คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2521 ม. 15

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 16 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18527/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การละเมิดลิขสิทธิ์เพลง: การทำซ้ำ, ดัดแปลง, อนุญาตใช้สิทธิ, และความเสียหายต่อชื่อเสียง/เกียรติคุณ
การที่จำเลยจงใจและอ้างว่าจำเลยเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานเพลงจำนวน 142 เพลง ที่โจทก์เป็นผู้สร้างสรรค์ตามคำฟ้อง ทั้ง ๆ ที่จำเลยทราบดีว่าโจทก์มิได้โอนขายลิขสิทธิ์ในงานเพลงจำนวน 142 เพลง ดังกล่าวแก่จำเลยนั้น แม้จะมิใช่การทำซ้ำ หรือดัดแปลง หรือเผยแพร่ต่อสาธารณชนซึ่งเพลงอันเป็นงานดนตรีกรรมที่โจทก์มีลิขสิทธิ์โดยไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์อันจะถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ในงานดนตรีกรรมของโจทก์ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 27 หรือ พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2521 มาตรา 24 ก็ตาม แต่ก็ถือได้ว่าเป็นการที่จำเลยจงใจทำต่อโจทก์โดยไม่มีสิทธิและผิดต่อกฎหมายเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหายแก่ทรัพย์สินเป็นการละเมิดต่อโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 420 ซึ่งจำเลยให้การต่อสู้ว่าสิทธิเรียกร้องตามคำฟ้องของโจทก์ขาดอายุความ 3 ปี นับแต่วันที่โจทก์รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้กระทำละเมิดตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 แต่มิได้ให้การต่อสู้ว่าสิทธิเรียกร้องตามคำฟ้องของโจทก์ขาดอายุความในมูลละเมิดตาม ป.พ.พ. มาตรา 448 คดีจึงไม่มีประเด็นข้อพิพาทว่าสิทธิเรียกร้องของโจทก์ตามคำฟ้องขาดอายุความในมูลละเมิดตาม ป.พ.พ. มาตรา 448 หรือไม่ จำเลยย่อมต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายเนื่องจากการละเมิดดังกล่าวแก่โจทก์
เมื่อลิขสิทธิ์ในเพลงทั้งสิบห้าเพลงดังกล่าวซึ่งเป็นเพลงส่วนหนึ่งของเพลงจำนวน 142 เพลง ตามคำฟ้องและยังคงเป็นลิขสิทธิ์ของโจทก์มิได้โอนลิขสิทธิ์ให้จำเลย การที่จำเลยผลิตและจำหน่ายซีดีเพลงดังกล่าวเป็นการทำซ้ำและดัดแปลงงานดนตรีกรรมอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์โดยไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์ จึงเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ในงานดนตรีกรรมของโจทก์ ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 27 (1) และการที่จำเลยโดยรู้อยู่แล้วได้นำซีดีซึ่งเป็นสิ่งบันทึกเสียงเพลงที่จำเลยได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ออกขายแก่ประชาชนทั่วไปเพื่อหากำไรและเพื่อการค้ายังเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ในงานดนตรีกรรมของโจทก์ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 31 (1) อีกด้วย เมื่อโจทก์พบการกระทำของจำเลยอันเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ในงานดนตรีกรรมของโจทก์ เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2547 และโจทก์ฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2549 จึงเป็นการฟ้องคดีละเมิดลิขสิทธิ์ภายในกำหนด 3 ปี นับแต่วันที่โจทก์ผู้เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด สิทธิเรียกร้องตามคำฟ้องของโจทก์ในส่วนนี้จึงไม่ขาดอายุความตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 63
การชดใช้ค่าเสียหายในกรณีที่มีการละเมิดลิขสิทธิ์นั้น ศาลมีอำนาจพิพากษาให้ผู้ละเมิดชดใช้ค่าเสียหายแก่เจ้าของลิขสิทธิ์ตามสมควร โดยคำนึงถึงความร้ายแรงของความเสียหาย รวมทั้งการสูญเสียประโยชน์และค่าใช้จ่ายอันจำเป็นในการบังคับตามสิทธิของเจ้าของลิขสิทธิ์ด้วยตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 64 การที่จำเลยนำซีดีซึ่งเป็นสิ่งบันทึกเสียงเพลงที่จำเลยได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ออกขายแก่ประชาชนทั่วไปเพื่อหากำไรและเพื่อการค้า จำเลยย่อมได้รับประโยชน์จากกำไรที่ได้มาจากการขายซีดีดังกล่าวโดยไม่ต้องแบ่งผลกำไรนั้นให้แก่โจทก์ และโจทก์ย่อมสูญเสียประโยชน์ในการแสวงหากำไรจากงานอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์รวมทั้งค่าใช้จ่ายอันจำเป็นในการบังคับตามสิทธิของโจทก์ด้วย แต่ผลกำไรที่จะเป็นฐานในการกำหนดค่าเสียหายก็ต้องหักต้นทุนหรือค่าใช้จ่ายออกเสียก่อนด้วยเช่นกัน ทั้งยังต้องคำนึงถึงการที่ซีดีแต่ละชุดมิได้ประกอบด้วยเพลงอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ทั้งหมด จึงต้องเทียบตามสัดส่วนของเพลงอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ในแต่ละชุดด้วย เมื่อเทียบสัดส่วนกับจำนวนเพลงทั้งหมด 6 ชุด จำนวนชุดละ 14 เพลง รวมจำนวน 84 เพลง แล้ว จะเป็นสัดส่วนเพลงของโจทก์ประมาณร้อยละ 10 ของเพลงทั้งหมด อย่างไรก็ดี เมื่อเพลงของโจทก์ทั้งเก้าเพลงดังกล่าวเป็นเพลงดังในอัลบั้มเพลงจำนวน 4 ชุด ในจำนวน 6 ชุด ดังกล่าวซึ่งจำเลยมิได้นำสืบโต้แย้งให้เห็นเป็นอย่างอื่น เพลงทั้งเก้าเพลงนี้ย่อมมีความสำคัญกว่าเพลงอื่น จึงเห็นควรกำหนดความสำคัญของเพลงโดยการเทียบสัดส่วนกับเพลงอื่น ๆ ในจำนวน 6 ชุด นั้นเป็นร้อยละ 20 ของเพลงทั้งหมด เพื่อนำไปหาค่าเฉลี่ยผลกำไรที่โจทก์สูญเสียไปหรือที่โจทก์ควรได้รับสำหรับการกำหนดค่าเสียหาย แม้โจทก์มิได้นำสืบถึงผลกำไรที่หักต้นทุนเพื่อให้เห็นถึงผลกำไรที่แท้จริงก็ตาม แต่ได้ความว่าโจทก์ขายแผ่นซีดีที่มีเพลงอันเป็นลิขสิทธิ์ของโจทก์แผ่นละ 100 บาทเศษ หากขายได้ 50,000 แผ่น จะได้กำไรแผ่นละ 30 บาทเศษ อัตราผลกำไรดังกล่าวเป็นอัตรากำไรที่เหมาะสมในการดำเนินธุรกิจ จึงเห็นสมควรนำมาเทียบเคียงและกำหนดค่าประมาณในการคำนวณหาผลกำไร โดยกำหนดผลกำไรให้เป็นอัตราร้อยละ 30 ของยอดขายจำนวน 36,000,000 บาท ตามที่โจทก์นำสืบและจำเลยมิได้โต้แย้ง เมื่อคำนวณแล้วได้ผลกำไรจากการขายเพลงทั้งหมดในซีดีทั้งหกชุดเป็นเงินจำนวน 10,800,000 บาท เมื่อนำสัดส่วนเพลงดังของโจทก์ซึ่งเท่ากับร้อยละ 20 ของเพลงทั้งหมดมาคำนวณจากผลกำไรดังกล่าวแล้ว จะได้ค่าเสียหายที่โจทก์สูญเสียไปหรือที่โจทก์ควรได้รับจากกำไรเป็นเงิน 2,160,000 บาท จึงเห็นสมควรกำหนดค่าเสียหายในส่วนนี้จำนวน 2,160,000 บาท
การที่จำเลยแอบอ้างว่าโจทก์ได้ขายลิขสิทธิ์ในงานเพลงจำนวน 142 เพลง ตามคำฟ้องให้แก่จำเลยแล้ว จำเลยจึงเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในเพลงจำนวนดังกล่าว จำเลยนำเพลงนั้นไปอนุญาตให้ผู้อื่นใช้ลิขสิทธิ์ตามสัญญาอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์จำนวน 15 ฉบับ และที่จำเลยอ้างต่อบริษัทที่จัดเก็บลิขสิทธิ์เพลงของโจทก์ว่าเพลงที่จัดเก็บลิขสิทธิ์นั้นเป็นลิขสิทธิ์ของจำเลย กับการที่จำเลยได้ทำซ้ำและดัดแปลงงานเพลงจำนวน 15 เพลง อันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์แล้วผลิตเป็นซีดีสิ่งบันทึกเสียงเพลงออกจำหน่ายโดยไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์นั้นมิใช่การละเมิดสิทธิในธรรมสิทธิ (Moral right) ของโจทก์ผู้สร้างสรรค์งานอันมีลิขสิทธิ์โดยการบิดเบือน ตัดทอน ดัดแปลง หรือทำโดยประการอื่นในลักษณะเดียวกันจนเกิดความเสียหายต่อชื่อเสียงหรือเกียรติคุณของโจทก์ผู้สร้างสรรค์งานเพลงดังกล่าวเพราะจำเลยมิได้ดัดแปลงหรือเปลี่ยนแปลงเนื้อร้องหรือทำนองเพลงจำนวน 142 เพลง ตามคำฟ้องให้ผิดแผกแตกต่างไปจากเนื้อร้องหรือทำนองเพลงที่โจทก์ได้แต่งขึ้นในลักษณะที่เป็นถ้อยคำหยาบคาย ลามก หรือให้ผิดเพี้ยนไปจากที่โจทก์ประสงค์จะสื่อสารไปถึงผู้ฟังเพลงแต่อย่างใด ทั้งการกระทำดังกล่าวก็ถือไม่ได้ว่าเป็นการที่จำเลยใช้สิทธิของโจทก์ผู้สร้างสรรค์งานดนตรีกรรมในอันที่จะแสดงว่าโจทก์เป็นผู้สร้างสรรค์งานดังกล่าวโดยมิชอบ เพราะจำเลยยังคงระบุในสัญญาอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์เพลงจำนวน 15 ฉบับ ว่าโจทก์เป็นผู้แต่งคำร้องและทำนองเพลงดังกล่าว มิได้บิดเบือนว่าจำเลยเป็นผู้สร้างสรรค์งานเพลงนั้นขึ้นแต่อย่างใด การกระทำของจำเลยดังกล่าวทั้งหมดจึงถือไม่ได้ว่าเป็นการละเมิดสิทธิในธรรมสิทธิ (Moral right) ของโจทก์ผู้สร้างสรรค์งานดนตรีกรรมจนเกิดความเสียหายต่อชื่อเสียงหรือเกียรติคุณของโจทก์ผู้สร้างสรรค์ดังที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2521 มาตรา 15 หรือ พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 18 โจทก์ไม่อาจเรียกค่าเสียหายจากจำเลยในส่วนนี้ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1908/2546 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การละเมิดลิขสิทธิ์หนังสือและการพิจารณาข้อยกเว้นการละเมิดลิขสิทธิ์ รวมถึงการประเมินค่าเสียหาย
ขณะที่โจทก์เขียนหนังสือพิพาททั้งสองเล่มนั้น โจทก์มีหน้าที่โดยตรงในการประเมินผลการฝึกอบรมของหน่วยงานราชการ ไม่มีหน้าที่ที่จะต้องจัดทำเอกสารหรือเขียนตำราทางวิชาการเพื่อใช้ในการฝึกอบรม การที่โจทก์เขียนหนังสือดังกล่าวขึ้นจึงไม่ถือว่าเป็นงานที่โจทก์ต้องปฏิบัติตามหน้าที่ในกรอบงานของโจทก์ และหน่วยงานราชการที่โจทก์สังกัดก็มิได้มีคำสั่งให้โจทก์เขียนหนังสือดังกล่าวหรือมีการจ่ายค่าตอบแทนให้ อีกทั้งโจทก์เขียนหนังสือดังกล่าวนอกเวลาราชการ จึงถือว่าโจทก์เป็นผู้ทำหรือก่อให้เกิดงานสร้างสรรค์ประเภทวรรณกรรมอันมีลิขสิทธิ์ขึ้นเอง
ในการเขียนหนังสือของโจทก์ โจทก์ได้กำหนดเค้าโครงการเขียน และได้คิดกำหนดสารบัญรวมทั้งได้เขียนอธิบายเนื้อหาสาระและรายละเอียดต่าง ๆ แต่ละประเด็นโดยใช้ถ้อยคำและคำอธิบายของโจทก์ใหม่ทั้งหมดตามความรู้ความเข้าใจและประสบการณ์ของโจทก์โดยตรง จึงเป็นงานนิพนธ์ที่โจทก์ทำขึ้นโดยไม่ได้ลอกเลียนงานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้อื่น โจทก์จึงเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานวรรณกรรมหนังสือพิพาททั้งสองเล่มนั้น หาใช่หน่วยราชการเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ฯมาตรา 14 ไม่
แนวความคิด ทฤษฎี และตัวข้อมูลความรู้ไม่ใช่สิ่งที่กฎหมายลิขสิทธิ์คุ้มครองตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ฯ มาตรา 6 วรรคสอง บุคคลสามารถที่จะนำแนวความคิดทฤษฎี และตัวข้อมูลความรู้ไปใช้ประโยชน์ได้ตราบเท่าที่การใช้ประโยชน์ของบุคคลนั้นไม่เป็นการทำซ้ำ ดัดแปลงหรือเผยแพร่ต่อสาธารณชนซึ่งงานอันมีลิขสิทธิ์ของบุคคลอื่นกล่าวคือหากนำแนวความคิด ทฤษฎี และตัวข้อมูลความรู้ของบุคคลอื่นไปสร้างสรรค์งานวรรณกรรมของตน ก็จะต้องสร้างสรรค์งานนั้นขึ้นมาโดยมีเนื้อหารายละเอียดและลักษณะการแสดงออกซึ่งความคิดของตนเองมิใช่เพียงแต่คัดลอกหรือเลียนแบบงานวรรณกรรมอันมีลิขสิทธิ์ของบุคคลอื่นในส่วนอันเป็นสาระสำคัญซึ่งถือว่าเป็นการทำซ้ำ หรือดัดแปลงงานอันมีลิขสิทธิ์ซึ่งเป็นสิทธิแต่เพียงผู้เดียวของเจ้าของลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ฯ มาตรา 15(1) หากกระทำไปโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์ การกระทำดังกล่าวย่อมเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ตามมาตรา 27(1)แห่งพระราชบัญญัติฉบับเดียวกัน เมื่อปรากฏว่าหนังสือของจำเลยมีข้อความที่เหมือนและคล้ายกับข้อความที่ปรากฏอยู่ในหนังสือของโจทก์ทั้งสองเล่มในส่วนอันเป็นสาระสำคัญของงานประมาณ 30 หน้า จากจำนวนประมาณ 150 หน้า โดยข้อความบางตอนมีลักษณะเกือบเหมือนกันคำต่อคำ บางตอนมีลักษณะดัดแปลงให้ต่างกันเล็กน้อยและบางตอนก็เพียงแต่ปรับเปลี่ยนหัวข้อเล็กน้อยเท่านั้น ซึ่งยากที่จะเกิดขึ้นได้โดยบังเอิญ การกระทำของจำเลยจึงเป็นการทำซ้ำ และดัดแปลงงานวรรณกรรมอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ เมื่อจำเลยกระทำไปโดยไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์ การกระทำของจำเลยจึงเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์
จำเลยเป็นผู้ทำซ้ำและดัดแปลงงานวรรณกรรมอันเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ และได้เผยแพร่งานดังกล่าวทั้งภายในและภายนอกหน่วยงานราชการที่จำเลยสังกัด แม้ตั้งราคาจำหน่ายใกล้เคียงกับต้นทุน ไม่ได้หากำไรเท่าธุรกิจเอกชนก็เป็นการกระทำเพื่อหากำไร โดยรู้อยู่แล้วว่างานนั้นได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ในงานวรรณกรรมของโจทก์
การที่หน่วยงานราชการที่จำเลยสังกัด จัดพิมพ์ตำราต่าง ๆ ตามระเบียบภายในของหน่วยงานดังกล่าวตามขั้นตอน จึงย่อมจะเป็นเหตุให้ไม่อาจทราบในเบื้องต้นได้ว่าหนังสือที่เขียนขึ้นละเมิดลิขสิทธิ์โจทก์ และต่อมาได้หารือกรมทรัพย์สินทางปัญญาแล้วเห็นว่าหนังสือของจำเลยไม่เป็นการละเมิดลิขสิทธิ์โจทก์และจำเลยจะเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานที่ตนสร้างสรรค์ขึ้นมา และจำเลยจะทำละเมิดลิขสิทธิ์ในหนังสือสองเล่มของโจทก์หรือไม่ ยังเป็นปัญหาที่มีเหตุผลของแต่ละฝ่ายที่หน่วยงานราชการที่จำเลยสังกัดก็ได้ใช้ความพยายามในการแสวงหาข้อยุติอย่างเต็มที่แล้ว ทั้งได้จัดจำหน่ายหนังสือของจำเลยโดยเปิดเผย จึงฟังไม่ได้ว่าหน่วยงานราชการที่จำเลยสังกัดรู้อยู่แล้วหรือมีเหตุอันควรรู้ว่าหนังสือที่จำเลยเขียนขึ้นโดยการละเมิดลิขสิทธิ์ในวรรณกรรมของโจทก์ แล้วจำหน่ายหรือเผยแพร่ต่อสาธารณชน ซึ่งหนังสือดังกล่าวเพื่อการค้าอันเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ในงานวรรณกรรมของโจทก์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ฯมาตรา 31(1) และ (2)
ข้อยกเว้นการละเมิดลิขสิทธิ์ในกรณีที่อ้างว่าเป็นการวิจัยและใช้เป็นเอกสารประกอบการสอนโดยไม่ได้แสวงหากำไร โดยมีการอ้างอิงที่มาของข้อความไว้แล้วนั้นประกอบด้วยหลักเกณฑ์ 3 ประการคือ (1) เป็นการกระทำต่าง ๆ ตามที่มาตรา 32วรรคสอง และมาตรา 33 บัญญัติไว้ (2) การกระทำนั้นต้องไม่ขัดต่อการแสวงหาประโยชน์จากงานอันมีลิขสิทธิ์ตามปกติของเจ้าของลิขสิทธิ์ และ (3) การกระทำนั้นต้องไม่กระทบกระเทือนถึงสิทธิอันชอบด้วยกฎหมายของเจ้าของลิขสิทธิ์เกินสมควรเมื่อปรากฏว่าจำเลยได้กระทำการถึงขั้นจัดพิมพ์เพื่อจำหน่ายแก่บุคคลทั่วไปโดยได้รับค่าตอบแทนงานเขียนดังกล่าว ย่อมถือได้ว่าเป็นการกระทำเพื่อหากำไรแล้ว การกระทำของจำเลยจึงไม่เข้าข้อยกเว้นดังกล่าว ส่วนข้อยกเว้นการละเมิดลิขสิทธิ์ตามมาตรา 33นั้น แม้จะปรากฏว่าจำเลยคัด ลอก หรือเลียนงานวรรณกรรมของโจทก์ประมาณ 30 หน้าจากทั้งหมดประมาณ 150 หน้า อันถือได้ว่าเป็นงานบางตอนก็ตาม แต่ปรากฏว่าล้วนเป็นส่วนของเนื้อหาสาระที่สำคัญ และมีปริมาณงานเป็นจำนวนมาก จึงถือได้ว่าเป็นการคัด ลอก หรือเลียนงานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้อื่นเกินสมควร ส่วนการรับรู้ถึงความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ของโจทก์นั้น หนังสือของจำเลยดังกล่าวเป็นหนังสือขนาด 8 หน้ายกซึ่งจำเลยสามารถที่จะแสดงการรับรู้ถึงความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ของโจทก์ได้ ไม่ว่าจะเป็นการทำเชิงอรรถหรือกล่าวถึงเจ้าของลิขสิทธิ์เมื่อนำข้อความของงานนั้นมาเขียนไว้ในหนังสือของจำเลย การที่จำเลยเพียงแต่อ้างอิงชื่อโจทก์และบุคคลอื่นพร้อมงานเขียนไว้ในหัวข้อเอกสารอ้างอิงท้ายเล่ม ผู้อ่านย่อมไม่สามารถทราบได้ว่าข้อความส่วนใดของงานดังกล่าวเป็นงานเขียนของโจทก์ซึ่งจำเลยคัดลอกมา จึงยังไม่เพียงพอที่จะถือได้ว่าเป็นการรับรู้ถึงความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ของโจทก์ อันจะถือได้ว่าเข้าหลักเกณฑ์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ฯ มาตรา 33 ประการแรก ทั้งภายหลังเมื่อมีการฟ้องคดีนี้แล้ว จำเลยก็มิได้ดำเนินการให้ระงับการจำหน่ายหนังสือที่จำเลยทำขึ้น จึงเป็นการแบ่งตลาดของผู้บริโภคซึ่งจะซื้อหนังสือประเภทดังกล่าวออกไปส่วนหนึ่ง อันเป็นการขัดต่อการแสวงหาประโยชน์จากงานอันมีลิขสิทธิ์ตามปกติของโจทก์ และกระทบถึงสิทธิอันชอบด้วยกฎหมายของโจทก์เกินสมควร จึงไม่เข้าหลักเกณฑ์สองประการหลังของพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ฯ มาตรา 32 วรรคหนึ่ง ด้วย
จำเลยให้การว่าการจัดพิมพ์หนังสือดังกล่าว จำเลยมิได้แสวงหากำไรทางการค้าแต่กลับอ้างในอุทธรณ์ว่า จำเลยมิได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดการของหน่วยราชการที่จำเลยสังกัด ในข้อนี้จึงเป็นอุทธรณ์นอกเหนือคำให้การและเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลทรัพย์สินทางปัญญาฯ ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาฯ มาตรา 38 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7036/2543 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อตกลงพิมพ์และจำหน่ายหนังสือ ไม่ใช่การซื้อขายลิขสิทธิ์ แต่เป็นการอนุญาตให้ใช้สิทธิ
และการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. 2534 มาตรา 26
การพิจารณาว่างานซึ่งได้สร้างขึ้นเมื่อกลางปี 2534 มีลิขสิทธิ์หรือไม่ ต้องใช้บทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้นคือ พ.ร.บ. ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2521 ปรับแก่กรณี แม้หลักเกณฑ์ตามมาตรา 6 วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ. ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 จะไม่ได้บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ. ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2521 ก็ตาม แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าหลักเกณฑ์นั้นไม่มีอยู่ เพราะหลักเกณฑ์ดังกล่าวเป็นหลักเกณฑ์ทั่วไปในการให้ความคุ้มครองลิขสิทธิ์ ดังนี้ ในการพิจารณาว่างานใดมีลิขสิทธิ์ตาม พ.ร.บ. ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2521 หรือไม่ จึงต้องอาศัยหลักเกณฑ์ทั่วไปนั้นด้วย
ในสัญญามีข้อความระบุถึงชื่อสัญญาว่า "หนังสือสัญญาขายลิขสิทธิ์" และมีข้อความในรายละเอียดกำหนดให้จำเลยที่ 1 พิมพ์ตำราคณิตคิดเร็วสำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ถึงปีที่ 6 จำนวนของแต่ละระดับชั้นเล่มละ 3,000 เล่ม เริ่มจำหน่ายเดือนมกราคม 2535 และคิดเงินค่าแห่งลิขสิทธิ์ในหนังสือแบบฝึกคณิตคิดเลขเร็วชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ถึงปีที่ 6 ที่พิมพ์ขึ้นแต่ละเล่ม เอกสารดังกล่าวมิได้มีการลงนามโจทก์ในฐานะผู้ขาย และจำเลยที่ 1 ก็มิได้ลงนามในฐานะผู้ซื้อจึงเป็นเพียงบันทึกข้อตกลงเท่านั้น จากการคิดค่าแห่งลิขสิทธิ์เป็นรายเล่ม และกำหนดให้พิมพ์หนังสือแบบฝึกคณิตคิดเลขเร็วชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ถึงปีที่ 6 เพียงเล่มละ 3,000 เล่ม แสดงให้เห็นโดยชัดแจ้งว่าโจทก์และจำเลยที่ 1 ไม่ได้มีเจตนาที่จะซื้อขายสิทธิในการทำซ้ำงานอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์แต่อย่างใด แต่เป็นกรณีที่โจทก์อนุญาตให้จำเลยที่ 1 ใช้สิทธิแต่ผู้เดียวของโจทก์ในการทำซ้ำงานอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ได้ ตามมาตรา 13 (4) และ 14 แห่ง พ.ร.บ. ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2521 อันเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะที่ทำข้อตกลงดังกล่าวเท่านั้น ข้อตกลงข้างต้นจึงมิใช่ข้อตกลงในการซื้อขายลิขสิทธิ์โดยโจทก์มีเจตนาโอนลิขสิทธิ์ให้แก่จำเลยที่ 1 ตามมาตรา 15 แห่ง พ.ร.บ. ดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7036/2543

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ลิขสิทธิ์หนังสือเรียน: การปรับปรุงแก้ไขเล็กน้อยไม่ถือเป็นการสร้างสรรค์งานใหม่ นายจ้างไม่มีสิทธิเผยแพร่
พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 มาตรา 78 วรรคหนึ่งหมายความว่า งานใดเข้าลักษณะเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ประเภทใดประเภทหนึ่งตามพระราชบัญญัติคุ้มครองวรรณกรรมและศิลปกรรม พ.ศ. 2474 หรือ พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2521 และยังได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติทั้งสองดังกล่าวอยู่ในวันที่พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ใช้บังคับ ก็คงให้ได้รับความคุ้มครองต่อไปตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ส่วนมาตรา 78 วรรคสองหมายความว่า งานใดที่ได้จัดทำขึ้นก่อนวันที่พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์พ.ศ. 2537 ใช้บังคับและไม่มีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติทั้งสองดังกล่าวแต่เป็นงานที่ได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537ก็ให้งานนั้นได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537แต่ทั้งนี้นับแต่วันที่พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 มีผลใช้บังคับไม่ใช่นับแต่วันที่งานนั้นได้สร้างขึ้น
การพิจารณาว่าหนังสือแบบฝึกคณิตคิดเลขเร็วของโจทก์ซึ่งได้สร้างขึ้นเมื่อกลางปี 2534 มีลิขสิทธิ์หรือไม่ ต้องใช้กฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้นคือพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2521 แม้หลักเกณฑ์ตามมาตรา 6 วรรคสองแห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 จะไม่ได้บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2521 ก็ตาม แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าหลักเกณฑ์นั้นไม่มีอยู่ เพราะหลักเกณฑ์ดังกล่าวเป็นหลักเกณฑ์ทั่วไปในการให้ความคุ้มครองลิขสิทธิ์ ดังนี้ ในการพิจารณาว่างานใดมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์พ.ศ. 2521 หรือไม่ จึงต้องอาศัยหลักเกณฑ์ทั่วไปนั้นด้วย
หนังสือแบบฝึกคณิตคิดเลขเร็วของโจทก์เป็นตำราเรียนของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ถึงปีที่ 6 โดยวางรากฐานการเรียนการสอนเป็นขั้นตอนเพื่อให้สอดคล้องกับหลักสูตรชั้นประถมศึกษา มีเนื้อหาสาระของตัวอย่างการคิดและวิเคราะห์ แบบทดสอบคิดเลขเร็ว และโจทก์ปัญหาในภาคผนวกเพื่อพัฒนาและเสริมสร้างทักษะในสายการเรียนการสอนวิชาคณิตศาสตร์โดยให้นักเรียนมีแนวการคิดและมีการวิเคราะห์หาคำตอบได้รวดเร็ว และดัดแปลงวิธีการคิดให้เป็นแนวทางของตนเองได้ ทั้งเป็นงานที่ทำให้เกิดความเข้าใจในการคิดเลข มีความสัมพันธ์กันตามลำดับความง่ายยากตามขั้นตอน จูงใจให้เกิดความสนุกสนานในการเรียนรู้และทำความเข้าใจเพื่อให้มีความสามารถในการคิดเลขได้รวดเร็วยิ่งขึ้น การที่โจทก์นำตัวเลขรูปภาพสัญลักษณ์ โจทก์ปัญหาและเครื่องหมายต่าง ๆ กันมาปรับใช้โดยมีวิธีการคิดตามลำดับเพื่อให้เข้ากับหลักสูตรและพัฒนาเสริมสร้างทักษะในการเรียนตามวัยของเด็กนักเรียนในลำดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ถึงปีที่ 6โดยอาศัยข้อมูลและประสบการณ์จากการใช้สอนในโรงเรียนมาเป็นเวลานานหลายปี เป็นการริเริ่มสร้างสรรค์งานของโจทก์เพื่อให้นักเรียนสามารถคิดคำนวณเลขได้รวดเร็วยิ่งขึ้น ถือได้ว่าเป็นงานนิพนธ์ที่โจทก์ได้สร้างสรรค์ขึ้นโดยแสดงออกซึ่งการริเริ่มของโจทก์เองอันเป็นงานวรรณกรรมตามความหมายในมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2521 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะที่โจทก์สร้างสรรค์งานดังกล่าว หาใช่เป็นเพียงความคิด ขั้นตอนกรรมวิธี ระบบวิธีใช้หรือทำงาน แนวความคิด หลักการการค้นพบ หรือทฤษฎีทางคณิตศาสตร์ อันไม่ได้รับความคุ้มครองแต่อย่างใดไม่ หนังสือแบบฝึกคณิตคิดเลขเร็วจึงเป็นงานวรรณกรรมอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์
แม้สัญญาจะระบุชื่อสัญญาว่า "หนังสือสัญญาขายลิขสิทธิ์"แต่มีข้อความในรายละเอียดกำหนดจำนวนตำราคณิตคิดเลขเร็วสำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ถึงปีที่ 6 ให้จำเลยที่ 1 พิมพ์ กำหนดเดือนและปีที่เริ่มจำหน่าย และการคิดเงินค่าลิขสิทธิ์ โจทก์มิได้ลงนามในฐานะผู้ขายและจำเลยที่ 1 มิได้ลงนามในฐานะผู้ซื้อเอกสารดังกล่าวจึงเป็นเพียงบันทึกข้อตกลงเท่านั้น จากการคิดค่าแห่งลิขสิทธิ์เป็นรายเล่มและกำหนดจำนวนพิมพ์ของหนังสือแต่ละเล่ม แสดงให้เห็นโดยชัดแจ้งว่าโจทก์และจำเลยที่ 1 ไม่ได้มีเจตนาที่จะซื้อขายสิทธิในการทำซ้ำงานมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ แต่เป็นกรณีที่โจทก์อนุญาตให้จำเลยที่ 1 ใช้สิทธิแต่ผู้เดียวของโจทก์ในการทำซ้ำงานอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ได้ตามมาตรา 13(4) และ 14แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2521 อันเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะที่ทำข้อตกลงดังกล่าวเท่านั้น ข้อตกลงดังกล่าวจึงมิใช่ข้อตกลงในการซื้อขายลิขสิทธิ์โดยโจทก์มีเจตนาโอนลิขสิทธิ์ให้แก่จำเลยที่ 1 ตามมาตรา 15 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว แม้โจทก์จะบรรยายฟ้องว่า จำเลยทั้งสองได้ขอซื้อลิขสิทธิ์ในงานวรรณกรรมทั้งหกเล่มของโจทก์และแนบสำเนาสัญญามาท้ายฟ้องซึ่งระบุว่าเป็นหนังสือสัญญาขายลิขสิทธิ์ก็ตาม ก็เป็นเพียงความเข้าใจคลาดเคลื่อนของโจทก์ โจทก์มีเจตนาที่แท้จริงเพียงอนุญาตให้จำเลยที่ 1 ใช้สิทธิแต่ผู้เดียวของโจทก์ในการทำซ้ำงานวรรณกรรมอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์เท่านั้น ข้อตกลงดังกล่าวจึงเป็นเพียงสัญญาอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์
แม้หนังสือแบบฝึกคณิตคิดเลขเร็วของโจทก์จะมีการปรับปรุงใหม่โดยโจทก์และนักวิชาการของจำเลยที่ 1 ในระหว่างที่โจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 แต่เป็นการปรับปรุงโดยเปลี่ยนรูปแบบปกหนังสือใหม่และจัดรูปแบบหนังสือโดยแยกคำเฉลยออกพิมพ์ต่างหาก ส่วนเนื้อหาของหนังสือยังเหมือนเดิม หนังสือที่ปรับปรุงใหม่จึงไม่ใช่เป็นงานสร้างสรรค์ที่โจทก์ได้สร้างสรรค์ขึ้นมาใหม่หรือดัดแปลงโดยปรับปรุงงานเดิมในส่วนอันเป็นสาระสำคัญ แต่เป็นงานสร้างสรรค์หรืองานวรรณกรรมเดียวกันกับหนังสือฉบับเดิมนั่นเอง หนังสือที่ปรับปรุงใหม่จึงมิใช่เป็นงานที่โจทก์สร้างสรรค์ขึ้นใหม่ในฐานะที่เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1จึงไม่มีสิทธินำงานอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ที่ปรับปรุงใหม่ออกโฆษณาหรือเผยแพร่ต่อสาธารณชนโดยพิมพ์ออกจำหน่ายในฐานะที่เป็นนายจ้างของโจทก์ได้ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2521 มาตรา 7

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3240/2543

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ละเมิดลิขสิทธิ์: จำเลยดัดแปลงภาพถ่ายโฆษณาโดยไม่ได้รับอนุญาต แม้ไม่มีเจตนาค้ากำไรโดยตรง
โจทก์ซึ่งมีสัญชาติไทยเป็นผู้คิดสร้างสรรค์งานภาพเขียน "พิธีคล้องช้าง"ซึ่งเป็นงานศิลปกรรมประเภทจิตรกรรมขึ้นมา โจทก์ย่อมเป็นผู้มีลิขสิทธิ์ในงานภาพเขียนดังกล่าวและมีสิทธิแต่เพียงผู้เดียวในการทำซ้ำหรือดัดแปลงหรือเผยแพร่ต่อสาธารณชนตามมาตรา 6,8 และ 15 แห่ง พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ฯส่วนจำเลยจะเป็นผู้มีลิขสิทธิ์ในงานภาพเขียนดังกล่าวที่โจทก์สร้างสรรค์ขึ้นเพราะโจทก์สร้างสรรค์งานนี้โดยการรับจ้างจำเลยหรือไม่นั้น ต้องเป็นไปตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ฯ มาตรา 10
งานสร้างสรรค์ที่ผู้รับจ้างทำขึ้นมาจะตกเป็นลิขสิทธิ์ของผู้ว่าจ้างก็ต่อเมื่อการว่าจ้างนั้นมีผลสมบูรณ์ผูกพันกันโดยชอบ การที่โจทก์สร้างสรรค์งานภาพเขียน "พิธีคล้องช้าง" ขึ้นมานั้น แม้จะมีเหตุมาจากที่จำเลยมาติดต่อกับโจทก์เพื่อให้โจทก์จัดทำป้ายโฆษณาคล้องช้างในงานอยุธยามรดกโลกก็ตาม แต่โจทก์กับจำเลยยังไม่ได้ตกลงกันในเรื่องที่สำคัญคือราคาค่าจ้างรวมทั้งรายละเอียดของภาพโฆษณา ต่อมาโจทก์ได้เขียนภาพต้นแบบขึ้นนำไปให้จำเลยพิจารณา จำเลยขอให้ปรับปรุงรายละเอียดบางประการ จากนั้นโจทก์จึงเสนอราคาค่าจ้าง แต่จำเลยเห็นว่าแพงไปและตกลงกันไม่ได้ จำเลยจึงไม่ว่าจ้างโจทก์ทำป้ายโฆษณาแสดงให้เห็นว่าโจทก์กับจำเลยยังตกลงกันในเรื่องสาระสำคัญของสัญญาไม่ได้ การว่าจ้างหรือสัญญาจ้างทำของระหว่างโจทก์จำเลยยังไม่เกิดขึ้น จำเลยจึงไม่ได้เป็นผู้ว่าจ้างโจทก์ งานที่โจทก์ทำขึ้นจึงไม่ตกเป็นลิขสิทธิ์ของจำเลย แต่เป็นลิขสิทธิ์ของโจทก์เพียงผู้เดียว
ภาพเขียน "พิธีคล้องช้าง"ของโจทก์และภาพการคล้องช้างในป้ายโฆษณาที่จำเลยทำขึ้นเป็นภาพที่คล้ายคลึงกัน กล่าวคือ ลักษณะเค้าโครงของภาพท่าทางของช้างและลักษณะเฉพาะของช้าง เช่นการงอเท้าและการยื่นเท้าคล้ายกัน และลักษณะการขยายส่วนของภาพจากภาพต้นแบบไปเป็นภาพในป้ายโฆษณาขนาดใหญ่มีขนาดของส่วนขยายที่คล้ายกัน ช้างตัวหน้ายกขาเหมือนกันตำแหน่งช้างก็อยู่ในตำแหน่งเดียวกัน ช้างตัวหลังมีท่าเดินเหมือนกันบรรยากาศ หรือส่วนประกอบของภาพก็เหมือนกัน ภาพในป้ายโฆษณาเป็นภาพที่มาจากต้นแบบ โดยดูจากการจัดองค์ประกอบของภาพทั้งหมด ตำแหน่งของการวางรูปช้างการยืนและท่าทางของช้าง รวมทั้งฉากหลังภาพซึ่งเป็นเพนียดท่าทางของคนที่อยู่บนหลังช้างรวมทั้งสีของภาพและลักษณะการคล้องช้าง ประกอบกับจำเลยเป็นผู้ดำเนินการจัดทำป้ายโฆษณาขึ้นโดยการถือเอาภาพ "พิธีคล้องช้าง" ของโจทก์เป็นต้นแบบจึงเป็นการดัดแปลงงานอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์และนำออกเผยแพร่ต่อสาธารณชนโดยไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์ การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์
การทำป้ายโฆษณาของจำเลยอันเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์เป็นเพียงการโฆษณาให้มีผู้มาเที่ยวงานอยุธยามรดกโลก แม้จำเลยจะได้ผลประโยชน์จากการที่มีผู้มาเที่ยวงานชมพิธีคล้องช้างของจำเลยก็ตามจำเลยก็มิได้นำภาพการคล้องช้างในป้ายโฆษณาไปทำการค้าขายหากำไรโดยตรง การกระทำของจำเลยยังฟังไม่ได้ว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์เพื่อการค้าตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ฯ มาตรา 69 วรรคสอง
แม้ภาพการคล้องช้างที่จำเลยดำเนินการจัดทำเป็นป้ายโฆษณานำไปติดตั้งโฆษณาอันเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์จะมีถึง 4 ป้ายด้วยกันก็ตาม แต่ในการจัดทำป้ายโฆษณาทั้ง 4 ป้ายและนำไปติดตั้งโฆษณา 4 แห่ง จำเลยมีวัตถุประสงค์เดียวคือเพื่อการโฆษณาประชาสัมพันธ์งานอยุธยามรดกโลก จึงเป็นกรณีมีเจตนาละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์โดยเจตนาเดียวเท่านั้น เพียงแต่ได้มีการทำป้ายโฆษณาเพื่อนำออกโฆษณาเผยแพร่หลายแผ่นป้ายด้วยกัน การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดกรรมเดียว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5941/2541

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การโอนลิขสิทธิ์เพลง: สิทธิของผู้รับโอนและเจตนาละเมิดลิขสิทธิ์
เมื่อสัญญาซื้อขายลิขสิทธิ์บทเพลงพิพาทของโจทก์ทำขึ้นในระหว่างที่พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2521ใช้บังคับ ดังนั้น เมื่อเกิดข้อพิพาทขึ้นในระหว่างนั้นกรณีต้องบังคับตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2521 ดังกล่าว ข้อความตามสัญญาซื้อขายลิขสิทธิ์เพลงที่พิพาทที่ทำขึ้นในระหว่างที่พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2521ใช้บังคับระบุว่า ผู้ประพันธ์ตกลงโอนขายและห้างตกลงซื้อลิขสิทธิ์เพลงตามที่ระบุในสัญญา การโอนขายนี้จึงเป็นการโอนลิขสิทธิ์ทั้งหมดและเสร็จเด็ดขาดตลอดอายุแห่งลิขสิทธิ์และบทเพลงพิพาทเป็นงานดนตรีกรรม ซึ่งไม่ต้องบังคับตามมาตรา 18 และมาตรา 19 ข้อสัญญาดังกล่าว จึงมีความหมายว่า เป็นการโอนลิขสิทธิ์ตลอดอายุของผู้สร้างสรรค์และมีอยู่ต่อไปอีกเป็นเวลาห้าสิบปีนับแต่ผู้สร้างสรรค์ถึงแก่ความตายตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 16 วรรคแรกเมื่อปรากฏว่าขณะพิจารณาคดีนี้ ค.ผู้สร้างสรรค์บทเพลงพิพาทยังมีชีวิตอยู่ โจทก์ซึ่งเป็นผู้รับโอนย่อมมีลิขสิทธิ์ตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ โจทก์จึงเป็นผู้เสียหายที่จะดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสามตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ฉบับดังกล่าวนี้ได้ โจทก์ซื้อลิขสิทธิ์บทเพลงพิพาทรวมกับบทเพลงอื่นจากด.ซึ่งเป็นผู้สร้างสรรค์ แต่เหตุที่จำเลยนำบทเพลงพิพาทไปบันทึกเสียงเนื่องจากจำเลยเข้าใจว่าตนมีสิทธิในลิขสิทธิ์เพลงพิพาทดีกว่าโจทก์ กรณีจึงถือไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสามมีเจตนา กระทำผิด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7713/2540

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การซื้อขายลิขสิทธิ์นวนิยาย การอนุญาตให้สร้างภาพยนตร์/ละคร และการละเมิดลิขสิทธิ์/ชื่อเสียง
หนังสือสัญญาซื้อขายลิขสิทธิ์นวนิยายเรื่องพ.กับเรื่อง ก. ระบุไว้โดยชัดแจ้งว่า ผู้ขายซึ่งหมายถึงจำเลยที่ 1 ตกลงขายนวนิยาย ทั้งสองเรื่องดังกล่าวให้แก่ผู้ซื้อ ซึ่งหมายถึงโจทก์ที่ 1 แต่ผู้เดียว ผู้ซื้อตกลง ซื้อเพื่อนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์และออกเป็นรายการวิทยุหรือรายการโทรทัศน์ ผู้ขายตกลงสัญญาแก่ผู้ซื้อว่าผู้ขายขอมอบสิทธิและลิขสิทธิ์ของเนื้อเรื่องทั้งหมดในนวนิยาย ทั้งสองเรื่องทุก ๆ ตอนตั้งแต่ตอนเริ่มต้นจนจบเรื่องโดยสมบูรณ์ให้แก่ผู้ซื้อแต่ผู้เดียว และผู้ขายจะต้องเขียนนวนิยายทั้งสองเรื่องนั้นให้จบสมบูรณ์เพื่อประโยชน์แก่ผู้ซื้อในการสร้างเป็นภาพยนตร์ หรือนำไปออกรายการวิทยุหรือรายการโทรทัศน์ และทั้งสองฝ่ายมุ่งประสงค์ต่อการซื้อขายลิขสิทธิ์นวนิยายเรื่องพ. ที่จำเลยที่ 1 เป็นผู้ประพันธ์เพื่อนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์หรือนำไปออกรายการวิทยุหรือรายการโทรทัศน์ตามที่กำหนดไว้ในสัญญาเท่านั้น ดังนั้นโจทก์ที่ 1 ย่อมเป็นผู้มีสิทธิที่จะนำนวนิยายเรื่องพ.ไปสร้างเป็นภาพยนตร์ หรือออกรายการวิทยุหรือรายการโทรทัศน์ได้ แม้หนังสือสัญญาซื้อขายลิขสิทธิ์นวนิยายเรื่องพ.จะมิได้ระบุว่าการซื้อขายลิขสิทธิ์นวนิยาย ดังกล่าวเป็นเรื่องที่จำเลยที่ 1 อนุญาตให้โจทก์ที่ 1 ใช้ลิขสิทธิ์ นวนิยาย เรื่อง พ. เป็นการเฉพาะคราวไว้โดยชัดแจ้งก็ตามแต่โดยที่หนังสือสัญญาซื้อขายลิขสิทธิ์ดังกล่าวมีหมายเหตุต่อท้ายสัญญาไว้ว่า "ในกรณีที่ผู้ซื้อไม่สามารถที่จะสร้างภาพยนตร์ทั้งสองเรื่องนี้ได้ ผู้ซื้อมีสิทธิที่จะขายบทประพันธ์ทั้งสองเรื่องนี้ให้แก่ผู้อื่นได้ แต่จะต้องแบ่งส่วนแบ่งผลกำไรในการซื้อขายบทประพันธ์ให้แก่ผู้ซื้อครึ่งหนึ่ง ผลกำไรในที่นี้หมายถึงเงินซึ่งหักออกจากต้นทุนของผู้ซื้อเสียก่อน" เมื่อนำข้อความดังกล่าวไปพิจารณาร่วมกับสัญญาที่ว่า ผู้ซื้อตกลงสัญญาแก่ผู้ขายว่าจะต้องไม่ขายนวนิยายทั้งสองเรื่องดังกล่าวนี้ให้แก่บริษัทช.เป็นอันขาดเว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากผู้ขายเป็นลายลักษณ์อักษรเสียก่อนแล้ว ดังนี้ย่อมทำให้ตีความการแสดงเจตนาของโจทก์ที่ 1 และของจำเลยที่ 1 ได้ว่า ทั้งสองฝ่ายหาได้มีเจตนาซื้อและขายลิขสิทธิ์นวนิยายเรื่องพ. ต่อกันในลักษณะโอนลิขสิทธิ์โดยเด็ดขาดเป็นการถาวรตลอดไปไม่ ทั้งสองฝ่ายคงเพียงแต่ต้องการซื้อขายลิขสิทธิ์นวนิยาย ทั้งสองเรื่องนั้นเป็นการเฉพาะคราวให้โจทก์ที่ 1 นำไปสร้างเป็นภาพยนตร์และนำไปออกรายการวิทยุหรือรายการโทรทัศน์เพียงครั้งเดียวโดยไม่มีการสร้างภาพยนตร์ซ้ำเกินกว่า 1 ครั้ง เท่านั้นซึ่งสอดคล้องกับในทางปฏิบัติของวงการพิมพ์และวงการภาพยนตร์การซื้อขายลิขสิทธิ์หรือการขอใช้สิทธิเพื่อการจัดพิมพ์บทประพันธ์จำหน่ายหรือนำไปสร้างภาพยนตร์เป็นการขอใช้สิทธิหรืออนุญาตให้ใช้สิทธิเพียงครั้งเดียวเท่านั้น กรณีจึงฟังได้ว่าการซื้อขายลิขสิทธิ์นวนิยายเรื่องพ. ระหว่างโจทก์ที่ 1 กับจำเลยที่ 1 เป็นเรื่องที่จำเลยที่ 1 ผู้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์อนุญาตให้โจทก์ที่ 1 นำไปสร้างเป็นภาพยนตร์เพียงครั้งเดียว หาได้โอนลิขสิทธิ์โดยเด็ดขาดเป็นการถาวรตลอดไป ดังนั้น การที่โจทก์ที่ 1 นำนวนิยายเรื่อง พ. ไปสร้างเป็นภาพยนตร์ออกฉายเผยแพร่แล้ว สิทธิของโจทก์ ที่ 1 ในการที่จะนำนวนิยายเรื่องพ. ไปสร้างเป็นภาพยนตร์ซ้ำอีกจึงเป็นอันระงับ โจทก์ที่ 1 ไม่มีสิทธิจะโอนสิทธิหรืออนุญาตให้ผู้หนึ่งผู้ใดนำนวนิยาย เรื่องดังกล่าวไปสร้างเป็นภาพยนตร์ต่อหรือซ้ำได้อีกต่อไปส่วนจำเลยที่ 1 ย่อมมีสิทธิที่จะอนุญาตให้ผู้อื่นนำบทประพันธ์นวนิยายเรื่องพ.ไปสร้างเป็นละคร โทรทัศน์หรือภาพยนตร์โทรทัศน์ หรือแถบบันทึกเสียงได้ โจทก์ที่ 1 เป็นฝ่ายผิดสัญญาและละเมิดลิขสิทธิ์บทประพันธ์แต่การที่หนังสือสัญญาซื้อขายลิขสิทธิ์ฉบับพิพาทมีข้อความชวนให้โจทก์ทั้งสองเข้าใจว่า โจทก์ที่ 1 ได้รับโอนลิขสิทธิ์ในนวนิยายเรื่องพ. แล้ว ดังนี้ การที่โจทก์ที่ 1 ทำสัญญาให้โจทก์ที่ 2 เช่าลิขสิทธิ์ในนวนิยายดังกล่าวไปสร้างเป็นภาพยนตร์หรือละคร เพื่อออกอากาศทางโทรทัศน์ ถือได้ว่าเป็นการกระทำโดยสุจริต ประกอบกับโจทก์ที่ 2 ยังไม่ได้สร้างเป็นภาพยนตร์หรือละคร ออกเผยแพร่ดังนี้ จำเลยที่ 1 ผู้เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์จึงไม่มีสิทธิที่จะเรียกร้องค่าเสียหายในส่วนที่จะต้องแบ่งส่วนแบ่งผลกำไรจากโจทก์ทั้งสองได้ ข้อความในบทความตามที่ปรากฏในนิตยสารและหนังสือพิมพ์รายวันซึ่งเป็นเพียงบทความที่วิจารณ์ว่าระหว่างโจทก์ กับจำเลยใครควรจะมีสิทธิในบทประพันธ์นวนิยายเรื่องพ. ดีกว่ากัน เป็นการที่โจทก์ให้ข่าวแก่ผู้สื่อข่าวโดยโจทก์ประสงค์จะชี้แจงข้อเท็จจริงต่อสื่อมวลชนเพื่อปกป้องสิทธิของโจทก์ โดยโจทก์เชื่อว่าโจทก์ได้สิทธิในบทประพันธ์นวนิยาย เรื่องที่พิพาทโดยชอบแล้ว ดังนี้การกระทำของโจทก์ไม่เป็นการละเมิดต่อจำเลย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7713/2540 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ขอบเขตสิทธิในลิขสิทธิ์จากการซื้อขาย: การอนุญาตใช้สิทธิครั้งเดียว vs. การโอนสิทธิถาวร และผลของการผิดสัญญา
หนังสือสัญญาซื้อขายลิขสิทธิ์นวนิยายเรื่อง พ.กับเรื่อง ก.ระบุไว้โดยชัดแจ้งว่า ผู้ขายซึ่งหมายถึงจำเลยที่ 1 ตกลงขายนวนิยายทั้งสองเรื่องดังกล่าวให้แก่ผู้ซื้อ ซึ่งหมายถึงโจทก์ที่ 1 แต่ผู้เดียว ผู้ซื้อตกลงซื้อเพื่อนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์และออกเป็นรายการวิทยุหรือรายการโทรทัศน์ ผู้ขายตกลงสัญญาแก่ผู้ซื้อว่าผู้ขายขอมอบสิทธิและลิขสิทธิ์ของเนื้อเรื่องทั้งหมดในนวนิยายทั้งสองเรื่องทุก ๆ ตอนตั้งแต่ตอนเริ่มต้นจนจบเรื่องโดยสมบูรณ์ให้แก่ผู้ซื้อแต่ผู้เดียว และผู้ขายจะต้องเขียนนวนิยายทั้งสองเรื่องนั้นให้จบสมบูรณ์เพื่อประโยชน์แก่ผู้ซื้อในการสร้างเป็นภาพยนตร์ หรือนำไปออกรายการวิทยุหรือรายการโทรทัศน์ และทั้งสองฝ่ายมุ่งประสงค์ต่อการซื้อขายสิขสิทธิ์นวนิยายเรื่อง พ.ที่จำเลยที่ 1 เป็นผู้ประพันธ์เพื่อนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์หรือนำไปออกรายการวิทยุหรือรายการโทรทัศน์ตามที่กำหนดไว้ในสัญญาเท่านั้น ดังนั้นโจทก์ที่ 1 ย่อมเป็นผู้มีสิทธิที่จะนำนวนิยายเรื่อง พ.ไปสร้างเป็นภาพยนตร์ หรือออกรายการวิทยุหรือรายการโทรทัศน์ได้
แม้หนังสือสัญญาซื้อขายลิขสิทธิ์นวนิยายเรื่อง พ.จะมิได้ระบุว่าการซื้อขายลิขสิทธิ์นวนิยายดังกล่าวเป็นเรื่องที่จำเลยที่ 1 อนุญาตให้โจทก์ที่ 1ใช้ลิขสิทธิ์นวนิยายเรื่อง พ.เป็นการเฉพาะคราวไว้โดยชัดแจ้งก็ตาม แต่โดยที่หนังสือสัญญาซื้อขายลิขสิทธิ์ดังกล่าวมีหมายเหตุต่อท้ายสัญญาไว้ว่า "ในกรณีที่ผู้ซื้อไม่สามารถที่จะสร้างภาพยนตร์ทั้งสองเรื่องนี้ได้ ผู้ซื้อมีสิทธิที่จะขายบทประพันธ์ทั้งสองเรื่องนี้ให้แก่ผู้อื่นได้ แต่จะต้องแบ่งส่วนแบ่งผลกำไรในการซื้อขายบทประพันธ์ให้แก่ผู้ซื้อครึ่งหนึ่ง ผลกำไรในที่นี้หมายถึงเงินซึ่งหักออกจากต้นทุนของผู้ซื้อเสียก่อน"เมื่อนำข้อความดังกล่าวไปพิจารณาร่วมกับสัญญาที่ว่า ผู้ซื้อตกลงสัญญาแก่ผู้ขายว่าจะต้องไม่ขายนวนิยายทั้งสองเรื่องดังกล่าวนี้ให้แก่บริษัท ช.เป็นอันขาด เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากผู้ขายเป็นลายลักษณ์อักษรเสียก่อนแล้ว ดังนี้ย่อมทำให้ตีความการแสดงเจตนาของโจทก์ที่ 1 และของจำเลยที่ 1 ได้ว่า ทั้งสองฝ่ายหาได้มีเจตนาซื้อและขายลิขสิทธิ์นวนิยายเรื่อง พ.ต่อกันในลักษณะโอนลิขสิทธิ์โดยเด็ดขาดเป็นการถาวรตลอดไปไม่ ทั้งสองฝ่ายคงเพียงแต่ต้องการซื้อขายลิขสิทธิ์นวนิยายทั้งสองเรื่องนั้นเป็นการเฉพาะคราวให้โจทก์ที่ 1 นำไปสร้างเป็นภาพยนตร์และนำไปออกรายการวิทยุหรือรายการโทรทัศน์เพียงครั้งเดียว โดยไม่มีการสร้างภาพยนตร์ซ้ำเกินกว่า 1 ครั้ง เท่านั้น ซึ่งสอดคล้องกับในทางปฏิบัติของวงการพิมพ์และวงการภาพยนตร์ การซื้อขายลิขสิทธิ์หรือการขอใช้สิทธิเพื่อการจัดพิมพ์บทประพันธ์จำหน่ายหรือนำไปสร้างภาพยนตร์เป็นการขอใช้สิทธิหรืออนุญาตให้ใช้สิทธิเพียงครั้งเดียวเท่านั้น กรณีจึงฟังได้ว่าการซื้อขายลิขสิทธิ์นวนิยายเรื่อง พ.ระหว่างโจทก์ที่ 1 กับจำเลยที่ 1 เป็นเรื่องที่จำเลยที่ 1 ผู้เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์อนุญาตให้โจทก์ที่ 1 นำไปสร้างเป็นภาพยนตร์เพียงครั้งเดียว หาได้โอนลิขสิทธิ์โดยเด็ดขาดเป็นการถาวรตลอดไป ดังนั้น การที่โจทก์ที่ 1 นำนวนิยายเรื่อง พ.ไปสร้างเป็นภาพยนตร์ออกฉายเผยแพร่แล้ว สิทธิของโจทก์ที่ 1 ในการที่จะนำนวนิยายเรื่อง พ.ไปสร้างเป็นภาพยนตร์ซ้ำอีกจึงเป็นอันระงับ โจทก์ที่ 1 ไม่มีสิทธิจะโอนสิทธิหรืออนุญาตให้ผู้หนึ่งผู้ใดนำนวนิยายเรื่องดังกล่าวไปสร้างเป็นภาพยนตร์ต่อหรือซ้ำได้อีกต่อไป ส่วนจำเลยที่ 1 ย่อมมีสิทธิที่จะอนุญาตให้ผู้อื่นนำบทประพันธ์นวนิยายเรื่อง พ.ไปสร้างเป็นละครโทรทัศน์ หรือภาพยนตร์โทรทัศน์ หรือแถบบันทึกเสียงได้
โจทก์ที่ 1 เป็นฝ่ายผิดสัญญาและละเมิดลิขสิทธิ์บทประพันธ์แต่การที่หนังสือสัญญาซื้อขายลิขลิทธิ์ฉบับพิพาทมีข้อความชวนให้โจทก์ทั้งสองเข้าใจว่าโจทก์ที่ 1 ได้รับโอนลิขสิทธิ์ในนวนิยายเรื่อง พ.แล้ว ดังนี้ การที่โจทก์ที่ 1ทำสัญญาให้โจทก์ที่ 2 เช่าลิขสิทธิ์ในนวนิยายดังกล่าวไปสร้างเป็นภาพยนตร์หรือละครเพื่อออกอากาศทางโทรทัศน์ ถือได้ว่าเป็นการกระทำโดยสุจริต ประกอบกับโจทก์ที่ 2 ยังไม่ได้สร้างเป็นภาพยนตร์หรือละครออกเผยแพร่ ดังนี้ จำเลยที่ 1ผู้เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์จึงไม่มีสิทธิที่จะเรียกร้องค่าเสียหายในส่วนที่จะต้องแบ่งส่วนแบ่งผลกำไรจากโจทก์ทั้งสองได้
ข้อความในบทความตามที่ปรากฏในนิตยสารและหนังสือพิมพ์รายวันซึ่งเป็นเพียงบทความที่วิจารณ์ว่า ระหว่างโจทก์กับจำเลยใครควรจะมีสิทธิในบทประพันธ์นวนิยายเรื่อง พ.ดีกว่ากัน เป็นการที่โจทก์ให้ข่าวแก่ผู้สื่อข่าวโดยโจทก์ประสงค์จะชี้แจงข้อเท็จจริงต่อสื่อมวลชนเพื่อปกป้องสิทธิของโจทก์ โดยโจทก์เชื่อว่าโจทก์ได้สิทธิในบทประพันธ์นวนิยายเรื่องที่พิพาทโดยชอบแล้ว ดังนี้ การกระทำของโจทก์ไม่เป็นการละเมิดต่อจำเลย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6379/2537 เวอร์ชัน 3 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ลิขสิทธิ์งานศิลปะประยุกต์: การออกแบบปากกาเป็นงานสร้างสรรค์คุ้มครองได้ตามกฎหมายลิขสิทธิ์
แบบปากกาเป็นงานสร้างสรรค์อันเกิดจากการนำเอาการสร้างแบบพิมพ์รูปลักษณะของปากกาและแบบแม่พิมพ์ซึ่งเขียนด้วยลายเส้นประกอบเป็นรูปทรงอันเข้าลักษณะศิลปกรรมประเภทงานจิตรกรรมและการสร้างแม่พิมพ์กับหุ่นจำลองของปากกาดังกล่าวซึ่งเป็นงานสร้างสรรค์รูปทรงที่เกี่ยวกับปริมาตรที่สัมผัสและจับต้องได้ อันเข้าลักษณะศิลปกรรมประเภทงานประติมากรรมมาประกอบเข้าด้วยกันและสร้างขึ้นเป็นปากกาเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในการขีดเขียนและเพื่อประโยชน์ทางการค้าอันเป็นประโยชน์อย่างอื่นนอกจากการชื่นชมในคุณค่าของตัวงานจิตรกรรมและประติมากรรมดังกล่าว งานสร้างสรรค์แบบปากกาจึงเป็นงานศิลปะประยุกต์ อันอาจได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2521 มาตรา 4(7) ทั้งนี้ไม่ว่าจะมีคุณค่าทางศิลปหรือไม่ งานออกแบบปากกาค.และ ล. ซึ่งรวมงานสร้างแบบพิมพ์รูปลักษณะของปากกา แบบแม่พิมพ์ หุ่นจำลองและแม่พิมพ์ปากกาเป็นศิลปกรรมประเภทงานศิลปประยุกต์ซึ่งเกิดจากการนำเอางานจิตรกรรมและประติมากรรมมารวมกันโดยย.ป.ข. กรรมการโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 และอ. ผู้รับจ้างจากโจทก์ที่ 1 ได้สร้างสรรค์ขึ้นขณะที่อยู่ในราชอาณาจักร บุคคลทั้งสี่จึงเป็นผู้มีลิขสิทธิ์ในแบบปากกาค. และล. ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2521 มาตรา 6 ประกอบด้วยมาตรา 4 เมื่อบุคคลทั้งสี่ได้ทำหนังสือสัญญาโอนลิขสิทธิ์ในแบบปากกาดังกล่าวให้ แก่โจทก์ทั้งสี่แล้ว โจทก์ทั้งสี่จึงเป็นผู้ได้ไปซึ่งลิขสิทธิ์และเป็นผู้ที่มีลิขสิทธิ์ในแบบปากกาค.และล ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2521 มาตรา 7,8 และ 15 ย่อมได้ รับความคุ้มครองตามกฎหมาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6379/2537

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การละเมิดลิขสิทธิ์และการแข่งขันทางการค้าที่ไม่เป็นธรรม กรณีการลอกเลียนแบบผลิตภัณฑ์ปากกา
งานออกแบบปากกาลูกลื่น 2 แบบ ซึ่งประกอบด้วยงานแบบพิมพ์รูปลักษณะปากกาและชิ้นส่วนแม่พิมพ์ งานหุ่นจำลองงานอิเล็กโทรดหรือแท่งทองแดงที่ใช้ในการทำแม่พิมพ์ งานแม่พิมพ์ และงานรูปทรงและลวดลายตัวปากกา อันเกิดจากการคิดค้นแบบปากกาตั้งแต่ยกร่างรูปทรงและลวดลายในกระดาษร่างให้ปากกามีรูปลักษณะสวยงามสะดุดตาและสะดวกในการใช้สอย แล้วนำมาวิเคราะห์ในเชิงเศรษฐกิจตามหลักวิชาการ ใช้เทคนิคที่เรียกว่าวิศวกรรมคุณค่าคือ วิธีการสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ให้มีคุณภาพใช้ได้ดีกว่าสินค้าที่มีอยู่ก่อน และเพื่อให้ได้ต้นทุนการผลิตในราคาต่ำจนได้รูปทรงและลวดลายที่พอใจ แล้วเขียนแบบที่ถูกต้องและทำหุ่นจำลองต่อจากนั้นก็ทำการออกแบบชิ้นส่วนแม่พิมพ์ ออกแบบอีเล็กโทรดหรือแท่งทองแดงที่ใช้ในการทำแม่พิมพ์ ทำอิเล็กโทรด และทำแม่พิมพ์เพื่อใช้ในการทำปากกา เป็นงานสร้างสรรค์อันเกิดจากการนำเอาการสร้างแบบพิมพ์รูปลักษณะของปากกาและแบบแม่พิมพ์ซึ่งเขียนด้วยลายเส้นประกอบเป็นรูปทรงอันเข้าลักษณะศิลปกรรมประเภทงานจิตรกรรมและการสร้างแม่พิมพ์กับหุ่นจำลองของปากกาดังกล่าว ซึ่งเป็นงานสร้างสรรค์รูปทรงที่เกี่ยวกับปริมาตรที่สัมผัสและจับต้องได้ อันเข้าลักษณะศิลปกรรมประเภทงานประติมากรรม มาประกอบเข้าด้วยกันและสร้างขึ้นเป็นปากกาเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในการขีดเขียนและเพื่อประโยชน์ทางการค้าอันเป็นประโยชน์อย่างอื่นนอกเหนือจากการชื่นชมในคุณค่าของตัวงานจิตรกรรมและประติมากรรมดังกล่าวงานสร้างสรรค์แบบปากกาทั้งสองแบบจึงเป็นงานศิลปประยุกต์ อันอาจได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2521 ทั้งนี้ไม่ว่าจะมีคุณค่าทางศิลปหรือไม่ หากปรากฏว่างานนั้นผู้สร้างสรรค์ได้ทำหรือก่อให้เกิดงานนั้นด้วยความคิดริเริ่มของตนเองโดยมิได้ทำซ้ำหรือดัดแปลงจากงานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้อื่นโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานนั้น นายยูเลียนไมเคิลฮาร์เลย์ดีเลย์ นาย ป. นาย ข.กรรมการโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 และนายเอิร์นอีริคแวกเนอร์ผู้รับจ้างจากโจทก์ที่ 1 ได้สร้างสรรค์งานออกแบบปากกาแคนดี้คอมแพคและแบบปากกาแลนเซอร์คาเดท ขึ้นขณะที่อยู่ในราชอาณาจักร บุคคลทั้งสี่จึงเป็นผู้มีลิขสิทธิ์ในแบบปากกาทั้งสองแบบ อันเป็นงานศิลปประยุกต์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์พ.ศ. 2521 มาตรา 6 ประกอบด้วยมาตรา 4 หลังจากที่ได้ออกแบบปากกาทั้งสองแบบดังกล่าวเสร็จแล้วบุคคลทั้งสี่ได้ทำหนังสือสัญญาโอนลิขสิทธิ์ในแบบปากกาดังกล่าวให้แก่โจทก์ทั้งสี่ โจทก์ทั้งสี่จึงเป็นผู้ได้ไปซึ่งลิขสิทธิ์และเป็นผู้มีลิขสิทธิ์ในแบบปากกาแคนดี้คอมแพคและแบบปากกาแลนเซอร์คาเดท ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2521 มาตรา 7,8 และ 15 จำเลยที่ 11 ได้ลักลอบเอาแบบพิมพ์อิเล็กโทรด และเอกสารเกี่ยวกับการจัดทำปากกาแคนดี้คอมแพค และปากกาแลนเซอร์คาเดทหรือคลิคทู ของโจทก์ทั้งสี่ไป แล้วจำเลยที่ 1ว่าจ้างจำเลยที่ 11 ให้จัดการแม่พิมพ์ปากกาแคนดี้คอมแพคโดยจำเลยที่ 12 และที่ 13 ได้ร่วมทำแม่พิมพ์ด้วย และจำเลยที่ 1โดยจำเลยที่ 3 ได้นำหุ่นจำลองปากกาท่อนล่างไปจ้างโรงกลึงทำแม่พิมพ์มีลักษณะเหมือนปากกาแลนเซอร์คาเดท โจทก์ที่ 2 ได้มีหนังสือแจ้งให้จำเลยที่ 1 และโรงกลึงทราบว่าโจทก์ที่ 2เป็นผู้มีลิขสิทธิในแบบปากกาแคนดี้คอมแพคและแลนเซอร์คาเดทขอให้ยุติการผลิตและจำหน่ายปากกาลูกลื่นทั้งสองแบบ จำเลยที่ 1ได้รับหนังสือแล้ว จำเลยที่ 1 ได้ผลิตและจำหน่ายปากกาติ๊กแต็กซึ่งมีลักษณะคล้ายคลึงกับปากกาแลนเซอร์คาเดท กับยังคงจำหน่ายปากกาจ๊อตจอยซึ่งเลียนแบบปากกาแคนดี้คอมแพคต่อไป ตามพฤติการณ์ดังกล่าวฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 ที่ 11 ที่ 12และที่ 13 ได้ร่วมกันทำซ้ำและดัดแปลงแบบปากกาแคนดี้คอมแพคและจำเลยที่ 1 และที่ 11 ร่วมกันทำซ้ำและดัดแปลงแบบปากกาแลนเซอร์คาเดท ของโจทก์ทั้งสี่โดยการทำแม่พิมพ์เลียนแบบและปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมแบบปากกาทั้งสองแบบดังกล่าวจากแบบพิมพ์หุ่นจำลอง แม่พิมพ์ และเอกสารเกี่ยวกับการจัดทำปากกาดังกล่าวที่จำเลยที่ 11 ลักเอาไป แล้วจำเลยที่ 1 ผลิตปากกาจ๊อตจอยและปากกาติ๊กแต๊ก ออกจำหน่ายโดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นการทำซ้ำและดัดแปลงแบบปากกาที่โจทก์ทั้งสี่เป็นผู้มีลิขสิทธิ์อันเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ทำให้โจทก์ทั้งสี่เสียผลประโยชน์ในทางการค้าและได้รับความเสียหาย จึงเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ทั้งสี่ ส่วนจำเลยที่ 3 รับว่า จำเลยที่ 1 ได้ว่าจ้างจำเลยที่ 11 ทำแม่พิมพ์และได้มอบหุ่นจำลองปากกาจ๊อตจอย ให้จำเลยที่ 11 ไป จำเลยที่ 3ยังให้จำเลยที่ 11 ทำแบบ 16 แควิตี้ของปากกาจ๊อตจอย ให้ จึงเชื่อได้ว่าจำเลยที่ 3 มีส่วนรู้เห็นและร่วมกับจำเลยที่ 1 ทำปากกาจ๊อตจอยอันเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ในแบบปากกาแคนดี้คอมแพค ที่โจทก์ที่ 2 ต้องจัดทำกล่องพิเศษบรรจุปากกาทำให้ต้องเพิ่มต้นทุนการผลิตอีกด้ามละ 21 สตางค์ เพื่อป้องกันมิให้เสียลูกค้าไปเป็นเหตุให้โจทก์ที่ 2 ต้องเสียหายเพราะขาดประโยชน์ที่ควรได้เพิ่มขึ้นอีกนั้น เป็นเรื่องที่โจทก์ที่ 2 ลงทุนเพิ่มเติมเพื่อเป็นการจูงใจผู้บริโภคและให้สินค้าของโจทก์ที่ 2 จำหน่ายได้ดีขึ้น อันเป็นเรื่องปกติธรรมดาของการค้าขาย ยังฟังไม่ได้แน่ชัดว่าเป็นความเสียหายที่เป็นผลโดยตรงจากการกระทำละเมิดลิขสิทธิ์ของจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 11 ถึงที่ 13 โจทก์ที่ 2 จึงไม่อาจเรียกค่าเสียหายในส่วนนี้ได้ แม้พยานหลักฐานของโจทก์ยังฟังไม่ได้ว่าโจทก์จะสามารถจำหน่ายปากกาของโจทก์ได้ถึงจำนวนตามฟ้อง แต่การที่จำเลยผลิตและจำหน่ายปากกาที่เลียนแบบโดยละเมิดลิขสิทธิ์ในแบบปากกาของโจทก์ ย่อมทำให้โจทก์จำหน่ายปากกาดังกล่าวได้ลดลง ศาลมีอำนาจกำหนดค่าขาดประโยชน์ของโจทก์
of 2