คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 ม. 90/42 ทวิ

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 15 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 263/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ แผนฟื้นฟูกิจการที่ไม่สุจริตและการไม่ครบถ้วนของรายการในแผน ศาลมีคำสั่งไม่เห็นชอบด้วยแผนและยกเลิกคำสั่งฟื้นฟูกิจการ
การกำหนดสิทธิในการออกเสียงของเจ้าหนี้ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/30 บัญญัติว่า "คำขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการของเจ้าหนี้รายใด ถ้าเจ้าหนี้อื่น ลูกหนี้ หรือผู้ทำแผนไม่โต้แย้ง ให้เจ้าหนี้รายนั้นมีสิทธิออกเสียงลงคะแนนได้เต็มจำนวนหนี้ตามที่ระบุไว้ในคำขอรับชำระหนี้..." เมื่อปรากฏว่าในการยื่นคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้รายนี้ ทั้งลูกหนี้หรือผู้ทำแผนหรือเจ้าหนี้รายอื่นต่างมิได้โต้แย้งสิทธิในการลงคะแนนเสียงของเจ้าหนี้รายนี้แต่อย่างใด เจ้าหนี้รายนี้จึงมีสิทธิออกเสียงลงคะแนนได้เต็มจำนวนหนี้ตามที่ระบุไว้ในคำขอรับชำระหนี้ ส่วนปัญหาว่าเจ้าหนี้รายนี้จะมีสิทธิได้รับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการเป็นเงินจำนวนเท่าใดเป็นปัญหาที่จะต้องพิจารณาสั่งในกระบวนการในการขอรับชำระหนี้ซึ่งกำหนดวิธีการขั้นตอนต่าง ๆ ไว้ในมาตรา 90/29 และมาตรา 90/32 เมื่อปรากฏว่าเจ้าหนี้รายนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ไว้จำนวน 445,000,000 บาท เจ้าหนี้ ลูกหนี้ หรือผู้ทำแผนมิได้โต้แย้งคัดค้านคำขอรับชำระหนี้ดังกล่าวและเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีคำสั่งอนุญาตให้เจ้าหนี้รายนี้ได้รับชำระหนี้จำนวนดังกล่าวแล้วตามมาตรา 90/32 วรรคหนึ่ง หากเจ้าหนี้ประสงค์จะโต้แย้งคัดค้านต้องดำเนินการตามมาตรา 90/32 วรรคสาม จะยกปัญหาว่าเจ้าหนี้รายนี้มีสิทธิได้รับชำระหนี้น้อยกว่าจำนวนที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีคำสั่งมาโต้แย้งคัดค้านในชั้นพิจารณาให้ความเห็นชอบด้วยแผนหาได้ไม่
การที่กฎหมายกำหนดขั้นตอนในการพิจารณาให้ความเห็นชอบด้วยแผนไว้ว่า เมื่อที่ประชุมเจ้าหนี้มีมติยอมรับแผนตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/46 แล้ว ให้ศาลพิจารณาให้ความเห็นชอบด้วยแผนอีกชั้นหนึ่ง จึงเป็นการกำหนดให้ศาลเข้ามาใช้ดุลพินิจอันเป็นบทบาทในทางเศรษฐกิจเพื่อคุ้มครองเจ้าหนี้เสียงข้างน้อยและให้แผนฟื้นฟูกิจการก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่เจ้าหนี้ทั้งหลายตลอดจนประเทศชาติโดยรวม ศาลจึงมีอำนาจในการที่จะตรวจสอบเนื้อหาของแผนตลอดจนความสุจริตในการจัดทำแผนด้วย และที่มาตรา 90/42 บัญญัติว่า "ในแผนให้มีรายการต่อไปนี้เป็นอย่างน้อย..." ไม่ได้หมายความเพียงว่าให้ศาลพิจารณาดูรูปแบบว่ามีรายการแต่ละรายการหรือไม่ แต่ย่อมรวมถึงการพิจารณาว่ามีรายละเอียดของรายการดังกล่าวพอสมควรและถูกต้องหรือไม่ด้วย และตามมาตรา 90/42 (2) ที่กำหนดว่าแผนจะต้องมีรายละเอียดแห่งสินทรัพย์ หนี้สิน และภาระผูกพันต่าง ๆ ของลูกหนี้ในขณะที่ศาลสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ ในส่วนของสินทรัพย์นั้นย่อมรวมทั้งทรัพย์สินและสิทธิเรียกร้องต่าง ๆ ที่ลูกหนี้มีอยู่ด้วย เมื่อในการยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ ลูกหนี้ได้กล่าวถึงสิทธิเรียกร้องในการที่จะได้รับเงินค่าเสียหายในคดีของศาลแพ่ง หมายเลขดำที่ 2946/2550 ไว้จากบุคคลภายนอก จำนวนเงินที่ลูกหนี้จะได้รับในการใช้สิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากบุคคลที่เกี่ยวข้องในคดีของศาลแพ่งดังกล่าวจึงเป็นสาระสำคัญในการดำเนินการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ประการหนึ่ง แม้เป็นสิทธิเรียกร้องที่ยังมีเงื่อนไขและไม่แน่นอน แต่ก็ต้องนำมากำหนดไว้ในแผนเพื่อหากว่าลูกหนี้เป็นฝ่ายชนะคดีได้รับการชดใช้ค่าเสียหายดังกล่าวแล้วจะได้นำเงินค่าเสียหายมาจัดสรรเพื่อประโยชน์แก่เจ้าหนี้ทั้งหลายตามแผนได้ ดังนี้ การที่ผู้ทำแผนมิได้นำสิทธิเรียกร้องที่จะได้รับเงินดังกล่าวมากำหนดไว้ในแผนและดำเนินการจัดสรรเพื่อประโยชน์แก่เจ้าหนี้ทั้งหลาย จึงถือว่าแผนมีรายการไม่ครบถ้วน
แม้ในการจัดกลุ่มเจ้าหนี้ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/42 ทวิ (3) จะบัญญัติว่า เจ้าหนี้ไม่มีประกัน อาจจัดได้เป็นหลายกลุ่ม โดยให้เจ้าหนี้ไม่มีประกันที่มีสิทธิเรียกร้องหรือผลประโยชน์ที่มีสาระสำคัญเหมือนกันหรือทำนองเดียวกันอยู่ในกลุ่มเดียวกัน ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ในการฟื้นฟูกิจการ และการดำเนินการชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ไม่มีประกันซึ่งอยู่ต่างกลุ่มนั้น สามารถที่จะชำระหนี้แตกต่างกันได้โดยจะต้องมีเหตุจำเป็นอันสมควรเพื่อประโยชน์ในการฟื้นฟูกิจการ เมื่อตามแผนกำหนดชำระหนี้ให้แก่บรรดาเจ้าหนี้ไม่มีประกันโดยเจ้าหนี้กลุ่มที่ 5 ซึ่งมีเจ้าหนี้รายที่ 14 เพียงรายเดียวและเจ้าหนี้ดังกล่าวเคยเป็นกรรมการของลูกหนี้ โดยจะชำระหนี้ค่าจ้างในการบริหารกิจการเพื่อดำเนินการติดตามสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากรัฐบาลสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวในอัตราร้อยละ 80 ของต้นเงินตามคำขอรับชำระหนี้ ขณะที่เจ้าหนี้ไม่มีประกันอื่นได้รับชำระหนี้เพียงร้อยละ 4.8 เท่านั้น จึงเป็นกรณีแตกต่างกันเป็นอันมาก ทั้งมีพฤติการณ์ที่ส่อแสดงให้เห็นว่าผู้บริหารของลูกหนี้แสวงหาประโยชน์ที่จะได้รับจากการฟื้นฟูกิจการในขณะที่ลูกหนี้ไม่มีทรัพย์สินเพียงพอชำระหนี้แก่เจ้าหนี้อื่น การดำเนินการของลูกหนี้ตามแผนย่อมจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่บรรดาเจ้าหนี้ทั้งหลายเป็นอันมาก นอกจากนี้ในชั้นร้องขอฟื้นฟูกิจการ ลูกหนี้ร้องขอฟื้นฟูกิจการโดยระบุว่า ลูกหนี้มีสินทรัพย์รวม 4,879,222,575 บาท โดยมีหนี้สินรวม 5,831,673,100 บาท แต่เมื่อลูกหนี้ดำเนินการจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการโดยลูกหนี้เป็นผู้ทำแผนลูกหนี้กลับแสดงว่าสินทรัพย์มีอยู่เพียง 2,352,382,015 บาท และมีหนี้สิน 6,137,606,819 บาท เช่นนี้ ข้อมูลในส่วนที่เกี่ยวกับสินทรัพย์และหนี้สินจึงแตกต่างกันในสาระสำคัญเป็นอย่างมาก ทั้งที่จัดทำงบการเงินห่างกันเพียง 9 เดือนเศษ ทั้งปรากฏตามแผนฟื้นฟูกิจการว่าลูกหนี้จะทำการลดทุนโดยไม่เรียกร้องเงินค่าหุ้นส่วนที่ผู้ถือหุ้นเดิมยังค้างชำระอยู่จำนวน 170,000,000 บาท อันเป็นรายได้จำนวนมาก โดยลูกหนี้อ้างว่าเพื่อลดภาระการขาดทุนสะสมมิให้นักลงทุนต้องร่วมกับผู้ถือหุ้นเดิมในการรับภาระการขาดทุนสะสม แต่การที่ลูกหนี้ใช้วิธีลดทุนของกิจการในส่วนที่ผู้ถือหุ้นเดิมยังมิได้ชำระค่าหุ้นไปก่อนการลดมูลค่าหุ้นทั้งหมดนั้น หาได้ทำให้ผลการขาดทุนสะสมลดลงตามหลักการที่ลูกหนี้กล่าวอ้างแต่อย่างใด เมื่อลูกหนี้มิได้บันทึกค่าหุ้นส่วนที่ผู้ถือหุ้นเดิมค้างชำระไว้ในส่วนทุนตั้งแต่ต้น การไม่เรียกเก็บเงินค่าหุ้นค้างชำระจึงไม่ทำให้รายการทางบัญชีใดเปลี่ยนแปลงไป และการที่ลูกหนี้ไม่ใช้สิทธิเรียกร้องให้ผู้ถือหุ้นเดิมชำระค่าหุ้นส่วนที่ยังค้างชำระตามกฎหมาย กลับทำให้สินทรัพย์ของลูกหนี้ลดน้อยลงและก่อให้เกิดความเสียหายแก่บรรดาเจ้าหนี้ทั้งหลายซึ่งไม่ได้รับการบรรเทาเยียวยาความเสียหายจากการได้รับชำระหนี้ในเงินค่าหุ้นที่ค้างชำระเป็นจำนวนมากดังกล่าว ดังนั้น พฤติการณ์ในการทำแผนฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้นอกจากแผนจะมีรายการไม่ครบถ้วนแล้ว แผนยังมีลักษณะเป็นการให้ลูกหนี้หลุดพ้นจากความรับผิดในหนี้สินเป็นจำนวนมากโดยซ่อนเงื่อนที่เอื้อประโยชน์แก่เจ้าหนี้ที่มีความใกล้ชิดกับลูกหนี้และส่อไปในทางที่มีพฤติการณ์ไม่สุจริต แผนฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 20277/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การจัดกลุ่มเจ้าหนี้ในคดีล้มละลายต้องเป็นธรรมและเสมอภาค การจัดกลุ่มที่ไม่สมเหตุผลและเอื้อประโยชน์เจ้าหนี้บางราย ศาลไม่อาจเห็นชอบด้วยแผนฟื้นฟู
แม้มีการยื่นคำร้องคัดค้านการจัดกลุ่มเจ้าหนี้มาแล้ว ซึ่งศาลมีคำสั่งยกคำร้อง คำสั่งจึงถึงที่สุดตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/42 ทวิ วรรคสอง แต่ปัญหาการจัดกลุ่มเจ้าหนี้มีประกันกับสิทธิที่ได้รับชำระหนี้ของเจ้าหนี้เป็นข้อสำคัญเกี่ยวกับการพิจารณาแผน เนื่องจากแผนฟื้นฟูกิจการซึ่งที่ประชุมเจ้าหนี้ได้มีมติพิเศษยอมรับมาแล้วจะต้องได้รับความเห็นชอบจากศาลอีกชั้นหนึ่งเพื่อก่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่บุคคลที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ในการจัดกลุ่มเจ้าหนี้มีประกันตามแผนมิได้พิจารณาเพียงจำนวนหนี้ของเจ้าหนี้มีประกัน แต่จะต้องคำนึงถึงราคาทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันเป็นสำคัญ หากจำนวนหนี้ของเจ้าหนี้มีประกันสูงกว่าราคาทรัพย์สินอันเป็นหลักประกัน การเป็นเจ้าหนี้มีประกันในอันที่จะบังคับชำระหนี้จากทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันได้ก่อนเจ้าหนี้อื่น ย่อมมีอยู่เฉพาะในมูลค่าราคาทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันเท่านั้น ดังนั้น การที่เจ้าหนี้มีทรัพย์สินของลูกหนี้เป็นประกันจะมีฐานะเป็นเจ้าหนี้มีประกันที่มีจำนวนหนี้มีประกันจึงมีเพียงเท่าราคาทรัพย์สินอันเป็นหลักประกัน ทั้งนี้ การตีราคาทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันนั้นจะต้องเป็นราคาสมควรและเป็นธรรมด้วย โดยแผนอาจจัดให้เป็นเจ้าหนี้มีประกันตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/42 ทวิ วรรคหนึ่ง (1) หรือ (2) แล้วแต่กรณี ส่วนหนี้ที่เหลือย่อมมีฐานะเป็นเจ้าหนี้ไม่มีประกันที่อาจจัดได้เป็นหลายกลุ่มโดยให้เจ้าหนี้ไม่มีประกันที่มีสิทธิเรียกร้องหรือผลประโยชน์ที่มีสาระสำคัญเหมือนกันหรือทำนองเดียวกันอยู่ในกลุ่มเดียวกันตามมาตรา 90/42 ทวิ วรรคหนึ่ง (3)
เจ้าหนี้กลุ่มที่ 1 ถึงที่ 3 เป็นผู้รับจำนำหุ้นของบริษัทต่าง ๆ ที่ลูกหนี้เป็นผู้ถือหุ้นอยู่ตามสัญญาจำนำหุ้นที่กำหนดวงเงินจำนำครอบคลุมถึงหนี้ประธานตามสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ซึ่งลูกหนี้กระทำต่อเจ้าหนี้กลุ่มที่ 1 ถึงที่ 3 ก่อนเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ แสดงว่าเจ้าหนี้กลุ่มที่ 1 ถึงที่ 3 ต่างมีหุ้นที่ลูกหนี้จำนำเป็นทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันร่วมกัน จึงอยู่ในฐานะเจ้าหนี้มีประกันเช่นเดียวกัน แต่ผู้ทำแผนไม่ได้ประเมินหรือตีราคาหุ้นอันเป็นหลักประกันตามสัดส่วนแห่งความเป็นเจ้าหนี้เพื่อจัดกลุ่มเจ้าหนี้มีประกัน แต่กลับนำจำนวนหนี้ประธานของเจ้าหนี้มีประกันแต่ละรายมาคำนวณเปรียบเทียบกับจำนวนหนี้ทั้งหมดที่บรรดาเจ้าหนี้ขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการ แล้วจัดให้เจ้าหนี้รายที่ 20 เป็นเจ้าหนี้กลุ่มที่ 1 และเจ้าหนี้รายที่ 39 เป็นเจ้าหนี้กลุ่มที่ 2 โดยอ้างว่าเป็นเจ้าหนี้มีประกันรายที่มีจำนวนหนี้มีประกันไม่น้อยกว่าร้อยละ 15 ของจำนวนหนี้ทั้งหมดที่อาจขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการ และให้เจ้าหนี้มีประกันอื่นเป็นเจ้าหนี้กลุ่มที่ 3 ซึ่งไม่ถูกต้องตามวิธีการจัดกลุ่มเจ้าหนี้มีประกัน หากมีการประเมินและตีราคาหุ้นอันเป็นหลักประกันอย่างสมควรและเป็นธรรมแล้ว มูลค่าทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันน่าจะไม่สูงไปกว่าจำนวนหนี้ประธาน กรณีเช่นนี้หนี้ส่วนที่เหลือจากมูลค่าทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันของเจ้าหนี้กลุ่มที่ 1 ถึงที่ 3 ซึ่งต่างเป็นสถาบันการเงินเช่นเดียวกัน ตามแผนจะต้องจัดให้เจ้าหนี้ที่มีสิทธิเรียกร้องหรือผลประโยชน์ที่มีสาระสำคัญเหมือนกันหรือทำนองเดียวกันเหล่านี้อยู่ในกลุ่มเดียวกัน การที่แผนกำหนดให้เจ้าหนี้กลุ่มที่ 2 ซึ่งเป็นเจ้าหนี้มีประกันแต่เพียงบางส่วนเมื่อหักราคาหุ้นอันเป็นหลักประกันตามสัดส่วนของการจำนำตามสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ให้ได้รับชำระหนี้ร้อยละ 100 ในขณะที่เจ้าหนี้กลุ่มที่ 3 ซึ่งเป็นเจ้าหนี้มีประกันแต่เพียงบางส่วนเมื่อหักราคาหุ้นอันเป็นหลักประกันตามสัดส่วนของการจำนำตามสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้เช่นกัน ให้ได้รับชำระหนี้เพียงร้อยละ 19.58 จึงไม่ถูกต้องและเท่าเทียมกัน ปรากฏว่าเจ้าหนี้กลุ่มที่ 2 และที่ 3 เป็นสถาบันการเงินที่เคยให้การช่วยเหลือสนับสนุนทางการเงินให้แก่ลูกหนี้มาก่อนเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการเช่นเดียวกัน จึงควรได้รับการปฏิบัติการชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการเหมือนกันหรือทำนองเดียวกัน โดยการจัดกลุ่มเจ้าหนี้ให้ถูกต้อง มิใช่แยกไปจัดกลุ่มต่างกันและลดจำนวนหนี้ของเจ้าหนี้กลุ่มที่ 3 ลงถึงร้อยละ 80.42 การที่แผนกำหนดให้เจ้าหนี้รายที่ 39 เป็นเจ้าหนี้กลุ่มที่ 2 จะได้รับชำระหนี้ทั้งหมดร้อยละ 100 และมีการแก้ไขแผนอันเป็นการเอื้อประโยชน์แก่เจ้าหนี้รายที่ 39 โดยเฉพาะเจาะจง เป็นเหตุให้ได้รับการสนับสนุนจากเจ้าหนี้รายที่ 39 ในการลงมติยอมรับแผน แต่เจ้าหนี้เสียงส่วนน้อยของเจ้าหนี้ซึ่งได้เข้าประชุมด้วยตนเองหรือมอบฉันทะให้ผู้อื่นเข้าประชุมแทนในที่ประชุมเจ้าหนี้และได้ออกเสียงลงคะแนนในมตินั้นที่มีจำนวนหนี้คิดเป็นร้อยละ 40.24 เป็นเจ้าหนี้ที่ไม่ยอมรับแผน ซึ่งเกือบทั้งหมดเป็นเจ้าหนี้กลุ่มที่ 3 ต่างได้รับผลกระทบจากการจัดสรรชำระหนี้ตามแผน แผนการฟื้นฟูกิจการดังกล่าวจึงเป็นการจัดทำขึ้นเพื่อปรับลดหนี้ของเจ้าหนี้กลุ่มที่ 3 โดยไม่มีเหตุผลและไม่เท่าเทียมกันกับเจ้าหนี้กลุ่มที่ 2 มีลักษณะเลือกปฏิบัติก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมแก่เจ้าหนี้กลุ่มที่ 3 ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์แก่เจ้าหนี้ทั้งปวง ทั้งยังส่อไปในทางไม่สุจริตในการจัดทำแผน จึงเป็นแผนที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4272-4273/2546

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การฟื้นฟูกิจการ: ศาลฎีกาเพิกถอนแผนที่ไม่เป็นธรรมต่อเจ้าหนี้รายใหญ่
เจ้าหนี้รายที่ 3 ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการ เจ้าหนี้อื่นลูกหนี้ หรือผู้ทำแผนมิได้โต้แย้งคำขอรับชำระหนี้รายนี้ เจ้าหนี้รายที่ 3 จึงเป็นเจ้าหนี้ที่มีสิทธิออกเสียงลงคะแนนได้เต็มจำนวนหนี้ตามพระราชบัญญัติล้มละลายฯ มาตรา 90/30 เมื่อเจ้าหนี้รายที่ 3 ไม่ได้เข้าร่วมประชุม ถือว่าเป็นเจ้าหนี้ที่มิได้ลงมติยอมรับแผน จึงมีสิทธิคัดค้านขอให้ศาลมีคำสั่งไม่เห็นชอบด้วยแผนได้ตามมาตรา 90/57 และเมื่อศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนอันไม่เป็นไปตามข้อคัดค้านของเจ้าหนี้รายที่ 3 ทั้งยังเป็นการกระทบกระเทือนต่อสิทธิของเจ้าหนี้ เมื่อเจ้าหนี้รายที่ 3 ได้รับอนุญาตให้อุทธรณ์เป็นหนังสือจากอธิบดีผู้พิพากษาศาลล้มละลายกลางแล้ว เจ้าหนี้รายที่ 3 จึงมีสิทธิอุทธรณ์ได้
พระราชบัญญัติล้มละลายฯ มาตรา 90/58 บัญญัติว่า "ให้ศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผน เมื่อศาลพิจารณาแล้วเห็นว่า..." หมายความเพียงว่า เมื่อแผนมีรายการครบถ้วนตามมาตรา 90/58(1) ถึง (3) อันเป็นมาตรฐานขั้นต่ำแล้วให้ศาลมีดุลพินิจที่จะเห็นชอบด้วยแผนได้ หาได้หมายความว่าถ้าแผนฟื้นฟูกิจการมีลักษณะเข้าหลักเกณฑ์ตามมาตรา 90/58(1) ถึง (3) แล้ว ศาลต้องมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนทุกกรณีไปไม่
เจ้าหนี้รายที่ 3 มีฐานะเป็นเจ้าหนี้ไม่มีประกันและเป็นเจ้าหนี้การค้ารายใหญ่เช่นเดียวกับเจ้าหนี้กลุ่มที่ 6 และที่ 8 การที่แผนฟื้นฟูกิจการได้นำเจ้าหนี้รายที่ 3 เพียงรายเดียวไปจัดกลุ่มอื่นโดยไม่มีเหตุอันสมควร อันถือว่ามีความมุ่งหมายที่จะเลือกปฏิบัติ พฤติการณ์ดังกล่าวส่อไปในทางไม่สุจริตโดยมีการเสนอแผนฟื้นฟูกิจการเพื่อให้ลูกหนี้หลุดพ้นจากหนี้สินบางส่วนโดยการโอนหนี้ของบุคคลภายนอกมาชำระหนี้แก่เจ้าหนี้รายที่ 3 และให้เจ้าหนี้รายที่ 3 รับผิดเองในการติดตามหนี้สินแผนฟื้นฟูกิจการจึงไม่ชอบด้วยกฎหมายและทำให้เจ้าหนี้รายที่ 3 เสียเปรียบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 698/2546 เวอร์ชัน 3 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ผลผูกพันแผนฟื้นฟูกิจการ, การยกเลิกการฟื้นฟู, และการจัดกลุ่มเจ้าหนี้มีประกันตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย
ตาม พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/60 นั้น แผนซึ่งศาลมีคำสั่งเห็นชอบแล้วมีผลผูกมัดเจ้าหนี้ซึ่งอาจขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการได้ และเจ้าหนี้ซึ่งมีสิทธิได้รับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการ ในอันที่จะถูกปรับลดหรือเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขในการชำระหนี้ อีกทั้งเมื่อได้ดำเนินการเป็นผลสำเร็จตามแผนและศาลมีคำสั่งให้ยกเลิกการฟื้นฟูกิจการแล้วก็มีผล ให้ลูกหนี้คงต้องรับผิดชำระหนี้ตามที่กำหนดไว้ในแผนฟื้นฟูกิจการตามมาตรา 90/75 คำสั่งเห็นชอบด้วยแผนจึงมีผลกระทบต่อส่วนได้เสียของเจ้าหนี้โดยตรง ดังนั้น แม้ศาลล้มละลายกลางจะมีคำสั่งให้ยกเลิกการ ฟื้นฟูกิจการตาม มาตรา 90/70 แต่เมื่อเจ้าหนี้ที่ยื่นอุทธรณ์คัดค้านคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนไม่ได้ถอนอุทธรณ์ ศาลฎีกาก็ต้องพิจารณาคดีตามอุทธรณ์ของเจ้าหนี้ต่อไป
ตามมาตรา 90/42 ทวิ ประกอบมาตรา 6 เมื่อจำนวนหนี้สูงกว่าราคาทรัพย์หลักประกันจำนวนหนี้ที่มีประกันของเจ้าหนี้มีประกัน ย่อมมีอยู่เฉพาะในมูลค่าทรัพย์สินอันเป็นหลักประกัน ส่วนหนี้จำนวนที่เหลือย่อมมีฐานะเป็น เจ้าหนี้ธรรมดา ในการพิจารณามูลค่าราคาหลักประกัน ศาลจะต้องพิจารณาถึงวงเงินจำนอง ราคาซื้อขายทรัพย์ หลักประกันในท้องตลาดตลอดจนวิธีการในการจัดการทรัพย์หลักประกันในการฟื้นฟูกิจการ
พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/42 (9) บัญญัติว่า "ระยะเวลาดำเนินการตามแผนซึ่งไม่เกินห้าปี" หมายความว่า ระยะเวลาในการดำเนินการตามแผนที่การบริหารแผนจะต้องอยู่ภายใต้บทบัญญัติและความคุ้มครองของ พ.ร.บ. ล้มละลายฯ และภายใต้การควบคุมกำกับของศาลเพื่อให้ลูกหนี้มีฐานะพ้นจากภาวะวิกฤติทางการเงินเข้าสู่สภาพที่สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ ซึ่งผู้ทำแผนสามารถกำหนดได้ตามความเหมาะสมแต่ทั้งนี้ระยะเวลาดังกล่าวต้องไม่เกิน 5 ปี
การที่เจ้าหนี้จะได้รับชำระหนี้จำนวนเท่าใด อย่างไร ย่อมเป็นไปตามแผนฟื้นฟูกิจการที่ศาลมีคำสั่งเห็นชอบแล้ว เช่นนี้เมื่อผู้บริหารแผนซึ่งมีหน้าที่ในการจัดกิจการและทรัพย์สินของลูกหนี้ตามมาตรา 90/59 วรรคหนึ่ง ผู้บริหารแผนจึงต้องชำระหนี้ให้แก่บรรดาเจ้าหนี้ทั้งหลายตามคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนและแผนฟื้นฟูกิจการนั้น จนกว่าจะครบถ้วน การที่แผนกำหนดให้เจ้าหนี้แต่ละรายต้องไปทำสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ต่างหากจาก ข้อกำหนดในแผนก็ดี เจ้าหนี้จะได้รับชำระหนี้ตามแผนต่อเมื่อได้ลงนามในสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้แล้วก็ดี ข้อกำหนดดังกล่าวขัดต่อ พ.ร.บ. ล้มละลายฯ อันเป็นกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ข้อกำหนดนี้จึงตกเป็นโมฆะ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 150
แม้ข้อกำหนดบางส่วนในแผนตกเป็นโมฆะ หากข้อกำหนดดังกล่าวมิใช่สาระสำคัญของแผน หรือบุคคล ที่เกี่ยวข้องมิได้ถือเอาข้อกำหนดดังกล่าวเป็นข้อสำคัญ เมื่อข้อกำหนดในแผนที่เหลืออยู่ยังใช้บังคับได้ และ แผนฟื้นฟูกิจการที่ใช้บังคับได้ยังมีสาระสำคัญเพียงพอในการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ จึงถือว่าแผนมีรายการครบถ้วนตาม พ.ร.บ. ล้มละลายฯ มาตรา 90/42 ประกอบมาตรา 90/58 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 698/2546

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การจัดกลุ่มเจ้าหนี้มีประกันและการบังคับชำระหนี้จากทรัพย์สินหลักประกันตามพ.ร.บ.ล้มละลาย
ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/60 และมาตรา 90/75 การยกเลิกการฟื้นฟูกิจการมีผลให้ลูกหนี้คงรับผิดชำระหนี้ตามที่กำหนดไว้ในแผนฟื้นฟูกิจการและชำระหนี้ส่วนที่ขาดอยู่ไม่ครบถ้วนตามแผนต่อไป เจ้าหนี้จึงมีสิทธิเรียกร้องเฉพาะให้ลูกหนี้ชำระเงินดังกล่าว คำสั่งเห็นชอบด้วยแผนจึงมีผลกระทบต่อส่วนได้เสียของเจ้าหนี้โดยตรง ดังนั้น การที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้ยกเลิกการฟื้นฟูกิจการหาทำให้สิทธิในการอุทธรณ์ของเจ้าหนี้ซึ่งมีอยู่แล้วต้องเสียไปไม่ เมื่อเจ้าหนี้ได้ยื่นอุทธรณ์คัดค้านคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนไว้แล้วไม่ได้ถอนอุทธรณ์ศาลฎีกาจึงต้องพิจารณาคดีตามอุทธรณ์ของเจ้าหนี้ต่อไป
การที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้ยกเลิกการฟื้นฟูกิจการเนื่องจากผู้บริหารแผนได้ดำเนินการตามแผนครบถ้วนแล้วตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/70 เป็นคำสั่งที่สืบเนื่องจากคำสั่งเห็นชอบด้วยแผน ถ้าศาลฎีกามีคำพิพากษากลับคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนแล้ว คำสั่งศาลล้มละลายกลางที่ให้ยกเลิกการฟื้นฟูกิจการก็ย่อมเป็นอันสิ้นผลไปโดยปริยาย
การที่เจ้าหนี้ที่มีทรัพย์สินของลูกหนี้เป็นประกันมีฐานะเป็นเจ้าหนี้มีประกันย่อมมีจำนวนหนี้มีประกันเพียงเท่าราคาทรัพย์อันเป็นหลักประกัน ส่วนจำนวนหนี้ที่เหลือย่อมมีฐานะเป็นเจ้าหนี้ธรรมดา
การพิจารณามูลค่าราคาหลักประกันศาลจะต้องพิจารณาถึงวงเงินจำนอง ราคาซื้อขายทรัพย์หลักประกันในท้องตลาด ตลอดจนวิธีการในการจัดการทรัพย์หลักประกันดังกล่าวในการฟื้นฟูกิจการประกอบกัน
พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/42(9) ที่บัญญัติว่า "ระยะเวลาดำเนินการตามแผนซึ่งไม่เกินห้าปี" หมายความว่า ระยะเวลาในการดำเนินการตามแผนที่การบริหารแผนจะต้องอยู่ภายใต้บทบัญญัติและความคุ้มครองของพระราชบัญญัติล้มละลายฯ และภายใต้การควบคุมกำกับของศาลเพื่อให้ลูกหนี้มีฐานะพ้นจากภาวะวิกฤติทางการเงินเข้าสู่สภาพที่สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ ซึ่งผู้ทำแผนสามารถกำหนดระยะเวลาดังกล่าวไว้ในแผนฟื้นฟูกิจการได้ตามความเหมาะสม แต่ทั้งนี้ระยะเวลาดังกล่าวต้องไม่เกิน 5 ปี
พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/60 วรรคหนึ่ง หมายความว่า การที่เจ้าหนี้จะได้รับชำระหนี้จำนวนเท่าใดอย่างไร ย่อมเป็นไปตามแผนฟื้นฟูกิจการซึ่งศาลมีคำสั่งเห็นชอบแล้ว เมื่อผู้บริหารแผนมีอำนาจหน้าที่ในการจัดการกิจการและทรัพย์สินของลูกหนี้ตามมาตรา 90/59 วรรคหนึ่ง ผู้บริหารแผนจึงต้องชำระหนี้ให้แก่บรรดาเจ้าหนี้ทั้งหลายตามคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนและแผนฟื้นฟูกิจการนั้นจนกว่าจะครบถ้วน การที่แผนกำหนดให้เจ้าหนี้แต่ละรายต้องทำสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ต่างหากจากข้อกำหนดในแผนข้อกำหนดดังกล่าวย่อมขัดต่อพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ. 2483 ส่วนที่ว่าด้วยการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้อันเป็นกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ข้อกำหนดดังกล่าวจึงตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150
สัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้มีเนื้อหาส่วนใหญ่ทำนองเดียวกับแผนฟื้นฟูกิจการและได้กำหนดรายละเอียดปลีกย่อยบางส่วนเพื่อความสะดวกในการปฏิบัติระหว่างเจ้าหนี้กับลูกหนี้ในอนาคตเท่านั้น มิได้ก่อให้เกิดหรือเปลี่ยนแปลงสิทธิและหน้าที่ที่ลูกหนี้และเจ้าหนี้ทั้งหลายมีอยู่ต่อกันตามแผน เจ้าหนี้ส่วนใหญ่ที่เห็นชอบด้วยแผนเห็นควรให้จัดทำขึ้นเพราะเห็นว่าจะเป็นประโยชน์แก่เจ้าหนี้ทั้งหมดที่จะได้เกิดความมั่นใจในภาระผูกพันของลูกหนี้ที่จะต้องชำระแก่เจ้าหนี้ภายหลังที่ศาลมีคำสั่งยกเลิกการฟื้นฟูกิจการแล้ว จึงมิใช่สาระสำคัญของแผน ส่วนที่แผนกำหนดเงื่อนไขบังคับก่อนว่า เจ้าหนี้จะได้รับชำระหนี้ตามแผนต่อเมื่อได้ลงนามในสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้แล้วนั้นเป็นการขัดต่อพระราชบัญญัติล้มละลายฯ ย่อมตกเป็นโมฆะ แต่เมื่อมีการปฏิบัติตามแผนครบถ้วนแล้วจนกระทั่งศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้ยกเลิกการฟื้นฟูกิจการ จึงถือได้ว่าบุคคลที่เกี่ยวข้องกับแผนมิได้ถือเอาเงื่อนไขดังกล่าวเป็นข้อสำคัญ แม้ว่าข้อกำหนดในแผนจะตกไปบางส่วน แต่ข้อกำหนดในแผนส่วนที่เหลือก็ใช้บังคับได้ เมื่อแผนยังคงมีสาระสำคัญเพียงพอในการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ จึงถือว่าแผนมีรายการครบถ้วนตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/42 ประกอบมาตรา 90/58 วรรคสอง
การที่จะพิจารณาว่าเจ้าหนี้ได้รับการชำระหนี้อย่างเท่าเทียมกันหรือไม่ จะต้องพิจารณาเปรียบเทียบกับเจ้าหนี้รายอื่นในกลุ่มเดียวกันเท่านั้น
ข้อเสนอในการชำระหนี้ตามแผนจะต้องเป็นไปตามลำดับที่กฎหมายบัญญัติไว้ว่าด้วยการแบ่งทรัพย์สินในคดีล้มละลาย เว้นแต่เจ้าหนี้นั้นจะให้ความยินยอมตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/58(2)
พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 หมวด 3/1 ว่าด้วยกระบวนพิจารณาเกี่ยวกับการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ในมาตรา90/42(3)(ข) ให้มีการจัดกลุ่มเจ้าหนี้ และมาตรา 90/42 ทวิ ได้กำหนดหลักเกณฑ์ในการจัดกลุ่มเจ้าหนี้ไว้ ตามมาตรา 90/42 ทวิ(3)และมาตรา 90/42 ตรี ดังนั้น เจ้าหนี้ไม่มีประกันจึงสามารถจัดแบ่งเป็นหลายกลุ่มได้ เพียงแต่แผนฟื้นฟูกิจการต้องกำหนดให้เจ้าหนี้แต่ละรายในกลุ่มเดียวกันได้รับการปฏิบัติเท่าเทียมกัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5597-5598/2545

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การฟื้นฟูกิจการ: การเสนอแผนชำระหนี้ตามลำดับและสิทธิเจ้าหนี้ไม่มีประกัน
บทบัญญัติมาตรา 90/30 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 นำมาใช้กับการประชุมเจ้าหนี้เพื่อพิจารณาแผนฟื้นฟูกิจการด้วย ดังนั้น เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จึงมีอำนาจสั่งให้เจ้าหนี้รายที่ 285 งดออกเสียงในการประชุมเจ้าหนี้ได้และแม้มาตรา 90/23 วรรคสอง จะบัญญัติว่าคำสั่งของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ดังกล่าวให้เป็นที่สุดก็มีผลเฉพาะในที่ประชุมเจ้าหนี้ซึ่งเป็นการดำเนินการชั้นเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เท่านั้น หามีผลถึงชั้นพิจารณาของศาลด้วยไม่ เจ้าหนี้รายที่ 285 จึงมีสิทธิยื่นคำร้องคัดค้านแผนฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลางได้
พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/27 และมาตรา 90/60 แสดงให้เห็นถึงความประสงค์ที่จะให้มูลหนี้ที่อาจขอรับชำระหนี้ได้ทุกประเภทซึ่งเกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการเข้ามาอยู่ในกระบวนการฟื้นฟูกิจการทั้งหมด ไม่ว่าหนี้นั้นจะเป็นหนี้ภาษีอากรใด ๆ ตามประมวลรัษฎากรหรือตามพระราชบัญญัติศุลกากรฯ ทั้งนี้เพื่อให้หนี้สินของลูกหนี้ที่มีอยู่แล้วได้รับการชำระสะสางภายใต้กรอบของแผนฟื้นฟูกิจการให้เสร็จสิ้นไป เมื่อพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 ไม่ได้บัญญัติให้สิทธิหรือคุ้มครองแก่หนี้ภาษีอากรที่เกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการเป็นกรณีพิเศษแล้วภายใต้บังคับมาตรา 90/57(2) ประกอบมาตรา 130(6) สิทธิของกรมศุลกากรและกรมสรรพกรเจ้าหนี้รายที่ 285 จึงมีฐานะเช่นเดียวกับเจ้าหนี้อื่น ทั้งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 ในหมวด 3/1 กระบวนพิจารณาเกี่ยวกับการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ได้บัญญัติผลของการที่ศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนไว้เป็นการเฉพาะโดยชัดแจ้งแล้วตามมาตรา 90/60 วรรคหนึ่ง จึงไม่อาจนำบทบัญญัติมาตรา 56 และมาตรา 77 มาใช้โดยอนุโลมได้
แผนฟื้นฟูกิจการเป็นเพียงข้อตกลงร่วมกันของบรรดาเจ้าหนี้ลูกหนี้เกี่ยวกับวิธีการในการชำระหนี้ ตลอดจนการปรับโครงสร้างหนี้ของลูกหนี้โดยอาศัยพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 การที่เจ้าหนี้รายที่ 285 อุทธรณ์คัดค้านว่าแผนฟื้นฟูกิจการขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย จึงมิใช่เป็นการโต้แย้งว่าบทบัญญัติใดของกฎหมาย กฎ หรือข้อบังคับ ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 6 และมิใช่เป็นกรณีต้องดำเนินการตามมาตรา 264 เมื่อแผนฟื้นฟูกิจการเป็นไปตามเงื่อนไขในพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/58 ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญได้เคยวินิจฉัยไว้แล้วว่าบทบัญญัติมาตรา 90/58 ไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ เช่นนี้ แผนฟื้นฟูกิจการจึงชอบด้วยกฎหมายและศาลย่อมสามารถใช้ดุลพินิจให้ความเห็นชอบด้วยแผนดังกล่าวได้
เจ้าหนี้ได้ยกปัญหาที่ว่าแผนฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้มีรายการไม่ครบถ้วนตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/42 หรือไม่ ข้อเสนอในการชำระหนี้ตามแผนฟื้นฟูกิจการไม่เป็นไปตามลำดับกฎหมายว่าด้วยการแบ่งทรัพย์สินในคดีล้มละลายหรือไม่ และแผนฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ไม่มีรายละเอียดชัดเจนเพียงพอที่จะแสดงให้เห็นว่าเมื่อการดำเนินการตามแผนสำเร็จจะทำให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ไม่น้อยกว่ากรณีที่ศาลมีคำพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลายหรือไม่ มาในคำร้องคัดค้านแล้ว และปัญหาทั้งสามข้อเป็นเหตุสำคัญเกี่ยวกับการพิจารณาแผน การที่ศาลล้มละลายกลางไม่ได้หยิบยกขึ้นวินิจฉัยให้ ย่อมเป็นการไม่ชอบด้วยวิธีพิจารณาตามข้อกำหนดคดีล้มละลาย พ.ศ. 2542 ข้อ 24 อย่างใดก็ตาม เมื่อมีการอุทธรณ์ขึ้นมาสู่ศาลฎีกา ทั้งข้อเท็จจริงต่าง ๆ ในสำนวนก็เพียงพอแก่การวินิจฉัย ประกอบกับคดีฟื้นฟูกิจการจะต้องดำเนินกระบวนพิจารณาและมีคำพิพากษาโดยเร็ว ศาลฎีกาจึงวินิจฉัยปัญหาตามข้อคัดค้านของเจ้าหนี้รายที่ 287 ดังกล่าวไปเสียทีเดียว โดยไม่จำต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลล้มละลายกลางวินิจฉัยก่อน
หลังจากที่ประชุมเจ้าหนี้ได้ยอมรับแผนด้วยมติพิเศษตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/46 แล้ว กฎหมายได้กำหนดให้แผนดังกล่าวจะต้องได้รับความเห็นชอบจากศาลอีกขั้นตอนหนึ่งตามบทบัญญัติในส่วนที่ 8 ว่าด้วยการพิจารณาให้ความเห็นชอบแผนฟื้นฟูกิจการ กรณีจึงเป็นการกำหนดให้ศาลเข้ามีบทบาทในทางธุรกิจเพื่อจะได้วินิจฉัยตรวจสอบในการให้ความเห็นชอบด้วยแผนเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย และมอบดุลพินิจให้ตรวจสอบว่าสมควรให้ความเห็นชอบด้วยแผนหรือไม่ ศาลจึงมีอำนาจตรวจสอบถึงเนื้อหาของแผน ตลอดจนโอกาสความเป็นไปได้ในการดำเนินการตามแผน มิใช่พิจารณาแต่เพียงตรวจสอบรายการต่าง ๆว่ามีครบถ้วนตามรูปแบบหรือไม่
พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/58(2) กำหนดว่าข้อเสนอในการชำระหนี้ตามแผนนั้นจะต้องเป็นไปตามลำดับที่กฎหมายบัญญัติไว้ว่าด้วยการแบ่งทรัพย์สินในคดีล้มละลายนั้น หมายถึงให้นำบทบัญญัติมาตรา 130 มาใช้ในคดีฟื้นฟูกิจการเฉพาะเรื่องลำดับการชำระหนี้เท่านั้น กล่าวคือ หนี้รายใดจะต้องชำระก่อนหรือหลังจะต้องเป็นไปตามลำดับที่กำหนดไว้ในมาตรา 130(1) ถึง (7) แต่ในกรณีฟื้นฟูกิจการนั้นได้มีบทบัญญัติเฉพาะเรื่องกลุ่มเจ้าหนี้ตามมาตรา 90/42 ทวิ (3) ด้วยว่าเจ้าหนี้ไม่มีประกันอาจจัดได้เป็นหลายกลุ่ม และมาตรา 90/42 ตรี กำหนดว่าสิทธิของเจ้าหนี้ที่อยู่ในกลุ่มเดียวกันต้องได้รับการปฏิบัติเท่าเทียมกัน ดังนั้นหนี้อื่น ๆ ตามมาตรา 130(7) มิใช่ว่าเจ้าหนี้ในลำดับเดียวกันจะต้องแบ่งเป็นส่วนเท่า ๆ กัน เมื่อผู้ทำแผนได้จัดให้เจ้าหนี้ไม่มีประกันซึ่งอยู่ในลำดับตามมาตรา 130(7) ออกเป็น 7 กลุ่ม จัดให้เจ้าหนี้รายที่ 287 อยู่ในกลุ่มเจ้าหนี้ไม่มีประกันกลุ่มที่ 4 เจ้าหนี้ก่อสร้างไม่ถือว่าข้อเสนอในการชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ไม่มีประกันไม่เท่าเทียมกัน แต่สิทธิของเจ้าหนี้รายที่ 287 ซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มที่ 4 ชอบที่จะได้รับการปฏิบัติเท่าเทียมกัน จะนำสิทธิของเจ้าหนี้ไม่มีประกันในกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งมาเปรียบเทียบหาได้ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4822/2545

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ แผนฟื้นฟูกิจการ: การลดหนี้, การชำระหนี้, และการไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ
ในชั้นพิจารณาให้ความเห็นชอบด้วยแผนของศาลล้มละลายกลาง เจ้าหนี้ได้อ้างปัญหาที่ว่าการจัดกลุ่มเจ้าหนี้ชอบหรือไม่ และแผนฟื้นฟูกิจการมีอำนาจปรับลดหนี้ภาษีอากรหรือไม่ไว้ในคำคัดค้านแล้ว เมื่อปัญหาดังกล่าวเป็นข้อสำคัญเกี่ยวกับการพิจารณาแผน การที่ศาลล้มละลายกลางมิได้ยกปัญหาดังกล่าวขึ้นวินิจฉัยจึงไม่ชอบด้วยวิธีพิจารณาตามข้อกำหนดคดีล้มละลายฯ ข้อ 25 เมื่อมีการอุทธรณ์ปัญหานี้มาสู่ศาลฎีกาและข้อเท็จจริงต่าง ๆ ในสำนวนก็เพียงพอแก่การวินิจฉัยประกอบกับคดีฟื้นฟูกิจการจะต้องดำเนินกระบวนพิจารณาและมีคำพิพากษาโดยรวดเร็ว ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยปัญหาเหล่านี้ไปเสียทีเดียวโดยไม่จำเป็นต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลล้มละลายกลางวินิจฉัยปัญหาดังกล่าวก่อน
แผนฟื้นฟูกิจการได้จัดให้เจ้าหนี้อยู่ในกลุ่มเจ้าหนี้ราชการเนื่องจากสิทธิเรียกร้องหรือผลประโยชน์ที่มีสาระสำคัญเหมือนกันหรือทำนองเดียวกันกับเจ้าหนี้ราชการอื่น เมื่อเจ้าหนี้ได้รับสำเนาแผนและกำหนดวัน เวลา สถานที่และหัวข้อประชุมตามมาตรา 90/44ถือว่าเจ้าหนี้ได้รู้ถึงการจัดกลุ่มเจ้าหนี้ตามแผนแล้วถ้าเจ้าหนี้เห็นว่าการจัดกลุ่มเจ้าหนี้ไม่เป็นไปตามมาตรา 90/42 ทวิ วรรคหนึ่ง ก็อาจยื่นคำร้องขอต่อศาลภายใน 7 วัน นับแต่วันที่ได้รู้ถึงการจัดกลุ่ม เพื่อขอให้ศาลสั่งให้จัดกลุ่มเจ้าหนี้เสียใหม่ แม้จะไม่ปรากฏชัดว่าเจ้าหนี้ได้รับแผนฟื้นฟูกิจการในวันใด แต่เมื่อเจ้าหนี้ได้เข้าร่วมประชุมเจ้าหนี้เพื่อพิจารณาแผนในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2544 จึงถือได้ว่าเจ้าหนี้ได้ทราบถึงการจัดกลุ่มเจ้าหนี้ตามแผนแล้วในวันดังกล่าวหรือก่อนหน้านั้น เมื่อเจ้าหนี้เพิ่งมายื่นคำคัดค้านขอให้ศาลมีคำสั่งไม่เห็นชอบด้วยแผน ซึ่งมีคำคัดค้านในส่วนการจัดกลุ่มเจ้าหนี้มาด้วย โดยยื่นคำคัดค้านในวันที่ 13 มีนาคม 2544 การร้องคัดค้านการจัดกลุ่มของเจ้าหนี้จึงเป็นการยื่นเกินระยะเวลา 7 วัน นับแต่วันที่ได้รู้ถึงการจัดกลุ่ม การจัดกลุ่มเจ้าหนี้ตามแผนจึงถือเป็นอันยุติและถึงที่สุดตามมาตรา 90/42 ทวิ วรรคสอง แล้ว
ในการขอแก้ไขแผน เจ้าหนี้จะต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติล้มละลายฯ มาตรา 90/45 และการที่ศาลจะพิจารณาแผนที่มีการแก้ไขแล้วได้นั้น แผนที่มีการแก้ไขแล้วจะต้องผ่านการยอมรับจากที่ประชุมเจ้าหนี้มาแล้วตามพระราชบัญญัติล้มละลายฯมาตรา 90/46 แต่อย่างไรก็ตามการที่กฎหมายล้มละลายกำหนดให้ศาลเข้ามามีบทบาทในการควบคุมดูแลการฟื้นฟูกิจการเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่บุคคลที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายนั้น เมื่อได้คำนึงถึงเพื่อประโยชน์ในการฟื้นฟูกิจการหรือเพื่อให้การฟื้นฟูกิจการดำเนินการต่อไปได้ ทั้งกรณีมีเหตุจำเป็นและสมควร ศาลมีอำนาจสั่งให้รับคำขอแก้ไขแผนที่ยื่นล่วงเลยระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้เพื่อให้ที่ประชุมเจ้าหนี้พิจารณาก่อนที่ศาลจะมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนหรือไม่ ได้
พระราชบัญญัติล้มละลายฯ มาตรา 90/27 และ 90/60 ประสงค์ให้หนี้ที่อาจขอรับชำระหนี้ได้ทุกประเภทซึ่งเกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการเข้ามาอยู่ในระบบการฟื้นฟูกิจการทั้งหมด แม้ว่าหนี้นั้นจะเป็นหนี้ภาษีอากรก็ตาม ทั้งนี้เพื่อให้หนี้สินของลูกหนี้ที่มีอยู่แล้วได้รับการชำระสะสางภายใต้กรอบของแผนฟื้นฟูกิจการให้เสร็จไปนอกจากนี้กรณีใดที่พระราชบัญญัติล้มละลายฯ ต้องการให้มูลหนี้ภาษีอากรมีสิทธิเหนือเจ้าหนี้ธรรมดาหรือคุ้มครองสิทธิของเจ้าหนี้ภาษีอากรเป็นพิเศษกฎหมายก็จะบัญญัติไว้ชัดแจ้ง เมื่อกฎหมายไม่ได้ให้สิทธิหรือคุ้มครองแก่เจ้าหนี้ภาษีอากรในมูลหนี้ซึ่งเกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการเป็นพิเศษ ภายใต้บังคับของมาตรา 90/58(2) ประกอบด้วยมาตรา 130(6) สิทธิของเจ้าหนี้จึงมีฐานะเช่นเดียวกับเจ้าหนี้อื่น ทั้งเมื่อพระราชบัญญัติล้มละลายฯ หมวด 3/1 ว่าด้วยกระบวนพิจารณาเกี่ยวกับการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ได้บัญญัติผลของการที่ศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนไว้เป็นการเฉพาะโดยชัดแจ้งแล้วตามมาตรา 90/60 วรรคหนึ่ง จึงไม่อาจนำมาตรา 56 ในเรื่องผลของการประนอมหนี้ก่อนล้มละลายมาใช้ได้
การที่พิจารณาว่าหากดำเนินการตามแผนสำเร็จแล้ว เจ้าหนี้จะได้รับชำระหนี้ไม่น้อยกว่ากรณีศาลพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลายหรือไม่ จะต้องนำมูลค่าที่แท้จริงของสินทรัพย์ที่ลูกหนี้มีอยู่ทั้งหมดมาประกอบการพิจารณา ในกรณีที่ศาลพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลายนั้นจะต้องมีการนำทรัพย์สินที่ลูกหนี้มีอยู่มาดำเนินการขายทอดตลาดในลักษณะบังคับขายแต่ตามแผนฟื้นฟูกิจการนั้นจะต้องมีการดำเนินกิจการของลูกหนี้ในวันที่จะก่อให้เกิดรายได้มาชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้เพิ่มขึ้น การฟื้นฟูกิจการตามแผนเมื่อการดำเนินการตามแผนสำเร็จแล้วเจ้าหนี้จะได้รับชำระหนี้ไม่น้อยกว่ากรณีทีศาลมีคำพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลาย แผนฟื้นฟูกิจการจึงชอบด้วยพระราชบัญญัติล้มละลายฯมาตรา 90/58(3)
แผนฟื้นฟูกิจการเป็นเพียงข้อตกลงร่วมกันของบรรดาเจ้าหนี้ ลูกหนี้เกี่ยวกับวิธีการในการชำระหนี้ตลอดการปรับโครงสร้างหนี้ของลูกหนี้ หามีฐานะเป็นกฎหมาย กฎ หรือข้อบังคับไม่ การที่เจ้าหนี้คัดค้านว่าแผนฟื้นฟูกิจการขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย จึงมิใช่เป็นการโต้แย้งว่าบทบัญญัติใดของกฎหมาย กฎ หรือข้อบังคับ ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 6 แต่การที่เจ้าหนี้ได้คัดค้านว่าแผนไม่อาจปรับลดยอดหนี้ภาษีอากรได้และแผนฟื้นฟูกิจการขัดต่อรัฐธรรมนูญนั้น พออนุมานได้ว่าเจ้าหนี้คัดค้านว่าพระราชบัญญัติล้มละลายฯ มาตรา 90/58 อันเป็นบทบัญญัติว่าด้วยการให้ความเห็นชอบด้วยแผนขัดต่อรัฐธรรมนูญ ซึ่งปัญหาดังกล่าวศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยไว้แล้วว่าบทบัญญัติมาตรา 90/58 ไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญศาลสามารถใช้ดุลพินิจเห็นชอบด้วยแผนดังกล่าวได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3392/2545 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การจัดกลุ่มเจ้าหนี้ในคดีฟื้นฟูกิจการและการยื่นคำร้องคัดค้านการจัดกลุ่มที่ล่าช้าเกินกำหนด
ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย ฯ มาตรา 90/42 ทวิ วรรคสอง บัญญัติว่า "เจ้าหนี้รายใดเห็นว่าการจัดกลุ่มเจ้าหนี้ไม่ได้เป็นไปตามวรรคหนึ่งอาจยื่นคำร้องขอต่อศาลภายใน 7 วัน นับแต่วันที่ได้รู้ถึงการจัดกลุ่มและศาลอาจมีคำสั่งให้จัดกลุ่มเสียใหม่ให้ถูกต้องโดยเร็ว คำสั่งศาลตามมาตรานี้ให้เป็นที่สุด" ตามอุทธรณ์ของเจ้าหนี้ระบุว่า เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ส่งหมายแจ้งวันนัดประชุมเจ้าหนี้พร้อมแผนฟื้นฟูกิจการลูกหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ทางไปรษณีย์ตอบรับลงวันที่ 4 มกราคม 2544 และเจ้าหนี้ได้ยื่นคำร้องขอเลื่อนการประชุมเมื่อวันที่ 12 มกราคม 2544 อ้างว่า แผนฟื้นฟูกิจการมีรายละเอียดและสาระสำคัญหลายเรื่องต้องใช้ความรอบคอบ เมื่อแผนฟื้นฟูกิจการได้ระบุรายละเอียดเกี่ยวกับการจัดกลุ่มเจ้าหนี้ไว้แล้ว การที่เจ้าหนี้ได้รับแผนฟื้นฟูกิจการจึงแสดงโดยแจ้งชัดว่าเจ้าหนี้ได้รู้ถึงการจัดกลุ่มแล้วตั้งแต่วันดังกล่าว เมื่อเจ้าหนี้ได้ยื่นคำร้องขอต่อศาลในวันที่ 22 มกราคม 2544 ย่อมพ้นกำหนดเวลาที่อาจยื่นคำร้องขอต่อศาลเพื่อให้มีคำสั่งจัดกลุ่มเสียใหม่ได้แล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3392/2545

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การจัดกลุ่มเจ้าหนี้ในคดีล้มละลาย: กรอบเวลาการยื่นคำร้องต่อศาล และผลของการไม่ยื่นภายในกำหนด
ผู้ทำแผนจัดให้เจ้าหนี้อยู่ทั้งกลุ่มเจ้าหนี้มีประกันในกลุ่มที่ 2 และกลุ่มเจ้าหนี้ไม่มีประกันในกลุ่มที่ 3 โดยแบ่งเป็นหนี้ที่มีประกัน 7,025,000 บาท และเป็นหนี้ที่ไม่มีประกัน 10,862,024.74 บาท แต่เจ้าหนี้เห็นว่าผู้ทำแผนควรจัดให้เจ้าหนี้อยู่ในกลุ่มเจ้าหนี้มีประกันเพียงกลุ่มเดียว จึงไม่ยอมรับแผนในที่ประชุมเจ้าหนี้เพื่อพิจารณาแผนเมื่อวันที่ 16 มกราคม 2544 และยื่นคำคัดค้านต่อศาลล้มละลายกลางเมื่อวันที่ 22 มกราคม 2544 โดยคัดค้านว่า เจ้าหนี้ไม่ยอมรับแผนฟื้นฟูกิจการลูกหนี้เพราะเห็นว่าการจัดกลุ่มเจ้าหนี้ไม่เป็นไปตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/42 ทวิดังนี้ คำคัดค้านของเจ้าหนี้จึงเป็นการยื่นคำร้องขอต่อล้มละลายกลางเพื่อให้มีคำสั่งจัดกลุ่มเสียใหม่ให้ถูกต้องตามมาตรา 90/42 ทวิ วรรคสอง
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ส่งหมายแจ้งวันนัดประชุมเจ้าหนี้พร้อมแผนฟื้นฟูกิจการลูกหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ทางไปรษณีย์ตอบรับลงวันที่ 4 มกราคม 2544 เมื่อแผนฟื้นฟูกิจการได้ระบุรายละเอียดเกี่ยวกับการจัดกลุ่มเจ้าหนี้ไว้แล้ว การที่เจ้าหนี้ได้รับแผนฟื้นฟูกิจการย่อมแสดงว่าเจ้าหนี้ได้รู้ถึงการจัดกลุ่มตั้งแต่วันดังกล่าวแล้ว หากเจ้าหนี้ประสงค์ที่จะคัดค้านเพราะเห็นว่าการจัดกลุ่มเจ้าหนี้ไม่ได้เป็นไปตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/42 ทวิ วรรคหนึ่ง เจ้าหนี้ก็ต้องยื่นคำร้องขอต่อศาลภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่ได้รู้ถึงการจัดกลุ่ม ถ้ามีพฤติการณ์พิเศษที่เจ้าหนี้ไม่อาจยื่นคำร้องขอได้ภายในกำหนดเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้ก็อาจขอขยายเวลาได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 23 ประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ. 2542 มาตรา 14 แต่เจ้าหนี้ก็หาได้ทำเช่นนั้นไม่ เมื่อเจ้าหนี้ยื่นคำร้องขอต่อศาลในวันที่ 22 มกราคม 2544 จึงพ้นกำหนดเวลาที่อาจยื่นคำร้องขอต่อศาลได้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/42 ทวิ วรรคสอง
ศาลล้มละลายกลางมิได้มีคำสั่งในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นพิจารณาให้ความเห็นชอบแผนฟื้นฟูกิจการเป็นการไม่ชอบด้วยข้อกำหนดคดีล้มละลาย พ.ศ. 2542ข้อ 24

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3319/2545

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฎีกานี้เกี่ยวกับการเห็นชอบแผนฟื้นฟูกิจการ โดยศาลฎีกาพิพากษากลับให้เห็นชอบแผน เนื่องจากแผนครบถ้วนตามกฎหมาย และการฟื้นฟูกิจการเป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่าย
ตามพ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/42 บัญญัติว่า" ในแผนให้มีรายการต่อไปนี้เป็นอย่างน้อย_ _ _ (4) การไถ่ถอนหลักประกันในกรณีที่มีเจ้าหนี้มีประกันและความรับผิดของผู้ค้ำประกัน_ _ _" ในรายการเรื่องความรับผิดของผู้ค้ำประกันย่อมหมายความรวมถึงการระบุชื่อผู้ค้ำประกัน วงเงินความรับผิดตลอดจนผลของคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนต่อผู้ค้ำประกันด้วย ในคดีนี้ผู้ทำแผนได้ระบุชื่อผู้ค้ำประกันและวงเงินค้ำประกันไว้โดยละเอียดโดยผู้ทำแผนชี้แจงว่าเป็นการจัดทำตามข้อมูล เอกสารแห่งหนี้ และหลักประกันที่ลูกหนี้มีอยู่ แสดงว่าผู้ทำแผนได้พยายามแสดงหรือเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องนี้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้แล้ว อีกทั้งการที่ผู้ทำแผนระบุชื่อและความรับผิดของผู้ค้ำประกันไม่ครบถ้วนก็มิใช่รายการที่มีสาระสำคัญในการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้แต่อย่างใด และหากศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนก็ไม่มีผลเปลี่ยนแปลงความรับผิดของผู้ค้ำประกันของลูกหนี้ในหนี้ที่มีอยู่ก่อนวันที่คำสั่งเห็นชอบด้วยแผนตามที่ พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/60 วรรคสอง บัญญัติไว้อยู่แล้ว กรณีจึงถือว่าแผนของลูกหนี้มีรายการครบถ้วนตามมาตรา 90/42 ประกอบกับมาตรา 90/58 (1) แล้ว
การจัดกลุ่มเจ้าหนี้ในบรรดาเจ้าหนี้ไม่มีประกันนั้นมาตรา 90/42 ทวิ บัญญัติว่า "เจ้าหนี้ไม่มีประกัน อาจจัดได้เป็นหลายกลุ่มโดยให้เจ้าหนี้ไม่มีประกันที่มีสิทธิเรียกร้องหรือผลประโยชน์ที่มีสาระสำคัญเหมือนกันหรือทำนองเดียวกันอยู่ในกลุ่มเดียวกัน" และในมาตรา 90/42 ทวิ วรรคสอง ได้บัญญัติถึงการคัดค้านการจัดกลุ่มเจ้าหนี้ว่า "เจ้าหนี้รายใดเห็นว่า การจัดกลุ่มเจ้าหนี้ไม่ได้เป็นไปตามวรรคหนึ่งอาจยื่นคำร้องขอต่อศาลภายใน 7 วัน นับแต่วันที่ได้รู้ถึงการจัดกลุ่ม และศาลอาจมีคำสั่งให้จัดกลุ่มเสียใหม่ให้ถูกต้องโดยเร็วคำสั่งศาลตามมาตรานี้ให้เป็นที่สุด" คดีนี้เจ้าหนี้รายที่ 80 ซึ่งผู้ทำแผนจัดอยู่ในกลุ่มที่ 14 ได้ยื่นคำร้องคัดค้านการจัดกลุ่มเจ้าหนี้ไม่มีประกันต่อศาลล้มละลายกลางก่อนวันนัดประชุมเพื่อพิจารณาแผน และศาลล้มละลายกลางได้วินิจฉัยยกคำร้องของเจ้าหนี้รายที่ 80 ดังกล่าว การจัดกลุ่มเจ้าหนี้รวมถึงเจ้าหนี้ไม่มีประกันตามแผนจึงถือว่าถึงที่สุดแล้วตามมาตรา 90/42 ทวิ วรรคท้าย และในส่วนการชำระหนี้ให้เจ้าหนี้แต่ละกลุ่มนั้นจะต้องพิจารณาถึงความจำเป็นในทางธุรกิจในอันที่จะให้กิจการของลูกหนี้ดำเนินการต่อไปได้ เกี่ยวกับเจ้าหนี้ในกลุ่มที่ 11 และกลุ่มที่ 12 จะต้องได้รับชำระหนี้โดยการแปลงหนี้เป็นทุนเช่นเดียวกับเจ้าหนี้รายอื่น ๆ ที่ทำธุรกิจกับลูกหนี้ก็คงไม่มีผู้ใดยินยอมให้บริการ การกำหนดให้เจ้าหนี้กลุ่มนี้ได้รับชำระหนี้เป็นเงินแตกต่างกับเจ้าหนี้การค้าอื่น ๆ จึงเป็นธรรมแล้ว ส่วนที่มาตรา 90/58 (2) กำหนดให้ข้อเสนอในการชำระหนี้ตามแผนนั้นจะต้องเป็นไปตามลำดับที่กฎหมายบัญญัติไว้ว่าด้วยการแบ่งทรัพย์สินในคดีล้มละลายนั้น หมายความว่าจะต้องดำเนินการแบ่งทรัพย์สินไปตามลำดับบุริมสิทธิที่กำหนดไว้ตามมาตรา 130 (1) ถึง (6) ส่วนหนี้ในมาตรา 130 (7) จะได้ส่วนแบ่งอย่างไรจะต้องเป็นไปตามการจัดกลุ่มเจ้าหนี้และข้อกำหนดในแผนฟื้นฟูกิจการ ดังนั้นเมื่อแผนกำหนดให้แต่ละกลุ่มได้รับชำระหนี้ในหลักเกณฑ์เดียวกันอย่างเท่าเทียมกัน จึงเป็นแผนที่กำหนดถึงสิทธิของเจ้าหนี้ในกลุ่มเดียวกันให้ได้รับการปฏิบัติเท่าเทียมกันตามมาตรา 90/42 ตรี แผนจึงไม่ขัดต่อมาตรา 90/58 (2)
of 2