คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.วิ.อ. ม. 135

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 25 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1214/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ผู้ใช้ให้ซื้อยาเสพติด แม้ไม่ทันมอบยาให้ แต่ยังถือเป็นผู้สนับสนุนความผิดฐานครอบครองเพื่อจำหน่าย
คำให้การชั้นสอบสวนของ จ. และ ก. ที่ว่า จำเลยมอบเงินให้ไปซื้อเมทแอมเฟตามีน 1,000 เม็ด แม้เป็นคำซัดทอดของผู้ร่วมกระทำความผิดด้วยกัน แต่มิได้เป็นการปัดความรับผิดของผู้ซัดทอดให้เป็นความผิดของจำเลยเพียงผู้เดียว ทั้งศาลได้มีคำพิพากษาลงโทษ จ. และ ก. แล้ว คำซัดทอดจึงเป็นการแจ้งเรื่องราวที่ตนได้ประสบมาจากการกระทำของตนยิ่งกว่าเป็นการปรักปรำจำเลย จ. และ ก. รู้จักจำเลยมาก่อน ไม่เคยมีสาเหตุโกรธเคืองกัน ต่างเบิกความยืนยันการกระทำของจำเลยเช่นเดียวกับที่เคยให้การไว้ในชั้นสอบสวน โดย จ. เบิกความถึงคำให้การในชั้นสอบสวนของตนว่าไม่ได้ถูกบังคับขู่เข็ญ ส่วน ก. อายุไม่เกิน 18 ปี ให้การต่อหน้าพนักงานอัยการ นักจิตวิทยา และทนายความ ฉะนั้น คำซัดทอดของ จ. และ ก. จึงเป็นพยานที่น่าเชื่อถือในการพิสูจน์ความจริง ประกอบกับจำเลยไปยืมรถจักรยานยนต์จาก ล. มาให้ จ. ขับไปซื้อเมทแอมเฟตามีน จึงฟังได้ว่าจำเลยเป็นผู้ใช้ให้ จ. ไปซื้อเมทแอมเฟตามีน เมื่อ จ. และ ก. ไปซื้อเมทแอมเฟตามีน จำเลยจึงเป็นผู้ก่อให้ จ. และ ก. ครอบครองเมทแอมเฟตามีนไว้เพื่อจำหน่ายตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคสาม (2) ประกอบ ป.อ. มาตรา 84 แต่ระหว่างทางที่จะนำเมทแอมเฟตามีนมาให้จำเลย จ. และ ก. ถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมเสียก่อน จำเลยยังมิได้ร่วมกับ จ. และ ก. ครอบครองเมทแอมเฟตามีน จึงมิใช่ตัวการร่วมกระทำความผิดด้วยกันตาม ป.อ. มาตรา 83 ดังที่โจทก์ฟ้อง ซึ่งเป็นการแตกต่างกันในข้อสาระสำคัญ ลงโทษจำเลยฐานเป็นผู้ใช้ให้ จ. และ ก. กระทำความผิดไม่ได้ตาม ป.วิ.อ. 192 วรรคสอง แต่การกระทำความผิดของจำเลยถือได้ว่าเป็นการสนับสนุนการกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 86 ฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ศาลมีอำนาจลงโทษจำเลยฐานเป็นผู้สนับสนุนได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7667/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ร่วมกันจ้างวานฆ่า: พยานหลักฐานเชื่อมโยงจำเลยที่ 4 ในฐานะผู้ว่าจ้างมือปืน
จ่าสิบตำรวจ ม. และจำเลยที่ 1 ต่างเป็นบุตรเขยของผู้ตาย การที่จ่าสิบตำรวจ ม. มีส่วนเกี่ยวข้องช่วยสืบสวนหาตัวคนร้ายจึงเป็นเรื่องปรกติและสมควร พฤติกรรมของจำเลยที่ 1 ที่ถูกสงสัยหรือถูกกล่าวหาว่ามีส่วนเกี่ยวข้องในการฆ่าผู้ตายเป็นเรื่องร้ายแรง หากจำเลยที่ 1 ไม่ได้กระทำความผิดก็ต้องยืนยันปฏิเสธไว้จะยอมรับสารภาพไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นการพูดกับจ่าสิบตำรวจ ม. หรือบุคคลใดก็ตาม ทั้งการยอมรับสารภาพโดยคิดว่าจ่าสิบตำรวจ ม. จะช่วยเหลือพาหลบหนีได้ ย่อมแสดงอยู่ในตัวว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้กระทำความผิด ดังนั้น การที่จ่าสิบตำรวจ ม. สืบทราบว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ร่วมกระทำความผิดและแจ้งต่อพนักงานสอบสวนจึงเป็นการช่วยเหลือพนักงานสอบสวนสืบสวนหาข้อเท็จจริงเพื่อจับกุมดำเนินคดีกับคนร้าย จึงถือไม่ได้ว่าพนักงานสอบสวนใช้อุบายหลอกลวงให้จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ การสอบสวนคดีนี้จึงชอบด้วยกฎหมาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2215/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คำรับสารภาพของผู้ต้องหา: ผลกระทบของ พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติม ป.วิ.อ. (ฉบับที่ 22) และการรับฟังพยานหลักฐาน
มาตรา 2 แห่ง พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ 22)ฯ กำหนดให้ พ.ร.บ. ฉบับดังกล่าว มีผลใช้บังคับ ตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาคือนับตั้งแต่วันที่ 24 ธันวาคม 2547 เป็นต้นไป โดยไม่มีบทบัญญัติให้มีผลบังคับย้อนหลัง จึงไม่กระทบต่อกระบวนวิธีพิจารณาความอาญาที่ได้ดำเนินการเสร็จสิ้นไปแล้ว ดังนั้น ข้อความในมาตรา 84 วรรคสุดท้ายแห่ง ป.วิ.อ. ที่แก้ไขใหม่ ที่บัญญัติว่า ถ้อยคำใดๆ ที่ผู้ถูกจับให้ไว้ต่อเจ้าพนักงานผู้จับ... ถ้าถ้อยคำนั้นเป็นคำรับสารภาพของผู้ถูกจับว่าตนได้กระทำความผิดห้ามมิให้รับฟังเป็นพยานหลักฐาน...นั้น หมายถึง ถ้อยคำที่ผู้ถูกจับให้ไว้ต่อเจ้าพนักงานผู้จับภายหลังจากที่ พ.ร.บ. ฉบับนี้มีผลบังคับใช้แล้วเท่านั้น แต่คำรับสารภาพของจำเลยในชั้นจับกุมคดีนี้ จำเลยให้ถ้อยคำแก่เจ้าพนักงานผู้จับก่อนที่ พ.ร.บ. ฉบับดังกล่าวมีผลบังคับใช้ จึงไม่ต้องห้ามใช้เป็นพยานหลักฐาน
ขณะจำเลยถูกควบคุมตัวอยู่ที่สถานีตำรวจ จำเลยได้พูดคุยถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นให้ญาติพี่น้องฟัง ญาติพี่น้องจำเลยจึงบอกจำเลยให้รับสารภาพ แสดงว่าจำเลยให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวนโดยสมัครใจ มิได้เกิดจากการจูงใจ มีคำมั่นสัญญา ขู่เข็ญ หลอกลวงหรือโดยมิชอบประการอื่น คำให้การดังกล่าวจึงใช้เป็นพยานหลักฐานยันจำเลยในการพิจารณาได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 135

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2140/2545

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คำรับสารภาพที่ชอบด้วยกฎหมายเป็นหลักฐานลงโทษจำเลยได้
คำให้การชั้นจับกุม คำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยที่เกิดขึ้นโดยชอบและจำเลยให้การรับสารภาพโดยสมัครใจและตามความสัตย์จริง ศาลย่อมรับฟังเป็นพยานหลักฐานประกอบเพื่อลงโทษจำเลยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 226

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 924/2544

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การพิสูจน์ผู้ขับขี่ในคดีขับรถประมาท ผู้รับสารภาพต่อพนักงานสอบสวนเชื่อถือได้ หากไม่มีการล่อลวง
โจทก์ฟ้องจำเลยฐานขับรถด้วยความประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย จำเลยปฏิเสธว่าขณะเกิดเหตุจำเลยนอนหลับ โดย ว. ผู้ตายเป็นผู้ขับรถยนต์กระบะคันที่เกิดเหตุ แต่ในชั้นสอบสวนจำเลยรับว่าเป็นผู้ขับรถยนต์กระบะคันที่เกิดเหตุ แม้พนักงานสอบสวนจะแจ้งแก่จำเลยว่า ว. ยังไม่ตายซึ่งผิดไปจากความจริงนั้น ไม่ถือเป็นการ ล่อลวงเพื่อจูงใจให้จำเลยรับว่าเป็นผู้ขับรถยนต์กระบะคันเกิดเหตุตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 135 อันจะมีผลให้ไม่อาจฟังตามคำรับของจำเลยได้หากแต่เป็นการดำเนินการที่ พนักงานสอบสวนได้ทำไปเพื่อทราบข้อเท็จจริงตามอำนาจของกฎหมาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4765/2543

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การรับสารภาพที่ได้จากการสอบสวน: การตัดสินใจด้วยตนเองของจำเลย ไม่เข้าข่ายการชักจูง
จำเลยจำหน่ายเฮโรอีน 1 ถุงแก่เจ้าพนักงานตำรวจ และเจ้าพนักงาน ตำรวจค้นพบเฮโรอีนของกลางอีก 6 ถุงกับ 35 หลอดที่หลังบ้านเจ้าพนักงานตำรวจได้สอบถามจำเลยแต่จำเลยปฏิเสธว่าเป็นของ ส. พ่อตาจำเลย เจ้าพนักงานตำรวจจึงให้แม่ยายจำเลยไปตาม ส. แต่แม่ยายจำเลยกลับมาบอกว่าไม่พบ เจ้าพนักงานตำรวจจึงบอกว่า ถ้าจับ ส. ไม่ได้ก็ต้องจับจำเลย แต่ถ้าตาม ส. มาได้ก็จะปล่อยจำเลย แล้วจึงเขียนบันทึกการจับกุมโดยแจ้งข้อหาให้จำเลยทราบ จำเลยบอกแก่เจ้าพนักงานตำรวจว่า ถ้า ส. ไม่มารับ จำเลยก็ต้องรับ พยานจึงเขียนบันทึกว่าจำเลยให้การรับสารภาพ ดังนี้ การที่จำเลยยอมรับเป็นเรื่องที่จำเลยตัดสินใจเองข้อความที่ว่าถ้าได้ตัว ส. มาก็จะปล่อยจำเลยนั้น ก็เห็นได้ว่าคงจะปล่อยสำหรับข้อหามีเฮโรอีน 6 ถุงกับ 35 หลอดไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายเท่านั้น ซึ่งก็เป็นการกระทำเพื่อให้ได้ตัวผู้กระทำผิดไม่ว่าผู้นั้นจะเป็นผู้ใดกรณียังไม่เข้าลักษณะชักจูงหรือกระทำด้วยวิธีการใด ๆ ที่จะให้จำเลยให้การรับสารภาพ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4020/2540

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความชอบด้วยกฎหมายของฟ้องและการจับกุม รวมถึงผลของการสอบสวนที่ไม่ชอบ
ปัญหาที่ว่าฟ้องโจทก์ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนและเป็นปัญหาสำคัญ จำเลยมีสิทธิอุทธรณ์ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง
การกระทำของจำเลยจะเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทหรือเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันเป็นเรื่องที่ศาลจะเป็นผู้พิจารณาลงโทษจำเลยตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏในสำนวน โจทก์ไม่จำต้องบรรยายและอ้างประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91มาในฟ้อง ก็เป็นคำฟ้องที่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 158
ประเด็นแห่งคดีมีว่าจำเลยกระทำความผิดตามที่โจทก์ฟ้องหรือไม่ ปัญหาที่ว่าการจับกุมจำเลยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ จึงไม่เป็นประเด็นแห่งคดี ถือได้ว่าเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ต้องห้ามมิให้จำเลยอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคแรก
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 135 เพียงแต่ห้ามไม่ให้พนักงานสอบสวนทำหรือจัดให้ทำการใด ๆ ซึ่งเป็นการล่อลวง หรือขู่เข็ญ หรือให้สัญญากับผู้ต้องหาเพื่อจูงใจให้การอย่างใด ๆ ในเรื่องที่ต้องหานั้นเท่านั้น หากพนักงานสอบสวนทำการฝ่าฝืนก็มีผลเพียงว่าถ้อยคำที่ผู้ต้องหากล่าวนั้นใช้เป็นหลักฐานยันผู้ต้องหาในการพิจารณาไม่ได้ตามมาตรา 134 ไม่มีผลถึงกับทำให้การสอบสวนไม่ชอบและโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องตามมาตรา 120

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1542/2540

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การตรวจค้นจับกุมและการได้มาซึ่งของกลางโดยชอบด้วยกฎหมาย การจูงใจเพื่อลดโทษไม่ถึงขั้นสัญญา
เจ้าพนักงานตำรวจผู้ตรวจค้นจับกุมจำเลยได้บอกจำเลยว่า หากมีเมทแอมเฟตามีนอยู่อีกให้นำมอบให้เจ้าพนักงานตำรวจ จะได้รับโทษเบาลงและได้เกลี้ยกล่อมจำเลยว่าหากมีสิ่งผิดกฎหมายก็ให้เอาออกมาเสีย จากนั้นจำเลยได้พาไปที่ต้นมะขามล้วงเข้าไปในโพรงต้นมะขาม นำถุงพลาสติกบรรจุเม็ดยามาให้ ดังนี้เป็นการพูดในขณะที่ปฏิบัติการตรวจค้นเพื่อให้ได้มาซึ่งของผิดกฎหมายที่อยู่ในครอบครองของจำเลย แม้คำพูดนั้นจะเป็นการพูดจูงใจในทำนองว่าจำเลยจะได้รับโทษเบาลง ก็ไม่ถึงขั้นให้สัญญาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 135 มิใช่เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9378/2539

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การพิจารณาโทษพยายามฆ่า: ศาลแก้ไขโทษจำคุกให้เป็นไปตามอัตราส่วนสองในสามของโทษฐานฆ่า
ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาการสอบสวนคดีอาญาเป็นอำนาจหน้าที่ของพนักงานสอบสวนที่จะดำเนินการตามที่เห็นสมควรภายในขอบเขตบทบัญญัติแห่งกฎหมายในการสอบสวนคดีนี้ไม่ปรากฏว่าพนักงานสอบสวนได้กระทำผิดกฎหมายหรือผิดหน้าที่อย่างใดทั้งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ก็มิได้บัญญัติห้ามมิให้บุคคลอื่นหรือพยานปากอื่นเข้าฟังการสอบสวนดังนั้น การที่พนักงานสอบสวนปากคำพยานโจทก์ทั้งห้าปากพร้อมกันและพันตำรวจโทอ.พยานโจทก์ปากหนึ่งตรวจดูบันทึกคำให้การพยานโจทก์ชั้นสอบสวนทุกปาก พร้อมทั้งนั่งฟังการสอบสวนด้วยจึงหาทำให้การสอบสวนเสียไปไม่ โทษฐานฆ่าผู้อื่นตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา288กำหนดโทษไว้เป็น3ประการคือโทษประหารชีวิตจำคุกตลอดชีวิตและจำคุกตั้งแต่สิบห้าปีถึงยี่สิบปีโดยให้ศาลเลือกพิจารณาลงโทษตามความเหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งคดีในคดีนี้เป็นการพยายามกระทำความผิดต้องระวางโทษสองในสามส่วนของโทษที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดฐานฆ่าผู้อื่นที่กำหนดไว้ดังกล่าวข้างต้นซึ่งศาลชั้นต้นได้พิจารณาเลือกกำหนดโทษที่จะลงแก่จำเลยคือโทษตั้งแต่สิบห้าปีถึงยี่สิบปีฉะนั้นโทษสูงสุดของอัตราโทษสองในสามส่วนของโทษที่กฎหมายกำหนดไว้20ปีดังกล่าวที่สามารถจะลงโทษในข้อหาฐานพยายามได้ในกรณีนี้คือ13ปี4เดือนการที่ศาลชั้นต้นลงโทษจำคุกจำเลยข้อหาฐานพยายามฆ่า15ปีและศาลอุทธรณ์พิพากษายืนจึงเป็นการลงโทษเกินสองในสามส่วนของโทษตามที่กฎหมายกำหนดไว้สมควรแก้ไขโทษเสียให้เป็นการถูกต้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9378/2539 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจการสอบสวนคดีอาญาและการกำหนดโทษพยายามฆ่าเกินอัตราตามกฎหมาย
ตาม ป.วิ.อ. การสอบสวนคดีอาญาเป็นอำนาจหน้าที่ของพนักงานสอบสวนที่จะดำเนินการตามที่เห็นสมควรภายในขอบเขตบทบัญญัติแห่งกฎหมาย ในการสอบสวนคดีนี้ไม่ปรากฏว่าพนักงานสอบสวนได้กระทำผิดกฎหมายหรือผิดหน้าที่อย่างใด ทั้ง ป.วิ.อ.ก็มิได้บัญญัติห้ามมิให้บุคคลอื่นหรือพยานปากอื่นเข้าฟังการสอบสวน ดังนั้น การที่พนักงานสอบสวนสอบปากคำพยานโจทก์ทั้งห้าปากพร้อมกัน และพันตำรวจโท อ.พยานโจทก์ปากหนึ่งตรวจดูบันทึกคำให้การพยานโจทก์ชั้นสอบสวนทุกปาก พร้อมทั้งนั่งฟังการสอบสวนด้วยจึงหาทำให้การสอบสวนเสียไปไม่
โทษฐานฆ่าผู้อื่นตาม ป.อ.มาตรา 288 กำหนดโทษไว้เป็น3 ประการ คือ โทษประหารชีวิต จำคุกตลอดชีวิต และจำคุกตั้งแต่สิบห้าปีถึงยี่สิบปีโดยให้ศาลเลือกพิจารณาลงโทษตามความเหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งคดี ในคดีนี้เป็นการพยายามกระทำความผิด ต้องระวางโทษสองในสามส่วนของโทษที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดฐานฆ่าผู้อื่นที่กำหนดไว้ดังกล่าวข้างต้น ซึ่งศาลชั้นต้นได้พิจารณาเลือกกำหนดโทษที่จะลงแก่จำเลยคือโทษตั้งแต่สิบห้าปีถึงยี่สิบปี ฉะนั้นโทษสูงสุดของอัตราโทษสองในสามส่วนของโทษที่กฎหมายกำหนดไว้ 20 ปีดังกล่าวที่สามารถจะลงโทษในข้อหาฐานพยายามได้ในกรณีนี้คือ 13 ปี 4 เดือนการที่ศาลชั้นต้นลงโทษจำคุกจำเลยข้อหาฐานพยายามฆ่า 15 ปี และศาลอุทธรณ์พิพากษายืนจึงเป็นการลงโทษเกินสองในสามส่วนของโทษตามที่กฎหมายกำหนดไว้สมควรแก้ไขโทษเสียให้เป็นการถูกต้อง
of 3