คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.พ.พ. ม. 1629 (4)

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 4 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7005-7006/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิทายาทโดยธรรมลำดับที่ 6 (ลุง ป้า น้า อา) แม้บิดาผู้ตายไม่ชอบด้วยกฎหมาย และการตั้งผู้จัดการมรดก
ตามบทบัญญัติ ป.พ.พ. มาตรา 1629 รวมทั้งบทบัญญัติประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 ครอบครัวและบรรพ 6 มรดก ไม่มีข้อความใดที่บ่งชี้หรือแสดงให้เห็นว่าทายาทโดยธรรมลำดับ (3) ถึง (6) ต้องชอบด้วยกฎหมายกับมีสิทธิและหน้าที่ต่อกันในทางครอบครัวจึงจะมีสิทธิรับมรดก คงมีแต่ข้อความที่บ่งชี้ให้เห็นว่าทายาทโดยธรรมลำดับ (1) เฉพาะชั้นบุตรและ (2) เท่านั้นที่ต้องชอบด้วยกฎหมายกับมีสิทธิและหน้าที่ต่อกันในทางครอบครัวจึงจะมีสิทธิรับมรดก ทั้งนี้ตามมาตรา 1461 ถึงมาตรา 1484/1 และมาตรา 1627 ดังนั้น ไม่ว่าบิดาของผู้ตายจะชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ก็ไม่ใช่สาระสำคัญที่จะทำให้ความเป็นทายาทโดยธรรมลำดับ (3) พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน (4) พี่น้องร่วมบิดาหรือร่วมมารดาเดียวกัน (5) ปู่ ย่า ตา ยาย (6) ลุง ป้า น้า อา ของผู้ตายเปลี่ยนแปลงไป เพราะกฎหมายมิได้กำหนดว่าการเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน พี่น้องร่วมบิดาหรือร่วมมารดาเดียวกัน ปู่ ย่า ตา ยาย และลุง ป้า น้า อา ชอบด้วยกฎหมายต้องให้บิดาของผู้ตายเป็นบิดาชอบด้วยกฎหมายหรืออย่างไรจึงถือว่าชอบด้วยกฎหมาย ดังนี้ ต้องถือความเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน พี่น้องร่วมบิดาหรือร่วมมารดาเดียวกัน ปู่ ย่า ตา ยาย และลุง ป้า น้า อา ตามความเป็นจริง เมื่อผู้คัดค้านที่ 2 เป็นน้องชายของ พ. ซึ่งเป็นบิดาของผู้ตาย ผู้คัดค้านที่ 2 จึงเป็นอาของผู้ตายอันเป็นทายาทโดยธรรมลำดับที่ (6) ของผู้ตายตามมาตรา 1629 (6) เมื่อผู้ตายไม่ได้ทำพินัยกรรมไว้และไม่มีทายาทโดยธรรมลำดับ (1) ถึง (5) ผู้คัดค้านที่ 2 ย่อมมีสิทธิรับมรดกของผู้ตายตามมาตรา 1620, 1629 และ 1630

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2742/2545 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความเป็นทายาทโดยธรรมในฐานะพี่น้องร่วมบิดา แม้เกิดจากบิดาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
การเป็นทายาทโดยธรรมในฐานะพี่น้องร่วมบิดาเดียวกันตาม ป.พ.พ. มาตรา 1629 (4) นั้น ต้องถือความเป็นพี่น้องร่วมบิดาเดียวกันตามความเป็นจริง ผู้ร้องเป็นบุตรนาง น. ผู้ตายเป็นบุตรนาง ท. โดยมีนาย ท. เป็นบิดาเดียวกัน แม้ผู้ร้องและผู้ตายเป็นบุตรไม่ชอบด้วยกฎหมายของนาย ท. ก็ถือว่าผู้ร้องและผู้ตายเป็นพี่น้องร่วมบิดาเดียวกัน ผู้ร้องจึงเป็นทายาท โดยธรรม ตามบทกฎหมายข้างต้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2838/2527

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การยกที่ดินให้แต่ไม่จดทะเบียน ไม่ทำให้สิทธิในที่ดินตกเป็นของผู้รับยก การครอบครองโดยอาศัยสิทธิผู้อื่นไม่ทำให้ได้สิทธิครอบครอง
เจ้าของที่ดินพูดยกที่พิพาทให้จำเลยโดยมีเจตนาที่จะไปจดทะเบียนการให้ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่กันต่อไป แสดงว่ายังมิได้แสดงเจตนาสละการครอบครองให้จำเลย การที่จำเลยเข้าครอบครองที่พิพาทก่อนทำการโอนจึงเป็นการครอบครองโดยอาศัยสิทธิของเจ้าของที่พิพาท ไม่ได้เข้าครอบครองในฐานะผู้แย่งการครอบครองแม้จะครอบครองนานเท่าใดก็ไม่ทำให้ได้สิทธิครอบครองทั้งไม่ทำให้ผู้มีสิทธิในที่พิพาทหมดสิทธิฟ้องเรียกคืนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1375 และเมื่อเจ้าของที่พิพาทตายโดยที่ยังมิได้ไปทำการยกให้เป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ การยกให้ย่อมไม่สมบูรณ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 525ประกอบด้วยมาตรา 129 ที่พิพาทยังไม่ตกเป็นของจำเลยแต่เป็นมรดกตกได้แก่ทายาทของเจ้าของที่ดิน
โจทก์เป็นน้องร่วมบิดาเดียวกันกับเจ้าของที่พิพาทย่อมเป็นทายาทได้รับมรดกในที่พิพาทตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1629(4) เพราะไม่มีทายาทของเจ้าของที่พิพาทระดับเหนือกว่าโจทก์ขึ้นไป