พบผลลัพธ์ทั้งหมด 12 รายการ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4709/2542
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ความรับผิดของการรับขนสินค้าทางทะเล, อายุความ, และการจำกัดความรับผิดตาม พ.ร.บ.รับขนของทางทะเล
การขนส่งสินค้าระบบ ซีวาย/ซีวาย เป็นการขนส่งที่ผู้ส่งสินค้าต้นทางจะเป็นผู้ไปรับตู้สินค้าจากผู้ขนส่งไปบรรจุสินค้าเข้าตู้สินค้าที่โกดังของผู้ส่งสินค้า แล้วนำตู้สินค้ามามอบให้แก่ผู้ขนส่ง เมื่อขนส่งตู้สินค้าถึงปลายทางแล้วผู้รับตราส่งจะเป็นผู้รับตู้สินค้าไปเปิดตรวจนับสินค้าที่โกดังของผู้รับตราส่งเอง เมื่อใบตราส่งที่จำเลยที่ 1ออกระบุไว้ว่าสถานที่รับสินค้า โตเกียวซีวายสถานที่ส่งมอบสินค้ากรุงเทพซีวาย แสดงว่าในการขนส่งสินค้าพิพาทตั้งแต่จำเลยที่ 1 รับตู้สินค้าจากบริษัท ค. ที่ท่าเรือโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ตลอดจนถึงท่าเรือกรุงเทพ แล้วบริษัท น. จะเป็นผู้รับตู้สินค้าไปตรวจนับสินค้าเอง หากสภาพตู้สินค้าและตราผนึกประตูตู้สินค้าอยู่ในสภาพปกติก็ย่อมแสดงว่าสินค้ามิได้สูญหายในระหว่างที่อยู่ในความดูแลของผู้ขนส่ง จำเลยที่ 1 และจำเลยร่วมซึ่งเป็นผู้ขนส่งสินค้าก็หาต้องรับผิดในกรณีสินค้าพิพาทในตู้สินค้าสูญหายไปไม่แต่ตามใบตราส่งที่จำเลยที่ 1 เป็นผู้ออกให้แก่ผู้ส่งได้ความว่า ตู้สินค้าซึ่งบรรจุสินค้าพิพาทที่โจทก์รับประกันภัยระบุตราผนึกประตูตู้สินค้าหมายเลข เอชเอสเอ็มโอแอล 27209 ครั้น จำเลยร่วมขนส่งตู้สินค้าดังกล่าวมาถึงท่าเรือกรุงเทพ ปรากฏว่าตู้สินค้ามีตราผนึกประตูตู้สินค้าเป็นหมายเลข เอสพีไอซี 051682 ซึ่งไม่ปรากฏว่าเหตุใดตราผนึกประตูตู้สินค้าที่ระบุไว้ในใบตราส่งจึงเปลี่ยนไปจากเดิม ดังนั้น การที่จำเลยร่วมออกใบตราส่งให้แก่จำเลยที่ 1เมื่อรับมอบตู้สินค้า แม้จะได้ระบุหมายเลขตู้สินค้า แต่มิได้ระบุว่าตราผนึกประตูตู้สินค้าคือหมายเลขใด กรณีจึงยังไม่แน่ชัดว่าตราผนึกประตูตู้สินค้าหมายเลข เอชเอสเอ็มโอแอล27209ถูกเปลี่ยนเป็นหมายเลขเอสพีไอซี 051682 ก่อนหรือภายหลังจากที่จำเลยร่วมรับมอบตู้สินค้าจากท่าเรือสิงคโปร์เมื่อประตูตู้สินค้าได้ถูกเปิดออกในระหว่างการขนส่งสินค้าจากท่าเรือโตเกียวช่วงใดช่วงหนึ่งก่อนที่จะถึงท่าเรือกรุงเทพและสินค้าพิพาทที่โจทก์ได้รับประกันภัยสูญหายไปจึงถือได้ว่าความสูญหายเกิดขึ้นขณะที่สินค้าอยู่ในความดูแลของจำเลยที่ 1และจำเลยร่วม ผู้ขนส่ง จำเลยที่ 1 และจำเลยร่วมจึงต้องรับผิดชอบในความสูญหายของสินค้าพิพาทดังกล่าว พระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ. 2534 มาตรา 3 ให้คำนิยาม "ภาชนะขนส่ง" หมายความว่า ตู้สินค้า ไม้รองสินค้า หรือสิ่งอื่นที่มีลักษณะทำนองเดียวกันซึ่งใช้บรรจุหรือรองรับของ หรือใช้รวมหน่วยการขนส่งของหลายหน่วยเข้าด้วยกันเพื่อประโยชน์ในการขนส่งทางทะเล และให้คำนิยาม "หน่วยการขนส่ง" หมายความว่า หน่วยแห่งของที่ขนส่งทางทะเลซึ่งนับเป็นหนึ่ง และแต่ละหน่วยอาจทำการขนส่งไปตามลำพังได้ เช่น กระสอบ ชิ้น ถัง ตู้ ม้วน ลัง ลูก ห่อ หีบ อัน หรือหน่วยที่เรียกอย่างอื่น ดังนั้น คำว่า "ตู้" ที่ยกตัวอย่างในคำนิยามนั้น ย่อมหมายความถึงตู้สำหรับบรรจุสินค้าหรือของอย่างหนึ่งซึ่งมีขนาดเล็กต่างจากตู้สินค้าซึ่งมีขนาดใหญ่กว่าและสามารถบรรจุภาชนะสำหรับบรรจุสินค้าขนาดเล็กดังกล่าวได้เป็นจำนวนมากเพื่อความสะดวกในการขนย้าย ดังนั้น ตู้สินค้าซึ่งเรียกกันในวงการว่าตู้คอนเทนเนอร์จึงเป็นภาชนะขนส่ง ส่วนตู้เป็นหน่วยการขนส่งดังมาตรา 3 บัญญัติให้คำนิยามไว้โดยชัดแจ้งแล้ว มิใช่ว่าตู้หรือตู้สินค้ามีความหมายเป็นได้ทั้งหน่วยการขนส่งและภาชนะขนส่ง เมื่อตู้สินค้าไม่ใช่หน่วยการขนส่ง 1 หน่วย จึงไม่อาจที่จะจำกัดความรับผิดของจำเลยที่ 1 และจำเลยร่วมไม่เกิน 10,000 บาทได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2303/2542
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ความรับผิดของผู้ขนส่งทางทะเลต่อความเสียหายสินค้า และการรับช่วงสิทธิของผู้รับประกันภัย
จำเลยที่ 2 ผู้ขนส่ง อ้างว่า ผู้รับตราส่งไม่ได้บอกกล่าวให้ผู้ขนส่งหรือผู้ที่มีหน้าที่ตามกฎหมายทราบถึงความเสียหายภายใน 15 วัน นับแต่วันรับมอบของ จึงเข้าข้อสันนิษฐานตาม พ.ร.บ.การรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 มาตรา 49 ว่าผู้ขนส่งได้มอบของที่มีสภาพดีแก่ผู้รับตราส่งแล้วนั้น ข้อสันนิษฐานดังกล่าวเป็นข้อสันนิษฐานเบื้องต้น ไม่ใช่ข้อสันนิษฐานเด็ดขาด จึงสามารถนำสืบหักล้างได้ เมื่อฟังได้ว่าสินค้าพิพาทได้รับความเสียหายจากการขนส่งทางทะเลจริง ผู้ขนส่งก็ต้องรับผิด
โจทก์เป็นผู้รับประกันภัยสินค้าพิพาท และได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้รับตราส่งไปแล้ว โจทก์จึงเป็นผู้รับช่วงสิทธิมาจากผู้รับตราส่งตามกฎหมาย มีสิทธิฟ้องร้องให้จำเลยทั้งสองซึ่งเป็นผู้ขนส่งและผู้ขนส่งอื่นรับผิดต่อโจทก์ได้
โจทก์เป็นผู้รับประกันภัยสินค้าพิพาท และได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้รับตราส่งไปแล้ว โจทก์จึงเป็นผู้รับช่วงสิทธิมาจากผู้รับตราส่งตามกฎหมาย มีสิทธิฟ้องร้องให้จำเลยทั้งสองซึ่งเป็นผู้ขนส่งและผู้ขนส่งอื่นรับผิดต่อโจทก์ได้