้ตามมาตรา 1598/18 วรรคสอง ประกอบมาตรา 1598/11 เมื่อ ส. ถึงแก่ความตายกองมรดกของ ส. ได้แก่ทรัพย์สินทุกชนิดตลอดทั้งสิทธิหน้าที่และความรับผิดต่างๆ เว้นแต่ตามกฎหมายหรือโดยสภาพแล้วเป็นการเฉพาะตัวของผู้ตายโดยแท้ย่อมตกทอดแก่ทายาทตามมาตรา 1599 วรรคหนึ่งและมาตรา 1600 ดังนั้น หากระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ของผู้อนุบาลก่อให้เกิดความเสียหายแก่ ส. อย่างไร ความเสียหายที่ ส. ได้รับย่อมเป็นมรดกของ ส. ที่ตกได้แก่ทายาทที่จะเรียกร้องเอาแก่ผู้อนุบาล เมื่อ ส. ถึงแก่ความตายก็ไม่มีประโยชน์ที่จะพิจารณาว่าสมควรถอนผู้คัดค้านที่ 2 ออกจากการเป็นผู้อนุบาลหรือไม่ ศาลอุทธรณ์ชอบที่จะจำหน่ายคดีได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 132 ประกอบ พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 6 กรณีเช่นนี้ถือว่าเป็นการเพิกถอนคำสั่งศาลชั้นต้นโดยปริยาย หาผูกพันว่าผู้คัดค้านที่ 2 ปฏิบัติผิดหน้าที่ไม่
อนึ่ง ศาลอุทธรณ์สั่งจำหน่ายคดีโดยมิได้สั่งเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมเป็นการไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 151 วรรคสามและมาตรา 167 วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 6 ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไข
อนึ่ง ศาลอุทธรณ์สั่งจำหน่ายคดีโดยมิได้สั่งเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมเป็นการไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 151 วรรคสามและมาตรา 167 วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 6 ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไข
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 19128/2555
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การบังคับคดีหลังจำเลยเสียชีวิต: ทายาทต้องรับผิดชอบหน้าที่ตามคำพิพากษาเดิม ไม่ใช่คดีค้างพิจารณา
เมื่อคดีถึงที่สุดแล้วและจำเลยที่ 1 ถึงแก่ความตายในระหว่างการบังคับคดี หน้าที่และความรับผิดของจำเลยที่ 1 ย่อมตกแก่ทายาทตาม ป.พ.พ. มาตรา 1599 และ 1600 เพื่อให้การบังคับคดีเสร็จไปเท่านั้น จึงไม่ใช่เรื่องคดีค้างพิจารณาที่ศาลจำต้องปฏิบัติตาม ป.วิ.พ. มาตรา 42 และ 44 ผู้ร้องจึงไม่อาจยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทนจำเลยที่ 1 ผู้มรณะ และยื่นคำร้องขอเพิกถอนการบังคับคดีได้ แม้การร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทนจำเลยที่ 1 ผู้มรณะ ของผู้ร้อง อาจเป็นไปเพื่อใช้สิทธิของจำเลยที่ 1 ซึ่งตกทอดแก่ตนในฐานะทายาทก็ตาม แต่การร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทนที่ผู้มรณะในชั้นบังคับคดีนั้น จำต้องได้ความว่ามีข้อโต้แย้งสิทธิตามกฎหมายเกิดขึ้นในชั้นบังคับคดีเสียก่อน เมื่อคำร้องของผู้ร้องไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่ามีการบังคับคดีโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมายอันมีผลกระทบต่อสิทธิของผู้ร้องในฐานะทายาทของจำเลยที่ 1 อย่างไร จึงเป็นคำร้องที่ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 296 ลำพังเพียงเหตุว่าโจทก์ไม่บังคับคดีภายในสิบปี หาก่อให้เกิดสิทธิในการรับมรดกความเพื่อต่อสู้ในชั้นบังคับคดีได้ไม่ ทั้งการบังคับคดีภายในกำหนดระยะเวลาหรือไม่ก็เป็นสิทธิของโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา ไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายใดให้อำนาจผู้ร้องที่จะร้องขอให้การบังคับคดีสิ้นผลเมื่อล่วงพ้นกำหนดระยะเวลาสิบปีได้ ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการบังคับคดี
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16040/2555
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
สิทธิค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรเป็นสิทธิเฉพาะตัว สิ้นสุดเมื่อบิดามารดาเสียชีวิต ไม่ตกทอดเป็นมรดก
ป.พ.พ. มาตรา 1598/41 กำหนดถึงสิทธิของผู้เยาว์ที่จะได้รับค่าอุปการะเลี้ยงดูจากบิดามารดาว่าจะสละหรือโอนไม่ได้ และไม่อยู่ในข่ายแห่งการบังคับคดี สิทธิหน้าที่เกี่ยวกับค่าอุปการะเลี้ยงดูจึงเป็นเรื่องเฉพาะตัวของผู้ทรงสิทธิและหน้าที่ที่จะต้องชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูก็เป็นเรื่องเฉพาะตัวเช่นกัน หากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งถึงแก่ความตาย สิทธิและหน้าที่ดังกล่าวก็เป็นอันสิ้นสุดลงไม่ตกทอดไปยังทายาท เมื่อโจทก์ซึ่งเป็นบิดาถึงแก่ความตายไปแล้วสภาพบุคคลของโจทก์ก็หมดสิ้นไป ภาระหน้าที่ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่ให้โจทก์จ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์นับแต่มีคำพิพากษาจนบุตรบรรลุนิติภาวะจึงยุติไปด้วย แม้โจทก์จะทำพินัยกรรมยกทรัพย์มรดกให้แก่ทายาทไว้ก็ตาม หน้าที่ในการอุปการะเลี้ยงดูของโจทก์ก็ไม่ตกทอดเป็นมรดกแก่ทายาทตาม ป.พ.พ. มาตรา 1599 และมาตรา 1600 กองมรดกของโจทก์ไม่ต้องชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ทั้งสองให้แก่จำเลยอีกต่อไป
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1268/2555
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การส่งมอบหนี้ตามสัญญาค้ำประกันแก่ทายาท ความผูกพันทางทรัพย์สินหลังการตายของผู้ค้ำประกัน
ค้ำประกันเป็นสัญญาที่ผู้ค้ำประกันยอมผูกพันตนต่อเจ้าหนี้เพื่อชำระหนี้ในเมื่อลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ ผู้ค้ำประกันหาได้มีหนี้ที่จะต้องปฏิบัติต่อเจ้าหนี้โดยอาศัยความสามารถหรือคุณสมบัติบางอย่างซึ่งต้องกระทำเป็นการเฉพาะตัวไม่ ผู้ค้ำประกันมีความผูกพันต้องชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ในเมื่อลูกหนี้ไม่ชำระหนี้อันเป็นความผูกพันในทางทรัพย์สินเท่านั้น ด้วยเหตุนี้เมื่อ พ. ทำสัญญาค้ำประกันการชำระหนี้เงินกู้ของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นหนี้อันสมบูรณ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 681 วรรคหนึ่ง แม้ขณะที่ พ. ถึงแก่ความตาย จำเลยที่ 1 ผู้กู้ยังไม่ผิดสัญญาหรือผิดนัดก็ตาม สัญญาค้ำประกันก็หาได้ระงับไปเพราะความตายของ พ. ไม่ สิทธิหน้าที่และความรับผิดต่าง ๆ ตามสัญญาค้ำประกันที่ พ. ทำกับโจทก์จึงเป็นมรดกตกทอดแก่ทายาทตาม ป.พ.พ. มาตรา 1599 วรรคหนึ่ง และมาตรา 1600
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7058/2554
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การครอบครองทรัพย์มรดกแต่ผู้เดียวไม่ถือเป็นการครอบครองแทนทายาทอื่น แม้ไม่มีการแบ่งมรดก
ทายาทคนหนึ่งครอบครองทรัพย์มรดกแต่ผู้เดียวตั้งแต่เจ้ามรดกตายไม่มีบทกฎหมายสนับสนุนว่าทายาทคนนั้นครอบครองทรัพย์มรดกแทนทายาทอื่น
ป.พ.พ. มาตรา 1745 มีความหมายว่าให้นำบทบัญญัติในหมวดว่าด้วยกรรมสิทธิรวม มาตรา 1356 ถึง 1366 มาใช้บังคับเท่าที่ไม่ขัดกับบทบัญญัติบรรพ 6 เมื่อพิจารณาประกอบมาตรา 1599 ย่อมเห็นได้ว่ากรณีมีทายาทหลายคนเมื่อเจ้ามรดกตายทรัพย์สินของเจ้ามรดกย่อมตกแก่ทายาทเป็นเจ้าของร่วมกันไม่ใช่เป็นทรัพย์ไม่มีเจ้าของ แต่ยังไม่เป็นเจ้าของร่วมกันตามบทบัญญัติว่าด้วยกรรมสิทธิ์รวมทุกอย่างและยังต้องตกอยู่ภายใต้บังคับบทบัญญัติในบรรพ 6 ด้วย เช่น ทายาทที่ไม่ได้ร่วมครอบครองทรัพย์มรดกร่วมกับทายาทอื่นไม่ฟ้องขอแบ่งมรดกภายในอายุความก็อาจสูญเสียสิทธิในการเป็นทายาทหรือทายาทสละมรดกโดยถูกต้องตามแบบการสละมรดกหรือทายาทตกลงแบ่งปันทรัพย์มรดก ซึ่งแตกต่างกับการเป็นเจ้าของรวมตามบทบัญญัติว่าด้วยกรรมสิทธิรวมที่ต้องเสียสิทธิเมื่อเจ้าของร่วมคนอื่นแย่งการครอบครองหรือเจ้าของรวมสละความเป็นเจ้าของหรือตกลงแบ่งกรรมสิทธิ์รวม ดังนั้นทายาทคนหนึ่งครอบครองทรัพย์มรดกแต่ผู้เดียวจึงไม่ถือว่าเป็นการครอบครองทรัพย์มรดกแทนทายาทอื่น
ป.พ.พ. มาตรา 1745 มีความหมายว่าให้นำบทบัญญัติในหมวดว่าด้วยกรรมสิทธิรวม มาตรา 1356 ถึง 1366 มาใช้บังคับเท่าที่ไม่ขัดกับบทบัญญัติบรรพ 6 เมื่อพิจารณาประกอบมาตรา 1599 ย่อมเห็นได้ว่ากรณีมีทายาทหลายคนเมื่อเจ้ามรดกตายทรัพย์สินของเจ้ามรดกย่อมตกแก่ทายาทเป็นเจ้าของร่วมกันไม่ใช่เป็นทรัพย์ไม่มีเจ้าของ แต่ยังไม่เป็นเจ้าของร่วมกันตามบทบัญญัติว่าด้วยกรรมสิทธิ์รวมทุกอย่างและยังต้องตกอยู่ภายใต้บังคับบทบัญญัติในบรรพ 6 ด้วย เช่น ทายาทที่ไม่ได้ร่วมครอบครองทรัพย์มรดกร่วมกับทายาทอื่นไม่ฟ้องขอแบ่งมรดกภายในอายุความก็อาจสูญเสียสิทธิในการเป็นทายาทหรือทายาทสละมรดกโดยถูกต้องตามแบบการสละมรดกหรือทายาทตกลงแบ่งปันทรัพย์มรดก ซึ่งแตกต่างกับการเป็นเจ้าของรวมตามบทบัญญัติว่าด้วยกรรมสิทธิรวมที่ต้องเสียสิทธิเมื่อเจ้าของร่วมคนอื่นแย่งการครอบครองหรือเจ้าของรวมสละความเป็นเจ้าของหรือตกลงแบ่งกรรมสิทธิ์รวม ดังนั้นทายาทคนหนึ่งครอบครองทรัพย์มรดกแต่ผู้เดียวจึงไม่ถือว่าเป็นการครอบครองทรัพย์มรดกแทนทายาทอื่น
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6291/2554
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
สิทธิการจัดการมรดกของทายาทโดยลำดับและผู้จัดการมรดก
แม้ผู้คัดค้านที่ 3 ไม่อาจเข้ารับมรดกแทนที่ อ. เพราะ อ. ถึงแก่ความตายภายหลังเจ้ามรดกก็ตาม แต่ผู้คัดค้านที่ 3 เป็นบุตรของ อ. ซึ่งเป็นทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของผู้ตายเพราะเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันกับผู้ตาย ซึ่งไม่มีสามีและบุตร และบิดามารดาตายไปก่อนแล้ว เมื่อ อ. ถึงแก่ความตายภายหลังผู้ตาย ทรัพย์มรดกในส่วนของ อ. จึงตกแก่ผู้คัดค้านที่ 3 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1599 ดังนั้น ผู้คัดค้านที่ 3 ย่อมเป็นทายาทผู้สืบสิทธิของ อ. ในการรับมรดกของผู้ตาย จึงเป็นผู้มีส่วนได้เสีย มีสิทธิขอให้ศาลมีคำสั่งตั้งผู้คัดค้านที่ 3 เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายได้