พบผลลัพธ์ทั้งหมด 2 รายการ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7363/2555
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การยกเว้นภาษีเงินได้จากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพกรณีเกษียณอายุ: การตีความ 'สิ้นสุดสัญญาจ้าง' และข้อยกเว้นตามประกาศกรมสรรพากร
ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 52) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการสำหรับกรณีลูกจ้างออกจากงานเพราะเกษียณอายุ ทุพพลภาพ หรือตาย ที่แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 151) และ (ฉบับที่ 158) ตามลำดับ กำหนดว่า ข้อ 1 (1) กรณีเกษียณอายุ ลูกจ้างผู้นั้นต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 55 ปี บริบูรณ์ ซึ่งออกจากงานเพราะครบกำหนดหรือสิ้นกำหนดเวลาทำงานตามสัญญาจ้างแรงงานที่เป็นลายลักษณ์อักษร และเข้าเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี ดังนี้ ตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร ดังกล่าว มิได้มีบทบังคับเด็ดขาดว่ากรณีเกษียณอายุจะต้องเป็นกำหนดเวลาทำงานที่มีอยู่แล้วตั้งแต่เวลาที่ลูกจ้างเริ่มเข้าทำงาน จึงไม่อาจขยายความให้เป็นผลร้ายแก่ผู้เสียภาษีอากรได้ กรณีของโจทก์แม้ตามข้อบังคับธนาคารแห่งประเทศไทยว่าด้วยการพนักงาน พ.ศ.2546 จะกำหนดเวลาการจ้างแรงงานไว้ในข้อ 6.6 คือ พนักงานพ้นจากตำแหน่งเพราะครบเกษียณอายุ คือให้พนักงานผู้มีอายุครบ 60 ปี บริบูรณ์ พ้นจากตำแหน่งในวันที่ 1 ตุลาคม หลังจากที่พนักงานผู้นั้นมีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ ก็ตาม แต่การที่โจทก์ออกจากงานก่อนกำหนดดังกล่าวตามระเบียบธนาคารแห่งประเทศไทย ที่ พ 42/2547 เรื่อง การออกจากงานโดยความเห็นชอบร่วมกัน พ.ศ.2547 ถึง 2550 นั้น เป็นการเลิกสัญญาจ้างกันโดยความตกลงของทั้งสองฝ่ายที่เป็นลายลักษณ์อักษรในภายหลังอันมีผลให้กำหนดเวลาทำงานตามสัญญาจ้างแรงงานสิ้นสุดลง ทั้งมิใช่เป็นการทำข้อตกลงให้โจทก์ลาออกในกรณีปกติตามข้อบังคับธนาคารแห่งประเทศไทย ว่าด้วยการพนักงาน พ.ศ.2546 ข้อ 6.6 (2) จึงถือได้ว่าโจทก์ออกจากงานเพราะสิ้นกำหนดเวลาทำงานตามสัญญาจ้างแรงงานที่เป็นลายลักษณ์อักษร ตามหลักเกณฑ์กรณีเกษียณอายุในข้อ 1 (1) ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 52) ดังกล่าวแล้ว เมื่อขณะออกจากงานโจทก์มีอายุ 56 ปี และเข้าเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี เงินได้ที่โจทก์ได้จากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพย่อมได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2077/2548
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การยกเว้นภาษีเงินได้จากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพกรณีเกษียณอายุ ต้องเข้าหลักเกณฑ์อายุและระยะเวลาสมาชิกภาพ
ตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร (ฉบับที่ 52) กำหนดให้เงินได้ที่ลูกจ้างได้จากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพกรณีเกษียณอายุที่ได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาต้องเข้าหลักเกณฑ์ 3 ประการ คือ ประการแรก เงินได้นั้นลูกจ้างต้องได้รับจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพกรณีเกษียณอายุ ประการที่สอง ลูกจ้างมีอายุขณะเกษียณอายุไม่ต่ำกว่า 55 ปีบริบูรณ์ ประการที่สาม ลูกจ้างเข้าเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี หรือเข้าเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพในระหว่างวันที่ 13 กันยายน 2537 ถึงวันที่ 2 ธันวาคม 2538 และได้ออกจากงานเพราะเกษียณอายุก่อนวันที่ 2 ธันวาคม 2543 ซึ่งมีระยะเวลาทำงานให้แก่นายจ้างก่อนเกษียณอายุไม่น้อยกว่า 5 ปี เมื่อโจทก์ปฏิบัติตามคู่มือพนักงานซึ่งถือว่าเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง ระบุเกี่ยวกับการเกษียณอายุของพนักงานไว้ 2 กรณี กรณีแรก พนักงานจะเกษียณอายุเมื่ออายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ กรณีที่สอง บริษัทอาจอนุญาตให้พนักงานเกษียณอายุก่อนครบ 60 ปีบริบูรณ์ได้ โดยมีเงื่อนไข คือ บริษัทกับพนักงานต้องมีข้อตกลงเป็นข้อตกลงเป็นหนังสือ พนักงานที่ขอเกษียณต้องมีอายุครบ 50 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป และพนักงานผู้ขอเกษียณอายุต้องมีอายุการทำงานอย่างน้อย 15 ปี เมื่อโจทก์ทำหนังสือขอเกษียณอายุและบริษัทอนุมัติให้โจทก์เกษียณอายุก่อนกำหนด ถือได้ว่าโจทก์กับบริษัทมีข้อตกลงเป็นหนังสือ เมื่อโจทก์เข้าทำงานมาแล้วมีอายุการทำงาน 18 ปีเศษ อีกทั้งโจทก์เข้าเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพในระหว่างระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด จึงเข้าหลักเกณฑ์ที่ได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา