คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.พ.พ. ม. 425

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 1,014 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14931/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ธนาคารมีความรับผิดต่อทรัพย์สินลูกค้าสูญหายจากความประมาทเลินเล่อในการเก็บรักษาตู้นิรภัย
จำเลยที่ 1 ให้โจทก์เช่าตู้นิรภัยเพื่อเก็บรักษาทรัพย์สินโดยมีจำเลยที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 เป็นพนักงานมีหน้าที่ในการเก็บรักษารหัสและกุญแจห้องมั่นคง การที่จำเลยที่ 2 เก็บสำเนารหัสและวิธีการเปิดห้องมั่นคงไว้ในลิ้นชักโต๊ะทำงาน จำเลยที่ 4 เก็บกุญแจห้องมั่นคงไว้ในตู้นิรภัยเล็ก และจำเลยที่ 5 เก็บกุญแจห้องมั่นคงอีกดอกหนึ่งไว้ในลิ้นชักโต๊ะทำงานอันเป็นการผิดระเบียบของจำเลยที่ 1 จนเป็นเหตุให้คนร้ายรื้อค้นพบและนำไปใช้เปิดห้องมั่นคงแล้วลักทรัพย์ของโจทก์ที่เก็บไว้ในตู้นิรภัยไปจึงต้องถือว่าเป็นความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 ในการเก็บรักษารหัสและกุญแจห้องมั่นคงอันเป็นผลโดยตรงต่อเกิดเหตุลักทรัพย์ของโจทก์ มิใช่เป็นเหตุสุดวิสัยที่ไม่อาจป้องกันได้ การที่จำเลยที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 ประมาทเลินเล่อในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นนายจ้างต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 425 อีกโสตหนึ่งด้วย
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 3 โดยมิได้สั่งในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียม ศาลอุทธรณ์มิได้แก้ไข ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8174/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาเช่าเหมาเรือ: ผู้เช่าไม่ต้องรับผิดต่อละเมิดของลูกเรือ หากการจัดการเรือเป็นอำนาจของเจ้าของเรือ
ตามสัญญาเช่าเหมาเรือลงวันที่ 21 มกราคม 2553 ข้อ 6 เอ ซีและดีมีใจความโดยสรุปว่า การเช่าเรือครั้งนี้จำเลยร่วมซึ่งเป็นผู้เช่าเรือมุ่งหมายเอาผลสัมฤทธิ์จากการดำเนินการของบริษัท ด. ผู้เป็นเจ้าของเรือ นายเรือและเจ้าหน้าที่ในการเดินเรือเป็นสำคัญ ส่วนการเดินเรือและการจัดการเกี่ยวกับเรือไม่อยู่ในความรับผิดชอบของจำเลยร่วม แต่เป็นอำนาจโดยเด็ดขาดของบริษัท ด. ยิ่งไปกว่านั้นในข้อ 7.เอ ยังมีข้อความระบุว่าบริษัท ด. มีหน้าที่จัดหาและจ่ายเสบียงอาหาร ค่าจ้างและค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ให้แก่นายเรือ เจ้าหน้าที่และลูกเรือด้วยตนเอง จำเลยร่วมไม่มีส่วนรับผิดในค่าใช้จ่ายเหล่านั้นด้วย คงรับผิดชอบชำระค่าเรือให้แก่บริษัท ด. ซึ่งเป็นผู้ให้เช่าเท่านั้น ลูกเรือของเรือเฮอริเทจเซอร์วิสและจำเลยทั้งห้าจึงไม่ใช่ลูกจ้างหรือตัวแทนของจำเลยร่วม จำเลยร่วมไม่จำต้องร่วมรับผิดในการกระทำละเมิดของลูกเรือดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4622/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดทางละเมิดของตัวการต่อการกระทำของตัวแทน กรณีจัดงานเลี้ยงและเกิดเพลิงไหม้
คดีนี้โจทก์ร่วมทั้งสองร้องขอให้บังคับจำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนความเสียหายแก่ทรัพย์สินมาด้วย ซึ่งเป็นคำขอบังคับในคดีส่วนแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 วรรคหนึ่ง และมาตรา 47 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า คำพิพากษาคดีส่วนแพ่งต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายอันว่าด้วยความรับผิดของบุคคลในทางแพ่ง โดยไม่ต้องคำนึงถึงว่าจำเลยต้องคำพิพากษาว่าได้กระทำความผิดหรือไม่ แม้จำเลยที่ 2 มิได้กระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้เกิดเพลิงไหม้ทรัพย์สินของโจทก์ร่วมทั้งสองเสียหาย แต่ข้อเท็จจริงก็ได้ความว่า จำเลยที่ 2 เป็นผู้จัดงานเลี้ยงฉลองเทศกาลปีใหม่ขึ้นที่บ้านของตนเอง การจุดพลุเป็นพิธีการส่วนหนึ่งของการเปิดงาน การที่จำเลยที่ 2 ใช้ให้จำเลยที่ 1 ทำการจุดพลุ อันเป็นสัญญาณเริ่มต้นเปิดงานต้องถือว่าจำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 2 ในการจุดพลุเปิดงานเลี้ยงฉลองเทศกาลปีใหม่ที่จำเลยที่ 2 จัดให้มีขึ้น เมื่อจำเลยที่ 1 ทำการจุดพลุโดยประมาทเป็นเหตุให้เกิดเพลิงไหม้ทรัพย์สินของโจทก์ร่วมทั้งสองเสียหาย อันเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ร่วมทั้งสอง จำเลยที่ 2 ในฐานะตัวการย่อมต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ในผลแห่งละเมิดที่จำเลยที่ 1 ได้กระทำไปตามคำสั่งที่จำเลยที่ 2 ใช้ให้กระทำแทนจำเลยที่ 1 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 425 ประกอบมาตรา 427 จำเลยที่ 2 จึงต้องร่วมรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ร่วมทั้งสองด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16150/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องคดีละเมิดของเจ้าหน้าที่: ผู้เสียหายต้องฟ้องหน่วยงานของรัฐ ไม่ฟ้องเจ้าหน้าที่โดยตรง
จำเลยที่ 1 เป็นรัฐวิสาหกิจตาม พ.ร.บ.การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค พ.ศ.2503 จำเลยที่ 1 จึงเป็นหน่วยงานของรัฐตามมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว ส่วนจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 โจทก์บรรยายฟ้องต่อไปว่าเป็นพนักงานของจำเลยที่ 1 ทำงานประจำอยู่ที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจังหวัดระนอง เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 2 เป็นผู้จัดการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจังหวัดระนอง จำเลยที่ 3 เป็นผู้ช่วยหัวหน้าแผนกฝ่ายก่อสร้างและบำรุงรักษา จำเลยที่ 4 เป็นผู้ช่วยหัวหน้าแผนกบริหารพัสดุ จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ย่อมเป็นเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ซึ่งมีหน้าที่ต้องดูแลรักษาทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 เมื่อปรากฏว่าทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 สูญหายและตรวจพบว่าที่ร้านของโจทก์มีทรัพย์สินลักษณะเดียวกับของจำเลยที่ 1 การที่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 นำเจ้าพนักงานตำรวจไปตรวจยึดทรัพย์สินดังกล่าวโดยมีหมายค้นของศาล ทั้งมิได้กระทำเพื่อประโยชน์อันเป็นการเฉพาะตัว ย่อมเป็นการกระทำในการปฏิบัติหน้าที่ของจำเลยที่ 1 แล้ว แม้โจทก์อ้างว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการละเมิดต่อโจทก์ แต่ตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 มาตรา 5 มีเจตนารมณ์ให้ผู้เสียหายฟ้องหน่วยงานของรัฐโดยตรง จะฟ้องเจ้าหน้าที่ไม่ได้ เพื่อมิให้เกิดความไม่เป็นธรรมแก่เจ้าหน้าที่และยังเป็นการบั่นทอนขวัญและกำลังใจในการทำงานของเจ้าหน้าที่ อันเป็นบทยกเว้นหลักกฎหมายเอกชนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ กรณีไม่อาจนำหลักความรับผิดของผู้กระทำละเมิดและเรื่องความรับผิดของนายจ้างตาม ป.พ.พ. มาตรา 420 และมาตรา 425 มาใช้บังคับกับคดีนี้ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 มาตรา 5

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 17440/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดของนายจ้างต่อละเมิดของลูกจ้าง: การกระทำในทางการที่จ้าง และการยอมรับความรับผิด
จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างจำเลยที่ 3 ขับรถบรรทุกเฉี่ยวชนรถโดยสารของโจทก์ได้รับความเสียหายแม้ขณะเกิดเหตุเป็นเวลา 20 นาฬิกา แต่จำเลยที่ 1 ยังคงสวมใส่ชุดทำงาน ในวันรุ่งขึ้นจำเลยที่ 2 หุ้นส่วนผู้จัดการห้างจำเลยที่ 3 ไปพบพนักงานสอบสวนกับจำเลยที่ 1 โดยมิได้ปฏิเสธความรับผิดว่าจำเลยที่ 1 มิได้กระทำการในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 3 แต่กลับยอมรับต่อตัวแทนฝ่ายโจทก์และพนักงานสอบสวนว่าจำเลยที่ 2 เป็นนายจ้างของจำเลยที่ 1 และยังร่วมเจรจาต่อรองค่าเสียหายโดยไม่ได้แจ้งหรือแสดงพฤติการณ์ใดให้เห็นว่าเป็นการกระทำในฐานะตัวแทนของจำเลยที่ 1 แสดงว่าจำเลยที่ 2 รับโดยปริยายแล้วว่าการกระทำละเมิดของจำเลยที่ 1 เป็นการกระทำในทางการที่จ้างซึ่งจำเลยที่ 3 จะต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์ จำเลยที่ 2 ในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการที่ยินยอมเสนอเงินชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ แม้จำเลยที่ 1 จะเป็นเพียงลูกจ้างรายวันและขณะเกิดเหตุจะล่วงเลยเวลาทำงานตามปกติของจำเลยที่ 1 แล้วก็ตาม แต่ก็ยังถือว่าจำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างและเมื่องานที่ทำเป็นกิจการของนายจ้าง จึงเป็นการปฏิบัติงานในทางการที่จ้างที่จำเลยที่ 3 ในฐานะนายจ้าง และจำเลยที่ 2 ในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการของห้างจำเลยที่ 3 ต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกโดยไม่จำกัดความรับผิดในผลแห่งละเมิดที่ห้างก่อให้เกิดขึ้นด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12725/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดทางแพ่งจากอุบัติเหตุทางรถยนต์: ข้อแตกต่างระหว่างมาตรา 420 และ 437, การอุทธรณ์นอกฟ้อง
ความรับผิดตาม ป.พ.พ. มาตรา 420 เป็นความรับผิดของตนเองที่เกิดจากการกระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ส่วนความรับผิดตามมาตรา 437 วรรคหนึ่ง เป็นความรับผิดของผู้ครอบครองหรือควบคุมดูแลยานพาหนะอันเดินด้วยกำลังเครื่องจักรกลในความเสียหายอันเกิดแต่ยานพาหนะนั้น เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าความเสียหายนั้นเกิดแต่เหตุสุดวิสัย เช่นนี้ ความรับผิดตามมาตรา 420 มิใช่เป็นความรับผิดอันเกิดจากข้อสันนิษฐานของกฎหมาย ส่วนความรับผิดตามมาตรา 437 วรรคหนึ่ง เป็นความรับผิดอันเกิดจากข้อสันนิษฐานของกฎหมายโดยไม่ต้องพิจารณาว่า ผู้ครอบครองหรือควบคุมดูแลยานพาหนะนั้นได้กระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อหรือไม่ ความรับผิดตามมาตราทั้งสองดังกล่าวจึงอาศัยหลักเกณฑ์ต่างกันไป
โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 1 มอบหมายให้ ถ. ลูกจ้างของจำเลยที่ 1 เป็นผู้ขับควบคุมรถยนต์ลากจูง และรถกึ่งพ่วงของจำเลยที่ 1 ไปส่งสินค้าที่สนามบินภูเก็ต แล้ว ถ. ขับควบคุมรถด้วยความประมาทเลินเล่อ โดยขับรถด้วยความเร็วสูงเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด ประกอบกับ ถ. มิได้พักผ่อนให้เพียงพอ เกิดอาการง่วงหรือหลับใน ทำให้ไม่สามารถควบคุมและห้ามล้อรถได้ เป็นเหตุให้รถพลิกคว่ำลงข้างถนน ทำให้เครื่องรีดแผ่นเหล็กหลังคาและอุปกรณ์เสียหาย แม้คำฟ้องของโจทก์จะอ้างว่า ถ. เป็นผู้ควบคุมรถลากจูงและรถกึ่งพ่วง แต่ได้บรรยายฟ้องต่อไปว่า ควบคุมด้วยความประมาทเลินเล่อปราศจากความระมัดระวัง คำบรรยายฟ้องเช่นนี้จึงเป็นการแสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหา ทั้งข้ออ้างที่เป็นหลักของข้อหาว่า ถ. กระทำละเมิดตามมาตรา 420 ให้จำเลยที่ 1 รับผิดตามมาตรา 420 ประกอบมาตรา 425 หาได้บรรยายฟ้องหรือตั้งประเด็นว่า ถ. เป็นผู้ควบคุมรถลากจูงและรถกึ่งพ่วงในขณะเกิดเหตุเป็นเหตุให้รถดังกล่าวพลิกคว่ำลงข้างทางทำให้เครื่องรีดแผ่นเหล็กและอุปกรณ์ที่อยู่บนรถนั้นเสียหายจึงต้องรับผิดชอบเพื่อการเสียหายอันเกิดแต่ยานพาหนะนั้น อันเป็นหลักแห่งข้อหาที่จะให้ ถ. ต้องรับผิดตามมาตรา 437 วรรคหนึ่ง และจำเลยที่ 1 ต้องรับผิดในฐานะนายจ้างอีกประการหนึ่งไม่ เมื่อศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ถ. ลูกจ้างของจำเลยที่ 1 มิได้ขับรถลากจูงและรถกึ่งพ่วงด้วยความประมาทเลินเล่อตามที่โจทก์ฟ้อง โจทก์กลับอุทธรณ์โต้แย้งคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นว่า ถ. เป็นผู้ควบคุมรถลากจูงและรถกึ่งพ่วงซึ่งเป็นยานพาหนะอันเดินด้วยกำลังเครื่องจักรกล จะต้องรับผิดชอบเพื่อการเสียหายอันเกิดแต่ยานพาหนะนั้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 437 จึงเป็นอุทธรณ์ในข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ที่ศาลอุทธรณ์รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์เป็นการไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 142

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10408/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การครอบครองทรัพย์สิน การละเมิด และความรับผิดของผู้กระทำละเมิดกับนายจ้าง
แม้โจทก์ไม่ได้แต่งตั้งให้ ฐ. ไปทำสัญญาเช่าซื้อเครื่องเล่นรถไฟที่พิพาทกับบริษัท ท. มีผลให้สัญญาเช่าซื้อเป็นโมฆะก็ตาม แต่เมื่อมีพฤติการณ์แสดงให้เห็นอย่างชัดแจ้งว่าบริษัท ท. สละเจตนาครอบครองเครื่องเล่นรถไฟที่พิพาทพร้อมอุปกรณ์ เมื่อโจทก์เข้ายึดถือเครื่องเล่นรถไฟที่พิพาทโดยเจตนายึดถือเพื่อตน โจทก์ย่อมได้สิทธิครอบครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1367, 1377 โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องผู้ทำละเมิดและฟ้องเรียกเครื่องเล่นรถไฟที่พิพาทคืนได้
โจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองเครื่องเล่นรถไฟที่พิพาทโดยนำไปร่วมลงทุนกับจำเลยที่ 1 การที่จำเลยที่ 2 นำเครื่องเล่นรถไฟที่พิพาทไปให้จำเลยที่ 3 เช่าซื้อโดยพลการและโดยไม่มีสิทธิ แม้จำเลยที่ 3 จะสุจริตและเสียค่าตอบแทน ก็ไม่มีสิทธิดีกว่าจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 3 จึงไม่ได้กรรมสิทธิ์และต้องคืนเครื่องเล่นรถไฟที่พิพาทพร้อมอุปกรณ์ให้แก่โจทก์ซึ่งมีสิทธิดีกว่า และโจทก์ย่อมมีสิทธิติดตามเอาทรัพย์ดังกล่าวคืนจากจำเลยที่ 3 ได้ เมื่อจำเลยที่ 3 ไม่คืนจึงเป็นการละเมิดต่อโจทก์ ซึ่งโจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยได้ตั้งแต่เวลาที่ทำละเมิด ตาม ป.พ.พ. มาตรา 206
การที่จำเลยที่ 2 ลูกจ้าง เคลื่อนย้ายเครื่องเล่นรถไฟที่พิพาทออกจากสวนสนุกไปเพื่อทำสีใหม่นั้น เป็นเพราะจำเลยที่ 1 นายจ้างสั่งการ แต่จำเลยที่ 2 กลับนำเครื่องเล่นรถไฟที่พิพาทไปเก็บและนำไปให้จำเลยที่ 3 เช่าซื้อโดยไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ ถือว่าจำเลยที่ 2 กระทำละเมิดต่อโจทก์ในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 1 แม้จำเลยที่ 2 จะทำเพื่อประโยชน์ของตนเองและจำเลยที่ 1 ไม่รู้เห็นด้วยก็ไม่ใช่สาระสำคัญ จำเลยที่ 1 นายจ้างต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 2 ลูกจ้างต่อโจทก์ตามฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4861/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การฉ้อฉลในการทำสัญญาประกันชีวิต ความรับผิดของตัวแทนและบริษัทประกันภัย
การที่โจทก์ทั้งสามลงลายมือชื่อในคำขอประกันชีวิตมอบให้จำเลยที่ 1 ตัวแทนประกันชีวิตของจำเลยที่ 2 ไปยื่นต่อจำเลยที่ 2 เพราะถูกจำเลยที่ 1 หลอกลวงว่าเป็นการขอต่ออายุกรมธรรม์ประกันชีวิตฉบับเดิม เป็นการแสดงเจตนาทำนิติกรรมโดยสำคัญผิดในลักษณะของนิติกรรม จึงเป็นความสำคัญผิดในสาระสำคัญนิติกรรมย่อมเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 156
โจทก์ทั้งสามรู้จักกับจำเลยที่ 1 มาเป็นเวลานาน และจำเลยที่ 1 เป็นผู้ชักชวนให้โจทก์ทั้งสามทำสัญญาประกันชีวิตฉบับเดิม โจทก์ทั้งสามย่อมให้ความเชื่อถือไว้วางใจ จึงถือไม่ได้ว่าโจทก์ทั้งสามประมาทเลินเล่อในการลงลายมือชื่อในคำขอทำสัญญาประกันชีวิต ดังนั้น สัญญาประกันชีวิตตามกรมธรรม์จึงไม่มีผลสมบูรณ์ที่ใช้บังคับได้
จำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนประกันชีวิตของจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 2 มอบอำนาจให้จำเลยที่ 1 มีอำนาจรับเบี้ยประกันชีวิตในนามจำเลยที่ 2 ดังนี้ คนทั่วไปที่ถูกจำเลยที่ 1 ชักชวนให้ทำสัญญาประกันชีวิตกับจำเลยที่ 2 ย่อมต้องเข้าใจว่าจำเลยที่ 2 มอบอำนาจให้จำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนในการติดต่อรับประกันชีวิตและรับเบี้ยประกันชีวิตล่วงหน้าด้วย ดังนั้น พฤติการณ์ที่จำเลยที่ 2 ยอมให้จำเลยที่ 1 ติดต่อกับโจทก์ทั้งสามเพื่อต่ออายุกรมธรรม์และรับเบี้ยประกันชีวิตล่วงหน้าในนามของจำเลยที่ 2 โดยเปิดเผย จึงเท่ากับจำเลยที่ 2 เชิดให้จำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 2 ในการติดต่อรับประกันชีวิตและรับเบี้ยประกันชีวิตล่วงหน้า การที่จำเลยที่ 1 ฉ้อฉลโจทก์ทั้งสามให้ลงลายมือชื่อในคำขอประกันชีวิตเป็นการจงใจให้โจทก์ทั้งสามได้รับความเสียหายอันเป็นละเมิดต่อโจทก์ทั้งสาม จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอกผู้สุจริตเสมือนว่าจำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนของตนตาม ป.พ.พ. มาตรา 821 และต้องร่วมรับผิดในการกระทำละเมิดของจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ทั้งสามตาม ป.พ.พ. มาตรา 427 ประกอบมาตรา 425 ด้วย
ค่าเสียหายอันเป็นค่าใช้จ่ายของโจทก์ทั้งสามในการติดตามทวงถามให้จำเลยทั้งสองคืนเบี้ยประกันชีวิต เป็นค่าเสียหายอันเกิดจากการทำละเมิดของจำเลยที่ 1 มิใช่ค่าเสียหายอันเกิดจากสัญญาเป็นโมฆะ หากโจทก์ทั้งสามได้รับความเสียหายย่อมเรียกค่าเสียหายดังกล่าวได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1091/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ประกันภัยขนส่ง: ความคุ้มครองยังคงมีผลจนกว่าจะส่งมอบสินค้าให้ผู้รับ แม้กรมธรรม์จะหมดอายุ
ป.พ.พ. มาตรา 883 และมาตรา 885 ชี้ชัดถึงเจตนารมณ์ของกฎหมายที่มุ่งประสงค์ให้วิธีการเฉพาะการประกันภัยในการรับขนคุ้มถึงความวินาศภัยทุกอย่างซึ่งอาจจะเกิดแก่ของที่ขนส่งในระหว่างเวลาตั้งแต่ผู้ขนส่งได้รับของไป จนได้ส่งมอบของนั้นแก่ผู้รับตราส่ง จึงได้กำหนดความคุ้มครองไว้ชัดแจ้ง เพื่อคุ้มครองสิทธิของผู้เอาประกันภัยและบังคับให้ผู้รับประกันภัยต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนอันจะส่งผลก่อเกิดความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกรณีมีวินาศภัยเกิดขึ้น
เมื่อมีบทบัญญัติกฎหมายกำหนดวิธีการเฉพาะการประกันภัยในการรับขนให้คุ้มถึงความวินาศภัยซึ่งอาจเกิดแก่ของที่ขนส่งในระหว่างเวลาตั้งแต่ผู้ขนส่งได้รับขนไปจนได้ส่งมอบของนั้นแก่ผู้รับตราส่ง จึงไม่อาจนำวิธีการประกันภัยซึ่งมีกำหนดเวลาในกรณีทั่วไปมาปรับใช้ เว้นแต่จะได้ระบุไว้ในสัญญาเป็นอย่างอื่น ดังนี้ สัญญาประกันภัยในการรับขนที่มีกำหนดเวลาย่อมคุ้มถึงความวินาศภัยทุกอย่างซึ่งอาจเกิดแก่ของที่ขนส่งตั้งแต่เวลาที่รับของไปในกำหนดเวลาประกันภัย จนได้ส่งมอบของนั้นแก่ผู้รับตราส่ง หาได้มีความหมายว่าสัญญาประกันภัยสิ้นสุดลงเมื่อพ้นกำหนดเวลาประกันภัยทันทีดังเช่นสัญญาประกันวินาศภัยในกรณีทั่วไปที่มิได้มุ่งคุ้มถึงความวินาศภัยซึ่งอาจเกิดแก่ของที่ขนส่งจนได้ส่งมอบของนั้นแก่ผู้รับตราส่ง โจทก์รับประกันภัยรถแทรกเตอร์ที่ขนส่งตั้งแต่โกดังของผู้เอาประกันภัยจนถึงโกดังของลูกค้าของผู้เอาประกันภัย ถึงแม้สัญญาประกันภัยพ้นกำหนดระหว่างเดินทางก็คุ้มครองของที่ขนส่งจนถึงปลายทาง ถือว่าการประกันภัยยังไม่สิ้นสุดจนได้ส่งมอบรถแทรกเตอร์นั้นแก่ผู้รับตราส่ง และกำหนดเวลาประกันภัยหาสิ้นสุดลงตามกำหนดระยะเวลาขนส่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 886 (4) ไม่ ทั้งนี้เพราะบทบัญญัติดังกล่าวเป็นเพียงแต่กำหนดให้ต้องเริ่มทำการขนส่งภายในกำหนดที่ระบุไว้เท่านั้น หาได้มีความหมายว่าการประกันภัยสิ้นสุดเมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาขนส่งไม่ เมื่อรถแทรกเตอร์ได้รับความเสียหายระหว่างการขนส่ง และโจทก์ใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้เอาประกันภัยแล้วย่อมรับช่วงสิทธิมาฟ้องจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้ทำละเมิดและจำเลยที่ 2 ในฐานะนายจ้างของจำเลยที่ 1 ซึ่งกระทำในการทางที่จ้างของจำเลยที่ 2 ได้
ใบเสนอราคาค่าขนส่งเอกสารหมาย ป.ล. 1 จำเลยที่ 1 แสดงเจตนาเสนอราคาค่าขนส่งแก่บริษัท ส. โดยระบุเพิ่มเติมว่า ราคาที่เสนอมานี้ไม่รวมค่าความเสียหายและสูญหายในระหว่างการขนส่ง เนื่องจากจำเลยที่ 1 ไม่ได้ทำประกันภัยการขนส่งไว้ จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา และจำเลยที่ 1 หวังเป็นอย่างยิ่งว่าคงจะมีโอกาสได้รับใช้ท่านเหมือนเช่นเคยนั้น เป็นเพียงข้อเสนอค่าขนส่งที่ไม่รวมค่าเบี้ยประกันภัย ข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าบริษัท ส. แสดงความตกลงเรื่องข้อยกเว้นความรับผิดโดยชัดแจ้ง ส่วนใบรับรถเอกสารหมาย ป.ล. 2 นั้น มีหลายใบแต่ไม่ปรากฏว่ามีใบรับในการขนส่งรถแทรกเตอร์ไปยังห้างหุ้นส่วนจำกัด ป. ลูกค้าของบริษัท ส. ดังนี้ ใบเสนอราคาและใบรับตามเอกสารหมาย ป.ล. 1 และ ป.ล. 2 ดังกล่าว ไม่เป็นข้อตกลงยกเว้นความรับผิดของจำเลยที่ 1

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7634/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ มติแพทยสภาไม่ใช่ข้อผูกพันศาล ศาลใช้ดุลพินิจพิจารณาพยานหลักฐานประกอบการตัดสิน
มติของแพทยสภาไม่ใช่กฎหมายและไม่มีกฎหมายฉบับใดบัญญัติว่ามติของแพทยสภามีผลผูกพันคู่ความและศาลจะต้องรับฟังมติของแพทยสภา หากศาลเห็นว่ามติของแพทยสภาถูกต้องและเป็นธรรมก็นำมารับฟังประกอบพยานหลักฐานของจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ได้ แต่มติของแพทยสภาเกี่ยวกับเรื่องนี้มีข้อสงสัยว่าจะถูกต้องและเป็นธรรมหรือไม่ ศาลเพียงแต่นำมารับฟังประกอบการพิจารณาเท่านั้น โดยไม่จำต้องถือตามมติของแพทยสภา
of 102