คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.รัษฎากร ม. 65 ตรี (12)

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 4 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15100/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิการหักผลขาดทุนสะสมตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมการลงทุน การนำผลขาดทุนมาหักต้องเป็นไปตามลำดับขั้นตอนที่กฎหมายกำหนด
พ.ร.บ.ส่งเสริมการลงทุน พ.ศ.2520 ไม่มีบทบัญญัติที่กำหนดวิธีการคำนวณผลกำไรสุทธิหรือขาดทุนสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับบริษัทที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน การเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับบริษัทที่ได้รับส่งเสริมการลงทุน ไม่ว่ามีการประกอบกิจการที่ไม่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนด้วยหรือไม่ จึงย่อมต้องอยู่ภายใต้บังคับของ ป.รัษฎากร การประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ที่อาศัยหลักการอ้างอิงตาม ป.รัษฎากร มาตรา 65 ตรี (12) และประกาศกรมสรรพากร เรื่อง การคำนวณกำไรสุทธิและขาดทุนสุทธิของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน ลงวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2550 กับคำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากร ที่ 38/2552 เรื่อง ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการนำผลขาดทุนของกิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนไปหักออกจากกำไรสุทธิที่เกิดขึ้นภายหลังระยะเวลาที่ได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล จึงหาได้ขัดหรือแย้งกับ พ.ร.บ.ส่งเสริมการลงทุน พ.ศ.2520 มาตรา 31 แต่อย่างใด และเป็นการวางหลักเกณฑ์สำหรับบริษัทที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนในการนำผลขาดทุนสะสมมาใช้ในการคำนวณกำไรสุทธิหรือขาดทุนสุทธิ ระหว่างเวลาที่บริษัทได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลต่อเนื่องไปจนถึงระหว่างเวลาที่บริษัทได้รับลดหย่อนอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล
ผลขาดทุนสะสมของกิจการโจทก์ที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2540 มีอยู่ 925,073,207.26 บาท โจทก์มีสิทธินำไปใช้ได้อีกกับกิจการที่ได้รับลดหย่อนอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล และกิจการที่ไม่ได้รับลดหย่อนอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2541 ถึงปี 2545 ได้ เมื่อรอบระยะเวลาบัญชีปี 2545 ซึ่งเป็นปีสุดท้ายที่โจทก์ได้รับสิทธิประโยชน์ลดหย่อนอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลตามบัตรส่งเสริมการลงทุน กิจการที่โจทก์ได้รับลดหย่อนอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลมีกำไร 529,193,933.48 บาท แต่รอบระยะเวลาบัญชีอื่น ๆ ก่อนหน้านี้ คือ รอบระยะเวลาบัญชีปี 2542 ถึงปี 2544 กิจการของโจทก์ที่ได้รับลดหย่อนอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลขาดทุนทุกปีจำนวน 17,327,968.11 บาท 343,670,021.13 บาท และ 5,820,970.03 บาท ตามลำดับ โจทก์จะนำเอาผลขาดทุนสะสมของกิจการที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2540 ที่ยังเหลืออยู่อีก 925,073,207.26 บาท ไปใช้กับกิจการที่ได้รับลดหย่อนอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2541 ถึงปี 2545 ได้ก็ต่อเมื่อโจทก์ได้นำเอาผลขาดทุนของกิจการที่ได้รับลดหย่อนอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลในแต่ละรอบระยะเวลาบัญชีปี 2541 ถึงปี 2545 ตามลำดับมาใช้ก่อน หลังจากนั้นในแต่ละรอบระยะเวลาบัญชีดังกล่าวโจทก์จึงจะมีสิทธิเอาผลขาดทุนสะสมของกิจการที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2540 ที่เหลืออยู่ 925,073,207.26 บาท มาใช้ได้มีกำหนดเวลาไม่เกินห้าปี โดยในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2541 ถึงปี 2545 โจทก์จะเลือกหักจากกำไรสุทธิของปีใดปีหนึ่งหรือหลายปีก็ได้ ตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมการลงทุน พ.ศ.2520 มาตรา 31 วรรคสี่ ซึ่งจะทำให้กิจการที่ได้รับลดหย่อนอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2545 ไม่มีกำไร และมีผลขาดทุนสะสมเหลืออยู่อีก 762,698,233.05 บาท เมื่อนำไปหักกับกำไรของกิจการที่ไม่ได้รับลดหย่อนอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2545 จำนวน 342,816,923.13 บาท จะทำให้กิจการที่ไม่ได้รับลดหย่อนอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2545 ไม่มีกำไร ส่วนผลขาดทุนสะสมของกิจการโจทก์ที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2540 เหลืออยู่อีก 419,881,309.92 บาท โจทก์ไม่มีสิทธินำไปใช้อีกเพราะสิ้นกำหนดเวลาห้าปีนับแต่พ้นกำหนดเวลาได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมการลงทุน พ.ศ.2520 มาตรา 31 วรรคสี่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8763/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อพิพาทภาษีอากร: การประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีธุรกิจเฉพาะ และการไถ่ถอนหุ้นกู้
กรณีคำสั่งทางปกครองที่เข้าข้อยกเว้นว่าเป็นเหตุผลที่รู้กันอยู่แล้ว ไม่จำต้องระบุแสดงเหตุผลตามมาตรา 37 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 เจ้าพนักงานออกหมายเรียกตรวจสอบไต่สวนให้โจทก์นำหลักฐานมาแสดง ผู้รับมอบอำนาจโจทก์ไปพบเจ้าพนักงานหลายครั้ง เจ้าพนักงานแจ้งผลการตรวจสอบให้โจทก์ทราบ ต่อมาเจ้าพนักงานประเมินมีหนังสือแจ้งการประเมินตามผลการตรวจสอบนั้น และโจทก์อุทธรณ์การประเมินได้ตรงตามการประเมิน จึงเป็นกรณีที่เหตุผลที่ต้องแสดงนั้นเป็นที่รู้กันอยู่แล้ว ไม่จำต้องระบุแสดงเหตุผลอีก
การหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย เป็นกรณีบังคับผู้จ่ายเงิน ทรัพย์สินหรือประโยชน์ใดๆ หักภาษีก่อนจ่ายหรือทันทีที่จ่ายเมื่อนำส่งแก่ผู้รับเงินได้พึงประเมิน โจทก์ล้างบัญชีเพราะบริษัท ซ. เจ้าหนี้เลิกกิจการและชำระบัญชีโดยไม่ทวงถามต้นเงินและดอกเบี้ยจากโจทก์ ฟังได้ว่าโจทก์มิได้จ่ายเงินดอกเบี้ยให้แก่บริษัท ซ. ตามการประเมิน และกรณีมิใช่โจทก์และบริษัท ซ. หักกลบลบหนี้กัน เพราะโจทก์ลงทุนถือหุ้นมิได้เป็นเจ้าหนี้บริษัท ซ. จึงไม่มีหนี้ที่จะหักกลบลบกันได้ระหว่างเงินที่โจทก์กู้ยืมกับเงินลงทุนซึ่งบริษัท ซ. ชำระบัญชีไปแล้ว
โจทก์ปลดหนี้ให้แก่บริษัท ท. และนำจำนวนเงินดังกล่าวไปบวกกลับเป็นรายได้เพื่อคำนวณกำไรขาดทุนสุทธิในการเสียภาษีแล้ว แสดงว่าไม่ใช่กรณีโจทก์จำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้โดยฝ่าฝืนต่อกฎกระทรวง ฉบับที่ 186 (พ.ศ.2543)
โจทก์ขายหุ้นบริษัท อ. ให้แก่บริษัทในเครือ หุ้นของบริษัท อ. ที่โจทก์ขายยังอยู่ในกลุ่มบริษัทของโจทก์ตามเดิม มิใช่เป็นการขายให้แก่คู่สัญญาที่เป็นอิสระต่อกัน เมื่อข้อมูลและวิธีการหามูลค่าที่แท้จริงของราคาหุ้นไม่น่าเชื่อถือ การขายหุ้นบริษัทที่จัดตั้งขึ้นที่ดินแดนหมู่เกาะบริติชเวอร์จินให้แก่บริษัทในเครือในราคา 1 ดอลลาร์สหรัฐ จึงฟังไม่ได้ว่าเป็นการขายต่ำกว่าราคาตลาดโดยมีเหตุอันสมควร การที่เจ้าพนักงานประเมินใช้ราคาตามมูลค่าทางบัญชีประเมินภาษีแก่โจทก์จึงมีเหตุผลอันสมควร
การปลดหนี้เป็นผลให้หนี้เงินกู้ระงับไปแล้ว โจทก์ไม่มีรายรับดอกเบี้ยจากเงินกู้ตามการประเมิน จึงไม่มีหน้าที่เสียภาษีธุรกิจเฉพาะ
หนังสือแจ้งการเปลี่ยนแปลงผลขาดทุนสุทธิมีข้อความระบุรายการที่ประเมิน เมื่อโจทก์มิได้อุทธรณ์การประเมินรายการดังกล่าวจึงเป็นอันยุติตามการประเมิน
หนังสือแจ้งให้นำส่งภาษีเงินได้นิติบุคคล หนังสือแจ้งเปลี่ยนแปลงผลขาดทุนสุทธิ หนังสือแจ้งภาษีเงินได้นิติบุคคล และหนังสือแจ้งการประเมินภาษีธุรกิจเฉพาะแต่ละเดือนภาษี มีสภาพเป็นคำฟ้องแต่ละข้อหาไม่เกี่ยวข้องกัน สามารถแยกออกจากกันได้ คำฟ้องจึงมีหลายข้อหา การที่ศาลภาษีอากรกลางให้โจทก์เสียค่าขึ้นศาลแยกเป็นรายการตามข้อหาจึงชอบแล้ว
การที่เจ้าพนักงานเปลี่ยนแปลงผลขาดทุนสุทธิขึ้นใหม่ทำให้ผลขาดทุนสุทธิน้อยลงไป หากศาลวินิจฉัยให้เพิกถอนการประเมินจะทำให้โจทก์ได้รับประโยชน์ในส่วนภาษีนิติบุคคลที่เปลี่ยนแปลงตามรายการนั้นด้วย ย่อมเป็นคดีมีทุนทรัพย์
การออกหุ้นกู้ของโจทก์เป็นกรณีโจทก์กู้เงินจากผู้ถือตราสารหุ้นกู้และต้องคืนโดยการไถ่ถอนหุ้นกู้ การที่โจทก์ไถ่ถอนหุ้นกู้โดยเจ้าหนี้ยอมรับชำระไม่เต็มจำนวนที่ตราไว้ในตราสารแสดงสิทธิในหุ้นกู้ตามการประเมิน มิใช่เป็นการประกอบกิจการโดยปกติเยี่ยงธนาคารพาณิชย์ ตามมาตรา 91/2 (5) แห่งประมวลรัษฎากร

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1326/2530 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การยอมรับผลประเมินภาษีแล้ว ถือเป็นการยุติสิทธิในการโต้แย้งภายหลัง แม้จะมีข้ออ้างเรื่องขาดทุนสะสม
เมื่อบริษัทโจทก์ยอมรับผลการประเมินสำหรับปี 2516 และ 2517ของเจ้าพนักงานประเมินที่เรียกเก็บภาษีเงินได้และเงินเพิ่มจากโจทก์ โดยโจทก์มิได้อุทธรณ์คัดค้าน และได้ชำระค่าภาษีเงินได้และเงินเพิ่มตามที่เจ้าพนักงานประเมินมีคำสั่งให้ชำระแก่จำเลยแล้วย่อมถือได้ว่าการประเมินดังกล่าวชอบแล้วและเป็นอันยุติ โจทก์จะรื้อฟื้นขึ้นมาโต้เถียง เป็นอย่างอื่นอีกโดยอ้างว่ารู้เท่าไม่ถึงการณ์มิได้ จึงฟังไม่ได้ว่าโจทก์ยังมียอด ขาดทุนสุทธิยกมาไม่เกิน 5 ปี นำมาหักกับยอด กำไรสุทธิในปี 2518 อีก.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3185/2522 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การหักผลขาดทุนสุทธิยกมาเพื่อคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคล ต้องเป็นไปตามขั้นตอนการยื่นแบบ ภ.ง.ด.5 ของแต่ละปี
ผลขาดทุนสุทธิยกมาไม่เกิน 5 ปี ก่อนรอบระยเวลาบัญชีปีปัจจุบันซึ่งยอมให้ถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิตามประมวลรัษฎากร มาตรา 65 ตรี (12) นั้นหมายความว่าผลขาดทุนที่ยกมาตามวิธีการทางบัญชีแต่ละปีจนถึงปีที่มีกำไรสุทธิ แต่ต้องยกมาไม่เกิน 5 ปี ก่อนรอบระยะเวลาบัญชีปีปัจจุบัน ดังนั้น โดยวิธีการทางบัญชีดังกล่าวเมื่อโจทก์ยื่นแบบ ภ.ง.ด.5 เพื่อเสียภาษีเงินได้ในรอบระยะเวลาบัญชีปี พ.ศ.2513 โจทก์ก็จะต้องแสดงรายการผลขาดทุนสุทธิในรอบระยะเวลาบัญชีปี พ.ศ. 2512 ให้ปรากฏในแบบ ภ.ง.ด. 5 ข้อ 1 (4) เพื่อไปหักกำไรสุทธิในการคำนวณกำไรสุทธิในรอบบัญชีปี พ.ศ. 2513 แต่ถ้าไม่มีกำไรสุทธิ หรือกำไรสุทธิในรอบบัญชีปี พ.ศ. 2513 ยังไม่พอกับผลขาดทุนสุทธิในรอบปี พ.ศ. 2512 โจทก์ก็ต้องยกยอดขาดทุนสุทธิทั้งหมดหรือที่เหลือให้ปรากฏในการยื่นแบบ ภ.ง.ด. 5 เพื่อเสียภาษีเงินได้ในรอบระยะเวลาบัญชีปี พ.ศ. 2514 เพื่อไปหักกำไรสุทธิในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีในรอบระยะเวลาบัญชีปี พ.ศ. 2514 และทำเช่นนี้ได้เรื่อยไปตามหลักเกณฑ์ดังกล่าว แต่โจทก์จะเอาผลขาดทุนสุทธิในรอบระยะเวลาบัญชีปี พ.ศ. 2512 และ 2514 ไปหักกำไรสุทธิในการคำนวณกำไรสุทธิของรอบระยะเวลาบัญชีปี พ.ศ. 2516 ไม่ได้