คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2550 ม. 53 (1)

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 2 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10626/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การพิสูจน์ความผิดฐานซื้อเสียงเลือกตั้ง จำเลยไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายหากพยานหลักฐานไม่เพียงพอ
การที่โจทก์ฟ้องเรียกให้จำเลยทั้งสามชดใช้ค่าเสียหายในการจัดการเลือกตั้งใหม่ มิใช่เป็นการฟ้องคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 46 ดังนั้นแม้พนักงานอัยการจะมีคำสั่งไม่ฟ้องจำเลยทั้งสามในคดีอาญาดังกล่าว ข้อเท็จจริงในคดีส่วนอาญาจึงไม่มีผลบังคับให้ศาลที่พิจารณาในคดีส่วนแพ่งจะต้องรับฟัง แต่ศาลในคดีส่วนแพ่งก็มีอำนาจใช้ดุลพินิจรับฟังข้อเท็จจริงดังกล่าวมาประกอบในการชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานในคดีส่วนแพ่งได้
พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2550 มาตรา 113 ที่บัญญัติว่า "ในกรณีที่คณะกรรมการการเลือกตั้งหรือศาลฎีกามีคำสั่งให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งผู้สมัครหรือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผู้ใดและเป็นเหตุให้ต้องมีการเลือกตั้งใหม่ ให้ผู้ถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งต้องรับผิดชดใช้ค่าใช้จ่ายสำหรับการเลือกตั้งใหม่นั้นด้วย" มิใช่ข้อสันนิษฐานเด็ดขาดว่า ผู้สมัครที่ถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งจะต้องรับผิดชดใช้ค่าใช้จ่ายสำหรับการเลือกตั้งใหม่เสมอไป พยานหลักฐานในคดีนี้ยังรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสามได้กระทำการใดๆ ที่ทำให้การเลือกตั้งในเขตที่ 1 จังหวัดบุรีรัมย์ มิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม จำเลยทั้งสามจึงไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายในการจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่แต่อย่างใด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2878/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง: อำนาจสืบสวน คดีระงับ และหลักฐานสนับสนุน
ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2550 มาตรา 49 วรรคสอง (1) (2) ได้บัญญัติระยะเวลามีผลใช้บังคับวิธีการหาเสียงเลือกตั้งสำหรับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไว้เป็น 2 กรณี กรณีแรกที่เป็นการเลือกตั้งทั่วไปอันเนื่องมาจากการครบอายุของสภาผู้แทนราษฎรให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่เก้าสิบวันก่อนวันครบอายุจนถึงวันเลือกตั้ง ส่วนกรณีที่สองเป็นกรณีที่เป็นการเลือกตั้ง อันเนื่องมาจากเหตุอื่นนอกจากกรณีแรกให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ได้มีประกาศพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจนถึงวันเลือกตั้ง กรณีของผู้คัดค้านเป็นกรณีเลือกตั้งแทนตำแหน่งที่ว่างเนื่องจากศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยให้ผู้คัดค้านพ้นสภาพจากการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ดังนั้นระยะเวลาที่ใช้บังคับวิธีการหาเสียงกรณีของผู้คัดค้านจึงต้องเริ่มนับตั้งแต่วันที่ 19 พฤศจิกายน 2553 อันเป็นวันที่พระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งได้ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาให้เป็นที่ทราบทั่วกัน ซึ่งถือว่าเป็นวันที่ได้มีประกาศพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 49 วรรคสอง (2)
แม้ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 106 บัญญัติว่า สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลงเมื่อ (1)...มีการยุบสภาผู้แทนราษฎรและข้อเท็จจริงเป็นดังที่ผู้คัดค้านอ้าง แต่การยุบสภามีผลเพียงทำให้สมาชิกภาพของผู้คัดค้านซึ่งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลงเท่านั้น ซึ่งหากผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลฎีกามีคำสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่เพราะเหตุที่มีการกระทำตามคำร้อง การวินิจฉัยและมีคำสั่งโดยศาลฎีกาก็จะไม่เป็นประโยชน์อีกต่อไป คดีนี้ผู้ร้องมีคำขอเพียงประการเดียวคือ ขอให้ศาลฎีกามีคำสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้คัดค้านเป็นเวลาห้าปี ซึ่งเป็นคนละส่วนไม่เกี่ยวข้องกับการสิ้นสมาชิกภาพของผู้คัดค้าน ผู้ร้องจึงยังคงร้องขอให้ศาลฎีกามีคำสั่งในกรณีนี้ได้ หาได้ระงับไปเพราะเหตุที่มีการยุบสภาไม่