คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.อ. ม. 3

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 498 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6582/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเปลี่ยนแปลงกฎหมายระหว่างพิจารณาคดี และหลักการใช้กฎหมายที่คุ้มครองจำเลยมากที่สุดในคดีจำหน่ายวีซีดีผิดกฎหมาย
ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา มี พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 ออกใช้บังคับ โดยมาตรา 3(4) ให้ยกเลิก พ.ร.บ.ควบคุมกิจการเทปและวัสดุโทรทัศน์ พ.ศ.2530 แต่มาตรา 54 วรรคหนึ่ง บัญญัติห้ามผู้ใดประกอบกิจการให้เช่า แลกเปลี่ยน หรือจำหน่ายวีดิทัศน์ โดยทำเป็นธุรกิจหรือได้รับประโยชน์ตอบแทน เว้นแต่ได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียน ดังนั้น การที่จำเลยประกอบกิจการให้เช่า แลกเปลี่ยน หรือจำหน่ายแผ่นวีซีดีเกมซึ่งบันทึกภาพและเสียงอันเข้าลักษณะเป็นวีดิทัศน์ตามบทนิยามศัพท์ในมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ.ภาพยนต์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 อันเป็นกฎหมายใหม่ จึงไม่อาจถือว่ากฎหมายใหม่ยกเลิกการกระทำความผิดของจำเลยดังกล่าว
ในส่วนโทษที่จะลงแก่จำเลยนั้น ต้องใช้กฎหมายในส่วนที่เป็นคุณแก่จำเลยไม่ว่าในทางใดมาบังคับแก่คดี ตาม ป.อ. มาตรา 3 เมื่อมาตรา 82 แห่ง พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 ซึ่งเป็นกฎหมายใหม่ระวางโทษปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงห้าแสนบาท และปรับอีกไม่เกินวันละหนึ่งหมื่นบาทตลอดระยะเวลาที่ฝ่าฝืนอยู่ ในขณะที่มาตรา 34 แห่ง พ.ร.บ.ควบคุมกิจการเทปและวัสดุโทรทัศน์ พ.ศ.2530 ซึ่งเป็นกฎหมายเก่าระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ จึงต้องใช้กฎหมายใหม่ในส่วนที่ไม่มีระวางโทษจำคุกซึ่งเป็นคุณแก่จำเลยมากกว่ามาใช้บังคับ เมื่อมีแต่ระวางโทษปรับสถานเดียว จึงไม่อาจรอการกำหนดโทษแก่จำเลยในความผิดฐานนี้ได้ สำหรับอัตราระวางโทษปรับนั้น ตามกฎหมายเก่าเป็นคุณแก่ผู้กระทำความผิดมากกว่า จึงต้องใช้อัตราระวางโทษปรับตามกฎหมายเก่าบังคับแก่จำเลยปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศจึงมีอำนาจยกขึ้นอ้างและแก้ไขโดยปรับบทกฎหมายให้ถูกต้องได้ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 45 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5531/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดฐานช่วยเหลือคนต่างด้าวผิดกฎหมายและจ้างงาน, การใช้กฎหมายอาญามาตรา 3, และการรอการลงโทษ
โจทก์บรรยายฟ้องสรุปได้ว่า จำเลยรู้ว่า ย. กับพวกรวม 14 คน ซึ่งเป็นคนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชาเข้ามาในราชอาณาจักรโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ให้เข้าพักอาศัยซ่อนเร้น และช่วยด้วยประการใด ๆ เพื่อให้คนต่างด้าวนั้นพ้นจากการจับกุม ต่อมาจำเลยรับคนต่างด้าวดังกล่าวซึ่งไม่มีใบอนุญาตทำงานเข้าทำงานเป็นกรรมกรที่โครงการก่อสร้างหมู่บ้าน พ. ซึ่งเป็นงานที่ห้ามคนต่างด้าวทำโดยเด็ดขาด โดยโจทก์หาได้บรรยายฟ้องว่าจำเลยช่วยคนต่างด้าวที่เข้ามาในราชอาณาจักรโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมายด้วยการรับคนต่างด้าวนั้นให้เข้าทำงานเป็นกรรมกรที่โครงการก่อสร้างหมู่บ้าน พ. เพียงประการเดียวเท่านั้นไม่ แต่ตามฟ้องกลับแสดงให้เห็นว่าจำเลยได้ช่วยด้วยประการอื่น ๆ อีก เพื่อให้คนต่างด้าวนั้นพ้นจากการจับกุมนอกจากการรับเข้าทำงาน ตามฟ้องของโจทก์ดังกล่าวจึงแยกเจตนาของจำเลยในการกระทำความผิดได้อย่างชัดเจน การกระทำความผิดของจำเลยจึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน
ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกาได้มี พ.ร.บ.การทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2551 ฉบับใหม่ประกาศใช้บังคับแทนฉบับเดิม (พ.ศ.2521) ซึ่งบทความผิดฐานรับคนต่างด้าวที่ไม่มีใบอนุญาตทำงานเข้าทำงานนั้นได้บัญญัติไว้ในมาตรา 27 ส่วนบทกำหนดโทษสำหรับความผิดฐานดังกล่าวได้บัญญัติไว้ในมาตรา 54 โดยมาตรา 54 บัญญัติว่า "ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 27 ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาทและถ้าคนต่างด้าวนั้นไม่มีใบอนุญาต ผู้กระทำต้องระวางโทษปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาทต่อคนต่างด้าวที่จ้างหนึ่งคน" เห็นได้ว่าอัตราโทษตามกฎหมายใหม่ดังกล่าวมีเพียงโทษปรับเท่านั้น มิได้มีโทษถึงจำคุกดั่งที่บัญญัติไว้ใน มาตรา 39 แห่ง พ.ร.บ.การทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2521 เช่นนี้ กฎหมายที่บัญญัติในภายหลังเกี่ยวกับโทษจำคุกจึงเป็นคุณแก่จำเลยมากกว่า แต่โทษปรับตามกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดเป็นคุณมากกว่า จึงต้องใช้กฎหมายในส่วนที่เป็นคุณแก่จำเลยไม่ว่าในทางใดตาม ป.อ. มาตรา 3 ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 795/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การปรับบทลงโทษผิดฐานพรากเด็กและพาเด็กเพื่ออนาจาร ศาลฎีกาแก้ไขให้ถูกต้องตามข้อกฎหมาย
ความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากมารดา ศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยมิได้กระทำเพื่อการอนาจาร จึงปรับบทลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 317 วรรคแรก โจทก์มิได้อุทธรณ์ ดังนั้น เมื่อฟังไม่ได้ว่าจำเลยมีเจตนาพิเศษเพื่อการอนาจาร อันเป็นองค์ประกอบความผิดฐานพาเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเพื่อการอนาจาร ตาม ป.อ. มาตรา 283 ทวิ วรรคสอง ที่ศาลชั้นต้นปรับบทลงโทษจำเลยตามมาตรานี้มาด้วยและศาลอุทธรณ์ภาค 3 มิได้พิพากษาแก้ไขในส่วนนี้เป็นการไม่ชอบ ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 215 และมาตรา 225
อนึ่ง แม้ในระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา ได้มี พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 19) พ.ศ.2550 มาตรา 3 ยกเลิกความในมาตรา 277 และให้ใช้ข้อความใหม่แทน แต่กฎหมายที่แก้ไขใหม่ไม่เป็นคุณแก่จำเลย จึงต้องใช้กฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดบังคับ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6980/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การลดโทษตามพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษหลังคดีถึงที่สุด มิใช่การใช้กฎหมายใหม่ที่บัญญัติหลังการกระทำผิด
การลดโทษตาม พ.ร.ฎ.พระราชทานอภัยโทษเนื่องในวโรกาสหรือโอกาสต่าง ๆ ภายหลังคดีถึงที่สุดแล้ว เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษแต่ละฉบับ กรณีดังกล่าวมิใช่กฎหมายที่ใช้ในขณะการกระทำความผิดแตกต่างกับกฎหมายที่ใช้ภายหลังการกระทำความผิดเป็นคุณแก่ผู้กระทำความผิดและโทษที่กำหนดตามคำพิพากษาหนักกว่าที่กำหนดตามกฎหมายที่บัญญัติในภายหลังตาม ป.อ. มาตรา 3 (1) ที่จำเลยที่ 1 จะขอให้กำหนดโทษใหม่ได้ คำร้องของจำเลยที่ 1 ไม่ต้องด้วย ป.อ. มาตรา 3 (1)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6034/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การพิจารณาโทษจำคุกเดิมของผู้ต้องหา และการใช้กฎหมายยาเสพติดที่แก้ไขใหม่ในการลงโทษ
โจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องหรือกล่าวอ้างว่าจำเลยที่ 1 เคยต้องโทษจำคุกมาก่อน เพื่อประกอบดุลพินิจในการลงโทษของศาล การที่เจ้าหน้าที่ศาลรายงานว่าจำเลยที่ 1 เคยต้องโทษในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 726/2541 จำคุก 1 เดือน และศาลชั้นต้นสอบถามจำเลยที่ 1 ว่า เคยมีประวัติต้องโทษเมื่อปี 2541 เรื่องอาวุธปืนตามรายงานเจ้าหน้าที่ดังกล่าวหรือไม่ แต่ก็ไม่ปรากฏว่าคดีดังกล่าวถึงที่สุดแล้วและจำเลยที่ 1 ได้รับโทษจำคุกจริงหรือไม่ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 ไม่ฟังว่าจำเลยที่ 1 เคยได้รับโทษจำคุกมาก่อนจึงชอบด้วยกฎหมาย
ในระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น ได้มี พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 5)ฯ มาตรา 8 และ 19 ยกเลิกความในมาตรา 15 และ 67 แห่ง พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษฯ และให้ใช้ข้อความใหม่แทนโดยในบทความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตตามมาตรา 15 วรรคหนึ่ง ทั้งกฎหมายเดิมและกฎหมายที่แก้ไขใหม่ คงใช้ข้อความทำนองเดียวกัน จึงต้องใช้กฎหมายเดิมบังคับแก่จำเลยที่ 1 ในส่วนนี้ ส่วนบทกำหนดโทษนั้น มาตรา 67 กฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดแตกต่างจากกฎหมายที่ใช้ภายหลังกระทำความผิด และกฎหมายที่ใช้ในภายหลังกระทำความผิดเป็นคุณมากกว่าในส่วนที่เกี่ยวกับโทษซึ่งมีหลายสภาพที่จะลงได้ ส่วนโทษปรับตามกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดเป็นคุณมากกว่าจึงต้องใช้กฎหมายในส่วนที่เป็นคุณบังคับแก่จำเลยที่ 1 ไม่ว่าในทางใดตาม ป.อ. มาตรา 3 ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นอ้างและแก้ไขโดยปรับบทกฎหมายให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5345/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การใช้บัตรเครดิตปลอม ชดใช้ความเสียหายต่อสถาบันการเงินและสังคม ศาลไม่รอการลงโทษ
ในระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ มี พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติม ป.อ. (ฉบับที่ 17)ฯ กำหนดความผิดอาญาและอัตราโทษสำหรับการกระทำผิดเกี่ยวกับบัตรและข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ โดยกำหนดให้การกระทำตามฟ้องเป็นความผิดและต้องระวางโทษตาม ป.อ. มาตรา 269/4 วรรคแรก ประกอบมาตรา 267/7 แต่กฎหมายที่แก้ไขใหม่ไม่เป็นคุณแก่จำเลย จึงต้องใช้กฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดบังคับแก่จำเลย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4303/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบังคับใช้กฎหมายน้ำมันเชื้อเพลิงที่เปลี่ยนแปลง และการปลอมปนน้ำมันเชื้อเพลิง การแจ้งประกอบกิจการแทนใบอนุญาต
พ.ร.บ.น้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2521 มาตรา 25 ตรี วรรคสอง วางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี และปรับตั้งแต่ 4,000 บาท ถึง 200,000 บาท แต่ พ.ร.บ.การค้าน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2543 มาตรา 49 วรรคสอง วางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับตั้งแต่ 50,000 บาท ถึง 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ต้องถือว่า พ.ร.บ.การค้าน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2543 มาตรา 49 วรรคสอง ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ภายหลังกระทำความผิดเป็นคุณมากกว่าในส่วนที่เกี่ยวกับโทษซึ่งมีหลายสถานที่จะลงได้ แต่โทษปรับตามกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดเป็นคุณมากกว่า จึงต้องใช้กฎหมายในส่วนที่เป็นคุณบังคับแก่จำเลยไม่ว่าในทางใดตาม ป.อ. มาตรา 3 ปัญหานี้เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาจึงมีอำนาจยกขึ้นอ้างและแก้ไขโดยปรับบทกฎหมายฐานนี้ให้ถูกต้องได้
ความผิดฐานเก็บน้ำมันเชื้อเพลิงชนิดน่ากลัวอันตรายไว้เพื่อจำหน่ายขาย และทำการจำหน่ายขายในสถานที่ที่มิได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงาน อันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการเก็บรักษาน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2474 มาตรา 48 นั้นปรากฏว่าขณะคดีนี้อยู่ระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้นได้มี พ.ร.บ.ควบคุมน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2542 มาตรา 7 (1) บัญญัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานมีอำนาจออกกฎกระทรวงเกี่ยวกับการเก็บรักษา และการควบคุมอื่นเกี่ยวกับน้ำมันเชื้อเพลิง ต่อมาได้มีกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับการแจ้ง การอนุญาต และอัตราค่าธรรมเนียมเกี่ยวกับการประกอบกิจการน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2546 ข้อที่ 2 (3) กำหนดให้น้ำมันเชื้อเพลิงที่มีจุดวาบไฟต่ำกว่า 37.8 องศาเซลเซียส เป็นน้ำมันเชื้อเพลิงชนิดไวไฟมาก ดังนั้น น้ำมันเบนซินไร้สารตะกั่วออกเทน 95 ซึ่งมีจุดวาบไฟต่ำกว่า 23 องศาเซลเซียส อันเป็นเชื้อเพลิงชนิดน่ากลัวอันตรายตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการเก็บรักษาน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2474 มาตรา 4 (3) ถือว่าเป็นน้ำมันเชื้อเพลิงชนิดไวไฟมากตาม พ.ร.บ.ควบคุมน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2542 เมื่อสถานีบริการน้ำมันของจำเลยเป็นสถานีบริการน้ำมันที่เก็บรักษาน้ำมันชนิดไวไฟมากไว้ในถังน้ำมันเชื้อเพลิง สถานีบริการน้ำมันของจำเลยจึงเป็นสถานีบริการน้ำมันประเภท ง ตามกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไขเกี่ยวกับการแจ้ง การอนุญาต และอัตราค่าธรรมเนียมเกี่ยวกับการประกอบกิจการน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2546 ข้อ 15 ซึ่งแก้ไขโดยกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไขเกี่ยวกับการแจ้ง การอนุญาต และอัตราค่าธรรมเนียมเกี่ยวกับการประกอบกิจการน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2546 (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2547 ข้อ 2 อันเป็นกิจการควบคุมประเภทที่ 2 ตามกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไขเกี่ยวกับการแจ้ง การอนุญาต และอัตราค่าธรรมเนียมเกี่ยวกับการประกอบกิจการน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2546 ข้อ 19 (3) ซึ่งกฎกระทรวงข้อที่ 21 กำหนดให้ผู้ที่ประสงค์จะประกอบกิจการต้องแจ้งการประกอบกิจการต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามแบบ ธฑ.น. ท้ายกฎกระทรวง โดยไม่ต้องขอใบอนุญาตประกอบกิจการ การที่จำเลยประกอบกิจการสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานจึงไม่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ควบคุมน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2542 การกระทำของจำเลยแม้เป็นความผิดดังที่โจทก์กล่าวอ้างในฟ้อง จำเลยก็พ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 2 วรรคสอง ไม่อาจลงโทษจำเลยในความผิดฐานนี้ได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 ประกอบมาตรา 215 และ 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4123/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ประกาศคปท.ยกเลิกบทบัญญัติ พ.ร.บ.เลือกตั้งท้องถิ่นเฉพาะส่วน ไม่กระทบความผิดจำเลย
ประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 32 ข้อ 3 บัญญัติว่า บรรดาบทบัญญัติใดตาม พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นฯ ที่ขัดหรือแย้งกับประกาศฉบับนี้ให้ใช้บทบัญญัติในประกาศฉบับนี้แทน ตามประกาศฉบับดังกล่าวให้คณะกรรมการการเลือกตั้งต้องประกาศผลการเลือกตั้งให้แล้วเสร็จโดยเร็ว ซึ่งต้องไม่เกินสามสิบวันนับแต่วันเลือกตั้ง และให้คณะกรรมการการเลือกตั้งมีคำสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้ได้รับการเลือกตั้งภายหลังประกาศผลการเลือกตั้งแล้วได้ ดังนั้น บทบัญญัติตาม พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นฯ ที่ขัดหรือแย้งกับเรื่องดังกล่าวเท่านั้นที่จะมีผลเป็นอันถูกยกเลิกไป ส่วนบทบัญญัติอื่นนอกจากนั้นยังมีผลใช้บังคับอยู่รวมทั้งบทบัญญัติที่ว่าการกระทำของจำเลยตามฟ้องเป็นความผิดและกำหนดโทษไว้ จึงไม่ใช่กรณีที่มีกฎหมายที่บัญญัติในภายหลังว่าการกระทำของจำเลยตามฟ้องไม่เป็นความผิดต่อไป หรือกฎหมายที่ใช้ภายหลังการกระทำความผิดเป็นคุณแก่ผู้กระทำความผิด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 990/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุผู้กระทำความผิดกับการลงโทษตามกฎหมายอาญา มาตรา 18 วรรคสอง และการใช้ดุลพินิจของศาล
ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 1 อายุ 18 ปี 11 เดือน ไม่อยู่ในหลักเกณฑ์ที่จะได้รับการบังคับใช้กฎหมายที่เป็นคุณตาม ป.อ. มาตรา 18 วรรคสอง ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 16) พ.ศ.2546 จึงไม่ต้องห้ามมิให้นำโทษประหารชีวิตและโทษจำคุกตลอดชีวิตมาบังคับใช้แก่จำเลยที่ 1

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 548/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การปรับโทษตามกฎหมายใหม่หลังคดีถึงที่สุด ต้องพิจารณาโทษจำคุกขั้นสูง
ตาม ป.อ. มาตรา 3 บัญญัติว่า "ถ้ากฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดแตกต่างกับกฎหมายที่ใช้ในภายหลังการกระทำความผิด ให้ใช้กฎหมายในส่วนที่เป็นคุณแก่ผู้กระทำความผิดไม่ว่าในทางใด เว้นแต่คดีถึงที่สุดแล้ว แต่ในกรณีที่คดีถึงที่สุดแล้วดังต่อไปนี้ (1) ถ้าผู้กระทำความผิดยังไม่ได้รับโทษ หรือกำลังรับโทษอยู่และโทษที่กำหนดตามคำพิพากษาหนักกว่าโทษที่กำหนดตามกฎหมายที่บัญญัติในภายหลัง... ให้ศาลกำหนดโทษเสียใหม่ตามกฎหมายที่บัญญัติในภายหลัง..." คำว่าโทษที่กำหนดตามกฎหมายที่บัญญัติในภายหลังตาม ป.อ. มาตรา 3 (1) นั้น หมายถึงโทษจำคุกขั้นสูงตามกฎหมายที่บัญญัติในภายหลัง คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุก 20 ปี แต่โทษจำคุกตามคำพิพากษาก็ยังต่ำกว่าโทษขั้นสูงตามกฎหมายที่บัญญัติในภายหลังที่วางโทษจำคุกตลอดชีวิต จึงถือไม่ได้ว่าโทษจำคุกตามคำพิพากษาหนักกว่าโทษจำคุกตามกฎหมายที่บัญญัติในภายหลัง ไม่ต้องด้วย ป.อ. มาตรา 3 (1) ที่ศาลจะกำหนดโทษใหม่ได้
of 50