พบผลลัพธ์ทั้งหมด 4 รายการ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18122/2557
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
อายุความคดีลิขสิทธิ์: แยกพิจารณาคดีแพ่งและอาญาตามกฎหมายลิขสิทธิ์และประมวลกฎหมายอาญา
อายุความฟ้องคดีเกี่ยวกับลิขสิทธิ์ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 แบ่งเป็นอายุความฟ้องคดีแพ่งตามมาตรา 63 และอายุความฟ้องคดีอาญาตามมาตรา 66 โดยอายุความคดีอาญาต้องนำ ป.อ. มาตรา 95 มาใช้บังคับ เมื่อโจทก์และโจทก์ร่วมบรรยายฟ้องซึ่งต้องระวางโทษปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท อายุความในคดีนี้จึงเป็นอายุความฟ้องคดีอาญาสำหรับความผิดต้องระวางโทษอย่างอื่นซึ่งไม่ใช่โทษจำคุก ตาม ป.อ. มาตรา 95 (5) อันมีอายุความหนึ่งปีนับแต่วันกระทำความผิด เมื่อโจทก์และโจทก์ร่วมบรรยายฟ้องว่า จำเลยทั้งสามร่วมกันกระทำความผิดระหว่างวันที่ 15 ธันวาคม 2552 ถึงวันที่ 22 ธันวาคม 2552 แต่ฟ้องและได้ตัวจำเลยทั้งสามมายังศาลในวันที่ 17 ธันวาคม 2555 ฟ้องโจทก์และโจทก์ร่วมสำหรับความผิดตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 69 วรรคหนึ่งจึงขาดอายุความแล้ว ทั้งหากเทียบเคียงกับกฎหมายลิขสิทธิ์ก่อนหน้านั้นจะเห็นได้ว่ากฎหมายลิขสิทธิ์ของไทยบัญญัติแยกอายุความคดีแพ่งและคดีอาญาจากกันตลอดมา โดยปัจจุบัน พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 กำหนดอายุความคดีแพ่งไว้ในมาตรา 63 ส่วนมาตรา 66 มิได้กำหนดอายุความคดีอาญาไว้โดยเฉพาะ จึงต้องนำบทบัญญัติในประมวลกฎหมายอาญา ภาค 1 หมวด 9 ว่าด้วยอายุความมาใช้กับความผิดในคดีนี้ ฟ้องโจทก์และโจทก์ร่วมจึงขาดอายุความและสิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไป
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8732/2554
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การถอนคำร้องทุกข์มีผลระงับสิทธิฟ้องคดีลิขสิทธิ์ และขอบเขตการถอนคำร้องทุกข์ครอบคลุมถึงผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด
ตามบันทึกถอนการร้องทุกข์เอกสารหมาย จ.14 ระบุข้อความว่า "...ผู้เสียหายไม่ประสงค์จะให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีกับ ว. ผู้ต้องหา และผู้เกี่ยวข้องอื่นอีกต่อไป..." คำว่าผู้เกี่ยวข้องอื่น นั้น มีความหมายได้ว่า อาจเป็นตัวการร่วมกันหรือเป็นผู้จ้างวาน ใช้หรือเป็นผู้สนับสนุนในการกระทำความผิดดังกล่าวก็ได้ การถอนคำร้องทุกข์นั้นย่อมเป็นเรื่องที่ผู้เสียหายไม่ประสงค์ดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดทุกคน ที่พยานโจทก์เบิกความว่า กรณีเป็นการถอนคำร้องทุกข์เฉพาะสำหรับ ว. ซึ่งเป็นเยาวชนเท่านั้น จึงขัดกับข้อความในบันทึกถอนการร้องทุกข์ดังกล่าวย่อมรับฟังไม่ได้ เมื่อความผิดตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 เป็นความผิดอันยอมความได้ตามมาตรา 66 ของ พระราชบัญญัติดังกล่าว การถอนคำร้องทุกข์ดังกล่าวย่อมมีผลทำให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องระงับไป
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4310/2549
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การแจ้งความร้องทุกข์ในคดีละเมิดลิขสิทธิ์ต้องชัดเจนถึงเจตนาให้ลงโทษ จำเป็นต้องมีคำร้องทุกข์ที่ถูกต้องตามกฎหมาย
ความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่นเพื่อการค้าเป็นความผิดอันยอมความได้ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ฯ มาตรา 66 พนักงานสอบสวนจะทำการสอบสวนได้ก็ต่อเมื่อมีคำร้องทุกข์ตามระเบียบ แม้ในรายงานประจำวันรับแจ้งเป็นหลักฐานระบุไว้ว่า "นาย ศ. อายุ 26 ปี... ได้รับมอบอำนาจจากบริษัท อาร์ เอส ให้แจ้งร้องทุกข์กล่าวโทษ ผู้ละเมิดลิขสิทธิ์วีซีดีภาพยนตร์... เพื่อดำเนินคดีต่อไป" ก็ไม่ถือว่าเป็นคำร้องทุกข์ โดยถูกต้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (7) เพราะมิได้ชัดแจ้งว่าเป็นการแจ้งความโดยเจตนา จะให้ผู้กระทำผิดได้รับโทษ เป็นเหตุให้การสอบสวนในความผิดฐานนี้ไม่ชอบตาม ป.วิ.อ. มาตรา 121 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องคดีนี้ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศฯ มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 120
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 376/2547
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
อำนาจฟ้องร้องละเมิดลิขสิทธิ์: การมอบอำนาจช่วงที่มิชอบ ทำให้การฟ้องร้องเป็นโมฆะ
บริษัท ย. ผู้เสียหาย ซึ่งเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ภาพยนตร์ได้มอบอำนาจให้บริษัท ค. โดย พ. มีอำนาจร้องทุกข์และดำเนินคดีแก่ผู้ละเมิดลิขสิทธิ์ภาพยนตร์ กับทั้งให้มีอำนาจมอบอำนาจช่วงให้บุคคลอื่นกระทำการดังกล่าวแทนผู้เสียหายได้ แสดงว่าผู้รับมอบอำนาจจากผู้เสียหายคือบริษัท ค. มิใช่ พ. เช่นนี้ พ. ในฐานะส่วนตัวจึงไม่อาจมอบอำนาจช่วงให้บุคคลใดไปร้องทุกข์แทนผู้เสียหายได้ การที่ พ. มอบอำนาจช่วงให้ ป. ไปแจ้งความร้องทุกข์ในฐานะที่ พ. เองเป็นผู้รับมอบอำนาจจากเจ้าของลิขสิทธิ์ การแจ้งความร้องทุกข์โดย ป. ตามที่ได้รับมอบอำนาจจาก พ. จึงเป็นการร้องทุกข์โดยมิชอบเพราะกระทำไปโดยผู้ไม่มีอำนาจร้องทุกข์ ดังนั้น พนักงานสอบสวนย่อมไม่มีอำนาจสอบสวนในข้อหาความผิดตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ฯ ซึ่งเป็นความผิดอันยอมความได้ พนักงานอัยการโจทก์จึงไม่มีสิทธินำคดีมาฟ้องในข้อหาความผิดนี้ได้ ปัญหาเรื่องการสอบสวนและการฟ้องคดีชอบหรือไม่เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ขึ้นมา ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศก็มีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้เอง