คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
วีรภัทร ไพบูลย์วัฒนกิจ

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 17 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5037/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สำเนาสัญญากู้ยืมเงินไม่ต้องปิดอากรแสตมป์หากไม่มีอัตราในบัญชีท้ายหมวด ป.รัษฎากร
ตาม ป.รัษฎากร มาตรา 118 บัญญัติว่า "ตราสารใดไม่ปิดแสตมป์บริบูรณ์ จะใช้ต้นฉบับ คู่ฉบับ คู่ฉีก หรือสำเนาตราสารนั้นเป็นพยานหลักฐานในคดีแพ่งไม่ได้ จนกว่าจะได้เสียอากรโดยปิดแสตมป์ครบจำนวนตามอัตราในบัญชีท้ายหมวดนี้และขีดฆ่าแล้ว..." โจทก์นำสืบสำเนาสัญญากู้ยืมเงินเป็นพยานต่อศาล ซึ่งตาม ป.รัษฎากร มาตรา 118 ไม่ได้ระบุให้ปิดอากรแสตมป์ที่สำเนาเอกสาร และบัญชีอากรแสตมป์ท้ายหมวด 6 แห่ง ป.รัษฎากรไม่มีอัตราอากรแสตมป์สำหรับสำเนาตราสารกู้ยืมเงินเพื่อปิดอากรแสตมป์ ดังนั้น การรับฟังสำเนาสัญญากู้ยืมเงินแทนต้นฉบับสัญญากู้ยืมเงินตาม ป.วิ.พ. มาตรา 93 (2) ไม่ต้องปิดอากรแสตมป์ที่สำเนาสัญญากู้ยืมเงิน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3178/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การนับโทษคดีที่เกี่ยวพันกัน & การใช้กฎหมายขณะกระทำผิด แม้แยกฟ้อง & มีการแก้ไขกฎหมาย
ป.อ. มาตรา 91 ให้อำนาจศาลพิพากษาลงโทษผู้กระทำความผิดทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปและกรณีที่ความผิดกระทงที่หนักที่สุดมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกินสามปีแต่ไม่เกินสิบปี รวมโทษจำคุกทั้งสิ้นแล้วต้องไม่เกินยี่สิบปีนั้น เป็นบทบัญญัติเกี่ยวกับการลงโทษจำคุกในกรณีกระทำความผิดหลายกรรมที่เกี่ยวพันกันและโจทก์ได้ฟ้องจำเลยเป็นคดีเดียวกันตาม ป.วิ.อ. มาตรา 160 วรรคหนึ่ง หรือกรณีที่จำเลยถูกฟ้องหลายคดีและคดีแต่ละคดีเป็นคดีที่เกี่ยวพันกันจนศาลได้มีคำสั่งรวมพิจารณาพิพากษาเข้าด้วยกัน และรวมถึงคดีที่เกี่ยวพันกันแต่โจทก์กลับแยกฟ้องจำเลยเป็นหลายคดีและไม่มีการรวมพิจารณาพิพากษาเข้าด้วยกัน จึงจะอยู่ภายใต้บังคับแห่งบทบัญญัติ ป.อ. มาตรา 91 (2) สำหรับคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1066/2562 นั้น ข้อเท็จจริงได้ความตามสำเนาคำพิพากษาของศาลชั้นต้นเอกสารท้ายคำแถลงข้อเท็จจริงประกอบการพิจารณาฉบับลงวันที่ 6 ธันวาคม 2562 ของโจทก์ว่า คดีดังกล่าวเป็นคดีที่โจทก์ที่ 2 คดีนี้เป็นโจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองคดีนี้เป็นจำเลยในความผิดฐานร่วมกันเป็นผู้ได้รับมอบหมายให้จัดการทรัพย์สินกระทำผิดหน้าที่และฐานร่วมกันเอาไปเสียซึ่งเอกสารของผู้อื่น แม้ข้อหาความผิดที่ฟ้องจะเป็นอย่างเดียวกับคดีนี้ แต่เมื่อโจทก์ซึ่งเป็นผู้เสียหายในคดีเป็นคนละรายกันกับคดีนี้และพยานหลักฐานในคดีเป็นคนละชุดกัน จึงไม่เป็นคดีที่เกี่ยวพันกัน ไม่อาจฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นคดีเดียวกันหรือรวมพิจารณาพิพากษาเข้าด้วยกันกับคดีนี้ได้ เมื่อศาลมีคำพิพากษาแต่ละคดีและให้นับโทษต่อกันตาม ป.อ. มาตรา 22 แม้มีกำหนดระยะเวลาจำคุกเกินยี่สิบปี ก็พิพากษาให้บังคับเช่นนั้นได้ กรณีไม่เป็นการต้องห้ามตาม ป.อ. มาตรา 91 (2) ที่ศาลอุทธรณ์ไม่นับโทษจำเลยที่ 1 ต่อจากโทษในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1066/2562 ของศาลชั้นต้นนั้น เป็นการไม่ชอบ ส่วนคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1242/2562 นั้น ข้อเท็จจริงปรากฏตามสำเนาคำพิพากษาของศาลชั้นต้นเอกสารท้ายคำแก้อุทธรณ์ของโจทก์ที่ 1 ว่า คดีดังกล่าวและคดีนี้มีโจทก์และจำเลยเป็นคู่ความเดียวกัน แม้วันเวลากระทำความผิดจะแตกต่างกัน แต่ก็เป็นเรื่องที่จำเลยทั้งสองซึ่งได้รับมอบหมายจากโจทก์ที่ 1 ให้เป็นผู้จัดทำบัญชีและนําเงินไปเสียภาษีแทน กระทำการทุจริตเบียดบังเอาเงินที่มอบให้นําไปเสียภาษีไป และจำเลยทั้งสองไม่คืนเอกสารสำคัญเกี่ยวกับการทำบัญชีและเสียภาษีแก่โจทก์ที่ 1 เช่นเดียวกับคดีนี้ ดังนั้น เมื่อคดีมีคู่ความเดียวกัน ลักษณะแห่งคดีและความผิดเป็นอย่างเดียวเกี่ยวพันกัน โจทก์ที่ 1 อาจฟ้องจำเลยทั้งสองสำหรับความผิดคดีนี้และคดีที่ขอให้นับโทษคดีนี้ต่อเป็นคดีเดียวกันได้ แต่โจทก์ที่ 1 แยกฟ้องคดีนี้เป็นอีกคดีหนึ่ง แยกต่างหากจากคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1242/2562 ดังกล่าวโดยศาลมิได้สั่งรวมพิจารณาพิพากษาเข้าด้วยกัน เมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 ในคดีนี้ทุกกรรมโดยจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 20 ปี เต็มตามกำหนดไว้ใน ป.อ. มาตรา 91 (2) แล้ว ย่อมไม่อาจนําโทษของจำเลยที่ 1 ในคดีนี้ไปนับโทษต่อจากโทษของจำเลยที่ 1 ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1242/2562 ของศาลชั้นต้นได้เพราะจะทำให้จำเลยที่ 1 ต้องได้รับโทษจำคุกเกินกำหนดที่ ป.อ. มาตรา 91 (2) บัญญัติไว้ ที่ศาลอุทธรณ์ไม่นับโทษจำเลยที่ 1 ต่อจากโทษในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1242/2562 ของศาลชั้นต้นมานั้น ชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2674/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบังคับคดีตามคำพิพากษา: ศาลต้องแจ้งคู่ความเพื่อคัดค้านก่อนออกคำสั่ง
ตามบทบัญญัติ ป.วิ.พ. มาตรา 271 กำหนดว่า ศาลที่ได้พิจารณาและชี้ขาดตัดสินคดีในชั้นต้น เป็นศาลที่มีอำนาจในการบังคับคดี มีอำนาจกำหนดวิธีการบังคับคดีและมีอำนาจทำคำวินิจฉัยชี้ขาดหรือทำคำสั่งในเรื่องใด ๆ อันเกี่ยวด้วยการบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งในคดีนั้น ดังนั้น กระบวนการบังคับคดีให้เป็นไปคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลทุกชั้นศาล จึงเป็นอำนาจหน้าที่ของศาลชั้นต้นที่จะพิจารณาและชี้ขาดตัดสินคดีนั้นในชั้นต้น และมาตรา 357 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "การบังคับคดีในกรณีที่คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลกำหนดให้ลูกหนี้ตามคำพิพากษากระทำนิติกรรมอย่างหนึ่งอย่างใดซึ่งอาจถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของลูกหนี้ตามคำพิพากษาได้ และคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลไม่ได้กำหนดให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของลูกหนี้ตามคำพิพากษาไว้ เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาอาจมีคำขอให้ศาลมีคำสั่งให้ถือเอาคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลแทนการแสดงเจตนาของลูกหนี้ตามคำพิพากษานั้นได้" และวรรคสอง บัญญัติว่า "ถ้าการแสดงเจตนาของลูกหนี้ตามคำพิพากษาจะบริบูรณ์ต่อเมื่อได้จดทะเบียนต่อนายทะเบียน พนักงานเจ้าหน้าที่ หรือบุคคลอื่นผู้มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาอาจมีคำขอให้ศาลมีคำสั่งให้ดำเนินการจดทะเบียนให้ก็ได้ ในกรณีเช่นนี้ ให้บุคคลดังกล่าวนั้นจดทะเบียนไปตามคำสั่งศาล" ดังนั้นโจทก์ที่ 1 ที่ 3 ที่ 4 และที่ 6 ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาย่อมมีอำนาจยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นขอให้ศาลมีคำสั่งให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสองซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาอันเป็นการบังคับคดีในกรณีที่คำพิพากษาของศาลกำหนดให้จำเลยทั้งสองกระทำนิติกรรมอย่างหนึ่งอย่างใด ซึ่งอาจถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสองได้ ตามที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.พ. มาตรา 357 อันเป็นการใช้สิทธิตามกฎหมาย และศาลชั้นต้นมีอำนาจพิจารณาสั่งคำร้องตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ได้ แต่อย่างไรก็ตาม คำร้องของเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาที่ขอให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของลูกหนี้ตามคำพิพากษาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 357 นั้น เป็นคำร้องที่ ป.วิ.พ. มิได้บัญญัติว่าให้ทำได้แต่ฝ่ายเดียวโดย ป.วิ.พ. มาตรา 21 (2) บัญญัติห้ามมิให้ศาลทำคำสั่งในเรื่องนั้น ๆ โดยมิให้คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งมีโอกาสคัดค้านก่อน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2529/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดของผู้เช่าช่วงและผู้ให้เช่าเดิมเมื่อสัญญาเช่าระงับ รวมถึงการบังคับชำระหนี้ร่วมกัน
จำเลยที่ 2 ทำสัญญาให้จำเลยที่ 1 เช่าที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง โดยให้จำเลยที่ 1 ให้ผู้อื่นเช่าช่วงได้ การที่โจทก์ทำสัญญาเช่าช่วงกับจำเลยที่ 1 จึงเป็นการเช่าช่วงโดยชอบ ต่อมาจำเลยที่ 1 และที่ 2 ตกลงทำหนังสือเลิกการจดทะเบียนการเช่าที่ดินก่อนครบกำหนด ทำให้สัญญาเช่าช่วงระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ระงับลงด้วย จำเลยที่ 1 ต้องชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ ส่วนโจทก์ผู้เช่าช่วงกับจำเลยที่ 2 ผู้ให้เช่าช่วงเดิม กฎหมายบัญญัติให้ผู้เช่าช่วงต้องรับผิดต่อผู้ให้เช่าช่วงเดิมโดยตรงตาม ป.พ.พ. มาตรา 545 ซึ่งเป็นบทบัญญัติยกเว้นหลักทั่วไปที่ว่าสัญญาผูกพันเฉพาะคู่สัญญา ไม่อาจบังคับเอากับบุคคลภายนอกได้ แต่ไม่อาจตีความบทบัญญัติกฎหมายดังกล่าวในทางกลับกันให้ผู้เช่าช่วงสามารถเรียกร้องสิทธิและหน้าที่เอาจากผู้ให้เช่าเดิมได้ เมื่อไม่มีกฎหมายบัญญัติเกี่ยวกับสิทธิและหน้าที่ใด ๆ ที่จะพึงมีต่อกันในอันที่จะให้อำนาจแก่ผู้เช่าช่วงฟ้องบังคับเอากับผู้ให้เช่าเดิมเพื่อให้รับผิดต่อผู้เช่าช่วงได้โดยตรง แม้จำเลยที่ 2 จะมีข้อตกลงกับจำเลยที่ 1 ในการเลิกสัญญาเช่าว่า จำเลยที่ 2 ยอมรับภาระผูกพันของรายย่อยที่มีภาระผูกพันตามสัญญาเช่ากับจำเลยที่ 1 อันเป็นข้อสัญญาเพื่อประโยชน์แก่บุคคลภายนอกตาม ป.พ.พ. มาตรา 374 แต่โจทก์มิได้แสดงเจตนาแก่จำเลยที่ 2 ว่าจะถือเอาประโยชน์จากสัญญานั้น เมื่อโจทก์กับจำเลยที่ 2 มิได้มีนิติสัมพันธ์ต่อกัน โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องบังคับให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2379/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ กรรมเดียวกัน – ระงับการฟ้องคดียาเสพติด – การกระทำความผิดในคราวเดียวกัน
แม้เมทแอมเฟตามีน 395 เม็ด และเมทแอมเฟตามีนชนิดเกล็ดใสของกลางจะเป็นเมทแอมเฟตามีนคนละชนิดและตรวจยึดได้คนละสถานที่ก็ตาม เมื่อได้ความว่า จำเลยที่ 3 ซื้อเมทแอมเฟตามีนทั้งสองชนิดมาพร้อมกัน และนํามาซุกซ่อนไว้ใต้ฐานพัดลมในบ้านของจำเลยที่ 1 ก่อนเกิดเหตุ อ. โทรศัพท์ติดต่อสั่งซื้อ จำเลยที่ 3 ได้แยกเมทแอมเฟตามีน 395 เม็ด ออกมาเพื่อเตรียมไว้จำหน่าย ดังนี้ เมื่อเมทแอมเฟตามีน 395 เม็ด ที่จำเลยที่ 3 มีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายเป็นจำนวนเดียวกับเมทแอมเฟตามีนชนิดเกล็ดใสของกลางคดีนี้ โดยจำเลยที่ 3 มีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายในคราวเดียวกัน เพียงแต่แยกเก็บไว้ในสถานที่ต่างกันเท่านั้น การกระทำของจำเลยที่ 3 คดีนี้กับการกระทำของจำเลยที่ 3 ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1111/2561 ของศาลชั้นต้นจึงเป็นการกระทำความผิดอันเป็นกรรมเดียวกัน เมื่อศาลมีคําพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1111/2561 ของศาลชั้นต้นแล้ว สิทธินําคดีอาญามาฟ้องจำเลยที่ 3 ของโจทก์ในคดีนี้จึงระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (4) ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ. 2550 มาตรา 3

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1255/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การหักกลบหนี้ค่าจ้างและค่าเสียหายจากอุบัติเหตุเครื่องบิน การไม่มีส่วนผิดทำให้ไม่ต้องจ่ายดอกเบี้ย
ข้อเท็จจริงยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ว่า จำเลยใช้สิทธิหักค่าจ้างตามสัญญาที่ต้องชำระแก่โจทก์ไว้เป็นเงิน 798,962 บาท โดยระบุว่าเป็นค่าเสียหายที่โจทก์ต้องรับผิดจากการไม่ปฏิบัติตามสัญญาจ้างเป็นเหตุให้เครื่องบินขับเฉี่ยวชนสะพานเทียบเครื่องบิน ซึ่งในประเด็นนี้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าจำเลยมีส่วนผิดในความเสียหายดังกล่าวอยู่ด้วย จึงกำหนดให้โจทก์รับผิดในความเสียหายแก่จำเลยเพียงกึ่งหนึ่งแล้วพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 399,481 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ อันเป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นหักกลบลบหนี้ระหว่างกันเพื่อความสะดวกในการบังคับคดี และให้จำเลยรับผิดคืนเงินที่หักไว้กึ่งหนึ่ง เมื่อศาลอุทธรณ์เห็นว่าจำเลยไม่มีส่วนผิดในความเสียหาย หากแต่เป็นความประมาทของโจทก์เพียงฝ่ายเดียว จึงพิพากษายกฟ้อง กับบังคับตามฟ้องแย้งโดยให้โจทก์ชดใช้ค่าเสียหายเพิ่มขึ้นจากที่ศาลชั้นต้นกำหนดอีก 399,481 บาท เท่ากับว่าให้โจทก์รับผิดต่อจำเลยเป็นเงิน 798,962 บาท ตามฟ้องแย้ง เมื่อหักกลบกับเงินค่าจ้างที่โจทก์มีสิทธิเรียกร้องตามสัญญาจ้างในวันฟ้องซึ่งจำเลยได้หักไว้เป็นค่าเสียหายแล้ว จึงไม่มีหนี้ที่ทั้งสองฝ่ายจะต้องปฏิบัติการชำระต่อกันอีก เมื่อเป็นดังนี้จึงไม่มีดอกเบี้ยที่โจทก์จะต้องรับผิดต่อจำเลย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 468/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญากู้เงินที่ทำขึ้นจากการแสดงเจตนาลวงเป็นโมฆะ
จำเลยที่ 1 ทำสัญญากู้เงินขึ้นตามที่โจทก์ขอร้องให้ช่วยเหลือเพื่อโจทก์นำไปใช้แสดงแก่ภริยาให้เชื่อว่าโจทก์ได้ให้จำเลยทั้งสองกู้เงินตามสัญญากู้ดังกล่าวเท่านั้น โดยไม่มีการกู้เงินและรับเงินตามสัญญากันจริง สัญญากู้เงินระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 จึงเกิดจากการแสดงเจตนาลวงของคู่กรณีตกเป็นโมฆะ ไม่มีผลบังคับกันได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 155 วรรคหนึ่ง โจทก์ไม่มีสิทธินำสัญญากู้เงินมาฟ้องเรียกร้องให้จำเลยทั้งสองชำระหนี้แก่โจทก์ได้
of 2