คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.พ.พ. ม. 193/15

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 68 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7848/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความสิทธิเรียกร้องค่าสินค้า และผลของการรับสภาพหนี้ต่ออายุความ
สิทธิเรียกร้องจากการที่จำเลยทั้งสามซื้อสินค้าจากโจทก์ เพื่อส่งขายให้แก่ลูกค้าอันมิใช่ซื้อไปเพื่อใช้เป็นการเฉพาะภายในบริษัทจำเลยที่ 1 ย่อมมีอายุความ 5 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/33 (5) มิใช่อายุความ 2 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/34 (1)
การที่จำเลยที่ 2 เชิดตัวเองออกแสดงเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1 ทำหนังสือรับสภาพหนี้ต่อโจทก์ขอผ่อนชำระหนี้งวดแรกภายในเดือนมกราคม 2543 ย่อมมีผลทำให้อายุความสะดุดหยุดลงโดยระยะเวลาที่ล่วงไปนั้นไม่นับเข้าในอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/14 (1) และมาตรา 193/15 เมื่อปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ไม่ชำระเงินงวดแรกแก่โจทก์ตามที่รับสภาพหนี้ไว้ เหตุที่ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงจึงสิ้นสุดลงในวันที่ 31 มกราคม 2543 และเริ่มนับหนึ่งตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2543 เป็นต้นไป เมื่อโจทก์ฟ้องคดีวันที่ 30 ธันวาคม 2547 ฟ้องโจทก์เฉพาะจำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงไม่ขาดอายุความ ส่วนจำเลยที่ 3 ไม่ปรากฏว่ายอมให้จำเลยที่ 2 เชิดตัวเองออกแสดงเป็นตัวแทน กรณีจึงไม่อาจถือว่าจำเลยที่ 3 ได้รับสภาพหนี้ต่อโจทก์ด้วย ฟ้องโจทก์ในส่วนของจำเลยที่ 3 จึงขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4736/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความสะดุดหยุดเมื่อมีการหักชำระหนี้จากบัญชีเงินเดือนตามสัญญา การฟ้องภายใน 10 ปีนับจากวันสะดุดหยุดยังคงมีอายุความ
จำเลยที่ 1 ยอมให้หน่วยงานของตนนำเงินเดือนหรือเงินได้อื่นใดของจำเลยที่ 1 ทุกเดือนเข้าบัญชีของจำเลยที่ 1 เมื่อมีการนำเงินเข้าบัญชีแล้ว โจทก์ผู้ให้กู้มีสิทธินำเงินดังกล่าวไปหักชำระหนี้ที่จำเลยที่ 1 ได้กู้ไปจากโจทก์ตามข้อตกลงที่จำเลยที่ 1 ได้ทำไว้กับโจทก์ตามสัญญากู้ ดังนั้น เมื่อมีการถอนเงินออกจากบัญชีดังกล่าวจึงเป็นผลให้จำเลยที่ 1 มีฐานะเป็นลูกหนี้ของโจทก์ การที่หน่วยงานต้นสังกัดของจำเลยที่ 1 นำเงินเข้าบัญชีดังกล่าวทุก ๆ เดือน และโจทก์นำเงินนั้นไปหักชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 ที่ค้างอยู่กับโจทก์เป็นปกติตามที่โจทก์และจำเลยที่ 1 ปฏิบัติต่อกันมา อายุความจึงสะดุดหยุดลงทุกครั้งที่มีการนำเงินเข้าบัญชี เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า หน่วยงานต้นสังกัดของจำเลยที่ 1 นำเงินเข้าบัญชีของจำเลยที่ 1 ครั้งสุดท้ายวันที่ 30 มิถุนายน 2537 โจทก์นำเงินดังกล่าวตัดบัญชีเพื่อชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 ที่ค้างชำระในวันดังกล่าว อายุความในการฟ้องคดีนี้ของโจทก์จึงสะดุดหยุดลงตั้งแต่วันที่ 30 มิถุนายน 2537 และเริ่มนับอายุความใหม่วันที่ 1 กรกฎาคม 2537 โจทก์ฟ้องคดีวันที่ 28 มิถุนายน 2547 ภายในกำหนดระยะเวลา 10 ปี นับแต่วันที่อายุความสะดุดหยุดลง ฟ้องของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4582/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความฟ้องหนี้บัตรเครดิต: การสะดุดหยุดของอายุความจากการชำระหนี้และการฟ้องคดี
จำเลยชำระหนี้ตามบัตรซิตี้แบงก์วีซ่าให้แก่โจทก์ครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2541 อายุความย่อมสะดุดหยุดลงในวันดังกล่าว และต้องเริ่มนับอายุความใหม่ตั้งแต่วันที่ 12 ธันวาคม 2541 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/14 (1) และมาตรา 193/15 แม้การฟ้องคดีเพื่อให้ชำระหนี้จะเป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/14 (2) แต่คดีก่อนซึ่งโจทก์ยื่นฟ้องเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2542 นั้น ถึงที่สุดโดยศาลมีคำพิพากษาให้ยกคำฟ้อง จึงต้องถือว่าอายุความไม่เคยสะดุดหยุดลงเพราะเหตุที่ได้ฟ้องคดีก่อนตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/17 วรรคหนึ่ง อายุความสำหรับการฟ้องคดีใหม่จึงยังคงต้องเริ่มนับใหม่ตั้งแต่วันที่ 12 ธันวาคม 2541 ซึ่งครบกำหนดในวันที่ 11 ธันวาคม 2543 ทั้งนี้ โดยไม่มีเหตุที่ต้องพิจารณาตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/17 วรรคสอง เพราะมิใช่เป็นกรณีที่อายุความได้ครบกำหนดไปแล้วระหว่างการพิจารณา หรือจะครบกำหนดภายใน 60 วัน นับแต่วันที่คำพิพากษาในคดีก่อนถึงที่สุด ดังนั้น เมื่อโจทก์มาฟ้องจำเลยใหม่เป็นคดีนี้เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2544 เกินกำหนด 2 ปี นับแต่วันที่เริ่มนับอายุความใหม่เพราะเหตุที่จำเลยชำระหนี้ทำให้อายุความสะดุดหยุดลง ฟ้องโจทก์ในส่วนนี้จึงขาดอายุความ
โจทก์แก้ฎีกาว่า ฟ้องโจทก์ในส่วนที่ขอให้บังคับจำเลยชำระหนี้อันเกิดจากการใช้บัตรซิตี้แบงก์มาสเตอร์การ์ดไม่ขาดอายุความดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยจึงขอให้ศาลฎีกาพิพากษาให้จำเลยชำระหนี้ในส่วนของบัตรดังกล่าว รวมทั้งในส่วนของบัตรซิตี้แบงก์วีซ่าแก่โจทก์เป็นเงินรวม 409,081.12 บาท เต็มจำนวนตามฟ้อง เป็นการขอนอกเหนือเพิ่มเติมจากคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ต้องกระทำโดยยื่นเป็นคำฟ้องฎีกาจะเพียงแต่ขอมาในคำแก้ฎีกาเช่นนี้หาได้ไม่ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2503/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความสะดุดหยุดจากหนังสือรับรองยอดหนี้ และการกระทำแทนของพนักงาน
สำเนาเอกสารไม่มีเจ้าหน้าที่รับรอง แต่ขณะที่โจทก์นำสืบพยานเอกสารดังกล่าว จำเลยมิได้โต้แย้งคัดค้านไว้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 125 จึงต้องถือว่าสำเนาเอกสารดังกล่าวมีข้อความถูกต้องตรงกับต้นฉบับและรับฟังเป็นหลักฐานพยานได้
ข้อความในหนังสือขอตรวจสอบยอดค้างชำระและเงินตามที่ พ. รับรองความถูกต้องของยอดหนี้ ถือได้ว่าจำเลยได้กระทำการใดๆ อันปราศจากข้อสงสัยให้เป็นปริยายว่ายอมรับสภาพหนี้ตามสิทธิเรียกร้องของโจทก์มีผลให้อายุความสะดุดหยุดลงในวันที่ พ. กระทำการรับรองถึงวันที่ 3 พฤศจิกายน 2540 และเริ่มนับอายุความใหม่ตั้งแต่วันที่ 3 พฤศจิกายน 2540 เมื่อนับถึงวันฟ้องคือวันที่ 3 กันยายน 2541 คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ 2 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/14 (1), 193/15 และ 193/34 (1)
จำเลยผู้เห็นยินยอมให้ พ. เชิดตนเองกระทำการรับรองความถูกต้องของหนังสือตรวจสอบยอดหนี้ของโจทก์ จำเลยจึงต้องรับผิดต่อโจทก์เสมือน พ. เป็นตัวแทนของจำเลยตาม ป.พ.พ. มาตรา 821

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1647/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความหนี้ซื้อขายสินค้า: การซื้อเพื่อนำไปขายต่อทำให้มีอายุความ 5 ปี และการชำระหนี้ด้วยเช็คทำให้เริ่มนับอายุความใหม่
จำเลยเป็นเจ้าของร้านค้าและเป็นลูกค้าโจทก์ สั่งซื้อสินค้าประเภทสุขภัณฑ์และกระเบื้องจากโจทก์เพื่อนำไปจำหน่ายต่อ ถือได้ว่าเป็นการที่ได้ทำเพื่อกิจการของฝ่ายลูกหนี้ กรณีจึงตกอยู่ในบังคับของ ป.พ.พ. มาตรา 193/34 (1) ตอนท้าย ซึ่งอายุความสิทธิเรียกร้องเรียกค่าสินค้าของโจทก์จึงมีกำหนด 5 ปี หาใช่ 2 ปี ไม่
จำเลยลงลายมือชื่อยอมรับยอดหนี้ค่าสินค้าต่อโจทก์ตามหนังสือรับสภาพหนี้ในวันที่ 27 พฤศจิกายน 2541 ทำให้อายุความสะดุดหยุดลง โจทก์นำเช็คจำนวน 10 ฉบับ ที่จำเลยชำระหนี้ค่าสินค้าไปเรียกเก็บเงินได้ 5 ฉบับ เมื่อธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คที่เหลือฉบับแรกในวันที่ 25 พฤษภาคม 2542 อายุความ 5 ปี จึงเริ่มนับใหม่ตั้งแต่วันดังกล่าว เมื่อนับถึงวันที่โจทก์ฟ้องคดีคือ วันที่ 3 กรกฎาคม 2544 จึงยังไม่พ้นกำหนด 5 ปี ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8801/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความสะดุดหยุดจากการชำระหนี้หลังสัญญาเลิก และดอกเบี้ยทดแทนการผิดสัญญา
จำเลยชำระหนี้ให้โจทก์ครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2545 เป็นการรับสภาพหนี้ต่อโจทก์อันทำให้อายุความสะดุดหยุดลงตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/14 (1) และต้องเริ่มนับอายุความใหม่ตั้งแต่วันที่ 31 ตุลาคม 2545 ตามมาตรา 193/15 วรรคสอง โจทก์ซึ่งเป็นผู้รับทำการงานต่างๆ ให้แก่จำเลยรวมทั้งได้ออกเงินทดรองจ่ายแทนจำเลยไปก่อนมาใช้สิทธิเรียกร้องเอาค่าทำการงานและเงินที่ทดรองไปอันเป็นสิทธิเรียกร้องที่มีอายุความ 2 ปี ตามมาตรา 193/34 (7) เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2547 ซึ่งยังไม่เกิน 2 ปี นับแต่วันดังกล่าว จึงยังไม่ขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6504/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความบัตรเครดิต: การรับสภาพหนี้และการผ่อนผันการบังคับสิทธิ
จำเลยใช้บัตรเครดิตของธนาคารโจทก์ครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2540 โจทก์ส่งใบแจ้งยอดค่าใช้จ่ายให้จำเลยชำระเงินขั้นต่ำภายในวันที่ 30 มิถุนายน 2540 เมื่อจำเลยผิดนัด โจทก์ย่อมบังคับสิทธิเรียกร้องให้จำเลยชำระหนี้ได้เมื่อครบกำหนดตามใบแจ้งยอดค่าใช้จ่ายและเริ่มนับอายุความนับแต่วันนั้นมา จำเลยชำระหนี้บางส่วนครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2544 อันเป็นการรับสภาพหนี้ต่อโจทก์ ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงและเริ่มนับอายุความใหม่ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/14 (1) และมาตรา 193/15 โจทก์ฟ้องวันที่ 29 ธันวาคม 2546 พ้นกำหนด 2 ปี นับแต่วันที่ 24 ธันวาคม 2544 ซึ่งเป็นวันเริ่มนับอายุความใหม่ จึงขาดอายุความ
โจทก์อาจบังคับสิทธิเรียกร้องให้จำเลยชำระหนี้ได้เมื่อครบกำหนดตามใบแจ้งยอดค่าใช้จ่าย หลังจากนั้นจำเลยไม่เคยใช้บัตรเครดิตของโจทก์ และโจทก์ไม่ได้ออกเงินทดรองให้แก่สถานประกอบการค้าต่างๆ แทนจำเลยอีก ใบแจ้งยอดค่าใช้จ่ายที่โจทก์ส่งให้จำเลยแต่ละเดือนต่อมาล้วนเป็นการคิดบวกดอกเบี้ยที่จำเลยผิดนัดเข้ากับต้นเงินที่จำเลยค้างชำระแก่โจทก์เท่านั้น การที่โจทก์ไม่ใช้สิทธิเรียกร้องเอาแก่จำเลยเมื่ออาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้ จึงเป็นกรณีที่โจทก์ผ่อนผันไม่ใช้สิทธิเรียกร้องเอาแก่จำเลยเอง มิใช่โจทก์ไม่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้ อายุความจึงมิได้เริ่มนับตั้งแต่วันที่โจทก์เรียกร้องให้จำเลยชำระหนี้ที่ค้างชำระทั้งหมดโดยไม่ผ่อนผันให้แก่จำเลยอีกต่อไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 17/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความคดีแรงงาน: ผลของการรับสภาพหนี้และการสะดุดหยุดของอายุความ
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 เข้าทำสัญญาค้ำประกันการทำงานของ ส. โดยยอมร่วมรับผิดกับ ส. จำเลยที่ 4 ในฐานะสามีของจำเลยที่ 3 ได้ยินยอมให้จำเลยที่ 3 ทำสัญญาค้ำประกันและยอมรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 3 ส. ลูกจ้างโจทก์ได้ยักยอกเงินของโจทก์ และทำหนังสือรับสภาพหนี้กำหนดว่าจะชำระเงินให้แก่โจทก์งวดแรกในวันที่ 5 สิงหาคม 2537 ดังนี้ ความรับผิดของ ส. เป็นความรับผิดตามสัญญาจ้างแรงงานซึ่งไม่มีกฎหมายบัญญัติเรื่องอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีกำหนด 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 กำหนดเวลานี้เริ่มนับแต่วันเกิดเหตุทุจริตยักยอกเมื่อวันที่ 14 มกราคม 2536 แต่เมื่อ ส. ทำหนังสือรับสภาพหนี้ต่อโจทก์ขอผ่อนชำระเงินคืนแก่โจทก์ งวดแรก 200,000 บาท ในวันที่ 5 สิงหาคม 2537 การรับสภาพหนี้ดังกล่าวมีผลให้อายุความสะดุดหยุดลงโดยระยะเวลาที่ล่วงไปก่อนนั้นไม่นับเข้าในอายุความ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/14 (1) และมาตรา 193/15 และอายุความที่สะดุดหยุดลงนี้ย่อมมีผลเป็นโทษแก่จำเลยทั้งสี่ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันด้วย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 692 กรณีหาใช่การรับสภาพความรับผิดตามมาตรา 193/35 ซึ่งมีอายุความ 2 ปี ไม่ เมื่อต่อมาปรากฏว่า ส. ไม่ชำระเงินงวดแรกให้แก่โจทก์ในวันที่ 5 สิงหาคม 2537 ตามที่รับสภาพหนี้ไว้ เหตุที่ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงจึงสิ้นสุดลงในวันดังกล่าว และเริ่มนับหนึ่งตั้งแต่วันที่ 6 สิงหาคม 2537 เป็นต้นไป โจทก์ฟ้องคดีวันที่ 9 เมษายน 2537 เมื่อนับแต่วันที่ 6 สิงหาคม 2537 ซึ่งเป็นวันที่เริ่มนับอายุความใหม่ยังไม่เกิน 10 ปี คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8458/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความฟ้องคดี, การระงับหนี้ด้วยการชำระหนี้, และการคิดดอกเบี้ยเกินอัตราที่ตกลง
เมื่อสัญญาบัญชีเดินสะพัดเลิกกันตั้งแต่วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2525 และจำเลยที่ 2 ได้ชำระหนี้ให้โจทก์บางส่วนในวันที่ 30 ธันวาคม 2525 อายุความย่อมสะดุดหยุดลงในวันดังกล่าวตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/14 (1) และให้เริ่มนับอายุความใหม่ตั้งแต่เวลาเหตุที่ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงสิ้นสุดลงตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/15 ดังนั้นแม้อายุความจะเริ่มนับตั้งแต่วันที่ 30 ธันวาคม 2525 ตามข้ออ้างของจำเลยก็ตาม แต่เมื่อโจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นคดีก่อนในวันที่ 19 พฤษภาคม 2535 นับแต่วันที่ 30 ธันวาคม 2525 ถึงวันฟ้องคดีก่อน ไม่เกิน 10 ปี สิทธิเรียกร้องกรณีนี้มีอายุความสิบปี ฟ้องโจทก์ในคดีก่อนก็ยังไม่ขาดอายุความและอายุความสะดุดหยุดลงอีกครั้งนับแต่วันที่ 19 พฤษภาคม 2535 ซึ่งเป็นวันที่โจทก์ฟ้องคดีก่อนตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/14 (2) เมื่อคดีก่อนศาลฎีกาพิพากษายกฟ้องอันถือได้ว่าอายุความไม่เคยสะดุดหยุดลงตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/17 วรรคหนึ่ง อายุความจึงครบกำหนดไปแล้วในระหว่างการพิจารณาคดีก่อน แต่ศาลฎีกามีคำพิพากษาในคดีก่อนเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2539 ให้ยกฟ้องโจทก์โดยไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะฟ้องคดีใหม่ โจทก์จึงฟ้องคดีใหม่เป็นคดีนี้เมื่อวันที่ 3 มกราคม 2540 นับตั้งแต่วันที่ศาลฎีกามีคำพิพากษาจนถึงวันที่โจทก์ฟ้องคดีใหม่เป็นเวลาไม่เกิน 60 วัน ซึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/17 วรรคสอง บัญญัติว่า "ในกรณีที่คดีนั้นศาลไม่รับหรือคืนหรือให้ยกคำฟ้องเพราเหตุคดีไม่อยู่ในอำนาจศาล หรือศาลให้ยกฟ้องโดยไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะฟ้องใหม่ และปรากฏว่าอายุความครบกำหนดไปแล้วในระหว่างการพิจารณา หรือจะครบกำหนดภายในหกสิบวันนับแต่วันที่คำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นถึงที่สุด ให้เจ้าหนี้มีสิทธิฟ้องคดี เพื่อตั้งหลักฐานสิทธิเรียกร้องหรือเพื่อให้ชำระหนี้ภายในหกสิบวันนับแต่วันที่คำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นถึงที่สุด" ดังนั้นโจทก์จึงมีสิทธิฟ้องคดีนี้ได้ ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความตามบทบัญญัติดังกล่าว
ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 วรรคหนึ่ง สาระสำคัญว่า คำพิพากษาหรือคำสั่งใดๆ ให้ถือว่าผูกพันคู่ความ ดังนั้นการที่ศาลได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดในคดีก่อนย่อมผูกพันจำเลยทั้งสอง เมื่อคำพิพากษาศาลฎีกาในคดีก่อนพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองต้องรับผิดต่อโจทก์ทั้งต้นเงินและดอกเบี้ยและโจทก์คิดดอกเบี้ยจากจำเลยทั้งสองได้ตามสัญญาอัตราร้อยละ 18 ต่อปี คดีนี้จึงต้องฟังว่า จำเลยทั้งสองต้องรับผิดต่อโจทก์ทั้งต้นเงินและดอกเบี้ยตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชี โจทก์จึงคิดดอกเบี้ยจากจำเลยในอัตราร้อยละ 18 ต่อปี ได้ไม่เป็นโมฆะ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3283/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความของสิทธิเรียกร้องจากการซื้อขายและการอายัดทรัพย์เพื่อบังคับคดี การสะดุดหยุดของอายุความ
โจทก์ได้ใช้สิทธิเรียกร้องของจำเลยในค่าสินค้างวดที่ค้างชำระที่มีอยู่ต่อผู้คัดค้านแทนจำเลย เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2540 ซึ่งยังอยู่ภายในกำหนดเวลา 2 ปี นับแต่วันที่ 22 มิถุนายน 2540 อันเป็นวันที่จำเลยมีสิทธิเรียกร้องเอาเงินค่าสินค้าส่วนที่เหลือ ย่อมมีผลให้อายุความสะดุดหยุดลงนับแต่นั้นเป็นต้นมา
ศาลแรงงานกลางมีคำพิพากษาวันที่ 20 ตุลาคม 2541 ให้โจทก์ชนะคดี คำสั่งอายัดชั่วคราวที่สั่งเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2540 ย่อมมีผลใช้บังคับต่อไปเท่าที่จำเป็นเพื่อปฏิบัติตามคำพิพากษาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 260 (2) และโจทก์ก็ได้ขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีอายัดเงินค่าสินค้าแก่ผู้คัดค้านแล้วเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2542 ซึ่งยังไม่พ้นกำหนด 2 ปี นับแต่วันที่ 6 สิงหาคม 2540 สิทธิเรียกร้องดังกล่าวจึงไม่ขาดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/34 (1)
สิทธิเรียกร้องของจำเลยที่มีแก่ผู้คัดค้านคือค่าสินค้างวดที่ 3 จำนวนร้อยละ 10 ของราคา เมื่อคำนวณเป็นจำนวนเท่าไรหากไม่ถึงจำนวนที่อายัด ผู้คัดค้านก็รับผิดไม่เกินจำนวนดังกล่าว ดังนั้น แม้เดิมโจทก์ขออายัดชั่วคราวเป็นเงิน 760,000 บาท ต่อมาเจ้าพนักงานบังคับคดีมีคำสั่งอายัดเป็นเงิน 954,810 บาท โดยนำยอดหนี้ของจำเลยทั้งหมดรวมอยู่ด้วย ก็ไม่เป็นเหตุให้คำสั่งของเจ้าพนักงานบังคับคดีไม่ชอบด้วยกฎหมาย
of 7