คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.พ.พ. ม. 1169

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 48 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1041/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิฟ้องคดีอาญาของผู้ถือหุ้น กรณีกรรมการยักยอกทรัพย์ของบริษัท และการไม่ถือเป็นยอมความ
คดีนี้เป็นความผิดที่ได้กระทำต่อนิติบุคคลซึ่งตาม ป.วิ.อ. มาตรา 5 (3) ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 บัญญัติให้ผู้จัดการหรือผู้แทนอื่น ๆ ของนิติบุคคลเป็นผู้ฟ้องคดีแทน เมื่อจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 5 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนบริษัทและเป็นกรรมการบริษัทผู้กระทำผิดต่อบริษัท ค. ซึ่งเป็นนิติบุคคลนั้นเอง ย่อมจะไม่ฟ้องคดีแทนนิติบุคคลเพื่อกล่าวหาตนเอง เมื่อเป็นดังนี้ โจทก์ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นและมีประโยชน์ได้เสียร่วมกับนิติบุคคลนั้นย่อมได้รับความเสียหาย ทั้ง ป.พ.พ. มาตรา 1169 ก็บัญญัติไว้ว่า ถ้ากรรมการทำให้เกิดความเสียหายแก่บริษัทและบริษัทไม่ฟ้องคดี ผู้ถือหุ้นคนใดคนหนึ่งฟ้องคดีได้ ดังนี้ โจทก์ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นจึงเป็นผู้เสียหายมีสิทธิฟ้องจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 5 ฐานร่วมกันยักยอกทรัพย์ของบริษัทตาม ป.วิ.อ. มาตรา 28 (2) ประกอบมาตรา 2 (4) และ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 ได้ และต้องถือว่าโจทก์ฟ้องแทนบริษัทด้วย
มติที่ประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นของบริษัท ค. ที่ให้ยุติการฟ้องร้องและยุติข้อพิพาทระหว่างผู้ถือหุ้นกับกรรมการบริหารทั้งหมด ไม่มีข้อความตอนใดที่แสดงว่าผู้ถือหุ้นของบริษัท ค. ซึ่งรวมทั้งโจทก์ ตกลงไม่เอาความทางอาญาแก่จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 5 จึงฟังไม่ได้ว่าโจทก์มีเจตนาไม่ดำเนินคดีอาญาแก่จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 5 และไม่เป็นการยอมความในความผิดฐานร่วมกันยักยอกโดยถูกต้องตามกฎหมาย สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ในความผิดฐานดังกล่าวจึงไม่ระงับตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (2) ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1962/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิฟ้องเพิกถอนมติที่ประชุมผู้ถือหุ้น: เหตุฟ้องต้องอ้างอิงบทบัญญัติกฎหมายหรือข้อบังคับบริษัท ไม่ใช่ข้อตกลงระหว่างคู่สัญญา
ตามบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. บรรพ 3 ลักษณะ 22 หมวด 4 ส่วนที่ 3 วิธีการจัดการบริษัทจำกัด มาตรา 1195 ให้สิทธิแก่กรรมการหรือผู้ถือหุ้นคนหนึ่งคนใดอาจร้องขอให้ศาลเพิกถอนมติของที่ประชุมใหญ่ซึ่งได้นัดเรียกหรือประชุมกันหรือลงมติฝ่าฝืนบทบัญญัติในลักษณะนี้หรือฝ่าฝืนข้อบังคับของบริษัทได้ ปรากฏว่าข้ออ้างที่โจทก์ยกขึ้นเป็นเหตุฟ้องคดีนี้คือ จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นคู่สัญญาตามบันทึกข้อตกลงการให้สินเชื่อและการชำระหนี้ลงวันที่ 17 พฤษภาคม 2532 ถือได้ว่าเป็นผู้มีส่วนได้เสียพิเศษ มิได้เข้าร่วมประชุมและมิได้เสนอบุคคลเข้าเป็นกรรมการเกินกึ่งหนึ่งของคณะกรรมการจำเลยที่ 1 จึงไม่เป็นไปตามบันทึกข้อตกลงข้อ 5.3 นั้น หาใช่เหตุตามบทบัญญัติมาตรา 1195 อันก่อให้เกิดสิทธิแก่โจทก์ที่จะฟ้องเพิกถอนการประชุมตลอดทั้งมติที่ประชุมใหญ่ดังกล่าวไม่ แต่เป็นกรณีที่โจทก์กล่าวอ้างว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ปฏิบัติตามบันทึกข้อตกลงที่มีต่อกัน ซึ่งหากโจทก์ได้รับความเสียหายประการใดในฐานะที่โจทก์ร่วมเป็นผู้ค้ำประกันหนี้ซึ่งจำเลยที่ 1 มีต่อจำเลยที่ 2 ตามบันทึกข้อตกลงดังกล่าว ก็ชอบที่โจทก์จะต้องพิจารณาว่าโจทก์จะมีสิทธิฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนจากฝ่ายที่โจทก์เห็นว่าเป็นผู้ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ตนได้หรือไม่ แต่โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องคดีนี้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2481/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องของผู้ถือหุ้น กรณีกรรมการและบุคคลภายนอกทำให้บริษัทเสียหาย และการเพิกถอนรายงานการประชุมที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
มาตรา 1169 วรรคหนึ่ง แห่ง ป.พ.พ. ให้อำนาจผู้ถือหุ้นฟ้องกรรมการผู้ทำให้บริษัทเสียหาย โดยเป็นการฟ้องแทนหรือฟ้องเพื่อประโยชน์ของบริษัทเฉพาะกรณีที่บริษัทไม่ฟ้องเพื่อเรียกร้องเอาค่าสินไหมทดแทนจากกรรมการผู้ทำให้บริษัทได้รับความเสียหายเท่านั้น การที่โจทก์ทั้งหกซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นฟ้องขอให้เพิกถอนการโอนที่ดินระหว่างจำเลยที่ 1 (บุคคลภายนอก) และที่ 2 (บริษัท) โดยอ้างว่าจำเลยที่ 1 และที่ 3 (กรรมการ) ได้คบคิดกันฉ้อฉล และให้จำเลยทั้งสามจดทะเบียนโอนคืนที่ดินแก่จำเลยที่ 2 หาใช่เป็นการฟ้องเพื่อเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยที่ 3 ผู้เป็นกรรมการไม่ ส่วนจำเลยที่ 1 เป็นบุคคลภายนอกไม่ได้เป็นกรรมการ โจทก์ทั้งหกจึงไม่มีอำนาจฟ้องกรณีนี้
รายงานการประชุมที่โจทก์ทั้งหกขอให้เพิกถอนถือไม่ได้ว่าเป็นมติของที่ประชุมใหญ่อันผิดระเบียบตามความหมายของมาตรา 1195 แห่ง ป.พ.พ. เพราะมิได้มีการประชุมกันจริง หากแต่เป็นรายงานการประชุมเท็จที่จำเลยที่ 3 ได้กระทำขึ้นฝ่ายเดียวเพื่อโอนที่ดินให้จำเลยที่ 1 ก่อให้เกิดความเสียหายแก่จำเลยที่ 2 เท่านั้น ไม่กระทบถึงสิทธิหรือประโยชน์ของโจทก์ทั้งหกซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นโดยตรง กรณีไม่อยู่ในบังคับของมาตรา 1195 ที่โจทก์ทั้งหกในฐานะผู้ถือหุ้นจะใช้สิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนรายงานการประชุมเท็จได้ โจทก์ทั้งหกไม่มีอำนาจฟ้องกรณีนี้เช่นกัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2980/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การแต่งตั้งผู้แทนเฉพาะการของนิติบุคคลต้องมีเหตุผลตามกฎหมาย หากไม่มีเหตุผลตาม ป.พ.พ. มาตรา 73 หรือ 75 ศาลไม่อาจแต่งตั้งได้
การขอให้ศาลแต่งตั้งผู้แทนชั่วคราวของนิติบุคคลนั้นจะต้องเป็นกรณีที่ผู้แทนนิติบุคคลว่างลงตาม ป.พ.พ. มาตรา 73 หรือผู้แทนนิติบุคคลไม่อาจทำหน้าที่ได้ตามมาตรา 75 และหากปล่อยให้ตำแหน่งว่างไว้น่าจะทำให้เกิดความเสียหายในการดำเนินกิจการของนิติบุคคลนั้นด้วย กรณีตามคำร้องเป็นการขอให้ศาลตั้งผู้แทนเฉพาะการหรือผู้แทนชั่วคราวของนิติบุคคลเพื่อดำเนินคดีอาญาแก่กรรมการบริษัทเอง ซึ่งหากผู้ร้องในฐานะผู้ถือหุ้นของบริษัทได้รับความเสียหายจากการกระทำความผิดทางอาญาของบริษัทก็สามารถดำเนินคดีอาญาแก่บุคคลที่ทำให้ผู้ร้องได้รับความเสียหายได้อยู่แล้วตามมาตรา 1169 กรณีตามคำร้องมิใช่กรณีที่ผู้แทนนิติบุคคลว่างลง หรือผู้แทนนิติบุคคลไม่อาจทำหน้าที่ได้อันน่าจะทำให้เกิดความเสียหายในการดำเนินกิจการของบริษัท ทั้งไม่ใช่เป็นกรณีที่ประโยชน์ได้เสียของนิติบุคคลขัดกับประโยชน์ได้เสียของผู้แทนนิติบุคคลในการอันใดที่จะทำให้ผู้แทนของนิติบุคคลนั้นจะเป็นผู้แทนในการอันนั้นไม่ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 74 ผู้ร้องจึงไม่อาจยื่นคำร้องขอตั้งผู้แทนเฉพาะการหรือผู้แทนชั่วคราวนิติบุคคลได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1661/2550 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิผู้ถือหุ้นในคดีฟื้นฟูกิจการ: ตัดสิทธิการควบคุมกำกับดูแลเมื่อมีกฎหมายล้มละลายเฉพาะ
โจทก์ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัทลูกหนี้ได้ถูกตัดสิทธิในการควบคุมกำกับดูแลกิจการและทรัพย์สินของบริษัทลูกหนี้ในระหว่างการฟื้นฟูกิจการบริษัทลูกหนี้โดยบทบัญญัติแห่ง พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/25 มาตรา 90/59 และมาตรา 90/69 ซึ่งเป็นกฎหมายพิเศษแล้วทั้งผู้ทำแผนและผู้บริหารแผนไม่อยู่ในฐานะเช่นเดียวกับกรรมการของบริษัทลูกหนี้โดยเฉพาะจำเลยที่ 3 เป็นผู้ยื่นคำร้องขอให้ฟื้นฟูกิจการของบริษัทลูกหนี้และกรรมการเจ้าหนี้ไม่ได้มีอำนาจหน้าที่จัดการกิจการและทรัพย์สิน และไม่ได้อยู่ในฐานะเช่นเดียวกับกรรมการบริษัทลูกหนี้ด้วย โจทก์จึงไม่อาจใช้สิทธิของผู้ถือหุ้นบริษัทลูกหนี้ยกคดีขึ้นฟ้องจำเลยทั้งสามซึ่งเป็นผู้บริหารแผน ผู้ทำแผนและเจ้าหนี้ตามลำดับขอให้ร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทนความเสียหายอันเกิดจากการร่วมกันทำให้บริษัทลูกหนี้เสียหายให้แก่บริษัทลูกหนี้โดยอาศัยสิทธิตามบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 1169 วรรคหนึ่ง
ศาลชั้นต้นได้พิจารณาคำฟ้องของโจทก์ก้าวล่วงเข้าไปวินิจฉัยในเนื้อหาที่โจทก์บรรยายไว้ในฟ้องอันเป็นประเด็นแห่งคดีก่อนพิพากษายกฟ้องแล้ว จึงเป็นกรณีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 131 (2) ประกอบมาตรา 172 วรรคสาม มิใช่คำสั่งไม่รับคำฟ้องตามมาตรา 18 ที่จะต้องคืนค่าธรรมเนียมศาลทั้งหมดตามมาตรา 151 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5610/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ แผนฟื้นฟูกิจการต้องมีรายละเอียดสินทรัพย์ครบถ้วนและจัดทำด้วยความสุจริต ศาลมีอำนาจตรวจสอบเนื้อหาแผนได้
การที่กฎหมายกำหนดขั้นตอนในการพิจารณาให้ความเห็นชอบด้วยแผนไว้ว่าเมื่อที่ประชุมเจ้าหนี้มีมติยอมรับแผนตาม พ.ร.บ.ล้มละลายฯ มาตรา 90/46 แล้วให้ศาลพิจารณาให้ความเห็นชอบด้วยแผนอีกชั้นหนึ่ง ซึ่งเป็นบทบาทในทางเศรษฐกิจที่จะคุ้มครองเจ้าหนี้เสียงข้างน้อยและให้แผนฟื้นฟูกิจการก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่เจ้าหนี้ตลอดจนประเทศชาติโดยรวม ศาลจึงมีอำนาจในการที่จะตรวจสอบถึงเนื้อหาของแผนตาม พ.ร.บ.ล้มละลายฯ มาตรา 90/58 ซึ่งบัญญัติว่า "ให้ศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผน เมื่อศาลพิจารณาแล้วเห็นว่า (1)...(3)..." ก็หมายความเพียงว่าเมื่อแผนมีลักษณะครบถ้วนตามบทกฎหมายดังกล่าวแล้ว ถือว่าเป็นมาตรฐานขั้นต่ำที่ให้ศาลมีดุลพินิจที่จะเห็นชอบด้วยแผนได้ แต่ในการพิจารณาให้ความเห็นชอบด้วยแผนนั้น ศาลมีอำนาจนำข้อเท็จจริงหรือหลักกฎหมายอื่นนอกเหนือจากมาตรา 90/58 มาประกอบพิจารณาได้ ซึ่งไม่ได้หมายความว่า ถ้าแผนฟื้นฟูกิจการมีลักษณะครบถ้วนตามมาตรา 90/58 แล้ว ศาลจะต้องมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนทุกกรณีไป
การพิจารณาว่าแผนชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ แผนนั้นจะต้องมีรายละเอียดตาม พ.ร.บ.ล้มละลายฯ มาตรา 90/42 บัญญัติว่า "ในแผนให้มีรายการต่อไปนี้เป็นอย่างน้อย... (2) รายละเอียดแห่งสินทรัพย์ หนี้สินและภาระผูกพันต่างๆ ของลูกหนี้ในขณะที่ศาลสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ..." คำว่า สินทรัพย์ หมายถึง ทรัพยากรที่อยู่ในความควบคุมของกิจการและประโยชน์ที่ได้รับในเชิงเศรษฐกิจจากทรัพยากรนั้นในอนาคต สินทรัพย์จึงรวมทั้งทรัพย์สินและสิทธิเรียกร้อง กรณีนี้ลูกหนี้มีหนี้เงินให้กู้ยืมซึ่งมีสิทธิเรียกร้องในหนี้ดังกล่าว แต่ในแผนไม่ปรากฏว่าสิทธิเรียกร้องในหนี้เงินดังกล่าว ผู้ทำแผนได้กำหนดวิธีการจัดการไว้อย่างไรที่จะให้เจ้าหนี้ได้ประโยชน์สูงสุด รวมทั้งหนี้ให้กู้ยืมเงินจำนวนมากที่กรรมการของลูกหนี้มีส่วนประมาทก่อให้เกิดความเสียหาย ลูกหนี้อาจฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนแก่กรรมการได้ซึ่งในการเรียกร้องนั้นเจ้าหนี้ของลูกหนี้จะเป็นผู้เรียกบังคับได้เท่าที่เจ้าหนี้ยังมีสิทธิเรียกร้องแก่ลูกหนี้อยู่ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1169 หากลูกหนี้ล้มละลายเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์สามารถใช้วิธีการทวงหนี้ตาม พ.ร.บ.ล้มละลายฯ มาตรา 118 หรือมาตรา 119 เรียกร้องหนี้ดังกล่าวได้ หรือหากเป็นหนี้เด็ดขาดตามคำพิพากษาก็มีระยะเวลาการบังคับคดี 10 ปี ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 271 ดังนั้น ถือได้ว่าแผนกล่าวถึงรายละเอียดแห่งสินทรัพย์ไม่ครบถ้วน ไม่เป็นไปตาม พ.ร.บ.ล้มละลายฯ มาตรา 90/42 (2)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3771/2545

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดของกรรมการบริษัทต่อความเสียหายจากอุบัติเหตุ รถบรรทุกแก๊สพลิกคว่ำ ต้องเป็นผลโดยตรงจากการกระทำหรือละเว้นการกระทำ
ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1169 บริษัทจะฟ้องร้องเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนแก่กรรมการได้นั้นจะต้องเป็นกรณีที่กรรมการทำให้เกิดความเสียหายแก่บริษัทและความเสียหายดังกล่าวจะต้องเป็นผลโดยตรงจากการกระทำหรืองดเว้นในสิ่งที่ควรกระทำ การที่ ส. ขับรถยนต์บรรทุกแก๊สด้วยความประมาทเลินเล่อทำให้รถยนต์บรรทุกแก๊สพลิกคว่ำ ความเสียหายที่เกิดเพราะรถยนต์บรรทุกแก๊สมีสภาพและอุปกรณ์ไม่ถูกต้องก็เป็นเพียงเหตุประการหนึ่งที่ทำให้ได้รับผลร้ายแรงเท่านั้น มิใช่ผลโดยตรงของความเสียหาย การที่จำเลยที่ 1 นำรถยนต์บรรทุกแก๊สคันเกิดเหตุมาใช้ หากจะถือว่าเป็นการกระทำของจำเลยที่ 2 ในช่วงระยะเวลาตั้งแต่นำรถยนต์บรรทุกแก๊สคันดังกล่าวออกมาใช้งานจนกระทั่งถึงวันเกิดเหตุ จำเลยที่ 1 ก็ไม่ได้เสียหาย แม้จะเป็นการผิดกฎหมายในส่วนของการนำรถยนต์บรรทุกแก๊สมาใช้งานโดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ จำเลยที่ 1 ก็ไม่มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 2 ในฐานะกรรมการชดใช้ค่าเสียหาย โจทก์ทั้งหกซึ่งเป็นเจ้าหนี้ในมูลละเมิดไม่มีสิทธิที่จะเรียกร้องให้จำเลยที่ 2 ชดใช้ค่าเสียหายได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3250/2545

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องของผู้ถือหุ้น: ผู้ถือหุ้นไม่มีอำนาจฟ้องแทนบริษัทเพื่อบังคับบุคคลภายนอก เว้นแต่กรณีที่กฎหมายบัญญัติ
การที่โจทก์ทั้งเจ็ดซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัทจำเลยที่ 1 และโจทก์ที่ 1 เป็นผู้ถือหุ้นของบริษัทจำเลยที่ 2 ฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 2 ขายส่งรถยนต์และชิ้นส่วนอะไหล่ยี่ห้อนิสสันให้จำเลยที่ 1 เพียงผู้เดียวตลอดไป รวมทั้งให้เพิกถอนสัญญาซื้อขายกับสัญญาจัดจำหน่ายและเรียกค่าเสียหายมาด้วยนั้น เป็นการที่ผู้ถือหุ้นก้าวล่วงเข้าไปจัดการงานของบริษัทเสียเอง เมื่อไม่ปรากฏว่าโจทก์ทั้งเจ็ดและโจทก์ที่ 1 มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 และที่ 2 แต่อย่างใด จะมีสิทธิก็แต่เพียงควบคุมการดำเนินงานของจำเลยทั้งสองบางประการตามที่กฎหมายบัญญัติไว้เท่านั้น หาอาจก้าวล่วงเข้าไปจัดการงานของบริษัทเสียเองได้ไม่ แม้บริษัทที่โจทก์ทั้งเจ็ดและโจทก์ที่ 1 ถือหุ้นอยู่จะไม่ดำเนินการฟ้องร้องบุคคลภายนอกก็ตามโจทก์ทั้งเจ็ดและโจทก์ที่ 1 ก็หามีสิทธินำคดีมาฟ้องเองได้ไม่ ส่วนคำฟ้องที่โจทก์ทั้งเจ็ดเรียกร้องค่าเสียหายเอาจากจำเลยที่ 4 ถึงที่ 7 ในฐานะกรรมการของจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 4 ถึงที่ 8 ในฐานะกรรมการของจำเลยที่ 2 ก็เป็นเรื่องที่สืบเนื่องจากปัญหาที่ว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 จะถูกโจทก์ทั้งเจ็ดฟ้องร้องได้หรือไม่เสียก่อนมิใช่เรียกร้องเอาจากจำเลยที่ 4 ถึงที่ 8 โดยตรง กรณีจึงไม่ต้องด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1169 โจทก์ทั้งเจ็ดไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยดังกล่าวในข้อหานี้ได้ และแม้การที่โจทก์ทั้งเจ็ดฟ้องคดีในฐานะเป็นคู่สัญญาในข้อตกลงระหว่างผู้ถือหุ้นกับบริษัทและโจทก์ที่ 1 กับที่ 7 ในฐานะคู่สัญญาในสัญญาร่วมทุนก็ตามแต่เมื่อข้อตกลงมีสาระสำคัญว่า ผู้ถือหุ้นของจำเลยที่ 1 และของบริษัทในเครือของจำเลยทั้งสองจะเพิ่มทุนและยอมสละสิทธิการซื้อหุ้นเพิ่มทุน การเข้าเป็นคู่สัญญาของโจทก์ในสัญญาร่วมลงทุนจึงหาได้เกี่ยวข้องกับข้อตกลงในทางการค้าระหว่างฝ่ายจำเลยไม่ ถือว่าเป็นเพียงรายละเอียดและเป็นเรื่องสืบเนื่องรองลงมาจากคำขอในส่วนที่โจทก์ทั้งเจ็ดเป็นผู้ถือหุ้นของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ทั้งสิ้น คำฟ้องของโจทก์ทั้งเจ็ดจึงเป็นการอาศัยสิทธิในฐานะผู้ถือหุ้นของบริษัทมาก้าวล่วงฟ้องร้องคดีเพื่อบังคับบุคคลนอกบริษัทเป็นสำคัญ ซึ่งไม่อาจกระทำได้เพราะไม่ต้องด้วย ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1169 เมื่อฟังว่าโจทก์ทั้งเจ็ดไม่มีอำนาจฟ้องแล้ว กรณีก็ไม่จำต้องวินิจฉัยว่ามีเหตุต้องนำคดีนี้ไปดำเนินการทางอนุญาโตตุลาการก่อนหรือไม่อีกต่อไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3250/2545 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องของผู้ถือหุ้น: ฟ้องแทนบริษัทต้องมีฐานะทางกฎหมายที่ชัดเจน
โจทก์ทั้งเจ็ดในฐานะผู้ถือหุ้นของบริษัทจำเลยที่ 1 และโจทก์ที่ 1 ในฐานะผู้ถือหุ้นของบริษัทจำเลยที่ 2 มีสิทธิเพียงควบคุมการดำเนินงานของบริษัทจำเลยทั้งสองเพียงบางประการ ไม่อาจก้าวล่วงเข้าไปจัดการงานของบริษัทเสียเอง เมื่อตามคำฟ้องของโจทก์ทั้งเจ็ดระบุว่ากรณีมีการละเมิดและผิดสัญญาต่อบริษัท แม้บริษัทจะไม่ดำเนินการฟ้องร้องบุคคลภายนอก โจทก์ทั้งเจ็ดและโจทก์ที่ 1 ก็หามีสิทธินำคดีมาฟ้องเองได้ไม่ ส่วนคำฟ้องที่เรียกค่าเสียหายจากจำเลยที่ 4 ถึงที่ 7 ในฐานะกรรมการของจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 4 ถึงที่ 8 ในฐานะกรรมการของจำเลยที่ 2 ก็เป็นเรื่องที่สืบเนื่องจากปัญหาว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 จะถูกโจทก์ทั้งเจ็ดฟ้องร้องได้หรือไม่เสียก่อน แม้คำฟ้องที่โจทก์ทั้งเจ็ดฟ้องจะอ้างว่าเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัทจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 4 ถึงที่ 8 ซึ่งเป็นกรรมการบริษัทจำเลยที่ 1 ไม่บังคับตามสัญญา ทำให้จำเลยที่ 1 เสียหาย แต่ตามคำขอของโจทก์ก็มิได้เรียกค่าเสียหายจากจำเลยที่ 4 ถึงที่ 8 ในส่วนนี้โดยตรง กรณีไม่ต้องด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1169 โจทก์ทั้งเจ็ดจึงไม่มีอำนาจฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2685/2543

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องคดีหลังบริษัทเลิก: ผู้ถือหุ้นฟ้องแทนบริษัทไม่ได้ ผู้ชำระบัญชีต้องฟ้อง
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1169 เป็นเรื่องที่บริษัทยังไม่เลิกและกรรมการทำให้เกิดเสียหายแก่บริษัท ถ้าบริษัทไม่ยอมฟ้องร้องเรียกเอาสินไหมทดแทนแก่กรรมการผู้ถือหุ้นคนหนึ่งคนใดจะเอาคดีนั้นขึ้นว่าก็ได้ เมื่อบริษัทโจทก์เลิกโดยคำพิพากษาแล้วไม่มีกฎหมายให้อำนาจผู้ถือหุ้นฟ้องคดีแทนบริษัทได้ ซ. ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นบริษัทโจทก์จึงฟ้องคดีแทนโจทก์ไม่ได้แม้ผู้ชำระบัญชีที่ศาลแต่งตั้งใหม่แทนคนเดิมที่ถูกเพิกถอนจะเพิ่งนำบอกให้จดทะเบียนการเลิกบริษัทโจทก์และประกาศในราชกิจจานุเบกษาหลังจากโจทก์ฟ้องคดีแล้ว ก็เป็นเรื่องผู้ชำระบัญชีคนเดิมปฏิบัติหน้าที่ไม่สอดคล้องกับกฎหมายไม่เป็นเหตุให้บริษัทโจทก์กลับฟื้นขึ้นมาใหม่และไม่เป็นเหตุให้ผู้ชำระบัญชีที่ยังไม่ถูกถอดถอนหมดอำนาจฟ้องคดีแทนโจทก์และแม้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในฐานะผู้ชำระบัญชียื่นคำร้องหลังจากที่ ซ. ฟ้องคดีแล้วขอเข้าว่าคดีแทนบริษัทโจทก์ซึ่งศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตนั้น ก็หาทำให้ฟ้องที่ไม่ชอบกลับเป็นฟ้องที่ชอบขึ้นมาในภายหลังไม่
โจทก์ฎีกาเรื่องอำนาจฟ้อง มิได้ฎีกาขอให้โจทก์เป็นฝ่ายชนะคดี เป็นคดีมีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ เสียค่าขึ้นศาล 200 บาท ตามตาราง 1 ข้อ 2 ข. ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งเมื่อโจทก์เสียไว้เกินต้องคืนให้แก่โจทก์
of 5