คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 ม. 14

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 5 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10317/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ลำดับบุริมสิทธิหนี้ค่าส่วนกลาง: ค่าใช้จ่ายตามมาตรา 18(2) พ.ร.บ.อาคารชุด มีบุริมสิทธิก่อนเจ้าหนี้จำนอง
พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 มาตรา 18 (เดิม) วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า เจ้าของร่วมต้องร่วมกันออกค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการบริการส่วนรวมและที่เกิดจากเครื่องมือ เครื่องใช้ที่มีไว้เพื่อประโยชน์ร่วมกัน ตามส่วนแห่งประโยชน์ที่มีต่อห้องชุด ทั้งนี้ ตามที่กำหนดไว้ในข้อบังคับ วรรคสอง บัญญัติว่า เจ้าของร่วมต้องร่วมกันออกค่าภาษีอากรและค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการดูแลรักษา และการดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์ส่วนกลางตามอัตราส่วนที่เจ้าของร่วมแต่ละคนมีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์ส่วนกลางตามมาตรา 14 และมาตรา 41 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า เพื่อประโยชน์ในการบังคับชำระหนี้อันเกิดจากค่าใช้จ่ายตามมาตรา 18 ให้นิติบุคคลอาคารชุดมีบุริมสิทธิ ดังนี้ (1) บุริมสิทธิเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายตาม มาตรา 18 วรรคหนึ่ง ให้ถือว่าเป็นบุริมสิทธิในลำดับเดียวกับบุริมสิทธิตามมาตรา 259 (1) แห่ง ป.พ.พ. และมีอยู่เหนือสังหาริมทรัพย์ที่เจ้าของห้องชุดนั้นนำมาไว้ในห้องชุดของตน (2) บุริมสิทธิเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายตามมาตรา 18 วรรคสอง ให้ถือว่าเป็นบุริมสิทธิในลำดับเดียวกับบุริมสิทธิตามมาตรา 273 (1) แห่ง ป.พ.พ. และมีอยู่เหนือทรัพย์ส่วนบุคคลของแต่ละเจ้าของห้องชุด วรรคสอง บัญญัติว่า บุริมสิทธิตาม (2) ถ้าผู้จัดการได้ส่งรายการหนี้ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่แล้ว ให้ถือว่าอยู่ในลำดับก่อนจำนอง เห็นได้ว่า เฉพาะบุริมสิทธิเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายตาม มาตรา 18 วรรคสอง เท่านั้นที่มีอยู่เหนือห้องชุดของลูกหนี้ และบุริมสิทธิค่าใช้จ่ายส่วนนี้ หากผู้จัดการนิติบุคคลอาคารชุดได้ส่งรายการหนี้ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่แล้ว ให้ถือว่าอยู่ในลำดับก่อนเจ้าหนี้จำนอง สำหรับบุริมสิทธิเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายตามมาตรา 18 วรรคหนึ่ง เป็นสิทธิของนิติบุคคลอาคารชุดที่มีอยู่เหนือสังหาริมทรัพย์ที่เจ้าของห้องชุดนำมาไว้ในห้องชุดของตน ดังนี้ในกรณีที่นิติบุคคลอาคารชุดจะบังคับชำระหนี้ค่าใช้จ่ายตามมาตรา 18 วรรคหนึ่ง เอาจากอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งเป็นห้องชุดของลูกหนี้ นิติบุคคลอาคารชุดมีฐานะเป็นเพียงเจ้าหนี้สามัญ ไม่มีบุริมสิทธิเหนือห้องชุดของลูกหนี้ แม้ผู้จัดการนิติบุคคลอาคารชุดจะได้ส่งรายการหนี้ค่าใช้จ่ายตามมาตรา 18 วรรคหนึ่ง ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ก็ไม่ทำให้เกิดสิทธิได้รับชำระหนี้จากห้องชุดนั้นก่อนเจ้าหนี้จำนอง
รายการหนี้ค่าใช้จ่ายที่โจทก์ส่งให้เจ้าพนักงานที่ดินเป็นยอดหนี้รวมของค่าใช้จ่ายตามมาตรา 18 วรรคหนึ่งและวรรคสอง โดยไม่ได้แยกให้เห็นว่า จำเลยเป็นหนี้ค่าใช้จ่ายตามมาตรา 18 วรรคสอง จำนวนเท่าใด อันจะก่อให้เกิดบุริมสิทธิเหนือห้องชุดของจำเลยก่อนหนี้จำนอง แต่เมื่อเป็นค่าใช้จ่ายปกติที่เกิดขึ้นในทุกเดือน และโดยสภาพประมาณได้ว่าไม่น่าจะน้อยกว่าร้อยละ 50 ของค่าใช้จ่ายทั้งหมด แม้โจทก์ไม่ได้นำสืบให้ได้ความชัดแจ้งถึงจำนวนหนี้ค่าใช้จ่ายส่วนนี้ ศาลฎีกาเห็นควรกำหนดให้เพียงกึ่งหนึ่งของหนี้ตามคำพิพากษาเป็นหนี้บุริมสิทธิที่โจทก์มีสิทธิได้รับชำระหนี้ก่อนหนี้จำนองของผู้ร้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7644/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ลำดับบุริมสิทธิค่าใช้จ่ายส่วนกลางอาคารชุด: แยกค่าใช้จ่ายบริการ/ซ่อมแซม กับค่าใช้จ่ายส่วนกลางตามกฎหมาย
พ.ร.บ.อาคารชุด ฯ มาตรา 18 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า เจ้าของร่วมต้องร่วมกันออกค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการบริการส่วนรวมและที่เกิดจากเครื่องมือเครื่องใช้ที่มีไว้เพื่อประโยชน์ร่วมกันตามส่วนแห่งประโยชน์ที่มีต่อห้องชุด ทั้งนี้ตามที่กำหนดไว้ในข้อบังคับ ส่วนมาตรา 18 วรรคสอง บัญญัติว่า เจ้าของร่วมต้องร่วมกันออกค่าภาษีอากรและค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการดูแลรักษาและการดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์ส่วนกลางตามอัตราส่วนที่เจ้าของรวมแต่ละคนมีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์ส่วนกลางตามมาตรา 14 ดังนั้น ค่าใช้จ่ายตามมาตรา 18 วรรคหนึ่ง จึงเป็นไปตามที่กำหนดไว้ในข้อบังคับซึ่งสามารถเปลี่ยนแปลงข้อบังคับได้ตามมาตรา 32 (10) ประกอบมาตรา 49 (1) ที่เจ้าของร่วมมีมติแก้ไขเปลี่ยนแปลงอัตราส่วนค่าใช้จ่ายร่วมกันได้ แต่ค่าใช้จ่ายตามมาตรา 18 วรรคสอง ต้องเป็นไปตามที่ พ.ร.บ.อาคารชุด ฯ กำหนดเท่านั้น ประกอบกับมาตรา 41 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวบัญญัติไว้ว่า เพื่อประโยชน์ในการบังคับชำระหนี้อันเกิดจากค่าใช้จ่ายตามมาตรา 18 ให้นิติบุคคลอาคารชุดมีบุริมสิทธิ ดังนี้ (1) บุริมสิทธิเกี่ยวกับค่าใช้จ่าย ตามมาตรา 18 วรรคหนึ่ง ให้ถือว่าเป็นบุริมสิทธิในลำดับเดียวกับบุริมสิทธิเช่าอสังหาริมทรัพย์ตามมาตรา 259 (1) แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และมีอยู่เหนือสังหาริมทรัพย์ที่เจ้าของห้องชุดนั้นนำมาไว้ในห้องชุดของตน และ (2) บุริมสิทธิเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายตามมาตรา 18 วรรคสอง ให้ถือว่าเป็นบุริมสิทธิในลำดับเดียวกับบุริมสิทธิรักษาอสังหาริมทรัพย์ตามมาตรา 273 (1) แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และมีอยู่เหนือทรัพย์ส่วนบุคคลของแต่ละเจ้าของห้องชุด ดังนี้ ย่อมเห็นได้ว่าค่าใช้จ่ายที่เจ้าของร่วมต้องร่วมกันออกตามมาตรา 18 นั้น แยกค่าใช้จ่ายตามมาตรา 18 วรรคหนึ่ง และมาตรา 18 วรรคสอง ออกต่างหากจากกันโดยเด็ดขาด เพราะมีการคิดส่วนค่าใช้จ่ายและการบังคับชำระหนี้อันเกิดจากค่าใช้จ่ายตามมาตรา 18 แต่ละวรรคแตกต่างกันดังกล่าว ดังนั้น มูลหนี้ค่าใช้จ่ายส่วนกลางที่ผู้ร้องอ้างว่าจำเลยค้างชำระแก่ผู้ร้องนั้นจึงไม่อาจเป็นทั้งมูลหนี้อันเกิดจากการบริการส่วนรวมและเครื่องมือเครื่องใช้ที่มีไว้เพื่อประโยชน์ร่วมกัน ตาม พ.ร.บ.อาคารชุด ฯ มาตรา 18 วรรคหนึ่ง และเป็นมูลหนี้อันเกิดจากการใช้ทรัพย์ส่วนกลางของจำเลย ตามมาตรา 18 วรรคสอง
ค่าใช้จ่ายที่ผู้ร้องอ้างว่าจำเลยค้างชำระนั้นที่ประชุมคณะกรรมการบริหารนิติบุคคลอาคารชุดของผู้ร้องได้ลงมติให้เพิ่มอัตราค่าใช้จ่ายส่วนกลางจากเดิม 20 บาท เป็น 27 บาท โดยรายละเอียดในรายงานการประชุม ฯ ระบุเหตุผลการเปลี่ยนแปลงค่าใช้จ่ายส่วนกลางโดยอ้างว่าไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่ายต่าง ๆ เช่น การซ่อมแซมระบบและส่วนต่าง ๆ ของอาคาร ซึ่ง พ.ร.บ.อาคารชุด ฯ มาตรา 50 วรรคสาม บัญญัติไว้ว่า ค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างหรือซ่อมแซมอาคารที่เสียหายสำหรับที่เป็นทรัพย์ส่วนกลาง ให้เจ้าของร่วมทุกคนในอาคารชุดเฉลี่ยออกตามอัตราส่วนที่เจ้าของร่วมแต่ละคนมีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์ส่วนกลาง? ดังนั้น ค่าใช้จ่ายที่ผู้ร้องนำมายื่นขอรับชำระหนี้บุริมสิทธินี้จึงเป็นค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการดูแลรักษาทรัพย์ส่วนกลางตาม พ.ร.บ.อาคารชุด ฯ มาตรา 18 วรรคสอง และบทบัญญัติมาตรา 41 วรรคท้าย กำหนดให้เฉพาะบุริมสิทธิตาม (2) แห่งมาตราดังกล่าวเท่านั้น ซึ่งหากผู้จัดการนิติบุคคลได้ส่งรายการหนี้ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่แล้วให้ถือว่าอยู่ในลำดับก่อนจำนอง เมื่อไม่ปรากฏว่าผู้ร้องได้ส่งรายการหนี้ของผู้ร้องต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา 41 วรรคท้าย ดังกล่าวแล้ว จึงถือว่ามูลหนี้ค่าใช้จ่ายส่วนกลางที่จำเลยค้างชำระแก่ผู้ร้องนั้นอยู่ในลำดับหลังบุริมสิทธิจำนองของโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1872/2549 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องคดีอาคารชุด และสิทธิเรียกเก็บค่าใช้จ่ายส่วนกลางของนิติบุคคลอาคารชุด
โจทก์เป็นนิติบุคคลอาคารชุดมี ส. เป็นผู้จัดการ ส. จึงมีอำนาจหน้าที่เป็นผู้แทนของโจทก์ตาม พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 มาตรา 35 วรรคสอง ประกอบมาตรา 36 (3) หนังสือมอบอำนาจที่ ส. ลงลายมือชื่อในช่องผู้มอบอำนาจพร้อมประทับตราของโจทก์มอบอำนาจให้ ท. เป็นผู้ดำเนินคดีแทน ถือได้ว่าโจทก์มอบอำนาจให้ ท. ดำเนินคดีแทนโจทก์ แม้มิได้กำหนดไว้ในข้อบังคับหรือมีมติของที่ประชุมเจ้าของร่วมให้กระทำได้ แต่การฟ้องคดีมิใช่เรื่องการปฏิบัติกิจการในหน้าที่ซึ่งต้องกระทำด้วยตัวเองตามมาตรา 36 วรรคท้าย ท. จึงมีอำนาจดำเนินคดีแทนโจทก์ได้
จำเลยเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ห้องชุดของอาคารชุด นอกจากจำเลยต้องชำระเงินจัดตั้งกองทุนตาม พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 มาตรา 40 แล้ว จำเลยยังมีหน้าที่ต้องชำระค่าใช้จ่ายส่วนกลางตามส่วนแห่งประโยชน์ที่มีต่อห้องชุดและตามอัตราส่วนกรรมสิทธิ์ที่มีอยู่ในทรัพย์ส่วนกลางแก่โจทก์ตามมาตรา 18 และข้อบังคับของนิติบุคคลอาคารชุด ทั้งตามข้อบังคับข้อ 66 กำหนดให้ ว. ผู้จัดการนิติบุคคลอาคารชุดคราวแรก เป็นผู้ปฏิบัติการชั่วคราวมีหน้าที่ปฏิบัติงานเกี่ยวกับกิจการเร่งด่วน และจำเป็นเกี่ยวกับการจัดการกิจการเกี่ยวกับทรัพย์สินส่วนกลาง โดย ว. เป็นกรรมการผู้มีอำนาจของบริษัทจำเลย เมื่อรองผู้จัดการนิติบุคคลอาคารชุดฝ่ายบัญชีและบุคคลได้มีหนังสือแจ้งบรรดาเจ้าของร่วมอาคารชุดให้ชำระค่าใช้จ่ายส่วนกลางประจำเดือนเป็นอัตราส่วนแน่นอน จึงถือว่าเป็นกิจการเร่งด่วนและจำเป็นเกี่ยวกับการจัดการกิจการเกี่ยวกับทรัพย์สินส่วนกลาง จำเลยจะอ้างว่าค่าใช้จ่ายดังกล่าวยังไม่ได้รับอนุมัติจากมติของที่ประชุมใหญ่หาได้ไม่ เพราะเงินค่าใช้จ่ายส่วนนี้เป็นคนละจำนวนกับค่าใช้จ่ายในการจัดตั้งกองทุนให้แก่นิติบุคคลอาคารชุดที่ชำระล่วงหน้าตาม พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 มาตรา 40 และข้อบังคับข้อ 20 จึงไม่ต้องขออนุมัติจากมติของที่ประชุมใหญ่ โจทก์มีสิทธิเรียกเก็บเงินค่าใช้จ่ายดังกล่าวได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7383/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มกรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนไม่ได้ประกอบกิจการ และภาระการพิสูจน์ของโจทก์ในการฟ้องเรียกคืนภาษี
จำเลยเป็นนิติบุคคลอาคารชุดตาม พ.ร.บ. อาคารชุด พ.ศ. 2522 จำเลยไม่ได้เป็นผู้ประกอบการที่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 77/2 แห่ง ป. รัษฎากรมาตั้งแต่ต้น และไม่มีหน้าที่เรียกเก็บภาษีขายจากเจ้าของห้องชุดแล้วนำส่งให้แก่โจทก์ จำเลยจึงมีสิทธิขอคืนภาษีขายทั้งหมดที่แสดงในแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีมูลค่าเพิ่มจากโจทก์ และจำเลยไม่มีสิทธินำภาษีซื้อที่ชำระไปมาหักออกจากภาษีขาย การที่จำเลยนำภาษีซื้อมาคำนวณหักออกจากภาษีขายแล้วได้รับเครดิตภาษี หรือรับคืนเป็นเงินสดไปจึงไม่ถูกต้อง จำเลยมีหน้าที่คืนภาษีซื้อทั้งหมดที่นำมาใช้คำนวณภาษีตามแบบแสดงรายการดังกล่าวให้แก่โจทก์ด้วย
จำเลยยื่นคำร้องขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามแบบ ค. 10 ตามประกาศกรมสรรพากรที่ขยายระยะเวลาขอคืนภาษีอากรสำหรับนิติบุคคลอาคารชุดซึ่งไม่ได้เป็นผู้ประกอบการที่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเฉพาะเดือนมกราคม 2537 ถึงเดือนธันวาคม 2540 จำเลยจึงไม่มีสิทธิได้รับเงินภาษีที่ชำระเกินในปี 2535 และ 2536 คืน ส่วนการขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มตั้งแต่เดือนมกราคม 2537 ถึงเดือนธันวาคม 2540 แม้จำเลยจะไม่ได้ระบุจำนวนภาษีซื้อและภาษีขายของเดือนมกราคมถึงเดือนกรกฎาคม 2537 และเดือนมกราคมถึงเดือนพฤษภาคม 2538 ในรายละเอียดของภาษีขายและภาษีซื้อที่แนบไปพร้อมกับคำร้องขอคืนภาษี จะถือว่าจำเลยไม่ได้ขอคืนภาษีสำหรับเดือนดังกล่าวไม่ได้ เพราะรายละเอียดเกี่ยวกับภาษีซื้อและภาษีขายแนบท้ายคำร้องเป็นเพียงข้อมูลเบื้องต้นที่จะเป็นแนวทางให้เจ้าพนักงานของโจทก์ตรวจสอบว่ารายการภาษีซื้อและภาษีขายที่จำเลยยื่นไว้ตามแบบแสดงรายการของเดือนที่ขอคืนภาษีอากรถูกต้องหรือไม่ และคำนวณว่าโจทก์มีหน้าที่ต้องคืนภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่จำเลยตามคำขอหรือไม่ เพียงใด การที่เจ้าพนักงานของโจทก์ไม่นำภาษีขายของเดือนมกราคมถึงเดือนกรกฎาคม 2537 และเดือนมกราคมถึงเดือนพฤษภาคม 2538 ที่โจทก์จะต้องคืนให้แก่จำเลยมาคำนวณหักออกจากภาษีซื้อที่จำเลยนำไปใช้หักออกจากภาษีขายในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มของเดือนภาษีดังกล่าวจึงไม่ถูกต้อง และไม่ชอบด้วยกฎหมาย เมื่อภาษีขายที่โจทก์จะต้องคืนให้แก่จำเลยสำหรับปี 2537 ถึงปี 2539 มากกว่าภาษีซื้อที่จำเลยใช้ในการคำนวณภาษีและรับคืนไปจากโจทก์เป็นเงินสดในปี 2540 โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกให้จำเลยชำระภาษีที่อ้างว่าจำเลยได้รับคืนเกินไปตามฟ้อง
คดีนี้ เจ้าพนักงานของโจทก์มิได้ประเมินให้จำเลยชำระภาษีเพิ่มเติม แต่มีหนังสือแจ้งให้จำเลยคืนเงินภาษีที่ได้รับคืนเกินไป จึงเป็นคดีที่พิพาทเกี่ยวกับการขอคืนค่าภาษีอากร ตาม พ.ร.บ. จัดตั้งศาลภาษีอากร ฯ มาตรา 7 (3) ซึ่งมาตรา 9 แห่ง พ.ร.บ. ดังกล่าวบัญญัติให้ดำเนินการในศาลภาษีอากรได้ก็ต่อเมื่อปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และระยะเวลาที่กำหนดไว้ และ ป. รัษฎากรได้บัญญัติไว้เพียงกำหนดเวลาขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม และแบบในการขอคืนเท่านั้น มิได้กำหนดให้ผู้ขอคืนภาษีอากรที่ไม่พอใจคำสั่งของเจ้าพนักงานเกี่ยวกับการขอคืนภาษีดังกล่าวต้องอุทธรณ์คำสั่งของเจ้าพนักงานด้วย ดังนั้น เมื่อไม่มีการประเมินภาษีเพิ่มเติมแก่จำเลย การที่จำเลยไม่นำข้อพิพาทเกี่ยวกับการคืนภาษีอากรมาฟ้องต่อศาลภาษีอากร คงมีผลแต่เพียงว่าโจทก์ไม่ต้องคืนเงินภาษีอากรให้แก่จำเลยตามคำร้องเท่านั้น
เมื่อเจ้าพนักงานของโจทก์เห็นว่าจำเลยไม่มีสิทธิได้รับเงินอากรคืนตามคำร้องเพราะได้รับเงินภาษีอากรคืนไปแล้วเกินกว่าที่ควรได้รับ และฟ้องเรียกเงินภาษีอากรคืนจากจำเลย โจทก์จึงมีหน้าที่นำสืบพิสูจน์ว่าการคำนวณของเจ้าพนักงานถูกต้อง และชอบด้วยกฎหมาย และจำเลยได้รับคืนเงินภาษีอากรไปจากโจทก์เกินไปตามฟ้องจริง เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า การคำนวณของเจ้าพนักงานของโจทก์ไม่ถูกต้อง จำเลยไม่ได้รับเงินภาษีมูลค่าเพิ่มคืนเกินไปตามฟ้อง ศาลย่อมมีอำนาจพิพากษายกฟ้องโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4674/2539

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ นิติบุคคลอาคารชุดไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม หากไม่ได้ดำเนินกิจการนอกเหนือจากวัตถุประสงค์ตามกฎหมายอาคารชุด
โจทก์เป็นนิติบุคคลอาคารชุดตาม พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 ซึ่งมาตรา 33 วรรคสอง บัญญัติให้นิติบุคคลอาคารชุดมีวัตถุประสงค์เพื่อจัดการและดูแลรักษาทรัพย์ส่วนกลาง และให้มีอำนาจกระทำการใด ๆ เพื่อประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ดังกล่าว ทั้งนี้ตามมติของเจ้าของร่วมภายใต้บังคับแห่ง พ.ร.บ.ดังกล่าวและตามหนังสือสำคัญการจดทะเบียนนิติบุคคลอาคารชุดก็ระบุวัตถุประสงค์ของโจทก์ไว้ตรงตามที่กฎหมายกำหนด นอกจากนี้ตามข้อบังคับของโจทก์ก็กำหนดให้เจ้าของร่วมชำระเงินให้นิติบุคคลอาคารชุดเพื่อดำเนินกิจการของนิติบุคคลอาคารชุด ซึ่งสอดคล้องกับมาตรา 40 แห่ง พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 โดยกำหนดให้เจ้าของร่วมต้องร่วมกันจัดตั้งกองทุนให้แก่นิติบุคคลอาคารชุดเพื่อวัตถุประสงค์ในการดูแลบำรุงรักษาทรัพย์ส่วนกลาง และการบริการทั่วไปให้แก่เจ้าของร่วม และกำหนดให้เจ้าของร่วมแต่ละรายต้องออกค่าใช้จ่ายตามส่วนแห่งประโยชน์ที่มีต่อห้องชุดที่เกิดจากการบริการส่วนรวม และที่เกิดจากเครื่องมือเครื่องใช้ที่มีไว้เพื่อประโยชน์ร่วมกัน เช่นค่าไฟฟ้าค่าน้ำประปา ซึ่งเป็นทรัพย์ส่วนกลาง เป็นต้น ค่าใช้จ่ายตามอัตราส่วนกรรมสิทธิ์ที่มีอยู่ในทรัพย์ส่วนกลางอันได้แก่ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการดูแลรักษาทรัพย์ส่วนกลาง เช่นค่าจ้างคนงาน พนักงานทำความสะอาด ยามรักษาการ และซ่อมแซมบำรุงรักษาทรัพย์ส่วนกลาง ค่าภาษีอากร เช่น ค่าภาษีที่ดิน ค่าภาษีโรงเรือน เป็นต้น ค่าใช้จ่ายในการดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์ส่วนกลาง เช่น เงินเดือนของผู้จัดการ พนักงานลูกจ้างและค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ในการดำเนินการของนิติบุคคลอาคารชุด ค่าเบี้ยประกันภัยของทรัพย์ส่วนกลาง วัตถุประสงค์ดังกล่าวก็เป็นไปตามมาตรา 18 แห่ง พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 ซึ่งบัญญัติให้เจ้าของร่วมต้องร่วมกันออกค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการบริการส่วนรวม และที่เกิดจากเครื่องมือเครื่องใช้ที่มีไว้เพื่อประโยชน์ร่วมกันตามส่วนแห่งประโยชน์ที่มีต่อห้องชุด ทั้งนี้ตามที่กำหนดไว้ในข้อบังคับ และวรรคสองของมาตราดังกล่าวยังได้บัญญัติให้เจ้าของร่วมต้องร่วมกันออกค่าภาษีอากรและค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการดูแลรักษาและดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์ส่วนกลางตามสัดส่วนที่เจ้าของร่วมแต่ละคนมีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์ส่วนกลางตามมาตรา 14 แสดงว่าเงินที่เจ้าของร่วมชำระให้แก่โจทก์ซึ่งเป็นนิติบุคคลอาคารชุด มิใช่การชำระเป็นค่าบริการที่ได้รับจากนิติบุคคลอาคารชุด หากแต่เป็นเพียงเงินที่เจ้าของร่วมในอาคารชุดชำระให้แก่นิติบุคคลอาคารชุดตามที่กฎหมายบังคับไว้ เพื่อให้จัดการและดูแลรักษาทรัพย์ส่วนกลางแทนเจ้าของร่วมในอาคารชุดตามวัตถุประสงค์ของอาคารชุดและตามที่ที่ประชุมใหญ่ของเจ้าของร่วมในอาคารชุดกำหนด โจทก์ไม่สามารถนำเงินดังกล่าวไปใช้เพื่อการอย่างอื่นได้ และไม่อาจหาประโยชน์อันมีมูลค่าให้แก่ตนเอง โจทก์ไม่สามารถหากำไรจากหน้าที่ดังกล่าว และเมื่อปรากฏว่าโจทก์เพียงแต่เรียกเก็บเงินกองทุน เงินค่าใช้จ่ายส่วนกลาง และค่าสาธารณูปโภคจากเจ้าของร่วม มิได้ดำเนินกิจการอื่นใดนอกเหนือจากวัตถุประสงค์ตามที่ พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 กำหนดไว้อันจะทำให้โจทก์ได้ชื่อว่าเป็นผู้ขายสินค้าหรือให้บริการทางธุรกิจหรือวิชาชีพ เมื่อโจทก์คงดำเนินกิจการตามวัตถุประสงค์ที่พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 กำหนดไว้ การกระทำของโจทก์จึงไม่อยู่ในความหมายของคำว่าบริการตาม ป.รัษฎากร มาตรา 77/1 (10) โจทก์จึงไม่เป็นผู้ประกอบการที่จะต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามที่กฎหมายกำหนด
เมื่อโจทก์จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลอาคารชุดตามกฎหมายแล้วย่อมมีฐานะเป็นนิติบุคคลแยกต่างหากจากเจ้าของร่วม การที่โจทก์เรียกเก็บเงินกองทุน เงินค่าใช้จ่ายส่วนกลาง และค่าสาธารณูปโภคจากเจ้าของร่วมเพื่อดำเนินการตามวัตถุประสงค์ของโจทก์ จึงมิใช่กรณีที่โจทก์ใช้บริการของตนเองอันจะอยู่ในความหมายของคำว่าบริการ ตาม ป.รัษฎากร มาตรา 37/1 (10)โจทก์จึงไม่ใช่ผู้ประกอบการที่จะต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม
คำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากรที่กรมสรรพากรขอความเห็นไปตาม ป.รัษฎากร มาตรา 13 สัตต เป็นการวินิจฉัยเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม การเสียภาษีมูลค่าเพิ่มของนิติบุคคลอาคารชุดซึ่งเป็นการวินิจฉัยเกี่ยวกับนิติบุคคลอาคารชุดทั่วๆไปไม่ได้เฉพาะโจทก์ เพราะถ้าหากนิติบุคคลอาคารชุดรายอื่นที่ดำเนินกิจการนอกเหนือไปจากวัตถุประสงค์ที่ พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 กำหนดไว้และมีรายได้ นิติบุคคลอาคารชุดรายนั้นก็อาจจะต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มก็ได้ ทั้งคำวินิจฉัยดังกล่าวไม่ได้สั่งให้โจทก์จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มด้วยและประกาศกรมสรรพากร เรื่อง การขยายกำหนดเวลาการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มก็เช่นเดียวกัน มิใช่คำสั่งที่มีไปถึงโจทก์โดยตรงแต่เป็นคำสั่งทั่ว ๆไปดังนั้น การที่ศาลภาษีอากรกลางไม่เพิกถอนจึงชอบแล้ว
โจทก์ได้บรรยายฟ้องแล้วว่า คำสั่งของจำเลยที่ 3 ที่มีถึงโจทก์ให้ไปยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม และยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 11 เป็นการปฏิบัติตามประกาศกรมสรรพากร เรื่อง การขยายกำหนดเวลาการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งนำผลคำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากรที่กรมสรรพากรขอความเห็นไปตามมาตรา 13 สัตตมาปฏิบัติ ซึ่งไม่ชอบด้วยกฎหมาย เอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 11 จึงไม่ชอบด้วยกฎหมายเช่นกัน และคำขอท้ายฟ้องโจทก์ก็ได้ขอให้ศาลเพิกถอนคำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากร และประกาศกรมสรรพากร กับขอให้จำเลยที่ 1ยกเลิกคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มและแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่มของโจทก์ที่ยื่นไว้ต่อจำเลยที่ 3 ขอให้คืนภาษีมูลค่าเพิ่มแก่โจทก์ ย่อมเป็นที่เข้าใจอยู่ในตัวแล้วว่า โจทก์ได้ขอให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ 3 ที่มีถึงโจทก์ให้ไปยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม และยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 11 ด้วย ดังนั้นเมื่อโจทก์ไม่ใช่ผู้ประกอบการที่จะต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ศาลย่อมมีอำนาจพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ 3 ตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 11 ได้ หาเกินคำขอไม่
การที่จำเลยที่ 1 และที่ 3 ให้โจทก์ชำระค่าภาษีอากรก็เนื่องจากจำเลยที่ 1 และที่ 3 เห็นว่า โจทก์เป็นผู้ประกอบการอยู่ภายในบังคับของกฎหมายที่จะต้องยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มและยื่นแบบแสดงรายการและชำะภาษีมูลค่าเพิ่ม จึงเป็นการเรียกให้โจทก์ชำระเงินภาษีอากรตามที่กฎหมายกำหนด หาใช่บังคับให้โจทก์ชำระเงินค่าภาษีอากรดังกล่าวโดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้ เมื่อโจทก์อ้างว่า โจทก์ไม่จำต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม และยื่นแบบแสดงรายการการชำระภาษีมูลค่าเพิ่มเพราะโจทก์ไม่ใช่ผู้ประกอบการ ขอให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ร่วมกันหรือแทนกันคืนเงินค่าภาษีอากรที่โจทก์ชำระให้แก่จำเลยที่ 3 คืน จึงเป็นการฟ้องขอคืนค่าภาษีอากรที่โจทก์อ้างว่าตนไม่มีหน้าที่ต้องเสียแต่ได้ชำระภาษีไว้ ซึ่งตาม ป.รัษฎากร มาตรา 27 ตรี บัญญัติให้ผู้มีสิทธิขอคืนต้องยื่นคำร้องขอคืนภายในสามปีนับแต่วันสุดท้ายแห่งกำหนดเวลายื่นรายการภาษีตามที่กฎหมายกำหนด ดังนั้น เมื่อโจทก์อ้างว่าไม่มีหน้าที่ต้องเสีย โจทก์จึงต้องยื่นคำร้องขอคืน แต่เมื่อปรากฏว่าก่อนฟ้องคดีนี้โจทก์ไม่ได้ยื่นคำร้องขอคืนภาษีที่ตนไม่มีหน้าที่ต้องเสีย อันเป็นกรณีที่โจทก์ไม่ได้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 9 บัญญัติไว้ โจทก์จึงไม่มีอำนาจที่จะนำคดีมาฟ้องต่อศาลขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มและดอกเบี้ยตามฟ้อง