คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
สันทัด สุจริต

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 27 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2674/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบังคับคดีตามคำพิพากษา: ศาลต้องแจ้งคู่ความเพื่อคัดค้านก่อนออกคำสั่ง
ตามบทบัญญัติ ป.วิ.พ. มาตรา 271 กำหนดว่า ศาลที่ได้พิจารณาและชี้ขาดตัดสินคดีในชั้นต้น เป็นศาลที่มีอำนาจในการบังคับคดี มีอำนาจกำหนดวิธีการบังคับคดีและมีอำนาจทำคำวินิจฉัยชี้ขาดหรือทำคำสั่งในเรื่องใด ๆ อันเกี่ยวด้วยการบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งในคดีนั้น ดังนั้น กระบวนการบังคับคดีให้เป็นไปคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลทุกชั้นศาล จึงเป็นอำนาจหน้าที่ของศาลชั้นต้นที่จะพิจารณาและชี้ขาดตัดสินคดีนั้นในชั้นต้น และมาตรา 357 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "การบังคับคดีในกรณีที่คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลกำหนดให้ลูกหนี้ตามคำพิพากษากระทำนิติกรรมอย่างหนึ่งอย่างใดซึ่งอาจถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของลูกหนี้ตามคำพิพากษาได้ และคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลไม่ได้กำหนดให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของลูกหนี้ตามคำพิพากษาไว้ เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาอาจมีคำขอให้ศาลมีคำสั่งให้ถือเอาคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลแทนการแสดงเจตนาของลูกหนี้ตามคำพิพากษานั้นได้" และวรรคสอง บัญญัติว่า "ถ้าการแสดงเจตนาของลูกหนี้ตามคำพิพากษาจะบริบูรณ์ต่อเมื่อได้จดทะเบียนต่อนายทะเบียน พนักงานเจ้าหน้าที่ หรือบุคคลอื่นผู้มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาอาจมีคำขอให้ศาลมีคำสั่งให้ดำเนินการจดทะเบียนให้ก็ได้ ในกรณีเช่นนี้ ให้บุคคลดังกล่าวนั้นจดทะเบียนไปตามคำสั่งศาล" ดังนั้นโจทก์ที่ 1 ที่ 3 ที่ 4 และที่ 6 ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาย่อมมีอำนาจยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นขอให้ศาลมีคำสั่งให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสองซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาอันเป็นการบังคับคดีในกรณีที่คำพิพากษาของศาลกำหนดให้จำเลยทั้งสองกระทำนิติกรรมอย่างหนึ่งอย่างใด ซึ่งอาจถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสองได้ ตามที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.พ. มาตรา 357 อันเป็นการใช้สิทธิตามกฎหมาย และศาลชั้นต้นมีอำนาจพิจารณาสั่งคำร้องตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ได้ แต่อย่างไรก็ตาม คำร้องของเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาที่ขอให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของลูกหนี้ตามคำพิพากษาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 357 นั้น เป็นคำร้องที่ ป.วิ.พ. มิได้บัญญัติว่าให้ทำได้แต่ฝ่ายเดียวโดย ป.วิ.พ. มาตรา 21 (2) บัญญัติห้ามมิให้ศาลทำคำสั่งในเรื่องนั้น ๆ โดยมิให้คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งมีโอกาสคัดค้านก่อน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2629/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การแก้ไขสภาพการจ้างของรัฐวิสาหกิจ: ชอบด้วยกฎหมายหากเป็นไปตามกระบวนการและไม่ขัดแย้งกับสิทธิลูกจ้าง
คณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์โดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีมีมติให้กำหนดขอบเขตสภาพการจ้างที่เกี่ยวกับการเงิน ตามมาตรา 13 (2) แห่ง พ.ร.บ.แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2543 แก่รัฐวิสาหกิจ 12 แห่ง ซึ่งรวมถึงจำเลยขณะเป็นบริษัท ท. โดยให้สามารถดำเนินการปรับปรุงสภาพการจ้างที่เกี่ยวกับการเงิน ในการกำหนดอัตราค่าจ้าง ค่าตอบแทนหรือสวัสดิการต่าง ๆ ของพนักงานได้เอง เมื่อคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจนั้นเห็นชอบแล้ว ถือว่าจำเลยมีอำนาจปรับปรุงระเบียบบริษัท ท. ว่าด้วยกองทุนสวัสดิการสงเคราะห์พนักงาน พ.ศ. 2546 ซึ่งเป็นสภาพการจ้างที่เกี่ยวกับการเงินในการกำหนดค่าตอบแทนหรือสวัสดิการต่าง ๆ ของพนักงานและอยู่ในขอบเขตที่คณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์เสนอขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีแล้ว ไม่จำต้องขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์และคณะรัฐมนตรีแต่ละครั้งอีก
การที่จำเลยมอบให้คณะกรรมการกิจการสัมพันธ์ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ปรึกษาหารือเพื่อพิจารณาปรับปรุงสภาพการจ้างตาม พ.ร.บ.แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2543 มาตรา 23 (5) ร่วมกันพิจารณามีมติเห็นชอบให้แก้ไขระเบียบดังกล่าว แล้วจำเลยเสนอกระทรวงการคลังให้ความเห็นชอบในการใช้บังคับ จึงถูกต้องตามกระบวนการใน พ.ร.บ.แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2543
มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2545 ที่เห็นชอบการแปลงสภาพองค์การ ท. เป็นบริษัท ท. ตามที่ประธานคณะกรรมการนโยบายทุนรัฐวิสาหกิจเสนอ มีใจความ ให้ผู้ปฏิบัติงานขององค์การ ท. ที่โอนไปยังบริษัท ท. ณ วันที่มีการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทได้รับเงินเดือน ค่าจ้าง และสิทธิประโยชน์ไม่น้อยกว่าที่เคยได้รับอยู่เดิมเป็นมติที่สอดคล้องกับ พ.ร.บ.ทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2542 มาตรา 25 วรรคสอง ที่ให้พนักงานตามวรรคหนึ่งได้รับเงินเดือน ค่าจ้าง และสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ไม่น้อยกว่าที่เคยได้รับอยู่เดิม กับให้ถือว่าเวลาการทำงานของพนักงานดังกล่าวในรัฐวิสาหกิจเดิมเป็นเวลาการทำงานในบริษัทโดยไม่ถือว่าการเปลี่ยนสภาพจากรัฐวิสาหกิจเดิมเป็นบริษัทนั้นเป็นการเลิกจ้าง มติคณะรัฐมนตรีและบทบัญญัติดังกล่าวเป็นกรณีที่ใช้ในช่วงเวลาเปลี่ยนสภาพจากรัฐวิสาหกิจในรูปองค์การของรัฐเป็นบริษัท
ในขณะที่จำเลยแปลงสภาพจากองค์การของรัฐเป็นบริษัทเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2545 จำเลยได้ให้พนักงานได้รับสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ที่เคยได้รับอยู่เดิมและยังไม่มีการปรับปรุงแก้ไขออกเป็นระเบียบจำเลย ว่าด้วย กองทุนสวัสดิการสงเคราะห์พนักงาน พ.ศ. 2546 ฉบับที่ 3 พ.ศ. 2548 กรณีไม่อาจอ้าง พ.ร.บ.ทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2542 และมติคณะรัฐมนตรีมาปรับหรือบังคับให้ระเบียบดังกล่าวตกไป
พ.ร.บ.ทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2542 มิได้เป็นบทบัญญัติที่ห้ามมิให้มีการแก้ไขสภาพการจ้าง เพราะการแก้ไขสภาพการจ้างของลูกจ้างในรัฐวิสาหกิจต้องดำเนินการตาม พ.ร.บ.แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2543 ซึ่งมีคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์กำกับดูแลในขั้นตอนต่าง ๆ เพื่อให้ฝ่ายบริหารกับพนักงานและลูกจ้างของรัฐวิสาหกิจมีสิทธิ หน้าที่ และความรับผิดชอบในขอบเขตที่เหมาะสมและสอดคล้องกับนโยบายการพัฒนาและส่งเสริมเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและสังคมตลอดจนความมั่นคงของประเทศ
สภาพการจ้างตามระเบียบจำเลย ว่าด้วย กองทุนสวัสดิการสงเคราะห์พนักงาน พ.ศ. 2546 ฉบับที่ 3 พ.ศ. 2548 นอกจากเป็นสภาพการจ้างเกี่ยวกับการเงินที่อยู่ในขอบเขตที่กำหนดตาม พ.ร.บ.แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2543 มาตรา 13 (2) ที่จำเลยมีอำนาจที่จะแก้ไขปรับปรุงได้เอง ไม่ใช่สภาพการจ้างที่เกิดจากการยื่นข้อเรียกร้อง เจรจาตกลงเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่มีข้อห้ามตาม พ.ร.บ.แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2543 มาตรา 29 วรรคสอง ที่ห้ามมิให้นายจ้างทำสัญญาจ้างแรงงานกับลูกจ้างซึ่งเป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน ขัดหรือแย้งกับข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง เว้นแต่สัญญาจ้างแรงงานนั้นจะเป็นคุณแก่ลูกจ้างยิ่งกว่าแล้ว หลักของการแก้ไขปรับปรุงเพื่อให้เกิดสภาพการจ้างใหม่ แม้ข้อตกลงหรือข้อยุติไม่เป็นคุณแก่ลูกจ้าง เป็นการลดประโยชน์ที่ลูกจ้างมีสิทธิที่ได้รับอยู่เดิมลงบ้าง แต่อยู่ในขอบเขตที่เหมาะสม สอดคล้องกับนโยบายการพัฒนาและส่งเสริมเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ ตามเหตุผลในหมายเหตุท้าย พ.ร.บ.แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2543 ย่อมใช้บังคับได้
จำเลยออกระเบียบแก้ไขหลักเกณฑ์การคำนวณบำเหน็จ เพราะจำเลยปรับขึ้นเงินเดือนให้พนักงานเป็นกรณีพิเศษ ส่งผลกระทบต่อฐานะการเงินของจำเลยที่ต้องจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนสวัสดิการสงเคราะห์พนักงานมากขึ้น ฝ่ายพนักงานลูกจ้างหรือโจทก์ได้รับประโยชน์เพิ่มขึ้นจากการปรับขึ้นเงินเดือนเป็นกรณีพิเศษแล้ว หากจะต้องลดประโยชน์จากการเปลี่ยนหลักเกณฑ์การคำนวณบำเหน็จไปบ้าง เพื่อเสถียรภาพเศรษฐกิจโดยรวมขององค์กร ย่อมถือได้ว่าอยู่ในขอบเขตที่เหมาะสม ระเบียบจำเลย ว่าด้วย กองทุนสวัสดิการสงเคราะห์พนักงาน พ.ศ. 2546 ฉบับที่ 3 พ.ศ. 2548 จึงชอบด้วยกฎหมายและมีผลใช้บังคับแก่พนักงานของจำเลยทุกคนรวมทั้งโจทก์ด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2529/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดของผู้เช่าช่วงและผู้ให้เช่าเดิมเมื่อสัญญาเช่าระงับ รวมถึงการบังคับชำระหนี้ร่วมกัน
จำเลยที่ 2 ทำสัญญาให้จำเลยที่ 1 เช่าที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง โดยให้จำเลยที่ 1 ให้ผู้อื่นเช่าช่วงได้ การที่โจทก์ทำสัญญาเช่าช่วงกับจำเลยที่ 1 จึงเป็นการเช่าช่วงโดยชอบ ต่อมาจำเลยที่ 1 และที่ 2 ตกลงทำหนังสือเลิกการจดทะเบียนการเช่าที่ดินก่อนครบกำหนด ทำให้สัญญาเช่าช่วงระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ระงับลงด้วย จำเลยที่ 1 ต้องชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ ส่วนโจทก์ผู้เช่าช่วงกับจำเลยที่ 2 ผู้ให้เช่าช่วงเดิม กฎหมายบัญญัติให้ผู้เช่าช่วงต้องรับผิดต่อผู้ให้เช่าช่วงเดิมโดยตรงตาม ป.พ.พ. มาตรา 545 ซึ่งเป็นบทบัญญัติยกเว้นหลักทั่วไปที่ว่าสัญญาผูกพันเฉพาะคู่สัญญา ไม่อาจบังคับเอากับบุคคลภายนอกได้ แต่ไม่อาจตีความบทบัญญัติกฎหมายดังกล่าวในทางกลับกันให้ผู้เช่าช่วงสามารถเรียกร้องสิทธิและหน้าที่เอาจากผู้ให้เช่าเดิมได้ เมื่อไม่มีกฎหมายบัญญัติเกี่ยวกับสิทธิและหน้าที่ใด ๆ ที่จะพึงมีต่อกันในอันที่จะให้อำนาจแก่ผู้เช่าช่วงฟ้องบังคับเอากับผู้ให้เช่าเดิมเพื่อให้รับผิดต่อผู้เช่าช่วงได้โดยตรง แม้จำเลยที่ 2 จะมีข้อตกลงกับจำเลยที่ 1 ในการเลิกสัญญาเช่าว่า จำเลยที่ 2 ยอมรับภาระผูกพันของรายย่อยที่มีภาระผูกพันตามสัญญาเช่ากับจำเลยที่ 1 อันเป็นข้อสัญญาเพื่อประโยชน์แก่บุคคลภายนอกตาม ป.พ.พ. มาตรา 374 แต่โจทก์มิได้แสดงเจตนาแก่จำเลยที่ 2 ว่าจะถือเอาประโยชน์จากสัญญานั้น เมื่อโจทก์กับจำเลยที่ 2 มิได้มีนิติสัมพันธ์ต่อกัน โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องบังคับให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2379/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ กรรมเดียวกัน – ระงับการฟ้องคดียาเสพติด – การกระทำความผิดในคราวเดียวกัน
แม้เมทแอมเฟตามีน 395 เม็ด และเมทแอมเฟตามีนชนิดเกล็ดใสของกลางจะเป็นเมทแอมเฟตามีนคนละชนิดและตรวจยึดได้คนละสถานที่ก็ตาม เมื่อได้ความว่า จำเลยที่ 3 ซื้อเมทแอมเฟตามีนทั้งสองชนิดมาพร้อมกัน และนํามาซุกซ่อนไว้ใต้ฐานพัดลมในบ้านของจำเลยที่ 1 ก่อนเกิดเหตุ อ. โทรศัพท์ติดต่อสั่งซื้อ จำเลยที่ 3 ได้แยกเมทแอมเฟตามีน 395 เม็ด ออกมาเพื่อเตรียมไว้จำหน่าย ดังนี้ เมื่อเมทแอมเฟตามีน 395 เม็ด ที่จำเลยที่ 3 มีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายเป็นจำนวนเดียวกับเมทแอมเฟตามีนชนิดเกล็ดใสของกลางคดีนี้ โดยจำเลยที่ 3 มีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายในคราวเดียวกัน เพียงแต่แยกเก็บไว้ในสถานที่ต่างกันเท่านั้น การกระทำของจำเลยที่ 3 คดีนี้กับการกระทำของจำเลยที่ 3 ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1111/2561 ของศาลชั้นต้นจึงเป็นการกระทำความผิดอันเป็นกรรมเดียวกัน เมื่อศาลมีคําพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1111/2561 ของศาลชั้นต้นแล้ว สิทธินําคดีอาญามาฟ้องจำเลยที่ 3 ของโจทก์ในคดีนี้จึงระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (4) ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ. 2550 มาตรา 3

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1255/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การหักกลบหนี้ค่าจ้างและค่าเสียหายจากอุบัติเหตุเครื่องบิน การไม่มีส่วนผิดทำให้ไม่ต้องจ่ายดอกเบี้ย
ข้อเท็จจริงยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ว่า จำเลยใช้สิทธิหักค่าจ้างตามสัญญาที่ต้องชำระแก่โจทก์ไว้เป็นเงิน 798,962 บาท โดยระบุว่าเป็นค่าเสียหายที่โจทก์ต้องรับผิดจากการไม่ปฏิบัติตามสัญญาจ้างเป็นเหตุให้เครื่องบินขับเฉี่ยวชนสะพานเทียบเครื่องบิน ซึ่งในประเด็นนี้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าจำเลยมีส่วนผิดในความเสียหายดังกล่าวอยู่ด้วย จึงกำหนดให้โจทก์รับผิดในความเสียหายแก่จำเลยเพียงกึ่งหนึ่งแล้วพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 399,481 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ อันเป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นหักกลบลบหนี้ระหว่างกันเพื่อความสะดวกในการบังคับคดี และให้จำเลยรับผิดคืนเงินที่หักไว้กึ่งหนึ่ง เมื่อศาลอุทธรณ์เห็นว่าจำเลยไม่มีส่วนผิดในความเสียหาย หากแต่เป็นความประมาทของโจทก์เพียงฝ่ายเดียว จึงพิพากษายกฟ้อง กับบังคับตามฟ้องแย้งโดยให้โจทก์ชดใช้ค่าเสียหายเพิ่มขึ้นจากที่ศาลชั้นต้นกำหนดอีก 399,481 บาท เท่ากับว่าให้โจทก์รับผิดต่อจำเลยเป็นเงิน 798,962 บาท ตามฟ้องแย้ง เมื่อหักกลบกับเงินค่าจ้างที่โจทก์มีสิทธิเรียกร้องตามสัญญาจ้างในวันฟ้องซึ่งจำเลยได้หักไว้เป็นค่าเสียหายแล้ว จึงไม่มีหนี้ที่ทั้งสองฝ่ายจะต้องปฏิบัติการชำระต่อกันอีก เมื่อเป็นดังนี้จึงไม่มีดอกเบี้ยที่โจทก์จะต้องรับผิดต่อจำเลย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 468/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญากู้เงินที่ทำขึ้นจากการแสดงเจตนาลวงเป็นโมฆะ
จำเลยที่ 1 ทำสัญญากู้เงินขึ้นตามที่โจทก์ขอร้องให้ช่วยเหลือเพื่อโจทก์นำไปใช้แสดงแก่ภริยาให้เชื่อว่าโจทก์ได้ให้จำเลยทั้งสองกู้เงินตามสัญญากู้ดังกล่าวเท่านั้น โดยไม่มีการกู้เงินและรับเงินตามสัญญากันจริง สัญญากู้เงินระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 จึงเกิดจากการแสดงเจตนาลวงของคู่กรณีตกเป็นโมฆะ ไม่มีผลบังคับกันได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 155 วรรคหนึ่ง โจทก์ไม่มีสิทธินำสัญญากู้เงินมาฟ้องเรียกร้องให้จำเลยทั้งสองชำระหนี้แก่โจทก์ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4717/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การนับโทษจำคุกคดีอาญาต่างสำนวนที่ไม่เกี่ยวพันกัน ศาลสามารถนับโทษต่อกันได้โดยไม่จำกัด 20 ปีตาม ป.อ. มาตรา 91(2)
การรวมโทษของจำเลยทุกคดีแล้วโทษจำคุกทั้งสิ้นต้องไม่เกิน 20 ปี ตาม ป.อ. มาตรา 91 (2) นั้น จะต้องปรากฏว่าการกระทำความผิดของจำเลยทุกคดีมีลักษณะเกี่ยวพันกันจนอาจจะฟ้องเป็นคดีเดียวกันได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 160 วรรคหนึ่ง หรือรวมพิจารณาพิพากษาเข้าด้วยกันได้ แต่โจทก์กลับแยกฟ้องเป็นหลายคดีและไม่มีการรวมพิจารณาพิพากษาเข้าด้วยกัน แต่สำหรับคดีนี้และคดีที่นับโทษต่อ จำเลยกระทำความผิดต่อผู้เสียหายต่างคนกัน คดีแต่ละสำนวนไม่เกี่ยวพันกันและไม่อาจฟ้องเป็นคดีเดียวกันได้ ศาลย่อมนับโทษจำคุกจำเลยติดต่อกันอันอาจทำให้จำเลยต้องโทษจำคุกทุกคดีเกิน 20 ปีได้ หาได้อยู่ในบังคับของ ป.อ. มาตรา 91 (2) ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3828/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การทำคำเสนอซื้อเพื่อเพิกถอนหลักทรัพย์ ที่ปรึกษาทางการเงินที่เป็นบุคคลเดียวกันกับผู้ทำคำเสนอซื้อ ไม่ขัดกฎหมาย
ตามประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนที่ ทจ.12/2554 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการในการเข้าถือหลักทรัพย์เพื่อครอบงำกิจการ การทำคำเสนอซื้อเพื่อเพิกถอนหลักทรัพย์ ข้อ 54 กำหนดว่า ให้นำข้อกำหนดในหมวด 4 มาใช้บังคับโดยอนุโลม ซึ่งในหมวด 4 ข้อ 18 กำหนดให้ผู้ทำคำเสนอซื้อยื่นคำเสนอซื้อตามแบบ 247 - 4 พร้อมแบบตอบรับคำเสนอซื้อต่อสำนักงานโดยมีที่ปรึกษาทางการเงินเป็นผู้จัดเตรียมคำเสนอซื้อ และที่ปรึกษาทางการเงินตามนิยามข้อ 1 ของประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนฉบับดังกล่าว หมายความว่า ที่ปรึกษาทางการเงินที่อยู่ในบัญชีรายชื่อที่สำนักงานให้ความเห็นชอบ โดยจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดทำคำเสนอซื้อและเป็นที่ปรึกษาทางการเงินที่ได้รับความเห็นชอบ เมื่อตามประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนที่ ทจ.12/2554 มิได้กำหนดไว้อย่างชัดเจนว่าที่ปรึกษาทางการเงินจะต้องเป็นที่ปรึกษาทางการเงินที่เป็นอิสระ แม้ต่อมาจะมีประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนที่ ทก.50/2559 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการในการเข้าถือหลักทรัพย์เพื่อครอบงำกิจการ (ฉบับที่ 3) ข้อ 3 ให้ยกเลิกความใน (4) ของข้อ 56 แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนที่ ทจ.12/2554 โดยให้ใช้ข้อความว่า มูลค่ายุติธรรมของหุ้นสามัญหรือหุ้นบุริมสิทธิของกิจการซึ่งประเมินโดยที่ปรึกษาทางการเงินอิสระแทนก็ตาม แต่ตามประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนที่ ทก.50/2559 ข้อ 4 ระบุว่า ก่อนการแก้ไขโดยประกาศฉบับนี้ ให้ถือว่ามูลค่ายุติธรรมของหุ้นสามัญหรือหุ้นบุริมสิทธิของกิจการที่ประเมินโดยที่ปรึกษาทางการเงินเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในข้อ 56 (4) ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศฉบับนี้แล้ว ดังนั้น ขณะเกิดเหตุคดีนี้ประกาศที่ใช้บังคับคือ ประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนที่ ทจ.12/2554 เมื่อประกาศฉบับใหม่ไม่มีผลย้อนหลัง จึงถือว่ามูลค่ายุติธรรมของหุ้นสามัญหรือหุ้นบุริมสิทธิของกิจการซึ่งประเมินโดยที่ปรึกษาทางการเงินตามข้อความในข้อ 56 (4) ฉบับก่อนแก้ไขกระทำได้แม้มิได้ประเมินโดยที่ปรึกษาทางการเงินที่เป็นอิสระ
ตามประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยการให้ความเห็นชอบที่ปรึกษาทางการเงินและขอบเขตการดำเนินงาน พ.ศ.2552 ข้อ 25 ที่ห้ามมิให้ที่ปรึกษาทางการเงินที่ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาของผู้ถือหุ้นตามข้อ 24 ในกรณีที่ที่ปรึกษาทางการเงินมีความเกี่ยวข้องหรือมีส่วนได้ส่วนเสียกับกิจการ การเป็นที่ปรึกษาของผู้ถือหุ้นตามข้อ 24 เป็นการให้ความเห็นต่อผู้ถือหลักทรัพย์ของกิจการที่ถูกเสนอซื้อเกี่ยวกับการทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ ซึ่งหมายถึงหลักทรัพย์ของกิจการจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นกิจการที่ถูกเสนอซื้อหลักทรัพย์ หาใช่กิจการจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นกิจการที่เป็นผู้ทำคำเสนอซื้อแต่อย่างใดไม่ ข้อ 24 ตามประกาศดังกล่าวไม่เกี่ยวข้องกับที่ปรึกษาทางการเงินของจำเลยที่ 1 ผู้ทำคำเสนอซื้อ ดังนั้น การที่จำเลยที่ 1 ตั้งตนเองเป็นที่ปรึกษาทางการเงินของตนเองในการดำเนินการจัดทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ของจำเลยที่ 2 โดยที่ปรึกษาทางการเงินเป็นบุคคลคนเดียวกันกับผู้ทำคำเสนอซื้อจึงไม่ต้องห้ามตามกฎหมายและสามารถทำได้โดยชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3628/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดพยายามลักทรัพย์นายจ้างและลูกจ้างประพฤติชั่ว การรอการลงโทษ
จำเลยนำรถจักรยานยนต์ไปซ่อม เมื่อซ่อมเสร็จแล้วนำใบแจ้งหนี้ไปขอเบิกค่าซ่อมจากผู้เสียหายครั้นได้เงินค่าซ่อมมาแล้ว จำเลยไม่ไปรับรถจักรยานยนต์คืน ทั้งยังหลอก จ. ผู้รับซ่อมรถจักรยานยนต์ว่ารถเป็นของจำเลยและจำเลยไม่มีเงินชำระค่าซ่อมและให้ จ. ขายแยกชิ้นส่วนเพื่อหักชำระค่าซ่อม ถือได้ว่าเป็นการแย่งการครอบครองทรัพย์ไปจากผู้เสียหายเพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว เป็นการลักรถจักรยานยนต์ไปจากผู้เสียหายโดยใช้ จ. เป็นเครื่องมือในการกระทำความผิด เมื่อการกระทำของจำเลยดังกล่าวเป็นขั้นตอนสุดท้ายอันถือว่าเป็นการกระทำที่ใกล้ชิดต่อความผิดสำเร็จ เข้าขั้นลงมือกระทำความผิดแล้ว แต่การกระทำนั้นไม่บรรลุผลเนื่องจากเจ้าพนักงานยึดรถจักรยานยนต์ของกลางได้โดยไม่ปรากฏว่า จ. แยกชิ้นส่วนรถจักรยานยนต์ตามที่ถูกหลอก จำเลยจึงมีความผิดข้อหาพยายามลักทรัพย์ที่อยู่ในความครอบครองของนายจ้าง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3616/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การคำนวณเงินบำนาญชราภาพ: การรวมระยะเวลาส่งเงินสมทบ ม.33 และ ม.39 และฐานคำนวณเงินสมทบ
แม้โจทก์จะเป็นผู้ประกันตนตั้งแต่ พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 ใช้บังคับก็ตาม แต่โจทก์จะมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีต่าง ๆ นั้น ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนดไว้ตามกฎหมายดังกล่าว โดยเรื่องประโยชน์ทดแทนในกรณีชราภาพตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 มาตรา 76 กำหนดไว้อย่างชัดแจ้งว่า ผู้ประกันตนมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีชราภาพต่อเมื่อผู้ประกันตนได้จ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่าหนึ่งร้อยแปดสิบเดือน ไม่ว่าระยะเวลาหนึ่งร้อยแปดสิบเดือนจะติดต่อกันหรือไม่ก็ตาม ซึ่งตามบทเฉพาะกาล มาตรา 104 วรรคสอง กำหนดให้การจัดเก็บเงินสมทบเพื่อการให้ประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพจะเริ่มดำเนินการเมื่อใดให้ตราเป็นพระราชกฤษฎีกา แต่ทั้งนี้ต้องไม่ช้ากว่าวันที่ 31 ธันวาคม 2541 การจัดเก็บเงินสมทบเพื่อให้ได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีชราภาพนี้จึงหาได้นับตั้งแต่วันที่โจทก์เริ่มจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมงวดแรก เนื่องจากวันดังกล่าวโจทก์ยังไม่ได้มีการจ่ายเงินสมทบเพื่อให้ได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีชราภาพตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมาย เมื่อ พ.ร.ฎ.กำหนดระยะเวลาเริ่มดำเนินการจัดเก็บเงินสมทบเพื่อการให้ประโยชน์ทดแทนกรณีสงเคราะห์บุตรและกรณีชราภาพ พ.ศ.2541 มาตรา 3 กำหนดให้ดำเนินการจัดเก็บเงินสมทบเพื่อการให้ประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพตั้งแต่วันที่ 31 ธันวาคม 2541 เป็นต้นไป จึงต้องนับแต่วันที่ 31 ธันวาคม 2541 เป็นวันเริ่มการจัดเก็บเงินสมทบเพื่อการให้ประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมาย บทบัญญัติดังกล่าวหาใช่เป็นการตัดสิทธิการนับระยะเวลาส่งเงินสมทบเพื่อได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีชราภาพของโจทก์ และมิใช่มีผลเป็นเพียงการเปลี่ยนแปลงหรือเลื่อนกำหนดระยะเวลาในการจัดเก็บเงินสมทบเพื่อประโยชน์ทดแทนในกรณีชราภาพ ดังนั้น ตามคำสั่งสำนักงานประกันสังคมจังหวัดปทุมธานี ลงวันที่ 16 เมษายน 2560 และคำวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์ที่ 1345/2560 ลงวันที่ 28 กันยายน 2560 ที่กำหนดให้คำนวณจ่ายเงินบำนาญชราภาพให้แก่โจทก์ โดยคำนวณจำนวนการส่งเงินสมทบตั้งแต่วันที่ 31 ธันวาคม 2541 จึงชอบแล้ว ส่วนการจ่ายเงินบำนาญชราภาพนั้น ตามกฎกระทรวง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ ระยะเวลา และอัตราการจ่ายประโยชน์ทดแทนในกรณีชราภาพ พ.ศ.2550 ข้อ 2 วรรคหนึ่ง ที่กำหนดให้จ่ายเงินบำนาญชราภาพเป็นรายเดือนในอัตราร้อยละยี่สิบของค่าจ้างเฉลี่ยหกสิบเดือนสุดท้ายที่ใช้เป็นฐานในการคำนวณเงินสมทบก่อนความเป็นผู้ประกันตนสิ้นสุดลงนั้น เมื่อผู้ประกันตนที่มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีชราภาพอาจเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 หรือมาตรา 39 ก็ได้ แล้วแต่กรณี การคำนวณจ่ายเงินบำนาญชราภาพจึงต้องคำนวณจากจำนวนเงินที่ใช้เป็นฐานในการคำนวณจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมของผู้ประกันตนในแต่ละกรณี หรือทั้งสองกรณีประกอบกัน หาใช่คำนวณจากค่าจ้างเฉพาะที่เป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ดังที่โจทก์ฎีกาไม่ มิฉะนั้น การเป็นผู้ประกันตนเฉพาะแต่เพียงตามมาตรา 39 แห่ง พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 ที่ผู้ประกันตนมิได้เป็นลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างจากนายจ้าง ก็มิอาจมีสิทธิได้รับเงินบำนาญชราภาพไปได้ เนื่องจากไม่มีค่าจ้างที่ใช้เป็นฐานในการคำนวณจ่ายเงินดังกล่าว ดังนั้น ค่าจ้างเฉลี่ยหกสิบเดือนสุดท้ายที่ใช้เป็นฐานในการคำนวณเงินสมทบเพื่อจ่ายเงินบำนาญชราภาพตามกฎกระทรวงดังกล่าวจึงหมายถึงค่าจ้างที่ผู้ประกันตนตามมาตรา 33 แห่ง พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 ได้รับจากนายจ้างที่ใช้เป็นฐานในการคำนวณเงินสมทบ และจำนวนเงินที่ใช้เป็นฐานในการคำนวณเงินสมทบของผู้ประกันตนตามมาตรา 39 ซึ่งไม่มีนายจ้างด้วย และตามมาตรา 39 วรรคสอง ประกอบกฎกระทรวงฉบับที่ 6 (พ.ศ.2538) ออกตามความใน พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 ข้อ 1 กำหนดให้เป็นจำนวนเดือนละ 4,800 บาท เมื่อมาตรา 42 ให้นับระยะเวลาประกันตนตามมาตรา 33 และหรือมาตรา 39 ทุกช่วงเวลาเข้าด้วยกันเพื่อก่อสิทธิในการขอรับประโยชน์ทดแทนของผู้ประกันตน การที่โจทก์เป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 และมาตรา 39 ในช่วงเวลาหกสิบเดือนสุดท้ายก่อนความเป็นผู้ประกันตนสิ้นสุดลง และได้รับประโยชน์จากมาตรา 42 ในการก่อสิทธิเพื่อขอรับประโยชน์ทดแทน จึงต้องนำเงินค่าจ้างที่เป็นฐานในการคำนวณเงินสมทบที่เป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 และจำนวนเงินที่ใช้เป็นฐานในการคำนวณเงินสมทบตามกฎกระทรวงที่เป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 39 ซึ่งเสมือนเป็นค่าจ้างมารวมเฉลี่ยเพื่อคำนวณเงินบำนาญชราภาพเป็นรายเดือนให้แก่โจทก์ คำสั่งของสำนักงานประกันสังคมจังหวัดปทุมธานี ลงวันที่ 16 เมษายน 2560 และคำวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์ที่ 1345/2560 ลงวันที่ 28 กันยายน 2560 ชอบแล้ว
of 3