พบผลลัพธ์ทั้งหมด 1 รายการ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18538/2555
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การรับฟังพยานหลักฐานในคดีทำร้ายร่างกาย: การพิจารณาความน่าเชื่อถือของพยาน, การแปลคำเบิกความของพยานชาวต่างชาติ และบทบาทของล่าม
ป.วิ.อ. มาตรา 13 วรรคสอง บัญญัติว่า "ในกรณีที่...พยานไม่สามารถพูดหรือเข้าใจภาษาไทย...และไม่มีล่าม ให้พนักงานสอบสวน พนักงานอัยการหรือศาลจัดหาล่าม...ให้ถามตอบหรือสื่อความหมายโดยวิธีอื่นที่เห็นสมควร" จากบทบัญญัติดังกล่าวบ่งชี้ว่า "ผู้ที่จะเป็นล่ามจะเป็นบุคคลใดก็ได้ที่มีความสามารถในการเป็นล่ามแต่จะต้องมิใช่พนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการหรือศาลซึ่งเป็นผู้ทำหน้าที่ในการสอบสวนหรือซักถามพยานนั้น ได้ความว่าในการสอบสวน จ. และ ม. ผู้ทำการสอบสวนคือร้อยตำรวจตรี ค. ส่วนร้อยตำรวจโท ธ. ทำหน้าที่เป็นล่าม และในการที่ จ. เบิกความต่อศาล ร้อยตำรวจโท ธ. ก็เป็นเพียงล่าม ดังนี้ ร้อยตำรวจโท ธ. จึงเป็นเพียงล่ามที่พนักงานสอบสวน และศาลเป็นผู้จัดหาล่ามให้แก่ จ. และ ม. ตามกฎหมาย แม้ทนายจำเลยได้แถลงคัดค้านเรื่องที่ร้อยตำรวจโท ธ. เป็นล่ามดังกล่าวในวันสืบพยานโจทก์ แต่ทนายจำเลยก็มิได้แสดงเหตุแห่งคำคัดค้านว่าร้อยตำรวจโท ธ. เป็นล่ามแปลไม่ถูกต้องอย่างไร การที่ร้อยตำรวจโท ธ. ทำหน้าที่เป็นล่ามแปลในชั้นสอบสวนจึงไม่ต้องห้ามมิให้รับฟังถ้อยคำของพยานที่แปลนั้นเป็นพยานหลักฐานแต่อย่างใด ส่วนการพิจารณาสืบพยานบุคคลปาก จ. ก่อนโจทก์ฟ้องคดีต่อศาลนั้น ปรากฏว่าร้อยตำรวจโท ธ. ผู้ทำหน้าที่เป็นล่ามได้สาบานตนก่อนแปลคำเบิกความของ จ. ต่อศาลแล้ว การให้การและเบิกความของ จ. ซึ่งเป็นชาวต่างประเทศและไม่เข้าใจภาษาไทยจึงเป็นการชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 13 วรรคสี่