คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.อ. ม. 162

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 107 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4639/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ผู้สนับสนุนการกระทำความผิดของเจ้าพนักงาน – ความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานร่วมกันทำเอกสารเท็จ
จำเลยที่ 1 แม้ไม่มีฐานะหรือคุณสมบัติเป็นเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่ตามกฎหมายโดยตรงในการดูแลและประสานโครงการจัดงานประเพณีบุญบั้งไฟบ้านบ่อน้ำใส ประจำปีงบประมาณ 2557 อันจะร่วมกระทำความผิดเป็นตัวการหรือเป็นผู้ใช้ให้กระทำความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่องค์การบริหารส่วนตำบลตรึม และปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตได้ แต่การที่จำเลยที่ 1 ให้ ว. ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ทำบันทึกตกลงซื้อบั้งไฟและบันทึกตกลงจ้างเหมาวงดนตรีกลองยาวนำขบวนแห่เสนอให้ ร. นายกองค์การบริหารส่วนตำบลตรึมลงนามในเอกสารดังกล่าว และให้ ว. ทำสัญญายืมเงินอันเป็นเท็จแล้ว จำเลยที่ 1 ไม่ได้นำเงินงบประมาณดังกล่าวไปจัดงานประเพณีบุญบั้งไฟ เป็นการแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองหรือผู้อื่นจากเงินงบประมาณ และจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้บังคับบัญชามีอำนาจเหนือสามารถให้คุณให้โทษแก่จำเลยที่ 2 ว. และ ป. ซึ่งเป็นผู้ใต้บังคับบัญชา ได้พูดจาว่าจะเป็นผู้รับผิดชอบด้วยตนเองเพื่อเร่งรัดให้จำเลยที่ 2 ว. และ ป. ซึ่งเป็นคณะกรรมการตรวจรับพัสดุและมีหน้าที่ทำเอกสาร กรอกข้อความลงในใบตรวจรับพัสดุ ได้จัดทำใบตรวจรับพัสดุว่าผู้ขายส่งมอบบั้งไฟตามบันทึกตกลงซื้อคุณภาพถูกต้องครบถ้วน และคณะกรรมการตรวจรับพัสดุได้รับบั้งไฟซึ่งตรวจรับถูกต้องสมควรจ่ายเงินให้แก่ผู้รับจ้างอันเป็นเท็จ และทำใบตรวจรับพัสดุว่าผู้รับจ้างส่งมอบงานจ้างเหมาวงดนตรีกลองยาวนำขบวนแห่งวดสุดท้ายถูกต้องและครบถ้วน จึงสมควรจ่ายค่าจ้างให้แก่ผู้รับจ้างอันเป็นเท็จนั้น เป็นการกระตุ้นส่งเสริมเร่งเร้าหรือโน้มน้าวชักจูงใจจำเลยที่ 2 ว. และ ป. มุ่งกระทำให้หนักแน่นยิ่งขึ้น จนจำเลยที่ 2 ว. และ ป. ยินยอมลงชื่อในใบตรวจรับพัสดุดังกล่าวทั้งสองฉบับ เพื่อรับรองเป็นหลักฐานว่าตนได้กระทำการอย่างใดขึ้นหรือว่าการอย่างใดได้กระทำต่อหน้าจำเลยที่ 2 ว. และ ป. อันเป็นเท็จและรับรองเป็นหลักฐานซึ่งข้อเท็จจริงอันเอกสารนั้นมุ่งพิสูจน์ความจริงอันเป็นเท็จ การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นการสนับสนุนให้จำเลยที่ 2 ว. และ ป. กระทำความผิดดังกล่าวก่อนหรือขณะกระทำความผิดซึ่งครบองค์ประกอบความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนให้จำเลยที่ 2 ว. และ ป. เจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่องค์การบริหารส่วนตำบลตรึม และปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ทำให้จำเลยที่ 1 ได้รับประโยชน์จากเงินงบประมาณในการจัดงานประเพณีบุญบั้งไฟที่ไม่ควรได้โดยชอบด้วยกฎหมาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6538/2562

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เจ้าพนักงานรับรองเอกสารเท็จ และการปฏิบัติหน้าที่มิชอบ กรณีปรับลดพนักงาน การพิพากษาชอบด้วยกฎหมาย
การที่จำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อรับรองรายงานการประชุม และจำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อเป็นผู้บันทึกการประชุมในเอกสารฉบับเดียวกัน ย่อมเป็นการรับรองเป็นหลักฐานว่า การประชุมคณะกรรมการกำหนดโครงสร้างส่วนราชการและจัดทำแผนอัตรากำลัง 3 ปี (รอบปีงบประมาณ 2558 - 2560) เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2557 ได้กระทำต่อหน้าตนนั้น เมื่อคณะกรรมการดังกล่าวมิได้มีการประชุมกันจริง การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ย่อมเป็นความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ทำเอกสาร รับรองเป็นหลักฐานว่า การอย่างใดได้กระทำต่อหน้าตนอันเป็นความเท็จ และรับรองเป็นหลักฐานซึ่งข้อเท็จจริงอันเอกสารนั้นมุ่งพิสูจน์ความจริงอันเป็นเท็จ ตาม ป.อ. มาตรา 162 (1) และ (4) แต่โจทก์ทั้งห้ามิได้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 และที่ 2 ตาม ป.อ. มาตรา 162 (1) และ (4) มาด้วย ต้องถือว่าโจทก์ทั้งห้าไม่ประสงค์ให้ลงโทษจำเลยที่ 1 และที่ 2 ตาม ป.อ. มาตรา 162 (1) และ (4) จึงลงโทษจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในความผิดตาม ป.อ. มาตรา 162 (1) และ (4) ไม่ได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสี่ และกรณีมิใช่เป็นเรื่องที่ข้อเท็จจริงตามฟ้องโจทก์ทั้งห้าสืบสม แต่อ้างฐานความผิดหรือบทมาตราผิด เพราะโจทก์ทั้งห้ามิได้บรรยายองค์ประกอบความผิด ตาม ป.อ. มาตรา 162 (1) และ (4) มาในฟ้องด้วย อีกทั้งองค์ประกอบความผิดตาม ป.อ. มาตรา 162 (1) และ (4) กับมาตรา 265 มีความแตกต่างกันมาก จึงมิใช่เป็นกรณีที่ข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในการพิจารณาแตกต่างจากข้อเท็จจริงดังที่กล่าวในฟ้องในเรื่องที่มิใช่ข้อสาระสำคัญ และจำเลยที่ 1 และที่ 2 มิได้หลงต่อสู้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 802/2562

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดเจ้าพนักงานทำเอกสารเท็จ, การสอบราคาจ้าง, และการรอการลงโทษ กรณีจำเลยรับรองเอกสารเท็จ
การกระทำที่จะเป็นความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานทำเอกสารอันเป็นเท็จ ตาม ป.อ. มาตรา 162 นั้น ผู้กระทำหาต้องมีมูลเหตุชักจูงใจหรือเจตนาพิเศษเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดหรือต้องกระทำโดยทุจริตไม่ และไม่จำต้องพิจารณาถึงผลการกระทำว่าเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายอย่างหนึ่งอย่างใดขึ้นหรือไม่ หากผู้กระทำเป็นเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่ทำเอกสาร รับเอกสารหรือกรอกข้อความลงในเอกสาร รับรองว่ามีการกระทำอย่างหนึ่งอย่างใดได้กระทำต่อหน้าตน หรือรับรองเป็นหลักฐานซึ่งข้อเท็จจริงอันเอกสารนั้นมุ่งพิสูจน์ความจริงว่ามีข้อเท็จจริงอย่างหนึ่งอย่างใดเกิดขึ้น แต่เป็นความเท็จ คดีเมื่อได้ความจากคำเบิกความของ พ. เจ้าหน้าที่ฝ่ายพัสดุซึ่งมีโต๊ะทำงานอยู่ติดกับจำเลยที่ 2 ว่า ในวันยื่นซองสอบราคานั้นมี ร. คนเดียวนำซองมายื่น 3 ซอง ซึ่งเป็นซองของบริษัท ป. จำกัด ห้างหุ้นส่วนจำกัด ร. และห้างหุ้นส่วนจำกัด อ. โดยในเอกสารกลับมีลายมือชื่อของ ม. และ อ. หุ้นส่วนผู้จัดการของห้างลงลายมือชื่อว่าเป็นผู้ยื่นเอกสาร โดยในช่องด้านบนของเอกสารจำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อรับรองโดยมีข้อความเป็นสาระสำคัญในตอนท้ายว่า ม. และ อ. หุ้นส่วนผู้จัดการของทั้งสองห้างเป็นผู้มายื่นซองด้วยตัวเอง อันเป็นความเท็จ เมื่อจำเลยที่ 2 รับรองเป็นหลักฐานว่า ม. และ อ. นำซองมายื่นต่อหน้าตน และใบรับซองสอบราคาเป็นเอกสารที่มุ่งพิสูจน์ความจริงว่า เจ้าของซองนำซองมายื่นจริงซึ่งเป็นความเท็จ เพราะบุคคลทั้งสองไม่ได้นำซองมายื่นด้วยตนเอง การกระทำของจำเลยที่ 2 จึงเป็นความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานทำเอกสารอันเป็นเท็จตาม ป.อ. มาตรา 162

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6812/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความฟ้องคดีอาญาเกี่ยวกับสัญชาติไทย และการรอการลงโทษจำคุกจากพฤติการณ์แห่งคดี
การที่โจทก์บรรยายฟ้องว่า ร. ปลัดอำเภอรักษาการในตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายทะเบียนและบัตร มีหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎร บัตรประจำตัวประชาชนและการทะเบียนอื่นๆ ที่อยู่ในความรับผิดชอบของกรมการปกครอง ส่วนร้อยตรี ช. รับราชการในตำแหน่งนายอำเภอ มีหน้าที่ปกครองบังคับบัญชาข้าราชการในอำเภอ ตลอดจนควบคุมดูแลการปฏิบัติงานของสำนักทะเบียนอำเภอ เมื่อระหว่างวันที่ 21 สิงหาคม 2544 ถึงวันที่ 27 สิงหาคม 2544 ร. และร้อยตรี ช. อาศัยโอกาสที่ตนเป็นเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจดังกล่าว ร่วมกันปฏิบัติหน้าที่ช่วยเหลือ ย. ซึ่งเป็นบุคคลผู้ไม่มีสัญชาติไทยให้เป็นผู้มีสัญชาติไทย โดยการเพิ่มชื่อ ย. ในทะเบียนบ้านและดำเนินการออกบัตรประจำตัวประชาชนให้ ย. โดยมีจำเลยทั้งสามให้ความสนับสนุน ช่วยเหลือ และให้ความสะดวกแก่ ร. และร้อยตรี ช. ในการกระทำความผิด และในวันเดียวกัน ย. ซึ่งเป็นบุคคลผู้ไม่มีสัญชาติไทยได้มายื่นคำขอมีบัตรประจำตัวประชาชนต่อเจ้าพนักงานซึ่งรับผิดชอบงานบัตรประจำตัวประชาชน ให้หลงเชื่อว่าเป็นผู้มีสัญชาติไทยจริง ตามพฤติการณ์ดังกล่าว แสดงให้เห็นว่าจำเลยทั้งสามมุ่งประสงค์ให้เพิ่มชื่อ ย. ในทะเบียนบ้านและให้ทางราชการออกบัตรประจำตัวประชาชนให้แก่ ย. ในที่สุดนั่นเอง กระบวนการในการกระทำความผิดดังกล่าวสำเร็จลงด้วยการออกบัตรประจำตัวประชาชนในวันที่ 27 สิงหาคม 2544 ดังนั้นการที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ในวันที่ 25 สิงหาคม 2554 ซึ่งยังไม่เกินกำหนด 10 ปี คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8716/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ จำเลยไม่มีส่วนรู้เห็นเป็นใจกับการเบิกจ่ายเงินจ้างงานที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย แม้ลงลายมือชื่อในเอกสาร
วันที่ 19 สิงหาคม 2552 องค์การบริหารส่วนตำบลหนองบัวบานเพิ่งมีคำสั่งให้จำเลยที่ 5 ไปช่วยราชการที่องค์การบริหารส่วนตำบลหมากหญ้า ในการนี้วันที่ 21 สิงหาคม 2552 องค์การบริหารส่วนตำบลหมากหญ้ามีคำสั่งแต่งตั้งให้จำเลยที่ 5 ปฏิบัติหน้าที่จัดทำร่างข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2553 โดยนัยของคำสั่งดังกล่าว จำเลยที่ 5 มีหน้าที่ปฏิบัติเฉพาะงานตามที่ระบุไว้ในคำสั่งเท่านั้น จำเลยที่ 5 จึงไม่มีหน้าที่ในการควบคุมโครงการจ้างแรงงานเร่งด่วนเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนด้านอาชีพแก่ผู้ประสบภัยธรรมชาติ จังหวัดอุดรธานี ปีงบประมาณ 2552 แต่อย่างใด หากนายกองค์การบริหารส่วนตำบลหมากหญ้าต้องการแต่งตั้งจำเลยที่ 5 ให้เป็นผู้ควบคุมโครงการดังกล่าว จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้บริหารองค์การบริหารส่วนตำบลหมากหญ้าต้องขอความเห็นชอบจากผู้บังคับบัญชาของจำเลยที่ 5 ตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการพัสดุขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2548 ข้อ 32 วรรคหนึ่ง เสียก่อน แต่ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ได้ขอความเห็นชอบจากนายกองค์การบริหารส่วนตำบลหนองบัวบานซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาของจำเลยที่ 5 ดังนั้นคำสั่งขององค์การบริหารส่วนตำบลหมากหญ้าในส่วนแต่งตั้งจำเลยที่ 5 เป็นกรรมการผู้ควบคุมงานจึงเป็นคำสั่งที่ออกโดยไม่ชอบด้วยระเบียบกระทรวงมหาดไทยดังกล่าว ถือว่าจำเลยที่ 5 ไม่มีหน้าที่เป็นกรรมการผู้ควบคุมงานโครงการตามฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12091/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การจับกุม ลักทรัพย์ และการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานตำรวจ: การยกฟ้องคดีอาญา
ก่อนจับกุมโจทก์ทั้งสองได้มีการจับกุม ช. กับพวกในข้อหาลักทรัพย์ในเวลากลางคืน ช. ให้การว่าโจทก์ทั้งสองเป็นผู้ใช้จ้างวาน จึงมีการสอบสวน ขยายผลและจับกุมโจทก์ทั้งสองมาลงบันทึกประจำวันไว้ และตามสำเนารายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีระบุว่า พันตำรวจเอก ส. ผู้กำกับการสถานีตำรวจนครบาลพระโขนง สั่งให้จำเลยทั้งสิบสามซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายสืบสวนปราบปรามนำตัว ช. ไปสอบสวนขยายผล โดยนัดโจทก์ที่ 2 มารับรถยนต์ที่หน้าห้างสรรพสินค้า ซึ่งเป็นเรื่องจำเป็นเร่งด่วนหากต้องไปขอหมายจับจากศาลชั้นต้นแล้วผู้ร่วมกระทำความผิดอาจหลบหนีไปได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 78 (3) ทั้งรถที่ถูกลักอยู่ที่บ้านของโจทก์ที่ 2 และโจทก์ที่ 2 เป็นผู้พาเจ้าพนักงานตำรวจไปทำการตรวจค้นเอง จึงไม่จำต้องขอหมายค้นจากศาลตาม ป.วิ.อ. มาตรา 92 (4) และมาตรา 94 การกระทำของจำเลยทั้งสิบสามเป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชาผู้มีอำนาจสั่งการโดยชอบ จึงไม่มีความผิดฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตาม ป.อ. มาตรา 157
ฟ้องของโจทก์ทั้งสองมิได้บรรยายถึงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเรื่องที่จำเลยทั้งสิบสามร่วมกันทำร้ายร่างกายโจทก์ทั้งสองขณะโจทก์ทั้งสองถูกควบคุมตัว ฟ้องของโจทก์ทั้งสองจึงมิได้บรรยายถึงการกระทำที่อ้างว่าจำเลยทั้งสิบสามกระทำความผิด เป็นฟ้องที่ไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5)
การที่จำเลยทั้งสิบสามจับกุมโจทก์ทั้งสองสืบเนื่องจากคำซัดทอดของ ช. กับพวก ต่อมามีการแจ้งข้อหาและทำหลักฐานการจับกุม การระบุวันที่จับกุมและบันทึกคำให้การชั้นสอบสวนคลาดเคลื่อนไปบ้างเป็นเพียงรายละเอียด แต่สาระสำคัญมีความถูกต้องตามพฤติการณ์และข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น และมีการนำสืบพยานหลักฐานในชั้นพิจารณาไปตามข้อเท็จจริงดังกล่าว ซึ่งจำเลยทั้งสิบสามอาจเชื่อว่าโจทก์ทั้งสองมีส่วนร่วมในการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ จึงมิใช่เป็นพยานหลักฐานเท็จ การกระทำของจำเลยทั้งสิบสามจึงไม่มีมูลความผิดฐานแจ้งข้อความอันเป็นเท็จ ทำพยานหลักฐานอันเป็นเท็จ หรือนำสืบพยานหลักฐานอันเป็นเท็จตาม ป.อ. มาตรา 162, 172, 173, 174, 179 และ 180
โจทก์ที่ 2 พาเจ้าพนักงานตำรวจไปตรวจค้นที่บ้านของโจทก์ที่ 2 โดยความยินยอมของโจทก์ที่ 2 เอง การกระทำของจำเลยทั้งสิบสามจึงไม่มีมูลเป็นความผิดฐานบุกรุกเคหสถานในเวลากลางคืนตาม ป.อ. มาตรา 365 (3) ประกอบมาตรา 362
ของกลางทั้งหมดเจ้าพนักงานตำรวจนำไปเป็นของกลางคดีอาญา ทั้งโจทก์ทั้งสองได้อ่านข้อความในบันทึกการจับกุมที่ระบุว่ามีการยึดเงินสด ธนบัตรฉบับละ 1,000 บาท 20 ฉบับ รวมเป็นเงิน 20,000 บาท แล้วมิได้โต้แย้งว่าจำนวนเงินดังกล่าวไม่ถูกต้องตรงกับความเป็นจริงแต่อย่างใด เชื่อว่าเจ้าพนักงานตำรวจบันทึกข้อความในบันทึกการจับกุมโดยถูกต้องแล้ว การกระทำของจำเลยทั้งสิบสามจึงไม่มีมูลเป็นความผิดฐานปล้นทรัพย์ตาม ป.อ. มาตรา 340

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10237/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดเจ้าพนักงานทุจริต-สนับสนุนการทุจริตจัดซื้อจัดจ้างเทศบาล - พยานหลักฐานรับฟังได้
จำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นเจ้าพนักงานของรัฐร่วมกันใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริตหรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและโดยทุจริต อนุมัติและดำเนินการเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างโครงการต่าง ๆ ของเทศบาลตำบลสว่างแดนดิน 16 โครงการ โดยจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้กระทำการโดยใช้อุบายหลอกลวงหรือกระทำการโดยวิธีอื่นใดเป็นเหตุให้ผู้อื่นไม่มีโอกาสเข้าเสนอราคาอย่างเป็นธรรมอันทำให้เกิดความเสียหายแก่เทศบาลตำบลสว่างแดนดิน ราชการ เจ้าหน้าที่เทศบาลตำบลสว่างแดนดิน บริษัทห้างร้านที่มีอาชีพรับเหมาก่อสร้างทั่วไปหรือบุคคลอื่นและประชาชน ว่าจำเลยที่ 3 และที่ 4 ลงลายมือชื่อรับบันทึกรับส่งประกาศสอบราคา บันทึกรับเอกสารสอบราคาและบันทึกการยื่นซองสอบราคาซึ่งเป็นเอกสารที่เกี่ยวข้องกับโครงการทุจริตทั้ง 16 โครงการโดยที่ไม่มีการปิดประกาศเผยแพร่ไว้โดยเปิดเผย ณ ที่ทำการสำนักงานเทศบาล ตำบลสว่างแดนดินหรือให้มีการประชาสัมพันธ์การสอบราคาให้ประชาชนทั่วไปทราบ ทั้งเจ้าหน้าที่ของเทศบาลตำบลสว่างแดนดินบางส่วนก็ไม่ทราบ ผู้ประกอบการรับเหมาก่อสร้างทั่วไปไม่มีโอกาสเข้าแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม มีแต่จำเลยที่ 3 และที่ 4 กับจำเลยอื่นเท่านั้นที่รู้และยื่นซองเสนอราคา พฤติกรรมของจำเลยที่ 3 และที่ 4 บ่งชี้ว่าจำเลยที่ 3 และที่ 4 มีส่วนรู้เห็นกับการกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ประกอบกับจำเลยที่ 3 และที่ 4 ให้การรับสารภาพ ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 3 และที่ 4 ร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 1 และที่ 2
แม้ความผิดตาม ป.อ. มาตรา 151, 157, 162 และพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 กฎหมายมุ่งประสงค์เอาผิดกับผู้กระทำความผิดที่เป็นเจ้าพนักงานแต่เอกชนก็ร่วมกระทำความผิดกับเจ้าพนักงานได้โดยต้องลงโทษเอกชนผู้ร่วมกระทำความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุน จำเลยที่ 3 และที่ 4 เป็นเอกชน ร่วมกระทำความผิดกับเจ้าพนักงานคือจำเลยที่ 1 และที่ 2 จำเลยที่ 3 และที่ 4 จึงต้องรับผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดของเจ้าพนักงาน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5146/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดฐานสนับสนุนการเลือกตั้งที่ไม่สุจริตและการกระทำความผิดเกี่ยวกับเอกสารราชการ
ป.อ. มาตรา 84 วรรคสอง บัญญัติว่า "ถ้าผู้ถูกใช้ได้กระทำความผิดนั้น ผู้ใช้ต้องรับโทษเสมือนเป็นตัวการ..." นั่นคือ ให้ถือเสมือนว่าผู้ใช้เป็นตัวการ เป็นการร่วมกระทำความผิดด้วยกันตามมาตรา 83 ซึ่งบัญญัติว่า "ในกรณีความผิดใดเกิดขึ้นโดยการกระทำของบุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไป ผู้ที่ได้ร่วมกระทำความผิดด้วยกันนั้นเป็นตัวการ..." แต่กรณีที่ผู้กระทำความผิดด้วยตนเองโดยไม่ร่วมกับผู้อื่นนั้น ไม่เรียกว่าตัวการ ดังนั้น หากร่วมกระทำความผิดกับผู้อื่น แต่ผู้ร่วมกระทำคนใดคนหนึ่งขาดคุณสมบัติตามที่กฎหมายบัญญัติไว้นั้น อันเนื่องมาจากเป็นความผิดเฉพาะตัวผู้ที่มีคุณสมบัติเฉพาะตามที่กฎหมายบัญญัติเป็นองค์ประกอบของความผิดไว้ ดังเช่นมาตรา 162 (1) (2) ผู้นั้นก็เป็นตัวการไม่ได้ ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ไม่ได้เป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ทำเอกสาร รับเอกสาร หรือกรอกข้อความลงในเอกสาร จำเลยที่ 1 จึงขาดคุณสมบัติเฉพาะตัวตามบทบัญญัติมาตราดังกล่าว ไม่อาจลงโทษจำเลยที่ 1 ในฐานเป็นตัวการเพราะใช้จำเลยที่ 2 และที่ 3 กระทำความผิดตามมาตรา 162 (1) (2) ได้ จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ใช้ก็เป็นได้แต่ผู้สนับสนุนเท่านั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 17978/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คณะกรรมการสรรหา กทช. ไม่เป็นเจ้าพนักงานตาม ป.อาญา, ประธานวุฒิสภาไม่ใช่เจ้าพนักงาน, ฟ้องแจ้งความเท็จไม่成立
ตาม พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2543 ที่ใช้บังคับอยู่ในขณะเกิดเหตุบัญญัติไว้ชัดเจนว่า ให้คณะกรรมการ กสช. ก็ดี คณะกรรมการ กทช. ก็ดี และพนักงานสำนักงานของคณะกรรมการดังกล่าว ก็ดี เป็นเจ้าพนักงานตาม ป.อ. แต่ในกฎหมายฉบับเดียวกัน มาตรา 49 ว่าด้วยคณะกรรมการสรรหา ที่มา และบทบาทหน้าที่ ไม่ได้กำหนดว่าคณะกรรมการสรรหากรรมการกิจการโทรคมนาคมเป็นเจ้าพนักงานตาม ป.อ. เช่นเดียวกันกับคณะกรรมการ กสช. หรือ กทช. หรือพนักงานดังกล่าว เช่นนี้ ย่อมเห็นเจตนารมณ์ของกฎหมายดังกล่าวได้ชัดเจนว่า กฎหมายไม่ได้มีเจตนารมณ์ที่จะให้คณะกรรมการสรรหากรรมการกิจการโทรคมนาคมต้องมีอำนาจหน้าที่หรือมีความรับผิดในฐานะเป็นเจ้าพนักงานตาม ป.อ. จำเลยเป็นเพียงคณะกรรมการสรรหากรรมการกิจการโทรคมนาคม จึงไม่ใช่เจ้าพนักงานที่จะต้องรับผิดในฐานะเป็นเจ้าพนักงานตาม ป.อ. มาตรา 157, 158, 161 และ 162
ตำแหน่งประธานวุฒิสภา เป็นตำแหน่งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งรัฐ ไม่ใช่ตำแหน่งเจ้าพนักงานตามความหมายในลักษณะ 2 หมวด 1 แห่ง ป.อ. การยื่นรายงานเรื่องผลการพิจารณาคัดเลือกบุคคลที่สมควรได้รับการเสนอชื่อเป็น กทช. จึงไม่อาจที่จะเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 137 ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8010/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่มิชอบออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ที่ดินของรัฐ และร่วมกันทำเอกสารเท็จ
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 157, 162 โดยกล่าวหาจำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันรับรองว่าที่พิพาทได้ทำประโยชน์ต่อเนื่องกันมาซึ่งเป็นความเท็จ เพราะความจริงที่พิพาทมีสภาพเป็นภูเขาไม่อาจออกเอกสารสิทธิได้ แม้โจทก์จะไม่ได้บรรยายฟ้องว่าจำเลยที่ 1 นำเอาแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1) ผิดแปลงไปใช้ออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) ที่ดินพิพาท ก็เป็นฟ้องที่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) แล้ว ซึ่งบทบัญญัติมาตราดังกล่าวประสงค์เพียงให้มีรายละเอียดพอสมควรที่จะทำให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดีก็พอแล้ว ส่วนรายละเอียดอื่นๆ เป็นเรื่องที่ว่ากันในชั้นสืบพยานได้
การที่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานได้รับมอบหมายให้รังวัดชันสูตรตรวจสอบที่ดินในการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ที่ดินพิพาทให้คำรับรองว่าที่ดินพิพาทซึ่งเป็นที่ดินไม่มีเอกสารสิทธิ เป็นที่สาธารณประโยชน์ และเป็นที่สงวนหวงห้ามของทางราชการ เพื่อให้ ส. ได้รับหนังสือรับรองการทำประโยชน์ในที่ดินของรัฐ ทำให้เกิดความสียหายแก่รัฐ จำเลยที่ 1 จึงมีความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และการที่จำเลยที่ 1 ทำหนังสือเสนอต่อนายอำเภอรับรองว่าออกทำการรังวัดตรวจสอบที่ดินตลอดจนตรวจสอบแล้วว่าสามารถออกแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1) และหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) ได้ อันเป็นความเท็จ จึงมีความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ทำเอกสาร รับเอกสารหรือกรอกข้อความลงในเอกสารรับรองเป็นหลักฐานซึ่งข้อเท็จจริงอันเอกสารนั้นมุ่งพิสูจน์ความจริงอันเป็นเท็จ
จำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อในบันทึกสอบสวนสิทธิและใบรับรองเขตติดต่อที่ดินยืนยันว่ามีการครอบครองทำประโยชน์ต่อเนื่องและที่ดินมีแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1) ทั้งไม่ใช่ที่สาธารณะหรือที่หวงห้ามของทางราชการอันเป็นความเท็จ จำเลยที่ 2 จึงมีความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ทำเอกสาร รับเอกสารหรือกรอกข้อความลงในเอกสารรับรองเป็นหลักฐานซึ่งข้อเท็จจริงอันเอกสารนั้นมุ่งพิสูจน์ความจริงอันเป็นความเท็จ
การที่จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าพนักงานได้รับมอบหมายจากนายอำเภอให้ปฏิบัติหน้าที่ระวังชี้และรับรองแนวเขตที่ดินสาธารณะแต่ปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบและยังรับรองเป็นหลักฐานซึ่งข้อเท็จจริงอันเอกสารนั้นมุ่งพิสูจน์ความจริงอันเป็นความเท็จ มีจุดประสงค์อย่างเดียวเพื่อให้นายอำเภอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
of 11