คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.วิ.พ. ม. 142 วรรคแรก

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 37 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6722/2537

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ขอบเขตการนำสืบพยานนอกคำฟ้องและคำให้การ คดีหนี้ค่าแชร์
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเป็นนายวงแชร์แล้วผิดสัญญาไม่ชำระหนี้ค่าแชร์ ขอให้จำเลยชำระหนี้ค่าแชร์ จำเลยให้การว่าไม่เคยเป็นนายวงแชร์และไม่เคยมีนิติสัมพันธ์ใด ๆ กับโจทก์ประเด็นข้อพิพาทตามคำฟ้องและคำให้การจึงมีเพียงว่า จำเลยเป็นนายวงแชร์และเป็นหนี้ค่าแชร์โจทก์หรือไม่ แม้โจทก์จำเลยจะนำสืบว่า เกี่ยวกับหนี้ค่าแชร์นี้จำเลยได้นำ พ. มาทำสัญญากู้เงินให้ไว้แก่โจทก์ก็ตามก็เป็นการนำสืบนอกคำฟ้องและคำให้การ คดีไม่มีประเด็นข้อพิพาทที่จะต้องวินิจฉัยว่าหนี้ค่าแชร์ระหว่างโจทก์จำเลยระงับไปด้วยการแปลงหนี้ใหม่แล้วหรือไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6535/2537

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การร้องกันส่วนของทายาทเมื่อการโอนมรดกไม่ชอบด้วยกฎหมาย แม้จำนองโดยสุจริตก็ไม่อาจยันได้
ในชั้นพิจารณาร้องขอกันส่วนคดีนี้ ผู้ร้องที่ 1 ที่ 2 และที่ 3ได้เข้าเบิกความในฐานะพยานของผู้ร้องทั้งสี่และเบิกความยืนยันว่าผู้ร้องที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ได้เบิกความเป็นพยานไว้ในคดีที่ผู้ร้องที่ 1 ร้องขัดทรัพย์ตามคำให้การในสำนวนคดีร้องขัดทรัพย์อีกสำนวนหนึ่งซึ่งโจทก์เป็นคู่ความด้วย ทั้งผู้ร้องทั้งสี่ได้ระบุอ้างสำนวนคดีร้องขัดทรัพย์นั้นเป็นพยานของผู้ร้องทั้งสี่ เมื่อข้อเท็จจริงที่ผู้ร้องที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 เบิกความเป็นข้อเท็จจริงเดียวกับที่ได้เบิกความไว้ในคดีร้องขัดทรัพย์ดังกล่าว ซึ่งเกี่ยวถึงข้อเท็จจริงที่ผู้ร้องทั้งสี่จะต้องนำสืบ การนำสืบพยานของผู้ร้องทั้งสี่จึงเป็นไปโดยชอบ ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ชอบที่จะหยิบยกคำเบิกความของผู้ร้องที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ในคดีที่ผู้ร้องที่ 1ร้องขัดทรัพย์มาวินิจฉัยในคดีร้องขอกันส่วน คดีนี้ได้ หาใช่เป็นการรับฟังพยานหลักฐานโดยไม่ชอบแต่อย่างใดไม่ ส่วนการที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ฟังข้อเท็จจริงว่า ย. ได้ปลอมหนังสือสละมรดกนั้น ก็เป็นกรณีที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ใช้ดุลพินิจรับฟังพยานหลักฐานของทั้งฝ่ายผู้ร้องทั้งสี่และฝ่ายโจทก์แล้วเชื่อข้อเท็จจริงตามพยานหลักฐานของผู้ร้องทั้งสี่ที่นำสืบมาเพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยปัญหาที่ว่าผู้ร้องทั้งสี่มีสิทธิร้องขอกันส่วนในที่ดินพิพาทหรือไม่ อันเป็นประเด็นข้อพิพาทในคดีนี้โดยตรง หาใช่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 หยิบยกหรือฟังข้อเท็จจริงตามสำนวนคดีที่ผู้ร้องที่ 1 ร้องขัดทรัพย์ซึ่งมีประเด็นพิพาทคนละอย่างต่างกันมารับฟังในคดีร้องขอกันส่วนคดีนี้อันจะเป็นการนอกฟ้องนอกประเด็นไม่ ย. ได้ปลอมหนังสือสละมรดกของผู้ร้องที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 และว.มารดาผู้ร้องที่3แล้วย. ได้นำไปขอรับมรดกที่ดินพิพาทเป็นของตนแล้วโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่จำเลย จำเลยจึงได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทส่วนที่เป็นของผู้ร้องที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 และ ว.มารดาผู้ร้องที่ 3 มาโดยมิชอบ ย่อมไม่มีสิทธินำที่ดินส่วนของผู้ร้องทั้งสี่ไปจำนองแก่โจทก์ ดังนั้นการจำนองไม่มีผลผูกพันที่ดินพิพาทในส่วนของผู้ร้องทั้งสี่ แม้โจทก์จะได้รับจำนองไว้โดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริต และได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้วก็ไม่อาจยันผู้ร้องทั้งสี่ได้ ผู้ร้องทั้งสี่มีสิทธิร้องกันส่วนเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดที่ดินพิพาท โจทก์เป็นเจ้าหนี้ซึ่งรับจำนองที่ดินพิพาทในส่วนของผู้ร้องทั้งสี่โดยมิชอบ โจทก์จึงมิใช่บุคคลซึ่งชอบที่จะใช้สิทธิของทายาทอันจะมีสิทธิยกอายุความหนึ่งปีขึ้นต่อสู้ผู้ร้องทั้งสี่ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1755 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5953/2537

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดของผู้โดยสารซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์: การฟ้องผิดฐานผู้ขับขี่
โจทก์บรรยายฟ้องว่า การที่จำเลยเป็นผู้ขับรถจักรยานยนต์และเป็นเจ้าของรถจักรยานยนต์คันที่ชนโจทก์จนโจทก์ได้รับอันตรายบาดเจ็บสาหัสจากการทำละเมิดของจำเลย จำเลยจึงต้องตกอยู่ในฐานะเป็นบุคคลที่ควบคุมดูแลยานพาหนะซึ่งเดินด้วยกำลังเครื่องจักรกลนั้นเมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยเพียงแต่เป็นผู้นั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์โดยไม่ได้เป็นผู้ขับรถจักรยานยนต์คันเกิดเหตุชนโจทก์จึงจะให้จำเลยต้องรับผิดในฐานะผู้ครอบครองยานพาหนะอันเดินด้วยเครื่องจักรกลไม่ได้ เพราะเป็นการนอกฟ้อง เนื่องจากโจทก์มิได้ฟ้องขอให้จำเลยรับผิดในฐานะผู้ครอบครองรถจักรยานยนต์คันที่ชนโจทก์ในขณะเกิดเหตุตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 437

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3731/2537

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิครอบครองที่ดินโฉนด – มาตรา 1299 วรรคสอง – การได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์โดยทางอื่นนอกจากนิติกรรม
การที่ผู้ร้องทั้งสองอ้างว่าเป็นผู้ได้สิทธิครอบครองที่ดินโดยการจับจองมาแต่เริ่มแรก แต่ที่ดินดังกล่าวเป็นที่ดินมีโฉนดของผู้อื่น ถือได้ว่าผู้ร้องทั้งสองเป็นผู้ได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์โดยทางอื่นนอกจากนิติกรรม ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1299 วรรคสอง นั่นเอง เพราะผู้ร้องทั้งสองไม่ได้ที่ดินมาโดยนิติกรรมจากผู้ใด และได้ความว่าผู้ร้องยังไม่ได้จดทะเบียนการได้มาซึ่งที่ดินดังกล่าวการที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 นำมาตรา 1299 วรรคสอง มาปรับใช้กับคดีผู้ร้องทั้งสองแล้ววินิจฉัยว่าแม้จะฟังว่าผู้ร้องทั้งสองได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองผู้ร้องทั้งสองก็ไม่อาจยกข้อต่อสู้ขึ้นยันโจทก์ได้นั้นไม่เป็นการวินิจฉัยคดีนอกประเด็น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2358/2537

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาซื้อขายใบยาสูบ: ประเด็นอายุความ 10 ปี ตามมาตรา 164 และการวินิจฉัยนอกประเด็น
จำเลยให้การปฏิเสธฟ้องโจทก์อย่างสิ้นเชิงว่าไม่เคยทำสัญญาจะซื้อจะขายตามฟ้องโจทก์ เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยทำสัญญาจะซื้อจะขายกับโจทก์จริง จึงไม่มีประเด็นที่จะวินิจฉัยต่อไปว่าจำเลยได้รับเงินจากโจทก์ตามสัญญาหรือไม่ แม้ศาลล่างจะรับวินิจฉัยในประเด็นนี้ให้ก็เป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย โจทก์ฟ้องเรียกเอาเงินที่จ่ายล่วงหน้าเป็นค่าซื้อของส่วนที่เหลือหลังจากหักค่าของที่จำเลยส่งมอบแล้วคืน มีอายุความ10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 164 มิใช่กรณีตามมาตรา 165 (1) ซึ่งมีอายุความ 2 ปี

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2350/2537

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ภารจำยอมตกติดไปกับที่ดิน แม้จำเลยโอนสิทธิไปให้บุคคลอื่น ศาลไม่อาจบังคับสิทธิกระทบบุคคลภายนอก
โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนภารจำยอมในที่ดินของโจทก์เพื่อประโยชน์แก่ที่ดินของจำเลยทั้งสอง แต่ที่ดินของจำเลยทั้งสองได้มีการโอนกรรมสิทธิ์ไปยัง จ.แล้ว ทั้งตามบันทึกข้อตกลงให้ที่ดินของโจทก์ตกอยู่ในภารจำยอมของที่ดินของจำเลยทั้งสองก็ไม่ปรากฏว่ามีข้อตกลงให้ภารจำยอมในที่ดินของโจทก์สิ้นผลไปเมื่อจำเลยทั้งสองโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินของตนให้บุคคลอื่นหรือสิ้นผลไปด้วยประการอื่นแต่อย่างใด ภารจำยอมของโจทก์ย่อมตกติดไปกับที่ดินของจำเลยทั้งสองที่โอนไปเป็นกรรมสิทธิ์ของ จ.แล้วตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1393 วรรคแรก โจทก์มิได้ฟ้อง จ.และ จ.มิได้เข้ามาเป็นคู่ความในคดีศาลจึงไม่อาจพิพากษาให้เพิกถอนภารจำยอมตามคำขอของโจทก์ให้กระทบกระเทือนถึงสิทธิของ จ.ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกคดีได้ ปัญหาข้อนี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2206/2537

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การขอรับชำระหนี้จำนองต้องชัดเจนตามคำร้อง ศาลไม่อาจสั่งเกินกว่าที่ขอ
แม้หนังสือสัญญาจำนองและข้อตกลงต่อท้ายสัญญาจำนองกำหนดให้ผู้ร้องคิดดอกเบี้ยได้ในอัตราร้อยละ 18.5 ต่อปีและทรัพย์สินซึ่งจำนองย่อมเป็นประกันเพื่อการชำระหนี้กับทั้งค่าอุปกรณ์คือดอกเบี้ยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 715(1) ก็ตามแต่ตามคำร้องของผู้ร้อง ผู้ร้องยื่นคำร้องขอรับชำระหนี้จำนองโดยยังมิได้เป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา เพียงแต่ขอรับชำระหนี้จนถึงวันที่ 21 มีนาคม 2532 โดยมิได้คำนวณดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 21 มีนาคม 2532 จนถึงวันยื่นคำร้องขอรับชำระหนี้จำนอง(วันที่ 27 มีนาคม 2532) และไม่ได้เรียกดอกเบี้ยนับแต่วันยื่นคำร้องจนถึงวันขายทอดตลาดมาด้วย ในเรื่องดอกเบี้ยจะเห็นได้ว่าผู้ร้องมิได้มีคำขอมาในคำร้องแต่อย่างใด ศาลจึงมิอาจมีคำสั่งให้สิ่งใด ๆ เกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำร้องเพราะต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 วรรคแรก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1429/2537

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาเช่าซื้อผิดนัด: สิทธิของผู้ให้เช่าซื้อในการเรียกค่าเสียหายจากการใช้ทรัพย์สิน
ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 574 บัญญัติไว้แต่เพียงว่า เมื่อมีการเลิกสัญญาเพราะผู้เช่าซื้อผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อ ผู้ให้เช่าซื้อมีสิทธิริบเงินที่ผู้ให้เช่าซื้อรับไว้และกลับเข้าครอบครองทรัพย์สินที่ให้เช่าซื้อเท่านั้น ฉะนั้น โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกให้จำเลยชำระค่าเช่าซื้อที่ค้างก่อนสัญญาเลิกกันคงเรียกได้เพียงค่าที่จำเลยใช้ทรัพย์ที่เช่าซื้อตลอดเวลาที่ครอบครองอยู่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 วรรค 3 และค่าเสียหายเพราะเหตุอื่นที่จำเลยต้องรับผิดนอกเหนือจากค่าเสียหายอันเกิดแต่การใช้ทรัพย์โดยชอบ แม้คำฟ้องของโจทก์จะระบุมาเป็นค่าเช่าซื้อที่ค้าง แต่ตามคำบรรยายฟ้องกล่าวว่า การที่จำเลยผิดนัดผิดสัญญาต่อโจทก์จนโจทก์บอกเลิกสัญญาและยึดรถที่เช่าซื้อกลับคืน ทำให้โจทก์เสียหายคือจำเลยครอบครองใช้รถของโจทก์โดยไม่ชำระค่าเช่าซื้อตั้งแต่งวดที่ 11 ถึงงวดที่ 17 เป็นเงิน 58,053 บาท จึงพอถือได้ว่าโจทก์ได้เรียกค่าเสียหายฐานใช้รถของโจทก์ตลอดเวลาที่จำเลยยังครอบครองอยู่ ศาลย่อมพิพากษาให้จำเลยใช้ค่าเสียหายได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 43/2537

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิบังคับคดีตามสัญญาประนีประนอมยอมความ: ศาลอุทธรณ์มีอำนาจเพิกถอนการบังคับคดีได้หากศาลชั้นต้นผิดพลาด
สิทธิในการบังคับคดีเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน เมื่อศาลอุทธรณ์เห็นว่าศาลชั้นต้นบังคับคดีเอาแก่ทรัพย์สินของจำเลยไม่ถูกต้องศาลอุทธรณ์ก็มีอำนาจพิพากษาให้เพิกถอนการบังคับคดีของศาลชั้นต้นเสียได้ สัญญาประนีประนอมยอมความซึ่งศาลพิพากษาตามยอมระบุว่า หากจำเลยไม่ยอมรื้อถอนเสาคอนกรีตและรั้วกำแพงเหล็กทึบที่สร้างรุกล้ำที่ดินของโจทก์ ทั้งไม่ยอมรื้อถอนสายไฟฟ้าแรงสูงที่ติดตั้งอยู่บนรั้วดังกล่าวให้เสร็จสิ้นเรียบร้อยภายในกำหนดเวลาสองเดือน นับแต่วันทำสัญญาประนีประนอมยอมความ โจทก์หรือบุคคลที่โจทก์จ้างมีสิทธิเข้าไปรื้อถอนสิ่งก่อสร้างเหล่านั้นได้โดยจำเลยเป็นผู้เสียค่าใช้จ่าย และจำเลยยินยอมให้โจทก์บังคับคดีตามคำขอท้ายฟ้องได้ดังนั้น ถ้าจำเลยผิดนัดไม่ยอมรื้อถอนสิ่งก่อสร้างที่จะต้องรื้อถอนให้เสร็จภายในกำหนดสองเดือนนับแต่วันทำสัญญาประนีประนอมยอมความนอกจากโจทก์จะมีสิทธิรื้อถอนสิ่งก่อสร้างนั้นเองหรือจ้างให้บุคคลอื่นเข้าไปรื้อถอนโดยค่าใช้จ่ายของจำเลยแล้ว โจทก์ยังมีสิทธิบังคับคดีตามคำขอท้ายฟ้องโดยโจทก์ไม่จำต้องเข้าไปรื้อถอนหรือจ้างให้บุคคลอื่นเข้าไปรื้อถอนสิ่งก่อสร้างเหล่านั้นก่อนจึงจะขอบังคับคดีได้ เพราะข้อความเกี่ยวกับเรื่องรื้อถอนสิ่งก่อสร้างกับข้อความเกี่ยวกับการที่โจทก์จะขอบังคับคดีตามคำขอท้ายฟ้องเป็นข้อความคนละตอน สามารถแยกใจความคนละส่วนต่างหากจากกันได้ โจทก์ร้องขอให้ศาลชั้นต้นออกหมายบังคับคดีอ้างว่าจำเลยเพิกเฉยไม่ปฏิบัติตามสัญญาประนีประนอมยอมความที่ศาลพิพากษาตามยอมซึ่งหมายถึงว่า จำเลยไม่ดำเนินการรื้อถอนเสาคอนกรีต รั้วกำแพงทึบที่สร้างรุกล้ำที่ดินของโจทก์ รวมทั้งไม่ได้รื้อถอนสายไฟฟ้าแรงสูงที่ติดตั้งอยู่บนรั้วดังกล่าวด้วย ศาลอุทธรณ์ย่อมชอบที่จะวินิจฉัยข้อเท็จจริงว่า สิ่งก่อสร้างทั้งหมดจำเลยยังไม่ได้รื้อถอนออกไปจากที่ดินของโจทก์ตามสัญญาประนีประนอมยอมความและชอบที่จะยกเอาเหตุผลดังกล่าวประกอบการวินิจฉัยการวินิจฉัยได้ว่าใครเป็นฝ่ายผิดสัญญาอันเป็นดุลพินิจของศาลอุทธรณ์ หาเป็นการวินิจฉัยคดีนอกฟ้องนอกประเด็นไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4696/2536

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ นิติกรรมอำพราง: การกู้ยืมเงินที่แสดงเป็นสัญญาซื้อขาย ศาลยกฟ้องเรื่องผิดสัญญาซื้อขาย
การที่จำเลยกู้เงินโจทก์โดยมอบรถยนต์ให้โจทก์ยึดไว้เป็นประกันนิติกรรมการซื้อขายรถยนต์ซึ่งมีหนังสือหลักฐานการรับเงินขายรถยนต์จึงเป็นนิติกรรมอำพรางนิติกรรมการกู้เงิน นิติกรรมการซื้อขายจึงเป็นโมฆะตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 118วรรคแรก เดิม (มาตรา 155 วรรคแรกใหม่) และต้องบังคับตามนิติกรรมการกู้ยืมซึ่งเป็นนิติกรรมที่ถูกอำพรางไว้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 118 วรรคสอง เดิม (มาตรา 155วรรคสองใหม่) และแม้ในกรณีเช่นนี้จะมิได้มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเงินเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อจำเลยเป็นสำคัญต่างหากจากสัญญาซื้อขายก็ตาม ย่อมถือได้ว่าหนังสือหลักฐานการรับเงินขายรถยนต์เป็นหลักฐานการกู้ยืมเงินที่ทำกันไว้เป็นลายลักษณ์อักษรระหว่างจำเลยกับโจทก์จึงมีผลบังคับกันได้ โจทก์ฟ้องว่าจำเลยผิดสัญญาซื้อขายขอเรียกเงินคืน จำเลยให้การต่อสู้ว่า ความจริงเป็นเรื่องการกู้ยืมเงินกัน เมื่อข้อเท็จจริงในทางพิจารณาฟังได้ตามที่จำเลยต่อสู้ ย่อมไม่อาจพิพากษาให้จำเลยชำระเงินให้แก่โจทก์ได้ เพราะเป็นเรื่องนอกฟ้องนอกประเด็น
of 4