คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
พ.ร.ก.บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ.2544 ม. 41

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 3 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13598/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจ บสท. ในการบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพและการขายทอดตลาด ไม่ขัดเจตนารมณ์กฎหมาย แม้มีการสวมสิทธิ
จำเลยที่ 1 เป็นหน่วยงานของรัฐที่ทำหน้าที่แก้ไขปัญหาการค้างชำระหนี้ของลูกหนี้ของสถาบัน การเงินด้วยการรับโอนสินทรัพย์ด้อยคุณภาพนำมาบริหารจัดการตามวิธีการที่กำหนดใน พ.ร.ก.บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ.2544 การที่จำเลยที่ 1 ขายทอดตลาดที่ดินทั้งสองแปลงอันเป็นทรัพย์จำนองของโจทก์ตามบทบัญญัติมาตรา 76 ที่บัญญัติว่า ในการจำหน่ายทรัพย์สินที่เป็นหลักประกันให้ บสท. ดำเนินการโดยวิธีการขายทอดตลาด แต่ถ้า บสท. เห็นว่าการจำหน่ายโดยวิธีอื่นจะเป็นประโยชน์กับ บสท. และลูกหนี้มากกว่า ก็ให้จำหน่ายโดยวิธีอื่นได้ หรือจะรับโอนทรัพย์สินนั้นไว้ในราคาไม่น้อยกว่าราคาที่จะพึงได้รับจากการขายทอดตลาดแทนการจำหน่ายก็ได้ และมาตรา 82 บัญญัติว่า การเพิกถอนการจำหน่ายทรัพย์สินตามวิธีการที่กำหนดไว้ในมาตรา 76 จะกระทำมิได้ จำเลยที่ 1 ขายทอดตลาดที่ดินทั้งสองแปลงตามมาตรา 76 อันเป็นการบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพตามที่ พ.ร.ก. นี้บัญญัติไว้โดยเฉพาะ หากโจทก์ได้รับความเสียหายจากการขายทอดตลาด ย่อมใช้สิทธิเรียกร้องตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 ได้ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาด ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยที่ 1 ไม่ได้ยกขึ้นกล่าวในศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) และตามมาตรา 41 แห่ง พ.ร.ก. ดังกล่าวบัญญัติให้จำเลยที่ 1 เข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความแทน หรือในกรณีศาลมีคำพิพากษาบังคับคดีแล้ว ให้จำเลยที่ 1 เข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษานั้น เป็นเพียงการให้อำนาจจำเลยที่ 1 ใช้สิทธิในฐานะคู่ความหรือดำเนินการบังคับคดีตาม ป.วิ.พ. ในฐานะเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาได้ด้วย ไม่ใช่เป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 ไม่มีอำนาจในการบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพตามมาตรา 53 แห่ง พ.ร.ก. นี้ หากจำเลยที่ 1 เห็นว่าจะเป็นประโยชน์แก่จำเลยที่ 1 และโจทก์ซึ่งเป็นลูกหนี้มากกว่าการบังคับคดีตาม ป.วิ.พ. จึงหาใช่บทบังคับว่าเมื่อจำเลยที่ 1 เข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความแทนหรือเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาแล้ว จำเลยที่ 1 ต้องดำเนินการบังคับคดีตาม ป.วิ.พ. เท่านั้น จำเลยที่ 1 มีอำนาจขายทอดตลาดหรือจำหน่ายทรัพย์สินโดยวิธีอื่นตาม พ.ร.ก.บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ.2544 ตามมาตรา 74 และ 76

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 22779/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบังคับคดีและการโอนกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินหลังศาลพิพากษา บสท. ต้องดำเนินการตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนด
บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทยหรือ บสท. ประสงค์จะบังคับจำนองทรัพย์สินที่เป็นหลักประกัน สำหรับทรัพย์สินด้อยคุณภาพในฐานะที่เป็นเจ้าหนี้จำนองตามมาตรา 74 เมื่อผู้จำนองไม่ชำระหนี้ภายในกำหนดเวลา บสท. มีอำนาจดำเนินการจำหน่ายทรัพย์สินที่เป็นหลักประกันนั้นได้ โดยวิธีการขายทอดตลาด เว้นแต่ บสท. เห็นว่า การจำหน่ายโดยวิธีอื่นจะเป็นประโยชน์กับ บสท. และลูกหนี้มากกว่า ก็ให้จำหน่ายโดยวิธีอื่นได้ หรือจะรับโอนทรัพย์สินนั้นไว้ในราคาไม่น้อยกว่าราคาที่จะพึงได้รับจากการขายทอดตลาดแทนการจำหน่ายก็ได้ แต่สำหรับกรณีที่ บสท. ดำเนินการยื่นคำร้องขอสวมสิทธิเข้าเป็นโจทก์แทนเจ้าหนี้เป็นการดำเนินการตาม พ.ร.ก.บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ.2544 มาตรา 30 วรรคหก ซึ่งมาตรา 41 วรรคหนึ่งและวรรคสอง ได้กำหนดว่า ภายใต้บังคับมาตรา 30 ในคดีที่สถาบันการเงินหรือบริษัทบริหารสินทรัพย์ฟ้องเป็นคดีต่อศาลเกี่ยวกับสินทรัพย์ด้อยคุณภาพที่ บสท. รับโอนมาตามพระราชกำหนดนี้ให้ บสท. เข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความแทน ในกรณีที่ศาลได้มีคำพิพากษาบังคับคดีตามวรรคหนึ่งแล้ว ให้ บสท. เข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษานั้น ดังนั้นเมื่อ บสท. เลือกที่จะเข้าสวมสิทธิเป็นโจทก์แทนเจ้าหนี้ แทนที่จะยื่นคำร้องขอให้ศาลสั่งจำหน่ายคดีออกจากสารบบความจนกระทั่งศาลมีคำพิพากษาแล้ว บสท. จึงต้องดำเนินกระบวนพิจารณาคดีต่อไปตามมาตรา 41 เมื่อในคดีเดิมศาลชั้นต้นพิพากษาให้ บสท. เป็นฝ่ายชนะคดี บสท. ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษายื่นคำขอต่อศาลให้ออกหมายบังคับคดีแล้วจึงต้องดำเนินการบังคับคดีตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นที่พิพากษาว่า หากลูกหนี้ตามคำพิพากษาไม่ชำระหนี้หรือชำระไม่ครบให้ยึดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างและทรัพย์สินออกขายทอดตลาดนำเงินชำระหนี้จนครบ การที่ บสท. ไปขอรับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างของโจทก์ทั้งสามต่อเจ้าพนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร สาขาบางกอกน้อย จึงเป็นการดำเนินการที่ขัดต่อ พ.ร.ก.บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ.2544 มาตรา 41

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1577/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ไม่ถูกต้อง ศาลมีอำนาจใช้ดุลพินิจได้หากไม่ทำให้คู่ความเสียหาย
แม้ข้อเท็จจริงจะได้ความว่า จำเลยที่ 5 ยังมิได้รับสำเนาคำร้องขอสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของผู้ร้อง โดยผู้ร้องมิได้ส่งสำเนาคำร้องดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 5 แต่เมื่อไม่มีกฎหมายกำหนดหน้าที่ให้ผู้ร้องต้องนำส่งสำเนาคำร้องขอสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาให้แก่คู่ความ ทั้งศาลก็มิได้มีคำสั่งให้ผู้ร้องมีหน้าที่นำส่งสำเนาคำร้องดังกล่าวให้แก่จำเลยทั้งหก การที่ผู้ร้องมิได้ส่งสำเนาคำร้องดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 5 จึงไม่อาจถือได้ว่าเป็นกรณีที่ผู้ร้องเพิกเฉยไม่ดำเนินคดีภายในเวลาตามที่ศาลเห็นสมควรกำหนด ถือไม่ได้ว่าผู้ร้องทิ้งคำร้องขอสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา
การที่จำเลยที่ 5 ร้องขอให้เพิกถอนคำสั่งอนุญาตให้บริษัทบริหารสินทรัพย์เพชรบุรี จำกัด เข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาโดยอ้างว่าศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำสั่งอนุญาตโดยมิได้ไต่สวนก่อนอันเป็นกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบนั้น จำเลยที่ 5 ต้องยกขึ้นคัดค้านหรือโต้แย้งภายใน 8 วัน นับแต่วันที่จำเลยที่ 5 ได้ทราบข้อความหรือพฤติการณ์อันเป็นมูลแห่งข้ออ้างนั้น ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 27 ข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยที่ 5 ได้รับสำเนาทราบคำสั่งและสำเนาคำร้องขอสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของบริษัทบริหารสินทรัพย์เพชรบุรี จำกัด โดยวิธีปิดหมายและสำเนาคำร้องเมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2545 จำเลยที่ 5 เพิ่งมายื่นคำร้องขอให้เพิกถอนคำสั่งดังกล่าวเมื่อวันที่ 21 กันยายน 2552 ล่วงเลยเวลามากว่า 7 ปีแล้ว ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำสั่งยกคำร้องของจำเลยที่ 5 ในส่วนนี้ ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นพ้องด้วยในผล
มีปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปว่า การที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้เข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามพิพากษาแทนบริษัทบริหารสินทรัพย์เพชรบุรี จำกัด โดยยังไม่ได้ส่งสำเนาคำร้องให้จำเลยที่ 5 และมิได้ไต่สวนคำร้องก่อนเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาโดยไม่ชอบที่สมควรเพิกถอนหรือไม่ เห็นว่า ตาม พ.ร.ก.บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ.2544 มาตรา 41 นั้น เห็นได้ว่า แม้การที่ผู้ร้องจะเข้าสวมสิทธิดังกล่าวได้ จะต้องได้ความว่าผู้ร้องได้รับโอนสินทรัพย์ด้อยคุณภาพอันได้แก่สิทธิเรียกร้องของสถาบันการเงินหรือบริษัทบริหารสินทรัพย์ที่มีต่อลูกหนี้แล้ว แต่เมื่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิจารณาคำร้องซึ่งประกอบด้วยสำเนาเอกสารแสดงการ โอนและรับโอนสินทรัพย์ด้อยคุณภาพแนบมาท้ายคำร้อง ก็ถือว่าสามารถกระทำได้โดยไม่ต้องไต่สวนพยานหลักฐานอื่นอีก เพียงแต่การที่ยังไม่ได้ส่งสำเนาคำร้องแก่จำเลยที่ 5 เพื่อให้มีโอกาสคัดค้านก่อนเท่านั้นที่เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ไม่ถูกต้องอันเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบ แต่การที่ศาลจะมีคำสั่งให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบหรือไม่ย่อมต้องพิจารณาว่าเรื่องที่ผิดระเบียบนั้นทำให้คู่ความฝ่ายใดต้องเสียหายหรือไม่ประกอบด้วย หากไม่เป็นเหตุให้คู่ความฝ่ายใดเสียหายหรือเสียความเป็นธรรม และการเพิกถอนกระบวนพิจารณานั้นไม่เป็นประโยชน์แต่อย่างใด ศาลก็มีอำนาจใช้ดุลพินิจไม่เพิกถอนได้ตามที่เห็นสมควร คดีนี้ปรากฏว่า ทนายจำเลยที่ 5 ยื่นขอสำเนาคำร้องขอสวมสิทธิของผู้ร้องตั้งแต่วันที่ 8 กันยายน 2552 เจ้าหน้าที่ศาลถ่ายสำเนาให้เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2552 ต่อมาวันที่ 21 กันยายน 2552 ทนายจำเลยที่ 5 ยื่นคำร้องขอเพิกถอนคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องเข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา เมื่อศาลมีคำสั่งยกคำร้องวันที่ 23 กันยายน 2552 แล้ว จำเลยที่ 5 ก็ยื่นอุทธรณ์คำสั่งเมื่อ วันที่ 22 ตุลาคม 2552 ตลอดระยะเวลาดังกล่าว จำเลยที่ 5 มีโอกาสทราบเนื้อหาคำร้องของผู้ร้องและคำสั่งศาลแล้ว แต่ก็ไม่เคยโต้แย้งคัดค้านว่า ผู้ร้องไม่ได้รับโอนสินทรัพย์ด้อยคุณภาพอันได้แก่สิทธิเรียกร้องต่อจำเลยคดีนี้แต่อย่างใด ทั้งยังปรากฏว่าศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำเลยที่ 5 ร่วมชำระหนี้แก่โจทก์แล้ว จำเลยที่ 5 มีหน้าที่ชำระหนี้ดังกล่าว แม้ต่อมา บริษัทบริหารสินทรัพย์เพชรบุรี จำกัด เข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาแทนโจทก์เดิม และผู้ร้องเข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาอีกต่อหนึ่งก็ตาม จำเลยที่ 5 ก็ยังมีหน้าที่ชำระหนี้ตามคำพิพากษาและอาจถูกบังคับคดีได้เช่นเดิม หากมีข้อโต้แย้งในการบังคับคดีต่อเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาอย่างใดก็ยังมีสิทธิอยู่เช่นเดิม ไม่ปรากฏเหตุที่จะทำให้จำเลยที่ 5 ต้องเสียหายในอันที่จะร้องขอให้ศาลเพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบ และไม่มีเหตุอื่นใดอันสมควรเพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบนี้ ซึ่งนอกจากจะไม่เป็นประโยชน์แล้วยังเป็นเหตุให้เกิดการล่าช้าเป็นประโยชน์ต่อการประวิงคดีสืบต่อไปอีก ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำสั่งยกคำร้องของจำเลยที่ 5 นั้น ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นพ้องด้วยในผล