คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 ม. 67

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 34 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15991/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การฟ้องอาญาฐานก่อสร้างโดยไม่ได้รับอนุญาตและฝ่าฝืนคำสั่งเจ้าพนักงาน หากฟ้องไม่ชัดเจนเรื่องวันกระทำผิดและวันปิดประกาศคำสั่ง ฟ้องอาจไม่ชอบด้วยกฎหมาย
พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 มาตรา 47 ทวิ กำหนดให้มีการปิดประกาศคำสั่งที่ให้ระงับการก่อสร้างและที่ให้รื้อถอนไว้ในที่เปิดเผยและเห็นได้ง่าย ณ อาคารหรือบริเวณที่มีการกระทำดังกล่าว และให้ถือว่าผู้ซึ่งจะต้องรับคำสั่งได้ทราบคำสั่งนั้นแล้วเมื่อพ้นกำหนดสามวันนับแต่วันที่ได้มีการปิดประกาศดังกล่าว ดังนั้น วันที่ปิดประกาศคำสั่งจึงเป็นวันเริ่มนับระยะเวลาที่ให้ถือว่าจำเลยทราบคำสั่งและมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าวภายในกำหนด มิฉะนั้นก็จะมีความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่ง วันที่ปิดประกาศคำสั่งจึงบ่งบอกวันกระทำความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่ง แต่คดีนี้โจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องว่าปิดประกาศแจ้งคำสั่งดังกล่าวเมื่อใด ดังนั้น จึงไม่อาจทราบได้ว่าจำเลยกระทำความผิดเมื่อใด จึงถือไม่ได้ว่าฟ้องโจทก์ได้บรรยายรายละเอียดเกี่ยวกับวันเวลาที่เกิดการกระทำความผิดทั้งสองฐานนี้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) ครบถ้วนแล้ว ฟ้องโจทก์ในความผิดทั้งสองฐานนี้จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5569/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การก่อสร้างรุกล้ำที่สาธารณะ, ฝ่าฝืนคำสั่งเจ้าพนักงาน, และการพิพากษาเกินคำขอ
เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยทั้งสิบดำเนินการก่อสร้างอาคารพิพาทให้ผิดไปจากแผนผังบริเวณและแบบแปลนที่ได้รับอนุญาต และรุกล้ำที่ว่างระหว่างกลางด้านหลังอาคารพิพาท การที่จำเลยทั้งสิบว่าจ้างผู้ออกแบบอาคารพิพาทและใช้วิศวกรควบคุมการก่อสร้างคนเดียวกัน ขออนุญาตก่อสร้างอาคารพิพาทในคราวเดียวกัน และดำเนินการก่อสร้างอาคารพิพาทพร้อมกัน จึงถือได้ว่าจำเลยทั้งสิบเป็นตัวการร่วมกันดำเนินการก่อสร้างอาคารพิพาทผิดไปจากแผนผังบริเวณและแบบแปลนที่ได้รับอนุญาตและรุกล้ำที่สาธารณะ
เมื่อจำเลยทั้งสิบทราบคำสั่งของเทศบาลตำบลแก่งคอยที่ให้ระงับการก่อสร้างเพราะดำเนินการก่อสร้างอาคารพิพาทผิดไปจากแผนผังบริเวณและแบบแปลนที่ได้รับอนุญาต และเพราะมีการบอกเลิกผู้ควบคุมงานและยังไม่มีการแจ้งชื่อผู้ควบคุมงานคนใหม่ จำเลยทั้งสิบไม่ปฏิบัติตาม ยังคงดำเนินการก่อสร้างอาคารพิพาทต่อไป จึงเป็นความผิดฐานเป็นตัวการร่วมกันฝ่าฝืนคำสั่งเจ้าพนักงานท้องถิ่นที่ให้ระงับการก่อสร้างเพราะดำเนินการก่อสร้างอาคารพิพาทผิดไปจากแผนผังบริเวณและแบบแปลนที่ได้รับอนุญาต และร่วมกันดำเนินการก่อสร้างในระหว่างที่ยังไม่ได้แจ้งชื่อผู้ควบคุมงานคนใหม่
ขณะจำเลยทั้งสิบได้รับคำสั่งให้ระงับการก่อสร้างเพราะดำเนินการก่อสร้างอาคารพิพาทผิดไปจากแผนผังบริเวณและแบบแปลนที่ได้รับอนุญาต และเพราะมีการบอกเลิกผู้ควบคุมงานและยังไม่มีการแจ้งชื่อผู้ควบคุมงานคนใหม่ การก่อสร้างอาคารพิพาทเริ่มไปได้ประมาณ 3 เดือน ยังอยู่ในระยะเริ่มต้นเพียงก่อสร้างฐานราก แต่จำเลยทั้งสิบดำเนินการต่อไปอีกเป็นเวลานานปีเศษ ทั้งในระหว่างนั้นจำเลยทั้งสิบได้รับคำสั่งแจ้งเตือนให้ระงับการก่อสร้างด้วยเหตุเดียวกันอีกหลายครั้ง เป็นพฤติการณ์ที่แสดงถึงการปฏิเสธไม่ยอมรับคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นที่ออกตามกฎหมาย ประกอบกับการดำเนินการก่อสร้างของจำเลยทั้งสิบมีผลทำให้การใช้ประโยชน์สาธารณสมบัติของแผ่นดินไม่สะดวกและขัดข้อง จึงไม่มีเหตุที่จะลดโทษจำเลยทั้งสิบให้เบาลง
โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยทั้งสิบออกจากที่สาธารณะที่รุกล้ำ ไม่ได้มีคำขอให้เว้นระยะห่างด้านหลังอาคารพิพาท 2 เมตร เมื่อที่ว่างระหว่างกลางด้านหลังอาคารพิพาทซึ่งเป็นที่สาธารณะตามฟ้องมีความกว้าง 1.50 เมตร ที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาให้จำเลยทั้งสิบร่วมกันเว้นระยะห่างด้านหลังอาคารพิพาท 2 เมตรตลอดแนว จึงเป็นการพิพากษาเกินคำขอ ไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่ง
ตามทางนำสืบของโจทก์และจำเลยทั้งสิบได้ความว่า ในการดำเนินการก่อสร้างอาคารพิพาท มีการร่นระยะด้านหน้าอาคารพิพาทด้านทิศตะวันตกและด้านทิศตะวันออกผิดแผกไปจากแผนผังบริเวณ และได้ความว่า ความยาวของที่ดินที่ก่อสร้างอาคารพิพาทด้านทิศตะวันตกและด้านทิศตะวันออกไม่เท่ากัน ข้อเท็จจริงไม่ได้ความชัดว่าด้านหลังอาคารพิพาทด้านทิศตะวันตกและด้านทิศตะวันออกแต่ละด้านรุกล้ำที่สาธารณะมากน้อยเท่าใด ประกอบกับการออกจากที่สาธารณประโยชน์เป็นเรื่องเฉพาะตัวของจำเลยแต่ละคนจะต้องปฏิบัติด้วยการรื้อถอนอาคารพิพาทส่วนที่รุกร้ำ เมื่อยังไม่ได้ความชัดเจนเกี่ยวกับแนวเขตของอาคารพิพาทส่วนที่ต้องรื้อถอน การที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาให้จำเลยทั้งสิบร่วมกันออกไปจากที่สาธารณประโยชน์ด้านหลังอาคารพิพาท .60 เมตร จึงไม่อาจปฏิบัติให้ถูกต้องได้ ชอบที่โจทก์จะไปว่ากล่าวดำเนินคดีต่างหาก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1870/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การลงโทษฐานฝ่าฝืนคำสั่งเจ้าพนักงานในคดีก่อสร้าง จำเป็นต้องมีบทบัญญัติรองรับโดยตรง
ความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งเจ้าพนักงานท้องถิ่นตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 มาตรา 67 จะต้องเป็นกรณีฝ่าฝืนคำสั่งให้ระงับการก่อสร้างตามมาตรา 40 (1) และคำสั่งห้ามมิให้บุคคลใดใช้หรือเข้าไปในส่วนใด ๆ ของอาคารตามมาตรา 40 (2) ส่วนกรณีตามมาตรา 40 (3) เป็นเรื่องที่กฎหมายให้อำนาจเจ้าพนักงานพิจารณาเพื่อที่จะมีคำสั่งตามมาตรา 41 หรือมาตรา 42 ต่อไป ภายหลังจากที่เจ้าพนักงานได้มีคำสั่งระงับการก่อสร้างตามมาตรา 40 (1) ไปแล้ว พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 ไม่ได้บัญญัติไว้ว่าหากฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานตามมาตรา 41 ที่ให้ขออนุญาตดัดแปลงอาคารให้ถูกต้องแล้วจะต้องได้รับโทษทางอาญาคงบัญญัติเป็นเงื่อนไขไว้ในมาตรา 42 ว่าถ้าเจ้าของอาคารมิได้ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นที่ให้ขออนุญาตดัดแปลงอาคารให้ถูกต้องตามมาตรา 41 ก็ให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นมีอำนาจสั่งให้เจ้าของอาคารรื้อถอนอาคารนั้น ซึ่งหากเจ้าของอาคารฝ่าฝืนคำสั่งที่ให้รื้อถอนอาคารนี้โดยมิได้รื้อถอนอาคารภายในกำหนดก็จะมีโทษตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 66 ทวิ ดังนั้น ที่ศาลลงโทษจำเลยฐานฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานที่ให้ขออนุญาตดัดแปลงอาคารให้ถูกต้องตามมาตรา 67 ประกอบมาตรา 40 (3) จึงไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายรองรับ เป็นการลงโทษโดยมิชอบ
โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยได้กระทำความผิดหลายกรรมแยกออกจากกัน คือ จำเลยซึ่งเป็นเจ้าของผู้ควบคุมอาคารได้ก่อสร้างดัดแปลงอาคารผิดไปจากแบบที่ได้รับอนุญาตซึ่งเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 มาตรา 31 วรรคหนึ่ง, 65 วรรคหนึ่งและวรรคสอง ฝ่าฝืนคำสั่งเจ้าพนักงานท้องถิ่นที่ห้ามมิให้บุคคลใดใช้หรือเข้าในอาคารที่ก่อสร้างดัดแปลงเป็นความผิดตามมาตรา 40 (2), 67 วรรคหนึ่ง และวรรคสอง และฝ่าฝืนคำสั่งเจ้าพนักงานท้องถิ่นที่ให้รื้อถอนอาคารที่ก่อสร้างดัดแปลงเป็นความผิดตามมาตรา 42, 66 ทวิ วรรคหนึ่ง และวรรคสอง ดังนั้น เมื่อความผิดทั้งสามกระทงดังกล่าวเกิดขึ้นต่างวาระกัน จึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1870/2549 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การลงโทษฝ่าฝืนคำสั่งเจ้าพนักงานควบคุมอาคาร: ความผิดฐานดัดแปลงอาคารต้องเป็นไปตามเงื่อนไขรื้อถอน ไม่ใช่โทษทางอาญาโดยตรง
กรณีที่จะมีความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งเจ้าพนักงานท้องถิ่นตามที่ พ.ร.บ.ควบคุมอาคารฯ มาตรา 67 กำหนดโทษไว้นั้น จะต้องเป็นกรณีฝ่าฝืนคำสั่งให้ระงับการก่อสร้างตามมาตรา 40 (1) และคำสั่งห้ามมิให้บุคคลใดใช้หรือเข้าไปในส่วนใด ๆ ของอาคารตามมาตรา 40 (2) ส่วนกรณีตามมาตรา 40 (3) นั้น เป็นเรื่องที่กฎหมายให้อำนาจเจ้าพนักงานพิจารณาเพื่อที่จะมีคำสั่งตามมาตรา 41 หรือมาตรา 42 ต่อไปภายหลังจากที่เจ้าพนักงานได้มีคำสั่งระงับการก่อสร้างตามมาตรา 40 (1) ไปแล้ว พ.ร.บ.ควบคุมอาคารฯ ไม่ได้บัญญัติไว้ในที่ใดว่า หากฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานตามมาตรา 41 ที่ให้ขออนุญาตดัดแปลงอาคารให้ถูกต้องแล้วจะต้องได้รับโทษทางอาญา คงบัญญัติเป็นเงื่อนไขไว้ในมาตรา 42 ว่าถ้าเจ้าของอาคารมิได้ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นที่ให้ขออนุญาตดัดแปลงอาคารให้ถูกต้องตามมาตรา 41 ก็ให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นมีอำนาจสั่งให้เจ้าของอาคารรื้อถอนอาคารนั้น ซึ่งหากเจ้าของอาคารฝ่าฝืนคำสั่งให้รื้อถอนอาคารนี้โดยมิได้รื้อถอนภายในกำหนดก็จะมีโทษตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 66 ทวิ ดังนั้น ที่ศาลล่างทั้งสองลงโทษจำเลยฐานฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานที่ให้ขออนุญาตดัดแปลงอาคารให้ถูกต้องตามมาตรา 67 ประกอบมาตรา 40 (3) จึงไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายรองรับเป็นการลงโทษโดยมิชอบ กรณีจึงต้องยกฟ้องโจทก์ในส่วนที่ขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานที่ให้ขออนุญาตดัดแปลงอาคารให้ถูกต้องเสีย ปัญหานี้เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3616/2546 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การกระทำผิดฐานใช้อาคารผิดประเภทและฝ่าฝืนคำสั่งเจ้าพนักงานท้องถิ่นถือเป็นความผิดหลายกรรม
เมื่อจำเลยได้ก่อสร้างอาคารที่พักอาศัยและหอพักที่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่นเสร็จแล้วเมื่อวันที่ 28 มกราคม 2540 จำเลยกลับใช้อาคารดังกล่าวเป็นโรงแรม โดยยังไม่ได้รับใบรับรองให้ใช้อาคารดังกล่าวจากเจ้าพนักงานท้องถิ่น และยังไม่ได้ใบอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่น ให้เปลี่ยนการใช้อาคารประเภทควบคุมการใช้สำหรับกิจการหนึ่งไปใช้เป็นอาคารประเภทควบคุมการใช้สำหรับอีกกิจการหนึ่ง การกระทำของจำเลยเป็นความผิดสองกรรมตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มาตรา 32 วรรคสาม กระทงหนึ่ง กับมาตรา 32 วรรคท้าย และมาตรา 33 วรรคสองอีกกระทงหนึ่ง
ความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งเจ้าพนักงานท้องถิ่นให้ระงับการใช้อาคารส่วนที่ยังไม่ได้รับใบรับรองให้ใช้อาคาร และฐานฝ่าฝืนคำสั่งเจ้าพนักงานท้องถิ่นให้ระงับการใช้อาคารส่วนที่ยังไม่ได้รับใบอนุญาตให้เปลี่ยนการใช้อาคารประเภทควบคุมการใช้สำหรับกิจการหนึ่งไปใช้เป็นอาคารประเภทควบคุมการใช้สำหรับอีกกิจการหนึ่ง แม้เจ้าพนักงานท้องถิ่นจะได้แจ้งคำสั่งให้ระงับการการใช้อาคารทั้งสองลักษณะให้จำเลยทราบพร้อมกัน และจำเลยได้ฝ่าฝืนคำสั่งทั้งสองดังกล่าวในขณะเดียวกันก็ตาม แต่ความผิดทั้งสองข้อหามีองค์ประกอบความผิดที่แตกต่างกัน แต่ละข้อหาจะมีความผิดตลอดไปจนกว่าจำเลยได้รับใบรับรองให้ใช้อาคารและจนกว่าจำเลยได้รับใบอนุญาตให้เปลี่ยนการใช้อาคารแล้วแต่กรณี และการได้รับใบรับรองให้ใช้อาคารและใบอนุญาตในแต่ละกรณี เป็นคนละเรื่องไม่เกี่ยวข้องกัน และอาจได้รับใบรับรองให้ใช้อาคารและใบอนุญาตในระยะเวลาที่แตกต่างกันด้วย ทั้งความผิดฐานใช้อาคารโดยไม่ได้รับใบรับรองให้ใช้อาคารและฐานใช้อาคารเพื่อการอื่นนอกจากที่ระบุไว้ในใบอนุญาตเป็นความผิดหลายกรรมอีกด้วย การกระทำความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งเจ้าพนักงานท้องถิ่นทั้งสองลักษณะจึงย่อมเป็นความผิดหลายกรรมแยกต่างหากจากกันได้เช่นกัน
โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยกระทำความผิดฐานใช้อาคารประเภทควบคุมการใช้โดยไม่ได้รับใบรับรองให้ใช้อาคารตั้งแต่วันที่ 28 มกราคม 2540 ถึงวันที่ 4 ธันวาคม 2540 จึงต้องลงโทษปรับจำเลยเป็นรายวันตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มาตรา 65 วรรคสอง เพียงถึงวันที่ 4 ธันวาคม 2540 เท่านั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8243/2544

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การลงโทษปรับรายวันกรณีดัดแปลงอาคารและฝ่าฝืนคำสั่งเจ้าพนักงานท้องถิ่น การกำหนดระยะเวลาการกระทำความผิดที่ถูกต้อง
พระราชบัญญัติควบคุมอาคารฯ มาตรา 65 วรรคสองและมาตรา 67 วรรคสอง บัญญัติโทษของผู้ฝ่าฝืนโดยให้ปรับอีกวันละไม่เกิน 10,000 บาท ตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืนหรือจนกว่าจะได้ปฏิบัติให้ถูกต้องสำหรับความผิดฐานดัดแปลงอาคารเพื่อพาณิชยกรรมโดยไม่ได้รับใบอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่นและให้ปรับอีกวันละไม่เกิน 30,000 บาท ตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืนหรือจนกว่าจะได้ปฏิบัติให้ถูกต้องสำหรับความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นที่ให้ระงับการดัดแปลงอาคารและความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นที่ห้ามใช้อาคาร เมื่อจำเลยเป็นผู้ครอบครองอาคารและมิได้ปฏิเสธว่าเป็นผู้ดัดแปลงอาคารด้วยตนเองจำเลยจึงเป็นผู้ดำเนินการตามความหมายในมาตรา 4 ซึ่งต้องระวางโทษเป็นสองเท่าของโทษที่บัญญัติไว้สำหรับความผิดแต่ละฐานตามมาตรา 69 นอกจากนี้การกระทำความผิดของจำเลยยังเป็นการกระทำอันเกี่ยวกับอาคารเพื่อพาณิชยกรรมต้องตามมาตรา 70 ซึ่งบัญญัติโทษของผู้กระทำความผิดเป็นสองเท่าของโทษที่บัญญัติไว้สำหรับความผิดแต่ละฐานอีกด้วย ดังนั้น โทษที่จำเลยกระทำจึงมีระวางโทษปรับรายวันวันละไม่เกิน 40,000 บาท สำหรับความผิดฐานดัดแปลงอาคารเพื่อพาณิชยกรรมโดยไม่ได้รับใบอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่น และไม่เกิน 120,000 บาท สำหรับความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นที่ให้ระงับการดัดแปลงอาคารและความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นที่ห้ามใช้อาคาร
การลงโทษปรับจำเลยเป็นรายวันสำหรับความผิดฐานดัดแปลงอาคารเพื่อพาณิชยกรรมโดยไม่ได้รับใบอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่น เริ่มนับแต่วันที่ดัดแปลงอาคารโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมายไปจนถึงวันที่ดัดแปลงอาคารเสร็จ ส่วนการกระทำความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นที่ให้ระงับการดัดแปลงอาคารและความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นที่ห้ามใช้อาคารเริ่มนับแต่วันที่จำเลยทราบคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นที่ให้ระงับการดัดแปลงอาคารและห้ามใช้อาคารแล้วฝ่าฝืนคำสั่งไปจนถึงวันที่ดัดแปลงอาคารเสร็จและหยุดใช้อาคาร

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4663/2543

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การดัดแปลงอาคารโดยไม่ได้รับอนุญาต แม้ต่อมาจะได้รับอนุญาตภายหลัง ก็ไม่ทำให้ความผิดในอดีตสิ้นสุดลง
การที่จำเลยดัดแปลงอาคารโดยมิได้รับอนุญาต อันเป็นการฝ่าฝืนบทบัญญัติแห่ง พ.ร.บ.ควบคุมอาคารฯ และเจ้าพนักงานท้องถิ่นได้มีคำสั่งห้ามจำเลยใช้อาคารที่ดัดแปลงดังกล่าว เมื่อจำเลยฝ่าฝืน การกระทำของจำเลยจึงเป็นการกระทำความผิดสำเร็จแล้ว แม้ต่อมาเจ้าพนักงานท้องถิ่นจะมีคำสั่งอนุญาตให้จำเลยดัดแปลงอาคารของจำเลยดังกล่าวได้ตามแบบแปลนที่ได้ยื่นไว้เดิมก็ตาม ก็หามีผลย้อนหลังไปอันจะเป็นเหตุให้ขณะที่จำเลยกระทำการดัดแปลงอาคารโดยยังมิได้รับอนุญาตก่อนนั้นซึ่งเป็นการกระทำความผิดสำเร็จแล้ว กลับเป็นการได้รับอนุญาตโดยชอบแต่อย่างใด เพราะตราบใดที่เจ้าพนักงานท้องถิ่นยังไม่มีการอนุญาตก็ต้องถือว่าการกระทำของจำเลยยังเป็นความผิดอยู่ตลอดมาจนถึงวันที่เจ้าพนักงานท้องถิ่นมีคำสั่งอนุญาต

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2117/2542 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คำฟ้องความผิด พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร ไม่เคลือบคลุม แม้ไม่ได้ระบุรายละเอียดการดัดแปลงหรือแนบคำสั่ง
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกระทำผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นที่ห้ามจำเลยใช้อาคารพิพาทที่ได้มีการดัดแปลงโดยมิได้รับอนุญาต อันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 มาตรา 40 (2) ซึ่งมีโทษตามมาตรา 67 และ 70 เมื่อโจทก์ได้บรรยายฟ้องว่า จำเลยซึ่งเป็นเจ้าของและผู้ครอบครองอาคารพิพาทเพื่อพาณิชยกรรมและพักอาศัยที่ได้มีการดัดแปลงโดยมิได้รับอนุญาต ได้รับแจ้งคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นที่ห้ามใช้หรือเข้าไปในส่วนใด ๆของอาคารหรือบริเวณอาคารที่ดัดแปลงแล้ว จำเลยได้ฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นดังกล่าวโดยใช้อาคารที่ดัดแปลงตั้งแต่วันดังกล่าวจนถึงวันฟ้อง ครบองค์ประกอบความผิดตามมาตรา 40 (2) ประกอบมาตรา 67 และ 70 ดังนี้คำฟ้องของโจทก์ได้บรรยายการกระทำของจำเลย มีข้อเท็จจริงและรายละเอียดเกี่ยวกับเวลาและสถานที่ซึ่งเกิดการกระทำผิด ทั้งสิ่งที่เกี่ยวข้องด้วยพอสมควรที่จะให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดีตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 158 (5) แห่ง ป.วิ.อ.แล้ว การที่โจทก์มิได้บรรยายฟ้องว่า จำเลยดัดแปลงอาคารอย่างไร หรือมิได้แนบคำสั่งห้ามของเจ้าพนักงานท้องถิ่นมาท้ายฟ้อง หาทำให้คำฟ้องของโจทก์กลายเป็นฟ้องเคลือบคลุมไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2117/2542

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คำฟ้องไม่เคลือบคลุมแม้ไม่ได้ระบุรายละเอียดการดัดแปลงอาคารและการแนบคำสั่งห้าม
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกระทำผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นที่ห้าจำเลยใช้อาคารพิพาทที่ได้มีการดัดแปลงโดยมิได้รับอนุญาต อันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มาตรา 40(2)ซึ่งมีโทษตามมาตรา 67 และ 70 เมื่อโจทก์ได้บรรยายฟ้องว่าจำเลยซึ่งเป็นเจ้าของและผู้ครอบครองอาคารพิพาทเพื่อพาณิชยกรรมและพักอาศัยที่ได้มีการดัดแปลงโดยมิได้รับอนุญาต ได้รับแจ้งคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นที่ห้ามใช้หรือเข้าไปในส่วนใด ๆ ของอาคารหรือบริเวณอาคารที่ดัดแปลงแล้ว จำเลยได้ฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นดังกล่าวโดยใช้อาคารที่ดัดแปลงตั้งแต่วันดังกล่าวจนถึงวันฟ้องครบองค์ประกอบความผิดตามมาตรา 40(2)ประกอบมาตรา 67 และ 70 ดังนี้คำฟ้องของโจทก์ได้บรรยายการกระทำของจำเลย มีข้อเท็จจริงและรายละเอียดเกี่ยวกับเวลาและสถานที่ซึ่งเกิดการกระทำผิด ทั้งสิ่งที่เกี่ยวข้องด้วยพอสมควรที่จะให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดีตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 158(5) แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาแล้ว การที่โจทก์มิได้บรรยายฟ้องว่า จำเลยดัดแปลงอาคารอย่างไรหรือมิได้แนบคำสั่งห้ามของเจ้าพนักงานท้องถิ่นมาท้ายฟ้องหาทำให้คำฟ้องของโจทก์กลายเป็นฟ้องเคลือบคลุมไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3342/2541 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การดัดแปลงอาคารโดยไม่ได้รับอนุญาต: คาน, โครงสร้าง, และอำนาจเจ้าพนักงานท้องถิ่น
พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 มิได้ให้บทนิยามอธิบายความหมายของคำว่า โครงสร้างอาคาร ไว้ แต่เมื่อพิจารณาความหมายในทางวิศวกรรมก่อสร้างและเจตนารมณ์ตาม พ.ร.บ.ฉบับนี้แล้ว โครงสร้างอาคารหมายถึงส่วนประกอบที่สำคัญของอาคารซึ่งได้แก่ ฐานราก เช่น คานคอดิน ตอม่อเสา หรือส่วนกลางของอาคาร เช่น คาน พื้น หรือส่วนบนของอาคาร เช่น โครงหลังคา หลังคา เป็นต้น
คานลอยแม้มิได้เชื่อมติดกับเสา แต่ก็มีไว้สำหรับรองรับน้ำหนักและกำลังต้านทานเช่นเดียวกับคานโครงสร้าง นับได้ว่าเป็นส่วนประกอบที่สำคัญของอาคาร จึงเป็นโครงสร้างของอาคารตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522เมื่อจำเลยกระทำต่อลักษณะ ขอบเขต แบบ รูปทรง สัดส่วน น้ำหนัก หรือเนื้อที่แห่งโครงสร้างของอาคารและเป็นการเปลี่ยนโครงสร้างของอาคารที่เป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก ซึ่งไม่ต้องด้วยข้อยกเว้นที่มิให้ถือว่าเป็นการดัดแปลงอาคารตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 11 (พ.ศ.2528) ข้อ 1 (1) ซึ่งออกตามความใน พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 มาตรา 4 และมาตรา 5 (3) การกระทำของจำเลยจึงเป็นการดัดแปลงอาคารโดยมิได้รับใบอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่น และการที่จำเลยเปลี่ยนโครงหลังคาจากไม้เป็นเหล็ก ย่อมเป็นการเปลี่ยนโครงสร้างของอาคารโดยมิได้ใช้วัสดุชนิดเดียวกับของเดิม ซึ่งไม่ต้องด้วยข้อยกเว้นตามข้อ 1 (1)แห่งกฎกระทรวงฉบับดังกล่าว การกระทำของจำเลยในส่วนนี้จึงเป็นการดัดแปลงอาคารโดยมิได้รับใบอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่นเช่นเดียวกัน
เมื่อจำเลยดัดแปลงอาคารอันเป็นการฝ่าฝืนบทบัญญัติแห่งพ.ร.บ.ควบคุมอาคารฯ เจ้าพนักงานท้องถิ่นย่อมมีอำนาจดำเนินการมีคำสั่งห้ามจำเลยกระทำการดังกล่าวได้ตามมาตรา 40 (2) แห่ง พ.ร.บ.ควบคุมอาคารพ.ศ.2522 คำสั่งห้ามของเจ้าพนักงานท้องถิ่นจึงชอบด้วยกฎหมาย และเมื่อจำเลยฝ่าฝืนจึงเป็นการกระทำความผิดสำเร็จแล้ว แม้ต่อมาเจ้าพนักงานท้องถิ่นจะได้มีคำสั่งให้จำเลยแก้ไขแบบแปลนและเพิ่มรายการคำนวณตามที่จำเลยแจ้งขอดัดแปลงอาคารต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่นตามมาตรา 39 ทวิ แห่ง พ.ร.บ.ควบคุมอาคารพ.ศ.2522 ก็ตาม ก็หาทำให้คำสั่งห้ามที่ชอบด้วยกฎหมายกลับเป็นคำสั่งห้ามที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายไปไม่
of 4