พบผลลัพธ์ทั้งหมด 73 รายการ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3681/2567
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
อำนาจฟ้องผู้จัดการมรดกร่วม กรณีมีมติร่วมกันฟ้องเรียกทรัพย์คืน
ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 6 มรดก ลักษณะ 4 วิธีการจัดการและปันทรัพย์มรดก หมวด 1 ผู้จัดการมรดก ว่าด้วยการจัดตั้งผู้จัดการมรดกคนเดียวหรือหลายคน และวิธีการจัดการมรดก ซึ่งมาตรา 1726 บัญญัติเกี่ยวกับกรณีผู้จัดการมรดกหลายคนซึ่งต้องตกลงกันด้วยเสียงข้างมาก เมื่อตกลงกันได้แล้วจึงดำเนินการรวบรวมจำหน่ายทรัพย์มรดกเป็นตัวเงิน ทำการชำระหนี้แก่เจ้าหนี้กองมรดก กับการแบ่งปันทรัพย์มรดก ตามที่บัญญัติไว้ในหมวด 2 ว่าด้วยการรวบรวมจำหน่ายทรัพย์มรดกเป็นตัวเงิน และการชำระหนี้กับแบ่งปันทรัพย์มรดก ซึ่งมาตรา 1736 วรรคสอง บัญญัติว่า ในระหว่างเวลาเช่นว่านั้น ผู้จัดการมรดกชอบที่จะทำการใด ๆ ในทางจัดการตามที่จำเป็นได้ เช่นฟ้องคดีหรือแก้ฟ้องในศาลและอื่น ๆ ดังนี้ จะเห็นได้ว่า การกระทำในทางธรรมชาติของการจัดการมรดกโดยผู้จัดการมรดกหลายคนนั้น บางกรณีไม่อาจกระทำได้ด้วยผู้จัดการมรดกพร้อมกันทุกคน เช่น การครอบครองทรัพย์มรดก การจัดทำบัญชีทรัพย์มรดก การขอถอนผู้จัดการมรดก และไม่จำต้องกระทำการพร้อมกันทุกคน เช่น การทำนิติกรรม การรับชำระหนี้จากลูกหนี้ การชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ การฟ้องร้องและการต่อสู้คดี เป็นต้น ทั้งตามบทกฎหมายก็มิได้บัญญัติว่าการกระทำตามหน้าที่ของผู้จัดการมรดกหลายคนนั้น ต้องร่วมกันทำหรือร่วมกันลงชื่อในนิติกรรมพร้อมกันทุกคนทุกคราวไป เพียงแต่ต้องกระทำการด้วยตนเอง เว้นแต่จะกระทำการโดยตัวแทนได้ตามอำนาจที่ให้ไว้ชัดแจ้งหรือโดยปริยายในพินัยกรรมหรือโดยคำสั่งศาล เนื่องเพราะผู้จัดการมรดกทุกคนต้องร่วมรับผิดต่อทายาทและบุคคลภายนอกดังเช่นตัวแทน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1720 และ 1723 ฉะนั้น การกระทำใดของผู้จัดการมรดกคนหนึ่งหรือหลายคนโดยมีผู้เห็นด้วยเป็นส่วนมาก หรือได้รับความยินยอมของผู้จัดการมรดกคนอื่นแล้ว ก็ต้องถือว่าเป็นการจัดการมรดกร่วมกันโดยเสียงข้างมาก หาจำต้องให้ผู้จัดการมรดกเสียงส่วนข้างน้อยเข้าร่วมจัดการด้วยไม่ เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า หลังจากศาลมีคำสั่งตั้ง บ. ซึ่งเป็นผู้ร้อง และโจทก์ซึ่งเป็นผู้คัดค้าน ร่วมกันเป็นผู้จัดการมรดกของ ว. ผู้ตาย ตามคำสั่งศาลแพ่ง คดีหมายเลขแดงที่ พ 364/2562 แล้ว ต่อมา บ. ยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งถอนโจทก์ออกจากการเป็นผู้จัดการมรดก และฝ่ายโจทก์ยื่นคำคัดค้านและขอให้ศาลมีคำสั่งถอน บ. ออกจากการเป็นผู้จัดการมรดกเช่นกัน ศาลนัดไต่สวนคำร้อง และปรากฏตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลแพ่ง ลงวันที่ 5 สิงหาคม 2562 ว่า นัดไต่สวนคำร้องวันนี้ ผู้ร้อง ป. ผู้รับมอบอำนาจผู้ร้อง ทนายผู้ร้อง ผู้คัดค้าน และทนายผู้คัดค้านมาศาล โดยได้ความตามคำร้องขอแก้ไขคำร้อง ลงวันที่ 30 สิงหาคม 2562 ของ บ. ผู้ร้องโดย อ. ทนายความผู้ร้อง เป็นผู้ลงนามในคำร้องและเป็นผู้เรียงคำร้องดังกล่าว ในหน้าที่ 5 มีข้อความว่า "กรณีผู้คัดค้านกล่าวอ้างว่า มีทรัพย์สินหลายรายการอยู่ในความครอบครองของบุคคลภายนอกนั้น ซึ่งทรัพย์สินตามที่ผู้คัดค้านกล่าวอ้างเหล่านั้น ไม่ปรากฏชื่อของผู้คัดค้านหรือชื่อของผู้ตายเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์แต่อย่างใด ดังนั้น การใช้สิทธิติดตามเอาทรัพย์สินดังกล่าวคืนสู่กองมรดกนั้น ผู้คัดค้านสามารถใช้สิทธิทางกฎหมายเพื่อติดตามเอาทรัพย์สินคืนในนามส่วนของตนเองได้โดยตรง ผู้ร้องยินดีให้ความร่วมมือและไม่คัดค้านแต่ประการใด" นอกจากนี้ในคำร้องดังกล่าวในหน้าที่ 3 มีข้อความอีกว่า "...ปัจจุบันผู้ร้องและทายาทโดยธรรมของผู้ตายทุกคน พักอาศัยอยู่ที่ต่างประเทศ โดยผู้ร้องพักอาศัยอยู่ที่ประเทศมาเลเซีย ซึ่งในการยื่นคำร้องขอตั้งผู้จัดการมรดกนั้น ผู้ร้องได้แต่งตั้งให้ทนายความ และบุคคลอื่นให้เป็นผู้รับมอบอำนาจในการดำเนินการจัดการรวบรวมทรัพย์มรดกตามคำสั่งศาลนี้แทนผู้ร้องโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว เพื่อความสะดวกในการจัดการมรดกร่วมกันกับผู้คัดค้านแทนผู้ร้อง และผู้คัดค้านสามารถติดต่อทนายความหรือผู้รับมอบอำนาจของผู้ร้องได้ตลอดเวลา.." จากข้อความดังกล่าว จึงฟังได้ว่า บ. ได้แต่งตั้งให้ ป. เป็นผู้รับมอบอำนาจของตนในการดำเนินคดี และมีการแต่งตั้ง อ. เป็นทนายความของตน ดำเนินการเกี่ยวกับการจัดการมรดกของผู้ตาย ถือได้ว่า บ. ในฐานะผู้จัดการมรดกร่วมได้แต่งตั้งให้ทนายความและบุคคลอื่น ให้เป็นผู้รับมอบอำนาจในการดำเนินการจัดรวบรวมทรัพย์มรดกตามคำสั่งศาลนี้แทนตนโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว ทั้งนี้ ก็เพื่อความสะดวกในการจัดการมรดกร่วมกันกับโจทก์ซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกร่วม อีกคนหนึ่ง ซึ่งเป็นเวลาก่อนวันที่ 14 กันยายน 2562 ที่จะมีการประชุมผู้จัดการมรดก ดังนั้น เมื่อได้ความตามบันทึกการประชุม ระบุว่า "..ผู้จัดการมรดกของ ว. ตามคำสั่งศาลแพ่งคดีหมายเลขแดงที่ พ 364/2562 โดยมีผู้ร่วมประชุมคือ 1) นางสาว ร. (ซึ่งก็คือโจทก์) และ 2) อ. และ ป. ตัวแทน บ." ซึ่งก็คือทนายความและผู้รับมอบอำนาจของ บ. ซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกร่วมกับโจทก์ในกองมรดกของผู้ตาย ได้ทำหน้าที่ของตนในฐานะเป็นตัวแทนของ บ. ในการประชุมผู้จัดการมรดกดังกล่าวนั่นเอง เมื่อพิจารณาประกอบบันทึกการประชุมผู้จัดการมรดก เพื่อปรึกษาการจัดการทรัพย์มรดกของผู้ตาย กลุ่มที่ 3 ซึ่งอยู่ในชื่อตัวแทน 4 คน ที่ยังไม่สามารถเรียกคืนได้และอีกหนึ่งคนตกลงคืนแล้ว ที่ประชุมพิจารณาแล้วมีมติให้ดำเนินการฟ้องเรียกทรัพย์คืน โดยฝ่ายทายาทไม่ประสงค์จะเข้าร่วม ในท้ายรายงานการประชุมดังกล่าวได้แนบบัญชีทรัพย์สินในกลุ่มที่ 3 ระบุชื่อจำเลยจำนวน 2 รายการ คือ อันดับที่ 19 ที่ดินและบ้านพิพาท และอันดับที่ 20 เงินพิพาท จึงถือได้ว่า อ. ทนายความ และ ป. ผู้รับมอบอำนาจของ บ. เป็นตัวแทนของ บ. ในฐานะผู้จัดการมรดกร่วม ได้ร่วมประชุมจัดการมรดกและมีมติให้มีการดำเนินคดีแก่ผู้ที่ถือครองทรัพย์สินซึ่งเป็นมรดกคืนสู่กองมรดก ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1723 และเกี่ยวกับคดีนี้ก็คือการร่วมรู้เห็นและยินยอมให้โจทก์ฟ้องคดีนี้ เพื่อรวบรวมทรัพย์สินของผู้ตายเข้าสู่กองมรดกนำไปแบ่งปันให้แก่ทายาทตามกฎหมาย อันถือได้ว่าเป็นการจัดการมรดกร่วมกันโดยเสียงข้างมากตามความหมายแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 1726 ข้างต้นแล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องเรียกที่ดินและบ้านพร้อมเงินพิพาทส่วนของผู้ตายคืนจากจำเลยได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2629/2567
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การตั้งผู้จัดการมรดกใหม่หลังผู้จัดการมรดกเดิมเสียชีวิต และการไม่เป็นฟ้องซ้อน
คำฟ้องหรือคำร้องขอใดจะเป็นฟ้องซ้อนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 173 วรรคสอง (1) นั้นคู่ความในคดีแรกและคดีหลังต้องมีฐานะเป็นโจทก์ แม้ผู้คัดค้านที่ 2 จะเคยยื่นคำคัดค้านโดยขอให้ตั้งตนเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย ต่อมาผู้คัดค้านที่ 2 จึงยื่นคำร้องขอเป็นคดีนี้ อันถือได้ว่าผู้คัดค้านที่ 2 อยู่ในฐานะโจทก์ดังที่ผู้คัดค้านที่ 1 อ้างในฎีกาก็ตาม แต่คดีหมายเลขดำที่ พ 6364/2563 นั้น ผู้คัดค้านที่ 2 ถูกผู้คัดค้านที่ 1 ฟ้อง ผู้คัดค้านที่ 2 จึงอยู่ในฐานะจำเลย ไม่ต้องด้วยกรณี ป.วิ.พ. มาตรา 173 วรรคสอง (1)
เมื่อศาลมีคำสั่งตั้งบุคคลหลายคนเป็นผู้จัดการมรดกร่วมกัน การทำหน้าที่ของผู้จัดการมรดกจะต้องจัดการร่วมกันโดยถือเอาเสียงข้างมากตาม ป.พ.พ. มาตรา 1726 เมื่อผู้จัดการมรดกร่วมคนใดคนหนึ่งถึงแก่ความตาย ความเป็นผู้จัดการมรดกของบุคคลนั้นย่อมสิ้นสุดลงโดยสภาพ แต่ผู้จัดการมรดกที่เหลือยังคงฐานะผู้จัดการมรดกอยู่ตามคำสั่งศาล เพียงแต่ไม่อาจจัดการมรดกต่อไปได้เท่านั้นเพราะจะฝ่าฝืนต่อ ป.พ.พ. มาตรา 1726 กรณีมีเหตุขัดข้องในการจัดการมรดก ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1713 วรรคหนึ่ง (2) ผู้คัดค้านที่ 2 ย่อมมีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ตั้งผู้คัดค้านที่ 2 เป็นผู้จัดการมรดกเพื่อเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิมเข้ามาในคดีนี้ได้
เมื่อศาลมีคำสั่งตั้งบุคคลหลายคนเป็นผู้จัดการมรดกร่วมกัน การทำหน้าที่ของผู้จัดการมรดกจะต้องจัดการร่วมกันโดยถือเอาเสียงข้างมากตาม ป.พ.พ. มาตรา 1726 เมื่อผู้จัดการมรดกร่วมคนใดคนหนึ่งถึงแก่ความตาย ความเป็นผู้จัดการมรดกของบุคคลนั้นย่อมสิ้นสุดลงโดยสภาพ แต่ผู้จัดการมรดกที่เหลือยังคงฐานะผู้จัดการมรดกอยู่ตามคำสั่งศาล เพียงแต่ไม่อาจจัดการมรดกต่อไปได้เท่านั้นเพราะจะฝ่าฝืนต่อ ป.พ.พ. มาตรา 1726 กรณีมีเหตุขัดข้องในการจัดการมรดก ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1713 วรรคหนึ่ง (2) ผู้คัดค้านที่ 2 ย่อมมีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ตั้งผู้คัดค้านที่ 2 เป็นผู้จัดการมรดกเพื่อเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิมเข้ามาในคดีนี้ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4769/2566
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การตั้งผู้จัดการมรดกเพิ่มเติมเพื่อแก้ไขปัญหาการจัดการมรดกที่มีผู้จัดการมรดกจำนวนมากและขาดเสียงข้างมากในการตัดสินใจ
เมื่อผู้คัดค้านที่ 5 ซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกคนหนึ่งของเจ้ามรดกถึงแก่ความตาย ทำให้ผู้จัดการมรดกที่เหลืออยู่ 6 คน ไม่อาจจัดการมรดกต่อไปได้ โดยที่ศาลยังไม่ได้มีคำสั่งอนุญาตให้ผู้จัดการมรดกที่เหลืออยู่ทั้ง 6 คน เป็นผู้จัดการมรดก เพราะจะเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งศาลที่ให้ผู้ร้องและผู้คัดค้านทั้งหกร่วมกันจัดการมรดกของผู้ตาย ทั้งกรณีไม่อาจนำ ป.พ.พ. มาตรา 1715 วรรคสอง ที่กำหนดให้ผู้จัดการมรดกที่เหลืออยู่จัดการมรดกต่อไปได้ แต่ไม่อาจจัดการมรดกโดยลำพังมาใช้บังคับกับกรณีการตั้งผู้จัดการมรดกในคดีนี้ได้ เพราะคดีนี้ไม่ใช่การตั้งผู้จัดการมรดกตามพินัยกรรม การที่ผู้จัดการมรดกคนหนึ่งถึงแก่ความตายย่อมทำให้อำนาจในการจัดการมรดกของผู้จัดการมรดกที่ถึงแก่ความตายสิ้นสุดลง โดยไม่จำต้องมีคำสั่งถอนผู้จัดการมรดกที่ถึงแก่ความตายออกจากการเป็นผู้จัดการมรดก แต่จะต้องมีคำสั่งเกี่ยวกับอำนาจในการจัดการมรดกของผู้จัดการมรดกที่เหลืออยู่ต่อไป
การที่ผู้คัดค้านที่ 5 ถึงแก่ความตาย ทำให้คงเหลือผู้จัดการมรดกที่มีอำนาจในการจัดการมรดกเพียง 6 คน ซึ่งมิอาจหาเสียงชี้ขาดได้หากเกิดกรณีที่มีความเห็นแบ่งเป็นสองฝ่าย และแต่ละฝ่ายมีคะแนนเสียงเท่ากันดังนั้น จึงต้องใช้กระบวนการทางกฎหมายตามที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 1726 โดยจะต้องให้ผู้มีส่วนได้เสียร้องขอต่อศาลให้เป็นผู้ชี้ขาดต่อไป ทั้งเมื่อบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 1713 วรรคสอง กำหนดให้การตั้งผู้จัดการมรดกในกรณีที่ไม่มีข้อกำหนดพินัยกรรม ให้ศาลตั้งเพื่อประโยชน์แก่กองมรดกตามพฤติการณ์ และโดยคำนึงถึงเจตนาของเจ้ามรดก แล้วแต่ศาลจะเห็นสมควร ซึ่งกรณีที่มีผู้จัดการมรดกหลายคน การทำหน้าที่ผู้จัดการมรดกต้องถือตามเสียงข้างมากตามที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 1726 เมื่อคำนึงถึงเหตุขัดข้องในการจัดการมรดก การตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายด้วยย่อมทำให้การจัดการมรดกมีเสียงข้างมากซึ่งน่าจะเป็นไปเพื่อประโยชน์ต่อกองมรดกของผู้ตาย
การที่ผู้คัดค้านที่ 5 ถึงแก่ความตาย ทำให้คงเหลือผู้จัดการมรดกที่มีอำนาจในการจัดการมรดกเพียง 6 คน ซึ่งมิอาจหาเสียงชี้ขาดได้หากเกิดกรณีที่มีความเห็นแบ่งเป็นสองฝ่าย และแต่ละฝ่ายมีคะแนนเสียงเท่ากันดังนั้น จึงต้องใช้กระบวนการทางกฎหมายตามที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 1726 โดยจะต้องให้ผู้มีส่วนได้เสียร้องขอต่อศาลให้เป็นผู้ชี้ขาดต่อไป ทั้งเมื่อบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 1713 วรรคสอง กำหนดให้การตั้งผู้จัดการมรดกในกรณีที่ไม่มีข้อกำหนดพินัยกรรม ให้ศาลตั้งเพื่อประโยชน์แก่กองมรดกตามพฤติการณ์ และโดยคำนึงถึงเจตนาของเจ้ามรดก แล้วแต่ศาลจะเห็นสมควร ซึ่งกรณีที่มีผู้จัดการมรดกหลายคน การทำหน้าที่ผู้จัดการมรดกต้องถือตามเสียงข้างมากตามที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 1726 เมื่อคำนึงถึงเหตุขัดข้องในการจัดการมรดก การตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายด้วยย่อมทำให้การจัดการมรดกมีเสียงข้างมากซึ่งน่าจะเป็นไปเพื่อประโยชน์ต่อกองมรดกของผู้ตาย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4503/2565
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การแบ่งทรัพย์มรดก, สิทธิในที่ดิน, ข้อสันนิษฐานทางกฎหมาย, และการปรับอัตราดอกเบี้ยตามกฎหมาย
ป.พ.พ. มาตรา 1726 บัญญัติว่า ถ้าผู้จัดการมรดกมีหลายคน การทำการตามหน้าที่ของผู้จัดการมรดกนั้นต้องถือเอาเสียงข้างมาก เว้นแต่จะมีข้อกำหนดพินัยกรรมเป็นอย่างอื่น ถ้าเสียงเท่ากัน เมื่อผู้มีส่วนได้เสียร้องขอ ก็ให้ศาลเป็นผู้ชี้ขาด การที่โจทก์ฟ้องคดีนี้เรียกทรัพย์จากจำเลยทั้งสองซึ่งเป็นทรัพย์มรดกของเจ้ามรดกที่ 1 เพื่อทำการแบ่งปันให้แก่ทายาทของเจ้ามรดกที่ 1 ถือว่าเป็นอำนาจหน้าที่ของผู้จัดการมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1719 โจทก์จึงต้องฟ้องคดีร่วมกับ ธ. ผู้จัดการมรดกอีกคนหนึ่ง แต่โจทก์ฟ้องคดีนี้แต่ผู้เดียว จึงไม่ชอบด้วยบทบัญญัติดังกล่าวข้างต้น โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง แต่โจทก์บรรยายฟ้องตอนหนึ่งว่าจำเลยทั้งสองมีหน้าที่ต้องรับผิดต่อโจทก์ตามที่โจทก์มีสิทธิได้รับมรดกของเจ้ามรดกทั้งสองตามบันทึกข้อตกลงซึ่งเป็นข้อตกลงของบรรดาทายาทของเจ้ามรดกที่ 1 จึงเห็นได้ว่าโจทก์ขอแบ่งปันมรดกในฐานะทายาทด้วย โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องในฐานะทายาท
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3973/2563
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
อำนาจฟ้องคดีเพิกถอนนิติกรรมของผู้อนุบาลต้องกระทำร่วมกัน หรือได้รับคำสั่งศาลเป็นพิเศษ
ป.พ.พ. มาตรา 1598/18 วรรคสอง ประกอบมาตรา 1590 บัญญัติให้นำบทบัญญัติว่าด้วยสิทธิและหน้าที่ของผู้ปกครองมาใช้บังคับแก่ผู้อนุบาล โดยศาลจะตั้งผู้อนุบาลหลายคนให้กระทำการร่วมกันหรือกำหนดอำนาจเฉพาะสำหรับคนหนึ่ง ๆ ก็ได้ ซึ่งศาลเยาวชนและครอบครัวมีคำสั่งเป็นคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 179/2558 ให้โจทก์เป็นคนไร้ความสามารถและให้อยู่ในความอนุบาลของ ฤ. และจำเลยร่วมกัน ศาลอุทธรณ์ภาค 6 และศาลฎีกาพิพากษายืนโดยศาลฎีกาให้ ฤ. เป็นผู้มีสิทธิกำหนดที่อยู่ของโจทก์ ตามคำสั่งศาลระบุเพียงว่า ฤ. และจำเลยเป็นผู้อนุบาลโจทก์ผู้ไร้ความสามารถ โดยมิได้กำหนดหน้าที่ของผู้อนุบาลแต่ละคนไว้โดยเฉพาะและมิได้กำหนดให้ผู้อนุบาลกระทำการร่วมกันอย่างไร ยกเว้นแต่ในเรื่องการกำหนดที่อยู่ที่ศาลฎีการะบุให้ ฤ. เพียงผู้เดียวเป็นผู้มีสิทธิกำหนดที่อยู่ของโจทก์ได้ กรณีจึงต้องถือว่าการใดที่ ฤ. และจำเลยกระทำการแทนโจทก์รวมถึงการบอกล้างโมฆียะกรรมต้องกระทำด้วยความยินยอมพร้อมใจกัน ดังนั้น การที่โจทก์โดย ฤ. ในฐานะผู้อนุบาลเพียงคนเดียวโดยไม่มีจำเลยร่วมฟ้องเป็นคดีนั้นจึงขัดต่อคำสั่งศาล ไม่ชอบด้วยบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว ทั้งนี้แม้การกระทำของจำเลยจะเป็นปฏิปักษ์ต่อทรัพย์ของโจทก์ แต่ ฤ.ไม่อาจอ้างเหตุความเป็นปฏิปักษ์ดังกล่าวมาเป็นข้ออ้างในการไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติดังกล่าวได้เพราะ ฤ. อาจยื่นคำร้องต่อศาลที่มีคำสั่งให้โจทก์เป็นคนไร้ความสามารถโดยแสดงเหตุขัดข้องดังกล่าว เพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งให้ ฤ. เพียงฝ่ายเดียวมีอำนาจฟ้องเพิกถอนนิติกรรมดังกล่าว หรือขอให้ศาลมีคำสั่งเกี่ยวกับการขอถอดถอนจำเลยจากการเป็นผู้อนุบาลร่วมได้ ดังนั้น โจทก์โดย ฤ. ในฐานะผู้อนุบาลเพียงคนเดียวจึงไม่มีอำนาจฟ้องคดีนี้ ปัญหาอำนาจฟ้องนี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5827/2562
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
อำนาจฟ้องของทายาทในการรวบรวมทรัพย์มรดกจากผู้ปิดบังครอบครอง แม้ไม่มีหน้าที่ผู้จัดการมรดก
โจทก์ฟ้องจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกและในฐานะส่วนตัวโดยบรรยายฟ้องว่าโจทก์ จำเลย และ บ. เป็นผู้จัดการมรดกร่วมกันของผู้ตายตามคำสั่งศาล ทรัพย์มรดกส่วนใหญ่จะใส่ชื่อจำเลยถือกรรมสิทธิ์และจำเลยเป็นผู้ครอบครองทรัพย์มรดกแทน จำเลยมีหน้าที่ต้องนำทรัพย์มรดกทั้งหมดมาแบ่งปันให้แก่ทายาท แต่จำเลยแสดงทรัพย์มรดกเพียงบางส่วน โดยปิดบังทรัพย์มรดกมากกว่าส่วนที่จำเลยจะได้รับจากกองมรดก จึงไม่สามารถจัดการแบ่งมรดกได้ ขอให้บังคับจำเลยและผู้จัดการมรดกร่วมกันแบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่โจทก์ตามสิทธิที่พึงได้หนึ่งในสี่ส่วน หรือให้ชำระเงินแทนพร้อมดอกเบี้ย กับขอให้จำเลยถูกกำจัดมิให้รับมรดก ดังนั้น ข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาในการฟ้องคดีจึงเป็นเรื่องที่จำเลยปิดบังไม่นำทรัพย์มรดกที่อยู่ในความครอบครองของจำเลยมาแบ่งปันให้แก่ทายาท อันเป็นการกระทำส่วนตัว ไม่เกี่ยวกับการทำหน้าที่ของผู้จัดการมรดก แม้จะมีคำขอท้ายฟ้องให้บังคับจำเลยและผู้จัดการมรดกร่วมแบ่งมรดก ก็มิใช่เป็นการฟ้องคดีจัดการมรดก ซึ่งกรณีมีผู้จัดการมรดกตามคำสั่งศาลหลายคนต้องดำเนินการตาม ป.พ.พ. มาตรา 1726 ที่บัญญัติให้การทำการตามหน้าที่ของผู้จัดการมรดกต้องถือเอาเสียงข้างมาก โจทก์จึงไม่จำต้องฟ้องผู้จัดการมรดกร่วมที่ไม่ได้ปิดบังหรือมีส่วนร่วมในการปิดบังทรัพย์มรดกด้วย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3438/2558 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การจัดการมรดกต้องร่วมกัน ผู้จัดการมรดกแยกกันดำเนินการขัดกฎหมาย
โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองในฐานะผู้จัดการมรดกและในฐานะทายาทโดยธรรมของ น. ให้โอนที่ดินพิพาทอันเป็นส่วนหนึ่งของทรัพย์มรดกของ น. ให้แก่โจทก์ โดยโจทก์กล่าวอ้างมูลหนี้ก่อนเจ้ามรดกถึงแก่ความตายเป็นหลักในการฟ้องคดี หนี้ดังกล่าวจึงเป็นหนี้ของกองมรดกตกทอดแก่ทายาททุกคนของเจ้ามรดก ไม่ใช่หนี้สินส่วนตัว การทำหน้าที่ของจำเลยทั้งสองในฐานะผู้จัดการมรดกของ น. ในการดำเนินกระบวนพิจารณาคดีที่ถูกฟ้องเช่นนี้เป็นหน้าที่ของจำเลยทั้งสองต้องร่วมกันดำเนินการจัดการตาม ป.พ.พ. มาตรา 1726 จะแยกกันจัดการไม่ได้ การที่จำเลยที่ 1 ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับโจทก์ ส่วนจำเลยที่ 2 ต่อสู้คดี เป็นการแยกกันจัดการมรดก เป็นการดำเนินการที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งกฎหมายโดยชัดแจ้ง ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 138 วรรคสอง (2)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3438/2558
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การจัดการมรดกต้องร่วมกัน ผู้จัดการมรดกแยกกันจัดการขัดกฎหมาย
โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองในฐานะผู้จัดการมรดกและในฐานะทายาทโดยธรรมของ น. ให้โอนที่ดินพิพาทอันเป็นทรัพย์มรดกของ น. ให้แก่โจทก์ โดยโจทก์กล่าวอ้างมูลหนี้ก่อนเจ้ามรดกถึงแก่ความตายเป็นหลักในการฟ้องคดี หนี้ดังกล่าวจึงเป็นหนี้ของกองมรดกตกทอดแก่ทายาททุกคนของเจ้ามรดก ไม่ใช่หนี้สินส่วนตัว การทำหน้าที่ของจำเลยทั้งสองในฐานะผู้จัดการมรดกของ น. ในการดำเนินกระบวนพิจารณาคดีจึงต้องร่วมกันดำเนินการจัดการตาม ป.พ.พ. มาตรา 1726 จะแยกกันจัดการไม่ได้ การที่จำเลยที่ 1 ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับโจทก์ ส่วนจำเลยที่ 2 ต่อสู้คดี เป็นการแยกกันจัดการมรดก เป็นการดำเนินการที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งกฎหมายโดยชัดแจ้ง ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 138 วรรคสอง (2)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18893/2555
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
อำนาจฟ้องของผู้จัดการมรดก: ต้องได้รับอนุญาตจากศาลหรือมีมติร่วมกัน หากฟ้องเอง ศาลต้องยกฟ้อง
ป.พ.พ. มาตรา 1726 บัญญัติว่า "ถ้าผู้จัดการมรดกมีหลายคน การทำหน้าที่ของผู้จัดการมรดกนั้นต้องถือเอาเสียงข้างมาก...ถ้าเสียงเท่ากัน เมื่อผู้มีส่วนได้เสียร้องขอ ก็ให้ศาลเป็นผู้ชี้ขาด" ข้อเท็จจริงได้ความว่า โจทก์และจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกร่วมกันตามคำสั่งศาล การฟ้องคดีเป็นอำนาจหน้าที่ของผู้จัดการมรดกประการหนึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 1736 วรรคสอง ดังนั้น โจทก์แต่ผู้เดียวไม่มีอำนาจยื่นฟ้องเพียงลำพัง แม้การกระทำของจำเลยที่ 1 จะเป็นปฏิปักษ์และเสียหายต่อกองมรดกก็ตาม เพราะโจทก์สามารถยื่นคำร้องต่อศาลแสดงเหตุขัดข้องเพื่อขออนุญาตฟ้องหรือขอให้ศาลถอดถอนจำเลยที่ 1 จากการเป็นผู้จัดการมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1727 วรรคหนึ่ง ได้ นอกจากนี้โจทก์อาจใช้สิทธิความเป็นทายาทฟ้องคดีในฐานะส่วนตัวเพื่อให้จำเลยที่ 1 รับผิดในการจัดการมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1733 วรรคสอง ก็ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16312/2555
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การจัดการมรดกกรณีมีข้อพิพาท: ผู้จัดการมรดกเดี่ยวและการวางเงื่อนไขเพื่อคุ้มครองทายาท
เมื่อผู้คัดค้านมีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับทรัพย์มรดกและมีการฟ้องร้องผู้ร้องเพื่อเรียกทรัพย์คืนจากผู้ร้องซึ่งเป็นผู้จัดการมรดก การที่จะให้ ส. บุตรของผู้คัดค้านเข้ามาเป็นผู้จัดการมรดกร่วมกับผู้ร้องคงจะไม่อาจร่วมกันจัดการเพื่อประโยชน์ของกองมรดกได้ เพราะอำนาจของผู้จัดการมรดกในกรณีที่มีสองคนนั้น การจัดการจะต้องดำเนินการร่วมกัน ถ้าเกิดเป็นสองฝ่ายแล้วกรณีก็ไม่อาจจะหาเสียงข้างมากตาม ป.พ.พ. มาตรา 1726 ได้ และคนใดคนหนึ่งก็ไม่อาจจัดการไปได้ จึงสมควรให้ผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกแต่เพียงผู้เดียวแต่เพื่อมิให้เป็นการเสียหายแก่ฝ่ายผู้คัดค้านซึ่งเป็นทายาทด้วยสมควรวางเงื่อนไขในคำสั่งตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกว่าถ้าจะจำหน่ายจ่ายโอนหรือก่อภาระติดพันกับทรัพย์มรดกที่มีหลักฐานทางทะเบียนให้แก่บุคคลที่มิใช่ทายาทที่มีสิทธิได้รับมรดกโดยมิได้รับความเห็นชอบจากทายาททุกคนแล้ว จะต้องขออนุญาตจากศาลก่อน