คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 ม. 19

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 22 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 19883/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เพิกถอนการแบ่งทรัพย์สินและการจำนองอันเกิดจากการหลีกเลี่ยงเจ้าหนี้ในคดีล้มละลาย การโอนทรัพย์สินโดยไม่สุจริต
การเพิกถอนการฉ้อฉลตาม ป.พ.พ. มาตรา 237 เป็นเรื่องที่กฎหมายให้สิทธิแก่เจ้าหนี้ที่จะร้องขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมอันลูกหนี้ได้กระทำกับผู้ได้ลาภงอก แต่เมื่อลูกหนี้ถูกพิทักษ์ทรัพย์แล้ว ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 113 บัญญัติให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ทำเป็นคำร้องต่อศาลขอให้เพิกถอนการฉ้อฉลในคดีล้มละลายได้โดยไม่ต้องฟ้องเป็นคดีใหม่กรณีเป็นเรื่องที่กฎหมายให้อำนาจแก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไว้เป็นพิเศษในอันที่จะกระทำการแทนเจ้าหนี้เพื่อรักษาสิทธิของเจ้าหนี้และเพื่อรวบรวมทรัพย์สินของลูกหนี้เข้ากองทรัพย์สินและนำมาแบ่งปันให้แก่เจ้าหนี้ทั้งหลายในคดีล้มละลาย อายุความที่จะใช้บังคับแก่คดีย่อมจะต้องถือเอาอายุความของเจ้าหนี้ผู้ที่เกี่ยวข้องในขณะที่อาจบังคับตามสิทธิเรียกร้องได้เป็นเกณฑ์ในการพิจารณา โดยไม่ถือว่าวันที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้รู้ถึงต้นเหตุอันเป็นมูลให้เพิกถอนการฉ้อฉลเป็นเวลาแรกเริ่มต้นนับอายุความ การยื่นคำร้องของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จึงต้องการกระทำภายในอายุความ 1 ปี นับแต่วันที่เจ้าหนี้ผู้ที่เกี่ยวข้องได้รู้ต้นเหตุอันเป็นมูลให้เพิกถอนตามที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 240 ประการสำคัญในขณะทำนิติกรรมอันเป็นการฉ้อฉลนั้นจะต้องมีผู้เป็นเจ้าหนี้ที่ได้รับผลกระทบซึ่งต้องเสียเปรียบจากการกระทำของลูกหนี้อยู่ก่อนแล้วหากขณะทำนิติกรรมนั้นมีเจ้าหนี้หลายราย เจ้าหนี้ทุกรายย่อมเป็นเจ้าหนี้ซึ่งต้องเสียเปรียบด้วยกันหมดทุกคน การนับอายุความในการที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการฉ้อฉลแทนเจ้าหนี้ที่เกี่ยวข้องแต่ละราย จึงต้องเริ่มนับแต่เวลาที่เจ้าหนี้ผู้ที่เกี่ยวข้องรายนั้น ๆ ได้รู้ต้นเหตุอันเป็นมูลให้เพิกถอนเป็นเกณฑ์ ดังนั้น คำร้องที่ขอให้เพิกถอนการฉ้อฉลตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 113 จึงต้องบรรยายด้วยว่า นิติกรรมที่ลูกหนี้ได้กระทำลงทั้งที่รู้ว่าจะเป็นทางให้เจ้าหนี้รายใดเสียเปรียบ มิฉะนั้นต้องถือว่าเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ขอให้เพิกถอนการฉ้อฉลซึ่งทำให้โจทก์รายเดียวต้องเสียเปรียบเท่านั้น
ผู้ร้องทำการสอบสวนเจ้าหนี้รายที่ 40 ที่ยื่นคำร้องต่อผู้ร้องขอให้เพิกถอนการฉ้อฉลต่อศาลล้มละลายกลาง กรณีจึงเป็นเรื่องที่ผู้ร้องกระทำการแทนเจ้าหนี้รายที่ 40 ผู้ร้องจึงต้องยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการฉ้อฉลภายในอายุความ 1 ปี นับแต่เจ้าหนี้รายที่ 40 ได้รู้ต้นเหตุอันเป็นมูลให้เพิกถอน เมื่อเจ้าหนี้รายที่ 40 ทราบต้นเหตุอันเป็นมูลให้เพิกถอนตั้งแต่วันที่ 21 ธันวาคม 2543 การที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการฉ้อฉลต่อศาลล้มละลายกลางในวันที่ 21 ธันวาคม 2544 จึงยังอยู่ภายในกำหนดอายุความ 1 ปี นับแต่เจ้าหนี้รายที่ 40 ทราบต้นเหตุอันเป็นมูลให้เพิกถอน
นิติกรรมที่ผู้ร้องขอให้เพิกถอนการฉ้อฉลได้แก่ บันทึกท้ายทะเบียนหย่าในเรื่องแบ่งทรัพย์สิน ฉบับลงวันที่ 20 มิถุนายน 2540 อันเป็นการยกทรัพย์สินของจำเลยที่ 2 ให้แก่ผู้คัดค้านที่ 1 โดยไม่มีค่าตอบแทน ดังนั้น การที่จำเลยที่ 2 จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่ผู้คัดค้านที่ 1 ตามข้อตกลงข้างต้นเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2540 และการที่จำเลยที่ 2 นำเงินของตนไปเปิดบัญชีเงินฝากที่ธนาคารให้แก่เด็กชาย ช. และเด็กหญิง บ. บุตรทั้งสองของจำเลยที่ 2 กับผู้คัดค้านที่ 1 เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2538 แล้วต่อมาวันที่ 19 มิถุนายน 2540 จำเลยที่ 2 ปิดบัญชีเดิมและนำเงินของตนเพิ่มเติมสมทบเปิดบัญชีเงินฝากใหม่ที่ธนาคารเดิมให้แก่บุตรทั้งสองของจำเลยที่ 2 กับผู้คัดค้านที่ 1 ถือได้ว่าเป็นการทำให้โดยเสน่หา จึงให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นการกระทำที่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นลูกหนี้ และผู้คัดค้านที่ 1 กับบุตรทั้งสองซึ่งเป็นผู้ได้ลาภงอกแต่การนั้นรู้อยู่ว่าเป็นทางให้เจ้าหนี้ต้องเสียเปรียบตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 114 ภาระการพิสูจน์เพื่อหักล้างข้อสันนิษฐานดังกล่าวจึงตกแก่จำเลยที่ 2 และผู้คัดค้านที่ 1 แต่ข้อนำสืบของจำเลยที่ 2 และผู้คัดค้านที่ 1 ไม่มีน้ำหนักน่าเชื่อถือ ไม่อาจหักล้างข้อสันนิษฐานของกฎหมายได้ จึงต้องฟังว่านิติกรรมการตกลงแบ่งทรัพย์สินที่จำเลยที่ 2 กระทำต่อผู้คัดค้านที่ 1 รวมทั้งนิติกรรมการให้ซึ่งจำเลยที่ 2 กระทำต่อบุตรทั้งสอง เป็นการกระทำในช่วงเวลาที่ตนอาจรับผิดชำระหนี้แก่เจ้าหนี้รายที่ 40 จำเลยที่ 2 ย่อมอยู่ในฐานะที่รู้ได้ว่านิติกรรมดังกล่าวเป็นทางให้เจ้าหนี้รายที่ 40 ต้องเสียเปรียบ เมื่อเป็นการทำให้โดยเสน่หาจำเลยที่ 2 เป็นผู้รู้ฝ่ายเดียวก็เพียงพอแล้ว ที่ผู้ร้องจะขอเพิกถอนได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 237 วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 113 นิติกรรมที่ผู้คัดค้านที่ 1 จดทะเบียนรับโอนที่ดินอันเป็นการกระทำที่สืบเนื่องจากบันทึกท้ายทะเบียนการหย่าในเรื่องแบ่งทรัพย์สินจึงต้องถูกเพิกถอนด้วย แม้ว่าทรัพย์สินนั้นอาจเป็นสินสมรสที่ผู้คัดค้านที่ 1 มีส่วนเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย กรณีต้องไปว่ากล่าวกันเมื่อมีการขายทรัพย์สินในชั้นบังคับคดีตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 19 วรรคสาม และมาตรา 123
แม้ผู้คัดค้านที่ 2 เป็นบุคคลภายนอกซึ่งรับจำนองที่ดินจากผู้คัดค้านที่ 1 โดยเสียค่าตอบแทนก็ตาม แต่ในขณะที่รับจำนองนั้น ผู้คัดค้านที่ 2 ทราบถึงภาวะการมีหนี้สินล้นพ้นตัวของจำเลยที่ 2 จึงถือว่ารับจำนองโดยไม่สุจริต ผู้ร้องขอให้เพิกถอนการจำนองที่ดินดังกล่าวได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 238 ประกอบ พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 113

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 518/2538

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจกรรมการผู้จัดการในการโต้แย้งหนี้ในคดีล้มละลาย และหน้าที่การพิสูจน์หนี้ของเจ้าหนี้
ภายหลังจากที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ลูกหนี้แล้วเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีหมายเรียกส. กรรมการผู้จัดการของบริษัทลูกหนี้มาสอบสวนและให้ส่งดวงตราต่างๆของลูกหนี้มาให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เก็บรักษาไว้เป็นการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ.2483มาตรา19วรรคแรกส. ย่อมมีอำนาจยื่นคำร้องโต้แย้งมูลหนี้ของเจ้าหนี้โดยไม่ต้องประทับตราของลูกหนี้เหมือนเช่นกรณีลูกหนี้จะไปทำนิติกรรมสัญญาก่อนถูกพิทักษ์ทรัพย์และถือว่าส. มีอำนาจทำการแทนลูกหนี้ได้มิใช่กระทำในฐานะส่วนตัว เจ้าหนี้ผู้ยื่นคำขอรับชำระหนี้มีหน้าที่นำพยานหลักฐานมาแสดงต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เพื่อพิสูจน์ว่าหนี้ที่ยืนคำขอรับชำระหนี้ไว้มีอยู่จริงและในการตรวจคำขอรับชำระหนี้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีอำนาจออกหมายเรียกเจ้าหนี้ลูกหนี้หรือบุคคลใดมาสอบสวนในเรื่องหนี้สินแล้วทำความเห็นส่งสำนวนเรื่องหนี้สินที่ขอรับชำระนั้นต่อศาลดังนี้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จึงมีอำนาจวินิจฉัยว่าศ.ไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินตามคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 518/2538 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การโอนขายที่ดินเพื่อหลีกเลี่ยงกฎหมายจัดสรรที่ดิน: กรรมสิทธิ์ยังเป็นของลูกหนี้ เจ้าหนี้ไม่มีสิทธิรับชำระหนี้
บริษัทลูกหนี้และ ศ. กรรมการผู้จัดการบริษัทลูกหนี้ในขณะนั้นเคยถูกฟ้องคดีอาญาข้อหาจัดสรรที่ดินโดยไม่ได้รับอนุญาตศาลพิพากษาให้ลงโทษปรับต่อมาบริษัทลูกหนี้ขายที่ดินที่จะจัดสรรให้ ย. และ ย. ยกที่ดินนี้ให้ ศ. ในวันเดียวกันแล้ว ศ.ได้ขายที่ดินบางส่วนและนำเงินที่ขายได้เข้าบริษัทลูกหนี้ตลอดมาแสดงให้เห็นว่าเป็นการทำ นิติกรรมโดย เจตนาลวงโดยสมรู้กันเพื่อหลีกเลี่ยงกฎหมายเกี่ยวกับการจัดสรรที่ดินกรรมสิทธิ์ในที่ดินดังกล่าวจึงยังคงเป็นของบริษัทลูกหนี้โดย ศ. กรรมการผู้จัดการถือไว้แทนบริษัทลูกหนี้ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีหมายเรียก ย. กรรมการผู้จัดการของบริษัทลูกหนี้มาสอบสวนและให้ส่งดวงตราต่างๆของลูกหนี้มาให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เก็บรักษาไว้เป็นการปฏิบัติตามบทบัญญัติพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ.2483มาตรา19วรรคแรก ย. ย่อมมีอำนาจยื่นคำร้องโต้แย้งมูลหนี้ของเจ้าหนี้โดยไม่ต้องประทับตราของลูกหนี้และถือว่า ย. มีอำนาจทำการแทนลูกหนี้ได้มิใช่กระทำในฐานะส่วนตัว เจ้าหนี้ผู้ยื่น คำขอรับชำระหนี้มีหน้าที่นำ พยานหลักฐานมาแสดงต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เพื่อพิสูจน์ว่าหนี้ที่ยื่นคำขอรับชำระหนี้ไว้มีอยู่จริงและในการตรวจ คำขอรับชำระหนี้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีอำนาจออกหมายเรียกเจ้าหนี้ลูกหนี้หรือบุคคลใดมาสอบสวนในเรื่องหนี้สินแล้วทำความเห็นส่งสำนวนเรื่องหนี้สินที่ขอรับชำระนั้นต่อศาลดังนี้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จึงมีอำนาจวินิจฉัยว่า ศ. ไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินตามคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3726/2535 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การยึดทรัพย์ในคดีล้มละลาย: สิทธิจำกัดของผู้ล้มละลายในการคัดค้านการยึดทรัพย์หลังพ้นกำหนดเวลา
เมื่อศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยแล้ว ทรัพย์สินของจำเลยทั้งปวงตกอยู่ในอำนาจจัดการของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีอำนาจยึดทรัพย์สินทั้งปวงซึ่งอยู่ในความครอบครองของจำเลยหรือของผู้อื่นอันอาจแบ่งได้ในคดีล้มละลายตามมาตรา 19 แห่ง พ.ร.บ.ล้มละลายฯ จำเลยไม่มีอำนาจกระทำการใด ๆอันเกี่ยวกับทรัพย์สินของตนรวมทั้งสิทธิตามใบอนุญาตให้ตั้งสถานบริการ และไม่มีสิทธิที่จะยื่นคำคัดค้านการยึดทรัพย์ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ทั้งถือไม่ได้ว่าจำเลยเป็นผู้มีส่วนได้เสียตามมาตรา 158 แต่จำเลยมีสิทธิยื่นคำคัดค้านว่าสิทธิตามใบอนุญาตให้ตั้งสถานบริการไม่ใช่ทรัพย์สินอันอาจแบ่งได้ในคดีล้มละลายตามมาตรา 109 เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไม่มีสิทธิยึดอันเป็นการโต้แย้งการกระทำของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ว่าก่อให้เกิดความเสียหายแก่จำเลย ตามมาตรา 146 โดยต้องทำเป็นคำร้องขอต่อศาลภายใน 14 วัน นับแต่ทราบการกระทำหรือคำวินิจฉัยของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3721/2535

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การยึดทรัพย์ในคดีล้มละลาย: ศาลไม่อำนาจยึดทรัพย์ก่อนพิพากษา หากมีบทบัญญัติเฉพาะใน พ.ร.บ.ล้มละลาย
พระราชบัญญัติ ญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มีบทบัญญัติเรื่องการขอให้ศาลยึดทรัพย์ของจำเลยไว้ชั่วคราวก่อนพิพากษาไว้โดยเฉพาะตามมาตรา 17 แล้ว โดยขอให้พิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ชั่วคราวซึ่งจะขอได้ก็แต่ในกรณีก่อนที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาดเท่านั้น และเมื่อศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์แล้วมาตรา 19 วรรคแรก บัญญัติให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เข้ายึดดวงตราสมุดบัญชีและเอกสารของลูกหนี้ และบรรดาทรัพย์สินซึ่งอยู่ในความครอบครองของลูกหนี้หรือของผู้อื่นอันอาจแบ่งได้ในคดีล้มละลายการที่โจทก์ขอให้ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ยึดและอายัดทรัพย์ของจำเลยไว้ในระหว่างการพิจารณาคดีของศาลอุทธรณ์ภาค 3 แม้โจทก์จะอ้างว่าเป็นการขอคุ้มครองประโยชน์ตามมาตรา 264 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ประกอบด้วยมาตรา 153พระราชบัญญัติ ล้มละลาย พ.ศ.2483 ก็ตาม แท้จริงก็เป็นการขอให้ศาลยึดทรัพย์ของจำเลยไว้ก่อนพิพากษานั่นเอง จึงนำบทบัญญัติว่าด้วยการยึดทรัพย์ของจำเลยก่อนพิพากษาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับไม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1234/2535

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การส่งคำบังคับตามคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์และการยื่นคำร้องขอพิจารณาใหม่เกินกำหนด
การที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้มีหมายเรียกโดยแจ้งคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดของศาลให้จำเลยทั้งสองแล้ว โดยการปิดหมายที่ภูมิลำเนาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 เมื่อวันที่ 18พฤษภาคม 2531 และ 21 กรกฎาคม 2531 ตามลำดับ กรณีถือได้ว่าเป็นการส่งคำบังคับตามคำพิพากษาหรือคำสั่งให้แก่จำเลยทั้งสองโดยชอบแล้ว เมื่อจำเลยที่ 1 และที่ 2 จะยื่นคำขอให้พิจารณาใหม่ ก็จะต้องยื่นคำร้องขอต่อศาลภายในกำหนด 15 วันนับแต่วันที่ 2 มิถุนายน 2531 และ 5 สิงหาคม 2531 ตามลำดับ ซึ่งเป็นวันที่การส่งหมายแจ้งคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดให้แก่จำเลยทั้งสองมีผล แต่จำเลยทั้งสองยื่นคำร้องขอให้พิจารณาใหม่ในวันที่ 31ตุลาคม 2531 จึงเกินกำหนด 15 วัน ล่วงพ้นระยะเวลาตามที่กฎหมายบัญญัติไว้แล้ว และตามคำร้องขอของจำเลยทั้งสองก็ไม่มีพฤติการณ์นอกเหนือไม่อาจบังคับได้ประการใด จำเลยทั้งสองย่อมไม่มีสิทธิขอให้พิจารณาใหม่ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 208 ประกอบด้วย พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 153

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1234/2535 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การส่งคำบังคับตามคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ และกำหนดเวลาการยื่นคำร้องขอพิจารณาคดีใหม่ในคดีล้มละลาย
ศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดจำเลยทั้งสองเมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2531 ต่อมาเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้มีหมายเรียกไปยังจำเลยทั้งสองเพื่อให้ไปให้การเกี่ยวกับกิจการและทรัพย์สิน โดยปิดหมายดังกล่าวที่ภูมิลำเนาของจำเลยที่ 1 ที่ 2เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2531 และวันที่ 21 กรกฎาคม 2531 ตามลำดับในหมายเรียกระบุชัดว่า จำเลยทั้งสองถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดถือได้ว่าเป็นการส่งคำบังคับตามคำพิพากษาหรือคำสั่งให้แก่จำเลยทั้งสองในวันดังกล่าวโดยชอบแล้ว จำเลยทั้งสองยื่นคำร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2531 เกินกำหนด 15 วันล่วงพ้นระยะเวลาตามที่กฎหมายบัญญัติไว้แล้ว ย่อมไม่มีสิทธิขอให้พิจารณาใหม่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 208ประกอบด้วยพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 153

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1234/2535 เวอร์ชัน 3 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การแจ้งคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์โดยการปิดหมายที่ภูมิลำเนาถือเป็นการส่งคำบังคับโดยชอบ และมีผลบังคับตามกฎหมาย
พ.ร.บ.ล้มละลายฯ มาตรา 6 คำว่า "พิพากษา" หมายความตลอดถึงการที่ศาลวินิจฉัยชี้ขาดคดีโดยทำเป็นคำสั่ง และมาตรา 19 ว่า"คำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ให้ถือเสมือนว่า เป็นหมายของศาลให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เข้ายึดดวงตราสมุดบัญชีและเอกสารของลูกหนี้และบรรดาทรัพย์สิน ซึ่งอยู่ในความครอบครองของลูกหนี้หรือของผู้อื่นอันอาจแบ่งได้ในคดีล้มละลาย... ฯลฯ" ดังนั้นการที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้มีหมายเรียกให้จำเลยไปให้การเกี่ยวกับกิจการและทรัพย์สินโดยแจ้งคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดของศาลให้จำเลยทราบด้วยและได้ปิดหมายเรียกดังกล่าวที่ภูมิลำเนาของจำเลยถือว่าเป็นการส่งคำบังคับตามคำพิพากษาหรือคำสั่งให้แก่จำเลยโดยชอบ จำเลยจะขอให้พิจารณาใหม่ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 208ต้องยื่นคำขอต่อศาลภายใน 15 วัน นับจากวันที่ได้ส่งคำบังคับนั้นให้แก่จำเลย.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1636/2534

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบังคับคดีหลังพิทักษ์ทรัพย์: เจ้าหนี้มีประกันต้องดำเนินการผ่านเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์
การบังคับคดีที่ได้กระทำภายหลังจากศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ลูกหนี้แล้วยังไม่สำเร็จบริบูรณ์ หมายบังคับคดีแพ่งดังกล่าวไม่อาจใช้ยันเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ได้ กรณีไม่ต้องด้วยมาตรา 110 วรรคท้ายแห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 ส่วนโจทก์จะเป็นเจ้าหนี้มีประกัน และมีสิทธิบังคับคดีแก่ที่ดินที่จำนองหรือเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดที่ดินที่จำนองเพียงใด เป็นเรื่องที่โจทก์จะต้องไปว่ากล่าวเอาจากเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ตามขั้นตอนของกฎหมายในคดีล้มละลายต่อไป เมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีจำหน่ายที่ดินจำนองซึ่งลูกหนี้มีกรรมสิทธิ์ร่วมอยู่ด้วย แต่ยังไม่ได้จ่ายเงิน และเจ้าพนักงานบังคับคดีได้รับคำแจ้งความว่าลูกหนี้ถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด และขอให้กันส่วนส่งเงินจำนวนดังกล่าวไปรวมไว้เป็นทรัพย์สินในคดีล้มละลาย เจ้าพนักงานบังคับคดีจะต้องปฏิบัติตามคำขอของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ตาม มาตรา 111.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1745/2532 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การยึดทรัพย์ในคดีล้มละลายก่อนมีคำพิพากษา ศาลอุทธรณ์ไม่อำนาจสั่งยึดทรัพย์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
พระราชบัญญัติ ญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มีบทบัญญัติไว้โดยเฉพาะในเรื่องขอให้พิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ชั่วคราวตามมาตรา 17ซึ่งจะขอได้ก็ แต่ก่อนที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาดเท่านั้น และเมื่อศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์แล้วมาตรา 19 วรรคแรก บัญญัติให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เข้ายึดดวงตรา สมุดบัญชี และเอกสารของลูกหนี้ และบรรดาทรัพย์สินซึ่งอยู่ในความครอบครองของลูกหนี้หรือของผู้อื่นอันอาจแบ่งได้ในคดีล้มละลาย ฉะนั้นเมื่อศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องและโจทก์อุทธรณ์โจทก์จะขอให้ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยึดทรัพย์ของลูกหนี้ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งไม่ได้
of 3