คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.พ.พ. ม. 425

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 1,014 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2416/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดร่วมกันของจำเลยในคดีละเมิด และการหักเงินค่าสินไหมทดแทนที่ชำระแล้ว
ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 176 บัญญัติถึงผลการถอนฟ้องว่า โจทก์อาจนำฟ้องมายื่นใหม่ได้ แสดงว่าการถอนฟ้องไม่ได้ทำให้หนี้ระงับ จึงไม่ใช่การปลดหนี้ อันเป็นเรื่องความระงับแห่งหนี้ จำเลยที่ 1 และที่ 2 ต่างคนต่างทำละเมิดก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์สามารถแยกออกจากกันได้ซึ่งต่างคนต่างต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามสมควรแก่พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิดที่ตนกระทำ เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าความเสียหายตามฟ้องเกิดขึ้นจากความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 2 เท่านั้น มิได้เกี่ยวกับจำเลยที่ 1 การที่โจทก์ถอนฟ้องจำเลยที่ 1 จึงไม่ทำให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 หลุดพ้นจากความรับผิดต่อโจทก์
สำหรับจำเลยที่ 3 เป็นนายจ้างของจำเลยที่ 2 ต้องร่วมกันรับผิดกับลูกจ้างในผลแห่งละเมิดซึ่งจำเลยที่ 2 ลูกจ้างได้กระทำไปในทางการที่จ้าง ส่วนจำเลยที่ 4 เป็นผู้รับประกันภัยค้ำจุนต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความวินาศภัยตามเงื่อนไขที่กำหนดในกรมธรรม์ประกันภัย ความรับผิดของจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ที่มีต่อโจทก์ จึงเป็นความรับผิดในหนี้จำนวนเดียวกันอันจะแบ่งกันชำระมิได้ ต้องร่วมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมตาม ป.พ.พ. มาตรา 301 จำเลยที่ 4 ชำระเงินค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ตามวงเงินในกรมธรรม์ประกันภัยแล้วส่วนหนึ่ง จำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงได้รับประโยชน์ในส่วนนี้ ไม่ต้องรับผิด ในค่าเสียหายส่วนที่โจทก์ได้รับจากจำเลยที่ 4 ไปแล้วอีก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5112/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การรับผิดร่วมกันของนายจ้างในความผิดของลูกจ้างที่กระทำในทางการจ้าง และการรับข้อเท็จจริงของจำเลย
ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 177 วรรคสอง บัญญัติว่า "ให้จำเลยแสดงโดยชัดแจ้งในคำให้การว่า จำเลยยอมรับหรือปฏิเสธข้ออ้างของโจทก์ทั้งสิ้นหรือแต่บางส่วน รวมทั้งเหตุแห่งการนั้น" แม้โจทก์จะเป็นฝ่ายกล่าวอ้างว่าจำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 และกระทำการในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 ซึ่งภาระการพิสูจน์ข้อเท็จจริงดังกล่าวตกแก่โจทก์ก็ตาม แต่เมื่อตามคำให้การของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การรับว่าจำเลยที่ 2 เป็นนายจ้างของจำเลยที่ 1 และไม่ได้ให้การปฏิเสธในข้อที่โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 1 กระทำในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 จึงต้องถือว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 รับข้อเท็จจริงตามที่โจทก์กล่าวอ้างนั้นแล้ว และไม่เป็นประเด็นข้อพิพาท โจทก์จึงไม่จำต้องนำสืบถึงข้อเท็จจริงดังกล่าวซึ่งถือว่าคู่ความรับกันแล้ว ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 84 (3)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4781/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดของนายจ้างต่อความเสียหายจากการขนส่งสินค้า: กรณีมีชื่อบริษัทติดรถ
แม้จำเลยจะอ้างว่ารถยนต์กระบะบรรทุกเป็นของ บ. เอง ค่าน้ำมันเชื้อเพลิง และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ บ. เป็นผู้จ่าย ทั้ง บ. ก็ไม่ได้อยู่ในบังคับบัญชาของจำเลย แต่เมื่อรถยนต์กระบะบรรทุกคันเกิดเหตุ ปรากฏชื่อบริษัทของจำเลยอยู่ข้างตัวรถ การที่จำเลยสั่งให้ บ. เข้าไปรับสินค้าโดยใช้รถยนต์กระบะบรรทุกคันดังกล่าว จำเลยจึงเป็นนายจ้างของ บ. ต้องรับผิดกับ บ. ในเหตุละเมิดที่เกิดขึ้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 381/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิไล่เบี้ยค่าเสียหายจากผู้ขับขี่และนายจ้างตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ และ ป.พ.พ. มาตรา 425
ตารางกรมธรรม์คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ เป็นกรมธรรม์ที่ออกตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 ซึ่งบังคับให้เจ้าของรถจะต้องจัดให้มีการประกันตามมาตรา 7 ดังนั้น เมื่อโจทก์ในฐานะผู้รับประกันภัยได้จ่ายค่าสินไหมทดแทนเป็นค่าเสียหายเบื้องต้น 13,883 บาท ตามกรมธรรม์คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถแล้ว โจทก์ย่อมมีสิทธิไล่เบี้ยเอาจาก ส. ผู้ขับรถโดยสารประจำทางที่ก่อให้เกิดความเสียหายเพราะประมาทเลินเล่อได้ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 มาตรา 31 อันเป็นสิทธิไล่เบี้ยที่เกิดขึ้นโดยผลของกฎหมายเฉพาะ ทั้งจำเลยเป็นนายจ้างของ ส. ผู้ซึ่งได้กระทำละเมิดไปในทางการที่จ้าง แม้จำเลยจะมิใช่บุคคลตามมาตรา 31 ก็ตาม แต่นายจ้างต้องร่วมรับผิดกับลูกจ้างในผลแห่งละเมิดซึ่งลูกจ้างได้กระทำไปในทางการที่จ้างนั้น ตาม ป.พ.พ. มาตรา 425 โจทก์จึงมีสิทธิไล่เบี้ยเอาค่าเสียหายเบื้องต้นดังกล่าวจากจำเลยได้ด้วย จำเลยจึงต้องรับผิดต่อโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10313/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดทางละเมิดจากอุบัติเหตุทางรถยนต์: การประมาทเลินเล่อร่วมกัน, การรับผิดของนายจ้าง, และขอบเขตความรับผิด
โจทก์เป็นภริยาของ ส. แม้ ส. จะเป็นเจ้าของรถตู้คันเกิดเหตุและโดยสารมาในรถตู้คันเกิดเหตุที่มี ว. ลูกจ้างของ ส. เป็นผู้ขับรถตู้คันดังกล่าวในขณะเกิดเหตุก็ตาม แต่ข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่า ส. มีส่วนประมาทเลินเล่อในเหตุการณ์รถชนที่เกิดขึ้น การที่ ส. ถึงแก่ความตายจึงเป็นเพราะความประมาทเลินเล่อของ ว. และของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นคนขับรถบรรทุกและรถพ่วงคู่กรณี ว. และ จำเลยที่ 1 ต้องร่วมกันรับผิดในผลแห่งการตายของ ส. ด้วยกัน และจำเลยที่ 2 ในฐานะนายจ้างจำเลยที่ 1 ก็ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ซึ่งฟ้องในฐานะส่วนตัวและในฐานะผู้แทนโดยชอบธรรมของเด็กหญิง ณ. ทายาทของ ส. ผู้ตาย แต่เมื่อโจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันรับผิดต่อโจทก์เพียงฝ่ายเดียวโดยมิได้ฟ้อง ว. ลูกจ้าง ส. ให้ร่วมรับผิดด้วย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยว่าจำเลยที่ 1 กับ ว. ต้องรับผิดเท่ากัน และให้ลดค่าเสียหายแก่จำเลยที่ 1 ลงกึ่งหนึ่งจึงชอบแล้ว
ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า เด็กหญิง ณ. มิใช่บุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของ ส. โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องนั้น แม้เรื่องอำนาจฟ้องจะเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนซึ่งคู่ความอาจยกขึ้นอ้างในชั้นอุทธรณ์และฎีกาได้ก็ตาม แต่ก็ต้องเป็นข้อกฎหมายที่เกิดจากข้อเท็จจริงในกระบวนพิจารณาโดยชอบด้วยกฎหมาย เมื่อจำเลยที่ 2 มิได้ให้การต่อสู้ในข้อดังกล่าวไว้ ฎีกาของจำเลยที่ 2 ในข้อนี้จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 3 ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง (เดิม) ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6282/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ดอกเบี้ยจากละเมิดและการผิดนัดชำระหนี้: กรณีนายจ้าง ผู้รับประกันภัย และระยะเวลาการคิดดอกเบี้ย
การวินิจฉัยว่าจำเลยทั้งสามต้องรับผิดในดอกเบี้ยนับแต่วันใด ศาลจำต้องพิจารณาจากบทบัญญัติของกฎหมายซึ่งกำหนดให้ลูกหนี้ผิดนัดนับตั้งแต่เวลาใดและต้องเสียดอกเบี้ยนับแต่เวลานั้น กรณีจึงเป็นการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมาย
ตาม ป.พ.พ. มาตรา 206 บัญญัติว่า ในกรณีหนี้อันเกิดแต่มูลละเมิด ลูกหนี้ได้ชื่อว่าผิดนัดมาแต่เวลาที่ทำละเมิด ดังนี้ จำเลยที่ 1 ผู้กระทำละเมิดต่อโจทก์จึงต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์นับแต่วันทำละเมิด ส่วนจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นนายจ้างของจำเลยที่ 1 ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ลูกจ้างในผลแห่งละเมิดซึ่งลูกจ้างได้กระทำไปในทางการที่จ้างตาม ป.พ.พ. มาตรา 425 จำเลยที่ 2 จึงต้องร่วมรับผิดดอกเบี้ยนับแต่วันทำละเมิดเช่นกัน สำหรับจำเลยที่ 3 ผู้รับประกันภัยค้ำจุน มีความผูกพันที่จะต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความวินาศภัยอันเกิดขึ้นตามสัญญาประกันภัยค้ำจุนหรือเงื่อนไขที่ได้ระบุไว้ในกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ ไม่ใช่ผู้กระทำละเมิดหรือผู้ต้องร่วมรับผิดกับผู้กระทำละเมิดอย่างลูกหนี้ร่วม เมื่อกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์กำหนดแต่เพียงวงเงินความรับผิดที่จำเลยที่ 3 ต้องชดใช้ โดยมิได้ระบุให้ร่วมรับผิดเช่นเดียวกับผู้กระทำละเมิด จำเลยที่ 3 จึงไม่ต้องรับผิดในดอกเบี้ยนับแต่วันทำละเมิด โดยต้องรับผิดนับแต่วันที่จำเลยที่ 3 ผิดนัดเท่านั้น และเมื่อหนี้ตามกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์มิได้กำหนดเวลาชำระหนี้ไว้ตามวันแห่งปฏิทิน โจทก์มีหนังสือทวงถามให้จำเลยที่ 3 รับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความวินาศภัย อันเกิดขึ้นตามกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์แล้วและจำเลยที่ 3 ได้รับหนังสือทวงถามเมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2545 แต่หนังสือทวงถามโจทก์มิได้กำหนดเวลาให้จำเลยที่ 3 ปฏิบัติการชำระหนี้ ดังนี้ เมื่อเป็นหนี้ที่ไม่ได้กำหนดเวลาอันจะพึงชำระหนี้ไว้ โจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้ย่อมจะเรียกให้ชำระหนี้ได้โดยพลัน และจำเลยที่ 3 ก็ย่อมจะชำระหนี้ของตนได้โดยพลันดุจกัน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 203 เมื่อจำเลยที่ 3 รับหนังสือทวงถามในวันที่ 2 สิงหาคม 2545 แล้ว ไม่ชำระค่าสินไหมทดแทน จึงถือได้ว่าจำเลยที่ 3 ผิดนัดนับตั้งแต่วันที่ 3 สิงหาคม 2545 และต้องรับผิดในดอกเบี้ยนับแต่วันดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4085/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความคดีละเมิด, การรับช่วงสิทธิ, และอำนาจฟ้องเรียกค่าเสียหายจากเหตุละเมิดทางแพ่ง
คำร้องให้เรียกบุคคลภายนอกเข้ามาเป็นจำเลยร่วมตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57 (3) ไม่ใช่คำฟ้องตาม ป.วิ.พ. มาตรา 1 (3) เพราะเป็นแต่คำร้องให้เรียกบุคคลภายนอกเข้ามาเป็นจำเลยด้วยเท่านั้น ยังไม่มีผู้ใดเสนอข้อหาต่อศาลโดยการสอดเข้ามาในคดี คำร้องดังกล่าวจึงไม่มีกรณีที่จะเป็นคำฟ้องเคลือบคลุม และเมื่อศาลหมายเรียกจำเลยร่วมทั้งสองเข้ามาเป็นคู่ความในคดีแล้ว หากศาลเห็นว่าจำเลยร่วมจะต้องรับผิดก็ย่อมมีอำนาจพิพากษาให้จำเลยร่วมชดใช้ค่าเสียหายได้ ไม่ถือว่าเป็นการพิพากษาเกินไปกว่าหรือที่ปรากฏในคำฟ้อง
พนักงานอัยการฟ้องจำเลยที่ 1 และจำเลยร่วมที่ 1 เป็นจำเลยในคดีส่วนอาญาว่าขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้โจทก์รับอันตรายแก่กายและทรัพย์สินเสียหาย เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 1 มีคำพิพากษาถึงที่สุดว่าจำเลยร่วมที่ 1 ผู้เดียวเป็นฝ่ายประมาท ในคดีส่วนแพ่งจึงต้องฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยร่วมที่ 1 ผู้เดียวทำละเมิดต่อโจทก์
เมื่อพนักงานอัยการฟ้องจำเลยร่วมที่ 1 เป็นคดีส่วนอาญา อายุความที่โจทก์มีสิทธิฟ้องจำเลยร่วมที่ 1 เป็นคดีส่วนแพ่งย่อมสะดุดหยุดลง ตาม ป.อ. มาตรา 95 ทั้งนี้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 51 วรรคสอง โจทก์ขอหมายเรียกจำเลยร่วมที่ 1 เข้ามาเป็นจำเลยร่วมในระหว่างคดีส่วนอาญายังไม่ถึงที่สุด ฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยร่วมที่ 1 จึงไม่ขาดอายุความ
โจทก์รับจ้างขนส่งข้าวสารของห้างหุ้นส่วนจำกัด ร. โดยมีข้อตกลงว่าหากข้าวสารเกิดความเสียหายโจทก์จะต้องรับผิดชอบ แม้ขณะเกิดเหตุละเมิดข้าวสารจะอยู่ในความครอบครองของโจทก์ แต่เมื่อโจทก์ยังไม่ได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนข้าวสารที่เสียหายให้แก่ห้างหุ้นส่วนจำกัด ร. โจทก์จึงไม่ใช่ผู้รับช่วงสิทธิและไม่มีอำนาจฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนในส่วนของข้าวสารที่เสียหายจากจำเลยร่วมทั้งสองผู้ทำละเมิด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15199-15200/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดของนายจ้าง ลูกจ้าง และผู้ครอบครองยานพาหนะในคดีละเมิดจากการขับรถประมาท
จำเลยที่ 6 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 4 ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 6 ขับรถบรรทุกสินค้าไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 4 จำเลยที่ 4 ในฐานะนายจ้างจึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 6 ในผลแห่งละเมิดซึ่งจำเลยที่ 6 ได้กระทำไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 425 จำเลยที่ 3 ในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการย่อมต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 4 ด้วยโดยไม่จำกัดจำนวนตามมาตรา 1077 (2) และ 1087 ส่วนจำเลยที่ 2 แม้เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิด แต่พฤติการณ์ของจำเลยที่ 2 ที่แสดงตัวออกว่าเป็นนายจ้างจำเลยที่ 6 และเข้าไปติดต่อเจรจาเกี่ยวกับการใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ตลอดมาถือได้ว่าเป็นการสอดเข้าไปเกี่ยวข้องจัดการงานของจำเลยที่ 4 เช่นนี้จำเลยที่ 2 จึงต้องร่วมรับผิดในบรรดาหนี้ทั้งหลายของจำเลยที่ 4 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1088 ด้วย
โจทก์ฟ้องกล่าวอ้างว่า จำเลยที่ 1 เป็นนายจ้างหรือตัวการของจำเลยที่ 6 และในวันเกิดเหตุจำเลยที่ 6 ขับรถไปในทางการที่จ้างหรือได้รับมอบหมายจากจำเลยที่ 1 ด้วย แต่จากทางนำสืบของโจทก์ไม่ได้ความว่า จำเลยที่ 1 มีความเกี่ยวข้องหรือมีนิติสัมพันธ์ใด ๆ กับจำเลยที่ 6 หนังสือรับรองจำเลยที่ 4 ก็ไม่มีชื่อจำเลยที่ 1 เป็นหุ้นส่วน และไม่ได้ความว่า จำเลยที่ 1 ร่วมลงทุนทำกิจการใดกับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 หรือมีส่วนเป็นเจ้าของสินค้าที่บรรทุกมาในรถกระบะที่จำเลยที่ 6 ขับไปเกิดเหตุคดีนี้ คงได้ความเพียงว่า จำเลยที่ 1 มีชื่อเป็นผู้ครอบครองรถกระบะคันเกิดเหตุเท่านั้น ดังนี้จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องร่วมรับผิดใด ๆ ในผลแห่งละเมิดซึ่งจำเลยที่ 6 กระทำ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14218/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การว่าจ้างดูแลความปลอดภัย, ตัวการร่วม, การรับช่วงสิทธิจากผู้รับประกันภัย, การวินิจฉัยนอกฟ้อง
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 3 ว่าจ้างจำเลยที่ 2 ให้ดูแลรักษาความปลอดภัยในทรัพย์สินซึ่งเป็นรถยนต์ของบุคคลทั่วไปที่นำเข้ามาจอดในลานจอดรถของจำเลยที่ 3 จำเลยที่ 1 ลูกจ้างหรือตัวแทนของจำเลยที่ 2 ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความประมาทปล่อยให้มีผู้นำรถที่โจทก์รับประกันภัยออกไปจากลานจอดรถของจำเลยที่ 3 โดยไม่คืนบัตรจอดรถ จำเลยทั้งสามต้องร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ จำเลยที่ 3 แม้จะให้การว่า จำเลยที่ 3 มิได้ว่าจ้างจำเลยที่ 2 ให้ดูแลรักษาความปลอดภัยในทรัพย์สินของลูกค้าผู้ใช้บริการหรือบุคคลภายนอกแต่จำเลยที่ 3 ก็ให้การว่าจำเลยที่ 3 ได้ว่าจ้างจำเลยที่ 2 ให้มาดำเนินการดูแลและรักษาความปลอดภัยแก่พนักงานและทรัพย์สินของจำเลยที่ 3 ที่อยู่ภายในสาขานครปฐม โดยจำเลยที่ 2 มีหน้าที่ตามสัญญาจ้างที่จะต้องจัดหาพนักงานรักษาความปลอดภัย อุปกรณ์ และเครื่องมือที่ต้องใช้ในการรักษาความปลอดภัยในการดูแลรักษาความปลอดภัยในทรัพย์สินของจำเลยที่ 3 มิได้ให้การว่าจำเลยที่ 3 ว่าจ้างบริษัท บ. ดูแลความปลอดภัยให้จำเลยที่ 3 เช่นนี้จึงแปลได้ว่าจำเลยที่ 3 ว่าจ้างจำเลยที่ 2 ดูแลรักษาความปลอดภัยแล้ว การที่จำเลยที่ 3 นำสืบว่า จำเลยที่ 3 มิได้ว่าจ้างจำเลยที่ 2 แต่ว่าจ้างบริษัท บ. ดูแลรักษาความปลอดภัยให้จำเลยที่ 3 จึงเป็นการนำสืบนอกคำให้การ ดังนั้น ข้อเท็จจริงที่ว่าจำเลยที่ 3 ว่าจ้างบริษัท บ. จึงเป็นข้อเท็จจริงนอกข้อต่อสู้ในคำให้การและนอกประเด็นข้อพิพาท ศาลจะรับฟังมาวินิจฉัยไม่ได้เพราะเป็นข้อเท็จจริงที่ได้มาโดยไม่ชอบด้วยกระบวนพิจารณา ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 87 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 นำข้อเท็จจริงดังกล่าวมาวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 3 ไม่ได้ว่าจ้างจำเลยที่ 2 แล้วพิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 3 จึงเป็นการวินิจฉัยนอกฟ้องนอกประเด็นไม่ชอบด้วยกระบวนพิจารณา ข้อเท็จจริงจึงต้องรับฟังเป็นยุติตามคำให้การของจำเลยที่ 3 ว่า จำเลยที่ 3 ว่าจ้างจำเลยที่ 2 ให้เป็นผู้ดูแลรักษาความปลอดภัย การที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่าจำเลยที่ 3 มิได้ว่าจ้างจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงที่ปรากฏจากพยานนอกข้อต่อสู้ในคำให้การและนอกประเด็นข้อพิพาทอันเป็นประเด็นข้อสำคัญในคดี ซึ่งมีผลทำให้การวินิจฉัยคดีของศาลคลาดเคลื่อนไปจากความเป็นจริง จึงเป็นกรณีที่ศาลล่างทั้งสองมิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ในข้อที่จะมุ่งหมายจะยังให้การเป็นไปด้วยความยุติธรรมและเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้โจทก์จะไม่ได้ยกขึ้นกล่าวอ้างในชั้นอุทธรณ์ โจทก์ย่อมยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกาได้
โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ปฏิบัติหน้าที่รักษาความปลอดภัยด้วยความประมาทปราศจากความระมัดระวังซึ่งบุคคลในภาวะเช่นจำเลยที่ 1 ต้องพึงมีตามวิสัยและพฤติการณ์ซึ่งจำเลยที่ 1 อาจใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นได้แต่หาได้ใช้ให้เพียงพอไม่... กลับปล่อยให้มีผู้นำรถที่โจทก์รับประกันภัยออกไปจากลานจอดรถของจำเลยที่ 3 โดยไม่รับคืนบัตรจอดรถเท่ากับว่าโจทก์ได้บรรยายฟ้องให้รับผิดฐานละเมิดไว้ด้วย หาได้บรรยายฟ้องให้รับผิดฐานฝากทรัพย์เท่านั้นไม่
จำเลยที่ 3 ว่าจ้างจำเลยที่ 2 ให้ดูแลรักษาความปลอดภัยโดยมีจำเลยที่ 1 เป็นพนักงานรักษาความปลอดภัยของจำเลยที่ 2 ซึ่งจำเลยที่ 3 ประกอบกิจการห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ย่อมมีหน้าที่ดูแลรักษาความปลอดภัยรถยนต์ของลูกค้าตามสมควร การที่จำเลยที่ 3 ว่าจ้างจำเลยที่ 2 ดูแลรักษาความปลอดภัยบริเวณลานจอดรถจึงเป็นการมอบหมายให้จำเลยที่ 2 และลูกจ้างของจำเลยที่ 2 ทำการดูแลรักษาความปลอดภัยแทน จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 จึงเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 3 ในการดูแลรักษาความปลอดภัย โดยจำเลยที่ 1 มีหน้าที่รับบัตรจอดรถคืนจากผู้ขับรถ เมื่อปรากฏว่ามีผู้ขับรถคันที่โจทก์รับประกันภัยออกจากลานจอดรถของจำเลยที่ 3 โดยบัตรจอดรถยังอยู่กับ ช. และ ไม่ปรากฏว่ามีการคืนบัตรจอดรถหมายเลขทะเบียนเดียวกับรถคันที่โจทก์รับประกันภัย พฤติการณ์ดังกล่าวถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ไม่ปฏิบัติหน้าที่เรียกคืนบัตรจอดรถจากคนร้ายเป็นเหตุให้รถที่โจทก์รับประกันภัยถูกลักไป อันเป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 1 ที่ไม่ดูแลรักษาความปลอดภัยรถยนต์ของลูกค้าตามสมควร จำเลยที่ 3 ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ฐานเป็นตัวการตาม ป.พ.พ. มาตรา 427 ประกอบมาตรา 425
โจทก์รับประกันภัยรถยนต์พิพาทจาก ช. ซึ่ง ป.พ.พ. มาตรา 880 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "ถ้าความวินาศภัยนั้นได้เกิดขึ้นเพราะการกระทำของบุคคลภายนอกไซร้ ผู้รับประกันภัยได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนไปเป็นจำนวนเพียงใด ผู้รับประกันภัยย่อมเข้ารับช่วงสิทธิของผู้เอาประกันภัยและของผู้รับประโยชน์ซึ่งมีต่อบุคคลภายนอกเพียงนั้น" ดังนี้ เมื่อโจทก์ได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนไปย่อมเข้ารับช่วงสิทธิของผู้เอาประกันภัยเรียกร้องจากผู้ทำละเมิดได้ตามบทบัญญัติดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14217/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดร่วมกันของนายจ้าง ตัวการ และลูกจ้าง/ตัวแทน จากการกระทำละเมิดในการซ่อมแซมเรือ
โจทก์ได้บรรยายให้เห็นว่า โจทก์เป็นผู้รับประกันภัย เรือ พ. จากบริษัท อ. จำเลยที่ 1 เป็นผู้ครอบครองอู่ต่อเรือ จำเลยที่ 2 เป็นผู้จัดการเรือ พ. มีหน้าที่ดูแลรักษาและซ่อมแซมเรือและเข้าร่วมซ่อมแซมเรือกับจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันรับจ้างซ่อมแซมเรือ พ. จำเลยที่ 3 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 และ/หรือเป็นบุคคลที่จำเลยที่ 1 และ/หรือจำเลยที่ 2 เป็นผู้จัดหาทำการว่าจ้าง วาน ใช้ หรือได้รับมอบหมายจากจำเลยที่ 1 และ/หรือจำเลยที่ 2 ให้ดำเนินการซ่อมแซมเรือ จำเลยทั้งสามร่วมกันทำละเมิดต่อเจ้าของเรือ พ. โดยจำเลยที่ 3 กระทำโดยประมาททำให้เกิดเพลิงลุกไหม้เรือ พ. จนได้รับความเสียหาย เป็นคำฟ้องที่แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาที่โจทก์อาศัยเป็นหลักในการกล่าวหาเพื่อขอให้บังคับจำเลยทั้งสามรับผิดต่อโจทก์ ทั้งโจทก์ยืนยันว่าเหตุละเมิดเกิดจากการปฏิบัติหน้าที่ของจำเลยที่ 3 ในทางการที่จ้างหรือได้รับมอบหมายจากจำเลยที่ 1 และ/หรือที่ 2 หากพิจารณาข้อเท็จจริงแล้วได้ความตามฟ้อง จำเลยที่ 1 และ/หรือที่ 2 ย่อมต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์ ไม่ว่าในฐานะตัวการตัวแทนหรือนายจ้างลูกจ้าง เนื่องจาก ป.พ.พ. มาตรา 427 ให้นำมาตรา 425 และ 426 ซึ่งเป็นบทบัญญัติว่าด้วยความรับผิดของนายจ้างเพื่อผลละเมิดของลูกจ้างซึ่งกระทำไปในทางการที่จ้างบังคับแก่กรณีตัวการตัวแทนโดยอนุโลม ทั้งจำเลยที่ 1 และ/หรือที่ 2 อาจต้องร่วมรับผิดทั้งการกระทำละเมิดและการกระทำผิดสัญญาจ้างซ่อมแซมเรือที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ในคราวเดียวกัน ที่โจทก์บรรยายฟ้องมาจึงไม่ได้ขัดแย้งกัน ฟ้องของโจทก์จึงชอบด้วย ป.วิ.พ.มาตรา 172 วรรคสอง
of 102