คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
สุนทร เฟื่องวิวัฒน์

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 46 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1953/2567

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ผู้ครอบครองรถยินยอมให้คนเมาขับ ทำให้เกิดอุบัติเหตุ ต้องรับผิดทั้งทางแพ่งและอาญา
จำเลยที่ 2 เป็นผู้ครอบครองรถที่โจทก์รับประกันภัยยินยอมให้จำเลยที่ 1 ขับรถในขณะเกิดเหตุ ทั้งที่ทราบดีว่าจำเลยที่ 1 เมาสุราซึ่งจากผลการตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์จำเลยที่ 1 มีปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดสูงถึง 102 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ซึ่งเกินกว่าที่กฎหมายและกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์กำหนด เมื่อจำเลยที่ 1 มีอาการมึนเมาแล้ว แต่จำเลยที่ 2 ก็ยังรู้เห็นยินยอมให้จำเลยที่ 1 ขับรถโดยจำเลยที่ 2 นั่งโดยสารมาในรถที่จำเลยที่ 1 ขับด้วย จำเลยที่ 2 ย่อมทราบดีว่าการขับรถในขณะเมาสุราอาจทำให้ผู้ขับขี่หย่อนสมรรถภาพในการควบคุมบังคับรถให้อยู่ในทิศทางและช่องเดินรถของตน ทั้งไม่อาจควบคุมความเร็วของรถให้ช้าลงหรือหยุดรถเมื่อจำเป็นเพื่อป้องกันมิให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลอื่นได้ การที่จำเลยที่ 2 ยินยอมให้จำเลยที่ 1 ขับรถดังกล่าวย่อมเล็งเห็นว่าจะเกิดอุบัติเหตุได้ กรณีถือว่าจำเลยที่ 2 ผู้ครอบครองรถไม่ใช้ความระมัดระวังให้เพียงพอในการควบคุมดูแลรถซึ่งอยู่ในความครอบครอง โดยคำนึงถึงความปลอดภัยของบุคคลภายนอกที่ใช้รถใช้ถนนร่วมกันด้วย จำเลยที่ 2 จึงมีส่วนประมาทก่อให้เกิดเหตุละเมิดครั้งนี้ และต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ในความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อบุคคลภายนอกด้วย นอกจากนี้การที่จำเลยที่ 2 ยินยอมให้จำเลยที่ 1 ขับรถที่โจทก์รับประกันภัยในขณะเมาสุราเป็นการผิดเงื่อนไขและความคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ข้อ 7.6 เมื่อโจทก์ไม่อาจปฏิเสธความรับผิดต่อบุคคลภายนอก และได้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในความรับผิดที่จำเลยที่ 2 ผู้เอาประกันภัยต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอกไปแล้ว จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้เอาประกันภัยจึงต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 ชดใช้เงินค่าสินไหมทดแทนที่โจทก์ได้จ่ายไปนั้นคืนให้แก่โจทก์ตามที่กำหนดในข้อ 8 ข้อสัญญาพิเศษ อันเป็นเงื่อนไขการยกเว้นความรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 264/2567

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฎีกาไม่รับวินิจฉัยประเด็นไตร่ตรองไว้ก่อน เหตุข้อเท็จจริงถึงที่สุดแล้ว แต่ยืนตามโทษเดิมเนื่องจากพฤติการณ์โหดร้าย
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 289 (4) อันเป็นความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน และลงโทษจำคุกจำเลยตลอดชีวิต จำเลยอุทธรณ์ขอให้ลงโทษสถานเบากว่าคำพิพากษาศาลชั้นต้น ดังนี้ การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยว่า จำเลยเป็นคนร้ายที่ฆ่าผู้ตายโดยไตร่ตรองไว้ก่อนเป็นการวินิจฉัยโดยอาศัยอำนาจตาม ป.วิ.อ. มาตรา 245 วรรคสอง มิได้วินิจฉัยเพราะจำเลยอุทธรณ์ เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน ข้อเท็จจริงที่ว่าจำเลยกระทำความผิดฐานฆ่าผู้ตายโดยไตร่ตรองไว้ก่อนหรือไม่ จึงเป็นอันถึงที่สุดตามบทบัญญัติกฎหมายดังกล่าว จำเลยไม่มีสิทธิฎีกาว่าไม่ได้มีการไตร่ตรองหรือตระเตรียมการเพื่อเจตนาฆ่าผู้ตายได้อีก ที่ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของจำเลยในประเด็นนี้ เป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4887/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การโอนมรดกโดยผู้จัดการมรดก การแบ่งมรดก และผลกระทบต่อสิทธิทายาทอื่น
เมื่อผู้ตายไม่ได้ทำพินัยกรรมยกทรัพย์มรดกให้แก่ผู้ใด จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของผู้ตายจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทเป็นของตนเองในฐานะทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกด้วย เป็นการกระทำไปตามอำนาจหน้าที่โดยทั่วไปของผู้จัดการมรดก ไม่จำต้องได้รับความยินยอมจากทายาทและการกระทำเช่นนี้ไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อกองมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1719 และ 1722 จำเลยที่ 1 จึงมีอำนาจที่จะกระทำได้ ไม่ตกเป็นโมฆะตามมาตรา 150 จำเลยที่ 1 ย่อมมีสิทธินำที่ดินทั้ง 7 แปลงไปจดทะเบียนจำนองแก่จำเลยที่ 2 เมื่อ ช. ซึ่งเป็นเจ้ามรดกถึงแก่ความตายโดยไม่ได้ทำพินัยกรรมไว้ ทรัพย์มรดกย่อมตกแก่ทายาทโดยธรรมตาม ป.พ.พ. มาตรา 1620 และ 1629 ซึ่งทายาทโดยธรรมของ ช. คือโจทก์ทั้งห้าและจำเลยที่ 1 โจทก์ทั้งห้าย่อมมีสิทธิฟ้องขอแบ่งมรดกในส่วนของตนได้
แม้จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของผู้ตายโอนที่ดินพิพาทซึ่งเป็นทรัพย์มรดกของผู้ตายเป็นของตนเองและนำไปจดทะเบียนจำนองแก่จำเลยที่ 2 โดยไม่นำที่ดินไปแบ่งให้แก่ทายาทโดยธรรมคนอื่นตามสิทธินั้น เป็นการโอนไปหรือจัดการมรดกโดยไม่ชอบ ทำให้โจทก์ทั้งห้าผู้เป็นทายาทและมีสิทธิได้รับมรดกที่ดินพิพาทอยู่ในฐานะอันจะจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทได้อยู่ก่อนแล้วเสียเปรียบก็ตาม แต่เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าจำเลยที่ 1 จดทะเบียนจำนองที่ดินพิพาทแก่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นธนาคาร และทางพิจารณาไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 รับจำนองโดยมีพฤติการณ์ไม่สุจริต ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกได้รับจดทะเบียนจำนองที่ดินพิพาทโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน ย่อมไม่ทำให้จำนองเสียไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 1300

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4618/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจผู้จัดการนิติบุคคลอาคารชุดในการกระทำการแทน และความผูกพันของบันทึกข้อตกลงการใช้สถานที่
พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ. 2522 มาตรา 36 (1) (4) กำหนดให้ผู้จัดการนิติบุคคลเป็นผู้มีอำนาจกระทำการแทนนิติบุคคลอาคารชุดและต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามข้อบังคับหรือตามมติของที่ประชุมใหญ่เจ้าของร่วมหรือคณะกรรมการของนิติบุคคลอาคารชุดจำเลย ตามข้อบังคับของจำเลย ข้อ 12 ซึ่งกำหนดว่า หากตำแหน่งผู้จัดการว่างลงก่อนครบวาระให้ประธานคณะกรรมการหรือผู้ที่ได้รับแต่งตั้งจากคณะกรรมการ ทำหน้าที่บริหารอาคารชุดเหมือนผู้จัดการเป็นการชั่วคราวจนกว่าจะมีการแต่งตั้งผู้จัดการใหม่ ซึ่งขณะทำบันทึกข้อตกลงให้ใช้สถานที่ ที่ประชุมเจ้าของร่วมยังไม่ได้แต่งตั้งผู้จัดการนิติบุคคลอาคารชุดจำเลยคนใหม่ แต่มี ธ. ซึ่งเป็นประธานคณะกรรมการควบคุมการจัดการนิติบุคคลอาคารชุดจำเลยทำหน้าที่บริหารอาคารชุดเหมือนเป็นผู้จัดการเป็นการชั่วคราว การที่ ธ. ลงลายมือชื่อในบันทึกข้อตกลงให้ใช้สถานที่จึงถือว่ามีอำนาจกระทำการแทนจำเลยและมีผลผูกพันจำเลย ในการประชุมใหญ่สมัยวิสามัญเจ้าของร่วมครั้งที่ 1/2551 วันที่ 16 มีนาคม 2551 ก็ปรากฏว่า ที่ประชุมมีมติแต่งตั้ง ธ. เป็นผู้จัดการนิติบุคคลอาคารชุดจำเลยต่อจาก ส. พยานจำเลยปาก อ. ซึ่งเป็นผู้จัดการนิติบุคคลอาคารชุดจำเลยตั้งแต่ปี 2556 ถึงปัจจุบัน ก็ยอมรับว่า เคยชำระค่าตอบแทนให้แก่โจทก์ และจำเลยไม่เคยมีการบอกเลิกบันทึกข้อตกลงให้ใช้สถานที่ดังกล่าว ยิ่งเป็นการบ่งชี้ให้เห็นว่า จำเลยยอมรับตามบันทึกข้อตกลงให้ใช้สถานที่ที่ ธ. ลงลายมือชื่อในนามของจำเลย จำเลยจึงต้องชำระค่าตอบแทนให้แก่โจทก์ตามฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4395/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ กรรมเดียวความผิดหลายบท-ฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉิน-เล่นการพนัน ศาลฎีกาแก้ไขโทษและวินิจฉัยประเด็นกฎหมาย
ความผิดฐานร่วมกันเล่นการพนันและฐานร่วมกันฝ่าฝืนข้อกำหนดที่ออกตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน จำเลยทั้งยี่สิบสองมีเจตนาร่วมเล่นการพนันและฝ่าฝืนข้อกำหนดที่ออกตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินในเวลาเดียวกัน อันเป็นเจตนาเดียวกัน การกระทำความผิดของจำเลยทั้งยี่สิบสองจึงเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทมิใช่หลายกรรมต่างกัน ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่าการกระทำของจำเลยทั้งยี่สิบสองเป็นการกระทำความผิดหลายกรรมต่างกัน จึงเป็นการไม่ชอบ กรณีเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา ๑๙๕ วรรคสอง และมาตรา ๒๒๕ ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. ๒๔๙๙ มาตรา ๔ และกรณีเป็นเหตุในส่วนลักษณะคดี ศาลฎีกามีอำนาจพิพากษาตลอดไปถึงจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๒๒ ซึ่งมิได้ฎีกาด้วย ตาม ป.วิ.อ. มาตรา ๒๑๓ และมาตรา ๒๒๕ ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. ๒๔๙๙ มาตรา ๔

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3417/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คำฟ้องไม่สมบูรณ์ขาดองค์ประกอบความผิดฐานแจ้งความเท็จ ศาลฎีกายกฟ้อง
ป.วิ.อ. มาตรา 158 บัญญัติว่า "ฟ้องต้องทำเป็นหนังสือ และมี (1) ....(5) การกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำผิด ข้อเท็จจริงและรายละเอียดที่เกี่ยวกับเวลาและสถานที่ซึ่งเกิดการกระทำนั้น ๆ อีกทั้งบุคคลหรือสิ่งของที่เกี่ยวข้องด้วยพอสมควรเท่าที่จะให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดี" โดยในส่วนของการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำผิดนั้น หมายถึง ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิดที่โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลย สำหรับความผิดฐานแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงานตามคำฟ้องของโจทก์ ป.อ. มาตรา 137 บัญญัติว่า "ผู้ใดแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงาน ซึ่งอาจทำให้ผู้อื่นหรือประชาชนเสียหาย ต้องระวางโทษ..." จึงเป็นกรณีซึ่งกฎหมายกำหนดให้ถือเอาความเสียหายที่อาจเกิดแก่ผู้อื่นหรือประชาชนเป็นองค์ประกอบของความผิด ซึ่งโจทก์ต้องบรรยายให้ปรากฏในคำฟ้องด้วย แต่ฟ้องโจทก์บรรยายเพียงเฉพาะข้อความที่จำเลยแจ้งแก่ ส. อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ ว. ผู้เสียหาย ซึ่งอ้างว่าเป็นความเท็จ แม้โจทก์จะระบุมาในคำฟ้องด้วยว่า ข้อความอันเป็นเท็จดังกล่าวอาจทำให้ผู้เสียหาย เจ้าหน้าที่ นิติกรของผู้เสียหาย ผู้อื่น หรือประชาชนได้รับความเสียหาย ก็เป็นเพียงการหยิบยกถ้อยคำของกฎหมายมาบรรยายให้ปรากฏแบบกว้าง ๆ โดยมิได้กล่าวถึงข้อเท็จจริงและรายละเอียดเพื่อให้สามารถเข้าใจได้ชัดแจ้งว่าผู้เสียหายหรือผู้ใดอาจได้รับความเสียหายหรือผลกระทบจากการแจ้งข้อความดังกล่าวของจำเลยอย่างไร แม้จะพิจารณาฟ้องโจทก์ทั้งเรื่องก็ยังไม่สามารถจะเข้าใจได้ว่าโจทก์ร่วมหรือผู้ใดอาจได้รับความเสียหายอย่างไรจากการกระทำของจำเลย คำฟ้องโจทก์จึงบรรยายไม่ครบองค์ประกอบความผิดตาม ป.อ. มาตรา 137 ไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3339/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สำคัญผิดในคุณสมบัติทรัพย์สิน โมฆียะกรรมประมูลซื้อรถยนต์
โจทก์ต้องการประมูลซื้อรถพิพาทที่ประกอบและนำเข้ามาจากต่างประเทศทั้งคัน แต่เมื่อปรากฏว่ารถพิพาทเป็นรถที่นำเข้าชิ้นส่วนจากต่างประเทศมาประกอบเป็นรถจักรยานยนต์ในประเทศ การที่โจทก์ประมูลซื้อรถพิพาทจากการขายทอดตลาดของจำเลยจึงเป็นการแสดงเจตนาโดยสำคัญผิดในคุณสมบัติของทรัพย์สินซึ่งเป็นข้อสาระสำคัญ ซึ่งหากมิได้มีความสำคัญผิดดังกล่าวโจทก์ย่อมไม่เข้าร่วมประมูลซื้อรถพิพาท การแสดงเจตนาของโจทก์ในการประมูลรถพิพาทจึงเป็นโมฆียะตาม ป.พ.พ. มาตรา 157 โจทก์จึงมีสิทธิบอกล้างโมฆียะกรรมตาม ป.พ.พ. มาตรา 175 (3) เมื่อโจทก์มีหนังสือบอกล้างโมฆียะกรรมแล้ว ถือว่าการประมูลซื้อรถพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยตกเป็นโมฆะมาแต่เริ่มแรก คู่สัญญาต้องกลับคืนสู่ฐานะเดิมตาม ป.พ.พ. มาตรา 176 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3066/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การพิสูจน์ความผิดฐานปลอมและใช้เอกสารปลอม จำเป็นต้องมีพยานหลักฐานสนับสนุนที่ชัดเจนและสอดคล้องกัน
ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา โจทก์ร่วมยื่นคำร้องขอถอนคำร้องทุกข์ คำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ฎีกา และคำแก้ฎีกา จำเลยไม่คัดค้าน แต่คดีนี้มิใช่ความผิดต่อส่วนตัว การถอนคำร้องทุกข์ไม่ทำให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องระงับไป โจทก์จึงยังคงมีอำนาจดำเนินคดีแก่จำเลย และการถอนคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์มีผลเท่ากับเป็นการขอถอนฟ้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 35 ซึ่งโจทก์ร่วมจะขอถอนฟ้องได้ต่อเมื่อก่อนศาลชั้นต้นพิพากษา อีกทั้งศาลฎีกาทำคำพิพากษาเสร็จแล้ว จึงไม่สมควรอนุญาตให้ถอนฎีกาและคำแก้ฎีกา จึงยกคำร้องของโจทก์ร่วมในส่วนขอถอนคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ฎีกา และคำแก้ฎีกา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2650/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การชำระบัญชีห้างหุ้นส่วนสามัญหลังเลิกกิจการ: ศาลมีอำนาจสั่งชำระบัญชีได้แม้โจทก์มิได้ขอ
โจทก์และจำเลยทั้งสามตกลงเข้าหุ้นส่วนกันเพื่อจัดงานแสดงดนตรี เมื่องานแสดงดนตรีดังกล่าวได้จัดขึ้นและเสร็จสิ้นลงแล้ว ห้างหุ้นส่วนสามัญจึงเลิกกันเพราะเสร็จการนั้นแล้วตาม ป.พ.พ. มาตรา 1055 (3) เมื่อยังไม่ได้มีการชำระบัญชีของห้าง และไม่ปรากฏว่าได้มีการตกลงกันให้จัดการทรัพย์สินของห้างโดยวิธีอื่นในระหว่างผู้เป็นหุ้นส่วนด้วยกัน การที่โจทก์ฟ้องเรียกเงินที่ลงทุนไปทั้งหมดคืนรวมถึงส่วนแบ่งกำไร แต่จำเลยทั้งสามโต้แย้งว่าการจัดงานแสดงดนตรีดังกล่าวขาดทุน กรณีจึงมีข้อโต้แย้งเรื่องผลประกอบการของห้างหุ้นส่วนซึ่งต้องจัดให้มีการชำระบัญชีก่อนเพื่อให้ทราบว่าห้างหุ้นส่วนมีผลประกอบการขาดทุนจริงหรือไม่ และมีทรัพย์สินคงเหลือเพียงใด แม้โจทก์จะไม่ได้มีคำขอให้ศาลตั้งผู้ชำระบัญชีมาด้วย แต่การบรรยายฟ้องของโจทก์ย่อมเห็นความประสงค์ของโจทก์ได้ว่าต้องการให้มีการชำระบัญชีห้างหุ้นส่วนด้วยแล้ว ศาลจึงมีอำนาจพิพากษาให้มีการชำระบัญชีและตั้งผู้ชำระบัญชีไปเสียทีเดียวได้ โดยไม่จำต้องให้โจทก์กลับไปฟ้องเป็นคดีใหม่อีกการตั้งโจทก์หรือจำเลยทั้งสามเป็นผู้ชำระบัญชีร่วมกันย่อมเล็งเห็นได้ว่าจะเกิดปัญหาการไม่ร่วมมือกันในการชำระบัญชี เป็นอุปสรรคแก่การชำระบัญชีและไม่เกิดประโยชน์แก่ทุกฝ่าย ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีเป็นผู้ชำระบัญชีห้างหุ้นส่วนจึงชอบด้วยเหตุผลแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2356/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การนับโทษต่อเมื่อศาลฎีกามีคำพิพากษาถึงที่สุดในคดีอื่น และอำนาจสั่งนับโทษของศาล
เมื่อความปรากฏต่อศาลฎีกาว่า คดีอาญาหมายเลขดำที่ 1144/2561 ของศาลอาญา ที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อนั้น ศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาให้ลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 แล้ว ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจที่จะสั่งให้นับโทษจำเลยที่ 1 ต่อได้
of 5