คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.วิ.อ. ม. 59

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 5 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11720/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจออกหมายจับของผู้พิพากษา และสิทธิอุทธรณ์ฎีกาเมื่อศาลชั้นต้นปฏิเสธยกเลิกหมายจับ
เมื่อมีการกล่าวหาว่าบุคคลใดกระทำความผิดอาญา บุคคลนั้นย่อมตกอยู่ในฐานะเป็นผู้ต้องหาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (2) พนักงานสอบสวนย่อมยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นออกหมายจับผู้ต้องหาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 66 เพื่อให้ได้ตัวมาสอบสวนตาม ป.วิ.อ. มาตรา 134 ซึ่งตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 24 (1) กำหนดให้ผู้พิพากษาคนหนึ่งมีอำนาจออกหมายจับได้ ประกอบกับ ป.วิ.อ. มาตรา 59 วรรคสี่ ตอนท้าย กำหนดให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนหรือแก้ไขเปลี่ยนแปลงหมายจับได้หากความปรากฏต่อศาลในภายหลังว่า มีการออกหมายจับไปโดยฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่งกฎหมาย และมาตรา 68 กำหนดให้หมายจับคงใช้ได้อยู่จนกว่าจะจับได้ เว้นแต่ความผิดอาญาตามหมายนั้นขาดอายุความหรือศาลซึ่งออกหมายนั้นได้ถอนหมายคืน ดังนี้ อำนาจในการออกหมายจับผู้ต้องหาจึงเป็นอำนาจเฉพาะตัวของผู้พิพากษาศาลชั้นต้น เมื่อผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นยกเลิกหรือเพิกถอนหมายจับ และศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้อง ผู้ร้องจะอุทธรณ์หรือฎีกาอีกไม่ได้
ปัญหาว่าผู้ร้องมีอำนาจอุทธรณ์ฎีกาหรือไม่เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3479/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การตรวจค้นโดยหมายค้นที่ระบุบ้านเลขที่ผิด แต่ศาลพบว่าเป็นการตรวจค้นที่บ้านของจำเลยจริง ศาลฎีกาเห็นว่าการตรวจค้นชอบด้วยกฎหมาย
จำเลยทั้งสี่นำสืบยอมรับว่าถูกจับกุมในห้องเช่าที่เกิดเหตุและเจ้าพนักงานตำรวจได้เมทแอมเฟตามีนเป็นของกลางจริง แม้จะปรากฏว่าห้องเช่าดังกล่าวเลขที่ 82/16 ไม่ใช่เลขที่ 105 ตามที่ระบุในหมายค้น แต่ตามหมายค้นดังกล่าวได้ระบุเหตุที่ขอออกหมายค้นว่า การสืบสวนทราบว่าที่บ้านจำเลยที่ 1 เลขที่ 105 ห้องเช่า มียาเสพติดให้โทษซุกซ่อนอยู่ในบ้านหรือบริเวณบ้านจึงขอให้ศาลออกหมายค้น โดยระบุชื่อและนามสกุลจำเลยที่ 1 ไว้ถูกต้องและร้อยตำรวจโท บ. ผู้จับกุมซึ่งเป็นผู้ขอออกหมายค้นดังกล่าวก็เบิกความระบุสาเหตุที่ระบุเลขที่บ้านในหมายค้นว่าบ้านเลขที่ 105 เพราะสายลับระบุเช่นนั้น เมื่อเข้าจับกุมจึงปรากฏว่าเป็นบ้านเลขที่ 82/16 จึงเป็นการขอออกหมายค้นเพื่อตรวจค้นบ้านจำเลยที่ 1 การระบุเลขที่บ้านผิดไม่ทำให้การตรวจค้นจำเลยที่ 1 ซึ่งอยู่ในบ้านหลังดังกล่าวเป็นการไม่ชอบ การตรวจค้นโดยมีหมายค้นกรณีนี้จึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8391/2544 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ แจ้งความบุกรุกที่ดินโดยสุจริต ไม่เป็นความผิดแจ้งความเท็จ แม้มีข้อพิพาทเรื่องกรรมสิทธิ์
โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยกระทำความผิดเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2539 ซึ่งแตกต่างกับข้อเท็จจริงที่ได้ความตามทางพิจารณาว่า จำเลยไปแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนว่าโจทก์บุกรุกที่ดินของจำเลยเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2539 เวลากลางวัน แต่ตามทางพิจารณาจำเลยเบิกความรับว่า จำเลยได้ไปแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนว่าโจทก์บุกรุกที่ดินพิพาทของจำเลย โดยมิได้นำสืบต่อสู้เกี่ยวกับวันเวลาที่จำเลยไปแจ้งความ กรณีที่ข้อแตกต่างเป็นเพียงรายละเอียด เช่น เกี่ยวกับเวลา มิให้ถือว่าต่างกันในข้อสาระสำคัญ และการที่โจทก์ฟ้องผิดไปนั้น มิได้เป็นเหตุให้จำเลยหลงต่อสู้ ดังนั้นหากข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยกระทำความผิดจริงตามฟ้อง ศาลก็มีอำนาจลงโทษจำเลยตามฟ้องได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสาม
ความผิดตาม ป.อ. มาตรา 172 ต้องเป็นกรณีที่ผู้แจ้งข้อเท็จจริงอันเป็นเท็จ โดยแกล้งกล่าวข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำของผู้ถูกกล่าวหาให้ผิดไปจากความจริง เมื่อโจทก์และจำเลยต่างเข้าใจว่าตนมีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทการที่จำเลยไปแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีแก่โจทก์ในข้อหาบุกรุก เป็นกรณีที่จำเลยแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนในทำนองเล่าเรื่องที่เกิดขึ้น ซึ่งมีเหตุการณ์ทำให้จำเลยเข้าใจว่าจำเลยเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทตามพินัยกรรมของบิดา และโจทก์ได้บุกรุกเข้าไปทำนาในที่ดินของจำเลยโดยมิชอบด้วยกฎหมายนอกจากนี้เมื่อพนักงานสอบสวนปากคำจำเลย จำเลยก็ให้การรับว่าที่ดินของจำเลยดังกล่าวยังมีข้อพิพาทฟ้องร้องทางแพ่ง โต้เถียงกรรมสิทธิ์กันอยู่ระหว่างโจทก์กับจำเลย พฤติการณ์ของจำเลยแสดงให้เห็นว่า จำเลยมิได้มีเจตนาแกล้งเอาความเท็จไปกล่าวหาโจทก์ส่วนฝ่ายใดจะมีสิทธิในที่ดินพิพาทดีกว่ากัน เป็นเรื่องที่โจทก์และจำเลยจะต้องไปว่ากล่าวกันในทางแพ่งต่อไป การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดฐานแจ้งข้อความอันเป็นเท็จเกี่ยวกับความผิดอาญาแก่พนักงานสอบสวน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1200/2504 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ มาตรา 90 ป.วิ.อ. คุ้มครองสิทธิบุคคลจากการถูกควบคุมหรือขังโดยผิดกฎหมาย ไม่จำกัดเฉพาะเจ้าพนักงาน
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 90 เป็นบทบัญญัติคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของบุคคล หาใช่บทบัญญัติลงโทษการกระทำผิดไม่ ฉะนั้น เมื่อคำร้องของผู้ร้องบรรยายข้อความเข้าดังบัญญัติไว้ในมาตรา 90 แล้ว ศาลก็ชอบที่จะยกมาตรานี้ขึ้นพิจารณาและปรับกับกรณีได้
คำว่า "ควบคุม" หรือ "ขัง" ในมาตรา 90 นี้ เป็นถ้อยคำที่ใช้ตามความหมายธรรมดา หาใช่จำกัดดังประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2(21) และ (22) อธิบายไว้ไม่ ฉะนั้น มาตรา 90 จึงเป็นบทบัญญัติสำหรับกรณีที่บุคคลต้องถูกควบคุมหรือขังโดยผิดกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นการควบคุมหรือขังโดยเจ้าพนักงานหรือคนธรรมดาก็ตาม
ประชุมใหญ่ ครั้งที่ 32/2504

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 857/2484

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การออกหมายจับ จำเป็นต้องมีการสืบสวนหาที่อยู่จำเลยให้ได้ความแน่นอนก่อน ศาลไม่ออกหมายจับโดยอาศัยเพียงรายงานอำเภอ
ในคดีฟ้องขอให้ลงโทษฐานฉ้อโกง โจทก์อ้างรายงานของอำเภอว่าไม่ปรากฎว่าจำเลยย้ายที่อยู่ไปอยู่แห่งใดนั้น ไม่เป็นเหตุพอที่ศาลจะออกหมายจับจำเลย