คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.พ.พ. ม. 426

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 49 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4382/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ แบ่งความรับผิดหนี้ร่วมกัน นายจ้าง ลูกจ้าง และผลของการทำสัญญาประนีประนอมยอมความต่อดอกเบี้ย
ตามคำพิพากษาในคดีก่อนศาลฎีกามีคำวินิจฉัยในส่วนความรับผิดของโจทก์เพียงข้อหาเดียวว่า โจทก์เป็นนายจ้างของ ป. และ ป. ได้กระทำละเมิดในทางการที่จ้าง โจทก์จึงต้องร่วมรับผิดชดใช้ความเสียหายให้แก่โจทก์ทั้งสามในคดีก่อน และวินิจฉัยถึงความรับผิดของจำเลยโดยสรุปว่า จำเลยดำเนินการด้วยความประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้ ป. มีโอกาสเบียดบังเอาหุ้นของโจทก์ที่มีชื่อ ว. เป็นผู้ถือหุ้นไปโดยทุจริต จึงเป็นการกระทำละเมิดต้องร่วมรับผิดชดใช้ความเสียหายแก่โจทก์ทั้งสามในคดีก่อนด้วย ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ตามคำวินิจฉัยของศาลในคดีก่อนว่า ป. และจำเลยเป็นผู้ทำละเมิด และต้องร่วมกันรับผิดชดใช้ความเสียหายแก่โจทก์ทั้งสามในคดีก่อนตาม ป.พ.พ. มาตรา 420 และเมื่อเป็นหนี้ร่วม ป. และจำเลยจึงต้องรับผิดเป็นส่วนเท่า ๆ กัน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 296 ส่วนโจทก์ต้องร่วมรับผิดในฐานะเป็นนายจ้างของ ป. เท่านั้น ความรับผิดของโจทก์และ ป. จึงเสมือนเป็นบุคคลเดียวกันที่ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยในการชดใช้ความเสียหายให้แก่โจทก์ทั้งสามในคดีก่อนตาม ป.พ.พ. มาตรา 425 และเนื่องจากเป็นลูกหนี้ร่วมตามคำพิพากษา โจทก์จึงต้องร่วมรับผิดชําระหนี้ตามคำพิพากษาให้แก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาโดยสิ้นเชิงเช่นเดียวกับ ป. และจำเลย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 291 แต่ความรับผิดของโจทก์นั้น เป็นผลมาจากบทบัญญัติของกฎหมายที่บัญญัติให้นายจ้างต้องร่วมรับผิดกับลูกจ้างซึ่งได้กระทำละเมิดในทางการที่จ้างด้วย มิได้เป็นผลมาจากการกระทำของโจทก์แต่อย่างใด ดังนั้น เมื่อโจทก์ชําระหนี้ตามคำพิพากษาในคดีก่อนไปแล้ว ย่อมมีสิทธิที่จะได้รับชดใช้จาก ป. ผู้เป็นลูกจ้างตาม ป.พ.พ. มาตรา 426 และรับช่วงสิทธิมาไล่เบี้ยจากจำเลยได้อีกส่วนหนึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 227
ส่วนที่จำเลยอ้างว่าบันทึกข้อตกลงเอกสารหมาย จ.27 เป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ หลังจากบริษัท ม. ได้ชําระหนี้คืนให้แก่โจทก์หนึ่งในสามส่วนแทนจำเลยตามบันทึกข้อตกลงแล้ว หนี้ในส่วนของจำเลยจึงระงับไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 852 นั้น ตามคำให้การจำเลยมิได้ต่อสู้คดีว่าโจทก์และจำเลยได้มีการทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันอันมีผลทำให้ข้อพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยระงับสิ้นไปแล้ว ฎีกาของจำเลยในข้อนี้จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลล่างทั้งสอง ต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 252 ศาลฎีกาจึงไม่วินิจฉัยให้
การที่ศาลอุทธรณ์ไม่วินิจฉัยอุทธรณ์ของผู้อุทธรณ์ในข้อใดเป็นดุลพินิจของศาลอุทธรณ์ตามที่เห็นสมควร หากเห็นว่าแม้จะวินิจฉัยอุทธรณ์ของผู้อุทธรณ์ไปอย่างไรก็ไม่ทำให้ผลคดีตามที่ได้วินิจฉัยแล้วเปลี่ยนแปลงไป ศาลอุทธรณ์ย่อมมีอำนาจไม่วินิจฉัยในข้อนั้นได้
บันทึกข้อตกลงตามเอกสารหมาย จ.27 เป็นเพียงข้อตกลงให้โจทก์ชําระหนี้ตามคำพิพากษาในคดีก่อนให้เสร็จสิ้น กับให้จำเลยโดยบริษัท ม. ชําระหนี้ตามความรับผิดของจำเลยหนึ่งในสามส่วนไปก่อนเท่านั้น จำเลยจึงยังต้องรับผิดชําระหนี้ตามคำพิพากษาในคดีก่อนที่ขาดจำนวนจากความรับผิดในส่วนของจำเลยให้แก่โจทก์
ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชําระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่ 21 มกราคม 2559 เป็นต้นไปจนกว่าจะชําระเสร็จนั้น เนื่องจากได้มีการประกาศใช้ พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ. 2564 โดยให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 ซึ่งตามมาตรา 3 และมาตรา 4 แห่งพระราชกำหนดดังกล่าวบัญญัติให้ยกเลิกความในมาตรา 7 และมาตรา 224 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ตามลำดับ และให้ใช้ข้อความใหม่แทน อันมีผลให้ในกรณีที่ต้องเสียดอกเบี้ยแก่กันและมิได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้โดยนิติกรรมหรือบทกฎหมายโดยชัดแจ้ง ก็ให้ใช้อัตราร้อยละ 3 ต่อปี และในกรณีที่เป็นหนี้เงินให้คิดดอกเบี้ยในระหว่างเวลาผิดนัดในอัตราที่กำหนดตามมาตรา 7 บวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละ 2 ต่อปี เว้นแต่เจ้าหนี้อาจเรียกดอกเบี้ยได้สูงกว่านั้นโดยอาศัยเหตุอย่างอื่นอันชอบด้วยกฎหมาย แต่ทั้งนี้ไม่กระทบถึงการคิดดอกเบี้ยก่อนที่พระราชกำหนดดังกล่าวมีผลใช้บังคับ ดังนั้น อัตราดอกเบี้ยที่จำเลยต้องรับผิดชําระให้แก่โจทก์ตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 จึงต้องเป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมายที่แก้ไขใหม่ และปัญหาเรื่องการคิดดอกเบี้ยเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและพิพากษาแก้ไขโดยกำหนดดอกเบี้ยให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3529/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิไล่เบี้ยค่าสินไหมทดแทนจากลูกจ้างกรณีทำละเมิด: กฎหมายเฉพาะ (พรบ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่) ไม่เปิดช่องให้ไล่เบี้ยตามประมวลกฎหมายแพ่ง
การนำบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดมาใช้บังคับแก่คดี เป็นปัญหาข้อกฎหมายสำคัญที่ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษควรวินิจฉัยให้ เมื่อคดีขึ้นสู่ศาลฎีกาโดยมีข้อเท็จจริงเพียงพอที่ศาลฎีกาจะวินิจฉัยในปัญหาตามอุทธรณ์ของโจทก์ดังกล่าวนี้ไปเสียทีเดียวได้ และเพื่อความรวดเร็ว ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยปัญหาดังกล่าวไปโดยไม่ต้องย้อนสำนวนให้ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษพิจารณาพิพากษาใหม่
พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 มาตรา 4 ให้คำนิยามของคำว่า เจ้าหน้าที่ หมายความว่า ข้าราชการ พนักงาน ลูกจ้าง หรือ... และคำว่า หน่วยงานของรัฐ หมายความว่า... รัฐวิสาหกิจที่ตั้งขึ้นโดยพระราชบัญญัติหรือพระราชกฤษฎีกา และมาตรา 8 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ในกรณีที่หน่วยงานของรัฐต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้เสียหายเพื่อการละเมิดของเจ้าหน้าที่ ให้หน่วยงานของรัฐมีสิทธิเรียกให้เจ้าหน้าที่ผู้ทำละเมิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนดังกล่าวแก่หน่วยงานของรัฐได้ ถ้าเจ้าหน้าที่ได้กระทำการนั้นไปด้วยความจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง เมื่อโจทก์เป็นรัฐวิสาหกิจซึ่งเป็นองค์การของรัฐบาลที่จัดตั้งขึ้นตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการจัดตั้งองค์การของรัฐบาล พ.ศ. 2496 และ พ.ร.ฎ.จัดตั้งองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ พ.ศ. 2519 อันอยู่ในนิยามของคำว่า หน่วยงานของรัฐ และจำเลยเป็นลูกจ้างโจทก์อันอยู่ในนิยามคำว่า เจ้าหน้าที่ จึงต้องใช้พระราชบัญญัติดังกล่าวบังคับแก่คดีนี้ ข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยกระทำด้วยความประมาทเลินเล่อ มิได้ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง โจทก์จึงไม่มีสิทธิไล่เบี้ยค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยตามพระราชบัญญัติดังกล่าว
แม้ ป.พ.พ. มาตรา 426 บัญญัติว่า นายจ้างซึ่งได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่บุคคลภายนอกเพื่อละเมิดอันลูกจ้างได้ทำนั้น ชอบที่จะได้ชดใช้จากลูกจ้างนั้น แต่บทบัญญัติดังกล่าวเป็นบทบัญญัติที่ใช้บังคับแก่นายจ้างและลูกจ้างในกรณีทั่วไป พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 มีเหตุผลในการประกาศใช้บังคับซึ่งปรากฏอยู่ที่ท้ายพระราชบัญญัติดังกล่าวว่า การที่เจ้าหน้าที่ดำเนินกิจการต่าง ๆ ของหน่วยงานของรัฐนั้น หาได้เป็นไปเพื่อประโยชน์อันเป็นการเฉพาะตัวไม่ การปล่อยให้ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ ในการปฏิบัติงานในหน้าที่และเกิดความเสียหายแก่เอกชนเป็นไปตามหลักกฎหมายเอกชนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์จึงเป็นการไม่เหมาะสม... ดังนั้น จึงสมควรกำหนดให้เจ้าหน้าที่ต้องรับผิดทางละเมิดในการปฏิบัติหน้าที่เฉพาะเมื่อเป็นการจงใจกระทำเพื่อการเฉพาะตัว หรือจงใจให้เกิดความเสียหายหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงเท่านั้น... จึงเห็นได้ว่าพระราชบัญญัติดังกล่าวเป็นกฎหมายเฉพาะที่มีเจตนารมณ์ไม่ให้นำประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยการไล่เบี้ยระหว่างนายจ้างและลูกจ้างซึ่งเกิดจากลูกจ้างทำละเมิดต่อบุคคลภายนอกมาใช้บังคับ ดังนี้ โจทก์จึงไม่มีสิทธิไล่เบี้ยเรียกค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยตาม ป.พ.พ. มาตรา 426
ที่โจทก์ฎีกาว่า คำสั่งองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพให้จำเลยชำระเงินค่าสินไหมทดแทนที่โจทก์ในฐานะนายจ้างชดใช้แก่ผู้เสียหายคืนแก่โจทก์ยังไม่ได้ถูกฟ้องขอให้เพิกถอน จึงมีผลในทางปฏิบัติต่อไป จำเลยจึงต้องรับผิดต่อโจทก์ตามฟ้อง เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่ได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลแรงงานกลางและในชั้นอุทธรณ์ โจทก์ก็มีอำนาจยกขึ้นฎีกาได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคสอง และมาตรา 252 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 57/1 วรรคหนึ่ง
จำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์หรือไม่ เพียงใด ต้องพิจารณาจากการกระทำของจำเลยแล้วปรับเข้ากับบทบัญญัติของกฎหมาย เมื่อพิจารณาการกระทำของจำเลย บทบัญญัติของกฎหมาย และรูปคดีนี้แล้ว จำเลยไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ แม้คำสั่งให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ดังกล่าวยังไม่ได้ถูกเพิกถอน ก็ถือได้ว่าคำสั่งดังกล่าวสิ้นผลบังคับไปโดยปริยาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5724/2562

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ หนังสือค้ำประกัน – ตัวแทนเกินอำนาจ – ความรับผิดของตัวการ – ความประมาทเลินเล่อของจำเลย
โจทก์บรรยายฟ้องข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำของ จ. ซึ่งเป็นลูกจ้างและตัวแทนของจำเลยที่เป็นเหตุโต้แย้งสิทธิของโจทก์แล้ว แม้โจทก์จะมิได้กล่าวในฟ้องเกี่ยวกับลักษณะการเป็นตัวแทน โจทก์ก็นำสืบได้เพราะเป็นข้อเท็จจริงในรายละเอียดว่าการกระทำดังกล่าวของ จ. จะมีลักษณะเป็นลูกจ้างหรือตัวแทนของจำเลย ขึ้นอยู่กับข้อกฎหมายที่ว่าจำเลยจะต้องรับผิดด้วยหรือไม่ ฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม
จำเลยมอบอำนาจให้ จ. ซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยออกหนังสือค้ำประกันแทนจำเลยได้ตามเงื่อนไข การที่ จ. ออกหนังสือค้ำประกันที่สาขาของจำเลยโดยใช้กระดาษแบบฟอร์มของจำเลย ถือได้ว่าทางปฏิบัติของจำเลยผู้เป็นตัวการทำให้โจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกมีมูลเหตุอันสมควรจะเชื่อว่าการออกหนังสือค้ำประกันดังกล่าวเป็นการกระทำอยู่ภายในขอบอำนาจของตัวแทน หนังสือค้ำประกันจากธนาคารจึงเป็นเงื่อนไขสำคัญในการสั่งซื้อสินค้าจากโจทก์ เมื่อโจทก์ยอมรับหนังสือค้ำประกันเป็นหลักประกันการชำระเงินค่าสินค้าของ ม. การที่ ม. ไม่ชำระหนี้ค่าสินค้าให้โจทก์ ความเสียหายของโจทก์จึงเป็นผลโดยตรงจากการกระทำละเมิดของ จ. ซึ่งเป็นลูกจ้างและตัวแทนของจำเลย จำเลยจึงต้องรับผิดต่อโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14217/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดร่วมกันของนายจ้าง ตัวการ และลูกจ้าง/ตัวแทน จากการกระทำละเมิดในการซ่อมแซมเรือ
โจทก์ได้บรรยายให้เห็นว่า โจทก์เป็นผู้รับประกันภัย เรือ พ. จากบริษัท อ. จำเลยที่ 1 เป็นผู้ครอบครองอู่ต่อเรือ จำเลยที่ 2 เป็นผู้จัดการเรือ พ. มีหน้าที่ดูแลรักษาและซ่อมแซมเรือและเข้าร่วมซ่อมแซมเรือกับจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันรับจ้างซ่อมแซมเรือ พ. จำเลยที่ 3 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 และ/หรือเป็นบุคคลที่จำเลยที่ 1 และ/หรือจำเลยที่ 2 เป็นผู้จัดหาทำการว่าจ้าง วาน ใช้ หรือได้รับมอบหมายจากจำเลยที่ 1 และ/หรือจำเลยที่ 2 ให้ดำเนินการซ่อมแซมเรือ จำเลยทั้งสามร่วมกันทำละเมิดต่อเจ้าของเรือ พ. โดยจำเลยที่ 3 กระทำโดยประมาททำให้เกิดเพลิงลุกไหม้เรือ พ. จนได้รับความเสียหาย เป็นคำฟ้องที่แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาที่โจทก์อาศัยเป็นหลักในการกล่าวหาเพื่อขอให้บังคับจำเลยทั้งสามรับผิดต่อโจทก์ ทั้งโจทก์ยืนยันว่าเหตุละเมิดเกิดจากการปฏิบัติหน้าที่ของจำเลยที่ 3 ในทางการที่จ้างหรือได้รับมอบหมายจากจำเลยที่ 1 และ/หรือที่ 2 หากพิจารณาข้อเท็จจริงแล้วได้ความตามฟ้อง จำเลยที่ 1 และ/หรือที่ 2 ย่อมต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์ ไม่ว่าในฐานะตัวการตัวแทนหรือนายจ้างลูกจ้าง เนื่องจาก ป.พ.พ. มาตรา 427 ให้นำมาตรา 425 และ 426 ซึ่งเป็นบทบัญญัติว่าด้วยความรับผิดของนายจ้างเพื่อผลละเมิดของลูกจ้างซึ่งกระทำไปในทางการที่จ้างบังคับแก่กรณีตัวการตัวแทนโดยอนุโลม ทั้งจำเลยที่ 1 และ/หรือที่ 2 อาจต้องร่วมรับผิดทั้งการกระทำละเมิดและการกระทำผิดสัญญาจ้างซ่อมแซมเรือที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ในคราวเดียวกัน ที่โจทก์บรรยายฟ้องมาจึงไม่ได้ขัดแย้งกัน ฟ้องของโจทก์จึงชอบด้วย ป.วิ.พ.มาตรา 172 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4317/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การทิ้งฟ้องเนื่องจากเหตุสุดวิสัยน้ำท่วม และความรับผิดร่วมกันของนายจ้างและผู้รับประกันภัย
การที่โจทก์ไม่ดำเนินการสืบหาที่อยู่ของจำเลยที่ 1 เพื่อส่งสำเนาอุทธรณ์ให้แก่จำเลยที่ 1 ใหม่ และแถลงต่อศาลภายในกำหนดเวลา 1 เดือน โดยปล่อยให้เวลาล่วงพ้นไปเป็นเวลาถึง 3 เดือนเศษ แม้โจทก์ฎีกาอ้างว่ามีเหตุสุดวิสัยเกี่ยวกับภัยพิบัติน้ำท่วม ทำให้โจทก์ไม่สามารถดำเนินการภายในระยะเวลาที่ศาลสั่งได้ก็ตาม แต่ปรากฏว่าศาลชั้นต้นก็ยังคงเปิดทำการอยู่ โจทก์สามารถสื่อสารกับศาลชั้นต้นได้อย่างง่ายดาย ไม่ว่าทางโทรศัพท์ หรือทางสื่อสารอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งมีใช้กันอย่างแพร่หลาย แต่โจทก์ก็หาได้กระทำไม่ กรณีจึงมิใช่เหตุสุดวิสัย ถือว่าโจทก์ทิ้งฟ้องอุทธรณ์เฉพาะจำเลยที่ 1
เมื่อคดีสำหรับจำเลยที่ 1 ยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นนายจ้างของจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยของจำเลยที่ 2 จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 เท่ากับหนี้ของจำเลยที่ 1 ที่ต้องชำระตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น จำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่ต้องรับผิดมากไปกว่าหนี้ของจำเลยที่ 1 ที่ต้องชำระแก่โจทก์เนื่องจากเป็นหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกกันชำระได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6233/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดของผู้ประกอบการขนส่งต่อละเมิดของตัวแทนและใบอนุญาตประกอบการขนส่ง
โจทก์บรรยายฟ้องว่า ส. และจำเลยที่ 3 ประกอบการขนส่งในนามของจำเลยที่ 4 ซึ่งเป็นผู้ครอบครองและเจ้าของกรรมสิทธิ์รถยนต์บรรทุกคันเกิดเหตุ และจำเลยที่ 4 ได้รับอนุญาตตามกฎหมายให้ประกอบการขนส่งส่วนบุคคลรถยนต์คันเกิดเหตุ รวมทั้งจำเลยที่ 4 เป็นตัวการของ ส. และจำเลยที่ 3 โดยยินยอมให้ ส. และจำเลยที่ 3 นำรถยนต์บรรทุกคันเกิดเหตุประกอบการขนส่งร่วมกับจำเลยที่ 4 ตามคำฟ้องจึงเป็นการขอให้จำเลยที่ 4 ต้องร่วมรับผิดในผลแห่งละเมิดที่ ส. ตัวแทนกระทำการตามคำสั่งของจำเลยที่ 4 ในฐานะเป็นตัวการ คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่พิพากษาให้จำเลยที่ 4 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 แก่โจทก์ จึงมิใช่เป็นการวินิจฉัยนอกฟ้องนอกประเด็น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15907/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความคดีละเมิดจากสัญญาจ้างแรงงาน และการสะดุดหยุดของอายุความจากการรับสภาพหนี้
จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างของโจทก์ปฏิบัติหน้าที่ในทางการที่จ้างโดยขับรถยนต์โดยสารของโจทก์ด้วยความประมาทเลินเล่อชนรถยนต์ของบุคคลภายนอกเป็นเหตุให้รถยนต์โดยสารของโจทก์และรถยนต์ของบุคคลภายนอกเสียหาย เมื่อโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ให้รับผิดในส่วนค่าเสียหายที่จำเลยที่ 1 ก่อให้เกิดกับรถยนต์โดยสารของโจทก์ จึงเป็นคดีอันเกิดแต่มูลละเมิดระหว่างนายจ้างและลูกจ้างเกี่ยวกับการทำงานตามสัญญาจ้างแรงงาน ซึ่งไม่มีกฎหมายกำหนดอายุความไว้เป็นอย่างอื่น จึงมีอายุความสิบปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 โดยนับจากวันที่จำเลยที่ 1 กระทำผิดสัญญาจ้างแรงงานทำให้รถยนต์โดยสารของโจทก์เสียหาย มิใช่นับจากวันที่โจทก์จ่ายค่าซ่อมรถยนต์โดยสารของโจทก์ให้แก่บุคคลอื่นที่โจทก์ได้ว่าจ้างให้ซ่อมรถยนต์โดยสารดังกล่าว เมื่อนับจากวันที่จำเลยที่ 1 กระทำผิดสัญญาจ้างแรงงานทำให้รถยนต์โดยสารของโจทก์เสียหายถึงวันฟ้องเกินสิบปีแล้ว สิทธิเรียกร้องค่าซ่อมรถยนต์โดยสารของโจทก์จึงขาดอายุความ
สำหรับความเสียหายที่จำเลยที่ 1 ก่อให้เกิดแก่บุคคลภายนอกซึ่งโจทก์ได้ชำระค่าเสียหายแทนจำเลยที่ 1 ไปแล้วนั้น แม้จำเลยที่ 1 จะทำหนังสือรับสภาพหนี้ยินยอมให้โจทก์หักค่าจ้างชำระค่าเสียหายดังกล่าวคืนอันเป็นผลให้อายุความสะดุดหยุดลงตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/14 (1) ก็ตาม แต่เมื่อเริ่มนับอายุความใหม่นับแต่วันถัดจากวันรับสภาพหนี้ถึงวันฟ้องก็พ้นกำหนดสิบปีแล้ว และแม้ว่าโจทก์จะมีสิทธิหักค่าจ้างของจำเลยที่ 1 เพื่อชำระหนี้ตามหนังสือรับสภาพหนี้ แต่เมื่อโจทก์ไล่จำเลยที่ 1 ออกจากงาน โจทก์ย่อมมีสิทธิหักค่าจ้างของจำเลยที่ 1 เพื่อชำระหนี้อย่างช้าที่สุดคือวันที่โจทก์ไล่จำเลยที่ 1 ออกจากงาน อายุความสะดุดหยุดลงอันเนื่องมาจากจำเลยที่ 1 ชำระหนี้บางส่วนแก่โจทก์ครั้งสุดท้ายก็คือวันที่โจทก์ไล่จำเลยที่ 1 ออกจากงาน เมื่อนับถัดจากวันดังกล่าวถึงวันฟ้องก็เกินสิบปีแล้วเช่นกัน สิทธิเรียกร้องของโจทก์ในส่วนเงินค่าสินไหมทดแทนที่โจทก์ชำระแก่บุคคลภายนอกแทนจำเลยที่ 1 จึงขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7552/2550 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความฟ้องเรียกค่าเสียหายจากละเมิดของลูกจ้าง: เริ่มนับเมื่อนายจ้างชำระค่าสินไหมทดแทน
กำหนดอายุความตามกฎหมายต้องเริ่มนับแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไป คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า ท. ซึ่งเป็นลูกจ้างของโจทก์กระทำละเมิดในทางการที่จ้างเป็นเหตุให้ทรัพย์สินของบุคคลอื่นได้รับความเสียหาย และโจทก์ได้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามคำพิพากษาให้แก่บริษัท ว. และ ธ. ไปแล้วตั้งแต่วันที่ 31 มีนาคม 2540 จึงเป็นกรณีที่นายจ้างต้องร่วมรับผิดกับลูกจ้างในผลแห่งละเมิดซึ่งลูกจ้างได้กระทำไปในทางการที่จ้างนั้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 425 ซึ่งเป็นบทบัญญัติถึงหน้าที่และความรับผิดของนายจ้างที่ต้องร่วมกับลูกจ้างรับผิดต่อความเสียหายที่บุคคลภายนอกได้รับจากการกระทำละเมิดของลูกจ้างเท่านั้น แต่ในระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง สิทธิของนายจ้างและหน้าที่ของลูกจ้างจะพึงมีต่อกันเพียงใดต้องเป็นไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 426 ที่บัญญัติว่า นายจ้างซึ่งได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่บุคคลภายนอกเพื่อละเมิดอันลูกจ้างได้ทำนั้น ชอบที่จะได้ชดใช้จากลูกจ้างนั้น ดังนั้น เมื่อศาลฎีกามีคำพิพากษา โจทก์จึงทราบจำนวนค่าสินไหมทดแทนที่ต้องชำระแก่บริษัท ว. และ ธ. และได้ชำระค่าสินไหมทดแทนไปเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2540 อันเป็นเวลาภายหลังจากที่ ท. ถึงแก่ความตาย เมื่อ ท. ตาย หนี้อันเกิดจากมูลละเมิดที่ ท. ทำไว้ก่อนตายจึงเป็นมรดกตกแก่จำเลยทั้งสามผู้เป็นทายาทโดยธรรม สิทธิที่โจทก์จะได้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนคืนจากจำเลยทั้งสามเพิ่งจะเกิดขึ้นเมื่อโจทก์ชำระค่าสินไหมทดแทน คือวันที่ 31 มีนาคม 2540 และสิทธิเรียกร้องให้ลูกจ้างชดใช้คืนตาม ป.พ.พ. มาตรา 426 ไม่มีกฎหมายกำหนดอายุความไว้เป็นอย่างอื่น จึงมีอายุความสิบปีตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 แม้ ท. ตายและหนี้อันเกิดแต่มูลละเมิดที่ ท. กระทำไว้ก่อนตายจะเป็นมรดกตกแก่จำเลยทั้งสามผู้เป็นทายาทโดยธรรมก็นำอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 วรรคสี่ ซึ่งเป็นเรื่องอายุความสิทธิเรียกร้องที่เจ้าหนี้มีต่อเจ้ามรดกมาใช้แก่กรณีนี้ไม่ได้ ดังนั้น เมื่อโจทก์นำคดีมาฟ้องจำเลยทั้งสามในวันที่ 29 กันยายน 2547 ยังไม่พ้นสิบปีนับแต่โจทก์มีสิทธิเรียกร้องเอาแก่ ท. ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7552/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความสิทธิเรียกร้องให้ลูกจ้างชดใช้ค่าสินไหมทดแทน: เริ่มนับเมื่อจ่ายเงินจริง
ท. ขับรถไปในทางการที่จ้างของโจทก์ผู้เป็นนายจ้างชนรถยนต์ของ ธ. ที่เอาประกันภัยไว้ต่อบริษัท ว. ได้รับความเสียหาย หลังจาก ท. ตายโจทก์ทราบจำนวนค่าสินไหมทดแทนตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่พิพากษาให้โจทก์ชำระแก่ ธ. และบริษัท ว. และโจทก์ได้ชำระไปแล้ว สิทธิที่โจทก์จะได้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนคืนจาก ท. ตาม ป.พ.พ. มาตรา 426 จึงเพิ่งเกิดเมื่อวันที่โจทก์ชำระเงิน
สิทธิเรียกร้องให้ลูกจ้างชดใช้คืนตามมาตรา 426 ไม่มีกฎหมายกำหนดอายุความไว้เป็นอย่างอื่นจึงมีอายุความ 10 ปี ตามมาตรา 193/30 จะนำอายุความตามมาตรา 1754 วรรคสี่ ซึ่งเป็นเรื่องอายุความสิทธิเรียกร้องที่เจ้าหนี้มีต่อเจ้ามรดกมาใช้บังคับในการฟ้องให้จำเลยทั้งสามซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมของ ท. รับผิดไม่ได้ เมื่อโจทก์นำคดีมาฟ้องจำเลยทั้งสามยังไม่พ้น 10 ปี นับแต่วันที่โจทก์มีสิทธิเรียกร้องเอาแก่ ท. (วันที่โจทก์ชำระเงิน) ฟ้องของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4431/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ขอบเขตการไล่เบี้ยค่าสินไหมทดแทนและค่าฤชาธรรมเนียมจากลูกจ้างของนายจ้างที่กระทำละเมิด
จำเลยซึ่งเป็นลูกจ้างของโจทก์ได้ขับรถยนต์ในทางการที่จ้างด้วยความประมาทเลินเล่อชนนาง ศ. ถึงแก่ความตาย ทายาทของผู้ตายฟ้องโจทก์แต่ผู้เดียวในฐานะนายจ้างให้ใช้ค่าสินไหมทดแทน ศาลฎีกาพิพากษาให้โจทก์ใช้ค่าสินไหมทดแทนพร้อมดอกเบี้ยและให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทน ซึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 426 นายจ้างซึ่งได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่บุคคลภายนอกเพื่อละเมิดอันลูกจ้างได้ทำนั้นชอบที่จะได้รับชดใช้จากลูกจ้าง ดังนั้น โจทก์ซึ่งเป็นนายจ้างและได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่บุคคลภายนอกจึงชอบที่จะได้รับชดใช้จากลูกจ้างเฉพาะค่าสินไหมทดแทนที่ได้ใช้ให้แก่บุคคลภายนอกไปเท่านั้น สำหรับค่าฤชาธรรมเนียมที่โจทก์ชดใช้ให้แก่ทายาทของผู้ตายเป็นความรับผิดตามคำพิพากษา อันเกิดจากการดำเนินคดีระหว่างโจทก์กับทายาทของผู้ตายและโจทก์เป็นฝ่ายแพ้คดี ค่าฤชาธรรมเนียมจึงไม่ใช่ค่าสินไหมทดแทนอันเป็นผลโดยตรงจากการกระทำละเมิดของจำเลย โจทก์ไม่มีสิทธิไล่เบี้ยให้จำเลยชดใช้ค่าฤชาธรรมเนียมดังกล่าว
of 5